หนานเกียรติ
เกียรติศักดิ์ หนานเกียรติ ม่วงมิตร

สุดยอดค่ายดนตรี


แม้จะเป็นเพียงคนรุ่น ๑๔ กุมภา ผมฟังแล้วถึงกับอึ้ง เลือดฉีดพล่าน ขนลุกชัน. ..

    “ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า…

    เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ   ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน. ..”

    บทกวีอันลือลั่นของวิสา  คัญทัพ ถูกขับขานเป็นบทเพลง โดยวงสตริงเชมเบอร์ออร์เคสตร้า เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๑  สะกดผู้ชมหลายร้อยคนในหอแสดงดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ตกอยู่ในภวังค์

    แม้จะเป็นเพียงคนรุ่น ๑๔ กุมภา ผมฟังแล้วถึงกับอึ้ง เลือดฉีดพล่าน ขนลุกชัน. ..
    “เมื่อฟ้าสีทอง” บทกวีที่ถูกนำมาประพันธ์ใส่ทำนองใหม่โดย รศ.ดร.สุกรี เจริญสุข หนึ่งในหลายบทเพลงที่ใช้สำหรับการฝึกซ้อมและแสดงดนตรีของค่ายพัฒนาศักยภาพเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี ผู้ดำเนินการคือ วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ สำนักนายกรัฐมนตรี

    ค่ายพัฒนาศักยภาพเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรี เริ่มมาตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๑ มีเยาวชนผ่านการคัดเลือก (Audition) อย่างเข้มข้น ให้เข้าค่ายจำนวน ๓๗ คน แยกเป็น ไวโอลิน ๒๐ คน วิโอล่า ๗ คน เชลโล่ ๖ คน ดับเบิ้ลเบส ๓ คน และขับร้องสากล ๑ คน แต่ละคนล้วนฝีมือฉกาจฉกรรจ์ แม้ว่าเจ้าตัวเล็กที่อายุน้อยที่สุด เพียง ๘ ขวบก็ตาม

    ในจำนวน ๓๗ คนนี้ แยกเป็น ๒ กลุ่ม กลุ่ม A จำนวน ๒๒ คน เป็นกลุ่มที่มีคะแนนการสอบสูง ถึงคะแนนสูงมาก อีก ๑๕ คน คือ กลุ่ม B เป็นกลุ่มที่มีคะแนนสอบลำดับรองลงมา
    สถานที่เข้าค่ายตลอด ๑๒ วัน คือวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นวิทยาลัยทางดนตรีที่มีความพร้อมที่สุดของประเทศ ทั้ง อาคารสถานที่ บุคลากร เครื่องดนตรี เครื่องไม้เครื่องมือ และบรรยากาศในการทำงาน

    อาจารย์ฝึกสอนเกือบทั้งหมดเป็นอาจารย์ดนตรีที่มีความสามารถสูงและเป็นชาวต่างประเทศ จากนานาชาติ อาจารย์ไวโอลินจากเยอรมัน โคลัมเบีย และลัธเวีย อาจารย์วิโอล่าจากรัสเซีย อาจารย์เชลโลและเบสจากเยอรมันและโปแลนด์ ทำให้การเข้าค่ายมีความเข้มข้นขึ้นมาก

    ถามทีมงานว่า ทำไมต้องใช้อาจารย์สอนชาวต่างประเทศ เมืองไทยไม่มีคนสอนหรือไง ?
    “เครื่องสายตะวันตก มิใช่เครื่องดนตรีในวัฒนธรรมไทย คนไทยยังไม่เชี่ยวชาญพอที่จะสร้างเด็กให้เป็นคนเก่งได้ ไม่ตั้งใจสอน ไม่เอาใจใส่ ไม่จริงจัง ไม่ตรงเวลา บางคนเป็นแค่นักแสดง...”
    เป็นคำตอบที่ผมได้รับ !!!

    ทีมงานจัดค่ายเล่าให้ฟังว่า สิ่งที่อยากเห็นก็คือ ความเปลี่ยนแปลงทางด้านทักษะทางดนตรีที่เห็นได้อย่างชัดเจน ค่ายนี้จึงเป็นค่ายสำหรับการพัฒนาศักยภาพทางด้านดนตรีอย่างเข้มข้น เอาจริงเอาจัง มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด เด็กๆ ในค่ายจึงซ้อม ซ้อม และซ้อม ฝึกซ้อมกันอย่างหนัก...

    ขณะเดียวกันเด็กๆ ก็มีความสุขที่จะเล่นดนตรี เอาจริงเอาจังกับการฝึกซ้อม หากเจออาจารย์ที่ไม่เอาใจใส่ ไม่เก่ง เด็กๆ ก็จะเบื่อที่จะเข้าค่าย ดังนั้นในการจัดค่ายเพื่อคนเก่ง จึงต้องมีอาจารย์ที่เก่ง

    โปรแกรมในแต่ละวันจะเริ่มราว ๑๐.๐๐ น. แต่ละคนจะได้รับการแจกโน้ตเพลง แล้วซ้อมเดี่ยวหรือเรียนเดี่ยวกับอาจารย์ ไปจนถึง ๑๒.๐๐ น. หลังอาหารกลางวัน

    เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๕.๓๐ น. จะเป็นการซ้อมกลุ่มตามประเภทเครื่องดนตรี ได้แก่ ไวโอลิน วิโอล่า เชลโล่ และดับเบิ้ลเบส สำหรับนักร้องก็แยกไปเรียนเดี่ยว เด็ก ๆ จะมีเวลาพักราว ๓๐ นาที

    จากนั้นเวลา ๑๖.๐๐ – ๑๗.๓๐ น. จะเป็นการซ้อมรวมวง โดยจะแยกเป็นวง A และ วง B พวกเขาจะมีเวลาพักรับประทานอาหารเย็นราว ๓๐ นาที แล้วซ้อมรวมวงอีกไปจนถึง ๒๐.๐๐ น. จึงจะได้พัก โปรแกรมเป็นเช่นนี้ตลอดระยะเวลาการเข้าค่ายฯ

    แม้ว่าการฝึกซ้อมและถูกเคี่ยวเข็ญอย่างหนัก แต่ก็ไม่มีใครถอย ทุกคนยังอยู่ร่วมซ้อมกันอย่างเอาจริงเอาจัง แววตายังแจ่มใส เปล่งประกาย รอวันที่จะได้ขึ้นเวทีเล่นคอนเสิร์ต แสดงความสามารถของตนเองต่อหน้ามิตรรักแฟนเพลง ซึ่งหลายคนคอนเสิร์ตครั้งนี้เป็นครั้งแรกในชีวิต

    วันที่ทุกคนรอคอย คือวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๑ วันที่ทุกคนจะได้ขึ้นแสดงดนตรี...

    บ่ายแก่ๆ ผู้คนทยอยเข้าหอแสดงดนตรี บัตรเข้าชมซึ่งเตรียมไว้จำนวนไม่น้อย หมดลงก่อนคอนเสิร์ตจะเริ่มต้น กระนั้นก็ยังมีผู้คนทยอยมาเรื่อย ๆ แม้ไม่ถึงกับแน่นขนัด แต่ผู้ชมก็มากเอาการ  ส่วนใหญ่เป็นญาติสนิทมิตรสหายนักดนตรี และบรรดาแขกเหรื่อสถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ (สสอน. ) ผู้ให้การสนับสนุน

    การแสดงเริ่มขึ้น เวลา ๑๖.๐๐ น. เป็นการบรรเลงดนตรีโดยวง B จำนวน ๒ เพลง คือ เพลง Concerto Grosso No.4 ประพันธ์โดย Arcangelo Corelli  และเพลง Eine Kleine Nachtmusik, K.525 ประพันธ์โดย  Wolfgang Amadeus Mozart อำนวยเพลงโดย ร้อยเอกประทีป  สุพรรณโรจน์

    ช่วงที่สอง เป็นการแสดงรวมวง A และ B อำนวยเพลงโดย Claude Villaret สองเพลงแรก เป็นเพลงขับร้อง ผู้ขับร้องคือ นางสาวเฟื่องลดา ประวัง ได้แก่ เพลง L’a,our est un oiseau rebelled” (Habanera from Carmen) ประพันธ์โดย Georges Bizet และเพลงฟ้าสีทอง บทกวีของวิสา คัญทัพ อีกสองเพลงถัดมาเป็นเพลงไทย คือเพลงคุณหลวง และเพลงศรีอยุธยา

    ช่วงที่สาม หลังจากพักแล้ว ๑๕ นาที เป็นการแสดงของวง A อำนวยเพลงโดย Claude Villaret บรรเลงเพลง Serenade E-dur für Strechorchester, Op.22 ประพันธ์โดย Anton Dvorák

    ผลงานจากการเข้าค่ายดนตรีในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นแสดงดนตรีที่น่าตื่นตาตื่นใจนี้แล้ว บรรดานักดนตรีตัวน้อยจากวง A จะทำการบันทึกเสียงเพื่อผลิตเป็นแผ่นเสียงเพลงคลาสสิก เพลงไทย และเพลงพื้นบ้านไทย เพื่อนำไปเป็นตัวอย่างและมาตรฐานของการทำค่ายดนตรีในประเทศไทย รวมทั้งยังจะเดินทางไปแสดงดนตรีในงานประชุมวิชาการดนตรีนานาชาติที่เมืองโบลอณญ่า ประเทศอิตาลี ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๕๑ อีกด้วย

    การสนับสนุนงบประมาณในการจัดค่ายของสถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ (สสอน. ) ในครั้งนี้ นับได้ว่าเป็นการบุกเบิกสำหรับการพัฒนาเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านดนตรีอย่างจริงจัง และหากยังสามารถดำเนินการเช่นนี้ได้อย่างต่อเนื่อง ประเทศไทยน่าจะพึ่งตนเองได้มากขึ้น พึ่งอาจารย์ชาวต่างชาติน้อยลง และในเวลาไม่นานนักเราอาจจะได้เห็นเด็ก “ค่าย” ยกระดับเป็นอาจารย์สอนดนตรีที่มีความสามารถสูง เป็นกำลังหลักของวงการดนตรีบ้านเรา อย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี และทัดเทียมนานาชาติ

 

หมายเลขบันทึก: 297932เขียนเมื่อ 15 กันยายน 2009 19:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 พฤษภาคม 2012 20:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

สวัสดีค่ะ

ลูกสาวชอบดนตรีเหมือนกันค่ะ เค้าชอบร้องเพลงแนวโกธิค ร็อค (เขียนถูกมั๊ยนี่ จำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าลูกเรียกอย่างนี้)

บางทีได้ยินเค้าว๊าก แล้วยังกลัวเค้าจะคออักเสบเลยค่ะ

เห็นว่าปิดเทอมนี้จะเข้าห้องอัด ทำเพลงใต้ดิน

พี่ณัฐรดา ครับ

โห... ไม่น่าเชื่อ คุณแม่กะคุณลูกนี่ต่างกันแยะเลยนะครับ

ขึ้นชื่อว่าดนตรี ไม่ว่าแนวไหนดีทั้งนั้นครับ กล่อมเกลาจิตใจมิให้หยาบกร้าน

ผมมิใช่นักดนตรีครับ เป็นผู้ฟังทั่ว ๆ ไป บังเอิญว่าช่วงหนึ่งในชีวิตได้แวะเวียนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

ขอบคุณที่แวะมาชมครับ

  • ทึ่งในทีมงาน รศ.ดร. สุกรี ตั้งแต่ต้นครับ
  • เห้นการแสดงแต่ละชุดแล้ว
  • คิดไม่ถึงว่าคนไทยทำได้
  • นานมาแล้วดูเด็กไทยจากโครงการนี้ร้อง โอเปล่า ยังชอบเลยครับ
  • แต่แนวคิดนี้ บางทีบ่งบอกนิสัยคนไทยนะเนี่ย
  • “เครื่องสายตะวันตก มิใช่เครื่องดนตรีในวัฒนธรรมไทย คนไทยยังไม่เชี่ยวชาญพอที่จะสร้างเด็กให้เป็นคนเก่งได้ ไม่ตั้งใจสอน ไม่เอาใจใส่ ไม่จริงจัง ไม่ตรงเวลา บางคนเป็นแค่นักแสดง...”  เป็นคำตอบที่ผมได้รับ !!!
  • เศร้าเลย!!!!!
  • ชอบดนตรีครับ และชื่นชมความเป็นเลิศทางดนตรีของเด็กๆ
  • ความพร้อมในการให้ความรู้ศาสตร์ทางดนตรีของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์สูงมาก แต่ค่าเรียนก็แพงมากใช่มั้ยครับ..เด็กหลายๆคนคงไม่มีโอกาส
  • ขอบคุณความรู้ดีๆ เรื่องของดนตรีครับ

อาจารย์ ขจิต ฝอยทอง ครับ

เหตุผลเดียวที่ผมตกปากรับคำไปร่วมงานกับวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ คือ อ.สุกรี ครับ

ครูคนนี้กราบได้สนิทใจกว่าไหว้พระบางรูป

ค่ายฯ ในบันทึกที่ผมเขียนถึงนี้ ได้เอาไปแสดงที่กำแพงแสนด้วยนะครับ

เล่นที่หอประชุมใหญ่ แม้ห้องไม่อำนวย แต่ก็สร้างความตื่นตาตื่นใจแก่ผู้ชมได้มาก

อ.ชวลิต นี่ ดูตาไม่กระพริบ หูไม่ละเลยครับ

ผมว่าจะเขียนบันทึกตอนต่อนี้อีกตอน

ตอนที่ตามวงนี้ไปแสดงที่อิตาลี

รออ่านนะครับ

.

ที่อาจารย์เศร้า (แถบแดง) เป็นจริงครับ

นักดนตรีไทยกับฝรั่งฝีมือเท่ากัน เขาจ้างฝรั่งครับ

เมืองไทยจ้างนักดนตรีต่างชาติปีละประมาณ ๔ พันล้านบาท

 

 

อ.ธนิตย์ สุวรรณเจริญ ครับ

ใช่ครับ ค่าเล่าเรียนที่นี่ค่อนข้างแพง เนื่องจากใช้ครูสอนส่วนใหญ่จากต่างประเทศ เด็กที่เข้าเรียนส่วนใหญ่เป็นลูกคนมีเงินครับ

ลูกหลานชาวบ้านมีน้อย ยกเว้นว่าเก่งจริง

เรียนที่นี่ต้องมีคุณสมบัติ

(๑) มีเงิน - เพราะค่าเรียนแพง

(๒) มีฝีมือ - ต้องผ่านการคัดเลือกอย่างเข้มข้น ไม่มีเด็กเส้น

(๓) มีสมอง - ต้องผ่านการทดสอบความรู้ทางวิชาการอย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะภาษาอังกฤษต้องดี เพราะเรียนกับครูต่างประเทศ

(๔) มีคุณธรรม - ข้อนี้สำคัญที่สุดครับ

เด็กที่ไม่มีเงิน แต่มี ๓ ข้อท้าย จะได้รับการพิจารณาเข้าเรียนครับ

ในวิทยาลัยมีนักเรียน นักศึกษาประมาณ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ที่ได้รับทุนให้เล่าเรียนครับ

 


MV - ถึงวันต้องตื่น 

 

สวัสดีครับ

คุณหนานเกียรติ

มาเยี่ยมและแบ่งปัน 

 

เราก็มีค่ายเพลงเหมือนกันครับ :)

เป็นค่ายเพลง ที่กลุ่ม "กัลยาณมิตร"ได้จัดขึ้น ในต้นปี 51

จัดขึ้นแบบเล็กๆ ท่ามกลางความขาดแคลน แทบจะทุกอย่าง 

 

เพลงแต่งขึ้น ปลายปี50 โดยเด็กม.6

ร้องโดยเด็กนักเรียนชั้น ม.5  ในค่ายเพลง ต้นปี51

mv ทำเสร็จ ปลายปี 51 ช่วงเหตุการณ์กำลังระอุ

ทำโดยเด็กม.5  เป็นคนถ่ายทำเอง ตัดต่อเอง 



ร้องเอง แต่งเอง ทำดนตรีเอง และถ่ายทำตัดต่อ mv เอง    

พวกเขาเป็นกัลยาณมิตร... มิใช่พันธมิตร หรือพวกเสื้อสีใดๆ

พวกเขาเพียงใส่เสื้อเหลืองเพราะรักในหลวงด้วยหัวใจและ...

แสดงออกด้วยการทำความดีเท่านั้น

เราจึงมั่นใจว่า พลังของเยาวชน นี่ละจะกู้ชาติ หลังจากที่ผู้ใหญ่ได้ทำลายลง

แต่... ผู้ใหญ่ต้องสนับสนุน ให้เยาวชนเช่นนี้ มีทั้งคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอ

สำหรับการ ฝ่า กู้ ฟู

มิเช่นนั้น

หากผู้ใหญ่ปล่อยปละละเลย จนสายเกินแก้แล้ว 

เราคงจะต้องย้อนกลับมาถามว่า พลังเยาวชนหายไปไหน?

ในตอนไม่มีคำว่าไทยอยู่..

 


สวัสดีครับ คุณ Man In Flame

ผมตามเข้าไปอ่านเกือบจะทุกบันทึกของคุณ Man In Flame

แต่เป็นเพราะข้อจำกัดทางด้านสติปัญญา จึงมิได้แลกเปลี่ยนความเห็นใด ๆ

ชื่อนชมในความต้ังใจ ความคิดที่แหลมคมครับ

.

ผมนั่งฟังและดู MV จนจบ ชื่นชมมากครับ

เยาวชนวันนี้อ่อนแอมาก แต่ก็มิได้ร้องกล่าวโทษ

เขาถูกทำลายจากระบบ/โครงสร้างที่ใหญ่โต ซับซ้อน และมีพลัง ในขณะที่ไม่มีเงื่อนไขให้เขาได้เติบโตทั้งทางด้านปัญญาและความแกร่งท้ังทางกายใจ

ขอบคุณที่เข้ามาแลกเปลี่ยนและแบ่งปันครับ

สวัสดีครับ พี่ หนานเกียรติ

ชอบฟังดนตรีเหมือนกันครับ

ชื่นชมครับ,ขอบคุณครับ

ขอบคุณมากเลยครับสำหรับความรู้ใหม่

สวัสดีครับ 

P
did 
เมื่อ พฤ. 17 ก.ย. 2552 @ 08:55 
#1556186 [ ลบ ] 

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ

 

สวัสดีครับ ...

P
กับเวลา 
เมื่อ จ. 29 มี.ค. 2553 @ 14:18 
#1929923 [ ลบ ] 

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ
มีโอกาสแบ่งปันบันทึีกอีกนะครับ...

มาฟังเพลงค่ะ ยิ่งแนวนี้ แค่จินตนาการอยู่ในเหตุการณ์ ก็คงขนลุกเหมือนกันนะคะ

ท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ   ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน.

ดนตรี บทกวี กีฬา เป็นแนวทางดีๆ ของเยาวชนได้สร้างสรรค์ ชื่นชมค่ะ

 

สวัสดีครับคุณ poo

P
poo 
เมื่อ พ. 31 มี.ค. 2553 @ 08:58 
#1932464 [ ลบ ] 

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมนะครับ
เวลาผ่านไปกว่าปีแล้ว ผมยังจดจำบรรยากาศนะขณะนั้นได้อยู่เลยครับ

พี่ครับ เฌวาเป็นอย่างไรบ้างคงปิดเทอมแล้ว บันทึกนี้นานแล้ว เลยจำได้ ก่อนวิสา จะเปลี่ยนไป๋...

สวัสดีครับอาจารย์

P
ขจิต ฝอยทอง 
เมื่อ พ. 31 มี.ค. 2553 @ 09:19 
#1932484 [ ลบ ] 

เฌวาไปเรียนซัมเมอร์ ซ้อมเข้า อนุบาล ๑ ตอนเปิดเทอมครับ
ช่วงนี้ผมอยู่กรุงเทพฯ กับเฌวา
เช้าตื่นขึ้นมาบอกไม่ไปโรงเรียน ร้องให้ไปตลอดทาง พอแอบออกจากห้องเรียน แอบมองทางประตูเฌวาคึกคักทันทีครับ...

วิสา เปี๋ยนไป๋ เหมือนกับใครอีกหลายคนเลยครับอาจารย์...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท