beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

ตำนานหม่านโถว (หมั่นโถว) และซาลาเปา


ขงเบ้งจึงสั่งให้ทหารฆ่าม้าเผือกกระบือดำ แล้วเอาแป้งมาปั้นเป็นศีรษะคนสี่สิบเก้าศีรษะ

   บันทึกนี้ได้รับการร้องขอ (แกมบังคับ) จาก คุณนุช ซึ่งได้เข้ามาอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ"ตำนานปาท่องโก๋" เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2549 และได้ทิ้งรอยไว้ ให้ beeman เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับ "หม่านโถว หรือ 馒头" ก่อนสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ เมื่อเป็นดังนี้ จึงมีเหตุอันควรซึ่งทำให้ต้องไปสืบประวัติ/ตำนาน มาเล่าสู่กันฟังดังนี้

ตำนานหม่านโถว

   ย้อนหลังไปประมาณปี พ.ศ. ๗๖๘ เมื่อพระเจ้าเล่าเสี้ยน (โอรสพระเจ้าเล่าปี่) เสวยราชย์ ณ อาณาจักรจ๊กก๊ก (ก๊กหนึ่งในสามก๊ก) หรืออาณาจักรเสฉวน ยงคี,จูโพ และ โกเตง ผู้ครองสามเมืองทางใต้ของอาณาจักรจ๊กก๊ก เป็นกบฏ ไปคบคิดกับ "เบ้งเฮ๊ก" เจ้าเมืองมันอ๋อง ยกทัพมาตีชายแดนทางใต้ของอาณาจักรเสฉวน ดังนั้น "ขงเบ้ง" จึงต้องยกทัพไปปราบปราม

    ในการไปทำศึกครั้งนี้ ขงเบ้งต้องการทรมาน (สะกดถูกแล้ว คำที่เขียนผิดคือ "ทรมาณ") ให้  "เบ้ง เฮ็ก"  ยอมศิโรราบแต่โดยดี ไม่คิดกลับใจมารุกรานอาณาจักรเสฉวนอีก เมื่อจับเบ้งเฮ็กได้จึงปล่อยไปถึง ๖ ครั้ง พอครั้งที่ ๗ เมื่อจับเบ้งเฮ็กได้อีก เบ้งเฮ็กก็ยอมศิโรราบให้กับขงเบ้ง

   เมื่อได้รับชัยชนะอย่างเด็ดขาดแล้ว ขงเบ้งก็ยกทัพกลับเสฉวน เบ้งเฮ็กและชาวเมืองก็ตามมาส่ง พอถึงแม่น้ำลกซุย (หลูซุ่ยหรือแม่น้ำจินซาเจียงในปัจจุบัน) ก็เกิดอาเพศ สำนวนสามก๊กเขียนว่า "ในแม่น้ำนั้นมืดเป็นหมอกจะข้ามไปนั้นขัดสน"

    ขงเบ้งจึงถามเบ้งเฮ็กว่า "เหตุผลทั้งนี้เป็นประการใด

    เบ้งเฮ็กจึงตอบว่า "อันแม่น้ำนี้มีปีศาจสำแดงฤทธิ์ แต่ก่อนมาก็เคยเป็นอยู่ ขอให้ท่านเอาศีรษะคนสี่สิบเก้าศีรษะ กับม้าเผือกกระบือดำมาเซ่นบวงสรวงจึงจะหาย"

    ขงเบ้งจึงว่า "เราทำศึกกับท่านจนสำเร็จการ แผ่นดินราบคาบถึงเพียงนี้ คนแก่คนหนึ่งก็มิตายเพราะมือเรา บัดนี้กลับมาถึงแม่น้ำลกซุยจะเข้าแดนเมืองอยู่แล้ว จะมาฆ่าคนเสียนั้นไม่ชอบ"

   ขงเบ้งจึงให้หาชาวบ้านมาสืบถามได้ความว่า เมื่อตนเองยกทัพข้ามแม่น้ำนี้ไป ก็เกิดเหตุทุกวัน คือเวลาพลบค่ำไปจนสว่าง จะมีเสียงปีศาจร้องอื้ออึงไป มีหมอกควันเป็นอันมาก

    ขงเบ้งจึงว่า "เหตุทั้งนี้เพราะโทษของตัวเราเอง เมื่อครั้งเราให้ม้าต้ายคุมทหารพันหนึ่งยกมานั้น ทหารทั้งปวงก็ตายอยู่ในแม่น้ำนี้สิ้น แล้วเมื่อทำศึกอยู่นั้น ทหารเบ้งเฮ็กก็ล้มตายอยู่ในที่นี้เป็นอันมาก ปีศาจทั้งปวงผูกเวรเราจึงบันดาลให้เป็นเหตุต่างๆ เราจะคิดอ่านทำการคำนับให้หายเป็นปรกติจงได้"

    ขงเบ้งจึงสั่งให้ทหารฆ่าม้าเผือกกระบือดำ แล้วเอาแป้งมาปั้นเป็นศีรษะคนสี่สิบเก้าศีรษะ พอเวลากลางคืนก็ยกออกไปตั้งไว้ริมน้ำ จุดธูปเทียนและประทีปสี่สิบเก้า แล้วแต่งหนังสืออ่านบวงสรวงเป็นใจความว่า

     "บัดนี้พระเจ้าเล่าเสี้ยนครองราชสมบัติได้สามปี มีรับสั่งใช้เราผู้เป็นมหาอุปราชให้ยกทหารมาปราบปรามข้าศึกต่างประเทศ เราก็ตั้งใจสนองพระคุณความสัตย์ตั้งใจมา กับเราหวังจะทำนุบำรุงพระเจ้าเล่าเสี้ยน ยังไม่ทันสำเร็จท่านตายเสียก็มีบ้าง ท่านทั้งปวงจงกลับไปเมืองกับเราเถิด ลูกหลานจะได้เซ่นคำนับตามธรรมเนียม เราจะกราบทูลพระจ้าเล่าเสี้ยน ให้พระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่สมัครพรรคพวกพี่น้องท่านให้ถึงขนาด ฝ่ายทหารเบ้งเฮ็กซึ่งตายอยู่ในที่นี้ก็ดี ให้เร่งหาความชอบอย่ามาวนเวียนทำให้เราลำบากเลย จงคิดถึงพระเจ้าเล่าเสี้ยนซึ่งครองราชสมบัติเป็นธรรมประเพณีกษัตริย์แต่ก่อน แลเห็นแก่เราผู้มีความสัตย์ จงรับเครื่องเซ่นเราแล้วกลับไปอยู่ถิ่นฐานเถิด"

    เมื่ออ่านหนังสือเสร็จแล้ว ขงเบ้งก็จุดประทัดตีม้าล่อแล้วร้องไห้รักทหารซึ่งตายนั้นเป็นอันมาก แลพายุและคลื่นละลอกซึ่งเกิดนั้นก็สงบเป็นปรกติ ขงเบ้งจึงยกทัพกลับไปเมืองเสฉวนได้

    สมัยนั้นชนพื้นเมืองทางใต้ของอาณาจักรเสฉวน เรียกพวกของตนเองว่า พวก "หนานหมาน หรือหนันหมัน (南蛮)"

   แป้งปั้นแทนศีรษะคนแล้วนำไปนึ่ง  ถูกเรียกว่า "หม่านโถว (蛮头) " แปลว่า "หัวของชาวหนานหมาน" และเนื่องจากคำเรียกในภาษาจีนดั้งเดิมฟังดูโหดร้ายเกินไป ภายหลังจึงได้มีการเปลี่ยนมาใช้ตัวอักษรที่บ่งชี้ว่าเป็นอาหาร () แทนตัวอักษรที่หมายถึงพวกหนานหมัน () อย่างเช่นในอดีต

    คำว่า "หม่านโถว" นานเข้าก็แผลงเป็น "หมั่นโถว " และทำตกทอดกันมาจนแพร่หลายไปทั่ว โดยเฉพาะทางภาคเหนือ ได้กลายมาเป็นอาหารที่ชาวจีนเหนือนิยมรับประทานกันเป็นอาหารเช้าหรืออาหารว่าง ( คนจีนทางภาคเหนือนิยมเรียก ‘เปาจึ’ -包子หรือซาลาเปา )

    หมั่นโถวที่เราทาน ทำจากแป้งหมี่นึ่งให้ร้อน ส่วนซาลาเปาก็คือ หมั่นโถวที่มีใส้นั่นเอง

       
   
 

 การทำหมั่นโถว

 ซาลาเปาก็คือ

 

 

 

 หมั่นโถวแบบมีไส้

 

 

   
 

 หน้าตาหลากหลายของหมั่นโถว

 
     

**************************

 อ้างอิง :

  1. สามก๊กของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ฉบับหอพระสมุด เล่ม ๓ ตอนที่ 67-69 หน้า1122-1174
หมายเลขบันทึก: 27241เขียนเมื่อ 7 พฤษภาคม 2006 17:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 15:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

อ.สมลักษณ์

             ว่างๆขอเชิญชวนอาจารย์มาแอ่ว ชุมชนจีนยูนนาน แม่ฮ่องสอน นอกจากอาจารย์จะได้เพลิดเพลินกับบรรยากาศแบบจีนยูนนานแล้ว ยังมี หม่านโถว ขาหมู ที่อร่อย แถมด้วยชาอู่หลงก้านอ่อน ร้อนๆครับ

เรียนคุณจตุพร

  • ผมขออนุญาตบันทึกเบอร์โทรศัพท์ไว้ก่อนนะครับ หากมีโอกาสจะได้ติดต่อไปครับ
  • นายจตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร ๐๑-๘๘๓๒๑๓๘ ผู้ประสานงานการท่องเที่ยวเครือข่ายจีนยูนนานแม่ฮ่องสอน
     ผมคนหนึ่งชอบ หม่านโถว มากที่ความนุ่ม หอม และหวาน(ด้วยเทคนิคการให้อยู่ในปากนานนิดนึง) ไม่ทราบมาก่อนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร แต่นึกขอบคุณอาจารย์ที่นำมาเสนอไว้ จะเอาไปโม้ต่อโดยไม่ลืมบอกว่าอาจารย์ให้มาอีกทีนึงนะครับ
  • ขอบคุณที่มาเยี่ยมเยือนครับคุณชายขอบ
  • รู้สึกว่าเทคนิคการกิน (ทาน) หมั่นโถว มันคุ้นๆ นะครับ "ให้อยู่ในปากนานนิดนึง" เหมือนกิน (ทาน) ข้าวโพดหวาน ของท่านอาจารย์ JJ เลยครับ

ขอบคุณค่ะ  คุณสมลักษณ์ทำให้ได้รู้อย่างละเอียดยิ่งขึ้น  ถ้าไม่เป็นการลำบากเกินไป  ขอชื่อตัวละครเป็น 汉字  ด้วยก็จะดีมากๆเลยค่ะ  เพราะผู้ฝึกฝนภาษาจีนจะได้รับอานิสงค์ด้วย   ที่ดิฉันขอก่อนสิ้นเดือนคือ เรื่องของ  粽子 หรือ  ที่คนไทยเรียก บะจ่าง 肉粽  เทศกาลตรงกับวันที่ 31 นี้ค่ะ  ซึ่งมีประวัติความเป็นมาเหมือนกัน  อยากให้บันทึกไว้ด้วยค่ะ 

ขอโทษค่ะ ลืมใส่ชื่อค่ะ

เรียนคุณนุชครับ

  • ผมขอสารภาพว่าผมไม่รู้ภาษาจีนและไม่ได้เรียนภาษาจีนมาครับ มีแต่ลูกผมที่ผมให้เรียนภาษาจีนครับ
  • ผมทราบว่าบะจ่างมีตำนานแต่ไม่ทราบว่าจะค้นเจอหรือไม่
  • อย่างไรก็ตามผมจะพยายามค้นหามาครับเพราะเป็นความรู้ใหม่
ยินดีและเห็นด้วยค่ะ  ที่คุณสนับสนุนให้ลูกเรียนภาษาจีน  เพราะจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับเขาในอนาคต
ตำนานบ๊ะจ่าง บ๊ะจ่าง...เป็นขนมเซ่นไหว้ในวันสารทจีนเดือน 5 มีที่มาที่ไปชวนติดตามไม่น้อยค่ะ เมื่อย้อนไปราวปี พ.ศ. 203 ในรัฐฉู่ ที่อยู่ทางตอนใต้ของจีน มีขุนนางยอดตงฉินทึ่ประชาชนรักใคร่ผู้หนึ่งนามว่า ซูหยวน โดยพวกกังฉินรวมหัวกันขจัดด้วยการเป่าหูฮ่วงเต้ให้ขับออกจากราชการ
ซูหยวนเกิดความน้อยเนื้อต่ำใจที่ฮ่องเต้ไม่เหลียวแลทั้ง ๆ ที่ตนเองรักชาติบ้านเมืองมากและยิ่งเสียใจหนักขึ้นไปอีกเมื่อต่อมามีข้าศึกบุกมายึดบ้านเมืองสำเร็จโดยที่เขาไม่อาจช่วยเหลืออะไรได้เลย เขาจึงตัดสินใจอุ้มก้อนหินกระโดดแม่น้ำฆ่าตัวตาย ประชาชนรู้ข่าวเข้าก็ตรงกันเข้าช่วยหาร่างของเขาในแม่น้ำ มีบางส่วนช่วยด้วยการโปรยข้าวลงไป เป็นการเซ่นสรวงดวงวิญญาณของขุนนางคนซื่อ จากนั้นมีชาวบ้านคนหนึ่งเล่าว่า ชูหยวนมาเข้าฝันฝากบอกว่า "ขอบใจพ่อแม่พี่น้องที่โปรยข้าวไปให้ แต่ข้าวที่โปรยมันกระจุยกระจายโดนปลาแย่งกินหมด"ชาวบ้านก็เลยพร้อมใจกันเอาใบไผ่มาห่อก้อนข้าวแล้วโยนลงไปแทน จึงเป็นที่มาของต้นตำรับเดิมแท้ของบ๊ะจ่างนั่นเอง
ถ้าชูหยวนคนซื่อไม่มาเข้าฝันชาวบ้านละก็ เราคงจะไม่ได้มีบ๊ะจ่างรับประทานกันจนถึงทุกวันนี้หรอกค่ะที่มา :

http://intranet.prd.go.th/journal/content.php?No=1824

  • ขอขอบคุณ คุณนุชครับ
  • และขอขอบคุณ คุณเปมิช ครับที่มาเติมเต็ม
rosesukon ครู คศ.3 กำแพงพชร

ช่างสรรหามากล่าว ดูหน้าท่านคงจะเป็นนักกินที่ยิ่งใหญ่ ขอให้สมบูรณ์มากๆนะจ๊ะ  เพื่อนๆ อีกหลายคนก็เกิดอาการอยากชิมหม่านโถของท่านขึ้นมาทันที  แล้วจะไปหาได้ที่ไหนล่ะ?

คุณครู  คศ.3 ค่ะ  ถ้ามีขาหมูด้วยละก็  สุดยอดเลยค่ะ  อิอิ

เรียน คุณครู คศ. 3

  • ผมไม่ใช่นักกินหรอกครับ ตอนนี้เป็น vegetarian หรือพวกกินมังสะวิรัติครับ แต่ที่หน้าตาดูเหมือนนักกินเพราะผมมีสายพันธุ์ที่มีอัตราแลกเนื้อสูงอย่างหนึ่ง กับไม่(ค่อย) ได้ออกกำลังกายอีกอย่างหนึ่งครับ
  • ส่วนคุณนุชได้มาช่วยตอบไปก่อนหน้านี้ อาจเป็นนักกินตัวยงก็ได้ครับ

เป็นนักชิมค่ะ  ร้านไหนว่าอร่อยก็ตามไปชิม  แต่ไม่ใช่นักกินค่ะกลัวอ้วน  มื้อเย็นก็ขอเป็นเนื้อปลากับผัก  เบาตัวดีค่ะ 

ออกกำลังกายสำคัญนะคะคุณสมลักษณ์

นุชลีลาศประจำค่ะได้เหงื่อดี  กระดูกแข็งแรงไม่เป็นโรคกระดูกพรุน

  • สงสัยต้องไปออกกำลังกายเสียแล้ว

แถมอีกนิดครับ

คำถาม

ที่บ้านมีเชื้อสายจีน ตอนนี้กำลังเตรียมการทำบ๊ะจ่างกินกัน อาม่าบอกว่าต้องกินวันที่ 22 มิถุนายน ผมถามว่าทำไมต้องกิน ท่านก็บอกว่าเป็นมงคล เป็นประเพณีมานาน แต่พอถามไล่ว่าประเพณีมีที่มาจากอะไร ท่านก็บอกได้ไม่ชัดเจน ผมเองก็พูดจีนอ่านจีนไม่ได้เสียแล้ว เสียดายที่ตอนเด็กไม่ได้สนใจเรียน จึงรบกวนเรียนถามคุณพายัพมา ณ ที่นี้

หลานจีนรุ่นที่ 3 16 มิ.ย. 47
คำตอบ

ประเพณีนี้เกิดขึ้นเพื่อรำลึกถึงมหากวีเอกท่านหนึ่งครับ

ฌีหยวน (340 – 280 ก่อนคริสตศักราช)

ประเพณีนี้จะมีขึ้นในเดือน 5 วันที่ 5 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน ปีนี้ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายน 2547

ชาวจีนมีประเพณีการกินข้าวเหนียวห่อด้วยใบไผ่ หรือใบกก ใบอ้อ อันเป็นใบไม้ที่มีขึ้นอยู่ตามป่าชายเลนริมฝั่งแม่น้ำทางภาคใต้ของประเทศจีน ข้าวเหนียวห่อแบบนี้ของเดิมเป็นข้าวเปล่าไม่มีไส้ ชาวจีนเรียกว่า...

จังจื่อ

แต่เมืองไทยชอบเรียกว่า...

บ๊ะจ่าง

คงจะเพราะมีไส้เนื้อหมูหรือเนื้ออื่น ๆ ด้วย

บ๊ะ = เนื้อ, จ่าง = ข้าวเหนียว

นี่ออกเสียงตามสำเนียงจีนท้องถิ่นภาคใต้

ฌีหยวน เป็นลูกผู้ดีมีสกุลแห่งรัฐฉู่ (ฌ้อ) ซึ่งเป็นรัฐใหญ่ทางภาคใต้ของจีนในยุคชุนชิวจ้านกว๋อ สมัยสามก๊กเรียกรัฐฉู่ว่าจิงโจว (เกงจิ๋ว) ท่านได้รับการศึกษาอย่างดีมาตั้งแต่เด็ก สามารถแต่งบทกวีได้อย่างไพเราะเพราะพริ้ง และมีความสามารถในการรับราชการจนขึ้นถึงตำแหน่งจั่วถู เปรียบได้เท่ากับรองนายกรัฐมนตรีรัฐฉู่ในรัชสมัยของกษัตริย์ฉู่ไหวหวาง

แต่แล้วก็ถูกกังฉินใส่ไฟจนถูกกษัตริย์ฉู่เนรเทศไปอยู่เมืองชายแดนนานประมาณ 4 - 5 ปี

ฉู่ไหวหวางหลังจากเนรเทศฌีหยวนไปแล้ว พระองค์เองก็ขาดขุนนางจงเฉิน (ตงฉิน) ผู้จงรักภักดีคอยให้คำปรึกษาที่ถูกต้อง ทรงหลงลมขุนนางเจียนเฉิน (กังฉิน) ตัวแสบ ที่ยกยอสอพลอว่าพระองค์ทรงมีสติปัญญาเลิศล้ำยิ่งกว่าใคร ทรนงตนขนาดยอมไปเจรจาความเมืองกับรัฐฉินด้วยพระองค์เอง จึงถูกจับขังลืมไว้ที่รัฐฉินกระทั่งสิ้นพระชนม์

ฌีหยวนกลับเข้ารับราชการอีกในรัชกาลต่อมา

กษัตริย์หยิ่งเซียงหวางเป็นลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น มีรับสั่งเนรเทศฌีหยวนให้ไปไกลสุดกู่กว่าเก่าก่อน รัฐฉู่จึงตกต่ำลงทุกวัน เพราะในราชสำนักมีกังฉินมากกว่าตงฉิน ในเวลาไม่นานนักก็ถูกรัฐฉิน อภิมหาอำนาจในยุคนั้น เขมือบเป็นภักษาหารล่มสลายหายไปจากประวัติศาสตร์จีน

ฌีหยวนตกระกำลำบากอยู่เมืองกันดารแถบแม่น้ำมี่หลัวเจียง แต่ยังเป็นกังวล ติดตามข่าวคราวของบ้านเมืองอยู่เสมอ เมื่อทราบว่ารัฐฉู่อยู่ในสภาพสิ้นหวัง รู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง และเขียนคำกลอนระบายความอัดอั้นไว้เป็นเพลงยาว มีข้อความโศกเศร้าสะเทือนใจมาก เพลงยาวนี้มีชื่อเสียงมาก เรียกกันว่า

หลีซาว

หมายถึงนิราศทุกข์ !


หลังจากแต่งเพลงยาวแล้ว ฌีหยวนเกิดความคลุ้มคลั่งเสียใจอย่างถึงที่สุด ที่ไม่อาจกอบกู้รัฐฉู่จากหายนะได้ จึงตัดสินใจปลิดชีวิตตนเองทิ้ง เพราะไม่อยากอยู่เป็นข้าสองเจ้าบ่าวสองนาย

ฌีหยวนเดินลุยลงแม่น้ำมี่หลัวเจียงที่เชี่ยวกรากเมื่อเดือน 5 วันที่ 5 และหายลับไปในสายน้ำที่ไม่มีวันไหลกลับคืนมา

ชาวบ้านย่านนั้นทราบข่าวฌีหยวนเดินหายลงไปในน้ำ รีบพากันวิ่งมาช่วย แต่ก็ไม่ทันแล้ว บางคนรีบนำเรือแล่นฝ่าสายน้ำที่กำลังเอ่อท่วมท้นตามเทศกาลน้ำหลากไปตามหา แต่ก็ไม่พบวี่แววของขุนนางตงฉินคนนี้แม้แต่น้อย

ประชาชนบางคนคิดว่าบางทีอาจเกิดปาฎิหาริย์ที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์จะช่วยคนดีให้ตกน้ำไม่ไหล ฌีหยวนอาจติดอยู่ที่ใดที่หนึ่งแล้วกำลังรอคอยความช่วยเหลือด้วยความหิวโหย...

จึงนำข้าวห่อด้วยใบไม้ที่ขึ้นอยู่ริมฝั่งน้ำนั้นไปวางไว้ตามเกาะแก่งต่าง ๆ ที่คาดว่าสายน้ำจะพัดพาฌีหยวนมาถึง


ชาวบ้านต่างรอคอยด้วยความหวังว่าสักวันหนึ่งฌีหยวนจะรอดชีวิตกลับมาอีก แต่คอยแล้วคอยเล่าก็ไม่เห็นท่านย้อนกลับมาอีก กระทั่งครบรอบปีที่ฌีหยวนหายลับไปกับสายน้ำ ประชาชนต่างยังระลึกถึงฌีหยวนไม่สร่างซา...

ได้พากันห่อข้าวด้วยใบไม้พายเรือออกไปตามหาฌีหยวนอีก

ประชาชนประพฤติปฏิบัติเช่นนี้เป็นประจำทุกปีจนกลายเป็นประเพณีในการพายเรือนำข้าวห่อด้วยใบไม้ไปเซ่นไหว้คาราวะดวงวิญญาณของฌีหยวน และสืบสานประเพณีอันดีงามนี้มาอย่างยาวนานมากกว่า 2,000 ปีแล้ว แสดงให้เห็นถึงจิตใจของประชาชนที่ยกย่องนับถือคนดีแม้ว่าจะตายไปนานแล้วก็ยังกราบไหว้บูชาไม่มีวันลืม

ในทางกลับกัน ถ้าใครทำชั่วก็จะสาปแข่งไม่มีวันเสื่อมคลายเช่นกัน อย่างเรื่องกินปาท่องโก๋เพราะความเคียดแค้นขุนนางกังฉิน

ความที่ฌีหยวนมีฝีมือในการเขียนบทกวีเป็นเอกด้วย วันคล้ายวันตายของฌีหยวนจึงถูกยกย่องให้เป็นวันกวี หรือ...

ซื่อเหยินเจี๋ย

ชาวจีนบางกลุ่มจึงมีการจัดประกวดแต่งบทกวีรักชาติ เพื่อรำลึกเหตุการณ์สำคัญตามประเพณีนี้ บ้างก็มีการแข่งเรือเพื่อระลึกถึงการที่ชาวบ้านรีบพายเรือเพื่อไปช่วยชีวิตฌีหยวน

แปลกแต่จริง -- วันกวีของจีนปีนี้ที่ตรงกับวันที่ 22 มิถุนายนอยู่ใกล้ ๆ กับวันกวีของไทย

เพราะวันที่ 26 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันสุนทรภู่ !

อยากรู้ภาษาจีนตอนโต และตำนานต่าง ๆ ก็ไม่ยาก

ลองไปที่โรงเรียนภาษาจีนสุขสันต์วิทยาสิครับ โทรศัพท์ 0-2628-8818, 0-2628-8819 เสาร์-อาทิตย์นี้มีรุ่นใหม่ที่น่าจะคึกคักทีเดียว

“น้องปราบ” ด.ช.นันทสุทธิ์ ลีลายุทธ เจ้าของรางวัล “แฟนพันธุ์แท้สามก๊ก” ก็จะได้เรียนด้วย



พายัพ วนาสุวรรณ 16 มิ.ย. 47

 

ที่มา http://www.manager.co.th/politics/PoliticsQAQuestion.asp?QAID=3146

คุณเปมิชคงไม่ทราบ  รร.สุขสันต์วิทยา  เจ้าของก็คือ  เล่าชวนหัว  แต่ปัจจุบันไม่ทราบว่ายังอยู่ดีมีสุขหรือเปล่า  ตอนเริ่มก่อตั้งเกือบหลวมตัวเสียเงินก้อนใหญ่

  • ขอบคุณครับ
  • ผมแนะนำว่าคุณนุชลองเขียน Blog สัก Blog สิครับ
  • เช่นใช้ชื่อว่า "ภาษา สำนวน และวัฒนธรรมจีน"
  • คลิก "สมัครสมาชิก" ที่บรรทัดบนสุด
  • จากนั้นก็ทำตามคำแนะนำที่เขาเขียนบนจอครับ
  • ผมเองตอนแรกก็ไม่รู้เรื่องเหมือนกันครับ ก็อ่านคำแนะนำที่เขาบอก แล้วก็ทำตามนั้นครับ
  • ลองดูครับ "การเดินทางหมื่นลี้ เริ่มที่ก้าวแรก" ครับ

千里之行   始于足下

qian1  li3  zhi1  xing2   shi3  yu2  zu2  xia4  

หนทางพันลี้   เริ่มต้นด้วยก้าวแรก

ขอบคุณมากค่ะสำหรับ  ความปรารถนาดีที่แนะนำ  ตอนนี้ยอมรับว่ายังไม่พร้อมเพราะงานรัดตัว  ทั้งงานธุรกิจส่วนตัวและงานที่ทำเป็นวิทยาทานเพื่อเด็ก  รร.เริ่มเปิดเทอมแล้ว  ปีนี้ ทาง รร.แจ้งมาว่า เด็กสนใจสมัครเรียนเพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ  ก็รู้สึกยินดีที่ได้ทำประโยชน์เพื่อสังคม  ผู้ปกครองของเด็กบางคนก็ขอให้ไปสอนที่บ้านด้วย  เอาเป็นว่า  ถ้าใครต้องการทราบอะไรก็เขียนถามมาได้ค่ะ  ถ้าทราบยินดีตอบให้ค่ะ 

ปล.ขอออกตัวก่อนว่า  นุชไม่มีปริญญาความรู้มีเพียงแค่ชั้น ป.7 อาศัยว่าชอบอ่านและฝึกฝนเรียนรู้    รร.เขาเลยตั้งให้เป็น  ครูภูมิปัญญาชุมชน   ถ้าเรื่องใดตอบไม่ได้คงไม่ว่ากันนะคะ 

  • ไม่เป็นไรครับถ้ายังไม่ว่างก็แค่แวะมาคุยกันที่นี่เป็นประจำก็ได้ครับ
  • ปริญญาเป็นแค่กระดาษครับ ไม่ได้บอกว่าเป็นคนดีหรือมีประโยชน์ต่อโลกหรือไม่
  • จบปริญญาเอกมา แต่ไม่ได้ทำประโยชน์เพื่อบ้านเมืองเลยเอาแต่กอบโกยเพื่อตัวและพวกพ้อง ก็ไร้ประโยชน์แก่สังคมครับ

เรียนคุณเปมิชและคุณนุชครับ

  • ผมไม่อยู่หน้าเครื่องฯ ไม่ได้เข้ามา 2-3 วัน
  • เห็นทั้ง 2 ท่าน ลปรร.กันสนุกดีครับ
  • ยินดีให้ลปรร.กันนะครับ
  • ขอบคุณ คุณเปมิช ที่ช่วยเข้ามาเติมเต็มให้อีกแล้ว ทำให้บันทึกนี้สมบุรณ์ยิ่งขึ้นเลยครับ
  • สำหรับคุณนุช ผมก็อยากชวนให้มาเขียนเรื่องเกี่ยวกับภาษาและวัฒนธรรมนะครับ แต่เมื่อยังไม่พร้อม ได้เข้ามาลปรร.กันก็น่าจะดีนะครับ
  • เอาไว้ผมรวบรวม ข้อคิดเห็นของคุณนุชไปเขียนเป็นบันทึกก็ได้ครับ ขอให้มีข้อมูลอีกนิดหน่อยก่อน ต้องขออนุญาตล่วงหน้าด้วยครับ
  • สำหรับตอนนี้ขอถามคุณนุช เรื่องมณฑลในจีนแล้วกันครับ อ่านอย่างไร เขียนอย่างไรกันบ้าง เขาแบ่งเป็นภาคแบบประเทศไทยไหม เป็นภาคเหนือ,อีสาน อะไรทำนองนี้
  • ค่อยๆ บอกมาเป็นภาคๆ ก็ได้ครับ เท่าที่มีเวลา
  • อ้อลืมบอกว่า เรื่องปริญญานี่ผมไม่สนใจหรอกครับ ผมชอบคนมีประสบการณ์ เช่นคุณนุชนะครับ
  • ถ้าว่างมาเที่ยวพิษณุโลก อย่าลืมบอกล่วงหน้านะครับ จะพาไปเที่ยว ที่พิษณุโลกมีโรงเรียนภาษาจีนชื่อ "สิ่นหมิน" ครับ มี "เหล่าซือ" อยู่หลายท่าน ถ้ามาวันธรรมดาก็จะได้คุยกับท่านเหล่าซือเหล่านี้ครับ

 

ขอบคุณค่ะคุณสมลักษณ์  คงจะมีโอกาสไปเที่ยวค่ะ 

เรื่องมณฑลของจีนจะหาเวลามาพิมพ์ให้ค่ะ  อาทิตย์นี้ยุ่งพอสมควรกับเรื่องของลูกและการสอน

เป็นบทความที่น่าสนใจมาก เพราะเป็นการเล่าถึงประวัติความเป็นมาของหมั่นโถว

ว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากที่ใดในสมัยสามก๊ก โดยการกล่าวถึงวิธีทำ ทำเพื่ออะไร ทำเพื่อใคร ทำให้ผมได้ทราบว่ากว่าจะมาเป็นหมั่นโถวที่พวกเรารับประทานหรือใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่างๆของชนชาวจีนมีที่มาที่น่าประทับใจเพียงใด ผมอยากเชิญชวนให้เพื่อนๆมาทานหมั่นโถวกันครับว่ามีรสชาติที่อร่อยมากมายเพียงใด ถึงแม้ว่าหมั่นโถทำขึ้นจากแป้งล้วนๆเลยก็ตาม

  • ขอขอบคุณสำหรับ comment ครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท