ช่วงนี้ได้ตระเวนไปตามเวทีต่าง ๆ ที่มีเจ้าหน้าที่ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับเขต/กอง/สำนัก มาเจอกันมากหน้าหลายตา ทั้งที่เป็นเวทีการประชุมที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ และการสัมมนาฝึกอบรม เพื่อทบทวนความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการสรุปและรายงานผลงานที่เกิดขึ้นในรอบปี 2552 และเพื่อกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ "เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของการบันทึกจัดเก็บประสบการณ์และความรู้ของแต่ละบุคคล"
ซึ่งเกือบจะทุกเวทีมักจะมีการตั้งคำถามถึงการจัดการความรู้ที่เกิดขึ้นนั้น ถ้าจะให้ได้ผลและเกิดผลสำเร็จต้องมาจาก “ผู้บริหารให้การสนับสนุน” และหรือผู้เกี่ยวข้องในเชิงนโยบายได้ผลักดันในเรื่องนี้กันอย่างไรบ้าง ตลอดจนต้องมีงบประมาณสนับสนุนถึงจะดำเนินการได้ ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นจุดเริ่มที่เราต้องหันกลับมาทบทวนทำความเข้าใจกับเนื้อหาสาระ วิธีการปฏิบัติ และบทบาทของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะเป็นความรู้สึกนึกคิดของผู้ใช้ KM ซึ่งเป็นบุคคลกลุ่มใหญ่
“ผู้ใช้ KM” ได้มีความรู้สึกยากกับการที่จะต้องบันทึกประสบการณ์ของตนเอง หรือผลงานที่ตนเองได้ปฏิบัติ ทั้งที่คนส่วนใหญ่ก็มีทักษะในการเล่าให้คนอื่นฟังได้อย่างน่าสนใจทั้งเทคนิคการ บรรยาย/พรรณนาให้เห็นภาพพจน์ การชักจูงหรือจูงใจให้ชวนติดตามเรื่องราวต่าง ๆ ได้ค่อนข้างชัดเจน ฉะนั้น ความมั่นใจในตนองหรือความกลัวที่จะเขียนผิดหลักวิชาการ หรือโดนตำหนิว่า เขียนไม่ดี เขียนไม่ถูกต้อง จึงเป็นเรื่องของความรู้สึกที่ละเอียดอ่อนที่ต้องการกำลังใจให้กัน
การเขียนผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติ ถ้าเขียนได้เหมือนกับสิ่งที่ได้เล่าให้คนอื่นฟัง ก็คงจะทำให้ “การบันทึก” ของเรื่องราวที่เกิดขึ้นน่าสนใจ ชวนติดตามอ่าน และมองเห็นแง่มุมของประสบการณ์ที่ซ่อนเร้นได้ โดยเจ้าของผลงานก็อยากจะอ่าน อยากจะชื่นชมผลงานเขียนของตนเอง และถ้าได้เติมกำลังใจก็อยากจะเผยแพร่หรือนำเสนอให้คนอื่นได้อ่าน/รู้ด้วยเช่นกัน.
เขียนอย่างที่ทำ.... ทำอย่างที่เขียน