ครีมที่อวดอ้างสรรพคุณว่
าทำให้ผิวขาวนวลชวนลูบไล้ที่มีวางจำหน่ายกลาดเกลื่อนตามซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายยา
ถือเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่เติบโตเบ่งบานมาตลอดทศวรรษที่ผ่านมา
โดยผู้หญิง 4 ใน 10 ในฮ่องกง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้
และไต้หวัน ต่างซื้อครีมที่ว่ามาทาผิวกันเป็นประจำ ทั้งนี้
จากการสำรวจของบริษัทวิจัยตลาด
ซินโนเวต
ความคลั่งไคล้ในผลิตภัณฑ์ไวเทนนิ่ง
หรือผลิตภัณฑ์ที่อวดอ้างว่าทำให้ผิวหนังบริเวณที่ใช้สวยใสขึ้น
ซึ่งเกิดขึ้นควบคู่กับกระแสโลกของการทำศัลยกรรมความงามและการฉีดโบท็อกซ์
ไม่ได้มีเฉพาะครีมทาหน้าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบริเวณหมองคล้ำใต้วงแขน
และโลชั่นเปลี่ยนเม็ดสีน้ำตาลบนหัวนมให้กลายเป็นสีชมพู นอกจากนั้น
สาวๆ ยังซื้อครีมกันแดดมาทาปกป้องผิวจากแสงแดดแผดกล้า
ความที่ผลิตภัณฑ์ไวเทนนิ่งจำนวนมากแต่ไม่ใช่ทั้งหมดที่มีความปลอดภัย
แพทย์และกลุ่มผู้บริโภค ตลอดจนหน่วยงานรัฐ
จึงมีรายงานอันตรายของกระแสความขาวคือความสวยออกมาเป็นระยะๆ ที่สำคัญ
แทนที่จะใช้เพื่อรักษารอยหมองคล้ำ
ผู้หญิงเอเชียกลับใช้ครีมในปริมาณที่มากจนเป็นอันตราย
ซ้ำร้าย
ผลิตภัณฑ์ราคาย่อมเยาในตลาดมืดที่มีสารฟอกขาวผิดกฎหมายเป็นส่วนประกอบ
ยังมีวางขายเกลื่อนกลาดในชุมชนคนยากบางส่วนของเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“ผมได้รับการร้องเรียนมากมาย
พร้อมภาพยืนยันแสดงผิวหน้าปกติก่อนใช้ผลิตภัณฑ์
และใบหน้าที่เหมือนถูกย่างบนเตาหลังใช้” ดาร์ชาน ซิงห์
ผู้จัดการศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสำหรับผู้บริโภคแห่งชาติ
ซึ่งเป็นองค์กรไม่หวังผลกำไรของมาเลเซีย เล่า
ที่เมืองไทย
สำนักงานอาหารและยาเผยแพร่รายชื่อผลิตภัณฑ์ไวเทนนิ่งผิดกฎหมาย 70
ยี่ห้อ และทางการอิเหนาสั่งแบนเครื่องสำอางค์ 50 ยี่ห้อ
กระนั้น
ยังคงมีคำถามเกี่ยวกับความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์ประเภทนี้
แพทย์บางคนระบุว่า สารไฮโดรควิโนน
ซึ่งแพทย์โรคผิวหนังทั่วโลกเคยใช้เพื่อขจัดริ้วรอยหมองคล้ำมาตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน
อาจเป็นสารก่อมะเร็ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใช้ในระยะยาวและในปริมาณมาก
สารดังกล่าว
ซึ่งใช้ในกระบวนการถ่ายภาพด้วยนั้น
ทำให้หนูและสัตว์อื่นในการทดลองเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว สหภาพยุโรป
(อียู) ห้ามใช้ไฮโดรควิโนนเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางตั้งแต่ปี 2001
อย่างไรก็ดี สารชนิดนี้ยังคงเป็นส่วนประกอบในยาตามใบสั่งแพทย์
หรือครีมเถื่อนในประเทศกำลังพัฒนาหลายแห่ง
และขายในสหรัฐฯในฐานะยาที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไปหากมีความเข้มข้นไม่ถึง
2%
นักสังคมวิทยาถกเถียงกันมาระยะหนึ่งแล้วว่า เหตุใดคนเอเชีย
ที่มีความแตกต่างหลากหลายกันทุกอย่างตั้งแต่เรื่องภาษา
วัฒนธรรมไปจนถึงศาสนา จึงมีความเชื่อสนิทใจในสิ่งเดียวกันว่า
คนผิวขาวดูดีมีเสน่ห์กว่า
เหตุผลหนึ่งที่พูดกันมากคือ การมีผิวขาวเชื่อมโยงกับความมีฐานะ
มีชาติตระกูล และมีการศึกษา เนื่องจากคนจากชนชั้นที่ต่ำกว่าในสังคม
กรรมกร และชาวไร่ชาวนา มักเป็นพวกที่ต้องตากแดดตากลม
ผิวจึงคล้ำกว่าคนรวย
อีกหนึ่งทฤษฎีที่เกี่ยวโยงกับกระแสผิวขาวมาแรงก็คือ
ชาวมองโกลจากเอเชียตะวันออก หรือเจ้าอาณานิคมจากยุโรป
ล้วนมีผิวขาวซึ่งกลายเป็นมาตรฐานของการดูดีมีเสน่ห์ดึงดูด
“ความสำเร็จของไวเทนนิ่งครีมสะท้อนว่า ในที่สุดแล้ว
แนวคิดด้านความสวยความงามแบบตะวันตกในแง่ของสีผิว
ได้ฝังรากลึกลงสู่ชนชั้นระดับล่างของสังคม” แรนดี้ เดวิด
นักสังคมวิทยาของมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ วิเคราะห์
แพทย์คลินิกผิวหนังในกรุงเทพฯคนหนึ่ง กล่าวว่า “ผู้หญิงไทยทุกคนคิดว่า
ถ้าตัวเองผิวขาว เงินจะไหลมาเทมา และผู้ชายจะเข้ามาหา
ดาราส่วนใหญ่ผิวขาว และใครๆ ก็อยากดูดีเหมือนดารา”
ในทางกลับกัน
คนผิวคล้ำจะถูกดูถูกเหยียดหยามด้วยคำพูดประชดประชันต่างๆ นานา เช่น
‘อีดำ’ หรือ ‘ดำตับเป็ด’
หนังและโฆษณามีบทบาทสำคัญอย่างชัดเจนในการส่งเสริมความเชื่อที่ว่า
ผิวขาวสวยกว่าผิวคล้ำ
ในการสำรวจที่ซินโนเวตจัดทำขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2004 พบว่า
ผู้ตอบแบบสอบถาม 61% ในฮ่องกง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้
และไต้หวัน บอกว่ารู้สึกว่าตัวเองดูเด็กขึ้นถ้าผิวขาวใส
ขณะที่ผู้หญิงตากาล็อกครึ่งหนึ่ง, สาวฮ่องกง 45% และสาวมาเลเซีย 41%
บอกว่ากำลังใช้ผลิตภัณฑ์ไวเทนนิ่ง
จากข้อมูลของบริษัทวิจัย
ดาตามอนิเตอร์ ปีที่ผ่านมา มีผลิตภัณฑ์ไวเทนนิ่งใหม่ๆ
เปิดตัวในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านขายยาทั่วเอเชีย-แปซิฟิกถึง 62 ชิ้น
ส่งให้กระแสนี้แรงยิ่งๆ ขึ้นจากในช่วง 4
ปีก่อนหน้าที่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ออกวางตลาดเฉลี่ยปีละ 56 ชิ้น
ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทำงานในลักษณะต่างๆ บางชิ้นอิงกับส่วนผสม เช่น
ไฮโดรควิโนน สารสกัดจากหม่อน สารสกัดจากชะเอม กรดโคจิ หรือ สารอะบูติน
โดยส่วนผสมเหล่านี้ใช้ยับยั้งการก่อตัวของเมลานินหรือเม็ดสีบนผิวหนัง
บ้างทำจากกรดที่ขจัดชั้นผิวหนังเก่าเผยให้เห็นชั้นผิวหนังใหม่ที่ขาวใสกว่าที่อยู่ลึกลงไป
แต่ปัญหาก็คือ
สารที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการฟอกผิวให้ขาวขึ้นมักเป็นสารอันตรายและบ่อยครั้งราคาถูกที่สุด
เช่น สารที่มีส่วนผสมของปรอทหรือไฮโดรควิโนน
ที่มีขายในเมืองไทยในราคากิโลกรัมละแค่ 20 ดอลลาร์ (760 บาท)
โดยประมาณ เทียบกับสารสกัดจากชะเอมที่ขายกันกิโลกรัมละ 20,000 ดอลลาร์
(760,000 บาท)
ปีที่แล้ว ไวเทอ
เวสเทอร์ฮอฟ แพทย์โรคผิวหนัง
ผู้ก่อตั้งสถาบันเพื่อความผิดปกติของเม็ดสีแห่งเนเธอร์แลนด์ในอัมสเตอร์ดัม
และที.เจ. คูเยอร์ส นักเคมีชาวดัตช์
ร่วมกันเขียนบทความลงตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ยุโรป เจอร์นัล ออฟ
คอสเมติก เดอร์มาโทโลจี้
โดยระบุว่าผลข้างเคียงระยะยาวของครีมที่มีส่วนผสมของไฮโดรควิโนนเป็น
‘ระเบิดเวลามหาภัย’
พร้อมเรียกร้องให้ยุติการนำสารชนิดนี้ไปใช้ในผลิตภัณฑ์ไวเทนนิ่งทันที
รวมถึงให้มีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลข้างเคียงนี้
กระนั้น
แพทย์หลายคนบอกว่า
ไฮโดรควิโนนยังคงเป็นหนึ่งในสารเคมีที่ใช้เปลี่ยนผิวใสที่แพร่หลายมากที่สุด
ธาดา เปี่ยมพงศ์สานต์
ประธานสมาคมเวชสำอางและศัลยศาสตร์ผิวพรรณของไทย เชื่อว่า
แพทย์โรคผิวหนังในไทยราวครึ่งหนึ่งยังคงจ่ายครีมที่มีไฮโดรควิโนนเป็นส่วนผสมให้คนไข้
ขณะที่ตัวเขาเองเลิกเกี่ยวข้องกับสารชนิดนี้มาตั้งแต่ทศวรรษที่แล้ว
หลังจากสังเกตเห็นว่า คนไข้มีผื่นแดงและคัน
และมีผลข้างเคียงร้ายแรงขึ้นอย่าง ochronosis
หรือตุ่มดำถาวรซึ่งยากต่อการรักษา
คนไข้ บางคนมีผื่นขาว
(leukoderma) หรือการที่ผิวหนังไม่สามารถผลิตเม็ดสีได้ตามปกติ
เหมือนเช่นที่เกิดกับใบหน้าและคอของปัญญา
ตอนแรกที่ใช้ครีม ‘3 วัน’
ที่ราคาตลับละไม่ถึง 40 บาท
ปัญญาบอกว่าเธอมีความสุขมากกับผลที่เห็นทันตา
แต่แล้วผิวหน้าเธอก็เริ่มคัน
แต่เธอยังทนใช้ครีมนั้นต่อไปเพราะผิวใสขึ้นผิดหูผิดตา
บรรดาลูกค้าในร้านอาหารที่เธอไปร้องเพลงให้ทิปเธอมากมาย
แต่สองเดือนต่อมา
เมื่อหน้าเริ่มพุพอง ชีวิตของเธอก็ย่อยยับ เจ้าของร้านเลิกจ้างปัญญา
เพราะหน้าตาเธอไม่น่ามองอีกแล้ว วันนี้เธอถังแตกพอๆ
กับหัวใจที่แตกสลาย
“ฉันไม่เคยดูกระจกอีกเลยนับจากนั้น” เธอกล่าวเสียงสะอื้น