ฝ่าเส้นทางวิกฤติ มนุษย์เงินเดือน


ฝ่าเส้นทางวิกฤติ มนุษย์เงินเดือน

ฝ่าเส้นทางวิกฤติ มนุษย์เงินเดือน

 

วิกฤติเศรษฐกิจ ส่งผลอะไรต่ออะไรมากมาย ตั้งแต่เรื่องใกล้ตัว ไกลตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานในองค์กร ที่ต้องเผชิญกับปัจจัยภายนอกและภายใน

ขณะที่องค์กรต้องการประสิทธิภาพอย่างสูง  แต่สภาพแวดล้อมล้วนบั่นทอนต่อประสิทธิภาพการทำงาน เพราะพนักงานต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่หดหู่  นั่งลุ้นกับสภาพขององค์กรที่อยู่บนเส้นด้าย  ความกดดัน ความเครียด ทำให้ภูมิคุ้มกันของศักยภาพการทำงานลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ปัญหาสารพันล้วนมาจากสิ่งแวดล้อมในที่ทำงาน

เริ่มตั้งแต่นโยบายขององค์กรที่เปลี่ยน ทั้งท่าทีของผู้บริหาร ระบบการทำงาน เป้าหมายที่เพิ่มขึ้นและท้าทายความสามารถอย่างรุนแรง ในขณะที่คนทำงานไร้หนทางที่จะสู่เป้าหมายที่องค์กรต้องการ งบประมาณลดลงจนแทบจะไม่มีเครื่องมือ หรือกระสุนสำหรับการต่อยอด

การแข่งขันกับภายนอกองค์กรก็ย่ำแย่ซ้ำยังต้องเผชิญกับการแข่งขันในองค์กรอีก  หัวหน้าหรือเจ้านายก็ดูเหมือนไร้มนุษยธรรมมากขึ้น การถูกกลั่นแกล้งให้ได้อาย เสื่อมยศ เสื่อมเกียรติ หมดศักดิ์ศรี ล้วนเป็นสภาพแห่งความกดดันชวนให้อยากลาออกไปจากองค์กร

คำถามคือทางออกของเรื่องเหล่านี้  ประสิทธิภาพของการทำงานจะเกิดขึ้นได้อย่างไร  และองค์กรจะรอดและถึงเป้าหมายที่สูงส่งได้อย่างไร เมื่อ พนักงานขององค์กรเต็มไปด้วยความเครียดและคับข้องใจ

องค์กรจะอยู่รอดอย่างไร หากไม่ได้ใจพนักงาน

ต่างสถานะ ต่างมุมมองเมื่อมองในด้านขององค์กร  ก็พบว่ามีหลายแนวทางที่องค์กรต้องมีการปรับทิศทางที่สำคัญ สำหรับกลยุทธ์ที่ควรหยิบมาใช้ในส่วนขององค์กรที่จะใช้ในการดำเนินธุรกิจในยุคที่เศรษฐกิจฝืดเคือง

กระจุกดีกว่ากระจาย  ภาวะคับขันอาจต้องเปลี่ยนวิธีการบริหารจากการกระจายเป็นการกระจุก  คัดสรร สิ่งที่เป็นข้อดีของแต่ละกลุ่มธุรกิจภายในองค์กร ทั้งในส่วนของความรู้ งบประมาณ การลงทุนและเครือข่าย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดร่วมกัน การขยายความร่วมมือในธุรกิจเดียวกันมากขึ้น ซึ่งนอกจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังทำให้เกิดการได้เปรียบทางการแข่งขันมากกว่าการต่างคิดต่างทำ

การกำหนดเป้าหมายร่วมกัน การชี้แจง สร้างความชัดเจน มีเป้าหมายร่วมกันด้วยการผสมผสานทุกส่วนขององค์กร เป็นภารกิจร่วมของหน่วยงานและองค์กร ไม่ใช่แยกเป็นส่วนๆ  ทุกฝ่ายต่างมีช่องทางและโอกาสช่วยเหลือซึ่งกันและกัน  เน้นขับเคลื่อนทรัพยากรขององค์กรทั้งภายในและการขับเคลื่อนสู่ภายนอก ไม่ใช่จากข้างนอกสู่ข้างใน 

ใช้การสื่อสารเชิงกลยุทธ์ทั้งภายในและภายนอก  การใช้วิธีการ เครื่องมือ ช่องทางที่เหมาะสมโดยเน้นการสื่อความที่ชัดเจนภายในร่วมกัน การสื่อสารที่ชี้ชัดกลุ่มเป้าหมาย ประเด็น วิธีการจัดการที่เจาะลึกมากยิ่งขึ้น เป็นเวลาที่องค์กรต้องเลือกและตัดสินใจว่าอยากเน้นในส่วนใดบ้าง ต้องการความร่วมมือ ค่านิยมร่วมกันอะไรบ้าง การเรียงลำดับความสำคัญของความต้องการขององค์กรเฉพาะเท่าที่จำเป็นก่อน  การสื่อสารที่สม่ำเสมอแบบสองทางเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับในช่วงระยะเวลานี้

การแสดงความจริงใจขององค์กร  การสร้างความพึงพอใจ ความผูกพันในระยะยาว ไม่เพียงกับลูกค้า นักลงทุน ผู้ถือหุ้น ชุมชน และสังคมเท่านั้น  พนักงานเป็นกลไกที่สำคัญมาก จริงใจ ไม่หลอกลวง นับเป็นสิ่งที่องค์กรควรสร้างให้เกิดความเด่นชัดที่สุด

เทรนด์ของโลก 4 ประการ กับเส้นทางของมนุษย์เงินเดือน

ประกอบด้วย  1)  เรากำลังก้าวสู่การแข่งขันที่รุนแรงและไร้รูปแบบ  2) เรากำลังอยู่โดยปราศจากความแน่นอนและความมั่นคงทางการเงิน 3) สงครามแห่งการแย่งชิงคนเก่งดูจะไม่มีท่าทีจะสงบโดยง่าย   4) การงานที่มั่นคง ดูจะเป็นเรื่องได้ยาก ขณะที่เรื่องของความก้าวหน้าไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นแน่นอนเสมอไป  

ติดตามความเคลื่อนไหว อย่างเข้าใจ  การที่เราได้ใกล้ชิดข้อมูลย่อมเกิดความได้เปรียบ  รู้ทิศทาง หมั่นติดตามข่าวสารทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง ไม่ว่าจะเป็น  ข่าวสารที่ปรากฏผ่านสื่อสารมวลชน บทวิเคราะห์  งานวิจัย  นโยบายทั้งของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง   การติดตามข้อมูลของคู่แข่ง  มีการติดตาม วิเคราะห์และคาดการณ์ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

นำศักยภาพที่มีสร้างผลงานให้เกิดประโยชน์กับองค์กรให้มากที่สุด  คนที่มีความสามารถมากมาย แต่อาจจะได้ใช้สิ่งเหล่านั้นอย่างไม่คุ้มค่า บางคนมีความชำนาญ  ความรู้  ความสามารถ มีเครือข่าย  มีความสัมพันธ์ ทั้งทางตรงหรือทางอ้อม อาจถึงเวลาที่ต้องนำออกมาแสดง 

การปรับเปลี่ยนตัวเอง มิใช่เกิดขึ้นในระดับองค์กรเท่านั้น ระดับบุคคลเองก็จำเป็นต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงมากทีเดียวให้เหมาะสมกับสิ่งที่เปลี่ยนไป  การพัฒนา เพิ่มเติมในสิ่งที่ขาด  การลดสิ่งที่เป็นเงื่อนไข  หรือสภาพความจำเป็นที่อาจมีความสำคัญในอดีต

สร้างวิกฤติให้เป็นโอกาส  ขอย้ำว่าควรใช้วิกฤติให้เป็นโอกาสจริงๆ ไม่ใช่ปล่อยให้โอกาสเป็นวิกฤติ การมีเวลาในการทำงานที่น้อยลง ย่อมทำให้เวลาของครอบครัวมีมากขึ้น ใช้เวลาแสวงหาช่องทางการเรียนรู้ การเรียนต่อ การอบรม  ต่อยอดองค์ความรู้ ไม่ว่าด้านวิชาการ วิชาชีพ ที่อาจกลายเป็นอาชีพ

เสริมหรืออาจเป็นอาชีพหลักในอนาคต

เตรียมพร้อมอยู่เสมอ  หาคำตอบจากสมมุติฐานที่ว่า ถ้าเราไม่ได้ทำงานที่นี่แล้ว จะเกิดอะไรขึ้น  เราจะใช้ชีวิตการทำงานที่เหลืออยู่อย่างไร วิธีไหน  การศึกษาสวัสดิการ  ระเบียบของบริษัท การสำรวจทรัพยากรทางความรู้ความสามารถของเราที่มีอยู่  ทำความเข้าใจกับกฎระเบียบทางด้านแรงงาน แม้กระทั่งการมีที่ปรึกษากฎหมายก็อาจจำเป็น

สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงทุกวันสิ่งที่ไม่คาดคิดก็ได้เกิดขึ้นมากมาย ฐานะองค์กรผู้บริหารต้องมีตัวที่ชี้วัดเพื่อนำพานาวาให้ฝ่ามรสุมไปให้ได้  

ขณะที่พนักงานในฐานะที่เป็นมนุษย์เงินเดือนก็จำเป็นต้องใช้ศักยภาพพร้อมกับแผนรองรับความเสี่ยง แม้ว่าจะยังไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดหรือไม่  รุนแรงเพียงใดก็ตาม

น่าสนใจใช่ไหมคะ  ดังคำสุภาษิตที่ว่า  รู้รักษาตัวรอดเป็นยอดดี  เทคนิคเล็กๆ  น้อยๆ  อาจทำให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้น  สุขกายสบายใจ  ทั้งชีวิตส่วนตัวและการงาน  นำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลากหลายสถานการณ์  แค่คิดดีก็มีชัยไปกว่าครึ่งแล้วนะคะ

โดย : ดร.พจน์ ใจชาญสุขกิจ [email protected]

หมายเลขบันทึก: 271332เขียนเมื่อ 26 มิถุนายน 2009 21:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ดีครับใช้เศรษฐกิจพอเพียงด้วยถึงจะดีนะ

ดีจังเลยค่ะ..น้องเก่งมากๆ

มาเยี่ยมให้กำลังใจในการสร้างสรรค์ผลงานครับ

ตุณญาดาสรุปความเห็นของตนเองด้วยจะทำให้บทความสมบูรณ์ครับ

ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยมชมผลงานนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท