เรื่องดีที่ มวล. : KM การพัฒนานักศึกษา (๒)


ใบเกียรติบัตรหรือใบรับรองเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ

ตอนที่

ดิฉันแนะนำกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยใช้วิธีการเล่าเรื่องและการฟังอย่างลึก บอกเทคนิควิธีการ และยกตัวอย่างเรื่องเล่า หลังรับประทานอาหารว่าง เวลา ๑๑.๐๐ น. เราแบ่งกลุ่มย่อย ๔ กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีทั้งอาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนักศึกษา มีผู้ทำหน้าที่เป็น “คุณอำนวย” และ “คุณลิขิต” ที่เราทำความเข้าใจเรื่องบทบาทกันล่วงหน้าตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๓

ดิฉันเข้ากลุ่มย่อยด้วย ในกลุ่มที่ดิฉันอยู่มีอาจารย์ที่เล่าเรื่องชมรมแบดมินตัน ค่ายหมอยาน้อย รุ่นพี่รับขวัญน้อง มีนักศึกษาเล่าเรื่องที่น่าประทับใจของชมรมคริสเตียนที่แม้มีสมาชิกไม่กี่คนแต่ก็มีการพบกันสม่ำเสมอ มีการเชื่อมโยงกับคริสต์จักรภายนอกและทำกิจกรรมหลายอย่างที่ดิฉันมองว่าพัฒนาจิตใจให้ดีงาม นักศึกษายังได้เล่าเรื่องชมรมอาสาที่มีเครือข่ายอยู่ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยมหาสารคามด้วย กลุ่มนี้มีการเปิดร้านน้ำชาเป็นจุดให้คนมารวมกัน ชมรมเพื่อนช่วยเพื่อนที่มีเคล็ดลับในการชักชวนให้นักศึกษามาร่วมกิจกรรมและการสร้างบรรยากาศให้เปิดใจพูดกันได้ทุกเรื่อง

บรรยากาศในกลุ่มยังไม่ค่อยเป็นกันเองและผ่อนคลายเท่าไหร่ แต่ทุกคนก็ได้เล่าเรื่องของตนเอง แต่ละกลุ่มใช้เวลาเล่าเรื่องถ่ายทอดประสบการณ์กันจนถึงเวลา ๑๒.๓๐ น. เราจึงพักรับประทานอาหารกลางวัน

๑๓.๓๐ น. ดิฉันลองนำกิจกรรม “คำพังเพยที่มีสัตว” ที่ทีมระยองเคยใช้ (อ่านที่นี่) มาใช้ให้แต่ละกลุ่มแข่งกันในช่วงเวลาสั้นๆ เพื่อสร้างบรรยากาศ แต่สังเกตว่าคนในกลุ่มไม่ได้ช่วยกันคิด มีคนเดิมๆ จองเสนอคำพังเพยไม่กี่คน

ต่อจากนั้นเราให้แต่ละกลุ่มนำเสนอว่าในกลุ่มของตนมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับอะไรบ้าง เรื่องใดที่น่าประทับใจ เพราะอะไร มีความรู้อะไรบ้าง สังเกตว่าทุกกลุ่มส่งนักศึกษามานำเสนอ เดิมดิฉันจะให้นำเสนอสั้นๆ แต่ไม่อยากให้นักศึกษาตื่นเต้นมาก จึงปล่อยไปตามสบาย ใช้เวลาในการนำเสนอประมาณเกือบ ๑ ชม.

ช่วงต่อไปเป็นกิจกรรมระดมความคิดว่าทิศทางการทำงานสร้างเสริมสุขภาวะนักศึกษา ถ้าจะเดินต่อจะเดินอย่างไร ศ.ดร.ธีระยุทธ กลิ่นสุคนธ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการมานั่งรับฟังอยู่ด้วย ผู้เข้าประชุมเสนอหลากหลายความคิดเห็น เช่น ต้องมีเรื่องการเรียนการสอนอยู่ด้วย เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม หลายคนบอกว่าควรมีช่องทางการสื่อสารกิจกรรมต่างๆ ให้รู้ทั่วกัน เพราะต่างคนต่างทำ บางเรื่องก็ซ้ำซ้อนกัน สำนักวิชาก็ทำ ส่วนกิจการนักศึกษาก็ทำ

อาจารย์ไพโรจน์ นวลนุ่ม สำนักวิชาการจัดการ ศิษย์เก่า มวล. ตั้งคำถาม ๓ คำถามว่านักศึกษาต้องทำอะไร ทำไมเขาต้องทำ และมหาวิทยาลัยทำอะไร และยังพูดถึง “เครื่องมือล่อ” “Transcript กิจกรรม” ........เราเห็นด้วยกันว่าควรมีการทบทวนโครงการที่ทำว่าแต่ละโครงการตอบโจทย์อะไร

อาจารย์ธีระยุทธบอกว่ามหาวิทยาลัยกำลังทำอะไรอยู่บ้าง อาจารย์ พญ.มยุรีพูดว่าการสร้างเสริมสุขภาพและการสร้างเสริมสุขภาวะเป็นคำเดียวกัน ต้องทำให้ทุกคนเข้าใจความหมายของคำนี้ คนยังไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง....................

ยังมีข้อเสนอที่น่าสนใจอีกว่าควรมีการวางกรอบการทำกิจกรรมของนักศึกษาแต่ละชั้นปี สำหรับอาจารย์การทำงานด้านนักศึกษาเป็นงานอาสาสมัคร ต้องหาวิธีการชักชวนให้มีคนมาร่วมด้วย มหาวิทยาลัยน่าจะกำหนดโครงสร้างให้เอื้อ อาจารย์ พญ.มยุรีบอกว่าการจัดกิจกรรมเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้มีชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข ที่ มอ.จัดเอาไว้ ๑ หน่วยกิตอยู่ใน General Ed. คุณกรกชจากส่วนประชาสัมพันธ์แนะให้มองย้อนไปที่วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัย

ถึงเวลานี้น้องปู นักศึกษาสำนักวิชาการจัดการ จากชมรมคริสเตียนลุกขึ้นบอกว่าขอตอบคำถาม ๓ ข้อของอาจารย์ไพโรจน์ ปูอ่านที่เขียนไว้ในสมุดเล็กๆ และพูดด้วยเสียงดังฟังชัด เนื้อหาน่าประทับใจมาก (แต่ดิฉันจดไม่ครบ) ว่าพ่อแม่ลูกอยู่ด้วยกัน มีอาหารหลายอย่าง น่าจะถามลูกสักคำว่าอยากกินอะไร ใบเกียรติบัตรหรือใบรับรองเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจ การทำกิจกรรมนั้นมหาวิทยาลัยและนักศึกษาควรรับผิดชอบร่วมกัน

อาจารย์เมฆจากสำนักวิชาวิศวะฯ บอกว่าอย่าให้โครงสร้าง (ภาระงาน) เป็นอุปสรรค นักศึกษาเสนอเพิ่มว่าสายธารงานควรทำให้เร็วขึ้น อยากให้บริการต่างๆ อำนวยความสะดวก.......นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงความต่อเนื่องและความยั่งยืนของกิจกรรม นักศึกษาจะรู้สึกเบื่อถ้าไม่มีอาจารย์ให้ความสนใจหรือให้กำลังใจ

คุณไก่ ปิยวัชน์ ปิดท้ายว่าวันนี้ถือเป็นการผูกมิตรครั้งหนึ่ง รู้ว่าทางสงขลามีแผนสุขภาพจังหวัด ก็มีความฝันอยากให้มีแผนสุขภาพที่ มวล. อาจารย์ พญ.มยุรี บอกว่าตนเองได้ประโยชน์จากกิจกรรมวันนี้ ขอให้กำลังใจ บอกว่าการทำกิจกรรมติดตัวไปโดยเราไม่รู้ตัว คนที่จะเห็นคือคนที่เราทำงานด้วย

ปิดประชุมเวลา ๑๖.๐๐ น. ด้วยบรรยากาศของงานดิฉันเลยไม่ได้ให้ผู้เข้าประชุม AAR แต่ทีมทำงานได้ใช้เวลา AAR ร่วมกันว่ารู้สึกอย่างไร ได้อะไร มีส่วนไหนที่ต้องปรับปรุง ดิฉันเสนอแนะว่าเราควรเจาะกลุ่มที่มีผลงานน่าสนใจให้ลึกขึ้นว่าเขามีเทคนิควิธีการทำงานอย่างไรที่ใช้แล้วได้ผลดี โดยอาจไปคุยทีละกลุ่มก็ได้

จากการประชุมครั้งนี้ดิฉันได้สัมผัสว่าทั้งอาจารย์และนักศึกษาที่ชอบทำกิจกรรมมีความคิดและลักษณะพิเศษเฉพาะ ทำกิจกรรมเพราะชอบ ทำแล้วมีความสุข เป็นงานอาสา คนอื่นมองไม่ค่อยเห็น (หรือไม่มอง) ผลงานมักไม่ถูกหยิบขึ้นมายกย่องเชิดชูเหมือนการเรียนการสอนหรือการทำงานวิชาการ ทั้งๆ ที่ กิจกรรมเหล่านี้ได้มีส่วนหล่อหลอมนักศึกษาด้วย ดิฉันตั้งใจว่าจะเรียนรู้เรื่องราวเหล่านี้ให้มากขึ้น

วัลลา ตันตโยทัย

หมายเลขบันทึก: 262553เขียนเมื่อ 21 พฤษภาคม 2009 22:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าชื่นชม KM พัฒนานักศึกษาและอาจารย์ น่าสนใจ เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท