Learning to QE: ผลลัพธ์สุขภาพตามตัวชี้วัดดี จะดีจริงหรือ?


ผู้สูงอายุของเขาจะเข้าไปอยู่ใน nursery ซึ่งตามศัพท์แปลว่าสถานที่รับเลี้ยงเด็ก และบ้านเราก็ใช้รับเลี้ยงเด็กจริง ๆ ส่วนที่ญี่ปุ่นเขาใช้เลี้ยงดูผู้สูงอายุ

วันนี้ (26 มิ.ย.52) ได้เข้าฟัง Professor จากญี่ปุ่น คือ Dr.Yuko Takeda, M.D.,Ph.D.FACP จาก Mie University, Faculty of medicine, Department of Community Medicine ท่านได้บรรยายในประเด็น Quick Overview of Health Care System and Medical Education in Japan. ท่านเล่าประเด็นความเป็นมาของวิวัฒนาการทางการแพทย์ในประเทศญี่ปุ่นว่ามีการแพทย์แผนต่าง ๆ ได้ทยอยเข้ามามีบทบาทต่อระบบการแพทย์ของประเทศโดยเริ่มบอกว่าในช่วงศตวรรษที่ 5 ก็จะเป็นการแพทย์แบบความเชื่อในเกี่ยวกับเรื่องหมอผี/คนทรงเจ้า หรือ shamanism คล้าย ๆ กับบ้านเรา และบ้านเราก็ยังมีให้เห็นจนทุกวันนี้ ต่อมาในช่วงศตวรรษที่ 6-16 ซึ่งยาวนานมากก็เป็นการแพทย์แผนจีน (Chinese Medicine) ต่อมาก็เป็นการแพทย์แผนดัช (Dutch Medicine) ซึ่งตอนนี้เริ่มคบค้าสมาคมกับชาวฮอลแลนด์ ในยุคนี้จะเริ่มมีแพทยศาสตร์ศึกษาขึ้นที่ญี่ปุ่น (คลิ้กอ่านรายละเอียดต่อได้ที่นี่) ซึ่งถือว่าเป็นช่วงสำคัญของการเปลี่ยนแปลงทางด้านการแพทย์ และในช่วงเวลาต่อ ๆ มาก็มีการรับเอาแบบแผนทางการแพทย์จากหลาย ๆ ประเทศทั้งเยอรมัน รวมถึงอเมริกา ซึ่งเป็นไปตามแนวของการแพทย์กระแสหลักเช่นเดียวกับประเทศไทย สำหรับในปัจจุบันระบบการเรียนการสอนของโรงเรียนแพทย์จะคล้ายกับประเทศไทยมากที่สุด คือหลังจากจบชั้นมัธยมศึกษาแล้วจะเรียนแพทย์ 6 ปี ซึ่งช่วง 2 ปี ก็จะเป็นการเรียนรู้ในหลักวิชาพื้นฐานทั่วไป และใน 4 ปีหลังก็จะเรียนวิชาแพทย์ จบ 6 ปี สอบใบอนญาตวิชาชีพเวชกรรมก็จะเป็นแพทย์รักษาคน จากนั้นก็จะมีการเรียนต่อในสายเฉพาะทางประมาณ 2 ปี และมีการจัดการเพิ่มทักษะในกลุ่มสายที่ชำนาญสายเดียวกันต่อไป

สำหรับในประเด็นนี้ผมมีคำถามสำคัญเกิดขึ้นคือท่ามกลางการไหลเข้าของระบบการแพทย์แผนต่าง ๆ จากภายนอก ชาวญี่ปุ่นเขายังคงรักษาแบบแผนของการแพทย์พื้นบ้านให้คงอยู่ได้อย่างไร ไม่ได้จังหวะถามจึงมาค้นเพิ่มเติมภายหลังได้ว่า การแพทย์พื้นบ้านที่เป็นการดูแลกันเองของชาวญี่ปุ่นจะฝังลึกอยู่ในวัฒนธรรม และชาวณี่ปุ่นจะจงรักภักดีในวัฒนธรรมของตนเองสูงมากดังตัวอย่างงานวิจัย Use of Alternative Folk Medicine by Hepatoma Patients and the Associated Factors. นี้

สำหรับในประเด็นรายละเอียดอื่น ๆ ที่ได้ฟังบรรยายวันนี้ก็เลือกเอามาเฉพาะประเด็นที่เกิดคำถามขึ้นเช่น คนญี่ปุ่นมีความครอบคลุมของหลักประกันสุขภาพของวัยแรงงานเพียง 70% ส่วนวัยอื่น ๆ ก็ประมาณ 80-90 % หากเมื่อเปรียบเทียบกับคนไทยประเด็นนี้ของเราจะสูงกว่ามาก เพราะเกือบ 100% ความสงสัยคืออย่างประเทศญี่ปุ่นทำไมยังมีคนไม่สามารถเข้าถึงหลักประกันสุขภาพได้ ส่วนที่เป็น Gap นั้น เขาอยู่ตรงไหน และเป็นปัญหาของเขาหรือไม่ ทำไม professor จึงบรรยายผ่านไปแบบไม่มองเป็นปัญหา ก็ได้คำตอบว่าส่วนหนึ่งนั้นพึงพอใจที่จะแสวงหาบริการเองเมื่อจำเป็น ซึ่ผมก็ยังมองว่าเป็นปัญหาอยู่ดี เพราะการมีหลักประกันสุขภาพมันคนละส่วนกันกับการตัดสินใจเลือกใช้บริการยามเมื่อจำเป็น ตรงนี้ยังต้องศึกษาเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจ

มาถึงประเด็นสำคัญตามที่ขึ้นหัวเรื่องไว้ คือคนญี่ปุ่นจะมีอายุยืนมากว่าคนไทยประมาณ 10 ปี และดีกว่าอเมริกาเมื่อเปรียบเทียบกัน อเมริกาใช้ปัจจัยนำเข้าด้านสุขภาพสูงกว่าประเทศใด ๆ สูงกว่าประเทศญี่ปุ่นเป็น 10 เท่า แต่ไม่ได้ทำให้คนของประเทศเขามีผลลัพธ์ทางสุขภาพดีกว่าประเทศอื่นเลย มาถึงประเด็นที่บอกว่าการที่คนญี่ปุ่นมีอายุยืนกว่าคนไทย ลองมาดูผู้สูงอายุของเขาจะเข้าไปอยู่ใน nursery ซึ่งตามศัพท์แปลว่าสถานที่รับเลี้ยงเด็ก และบ้านเราก็ใช้รับเลี้ยงเด็กจริง ๆ ส่วนที่ญี่ปุ่นเขาใช้เลี้ยงดูผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการที่คนญี่ปุ่นเอาจริงเอาจังกับหน้าที่การงานด้วยแล้วเวลาสำหรับผู้สูงอายุจึงหายไป ผู้สูงอายุในบ้านเราจึงน่าจะมีความสุขกับช่วงเวลาที่เหลือดีกว่าแม้เวลาจะสั้นกว่าผู้สูงอายุญี่ปุ่น ตรงนี้คงต้องวัดกันด้วยปีที่เหลืออย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดี (QoL: Quality of life) ดีกว่าวัดที่การมีอายุยืนอย่างเดียว

เคยได้มีโอกาสถามผู้สูงอายุ แต่ถามแบบพูดคุยกันโดยทั่วไปว่าที่บอกว่ามีความสุข มีความสุขยังไง คำตอบคือมีความสุขที่ได้เลี้ยงหลาน มองว่าคำตอบนี้มีนัยให้ขบคิดเยอะมากสำหรับวิถีคนไทย การได้เลี้ยงหลานและเฝ้ามองการเจริญเติบโต การได้อบรมสั่งสอนหลานด้วยตัวเอง ซึ่งลูกได้นำมาฝากไว้ก่อนไปทำงาน เย็นมารับกลับ หรือบางคนกลับมาเยี่ยมเป็นที ๆ ใช่จะเป็นภาระหรือจะเป็นสิ่งเติมเต็มความสุขของท่านในปั้นปลาย ยังน่าคิดน่าศึกษาอยู่อีกมากครับ

หมายเลขบันทึก: 271338เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2009 21:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มีนาคม 2015 08:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

การเลี้ยงหลาน เด็กมีความน่ารักสดใส ต่อชีวิตให้คนสูงอายุค่ะ

แล้วอีกอย่างหนึ่งเด็กเป็นวัยที่ต้องเรียนรูชอบพูดคุยด้วยค่ะ คนสูงอายุก็มีเรื่องเล่าดี เด็กๆก็ชอบค่ะ

สวัสดีครับคุณ berger0123

  • ขอบคุณครับ
  • ผมไม่ได้มีข้อมูลที่เป็นงานวิจัยอะไรหรอกครับ ได้ถามตอนตั้งวงคุยกันกับท่านผู้สูงอายุในชุมชน เวลาเข้าพื้นที่ไปนะครับ 
  • ตอนแรกก็ยังเข้าใจว่าตอบจริงหรือตอบแบบประชดเล่น ๆ เพราะต้องเลี้ยงหลาน แต่พอเห็นท่านเห่อหลาน และดูแลอย่างดี ก็เข้าใจว่าน่าจะมีนัยจริง ๆ 
  • แต่งานนี้หากอยากได้คำตอบเพื่อให้ประจักษ์ชัดผมว่าน่าสนใจนะครับ แต่อาจจะมีคนทำไว้แล้วเพียงผมไม่ได้ติดตามนะครับ
  • หากใครมีหรือรู้ก็ Link ไว้เผื่อคนที่สนใจก็ได้นะครับ
  • สถานที่ในภาพดูคุ้น ๆ นะคะ อาจารย์
  • ใช่ คณะแพทย์ มข หรือเปล่าคะ

สวัสดีครับคุณพี่ไก่...กัญญา

  • ใช่ครับพี่ จำแม่นจังเลยครับ
  • คนที่นั่งกลาง อ.หมอปัตพงษ์ครับ พอดีถ่ายตอนที่อาจารย์นำเสนอเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยการจัดการศึกษา กรณีของภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชนครับ ประเด็นนี้ยังไม่ได้บันทึกครับ

ท่านอาจารย์ชายขอบ ภาพคุ้นๆ ที่ทำงาน JJๆ ไม่เห็น ส่งข่าวเลย

สวัสดีครับอาจารย์หมอ JJ

  • ผมต้องกราบขออภัยอาจารย์หมอเป็นอย่างยิ่งครับ
  • ช่วงนี้ผมยังเดินทางบ่อย 
  • เข้าไปใน มอ.เป็นคราว ๆ ครับ ผมตั้งใจอย่างยิ่งที่จะไปกราบอาจารย์ให้ถึงที่ครับ ได้รับทราบว่า อาจารย์กลับมาประจำที่ภาคฯ แล้วครับ ถามข่าวคราวอยู่ครับ

สวัสดีคะ พี่ชายขอบ

อยากแลกเปลี่ยนด้วย 2 ประเด็นคะ

  • ประเด็นแรกเรื่องการครอบคลุมสิทธิหลักประกันสุขภาพคนไทย ในความเห็นว่าที่สูงกว่าก็จริง แต่ การเข้าถึงการให้บริการยังไม่ครอบคลุม ในประเด็นการ ส่งต่อที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ อาจเนื่องจากระบบการจ่ายเงิน ที่ต้องเรียกเก็บค่าบริการทางการแพทย์จากหน่วยบริการประจำ และความเหลื่อมล้ำทางการกระจายทรัพยากรทางการแพทย์ จึงทำให้เกิดความไม่เสมอภาคในการให้บริการของโรงพยาบาล เล็กและใหญ่ จึงอาจทำให้ผู้รับบริการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลใหญ่ โดยไม่อยู่ในระบบส่งต่อ ผู้รับบริการทางการแพทย์จึงต้องรับภาระค่าบริการทางการแพทย์เอง
  • ประเด็นที่ 2 เรื่องผู้สูงอายุ (ก้ามปูกำลัง review แบบมึนๆคะ)ในเมืองไทยนับว่าโชคดี ที่ผู้สูงอายุยังอยู่ในสังคมและครอบครัวที่อบอุ่น

สวัสดีครับคุณก้ามปู

  • ประเด็นหลังก่อนนะครับ ให้กำลังใจให้หายมึนครับ สู้ ๆ
  • ประเด็นแรกนะครับ การขึ้นทะเบียนสิทธิ เป็นการการันตีว่าผู้ให้บริการและประชาชนรับรู้ต่อสิทธิที่ได้รับตามกฎหมาย ความครอบคลุมเรื่องสิทธิฯ ในบ้านเรานั้นหากจะว่ากันตามตัวบทกฎหมายแล้วครอบคลุม 100% ครับ นับรวมกันทั้ง 3 สิทธิ แต่ที่ผมมักจะพูดว่าเกือบ 100% นั้น เพราะในข้อเท็จจริง เรายังมีพี่น้องคนไทยแท้ ๆ ที่มีปัญหาเรื่องเลข 13 หลัก อยู่ ซึ่งจริง ๆ ก็เกิดจากระบบของรัฐเองเยอะนะครับ อย่างกรณีคนพิการที่ในอดีตไม่ต้องทำบัตรประชาชน มาวันนี้เขาอายุยืนแล้วรัฐประกาศว่าต้องมี 13 หลักทุกคน คนเหล่านั้นเลยต้องพิสูจน์กันใหม่ อันนี้ใช้เวลา ทุกวันนี้ก็ยังมีปัญหาอยู่ --> อย่างนี้เราเรียกว่าความครอบคลุมของการมีหลักประกันฯ
  • ทีนี้พอมาพูดถึงการเข้าถึง ก็จะคนละประเด็นกับความครอบคลุม แต่เรามักจะบอกว่าคนที่มีหลักประกันแล้ว ก็จะมีโอกาสในการเข้าถึงบริการได้ง่ายขึ้นไม่ต้องกังวลกับค่าใช้จ่าย แต่ระบบของเราที่ยังไม่สามารถปล่อยให้ขึ้นทะเบียนที่ไหนก็ได้แบบง่าย ๆ นัก ก็เลยทำให้บางคนอาจจะยังไม่สามารถเข้าถึงได้ เช่นไม่พอใจหมอ พยาบาล รพ.ก. แต่ต้องถูกบังคับให้ขึ้นทะเบียนตามเขตที่ผู้ใหเบริการกับผู้ซื้อบริการตกลงกัน กรณีอย่างนี้หากเขาจะไปขึ้นทะเบียที่อื่นเขาต้องย้ายทะเบียนบ้านไป กรณีอย่างนี้ถือว่ายังไม่เข้าถึงบริการ หรือเข้าถึงได้ยาก อย่างที่เคยยกตัวอย่างบ่อย ๆ เช่นอยู่คนละฝั่งคลอง แต่คนละอำเภอ ต้องไปอีก รพ.หนึ่ง ซึ่งอยู่อำเภอเดียวกัน ไกลก็ไกล ไปยากอีกต่างหาก
  • โดยสรุปการเข้าถึงจึงพูดกันในสองแนวคือ เข้าถึงได้เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย และเข้าถึงได้เพราะพอใจที่จะไปหา ไปสะดวก เดินทางง่าย เป็นต้น
  • ที่นี้มาว่ากันต่อเรื่องคุณภาพบริการ หรือประสิทธิภาพการส่งต่อ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่ยกขึ้นมานั้น หากเรานำมาพูดพร้อมกันมันะทำให้หาข้อยุติเพื่อความเข้าใจยากนิดนึง ในทางเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข เขาจึงได้มีข้อตกลงเบื้องต้นข้อนึงว่าหากพูดถึงตัวไหน ก็ให้ fixed ตัวอื่น ๆ ให้นิ่งเสียก่อนครับ
  • พอจะ OK นะครับ คิดว่าได้ ลปรร.กันนะ 

อาจารย์ คุณภาพชีวิตและระบบบริการการดูแลผู้ป่วยเรื้อรังในญี่ป่นและสิทธิสำหรับผู้พิการหรือด้อยโอกาสในสังคมของญี่ป่น ตรงประเด็นนี้เขามีมาตรฐานในการดูแลหรือสวัสดิการ ให้กับกลุ่มเหล่านี้แบบไหน และการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนกลุ่มนี้ เช่นระบบการดูแลสุขภาพเชิงรุก ประเด็นนี้หลักประกันสุขภาพของญี่ปุ่นเขาคิดค่ารักษาอย่างไรบ้างค่ะ

สวัสดีครับคุณเพื่อนไก่

  • อ่านเล่มนี้น่าจะมีรายละเอียด Caring for the elderly in Japan and the US โดย Susan Orpett Long หากเพื่อนต้องการใช้ทำ Reading list ก็จะได้หาเล่มเต็มนะครับ
  • อ่านรายงานฉบับนี้แล้วพอเห็นคร่าว ๆ ได้ในเรื่องที่ถามข้างต้นนะครับ Advancing Chronic Care with eHealth Technologies in Japan
  • จริง ๆ ผมมีคำถามต่อ Professor หลายคำถาม แต่ไม่ได้ถาม เลยมาค้นเอาต่อนะครับ

ชอบมากครับ ข้อคิดที่ควรศึกษาและน่าขบคิดสำหรับการพัฒนาสภาพความสุขของบั้นปลายชีวิตกับการได้เลี้ยงดูหลานสักคน...อีกมุมนึงที่น่าศึกษาจริงๆ ขอบคุณบันทึกดีๆและเป็นกำลังใจสำหรับการทำงานบนวิถีคิดดีๆๆครับอาจารย์

สวัสดีครับคุณเสียงเล็ก ๆ

  • ผมอยากเห็นคนที่เอาโจทย์ไปทำ แล้วกลับมาแชร์ความรู้กันนะครับ
  • ผมมองว่าเราไม่สามารถตอบเองได้ทุกเรื่องในสิ่งที่อยากรู้
  • อย่างเรื่องนี้เป็นต้นครับ จึงนำมาแชร์ไว้ครับ
  • ขอบคุณนะครับที่แวะมาเยี่ยมเยียน

สวัสดีคะ

เข้ามาอีกครั้งเพื่อขอบคุณสำหรับคำแนะนำคะ "หากพูดถึงตัวไหน ก็ให้ fixed ตัวอื่น ๆ ให้นิ่งเสียก่อน" ตรงนี้ละคะที่ก้ามปูต้องพัฒนาคะ แต่ยังมีข้อข้องใจในประเด็นผู้สูงอายุ ค่อยเข้ามาคุยต่อนะคะ

สวัสดีครับคุณก้ามปู

  • ไม่เป็นไรนะครับถือว่าแลกเปลี่ยนกัน
  • ส่วนเรื่อง ผสว.ของญี่ปุ่น ไม่ได้รู้อะไรมากนักหรอกนะ แต่จะพยายามหาข้อมูลมาแลกเปลี่ยนกันนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท