๕. ขอทานและตลาดแลกเปลี่ยนสิ่งของในวิถีชาวบ้าน


".... การประสบกับความเดือดร้อนและเกิดความทุกข์ยากของชีวิต ทำให้ชาวบ้านรู้สึกไวต่อความทุกข์ร้อนของผู้อื่นได้ดี ..."

ประมาณปี ๒๕๑๒ เป็นปีที่แล้งและนาล่ม เดือดร้อนและยากแค้นที่สุดเท่าที่ผมจำได้ บ้านผมเคยทำนา ๑๔ ไร่และได้ข้าวเปลือก ๗-๘ เกวียนทุกปี แต่ในปีนั้นเหลือข้าวเปลือกไม่ถึง ๑๐๐ ถัง เป็นปีที่ต้องไปหาซื้อปลายข้าวที่ใช้สำหรับเลี้ยงหมูมาหุงกิน และหลายวันผมและพี่ๆน้องๆก็เดินถือกาละมังไปขอข้าวสารตามบ้านญาติพี่น้องมาหุงกิน หลายครั้งผมสังเกตเห็นว่าแม่เศร้าและเหมือนกับแอบร้องไห้

น้ำท่าก็แล้งและแห้งขอดไปหมดทั้งสระตามบ้าน โรงเรียน และสระของวัดทุกลูก ผมและพี่ชายต้องหัดที่จะเดินไปหาบน้ำไกลจากบ้าน ๒-๓ กิโลเมตรเพื่อใช้เป็นน้ำดื่มและหุงข้าวในแต่ละวัน การประสบกับความเดือดร้อนและเกิดความทุกข์ยากของชีวิต ทำให้ชาวบ้านรู้สึกไวต่อความทุกข์ร้อนของผู้อื่นได้ดี จึงเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันให้เป็นโอกาสและทางเลือกในการแก้ปัญหาได้ทุกอย่าง  

ด้วยเหตุนี้  นอกจากครอบครัวผมอาจต้องไปขอทานจากผู้อื่น หรือไปทำการงานใช้แรงเพื่อขอทานและแบ่งปันข้าวปลาอาหารมาประทังชีวิต บางปีบ้านผมและทั้งกลุ่มละแวกบ้านญาติพี่น้อง ก็จะมีชาวบ้านจากถิ่นอื่น ทั้งจากพิจิตร โคราช และภาคอิสาน ที่ประสบกับนาล่มและเผชิญเคราะห์กรรมในชีวิต เดินทางรอนแรมมาขอแบ่งปันข้าวปลาอาหาร บางครั้งก็ตีมีด เคียว และคอนของท้องถิ่นติดมือมาเพื่อขอแลกอาหารการกิน

                           

หลายครั้งก็เดินมาหากันและนั่งต้อนรับขับสู้กันเหมือนกับเป็นญาติพี่น้องอยู่ที่บ้านผม  แม่ก็จะหุงหาข้าวปลาอาหารและจัดน้ำท่า รวมทั้งสูบยาเคี้ยวหมากกันก่อน ญาติพี่น้องอื่นๆรวมทั้งพวกผมเด็กๆ ก็จะช่วยกันเดินไปบอกยังทุกบ้าน

ไม่นานก็จะมีชาวบ้านด้วยกันมานั่งห้อมล้อมพร้อมกับหอบหิ้วและถือข้าวของติดมือมาด้วย ชาวบ้านทุกคนทั้งผู้มาเยือนและผู้ต้อนรับไม่มีใครมีเงินทองเลย แต่มีทั้งข้าวเปลือก ข้าวสาร มะพร้าว พริก ปลาร้า และทุกอย่างที่ทุกบ้านมีกิน ชาวบ้านมักให้สิ่งต่างๆแก่ผู้อื่นที่ดีกว่าที่ตนเองกินและใช้ หรืออย่างน้อยก็ให้อย่างเสมอกับที่ตนเองมีและเป็น เป็นตลาดแลกเปลี่ยนกันด้วยสิ่งของ ซึ่งกำหนดด้วยคุณค่าทางจิตใจ มากกว่าจะเป็นเงินทองและผลกำไร

มีอยู่ครั้งหนึ่ง ในกลุ่มชาวบ้านที่เดินทางมาแลกสิ่งของ มีหญิงอยู่ในระหว่างเลี้ยงลูกที่ยังไม่หย่านมมาด้วย แต่ไม่ได้เอาลูกมาลำบาก การเดินทางรอนแรมข้ามวันคืนทำให้นมคัด ปวด และทำท่าจะไม่สบาย แม่ก็ไปช่วยดูแลและสอนวิธีบีบนมออกมา เสร็จแล้วก็นั่งคุยและกินข้าวปลาอาหารด้วยกัน

อีกกว่า ๓๐ ปีต่อมา ผมได้ทำวิจัยกับชาวบ้านในภาคตะวันตกของประเทศ ชาวบ้านจากจังหวัดสุพรรณบุรีก็สะท้อนบทเรียนของคนที่รวมกลุ่มกันทำงานพัฒนากิจกรรมเพื่อปรับปรุงสุขภาพและคุณภาพชีวิตของคนที่อยู่ด้วยกันในชุมชนเมืองว่า คนยากจนมักจะมีความมีน้ำใจและความมีจิตสาธารณะเป็นสิ่งทดแทน ทำให้มีวิธีสร้างสรรค์ชีวิตส่วนรวมด้วยกันให้ดีขึ้นได้  

ผมได้ยินแล้วก็ได้การเรียนรู้อย่างซาบซึ้งใจว่า การดำรงชีวิตและการมีการเรียนรู้จากธรรมชาติของชีวิตนั้น แม้จะต่างช่วงเวลาหลายสิบปี ต่างท้องถิ่น ต่างสภาพแวดล้อม แต่ช่างให้บทเรียนและข้อสรุปที่สอดคล้องกันอย่างยิ่ง การหยั่งความทุกข์สุขของชีวิตได้ ก็จะสัมผัสบทเรียนอย่างหนึ่งที่ทำให้มนุษย์ที่แผกต่างกันอย่างมากมาย สามารถเข้าใจ เห็นใจ และมีความรู้สึกทุกข์ร้อนด้วยกันได้

ความทุกข์สุขของชีวิตและการเห็นอกเห็นใจกันของผู้คน จะคิดและเข้าใจเอาด้วยความรู้ไม่ได้  ทว่าต้องรู้จักจากการใช้ชีวิตและเรียนรู้ออกมาจากหัวใจเพื่อหยั่งชีวิตกับผู้อื่นด้วยใจเขาใจเรา และเมื่อผู้คนต่างก็มีชีวิตจิตใจเป็นพื้นฐานเหมือนกันทุกชาติทุกภาษา การรู้จักชีวิตและรู้ทุกข์สุขของชีวิตจากก้นบึ้งหัวใจ ก็ทำให้ผู้คนเข้าใจและเห็นใจกันได้โดยสื่อตรงจากใจสู่ใจ.

 

หมายเลขบันทึก: 290158เขียนเมื่อ 23 สิงหาคม 2009 01:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

มาชื่นชมผลงานรุ่นพี่ที่ เพาะช่างครับ

กำลังนั่งชื่นชมงานของอาจารย์กู้เกียรติอยู่พอดี งานดีจริงๆนะครับ

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

เจริญพรโยมอาจารย์วิรัตน์และผู้อ่านทุกท่าน

·      อาตมาภาพจำปี พ.ศ. ไม่ได้แน่นอน แต่ญาติลูกพี่ลูกน้องกันในฐานะพี่สาวคือพี่เล็ก พวงจำปา ยืนยันมาว่าประมาณ ๒๕๒๑-๒๕๒๒ เพราะใช้วิธีนับอายุลูกชายโดยแกบอกว่าลูกเกิดปีนั้นพอดีก็เลยใช้เป็นข้อมูลได้ค่อนข้างแน่นอน

·      เป็นปีที่อำเภอหนองบัวนครสวรรค์แห้งแล้งมากที่สุดที่อาตมาจำได้ ถ้าเป็นปี ๒๕๑๒ นี่คิดว่าอยู่ ป.๓ เลยไม่ทราบเหตุการณ์ช่วงนี้ชัดเจน

·      แต่ปีที่จำได้ว่าแห้งแล้งนี่เพราะนาอาตมาได้ข้าวประมาณสัก ๕๐ถัง(๑ เล่มเกวียน) บางครอบครัวได้แค่ถัง-สองถังเอง

·       อาตมาต้องไปเผาถ่านที่บ้านเขานางต่วม ตำบลธารทหาร

     อำเภอหนองบัว

·      ไม้ในป่ามีเยอะมากสามารถเผาถ่านกันได้ทั้งหมู่บ้าน พ่อค้าที่มารับซื้อมาจากวังพิกุล เพชรบูรณ์ ชุมแสง

·      เตาถ่านชาวบ้านเรียกว่าเตาอบ โดยขุดเป็นหลุมขนากว้างสัก ๓ เมตร ลึกท่วมหัวคน(เกือบ ๒ เมตร) ด้านบนปั้นด้วยดินคล้ายรูปโดมสูงท่วมหัว เจาะรูเป็นปล่องให้ควันไฟออกเมื่อไฟเผาไหม้

·      เวลาลงไปตั้งเรียงท่อนไม้ในเตาร้อนก็ร้อน อากาศถ่ายเทก็ไม่ค่อยจะมี ต้องเรียงไม้ให้ชิดกันจนแน่นสนิท เวลาเปิดเตาเก็บถ่านไม่มีไหม้เลยแม้แต่ท่อนเดียว ถ่านจะสวยมากมีราคาดี ช่วงนั้นกระสอบละ ๑๕-๑๖ บาท(ปัจจุบัน กระสอบละ ๑๘๐ บาท)

·      เป็นปีที่ลำบากที่สุดในชีวิตที่จำได้

·      ช่วงนั้นบ้านเขานางต่วมมีทีวีเครื่องเดียวที่บ้านเจ๊กป้อ(ชาวบ้านเรียกอย่างนั้นก็เลยจำชื่อจริงท่านไม่ได้)อยู่ใกล้สระน้ำสาธารณะชาวบ้านเรียกหนองหิมพานเป็นสระน้ำใหญ่มาก

·      ตกเย็นคนจะมาคอยดูโทรทัศน์เต็มลานบ้านเจ๊กป้อเหมือนเป็นโรงหนังประจำหมู่บ้าน

·      บ้านญาติที่เป็นที่พักชั่วคราวอยู่ห่างสระน้ำต้องใช้เกวียนเข็นน้ำหรับเอาไว้ใช้

·      ส่วนน้ำบริโภคต้องไปเข็นเกือบถึงบ้านวังบ่อไกลมากทีเดียว

 

เจริญพร

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

 

 

  • คงมีแล้งอีกหลายครั้งในพื้นที่ต่างๆครับ อย่างที่พระคุณเจ้าเล่าว่าเกิดขึ้นอีกในปี ๒๕๒๑-๒๕๒๒ นั้นก็หนักนะครับ แต่เป็นช่วงที่ผมไม่ได้อยู่บ้านเกิดที่หนองบัวแล้ว ไปเรียนต่ออยู่กรุงเทพฯ แล้วครับ
  • แต่ก็เป็นช่วงที่ผมกับเพื่อนอีก ๒ คนซึ่งเป็นญาติพี่น้องกันนั่นเองชวนกันไปขายของที่ชายแดนเขมรในช่วงสงครามก่อนเขมรแตกพอดี เพื่อนสองคนมานั่งร้องไห้และหารือกับผมว่าบ้านไม่มีกินแล้ว น้องๆก็จะไม่ได้ไปโรงเรียน สงสารพ่อแม่ เลยชวนกันไปขายของที่ตลาดชายแดน เกือบได้เงินมาก้อนหนึ่งเหมือนกันครับ แต่เขายิงกันจนกลายเป็นสงคราม การซื้อของไปขายเลยเจ๊งไม่เป็นท่า ไม่เหลือเงินกลับบ้านและแม้แต่จะกินข้าว
  • แต่ก็ได้คนที่ไปรู้จักกันระหว่างไปขายของและต้องลำบากไปด้วยกันให้ตังค์พอเป็นค่ารถกลับ กลางคืนต้องหลบผูกเปลนอนบนต้นไม้เพื่อรอขึ้นรถไฟกลับในตอนกลางวัน ปีนั้นเลยยากไร้สองต่อเลยครับ
    • วาดรูปได้สวยมากค่ะ
    • ชื่นชมกับชีวิตวัยเด็กของท่านจริงๆค่ะ
    • ขอบพระคุณที่แบ่งปันประสบการณ์นะคะ
  • ขอบคุณครับคุณลีลาวดี คนเข้าแวะมาอ่านและดูรูปแล้วมีความสุข ผมก็มีความสุขด้วยเช่นกันครับ รูปเขียนและงานศิลปะทำให้คนรักความรู้และการอ่านได้เหมือนกันนะครับ
  • กำลังนั่งทบทวนตนเองให้มากๆไปด้วยในระหว่างทำงานครับ การเขียนและนั่งคิดใคร่ครวญที่มีแรงเข้าไปดูตนเอง เป็นวิธีจัดประสบการณ์และทำการคิดให้เป็นระเบียบได้ดีขึ้นเหมือนกันครับ
  • ได้รู้ไปทีละนิดด้วยว่าวิธีการอย่างนี้มีข้อจำกัดและมีข้อดีที่จะทำงานการคิดและสร้างความรู้ความเข้าใจร่วมกับคนอื่นๆทั่วไป ได้อย่างไรบ้างไปในตัว 
  • แล้วก็จะเขียนเป็นบันทึก ทำเป็นหนังสือมอบให้แม่และแจกจ่ายเด็กๆ-ญาติๆที่บ้านเกิดไปด้วย ในปีหน้าครับ
  • อยากให้แม่ได้อ่านในขณะที่แม่ยังสามารถอ่าน ให้เป็นกำลังใจแม่ยามแก่เฒ่าน่ะครับ
  • แถวบ้านผมยังเป็นบ้านนอก แต่สามารถพัฒนาได้อีกเยอะครับ เลยจะทำเป็นสื่อให้แรงบันดาลใจแก่เด็กๆและชาวบ้านไปในตัวด้วยครับ
  • เลยเผยแพร่แก่คนทั่วไปด้วยจริงๆ แล้วก็จะนำไปให้ชาวบ้านได้เป็นสื่อ พากันคุ้นเคยกับหนังสือ การเรียนรู้ การอ่าน และรู้จักทำความแยบคายให้เกิดขึ้นในชีวิตได้เสมอๆครับ
  • ผมไม่คาดหวังมากหรอกครับ แค่ทำอยู่เรื่อยๆเพื่อทำให้ชาวบ้านไม่เคอะเขินและแปลกแยกกับการเรียนรู้ หนังสือ การอ่าน การสร้างความรู้จากชุมชน และการลงไปทำงานในชุมชนของคนภายนอก ที่เขาอาจจะมีสิ่งดีๆไปแลกเปลี่ยนแบ่งปันกับชาวบ้านได้ก็ได้ หากชาวบ้านมีเครื่องรับและมีการปฏิสัมพันธ์เชิงการเรียนรู้ดี
  • ที่หมู่บ้านครูอ้อยเล็กหน้าแล้งเกี่ยวข้าวเสร็จก็จะมีขอทานที่ไม่เอาสตางค์ค่ะเอาแต่ข้าวสารเท่านั้นค่ะ..บางที่เราตำข้าวพอกินไม่มีข้าวสารมากพอให้เขา..เราก็ถามเขาว่าเอาข้าวเปลือกได้ไหม..เอาไปตำเอาเอง..เขาก็เอาค่ะ..

    การแลกเปลี่ยนสินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร หมู่บ้านครอ้อยมีข้าวมีปลา..ครูอ้อยและน้องขุดหลุมโจรดักปลาหมอ...ได้มากๆปลาหมอตายยากค่ะ..แม่จะเอาไปแถวๆลาดหญ้าแพรกเกือบติดเขตแดนราชบุรี..ไปแลกอ้อยมาให้ลูกๆแทะกินกันค่ะ..

    ส่วนที่ขายได้ก็จะมีตามธรรมชาติ..ผักบุ้ง ผักกุ่มเขาเอาไปดอง หอยโข่งเขาเอาไปให้เป็ดกิน หอยขมไปแกง  ผักเสี้ยน หอยกาบเอาไปผัดเผ็ดขี้เมาชอบ

    ...เฮ้อเกิดสมัยเดียวกะครูม่อยจริงๆนะเนี่ย... 

    หลายอย่างคล้ายกันมากเลยนะครับ รู้จักทำหลุมโจรดักปลาอีกด้วย แต่คงไม่ได้เกิดร่วมสมัยกับรุ่นผมหรอก ไม่อยากให้แก่น่ะ

     

    Pหลีกเลี่ยงไม่พ้นหรอกค่ะอาจารย์ยังไงก็ต้องแก่ตามกัน...ขอบคุณค่ะที่ไม่อยากให้แก่..

    • ขอบคุณสำหรับการ์ดน้ำใจสวยๆนะครับ แนวคิดดีครับ
    • แต่เดิมเข้าใจว่าเพื่อนของคุณครูอ้อยเล็ก(อาจารย์กู้เกียรติ)เท่านั้นที่เรียนเพาะช่าง
    • เข้าไปในเว็บเพาะช่างจึงได้ทราบว่าคุณครูอ้อยเล็กเป็นศิษย์เก่าวิจิตรศิลป์เหมือนกับผมและอาจารย์กู้เกียรติ

    สวัสดีค่ะท่านอาจารย์

    ประทับใจ น้ำจิต มิตรไมตรี วิถีประชา ของชาวบ้านในพื้นที่ชนบทค่ะ

    ยิ่งห่างไกล ทุรกันดาร ยิ่งมองเห็นได้ชัดเจน ...

    ภูมิปัญญาชาวบ้าน ควรได้รับการบอกเล่าต่อและสืบสานไว้ด้วยความเคารพค่ะ

    • สวัสดีครับคุณpoo
    • ชนบทมีอีกหลายอย่างที่มีความเป็นตัวของตัวเองนะครับ
    • หากอีกหลายแห่งในระดับชุมชน มีผู้คนเข้าไปเสริมกำลัง ทำให้มีองค์ความรู้ท้องถิ่นและสามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับโลกภายนอกได้ ก็จะมีเรื่องราวให้เราได้ความประทับใจ แล้วก็จะเห็นความมีทุนทางสังคมมากมายในแผ่นดินไทยอย่างที่คุณpoo ได้ร่วมสะท้อนความรู้สึกด้วยนะครับ
    พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
    ClassStart
    ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
    ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
    ClassStart Books
    โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท