สำเริงภาษา : “หลวง” กับ “เจ้า” ในวิถีคนใต้


คนใต้ ที่ใช้ “หลวง” หรือ “เจ้า” กันแทบทุกคนผ่านการบวชแล้วด้วยความภาคภูมิใจ อาจจะตีความได้ว่า คนใต้ ยังยึดถือศาสนา เป็นสิ่งที่สำคัญของวิถีชุมชน เป็นเกีรยติศักดิ์ศรีแก่วงศ์ตระกูลก็เป็นได้

สำเริงภาษา : “หลวง กับ เจ้า ในวิถีคนใต้

หลวงเสก

 

          หลายๆ ท่านที่ไม่ใช่คนใต้ ก็อาจจะมีความประหลาดใจ ว่าทำไม คนใต้มีเชื้อเจ้า หรือราชวงศ์อะไรเยอะแยะไปหมด มีทั้ง หลวง และ เจ้า เดินกันขวักไขว่ ในฐานะคนใต้เองก็ขอไขข้อข้องใจให้ได้ทราบกันครับ

         

ผมเอง คุ้นเคยกับคำว่า หลวง และ เจ้า เป็นอย่างดี  เพราะบ้านเกิดอยู่ที่ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฏร์ธานี พอกลับบ้านไป  คุณแม่ก็จะเรียกว่า เจ้า ส่วนน้องสาวก็จะเรียกผมว่า หลวง สองคำนี้ ไม่ได้ติดตัวมาตั้งแต่เกิดหรอกครับ แต่ในวิถีคนใต้ สำหรับผู้ที่ผ่านการบวชเรียนแล้วจะได้รับคำหน้านาม ซึ่งผมพอรู้คร่าวๆ แต่ก็สงสัยซึ่งที่มาที่ไปของคำเหล่านี้ จึงไปขอคำแนะนำจาก อ.บุญธรรม เทิดเกียรติชาติ แห่งมหาวิชชาลัยชุมชนศิลปินพื้นบ้านศรีวิชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรม ศาสนา และประเพณี จึงได้รับความกระจ่างเพิ่มมากขึ้น  พอจะแจกแจงได้ดังนี้ครับ

 

          หลวง ใช้เรียกนำหน้าชื่อของผู้ที่ผ่านการอุปสมบทแล้ว และมีวัยวุฒิ/คุณวุฒิ สูงกว่า หรืออาจจะใช้เรียกในการให้เกียรติยกย่อง แก่บุคคลนั้นก็ได้  ที่มาของคำว่า หลวง ก็คือว่า ในสมัยก่อน ประเพณีการบวชพระ ไม่ได้เป็นเพียงงานของบ้านใดบ้านหนึ่ง แต่เป็นงานของคนส่วนใหญ่ งานของชุมชน เปรียบได้เป็นงานของหลวง เมื่อสึกจากการเป็นพระแล้ว จึงได้นำคำว่า หลวง มาเป็นคำนำหน้าชื่อ เพื่อให้ผู้ที่บวชแล้วนั้น ระลึกอยู่เสมอว่าตนเป็นคนสาธารณะ และจำต้องประพฤติดีอยู่เป็นนิตย์

 

          เจ้า  ใช้เรียกนำหน้าชื่อของผู้ที่ผ่านการอุปสมบทแล้ว และมีวัยวุฒิ/ คุณวุฒิ ด้อยกว่า  คำว่า เจ้า ตามในมงคลชีวิต 38 ประการ ข้อที่ว่า ยกย่องคนที่สมควรยกย่อง  คำว่า เจ้า จึงถูกหยิบมาใช้ยกย่องผู้ที่ผ่านการบวชเรียนแล้ว

 

          เณร  นี่ก็เป็นอีกคำหนึ่ง ในบริบทของ จ.สุราษฏร์ธานี จะใช้เรียกผู้ที่ผ่านการบรรพชา (บวชเณร) แล้ว สึกออกมาก็จะเรียกว่าเณรนำหน้า

 

           หลวง หรือ เจ้า ก็เปรียบได้กับ คำว่า ทิด ของชาวภาคกลาง แต่เราค่อนข้องจะได้ยินว่า ใครจะใช้คำว่า ทิด นำหน้าชื่อน้อยมาก ผิดกับคนใต้ ที่ใช้ หลวง หรือ เจ้า กันแทบทุกคนผ่านการบวชแล้วด้วยความภาคภูมิใจ อาจจะตีความได้ว่า คนใต้ ยังยึดถือศาสนา เป็นสิ่งที่สำคัญของวิถีชุมชน เป็นเกีรยติศักดิ์ศรีแก่วงศ์ตระกูลก็เป็นได้

หมายเลขบันทึก: 270420เขียนเมื่อ 23 มิถุนายน 2009 17:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 17:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

อ่อ มิน่า นักร้องคนนั้งถึงถูกเรียกว่า "หลวงไก่"

ขอบคุณนะครับ

น้องกอล์ฟ

สวัสดีครับ น้องหลวงเสก มีอีกคำที่เรียกกันบ่อยตือ  ต้น อยู่ในกลุ่ทมเดียวกับ เจ้า หลวง ต้นครับท่าน

ขอบคุณ คุณ วอญ่า ครับ อาจารย์บุญธรรม ได้ให้คำว่า "ต้น" มาเหมือนกันครับ แต่เนื่องจากผมเองก็ไม่ค่อยถนัด (แถวบ้านไม่ได้ใช้กัน) นอกจากนี้ยังมีคำว่า "เดร" ที่ใช้กันแถวสงขลา อีกคำหนึ่งครับ แต่กลัวให้นิยามพลาดไปเลยรอผู้รู้มาช่วยเติมเต็มดีกว่า

ขอบคุณในคำแนะนำครับ

สวัสดีค่ะ

.คุ้นเคยกับคำที่เรียก แต่ที่มาของการเรียกเพิ่งทราบวันนี้เอง ขอบคุณความรู้ดีๆ

สวัสดี เณรเสก

เพิ่งรู้ว่าที่สุราษฏร์เขาใช้คำว่าเจ้า เคยได้ยินคำว่า หลวง เณร ต้น

คราวหน้าหาเรื่องเกี่ยวกับปากใต้มาเล่าเหลยนะ แล้วอิถ้าอ่าน

ขอขยายความเพิ่มเติมครับ ในแถบบ้านผม จ.สุราษฏร์ คำว่า "ต้น" จะถูกแผลงเสียงไปกลายเป็น "เติ้น" ซื่งมีความหมายใช้เรียก เพื่อให้เกียรติบุคคลที่อาวุโสกว่าครับ

คำว่า "ต้น" ถ้าเป็นที่บ้านผม จะหมาย พระ ผู้ที่บวชอยู่เป็นพระ น่ะครับ

อย่างเช่น พระสมชาย คนใต้ (บ้านผม) จะเรียก ต้นสมชาย ครับ

บ้านผมอยู่พัทลุง  ติดๆกับสงขลา ....

"ต้น" ออกเสียงต้อน   คำว่าต้นนั้น  หมายถึงพระที่เพิ่งบวชไหมยังอ่อนพรรษาอยู่  ชาวบ้านจะเรียกว่าต้น  ผมเคยถามพระอาจารย์หรือหลวงพี่ที่บวชนานๆ  ที่เรียกว่าต้น  กับพระบวชไหม  อาจมาจากหมานถึงต้นบุญ แห่งพระศาสนาที่เพิ่งบวช  เพราะเราท่านต่างทราบดีว่าชายไทยเราเมื่ออายุ 20 ปี หรือ 21 ปีในครรภ์  จะบวชเรียนกัน เพื่อสืบทอดพระศาสนา  ทดแทนบุญคุณพ่อแม่โดยการบวช  เลยอาจเป็นที่มาของคำว่าต้นบุญ  หรือต้นกล้าใหม่แห่พระศาสนาเป็นได้  แต่เนื่องจากคนใต้ไม่ชอบพูดคำยาวเลยตัดไปเหลือเพียงคำว่าต้น


ส่วนคำว่า"หลวง"  ก้อใช้เรียกกันกับผู้ที่วัยวุติมากกว่า  หรือเรียกพระพรรษามากกว่า  แต่เมื่อสึกพระออกมาก็ยังใช้เพื่อให้เกียรติ  เช่นเดียวกับคำว่า  "เจ้า"  แต่คำว่า เจ้า  นั้นแถวบ้านผมไม่ได้ยินเลย  แต่พอทราบมาว่าจะใช้เรียกแถวพังงา กระบี่ ระนอง ทางฝั่งตะวันตกฝั่งโน้นมากกว่า


ส่วนคำว่า"เณร"  ออกเสียง เดน. พ่อแม่  หรือคนที่สูงวัยใช้เรียกกันสำหรับบุตรหลานที่สึกพระมา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท