เรามาช่วยกันยกระดับ "การคิด" ของผู้เรียนกันเถิด


โอเน็ตร่วง ภาพสะท้อนของการ "คิดไม่เป็น"

โอเน็ตร่วง ภาพสะท้อนของการ “คิดไม่เป็น”

 

                ผมได้อ่านคอลัมภ์ การศึกษา ในหนังสือพิมพ์สยามรัฐสัปดาหวิจารณ์ ปีที่ 56 ฉบับที่ 40 ซึ่งไม่ปรากฏนามผู้เขียน แต่บทความนี้น่าสนใจเลยทีเดียว อาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้อ่านที่เป็นครูและนักการศึกษาทั้งหลาย ลองติดตามดูนะครับ.............

                ผลการวิเคราะห์คะแนนสอบ แบบทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต O-NET ระดับชั้นป.6 ม.3 และม.6 ที่พบว่าคะแนนเฉลี่ยของเด็กสอบตกหมดทุกวิชานั้น มีความน่าสนใจหลายประการ

                ด้านหนึ่งแน่นอนว่าผลที่ออกมาสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพการศึกษาที่ตกต่ำลง ขณะที่อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการศึกษาไทย ที่ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดว่า ได้จัดการศึกษาอย่างถูกทิศทางหรือไม่

                เมื่อลงลึกไปถึงข้อสอบโอเน็ตในรอบหลายปีหลัง พบว่า ข้อสอบโอเน็ตของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จะเน้นไปที่การคิด วิเคราะห์และการหาเหตุผล ซึ่งการที่เด็กทำข้อสอบได้คะแนนต่ำ ก็สะท้อนถึงระบบการเรียนการสอนของไทยเป็นอย่างดี นั่นเพราะที่ผ่านมา มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาตลอดว่า ระบบการศึกษาไทยเน้น “การท่องจำ” มากกว่าการสอนให้รู้จักคิดและวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ

                ข้อสอบที่ใช้ในการวัดผลประเมินผลเด็กในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษามักเป็นข้อสอบที่ใช้ในการท่องจำเป็นหลัก ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้การคิดเชิงวิเคราะห์ได้แล้ว ยังส่งผลต่อการเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาอีกด้วย ดังนั้นผลการวิเคราะห์คะแนนสอบโอเน็ตจึงเป็น “กระจก” ที่ทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องหันมาให้ความสนใจอย่างจริงจังเกี่ยวกับระบบการเรียนการสอนของไทย

                ปัญหาของระบบการศึกษาไทยที่ผ่านมาคือ “ครู” มักเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน ซึ่งทำให้อนาคตของเด็กถูกผูกติดไว้กับความสามารถของครูค่อนข้างมาก ซึ่งหมายถึง หากได้ครูดีและเก่ง เด็กก็จะเก่งและดีเหมือนครู แต่หากครูไม่เก่ง และขาดคุณธรรมจริยธรรมแล้ว เด็กก็มีแนวโน้มที่จะไม่เก่งและอาจขาดการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมด้วยเช่นกัน เมื่อระบบการศึกษาถูกผูกติดอยู่กับครูอยู่พอสมควร จึงทำให้ผู้เกี่ยวข้องต้องมาพิจารณาว่าจะทำการปฏิรูปครูอย่างไร ให้ครูเป็นคนเก่งและดี

                เมื่อปัญหาระบบการศึกษาของไทย ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาที่เกี่ยวกับครู เนื่องจากครูเป็นผู้ที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่เด็กโดยตรง ดังนั้นหากครูเน้นการเรียนการสอนแบบ “ท่องจำ” ไม่พยายามให้เด็กได้คิดหรือวิเคราะห์ ก็ทำให้เด็กบ่มเพาะนิสัยของการ “ไม่คิด” ซึ่งเมื่อเนิ่นนานไปเด็กก็จะขี้เกียจคิด และไม่พยายามคิด แม้จะมีโจทย์มาให้คิดก็ตาม

                สิ่งที่ถือเป็นวิกฤตทางการศึกษาคือ เด็กไม่ได้ถูกฝึกให้คิด จนทำให้ “คิดไม่เป็น” และผู้ใหญ่พยายามจะคิดแทนเด็ก ทำให้เด็กส่วนหนึ่งไม่รู้จักโตเป็นผู้ใหญ่ ไม่สามารถคิดในเชิงเหตุผล รวมทั้งไม่สามารถคิดเพื่อแก้ปัญหาใดๆได้ และนั่นทำให้เมื่อเด็กมีปัญหา จึงทำให้เด็กคิดไม่ตก และทุกปัญหาก็ดูจะเป็นเรื่องใหญ่โตสำหรับเด็ก

                การไม่ฝึกให้เด็กคิด เป็นปัญหาใหญ่ของระบบการศึกษาไทย เพราะระบบการศึกษาไทยมักพยายามให้เด็กโตช้ากว่าปกติ ซึ่งต่างจากระบบการศึกษาของหลายๆประทศทางตะวันตก ที่สอนให้เด็กคิดตั้งแต่อายุยังน้อยๆ สิ่งที่ตามมาจากปัญหาดังกล่าวคือ เมื่อเด็กไปเรียนในระดับที่สูงขึ้น เช่นระดับมหาวิทยาลัย เด็กขาดพื้นฐานในการคิด และทำให้มีปัญหาในการเรียน เพราะการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยจะมุ่งเน้นไปที่การคิดเชิงวิเคราะห์ และการคิดเชิงเหตุผล ซึ่งทำให้เด็กที่คิดไม่เป็นมีปัญหาในการเรียนค่อนข้างมาก

                พื้นฐานการคิดที่อ่อนแอ ทำให้เด็กหลายคนไม่สามารถต่อยอดการเรียนในระดับที่ซับซ้อนได้ เนื่องจากเด็กถูกสอนให้จำจนเคยชิน เมื่อมาเรียนมหาวิทยาลัย และถูกตั้งโจทย์ให้คิดจึงมักจะคิดไม่ได้ และหลายครั้งก็จะถูกอาจารย์คิดให้เหมือนตอนที่เรียนประถมและมัธยม การไม่รู้จักคิดด้วยตนเอง ทำให้เด็กกลายเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ไม่ได้โตขึ้นกว่าเด็กมัธยม กลายเป็นเด็กมัธยมในคราบชุดนักศึกษามากกว่า

                การจะแก้ปัญหาในเรื่องดังกล่าว โดยหลักใหญ่แล้วคือ ต้องทำการปฏิรูปครูและกระบวนการเรียนการสอน เนื่องจากเป็นสองเรื่องที่เกี่ยวพันโดยตรงกับคุณภาพเด็ก การจะให้เด็กคิดเป็น ครูจะต้องคิดเป็นก่อน และครูต้องพยายามถ่ายทอดกระบวนการคิดผ่านวิธีการเรียนการสอนที่ถูกออกแบบมาเพื่อให้เด็กได้ฝึกฝนการคิดอย่างเป็นระบบ ที่สำคัญครูต้องพยายามทำให้การ “คิด” เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเด็ก ทำให้เด็กเล็งเห็นความสำคัญของการคิด พยายามหาโจทย์มาให้เด็กได้ฝึกคิด เพื่อทำให้เด็กได้ใช้ “สมอง”ในการคิดอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งนั่นจะทำให้เด็กได้รู้จักคิดจนเกิดความเคยชิน

                กระบวนการเรียนการสอน ต้องทำให้เด็กได้คิด ครูจะต้องไม่พยายามชี้นำและคิดแทนเด็ก ครูต้องไม่คิดว่าตัวเองเป็นผู้รู้และถูกเสมอ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ครูชี้นำความคิดให้เด็ก และแก้ปัญหาให้เด็กโดยเข้าใจไปเองว่าเด็กคิดไม่เป็น นั่นเท่ากับเป็นการทำลายการเรียนรู้ที่จะคิดของเด็กไปโดยปริยาย

                สิ่งที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะรัฐบาลควรนำไปขบคิดคือ จะทำอย่างไรให้กระบวนการเรียนการสอนมีความเข้มแข็ง ทำอย่างไรให้ครูมีความเข้มแข็ง และทำอย่างไรให้ “การคิด” เป็นค่านิยมทางการศึกษาที่ทุกคนให้ความสำคัญ เนื่องจาก”นักคิด” มักไม่ค่อยได้รับการให้เกียรติมากนัก หากเทียบกับคนในอาชีพอื่นๆนั่นเพราะสังคมไทยยังให้คุณค่ากับการคิดน้อยเกินไป แต่กลับไปให้ความสำคัญกับนักพูดกลายเป็นว่า คนที่พูดเก่งได้รับการยกย่องมากกว่าคนที่คิดเก่ง

                ดังนั้นรัฐบาลจึงมีหน้าที่ในการยกระดับ “การคิด” ขึ้นมา ทำให้การคิดเป็นเรื่องสำคัญและมีคุณค่า ต้องพยายามส่งเสริมให้คนในสังคมทุกระดับร่วมกันคิด ซึ่งนั่นจะทำให้การคิดกลายเป็นวัฒนธรรมที่ถูกสืบทอดไปเรื่อยๆในสังคมไทยเฉกเช่น สังคมของ GO TO KNOW แห่งนี้

อาจารย์เก

 

หมายเลขบันทึก: 280628เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2009 09:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 12:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท