ครูนอกระบบ
นาง ณัฐนิธิ อารีย์ อักษรวิทย์

<เล่าสู่กันฟัง>เปิดคำวนิจฉัยกฤษฎีกาขั้นตอนการถวายฎีกาฯ


เปิดคำวินิจฉัย

 

 เปิดคำวินิจฉัยกฤษฎีกาขั้นตอนการถวายฎีกายุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม    

เปิดคำวินิจฉัยกฤษฎีกาขั้นตอนการถวายฎีกายุคจอมพล ป.พิบูลสงคราม
หมายเหตุ"มติชนออนไลน์"-เนื่องจากมีข้อถกเถียงกันมากเกี่ยวกับการถวายฎีกาเพื่อขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่ากระทำได้หรือไม่  เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จึงขอนำเรื่องที่คณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งเคยวินิจฉัยเรื่องนี้ไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2497ในช่วงที่นาย หยุด แสงอุทัย ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการ มานำเสนอ
---------------------

บันทึก เรื่อง  การถวายเรื่องราวร้องทุกข์ (เลขเสร็จ272/2497
                                 

        ตามหนังสือของกรมสารบรรณ คณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหารที่ 12545/2497ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2497 แจ้งว่า ในการเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ของราษฎรนั้น ได้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 32 บัญญัติไว้ว่า บุคคลคนเดียวหรือหลายคนร่วมกัน ย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ภายในเงื่อนไขและวิธีการที่กฎหมายบัญญัติและได้มีพระราชบัญญัติเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ.2492 กำหนดเงื่อนไขและวิธีการเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ไว้แล้ว แต่ยังปรากฏว่าราษฎรได้ทูลเกล้า ฯ ถวายเรื่องราวร้องทุกข์หรือทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาขอให้พระมหากษัตริย์ทรงปลดเปลื้องทุกข์อยู่อีก

       ท่านนายกรัฐมนตรี(จอมพล ป.พิบูลสงคราม -ขยายความโดย กองบรรษธิการ)พิจารณาเห็นว่า ควรจะมีระเบียบที่ถูกต้องเพื่อถือเป็นทางปฏิบัติต่อไป และให้ถามคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า จะต้องทำประการใดเพื่อประกาศให้ทราบทั่วกันสืบไปนั้น

คณะกรรมการกฤษฎีกา (กรรมการร่างกฎหมายกองที่ 1) ได้ตรวจพิจารณาแล้ว ขอเสนอดังต่อไปนี้

        เมื่อพิจารณาหนังสือของกรมสารบรรณคณะรัฐมนตรีฝ่ายบริหารข้างต้นประกอบกับคำชี้แจงของผู้แทนสำนักคณะรัฐมนตรีแล้ว พอจะสรุปปัญหาอันเป็นจุดประสงค์ที่ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาเรื่องนี้ได้เป็น 2 ประเด็น คือ

       ก. เมื่อมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 32 ดังกล่าวข้างต้น และได้มีพระราชบัญญัติเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ.2492 บัญญัติเงื่อนไขและวิธีการเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ไว้แล้วเช่นนี้ ราษฎรจะทูลเกล้า ฯ ถวายเรื่องราวร้องทุกข์นอกเหนือไปจากบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวได้หรือไม่

       ข. ถ้าหากราษฎรทูลเกล้า ฯ ถวายเรื่องราวร้องทุกข์นอกเหนือจากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติเรื่องราวร้องทุกข์ได้แล้ว จะต้องปฏิบัติประการใดจึงจะไม่เป็นการขัดต่อกฎหมาย

1. สำหรับประเด็นข้อแรกนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า สิทธิในการยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ต่อประมุขของประเทศนั้นเป็นสิทธิมูลฐาน (fundamental right) ของราษฎรแห่งประเทศนั้น ๆ และสำหรับในระบอบการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น ราษฎรก็ย่อมมีสิทธิทูลเกล้า ฯ ถวายเรื่องราวร้องทุกข์หรือทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ได้

          แม้แต่ในประเทศอังกฤษซึ่งเป็นประเทศที่ปกครองด้วยระบอบเช่นว่านี้มาเก่าแก่ก็ยังมีการยอมรับนับถือสิทธิในการยื่นเรื่องราวร้องทุกข์ของราษฎรโดยมีบทบัญญัติดังกล่าวไว้ใน bill of rights อันเป็นกฎหมายประกาศรับรองสิทธิและเสรีภาพของราษฎรว่า ราษฎรย่อมมีสิทธิที่จะทูลเกล้า ฯ ถวายเรื่องราวร้องทุกข์ต่อพระมหากษัตริย์และบรรดาการจับกุมฟ้องร้องเพราะการร้องทุกข์เช่นว่านั้น ย่อมเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย (It,is the right of the subjects to petition the king,and all commitments and prosecutions for such petitioning are illegal.)

            สำหรับประเทศไทย พระมหากษัตริย์แต่โบราณกาลก็ทรงเปิดโอกาสให้สิทธิแก่ราษฎรที่จะทูลเกล้า ฯ ถวายเรื่องราวร้องทุกข์หรือทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาต่อพระองค์ได้เสมอ ดังปรากฏหลักฐานจากศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหงว่า ......ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้ให้ ไพร่ฟ้าหน้าปก กลางบ้านกลางเมือง มีถ้อยมีความเจ็บท้องข้องใจ มันจักกล่าวถึงเจ้าถึงขุนบ่ไร้ ไปสั่นกระดิ่งอันท่านแขวนไว้....... และเป็นพระราชจริยาวัตรที่พระมหากษัตริย์ในรัชสมัยหลัง ๆ ได้ทรงยึดเป็นประเพณีในการทรงรับเรื่องราวร้องทุกข์ของอาณาประชาราษฎร์อยู่ตลอดมา ดั่งเช่นที่ปรากฏในพระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา ลงวันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2457

             อนึ่ง แม้ในปัจจุบันนี้ก็ยังมีกฎหมายบางฉบับรับรองสิทธิเช่นว่านี้บัญญัติอนุญาตให้ราษฎรทูลเกล้า ฯ ถวายเรื่องราวร้องทุกข์ได้ด้วย

             ฉะนั้น แม้จะมีบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 32 บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องราวร้องทุกข์ไว้และมีพระราชบัญญัติเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ.2492 บัญญัติเงื่อนไขและวิธีการเสนอเรื่องราวร้องทุกข์ไว้แล้วก็ตาม ก็หาเป็นการตัดสิทธิของราษฎรที่จะทูลเกล้า ฯ ถวายเรื่องราวร้องทุกข์หรือทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขของประเทศไม่

2. ประเด็นในข้อที่สองซึ่งเป็นปัญหาในทางปฏิบัติว่า จะพึงดำเนินการเกี่ยวแก่เรื่องราวหรือฎีกาประการใด จึงจะไม่เป็นการขัดต่อกฎหมายนั้น คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า

              ก. ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะให้สิทธิแก่บุคคลที่จะทูลเกล้า ฯถวายเรื่องราวหรือฎีกาได้ การปฏิบัติของทางราชการก็ต้องดำเนินไปตามวิธีการที่กฎหมายนั้น ๆ ได้บัญญัติไว้ เช่น กรณีที่ผู้ต้องรับโทษอาญาถวายฎีกาขอรับพระราชทานอภัยโทษ การปฏิบัติก็ต้องดำเนินไปตามความในมาตรา 261 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากล่าวคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยต้องนำฎีกานั้นทูลเกล้า ฯ ถวายพร้อมทั้งความเห็นว่า ควรจะพระราชทานอภัยโทษหรือไม่

             แต่ถ้าเป็นกรณีที่กฎหมายเพียงแต่บัญญัติไว้ให้ทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกาได้โดยมิได้บัญญัติวิธีการอะไรไว้ เช่น การร้องทุกข์เกี่ยวกับการเนรเทศตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเนรเทศ ร.ศ.131 มาตรา 4 ก็เห็นว่า ควรเป็นหน้าที่ของรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบเกี่ยวแก่กิจการนั้นจะทูลเกล้า ฯ ถวายความเห็นเพื่อทรงพระราชวินิจฉัยทำนองเดียวกัน

              ข. ในกรณีการถวายเรื่องราวหรือฎีกาเกี่ยวแก่กิจการที่ฝ่ายบริหารได้ปฏิบัติไปตามบทบัญญัติของกฎหมายซึ่งบัญญัติให้กระทำในพระปรมาภิไธยหรือโดยพระบรมราชโองการ เช่น กรณีเกี่ยวแก่การแต่งตั้งหรือถอดถอนข้าราชการตำแหน่งปลัดกระทรวง  อธิบดีหรือเทียบเท่า เป็นต้น รวมทั้งกรณีเกี่ยวแก่การบริหารราชการอื่นใด รัฐบาลย่อมจะพิจารณาสอบสวนและดำเนินการไปตามที่เห็นควรได้ แล้วกราบบังคมทูลให้ทรงทราบ

               ค. ในกรณีเกี่ยวแก่การขอพระมหากรุณาเป็นการส่วนพระองค์ ย่อมเป็นเรื่องที่สุดแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตามพระราชอัธยาศัย

               อนึ่ง เห็นสมควรกล่าวไว้ด้วยว่าในกรณีดังกล่าวข้างต้น หากจะมีพระบรมราชโองการหรือพระราชหัตถเลขาประการใดอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดินแล้ว ก็จะต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการตามรัฐธรรมนูญ ฯ มาตรา 98 ด้วย

ที่มา  
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1249543681&grpid=no&catid=02

จากคุณ : nookookai8 
เขียนเมื่อ : 6 ส.ค. 52 22:10:48 A:110.164.22.9 X:

 

คำสำคัญ (Tags): #ฎีกา
หมายเลขบันทึก: 284064เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2009 00:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

1. ฎีกาดังกล่าวมิใช่ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญามาตรา 259-267

และขัดต่อพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 23 ที่ห้ามมิให้ถวายฎีกา

เพื่อคัดค้านคำพิพากษาของศาลฎีกาที่ได้พิจารณาเสร็จเด็ดขาดแล้ว

และมิใช่ฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งผู้ขอจะต้องเป็นผู้ถูกพิพากษาลงโทษ

หรือบุคคลในครอบครัว และไม่มีช่องทางใด

ที่พระมหากษัตริย์จะพระราชทานอภัยโทษตามที่ฎีกาดังกล่าวร้องขอได้

2. ฎีกาดังกล่าว มิใช่ฎีการ้องทุกข์เพื่อขอความเป็นธรรมที่อาจกระทำได้

ตามโบราณราชนิติประเพณี ซึ่งจะต้องเป็นการขอพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณ

เพื่อให้มีความช่วยเหลือหรือบรรเทาความเดือดร้อนโดยส่วนตัวของผู้ถวาย

การถวายฎีกาของคนเสื้อแดง

มีความมุ่งหมายให้พระราชทานอภัยโทษแก่ตัว

พ.ต.ท.ทักษิณฯ ซึ่งมิใช่ผู้ขอถวายฎีกา

3. ฎีกาดังกล่าวเป็นฎีกาที่มุ่งประสงค์ทำให้พระมหากษัตริย์

ทรงใช้พระราชอำนาจก้าวล่วงองค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตย

โดยขอให้พระราชทานอภัยโทษแก่ พ.ต.ท.ทักษิณฯ

ซึ่งศาลฎีกามีคำสั่งเด็ดขาดแล้วให้จำคุก และยังคงมีคดีค้างอยู่ระหว่าง

การพิจารณาของศาลฎีกาอีกหลายคดี ที่อยู่ระหว่าง การสืบพยาน

และทั้งที่ศาลได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว และได้ออกหมายจับตัว

พ.ต.ท.ทักษิณฯ มาดำเนินกระบวนการพิจารณาต่อไป

ทั้งยังมีคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการ

เพื่อรอส่งฟ้องต่อศาลอีกเป็นจำนวนมาก

ซึ่งในหลายๆ ประเทศทั่วโลกที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

เช่น สเปน พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง

ถ้าประธานาธิบดีหรือนายกรัฐมนตรี ขออภัยโทษให้กับนักการเมือง

เพื่อให้องค์ประมุขใช้พระราชวินิจฉัยอย่างหนึ่งอย่างใด

เท่ากับเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยเกินขอบเขต ฉะนั้นหลายประเทศ

ที่เป็นประชาธิปไตยจะไม่รับเรื่องของการอภัยโทษให้กับนักการเมือง

บางประเทศที่ให้ความสำคัญเกี่ยวกับการคอรัปชั่น

ก็จะยิ่งมีความเข้มข้นมากขึ้น เพราะฉะนั้นการถวายฎีกา

หรือการร้องทุกข์ สาระจึงอยู่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณฯ เป็นนักการเมือง

และเป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี ที่ยังคงมีคนนิยมชมชอบ

เหล่านี้จะเป็นเหมือนการ ใช้อิทธิพลทางการเมืองกดดัน

ให้การพิจารณาเรื่องนี้เป็นไปในทางบวกแก่ตัวเอง

การขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณฯ

ซึ่งเป็นทั้งจำเลยที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีอีกหลายคดี

และเป็นผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาของศาลฎีกา

จึงเป็นเรื่องที่มุ่งหมายต้องการให้พระมหากษัตริย์ก้าวล่วง

เข้าไปใช้อำนาจแทนตุลาการโดยตรง ซึ่งไม่อาจกระทำได้ตามกฎหมาย

4.ฎีกาดังกล่าวเป็นเรื่องที่มีจุดมุ่งหมายทางการเมืองอย่างชัดเจน

โดยได้บรรยายความขัดแย้ง และความเชื่อทางการเมืองของผู้ร่าง

ที่ระบุว่าการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณฯ ที่ผ่านมาได้รับความไม่เป็นธรรม

และถูกกลั่นแกล้งจากองค์กรผู้ใช้อำนาจทั้งหมด

ทั้งจากรัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมา องค์กรตุลาการ และจากกลไกอื่นๆ ของรัฐ

ทั้งที่ได้มีคำพิพากษาของศาลสูงสุดวินิจฉัยชี้ขาดว่า

เป็นการกระทำโดยทุจริตและละเมิดกฎหมายบ้านเมืองหลายประการ

ฎีกาดังกล่าว จึงเป็นการนำเอาข้อขัดแย้งในทางการเมือง

ที่มีผู้เห็นแตกต่างกันอยู่หลายฝ่ายขึ้นกราบบังคมทูล

ต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อให้ทรงมีพระราชวินิจฉัย

อันเป็นเรื่องไม่บังควรเป็นอย่างยิ่งและเป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์

มาสู่ความขัดแย้งเป็นฝักฝ่ายทางการเมืองโดยตรง

5.ฎีกาดังกล่าว เป็นกรณีที่ผู้ร่างชักชวนให้ประชาชนมาร่วมลงชื่อ

ได้ทราบอยู่แต่ต้นว่าโดยเหตุทั้ง 4 ประการที่กล่าวมา

ย่อมไม่อาจมีพระราชวินิจฉัยในทางหนึ่งทางใดได้

แต่มุ่งหวังว่าเมื่อมีประชาชนสุจริตจำนวนมากที่ไม่ทราบข้อกฎหมาย

และธรรมเนียมปฏิบัติในเรื่องนี้ มาร่วมลงชื่อในฎีกา

ซึ่งจะทำให้เกิดความกดดันและมีความคาดหวังว่า

จะได้มีพระราชวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวตามที่ร้องขอ

ทั้งที่เป็นเรื่องที่ไม่อาจเป็นไปได้

เมื่อสถานการณ์เป็นไปดังกล่าว จะทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยก

ในหมู่ประชาชนผู้ไม่ทราบหลักเกณฑ์ทางกฎหมาย

และธรรมเนียมปฏิบัติในเรื่องนี้ กับประชาชนโดยทั่วไป

และกับสถาบันสูงสุด ของชาติ ทำให้เกิดความไม่เข้าใจและคับข้องใจ

1 ฎีกาทักษิณไม่ใช่ฎีกาอภัยทษตามวิอาญา

2 ฎีกานี้เป็นฎีการ้องทุกข์ทั่วไป

3 ไม่มข้อความตอนใดในพระราชกฤษฎีกาวางระเบียบการทูลเกล้า ฯ ถวายฎีกา ลงวันที่ 5 มกราคม พ.ศ.2457 ว่าทักษิณต้องลงชื่อ

4 ประชาชนได้รับความทุกข์อันปลดเปลื้องไม่ได้ จึงขอให้ช่วยทักษิณไม่ทางใดทางหนึ่ง ซึ่องาจนำไปสู่การอภัยโทหรือนิรโทษกรรมได้

รัฐบาลกำลังทำผิดกฎหมายที่ไปตีขอบกันระหว่างประชาชนกับในหลวง ความทุกข์ของคน 5.4 ล้านคน จะบอก ไม่ฟังไม่ได้ เพราะ รัฐบาลมีคนค้านไม่ถึงสองหมื่น ใช้วิธีคัดชื่อคนจากทะเบียนบ้านมาค้าน แต่พอไปดุฟอร์ม ลายมือชื่อเดียวกัน ไม่แสดงบัตรประชาชน

เป็นการทำลายสถาบันเบื้องสูง และกีดกันไม่ให้พระราชาใช้พระบรมวินิจฉัยได้เอง จึงมองได้ว่า รัฐบาลนี้อาจจะคิดการไม่ชอบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท