วันจันทร์ที่ผ่านมาเป็นเวรอ่าน
frozen
section ค่ะ
ต้องขอขยายความก่อนว่า frozen section ก็คือ การ
(ที่หมอปาโถ)ให้คำปรึกษา (แก่หมอศัลย์)ระหว่างการผ่าตัด
โดยขณะที่ผู้ป่วยถูกผ่าตัดอยู่นั้น
หมอศัลย์ต้องการทราบผลการวินิจฉัยทันทีเพื่อตัดสินใจว่าผู้ป่วยรายนั้นควรจะทำการผ่าตัดมากน้อยแค่ไหน
ตัวอย่างเช่น
ผู้ป่วยคนหนึ่งมาด้วยก้อนที่เต้านมซึ่งสงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง
ในขณะที่ผู้ป่วยสลบอยู่นั้น
หมอศัลย์ก็จะผ่าลงไปเอาก้อนที่สงสัยส่งมาให้หมอปาโถตรวจว่า
เป็นมะเร็งหรือไม่ ถ้าหมอปาโถโทรรายงานกลับไปว่าเป็นมะเร็ง
หมอศัลย์ก็จะดำเนินการผ่าตัดต่อเพื่อเอาเต้านมทั้งเต้าออก
แต่ถ้าหมอปาโถบอกว่าก้อนนั้นไม่ใช่มะเร็ง คนไข้ก็ไม่ต้องโดนตัดเต้านม
กระบวนการตั้งแต่รับชิ้นเนื้อจากห้องผ่าตัดจนหมอปาโถโทรรายงานผลให้หมอศัลย์ทราบนั้นจะใช้เวลาไม่เกิน
30 นาที
ในขณะที่การตรวจชิ้นเนื้อทั่วๆไปใช้เวลาประมาณ 1 วันเป็นอย่างน้อย
วันจันทร์นั้นเป็นวันที่ต้องบันทึกว่า เป็นการทำ frozen ที่มาราธอนที่สุด
ใครจะเชื่อว่าเริ่มทำตั้งแต่บ่ายอ่อนๆ จนถึงเกือบหนึ่งทุ่ม
ด้วยสถิติตัวเลขจำนวนครั้งของการทำถึง
13 ครั้ง หมอศัลย์ตัดแล้วตัดอีก
หมอปาโถก็อ่านแล้วอ่านอีก โทรแล้วโทรอีก พร้อมกับภาวนาว่า
“พอได้แล้วๆ”
ผู้ป่วยรายนี้เป็นเด็กแรกเกิดค่ะ
เป็นโรค Hirschsprung’s disease
(อ่านว่าเฮิร์ช-สะ-ปรุง) อาการก็คือ
เด็กจะถ่ายไม่ออกตั้งแต่เกิดได้ไม่กี่วัน บางคนก็บอกว่า
ไม่ถ่ายขี้เทานั่นแหละค่ะ
เนื่องจากลำไส้ของเด็กเหล่านี้ไม่มีเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทำงาน
ทำให้ลำไส้ส่วนนั้นตีบแคบ อุจจาระไม่สามารถผ่านออกมาได้
เด็กก็เลยถ่ายไม่ออก การทำ frozen
ในเด็กเหล่านี้ก็เพื่อมองหาว่า ลำไส้ชิ้นเล็กๆ
ที่หมอศัลย์ตัดส่งมาให้หมอปาโถดูนั้นมีเซลล์ประสาทหรือไม่
ถ้าหมอปาโถรายงานว่ามี
หมอศัลย์ก็จะเย็บต่อปลายของลำไส้ส่วนนั้นเข้าหากัน
แต่ถ้าหมอปาโถบอกว่าไม่มีเซลล์ประสาท ก็เป็นโชคร้ายของทั้ง
หมอศัลย์และหมอปาโถ
เพราะหมอศัลย์จะต้องตัดไล่ส่วนของลำไส้ให้สูงขึ้นไปอีก
หมอปาโถก็ต้องตามอ่านสไลด์ของลำไส้ที่ตัดออกมานั้นจนกว่าจะเจอเซลล์ประสาท
แต่โชคร้ายที่สุดคงเป็นเด็ก
เพราะถ้าโดนตัดลำไส้ออกไปเยอะ ก็มีโอกาสเป็นเด็กลำไส้สั้น
ต้องให้อาหารทางหลอดเลือดแทนการกินอาหารตามปกติ
เหมือนเด็กน้อยคนนี้
ผู้ป่วยรายนี้โดนตัดลำไส้ใหญ่ทั้งหมดรวมถึงลำไส้เล็กส่วนปลายด้วย
และได้รับการทำ frozen ถึง 13 ครั้ง โดย frozen ครั้งที่
4 ถึงครั้งที่ 9
นั้นหมอศัลย์ทยอยตัดส่งตั้งแต่สี่โมงเย็น จนถึงหกโมงเย็นกว่าๆ
ซึ่งตามปกติทางหน่วยไม่ได้ให้บริการทำ frozen นอกเวลา
พอเสร็จชิ้นที่ 9
ฉันก็ถามว่าจะตัดส่งมาอีกหรือไม่ เพราะยังไม่เจอเซลล์ประสาท
หมอศัลย์ก็บอกว่าคงไม่ตัดเพิ่ม เนื่องจากเด็กโดนตัดลำไส้ไปเยอะมากแล้ว
ฉันเลยจัดแจงกลับบ้านเพราะรู้สึกปวดหัวหนึบๆ
เหมือนกับจะเป็นหวัด
แต่เหมือนมีลางสังหรณ์ค่ะ
ออกจากโรงพยาบาล เดินแวะไปซื้อกาแฟที่ข้างคณะเภสัชฯ
กะว่าจะเอากลับไปนั่งทานให้สบายที่ห้องพัก
ตอนเดินกลับก็มีโทรศัพท์จากแพทย์ใช้ทุนศัลย์ว่า ขอส่งตรวจ
frozen เพิ่มได้หรือไม่
ฉันตอบว่า
“ได้ค่ะ
เดี๋ยวจะเดินกลับไปดูให้”
ระหว่างทางเดินกลับก็แวะโทรศัพท์บอกน้องเจ้าหน้าที่ๆ เพิ่งแยกกันว่า
ให้เตรียมตัวทำ frozen และช่วยเปิดเครื่องตัด
frozen ไว้ด้วย
กลับขึ้นไปอ่านอีก
3 ชิ้นที่ทยอยๆ กันมาใน 1 ชั่วโมง เสร็จก็ปาเข้าไปเกือบทุ่มตรง
ฉันเดินไปบอกน้องเจ้าหน้าที่คนนั้นว่า
“ไม่เป็นไรนะ
ทำเพื่อคนไข้”
น้องเขาตอบกลับมาให้ชื่นใจค่ะ
“ผมก็คิดอย่างนั้นล่ะครับอาจารย์
ทำเพื่อคนไข้”
ทำไมถึงทำทั้งๆ ที่มีสิทธิ์จะปฏิเสธหรือคะ
สำคัญสุดคือ ทำด้วย “วิญญาณ” ความเป็นผู้ให้บริการ แม้ว่าหมอปาโถจะไม่ได้รักษาคนไข้ แต่การรักษาคนไข้ของหมอสาขาอื่นก็ขึ้นอยู่กับหมอปาโถมากอยู่ หมอคนอื่นยังต้องทำงานนอกเวลาเลย แล้วทำไมหมอปาโถจะทำไม่ได้ล่ะ ซึ่งไม่เฉพาะแต่ frozen section เท่านั้น การวินิจฉัยโรคจากสไลด์ชิ้นเนื้อของผู้ป่วยก็เช่นเดียวกัน การไปทำงานในวันหยุดก็เพื่อสิ่งนี้ล่ะค่ะ การประวิงเวลา (ในการอ่านสไลด์) ของเราออกไป อาจหมายถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับคนไข้ แต่ก็ต้องระวังด้วยว่า ความประมาท (ในการอ่านสไลด์) ก็ทำอันตรายคนไข้ได้ไม่น้อยไปกว่ากัน
จริงๆ แล้วฉันยังเชื่ออยู่ลึกๆ ว่า งานประจำที่บุคลากรในภาคของเราทำกันทุกวี่ทุกวันนั้นก็ “ทำเพื่อคนไข้ ” ด้วยกันทั้งนั้น ซึ่ง “การทำเพื่อคนไข้ ” ดูจะเป็นกุศโลบายที่ดีของ customer focus แต่บางคนอาจจะมองไม่ออก เพราะทำซ้ำๆ กันจนลืมไปว่า คุณค่าของงานที่เราทำอยู่ที่ไหน เช่น เจ้าหน้าที่ที่ต้องมีภาระอยู่เวรในวันหยุดขณะที่คนอื่นๆ ไปเที่ยวกันหมด เจ้าหน้าที่ที่ต้องตื่นขึ้นมาทำแลปดึกๆ ดื่นๆ หรือเจ้าหน้าที่ที่มาทำงานแต่เช้าก่อนเวลาราชการ ถามว่าเราทำไปเพื่ออะไร หลายคนอาจจะตอบว่า “เพราะมันเป็นหน้าที่” “เพราะทำงานไม่ทัน” “เพราะวันนี้ตอนบ่ายต้องไปประชุม” แต่ใน “หน้าที่” ในการมาทำงานเร็วกว่าปกติหรือการกลับบ้านช้ากว่าปกติ ที่เราทำกันนั้น มันยังมีคุณค่าที่มากกว่าแฝงอยู่
นั่นก็คือ เรากำลัง
“ทำเพื่อคนไข้” นั่นเอง
ต้องช่วยกัน “เสริมแรง”
empower พวกเรากันหน่อยแล้ว
ชี้ประเด็นให้เห็นและให้รู้ว่าเขาคนนั้นกำลัง
ทำเพื่อคนไข้ ทำเพื่อคนไข้
ทำเพื่อคนไข้
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย พ.ญ. สมรมาศ กันเงิน ใน YOUNG BLOOD PATHOLOGIST