ปุถุชนต้นทาง


จุดเริ่มของการพัฒนาตน

เชื่อว่ามนุษย์แทบทุกคนค่ะ ล้วนอยากให้ตนมีชีวิตที่ดี มีความสุข

ซึ่งคำว่า ชีวิตที่มีดีและความสุข อาจหมายถึงการได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี มีปัจจัยต่างๆพร้อมมูล มีคนรัก มีเกียรติยศ

หากในทางธรรม ชีวิตที่ดีของมนุษย์ คือ การที่มนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมโดยสันติ พัฒนาความสามารถของตนตามศักยภาพจนถึงจุดสูงสุด จนทำให้พบความสุขที่แท้จริงและถาวร มีความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน

มนุษย์เราต่างจากสัตว์อื่นก็ตรงนี้แหละค่ะ ตรงที่เราสามารถพัฒนาได้

แต่มนุษย์มักเรียกตนเองว่า ปุถุชน อันแปลว่า คนหนา เพราะยังไม่ได้เริ่มต้นการพัฒนาด้วยธรรม และมนุษย์จะไม่เริ่มต้นการพัฒนา หรือการเดินทางออกจากการเป็นปุถุชนเลย หากยังไม่มีความต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต

เมื่อมีความต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิต สิ่งอื่นๆจึงจะตามมา

มีความเข้าใจผิดอยู่หลายอย่างอันเป็นอุปสรรคในการศึกษาพระธรรมค่ะ เช่น เข้าใจว่าความต้องการ หรือความอยาก เป็นตัณหาไปเสียหมด ถ้าจะปฏิบัติธรรม ต้องลดความอยาก

หากในความเป็นจริง คำว่าฉันทะ ที่แปลว่าความอยาก แบ่งเป็น ๒ ชนิด คือ ตัณหาฉันทะ ( *หน้า ๒๕ )แต่มักถูกเรียกสั้นๆว่าตัณหา อันเป็นความอยากที่เจือด้วยความไม่รู้ เป็นเหตุนำมาซึ่งความทุกข์ และกุศลฉันทะ หรือ ธรรมฉันทะแต่ถูกเรียกสั้นๆว่า ฉันทะ ซึ่งเป็นความอยากที่สัมพันธ์กับความรู้ อันนำไปสู่การพัฒนาเพื่อสิ่งที่ดีกว่า

การเกิดกุศลฉันทะ จึงไม่ใช่การเกิดของกิเลสตัณหา หากเป็นการเกิดความต้องการที่นำไปสู่การเรียนรู้ สู่การพัฒนาทั้งด้านคุณภาพชีวิต และคุณภาพจิตใจ

หรือเข้าใจผิดว่า การปฏิบัติธรรม คือการนั่งบำเพ็ญสมาธิ ซึ่งเป็นการมองในความหมายที่แคบเข้า เพราะในความเป็นจริง การปฏิบัติธรรมนี้ เป็นเรื่องที่กว้างมาก หมายถึงการนำเอาธรรมมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต หรือการทำกิจ ทำงาน ทำหน้าที่ให้ถูกต้อง ทำทุกเรื่องให้ถูกต้อง ให้ดี ให้เกิดผลเป็นประโยชน์นั่นเอง ( *หน้า ๗ )

เช่น เล่าเรียนโดยมี อิทธิบาท ๔ มีฉันทะ พอใจรักในการเรียน มีวิริยะ มีความเพียร ใจสู้ มีจิตตะ เอาใจใส่ รับผิดชอบ มีวิมังสา คอยไตร่ตรอง ตรวจสอบ ทดสอบ ทดลองให้ได้ผลดียิ่งขึ้นไป อย่างนี้ก็เรียกว่า ปฏิบัติธรรม ( * หน้า ๖ )

paint

ความอยาก หรือฉันทะ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง และหากมนุษย์ต้องการพัฒนาตนโดยธรรม เมื่อเกิด กุศลฉันทะ ขึ้นมาแล้ว สิ่งที่ต้องตามมาคือ ตถาคตโพธิสัทธา หรือมีความศรัทธาในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า พระองค์ก็เคยเป็นคนธรรมดามาก่อน แต่เพราะปัญญา ทำให้พระองค์กลายเป็นพระพุทธเจ้า หรือก็คือ เชื่อมั่นในศักยภาพในการพัฒนาของมนุษย์ เชื่อว่ามนุษย์สามารถพัฒนาจนถึงจุดสูงสุดได้ ( * หน้า ๔๕ )

เมื่อต้องการพัฒนาตน มีความเชื่อแล้ว จึงเกิดกระบวนการที่เรียกว่า บุพนิมิต ๗ ประการตามมา นั่นคือ

ออกหาแหล่งความรู้ หรือครูผู้สอน ( กัลยาณมิตตตา)

ปรับปรุงพฤติกรรมเพื่อไม่ให้เป็นปัญหาต่อสังคม หรือเพื่อไม่ให้พฤติกรรมของตนเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ ( สีลสัมปทา )

สร้างแรงจูงใจในทางที่ถูก ( ฉันทสัมปทา )

เพื่อพัฒนาตนให้เต็มศักยภาพ ( อัตตสัมปทา )

ตามความรู้ หรือค่านิยมที่ถูกต้อง ( ทิฏฐิสัมปทา )

ด้วยความขวนขวาย ไม่ประมาท ปล่อยเวลาให้ผ่านเลย ( อัปปมาทสัมปทา )

แล้วประมวลความรู้เข้าด้วยกันด้วยตนเอง ( โยนิโสมนสิการ )

และเพราะเกิดการคิดเอง คิดเป็นบนพื้นฐานความรู้ขึ้นแล้ว จึงก่อให้เกิด สัมมาทิฏฐิ หรือทัศนคติที่ถูกต้อง อันเป็นจุดเริ่มต้นของ ทาง หรือ มรรค

แล้วเราก็พร้อมจะก้าวสู่ทางหรือมรรค ที่เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา หรือแนวทางสายกลาง เพื่อการพัฒนาพฤติกรรมและจิตใจ เปลี่ยนแปลงเราจากปุถุชนคนหนา เป็นกัลยาณปุถุชน อันเป็นคนดีของสังคม และสามารถสร้างประโยชน์แก่สังคมต่อไป

หรืออาจพัฒนาจนสู่อริยบุคคลขั้นต่างๆไปเลยก็ได้

...............................................................

* พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต ) ปฏิบัติธรรมให้ถูกทาง ( ตอน ๒ ) สำนักพิมพ์ระฆังทอง นครปฐม พ.ศ.๒๕๔๗

หมายเลขบันทึก: 300114เขียนเมื่อ 23 กันยายน 2009 12:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 ตุลาคม 2013 10:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

สวัสดีครับพี่ณัฐรดา

ผมมักจะได้ยินว่า“ ปุถุชน” นึกว่าหมายถึง คนธรรมดา ทั่วไป

แต่นี่ทราบว่า“ ปุถุชน” อันแปลว่า “ คนหนา ” เพราะยังไม่ได้เริ่มต้นการพัฒนาด้วยธรรม และมนุษย์จะไม่เริ่มต้นการพัฒนา หรือการเดินทางออกจากการเป็นปุถุชนเลย หากยังไม่มีความต้องการที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิต

แสดงว่า“ ปุถุชน” เป็นคนที่ยังไม่มีการพัฒนาใช่ไหมครับ

ขอบคุณครับ

สวัสดีค่ะ

มาอ่าน รับธรรมะ

อ่านแล้วใจสุขสงบค่ะ

ธรรมฉันทะ กุศลฉันทะ จึงเป็นสิ่งจำเป็นและสำคัญในการเข้าสู่หนทางที่ถูกต้อง....

ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ

(^___^)

ในภาพมีชื่อพี่ณัฐรดาด้วยค่ะ

แสดงว่าวาดเองเหรอค่ะ สวยมาก ๆ

  • สวัสดีค่ะ
  • รู้สึกสุขใจทุกครั้งที่ได้อ่านธรรมะ ทำให้เข้าใจชีวิต ฝึกจิตให้เป็นกุศลสร้างสมแต่ความดีงาม
  • ขอบคุณบันทึกอันทรงคุณค่านี้ค่ะ

สวัสดีค่ะ

  • มีความสบายใจเสมอค่ะ
  • ที่ได้มารับและเรียนรู้สิ่งดีกับแนวทางการดำเนินชีวิตเพื่อเป็นสุข
  • ขอขอบพระคุณค่ะ

สวัสดีครับคุณณัฐรดา

เข้ามาอ่านธรรมะ

เพื่อขัดเกลาจิตใจ ครับผม

อ้อ ฝีมือวาดภาพดีมากครับ ภาพสวยมาก ชอบครับ

สวัสดีค่า พี่ณัฐรดา

  •  ขอบคุณค่ะ ที่ไปแวะทักทาย คนเชิงดอย ดีใจเลยได้พบรุ่นพี่ มช. อีก 1 ท่านใน G2K
  • ผลงานภาพของพี่'ดา จากอารมณ์รักธรรมชาติของคนวาด ถ่ายทอดอยู่ในเส้นสาย และสีสันของภาพเลยนะคะ
  • คุณอาของคนเชิงดอย ก็ใช้เวลาว่างๆ วาดภาพสีน้ำค่ะ อาชอบภาพแนวพฤกษศาสตร์เหมือนกันนะ เพราะมองกะๆ ได้จากชิ้นงานกว่าครึ่งเป็นแนวนี้ค่ะ
  • ช่วงไหนงานเร่งเคร่งเครียด คนเชิงดอย คงได้มาพึ่งภาพวาดสวยสงบสยบอารมณ์ และสาระดีๆ จากบล็อกพี่'ดา อีกล่ะ ขอบคุณล่วงหน้าค่ะ

นอกจากเพลิดเพลินกับเรื่องที่ เขียนเเล้ว ภาพที่ประกอบ สวยงามมากครับ

  • มาเติมข้อคิด..ไปผลิตปัญญาครับ
  • ขอบคุณครับ

อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับธรรมะ รู้สึกเบาสบายในจิตใจ

....ขอบคุณค่ะ สำหรับความรู้ดี ๆ ที่ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีในจิตใจตามมาด้วย

สวัสดีคะคุณณัฐรดา ขอบคุณนะคะที่แวะเข้าไปทักทายกันกับครูโมเมย์

วันนี้ครูโมเมย์ก็เลยขอย่อง ๆ ตามมาเยี่ยมชมเรื่องเล่าของคุณณัฐรดาบ้างคะ ยินดีที่ได้รู้จักเพื่อนใหม่ใน G2K นะคะ มีอะไรดี ๆ ที่จะนำมาเล่าสู่กันฟังก็ยินดีคะ จะรอติดตามและให้กำลังใจคะ

สวัสดีครับคุณณัฐรดา...

เห็นด้วย ครับ

บันทึกนี้ เขียนได้อย่างลงตัว ในแง่ของธรรม...

ภาษาธรรม..เนี่ย  ถ้าเป็นธรรมชั้นสูง ..ที่ต้องค้นหาความหมาย อาจต้องใช้เวลาในการศึกษาหาความรู้

เมื่อก่อน..ผมอ่านธรรม ของหลวงพ่อพุทธทาส ผมรู้สึกว่า...เข้าถึงแก่นธรรมได้ยาก

อาจเป็นเพราะวัย...ผิดกับสมัยนี้...การได้อ่านธรรม ที่ซ้ำไปซ้ำมา...ทำให้เข้าใจมากขึ้น

เป็นทางมากขึ้น  อาจมืดบอดบ้าง....ก็กลับมาตั้งต้นใหม่

ผมคิดในใจเสมอ ครับว่า....ผมโชดดี ที่เกิดมาอยู่ในเมืองพุทธ...และใช้วิถีพุทธ  ดำเนินชีวิต

ขอบคุณ คุณณัฐรดามาก นะครับ

เป็นเห็นทางมากขึ้น  อาจมืดบอดบ้าง....ก็กลับมาตั้งต้นใหม่

มาชม

อ่านหนังสือแล้วนำมาเล่าย่อสู่กันฟังดีนะนี่...

เลยนึกถึงคำว่า...สาธุชน...

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท