การจัดการความรู้ให้อะไรกับเรา (๓)


ต่อไปอยากให้ลองช่วยกันทบทวนประสบการณ์ของแต่ละคน ว่าตอนแรกรู้จักกับการจัดการความรู้นั้นเป็นอย่างไรกันบ้าง เพื่อจะได้เห็นแนวทางที่เหมาะสมในการพาให้น้องรุ่นใหม่ๆ ได้เดินเข้ามาในเส้นทางของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เอื้อประโบชน์ทั้งกับคน กับงาน และกับองค์กร

 

คุณครูตั๊ก - รัตดารา ตอนแรกเลยไม่ได้อยากทำเพราะงานก็เยอะ แถมต้องมาเขียนบันทึกอีก ก็ลองเขียนตามไปที่ตัวเองทำ ภาษาอาจจะไม่สวยงามนัก แต่พอลงมือเขียนก็ได้เห็นตัวเอง และได้พัฒนาต่อไป การนั่งเขียนทำให้ได้มาทบทวน ตรวจสอบการทำงาน เกิดการเห็นคุณค่า เห็นประโยชน์ในสิ่งที่ทำลงไป พอมาอ่านย้อนหลังก็มีความสุข รู้สึกดีที่ได้ทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เหมือนพอเราท้อบางทีก็ไม่อยากทำ พอได้ มาอ่านบันทึกเรื่องเล่าความสำเร็จที่เคยเขียนไว้ก็เป็นการเติมพลังให้ตัวเองได้อย่างดี

 

คุณครูก้อย ตติยา ตอนแรกที่เขียนก็ไม่รู้ว่าเขียนอะไร ก็เขียนไปเรื่อยๆ พอเขียนเสร็จได้มานั่งอ่าน ก็ร้องไห้กับสิ่งที่ตัวเองทำ หลังๆ ก็เขียนมากขึ้น แต่ต้องหาเวลาช่วงว่างๆ ที่จะได้ทบทวน ทำให้มีความรู้สึกว่าอยากทำงานที่มีคุณภาพเหล่านี้อีก ได้ถามตัวเองว่าเราทำสิ่งเหล่านี้เพื่ออะไร ซึ่งคำตอบที่ได้ไม่ใช่แค่ตัวเราแต่เป็นตัวเด็กด้วย ที่ได้มากคือ ได้มามองย้อนทำอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จ ทำให้ตัวเองเริ่มคิดอะไรเป็นระบบ ทำให้เห็นคุณค่า รู้สึกชอบ

 

คุณครูติ๊ก - เยาวราช  เริ่มจากการต้องพลิกตัวเองมาเป็นผู้ฟัง เห็นเลยว่าในตอนแรกมีการฟังที่ยังลำเอียงไปในทางที่ตนเองคิดว่าชอบ คิดว่าใช่ แต่พอต้องมาฟังครูทุกชั้นของอนุบาล ก็รู้สึกว่าตัวเองใจว่างมากขึ้น เริ่มจะพิจารณาเรื่องที่ได้ฟัง บางครั้งก็วางบางความคิดลงได้ เริ่มตัดทอนคำพูดที่ทำให้ใจไม่สงบ เริ่มเป็นผู้ฟังที่ดีขึ้น

 

คุณครูเอ - ดวงพร ครั้งแรกรู้สึกเหมือนเป็นภาระ ครั้งแรกที่เขียนเรื่องเล่า เขียนเรื่องพิธีกรรมไหว้ครู เขียนแล้วเห็นภาพที่ตัวเองคิด ทำให้ต้องหัวเราะตัวเองกับสิ่งที่เขียน ที่กล้าลองเขียนก็อาจจะเป็นเพราะได้เห็นตัวอย่าง และมีรุ่นพี่คอยให้กำลังใจ ที่สำคัญคือพี่เขาเชื่อว่าเราทำได้  พอได้เขียนก็เริ่มเห็นตัวเรา เห็นคนรอบข้าง เริ่มมีคำถามว่า ก่อนนั้นทำไมเราไม่คิด ไม่เห็นอย่างนี้ การเขียนแบบนี้ช่วยสร้างสายตาให้เราได้  ตอนนี้เริ่มรู้สึกว่า เราเริ่มกล้าที่จะทำ

 

คุณครูแอน - สุธนา เริ่มจากการที่ได้นำกิจกรรมที่ตัวเองทำแล้วประสบความสำเร็จมาเล่า แล้วมีพี่มาสัมภาษณ์ และช่วยเรื่องที่เราเล่าไป พอมาอ่านทบทวนอีกครั้งเริ่มเห็นกระบวนการของการทำงาน เริ่มเห็น What Why How โดยที่เขียนไปเรื่อยๆ จนค่อยๆ เห็นกระบวนการทั้งหมดที่เกิดขึ้น โดยไม่ได้คิดกับคำถามก่อน จึงทำให้เขียนไปเรื่อยๆ แล้ว What Why How ที่ต้องตอบก็ปรากฏขึ้นมาเอง ที่ตัวเองเปิดใจรับเพราะเห็นว่าพี่เห็นความสำคัญ ซึ่งเราคงต้องเปิดโอกาสให้ครูคนอื่นๆ ได้รู้สึกอย่างนั้นด้วย เพราะทุกคนอยากรู้สึกถึงความสำเร็จ แล้วค่อยๆ ขยายเวทีออกจากระดับชั้น จนถึงกลุ่มใหญ่

 

คุณครูตั๊ก - รัตดารา  การที่มีพี่จุดประเด็นทำให้เราเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำตัญ แม้แต่ในช่วงเวลาที่คุยกันเล่นๆ เช่นกรณีเขียนของเด็กพิเศษที่ครั้งหนึ่งเรากลัวไม่กล้าเขียน พี่ก็มาช่วยแนะนำ ชักชวนให้มอง ทำให้เราก็มีประเด็นในการเขียนเรื่องเล่า

 

คุณครูเล็ก - ณัฐทิพย์  โดยส่วนตัวมีความชอบในการใคร่ครวญ เช่นชอบวิปัสสนา และเป็นคนที่ชอบลองที่จะปฏิบัติ มีอะไรใหม่เข้ามาก็ลองทำ แม้จะมีงานเยอะแต่ก็ลองมองใหม่ว่าหากจัดการเวลาจะทำได้ เช่น การพูดแลกเปลี่ยนทำให้เห็นตัวเอง แล้วมาตั้งคำถาม ทวนตัวเองเรื่อยๆ ทำให้เปิดรับฟังคนอื่นๆมากขึ้น ทำให้เราไม่ยึดติดกับตัวบุคคล ขึ้นอยู่กับว่าเราเปิดให้ตัวเองได้มองให้มากขึ้น การจัดการความรู้ การแลกเปลี่ยนก็เหมือนกับปฏิบัติธรรม มีสติกับปัจจุบันในการฟัง มันได้เข้ามาสู่ตัวเราอย่างไม่รู้ตัว

 

การเขียนก็เป็นเครื่องช่วยให้เกิดการกลับมาทบทวนตัวเอง เหมือนเป็นกระจกสะท้อน การชวนให้คนหันมาสนุกกับงานจัดการความรู้ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจ ที่เคยทำบางครั้ง จะเริ่มจากคนที่ใกล้ชิดก่อน ก็มีการค่อยๆ หยอดนำเองที่เราเขียนไว้มาให้อ่าน ก็ช่วยสนิทกันง่ายขึ้น รู้จักกันมากขึ้น

 

หลักใหญ่คือ ทำอย่างไรที่เราจะได้เปิดใจ แล้วเฝ้าดูพัฒนาการของแต่ละคน และเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ทำวันเดียวได้ อาจจะต้องใช้เวลา เชื่อว่าจุดเล็กๆที่ทำเป็นปัจจัยให้เกิดผล เราน่าจะลองขยายมุมมองให้คนอื่นๆ ได้ทดลองด้วยตัวเอง

 

คุณครูเหน่ง - อรุโณทัย ตัวเองมีปัญหาเรื่องการเขียน แต่อยากเล่า อยากปฏิบัติไปเลย สำหรับการนำไปสู่ผู้คนแบบพี่เหน่ง อาจจะนำเข้าสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ให้ซึมซับ รับพลังเหล่านั้นไปเลย และอาจจะทำเป็นการอัดเสียง อัดเป็นหนังให้เห็นตัวอย่างง่ายๆ เป็นเหมือนการเรียนลัด เพราะชอบการฟัง ดู แต่การเขียนต้องคิดเป็นขั้นตอน อาจจะยังสกัดกั้นตัวเราอยู่ แต่ส่วนตัวชอบบรรยากาศ ชอบมองดูแววตาของคนเล่าเรื่อง ที่พอได้สัมผัสแล้วทำให้ขนลุก

 

คุณครูแอน - สุธนา ส่วนตัวชอบการมานั่งคุยกัน เพราะทำให้ได้เห็นหน้า ได้รู้จักเขาจริงๆ มันมีความจริงใจ เห็นแววตา สีหน้า ได้มองเขา เข้าใจเขา ได้ใช้เวลาร่วมกัน ถ้าเทียบกันแล้วการเปิดเครื่องเข้าไปค้นข้อมูลก็เสียเวลาพอกัน แต่เราไม่ได้สัมพันธ์กับมนุษย์ ไม่ได้เห็นแววตา การรับรู้สภาวะของคนที่อยู่ข้างหน้า

 

คุณครูก้อย - ตติยา การเข้าไปอ่านเมล์มักจะมีเป้าหมายเพื่อจะเข้าไปค้นดูอะไรสักอย่างที่เจาะจงมากๆ  จะไม่อยากเข้าไปอ่านเรื่องของคนอื่นหากเราไม่ได้สนใจ ส่วนตัวเป็นคนชอบพูด การแลกเปลี่ยนเรียนรู้อาจจะดูเป็นการเสียเวลาแต่มันมีคุณภาพมากกว่า

 

คุณครูติ๊ก - เยาวราช  ในการทำงานกับเด็กมันไม่มีสมาธิพอที่จะจดจ่อกับหน้าจอ ชอบที่จะอยู่กับผู้คนมากกว่า

 

ครูตั๊ก - รัตดารา จะเปิดเมล์แต่จะอ่านแต่ของตัวเอง แต่การมานั่งรวมกันได้แลกเปลี่ยนนั้นดีกว่า แต่ก็ไม่ควรจะบ่อยเพราะหน้างานที่ทำอยู่ค่อนข้างเยอะ

 

คุณครูเหน่ง - อรุโณทัย ชอบการคุยแลกเปลี่ยน หรืออ่านตามบอร์ด  การจัดวงแลกเปลี่ยนอยากจะให้มีห้วงเวลาที่เหมาะสม เช่น กลุ่มที่เข้าเป็นกลุ่มอาสา หรือจัดเป็นวงใหญ่ภาคเรียนละครั้ง

 

คุณครูตั๊ก - รัตดารา หากเราเปิดประเด็นในความภาคภูมิใจในตัวเอง และคนอื่น แต่บางครั้งคนนำวงอาจจะยังไม่สามารถควบคุมประเด็นได้ ทำให้ใช้เวลาค่อนข้างนาน

 

คุณครูก้อย - ตติยา การนำเสนอความสำเร็จนั้นอาจจะทำให้เราภูมิใจ ได้พลังกลับมาเมื่อมีคนนำเรื่องความสำเร็จของเราไปทดลองต่อยอด ก็ภูมิใจว่าเราได้สร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น แต่ก็ยังมีผู้ฟังบางประเภทที่ใจยังปิด ไม่พร้อมฟัง เลยมีอคติในการรับฟังบ้าง ต้องหันเขากลับมา และหาทางเปิดใจให้เขาพร้อมรับความรู้สึกดีๆ ต่อไป

 

คุณครูแอน - สุธนา ขึ้นอยู่กับภาวะของผู้คนในแต่ละครั้งด้วย แต่หากมีการจัดเวลาของทุกคนให้อยู่ในวาระเดียวกัน เช่น ทุกสัปดาห์ที่ ๕ เรามีวาระมาแลกเปลี่ยนเรื่องราวความสำเร็จกัน ทำให้ทุกคนมีความพร้อม ก็จะช่วยให้มีสมาธิ และจดจ่ออยู่กับเรื่องราวความสำเร็จได้

 

 

 

ประเด็นประเมินสำคัญที่ได้จากการสอบถามความคิดเห็นจากผู้ปฏิบัติ

 

  • การบันทึกเรื่องเล่าความสำเร็จ ควรจัดให้มีต่อไปเพราะเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่า ทำให้ได้ทบทวนตัวเอง ได้ฝึกให้คิดอย่างเป็นระบบ
  • วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวความสำเร็จ ควรจัดให้มีต่อไป แต่ควรสร้างความพร้อมให้กับผู้เข้าร่วมด้วย เช่น กำหนดเวลาให้ชัดเจนว่าจะนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเมื่อใด เพื่อให้คนทั้งวงอยู่ในวาระเดียวกัน
  • ผู้ให้ข้อมูลยังให้ความสำคัญกับปฏิสัมพันธ์แบบ face to face มากกว่า blog to blog และยังไม่คุ้นชินกับการค้นหาข้อมูลผ่านจอ อาจเนื่องมาจากลักษณะงานโรงเรียนที่ทำให้เกิดความคุ้นชินกับการเรียนรู้จากผู้คนมากกว่าที่จะไปค้นหาความรู้จากฐานข้อมูลที่ต้องค้นผ่านระบบ
  • แม้ว่าจะมีบันทึกเรื่องเล่าเป็นคลังความรู้หลัก แต่ก็ควรมีวิธีการจัดเก็บคลังความรู้ในรูปแบบอื่นๆ เช่นไฟล์เสียง ไฟล์ภาพ ฯลฯ เสริมด้วย
หมายเลขบันทึก: 267148เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2009 15:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ครูใหม่ครับ ผมขอทำลิงค์ไว้ที่เว็บ สคส. จะอนุญาตไหมครับ (http://www.kmi.or.th)

เอ..บทความมี 3 ตอน น่าจะทำลิงค์ในหน้า ให้ไปอ่านตอน 2 กับ 1 ได้น่าจะสะดวกดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท