เรียนDNA


การเรียนโครงสร้าง DNA ของนักเรียนชั้น ม.6 ปีนี้ พิเศษกว่าปีก่อนๆ เพราะผมให้ทำ DNA ด้วยตัวเองมาล่วงหน้า โดยมอบหมายให้เป็นภาระงานสำคัญของเทอมนี้ มาตั้งแต่เปิดเทอมแล้ว กว่าจะเรียบร้อยทุกกลุ่ม ต้องอาศัยเวลาพอสมควร โดยเฉพาะมีอยู่กลุ่มหนึ่ง เบสที่ติดด้วยกาว คอยจะหลุดอยู่เรื่อย แต่สุดท้ายก็สามารถแก้ปัญหาจนลุล่วงได้

พอถึงคิวที่ต้องเรียนจริงๆ ครูจึงสบาย มิต้องอธิบายอะไรมาก ผมใช้เวลาสอนเรื่องนี้ 2 ครั้ง 3 ชั่วโมง ชั่วโมงแรก ให้นักเรียนทุกคนสรุปโครงสร้าง DNA ตามที่วัตสัน(Watson)และคริก(Crick)เสนอไว้ จนได้รับรางวัลโนเบลมาแล้ว โดยค้นจากหนังสือเรียน หรือหนังสืออื่นๆก็ได้

ครั้งต่อมา เรียน 2 ชั่วโมงติดต่อกัน ผมใช้วิธีการเดิม ที่เคยสอนเมื่อปีแล้ว เพราะนักเรียนตั้งใจเรียนดีอยู่แล้ว กล่าวคือ ให้นักเรียนนำโครงสร้าง DNA ที่ตัวเองทำไว้ มาเป็นแบบในการวาดให้เหมือนจริง เท่าที่จะทำได้    นักเรียนบ่นครับว่าวาดยาก หลังวาดแล้ว ต้องทำเครื่องหมายชี้ด้วยว่า ส่วนใด คืออะไร เรียกชื่อให้ถูกต้อง อย่างน้อยนักเรียนต้องระบุส่วนต่างๆเหล่านี้ได้ถูกต้อง ได้แก่  เบสพิวรีน เบสไพริมิดีน น้ำตาลดีออกซีไรโบส หมู่ฟอสเฟต นิวคลีโอไทด์ สายพอลินิวคลีโอไทด์ ปลาย 3 ไพรม์ ปลาย 5 ไพรม์ พันธะฟอสโฟไดเอสเทอร์ พันธะไฮโดรเจน ราวบันได(backbone) ขั้นบันได และเบสคู่สม(complementary base) รวม 13 รายการ ผมกำชับอย่าให้น้อยกว่านี้ แต่ถ้ามากกว่ายิ่งดี

 

นักเรียนตั้งใจ พยายามวาดกันอย่างดี บางคนมีความสามารถทางศิลปะ ก็จะวาดเหมือน สวย แต่บางคนก็ลบแล้วลบอีก ทำไปบ่นไป เสียดายที่นักเรียนไปเน้นวาดให้เหมือน ให้สวย จนแทบหมดเวลาเลย เวลาที่จะระบุส่วนต่างๆคืออะไร ชื่ออะไร เหลือน้อยเต็มที จนส่วนใหญ่ดูลุกลี้ลุกลน ในการทำงานช่วงนี้

ผมตรวจความถูกต้องของชื่อต่างๆที่นักเรียนชี้บ่ง คนตอบถูกน้อยที่สุด ได้ประมาณครึ่งหนึ่งที่กำหนด หรือ ประมาณ 6-7 รายการ คนตอบถูกมากที่สุดได้เกินกว่า 13 รายการ หรือมากกว่าที่กำหนด โดยจะเพิ่มชื่อเบส   อะดีนีน ไทมีน กวานีน และไซโทซีนเข้าไปด้วย สำหรับนักเรียนส่วนใหญ่ของห้องจะตอบได้ประมาณ 10-11 รายการครับ

เสียดายที่นักเรียนไปเน้นเรื่องวาดภาพมากไป หรือผมอธิบายโจทย์ก่อนทำงานไว้ไม่ดี ระหว่างนักเรียนทำงาน ผมสังเกต นักเรียนเสียเวลาวาดภาพเกินไปแล้ว แต่พยายามเฉยครับ เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้เอง

หมายเลขบันทึก: 288894เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2009 22:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)

สุดยอดไปเลยครับท่าน น่าสนใจ ลุ่มลึก ประโยชน์ แถมความรู้ฟรี

มาชมเด็กๆ เรียนรู้เรื่อง DNA

และชื่นชมที่คุณครูนำเทคนิควิธีการสอนที่ทำให้เด็กๆเรียนรู้อย่างมีความสุขมาใช้อยู่เสมอค่ะ

 

สวัสดีค่ะ  คุณครูธนิตย์

  • เด็กๆของแป๋มก็มีลักษณะคล้ายๆกันค่ะ และได้บอกเหตุผลมา
  • ว่าวาดให้เหมือนและสวยไว้ก่อนเพราะเป็นส่วนที่ให้คะแนน
  • ที่เขาชัวร์แต่ในเวลาอันจำกัด การที่จะบอกส่วนประกอบได้ครบ
  • และถูกต้องเป็นหนทางที่ทำให้คะแนนลดลงกว่าการวาดให้สวย
  • ทำนองกันไว้ก่อน ทำอย่างหนึ่งให้สมบูรณ์ชัวร์ ที่เหลือนั้น
  • ทำช้าหรือเร็วอาจมีค่าเท่ากัน...คงต้องทำความเข้าใจในจุดนี้
  • กับกลุ่มเด็กบางกลุ่มที่คิดบอกเหตุและผลตามที่บอกข้างต้นค่ะ

ขอบคุณคุณครูธนิตย์ค่ะ

มาสมัครเป็นนักเรียนค่ะ

เห็นเด็กน้อยมุ่งมั่นอย่างนี้แล้ว ฟันธงค่ะ

ว่าคุณครูสอนสนุก ชวนติดตาม

เป็นบทเรียนที่มีประโยชน์มากนะคะ

สมัยครูต้อยเป็นเด็กนักเรียน

ยังไม่เคยได้เรียนรู้แบบนี้เลย

น้องๆโชคดีจังเลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ

 

           ติดตามมาอ่านการจัดการเรียนการสอนของคุณครูค่ะ  เด็ก ๆ โชคดีมากนะคะที่ได้เรียนกับคุณครูที่เอาใจใส่  และขยันขันแข็ง  อย่างงี้ผู้ปกครองชื่นใจแน่ ๆ ค่ะ

นักเรียนเสียเวลาวาดภาพเกินไปแล้ว แต่พยายามเฉยครับ เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้เอง

    เป็นบทเรียนที่ดีมากอีกบทหนึ่งครับ

เสียดายที่นักเรียนไปเน้นเรื่องวาดภาพมากไป หรือผมอธิบายโจทย์ก่อนทำงานไว้ไม่ดี ระหว่างนักเรียนทำงาน ผมสังเกต นักเรียนเสียเวลาวาดภาพเกินไปแล้ว แต่พยายามเฉยครับ เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้เอง

*  *   *   *

อยากฝากลูกมาเป็นลูกศิษย์ ครูธนิตย์ค่ะ

ลูกชายไม่ค่อยเน้นความสวยงาม ความเป็นระเบียบ เรียบร้อย

เขาเน้น ความรู้

(เขาไม่ได้เป็นคนพูด แต่ แม่คิดวิเคราะห์ค่ะ)

 

เช่นเรื่องดีเอ็นเอ นี้ เขาทราบมากกว่าที่เราเคยรู้ในวัยเรียน

เช่น เรื่องวิทยาศาสตร์ ที่เขาสนใจ

เช่น เรื่องปูมพงศาวดาร

บทกวี ที่เขาลองเขียน

 

แต่การทำการบ้าน เขามีไว้ส่ง ไม่คิดว่าต้องสมบูรณ์แบบ

ครั้งหนึ่งเขาวาดภาพวิวทะเล ไม่ระบายสีท้องฟ้า โดนหักคะแนนและมีคำกำกับว่า "ไม่มีสีฟ้าบนท้องฟ้า"

เขาอธิบายว่า ท้องฟ้าวันนั้นเป็นสีขาวมากกว่าไงแม่

และ ท้องฟ้าของลูกจรดกับผืนทะเลแทบเป็นเนื้อเดียวกัน ถ้าระบายสีฟ้าเดียวกัน จะแยกไม่ออกนะครับ

 

เป็นปัญหา หรือเปล่าคะ เรียนปรึกษาค่ะ

สวัสดีค่ะ อ.ธนิตย์

*** คิดถึงสมัยเรียนกับ อ.จุไรลักษณ์ อัตภานันตท์ อาจารย์ตั้งใจสอนมาก แม้จะไม่มีโมเดลสวยงามเหมือนปัจจุบันแต่เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรียนแล้วท้าทายดี

  • ดีจังเลยครับ..ที่ได้รับข้อมูลจากครูชีววิทยาด้วยกัน แถมผลคล้ายๆกันเสียด้วย
  • ขอบคุณมากครับครูแป๋ม
  • เด็กๆมักบอกว่าผมสอนเครียดครับ..แต่สังเกตว่าครั้งนี้ตั้งใจกันดี สงสัยกลัว(ฮา)
  • ขอบคุณkrutoiครับ
  • กิจกรรมค่ายของอาจาย์ ก็น่าชื่นชมมากๆครับ
  • ขอบคุณครูตา ลป.ครับ
  • ครูมักจะเตือนนักเรียนทุกอย่าง ถึงปัญหาอันอาจจะเกิดขึ้น..รวมถึงผมด้วย ซึ่งไม่น่าจะดีต่อการเรียนรู้ของเด็กๆเท่าไหร่ครับ
  • ขอบคุณรองฯวิชชาครับ
  • อ่านบทกวีแล้วทึ่ง ทั้งเนื้อหาและคำที่ใช้..เก่งมากๆครับ
  • ครูต้องมีกรอบกับลูกศิษย์ให้น้อยที่สุด เปิดใจกว้างๆ ฟังให้มากๆ ครูไม่ได้ฟัง หรือฟังน้อยไป ว่านักเรียนคิดอย่างไร อาจเพราะจำนวนนักเรียนที่มาก ในเวลาอันจำกัด
  • ถ้าได้ฟังเหตุผลดีๆ ที่ผู้ใหญ่อาจนึกไม่ถึงของน้องภูแล้ว เชื่อว่า การตัดสินให้คะแนน ไม่ว่าจะเป็นครูคนใดๆ ต้องแม่นยำกว่านี้แน่ๆเลยครับ
  • ขอบคุณคุณหมอภูสุภาครับ
  • สมัยเรียนมัธยม..ชอบเรียนคณิตศาสตร์กับชีววิทยาครับ การสอนชีววิทยาของอ.จุไรลักษณ์ มีอิทธิพลมากเลยครับ
  • ขอบคุณพี่กิติยาครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท