ผู้เชี่ยวชาญแนะ SMSอันตรายกว่าขับคุย


มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 6 สิงหาคม 2552 ตีพิมพ์เรื่อง "มารยาท อันตราย และโทรศัพท์มือถือ" เขียนโดยท่านอาจารย์วราภรณ์ สามโกเศศ ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟัง [ มติชนรายวัน ]

ถ้าท่านได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้... ขอความกรุณาแวะไปให้กำลังใจเว็บไซต์ "มติชน"... จะอ่านข่าว สาระบันเทิง หรือคลิกโฆษณาให้ก็ได้ พวกเราจะได้มีเรื่องดีๆ แบบนี้อ่านกันอีกครับ [ มติชนรายวัน ]

...

[ ข้อความคัดลอก ] > [ มติชนรายวัน ]

เสียงโทรศัพท์มือถือที่ดังขึ้น อาจหมายถึงเสียงระเบิดในบางพื้นที่ หรืออาจหมายถึงความรำคาญของผู้คนจำนวนมากหากดังขึ้นในที่ประชุม และหากมีผู้รับและพูดก็อาจหมายถึงอันตรายต่อชีวิตหากกำลังขับรถอยู่ 

โทรศัพท์มือถือมีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์ขึ้นอยู่กับว่าบริเวณที่โทรศัพท์ถูกใช้งานนั้นอยู่ในที่ใด ภายใต้สิ่งแวดล้อมใด

...

สำหรับคนที่พยายามรักษามารยาทในการใช้โทรศัพท์มือถือในที่ประชุมด้วยการเปิดสัญญามือถือเฉพาะเพียงให้สั่น จะรู้สึกรำคาญอย่างมากกับเสียงโทรศัพท์มือถือที่ดังขึ้น จะรู้สึกหงุดหงิดกับความไร้มารยาทของเจ้าของ

และอารมณ์จะพุ่งขึ้นสูงไปอีกหากเจ้าของไม่รู้ว่าสัญญาณโทรศัพท์ของตนดังขึ้น หรือมะงุมมะงาหรางมหาโทรศัพท์และคลำหาวิธีปิดเครื่อง อุแม่เจ้า.......อะไรมันจะซื่อบื้อขนาดนั้น.......นี่คือสิ่งที่คนอื่นคิดในใจ

...

มารยาทของการใช้โทรศัพท์มือถือในห้องประชุมควรเป็นอย่างไร ในความเห็นของผมอย่างแรกคือต้องปิดสัญญาณมือถือที่ส่งเสียงออกมาอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะเป็นเสียงเพลงของไมเคิล แจ๊กสัน หรือเสียงเพลงของตนเองที่เหมือนวัวถูกเชือดก็ตาม 

สอง หากมีสัญญาณโทรศัพท์เข้ามาหากจะรับก็ควรลุกขึ้นและออกไปพูดข้างนอก ห้ามรับและพูดในห้องเด็ดขาด

... 

อย่าลืมว่า สมรรถนะของหูของแต่ละคนแตกต่างกัน บางคนหูไม่ค่อยดีก็จะพูดด้วยเสียงอันดังจนที่ประชุมตกตะลึงและแตกตื่นในเรื่องที่กำลังพูด ดังนั้น จึงควรลุกออกไปพูดข้างนอก

บางคนบอกว่า พอยอมรับได้สำหรับคนประเภทมุดศีรษะลงไปใต้โต๊ะ และกระซิบกับโทรศัพท์ และรีบวางหูลงในเวลาอันอันสั้น

... 

แต่ถ้าเป็นประธานในที่ประชุมที่กำลังพูดอยู่กับที่ประชุมแล้วทำเช่นนี้ก็รับไม่ไหวเหมือนกัน ที่เหมาะสมที่สุดก็คือ ลุกไปพูดข้างนอกเมื่อมีโทรศัพท์เข้ามา

ในเรื่องที่เป็นอันตรายต่อชีวิตเมื่อพูดโทรศัพท์นั้น ปัจจุบันมีงานวิจัยของอเมริกันที่พบว่า การใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ

... 

ไม่ว่าจะพูดแบบธรรมดา หรือพูดผ่านอุปกรณ์ hand-free ก็ตามก่อให้เกิดอันตรายได้พอๆ กัน เพราะการพูดโทรศัพท์มือถือทำให้เกิดความเบี่ยงเบนความสนใจไปจากการขับรถอย่างสำคัญ

ข้อมูลในเรื่องนี้ทำให้เห็นชัดว่า มนุษย์ก็ยังเป็นมนุษย์อยู่เสมอ ไม่ต่างจากเรื่องการดื่มสุราหรือสูบบุหรี่ กล่าวคือ

...

ในการสำรวจกลุ่มประชากรหนึ่งที่เชื่อว่า เป็นตัวแทนของผู้ใช้โทรศัพท์มือถือ ทั้งประเทศ พบว่า

ร้อยละ 81 ยอมรับว่าพูดโทรศัพท์มือถือขณะขับรถ แต่ร้อยละ 98 ของกลุ่มประชากรทั้งหมดก็ยังเชื่อว่า ตนเองเป็นนักขับรถที่ปลอดภัย (safe drivers)

... 

อย่างไรก็ดี ร้อยละ 45 ยอมรับว่า มีอุบัติเหตุหรือเกือบมีอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากการขับรถขณะที่ใช้โทรศัพท์มือถือ

พูดง่ายๆ ก็คือ ส่วนใหญ่ตระหนักดีว่า การใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถเป็นอันตราย แต่ก็เชื่อว่า ถึงอย่างไรตนเองก็ยังเป็นนักขับรถที่ปลอดภัยอยู่ดี

... 

ความรู้สึกเช่นนี้แหละคือสิ่งที่เรียกว่าความประมาท มีพุทธสุภาษิตอยู่ว่า "ความประมาทคือหนทางแห่งความตาย"

การศึกษาโดย Virginia Tech Transportation Institute พบว่า การพูดโทรศัพท์มือถือขณะขับรถทำให้เกิดความเป็นไปได้ที่จะเกิดการชนมากกว่าการขับแบบธรรมดาถึง 4 เท่าตัว

... 

ในขณะที่การต่อหมายเลขโทรศัพท์มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการชนหรือเกือบชนมากกว่ากรณีธรรมดา 3 เท่า และในขณะที่พูดกับไม่พูดโทรศัพท์มือถือขณะขับรถนั้นตัวเลขนี้คือ 1.3 เท่า

หลักฐานจากการศึกษาและจากการสังเกตเห็นเองก็บอกได้ว่า การใช้โทรศัพท์มือถือในขณะขับรถมีความเป็นไปได้ในการก่อให้เกิดอุบัติเหตุมากกว่ากรณีไม่ใช้หลายเท่าตัว

... 

ประเทศไทยออกกฎหมายห้ามใช้โทรศัพท์มือถือขณะขับรถ (ยกเว้นใช้ลักษณะ hand-free) สมัยรัฐบาล พลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ เช่นเดียวกับประเทศอีกจำนวนมากในโลก

ถ้าคนใช้ก่อให้เกิดอันตรายต่อตัวเองเพียงคนเดียว ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้โดยสาร ผู้ขับขี่คนอื่น และสาธารณะ อาจไม่จำเป็นต้องห้าม

... 

แต่กรณีเช่นนี้เป็นไปไม่ได้เพราะ ผู้ขับขี่ที่ใช้โทรศัพท์มือถือมิได้อยู่ในโลกโดยตัดขาดจากคนอื่น หากเชื่อมโยงมีผลกระทบต่อคนอื่น 

สำหรับตัวผู้เขียนเห็นด้วยกับการห้าม แต่ก็มีผู้โต้แย้งว่าแ ล้วทำไมไม่ห้ามการฟังวิทยุด้วยเล่า เพราะทำให้เกิดการเบี่ยงเบนความสนใจไปจากการขับขี่เหมือนกัน

... 

ซึ่งโต้เถียงได้ว่าการรับฟังแต่เพียงอย่างเดียวโดยมิได้มีการโต้ตอบอย่างมีปฏิกิริยาเช่นโทรศัพท์มือถือ มิได้ก่อให้การเบี่ยงเบนความสนใจมากเท่ากรณีโทรศัพท์มือถือ

บางคนอาจบอกว่า แล้วกรณีของการดูโทรทัศน์ในขณะขับขี่ เหตุใดจึงไม่ห้าม ผู้เขียนคิดว่า มีกฎหมายห้ามอยู่แล้วในเรื่องการไม่ระมัดระวังการขับขี่ โดยการพูดคุยกับผู้โดยสาร และใช้สายตาในลักษณะก่อให้เกิดความประมาทในการขับขี่

... 

ถ้ายังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้พอก็ขอเสนอให้มีการออกกฎหมาย เพราะเป็นอันตรายอย่างยิ่ง

งานวิจัยของสหรัฐอเมริกาอีกชิ้นหนึ่งในเรื่องอันตรายจากการขับขี่อันเนื่องมาจากการเบี่ยงเบนความสนใจก็คือ

... 

การส่งข้อความทางโทรศัพท์หรือที่รู้จักกันในบ้านเราในนามของ SMS หรือ texting ในภาษาอังกฤษ การศึกษาของ University of Utah พบว่า texting นั้นอันตรายที่สุดยิ่งกว่าการพูดโทรศัพท์มือถือ

การศึกษาผู้ขับรถบรรทุกขนาดใหญ่ตลอดเวลา 18 เดือน จำนวนนับพันคน โดยติดกล้องวิดิโอบันทึกภาพ พบว่า ขณะที่คนขับส่งข้อความ ความเสี่ยงในการชนสูงกว่า 23 เท่าของขณะที่ไม่ส่งข้อความ

... 

ทั้งนี้ เนื่องจากคนขับใช้เวลาเกือบ 5 วินาทีมองไปที่เครื่อง ซึ่งในความเร็วปกติบนทางด่วน ระยะเวลาเช่นนี้รถสามารถเดินทางไปได้ไกลถึง 120 เมตร ซึ่งในระยะทางเช่นนี้อะไรก็อาจเกิดขึ้นได้เพราะผู้ขับไม่ได้มองถนน 

เหตุที่ผู้ศึกษาเน้นผู้ขับรถบรรทุกขนาดใหญ่ ก็เพราะเป็นกลุ่มที่การส่งข้อความเพิ่งเป็นที่นิยม และส่งกันมากเป็นพิเศษ สำหรับผู้ขับขี่รถปกติ การศึกษาพบว่า ความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุก็มิได้แตกต่างกันมากนัก

...

ผู้ส่งข้อความขณะขับรถจะวางมือที่ถือเครื่องลงบนส่วนบนของพวงมาลัย และใช้นิ้วโป้งของสองมือกดแป้นอักษร ซึ่งการกดแป้นจำเป็นต้องใช้สายตา

โดยเฉพาะในขณะที่กำลังจะส่งข้อความจำเป็นต้องก้มลงมอง ช่วงเวลาของการพิมพ์และส่งข้อความใช้เวลาเฉลี่ยเกือบ 5 วินาที

...

ในบ้านเราการส่ง SMS เริ่มระบาดมากขึ้นโดยเราไม่รู้ว่า ผู้กำลังขับขี่ส่งข้อความถึงกันมากน้อยเพียงใด แต่ก็พอกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องน่าเป็นห่วง

อันตรายจากการถูกคนไร้ความรับผิดชอบเหล่านี้ขับรถชนมีอยู่พอควรในปัจจุบัน ภายใต้เทคโนโลยีโทรคมนาคมสมัยใหม่ ไม่มีสิ่งใดที่อาจก่อให้เกิดอันตรายจากอุบัติเหตุรถยนต์ได้เท่ากับการส่งข้อความ SMS

...

การป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ไม่ได้เกิดจากการที่คนเดินถนนหรือขับขี่รถตามปกติรู้จักหลบเลี่ยงอุบัติเหตุ

หากเกิดจากความรับผิดชอบของผู้ขับขี่รถยนต์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเหล่านี้

...

[ ข้อความคัดลอก ] > [ มติชนรายวัน ] หน้า 6

หมายเลขบันทึก: 283640เขียนเมื่อ 6 สิงหาคม 2009 00:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขออนุญาตเสริมเป็นความรู้ให้ผู้อ่านค่ะอาจารย์

เรื่องนี้เป็นเรื่องของสมองประมวลผลแบบ overload ตามทฤษฎี Multiple resources theory ของ Wickens

http://www.answers.com/topic/workload

ขับรถและกด SMS ใช่ประสาทโหมดเดียวกัน คือ ตา ดังนั้น สมองก็จะ overload ถูกดึงไปใช้งานมากเกินไป

ขอบคุณค่ะ

ขอขอบพระคุณอาจารย์จันทวรรณมากๆ ครับ...

  • ตอนแรกผมอ่านข่าวนี้แล้วตกใจ นึกไม่ถึงว่า โลกเราจะมีคนพิมพ์ SMS ไปด้วย ขับรถไปด้วย
  • การศึกษาในอังกฤษก่อนหน้านี้พบว่า คน UK บางคนขับรถไปด้วย ใช้ไหมขัดฟันไปด้วย นี่ก็เกินไปเหมือนกันครับ.......
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท