ผชช.ว.ตาก (6): ประชุมโรคติดต่อชายแดนไทย-พม่า2009


มีการประชุมตกลงหาแนวทางร่วมกันเกือบทุกปีแต่ไม่ค่อยมีผลแท้จริงในการปฏิบัตินัก เนื่องจากมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องมากมาย

         ผมได้รับมอบหมายจากนายแพทย์ สสจ. ตากให้ไปร่วมประชุม "เชิงปฏิบัติการระหว่างประเทศไทยและประเทศพม่า ในการป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และการตอบโต้สถานการณ์โรคระบาด สำหรับปี พ.ศ. 2552" หรือ Myanmar-Thailand Joint Work Plan on HIV/AIDS, TB, Malaria and Disease Outbreak Response for 2009 โดยกองแผนงาน กรมควบคุมโรคกับกระทรวงสาธารณสุข ประเทศพม่า เป็นผู้จัด เพื่อพัฒนากลไกและเครื่องมือในการทำงานร่วมกันของ 3 โรคดังกล่าวและการตอบโต้สถานการณ์โรคระบาด รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของด่านพรมแดนระหว่างประเทศในการปฏิบัติตามกฎอนามัยระหว่างประเทศ (IHR2005) ระหว่างวันที่ 23-24 กรกฎาคม 2552 ที่โรงแรมเรจิน่า จังหวัดท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า

        คณะของไทย มีผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรคเป็นหัวหน้าคณะโดยไม่มีผู้บริหารระดับกรมและสำนักไปร่วมเลย ขณะที่ของพม่านำทีมโดยรองอธิบดีกรมอนามัย (ด้านควบคุมโรค) และผู้อำนวยการสำนักควบคุมโรค และผู้บริหารอีกหลายสำนักที่เกี่ยวข้องมาร่วมประชุม ดูแล้วเขาให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

        การนำเสนอข้อมูลเอดส์ วัณโรคและมาลาเรียของพม่า นำเสนอได้ดีมาก มองเห็นภาพและเห็นการกระจายตัวของโรคได้ดีและชัดกว่าข้อมูลของไทยเรามาก ดูแล้วมีการเตรียมตัวมาอย่างดี การรปะชุมใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาสำหรับการประชุม จึงเห็นได้ว่าทางฝั่งพม่ามีการอภิปรายมากกว่าคนไทยเยอะ ใช้ภาษาได้คล่องกว่า การประชุมนี้เป็นการประชุมเพื่อติดตามความก้าวหน้าของผลการประชุมเมื่อปีที่แล้วที่พัทยา ซึ่งผมเองก็ไม่ได้เข้าร่วมประชุมและไม่ได้ทราบรายละเอียดมาก่อน

       มีการจัดคู่จังหวัดชายแดนที่อยู่ติดกัน 3 จังหวัดคือท่าขี้เหล็ก (Tachileik) กับเชียงราย เมียวดี (Myawaddy) กับตากและเกาะสอง (Kawthaung) กับระนอง ได้มีการประชุมพูดคุยกันเพื่อการส่งต่อผู้ป่วยร่วมกันและการแจ้งข่าวโรคระบาดเพื่อจะได้ช่วยกันควบคุมโรคได้เร็ว ผมเองก็ไม่แน่ใจว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติได้หรือไม่เพราะมีหลายคนที่เคยเข้าประชุมมาก่อนก็บอกว่าได้แต่คุยกัน แต่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริงสักที

      ผมได้คุยกับนายแพทย์ สสจ. เมียวดี คุณหมอขิ่น หม่อง ยุนต์ ที่จะเกษียณอายุราชการในอีก 2 เดือนนี้ เขาบอกว่าเขาตัดสินใจหลายอย่างได้ลำบากเพราะถามีปัญหาก่อนเกษียณแล้ว เขาจะไม่ได้รับบำนาญ และก็ได้คุยกับนายแพทย์สาธารณสุขเขตคะหยิ่น (กระเหรี่ยง) คุณหมอเท หน่อง ด้วย แต่บทบาทในการบริหารจัดการในระดับจังหวัด (ของเขาเรียกDistrict แต่เขาถือว่าเท่ากับจังหวัดของเรา ส่วนอำเภอเขาเรียกว่าTownship) เป็นของนายแพทย์ สสจ. (District Health Officer ถ้าบ้านเราก็เรียกสาธารณสุขอำเภอ) ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลจังหวัดด้วย

       ช่วงประชุมมีเจ้าหน้าที่ในคณะคนหนึ่งเปรยๆว่า ถ้าไปประชุมที่ร่างกุ้ง สงสัยเขาคงไม่ได้ไปเพราะคงมีคนแย่งกันไปเยอะ พอมาประชุมที่ท่าขี้เหล็กชายแดนแม่สาย หลายคนเลยติดภารกิจ

หมายเลขบันทึก: 288888เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2009 22:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:50 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท