ทำอย่างไรเยาวชนไทยจึงจะหันกลับมาสนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ตอนที่ 5


ไม่ควรปล่อยให้บุคคลไม่กี่คน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของท้องถิ่นรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางด้านศิลปวัฒนธรรมดั้งเดิมเพียงลำพังมานานนับสิบ ยี่สิบ สามสิบ สี่สิบปี พวกเขาเหล่านั้น

ทำอย่างไร เยาวชนไทย

จึงจะหันกลับมาสนใจ 

เอกลักษณ์ของท้องถิ่น (ตอนที่ 5)

(ชำเลือง  มณีวงษ์/ผู้เขียน)

 

เยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันทุกระดับ เป็นกลุ่มคนที่เข้ามารับความรู้ เข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ตามจุดมุ่งหมายที่สถาบันการศึกษาตั้งไว้ สถานศึกษาในแต่ละแห่งจะมีคำขวัญ มีปรัชญา เป็นช่องทางไปสู่เป้าหมาย เพียงแต่ว่า ผู้ที่ทำหน้าที่นำทาง จะมองเห็นทางเดินที่จุดประกาย สร้างความตื่นเต้น สร้างประสบการณ์ที่ล้ำค่าให้กับผู้เรียนได้มากน้อยเพียงใด หากเมื่อใดความรู้ไม่ถูกจัดการอย่างมีระบบ ง่ายและสะดวก สบาย ไม่ซับซ้อนวกวนจนไม่รู้ว่าจะเดินทางไปไหน มองไม่เห็นปลายทางทั้งที่ไม่ต้องทำให้ยุ่งยาก ไม่ต้องพาไปเดินในเขาวงกตก็ไปถึงจุดหมายปลายทางได้เร็วกว่าเสียด้วยซ้ำ

หน่วยงานในท้องถิ่นที่มีส่วนในการสนับสนุนเรื่องนี้ มีหลายหน่วยงานทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ ไปจนถึงจังหวัด หรือสูงกว่าขึ้นไป แต่เราคงไม่มีส่วนที่จะไปเสนอแนะอะไรได้ เป็นแต่เพียงนำเอาประสบการณ์มาเล่าให้ฟังว่า มีจุดที่น่าจะเข้าใจคลาดเคลื่อน เพื่อให้เกิดความจริงจังในเรื่องของการรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของท้องถิ่นได้

พูดถึงหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งเขามีงบประมาณรองรับเป็นงบประมาณตามโครงการประจำปี ผมเป็นคนหนึ่งที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการที่ได้รับงบประมาณ 1-3 แสนบาท (หน่วยงานนั้น ๆ เขาได้รับ) ผมให้คำปรึกษาและมีส่วนร่วมในการดำเนินโครงการ  เพียงบางส่วนและเคยได้รับค่าตอบแทนเพียงค่าเดินทาง (ค่าน้ำมันรถ) งานที่ว่านี้ได้แก่

- โครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการเครือข่าย......โดยสำนักงาน.......

- โครงการเวทีวัฒนธรรมสัญจรเพื่อ......และ.....โดย..........................

- โครงการจัดอบรมปฏิบัติการเพลงอีแซว...............โดยสำนักงาน....... 

โครงการเหล่านี้ ถ้าได้จัดและดำเนินการอย่างจริงจังเต็มที่ ย่อมที่จะเกิดประโยชน์อย่างมหาศาล และคุ้มค่ากับงบประมาณที่สนับสนุน แต่ในความเป็นจริงจะเป็นอย่างไรไม่ทราบ เพราะดูจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากก่อนดำเนินการหรืออาจมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างในระดับที่ไม่สูงไปกว่าเดิม จึงยังคงเห็นการจัดกิจกรรมแบบซ้ำ ๆ อยู่อย่างนั้นหลายครั้ง

         

          หน่วยงานในระดับต่าง ๆ ของท้องถิ่น มีงบประมาณสนับสนุนตามเป้าหมายของการพัฒนางานในหน่วยงานนั้น ๆ อยู่แล้ว ที่ผมกล่าวถึงเรื่องนี้เพราะผมได้นำคณะนักแสดงไปร่วมกิจกรรมประเภทนี้ ณ สถานที่ในต่างจังหวัด เขาจัดเวทีให้ มีเครื่องไฟขยายเสียงและให้ค่าตอบแทนอย่างเหมาะสม และให้เวลาแสดงเต็มคืน คือ 3-4 ชั่วโมง แถมมีท่านผู้ชมท่านคณะกรรมการในองค์กรอยู่เป็นกำลังใจจนการแสดงจบ ผิดกับในท้องถิ่นของเราเองอย่างไม่น่าเชื่อ

หน่วยงานที่มีส่วนในการผลักด้นส่งเสริมศิลปะการแสดงของท้องถิ่น ได้แก่

- คณะกรรมการหมู่บ้านโดยมีผู้ใหญ่บ้านเป็นหลักหรือเป็นประธาน มีหลายหมู่บ้าน ที่เขาจัดตั้งเป็นชมรมผู้อนุรักษ์ศิลปะการแสดงเพลงอีแซว แต่จัดกิจกรรมปีละ 1-2 ครั้ง

- คณะกรรมการในระดับตำบล มีกำนันเป็นประธานคณะกรรมการบริหารงาน หน่วยงานนี้มีบทบาทกับสถานศึกษา มีส่วนเข้าไปเป็นคณะกรรมการในสถานศึกษาด้วย

- เทศบาลตำบท ในตำบลที่มีประชากรหนาแน่น องค์กรประเภทนี้จะมีงบประมาณสนับสนุน บางสถานที่เขาก็ทุ่มเทลงมาให้กับการรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของท้องถิ่นอย่างชัดเจนและอย่างต่อเนื่อง

- องค์การบริหารส่วนตำบล องค์กรนี้มีบทบาทต่อชุมชนในระดับตำบลมาก มีงบ ประมาณสนับสนุน บางแห่งเขาจัดให้มีกิจกรรมเกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย ปีละ 3-5 ครั้ง ปีใหม่ไทย ปีใหม่สากล เข้าพรรษา  ออกพรรษา เทศกาลลอยกระทง เทศกาลทอดกฐิน ผ้าป่า งานประจำปีของชุมชน เทศกาลสำคัญของชุมชน และคณะกรรมการจัดให้มีการแสดงของนักเรียน นักศึกษาที่เน้นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น มีหลายจังหวัดที่สร้างสรรค์ น่าภาคภูมิใจ ใช้งบประมาณไม่มาก ก็สามารถที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการสืบสานได้

 - สภาวัฒนธรรมตำบล องค์นี้มีคณะกรรมการที่ผ่านการคัดเลือกเข้ามาเป็นคณะกรรมการบริหารงาน ในส่วนของการดำเนินงานดูจะไม่ค่อยมีการเคลื่อนไหวในแต่ละปี เพาะว่า ผมเป็นคณะกรรมการอยู่ด้วย ขนาดเราเป็นศิลปินนักแสดง ยังไม่มีชื่อไปปรากฏในเว็บไซต์ของสภาวัฒนธรรมตำบลเลย ไม่รู้หลงลืมไปได้อย่างไร

- สภาวัฒนธรรมอำเภอ องค์กรนี้ใหญ่ขึ้นกว่าตำบลเพราะรวมเอาหลาย ๆ ตำบลจัดตั้งเป็นสภาวัฒนธรรมอำเภอ ผมมีหน้าที่อยู่ในฐานะคณะกรรมการสภาวัฒนธรรมอำเภอก็ดูว่านิ่ง ไม่มีการเคลื่อนไหวให้ถึงแก่นของวัฒนธรรมท้องถิ่น ขนาดผมเป็นโหราทำพิธีทำขวัญนาคมานานกว่า 40 ปี ไปทำพิธีมากว่า 2,500 ครั้ง (ปีละ 20-115 ครั้ง) ก็ยังไม่มีชื่อปรากฏในภูมิปัญญาท้องถิ่นระดับอำเภอ และที่ชัดเจนมากคือ เราได้รับรางวัลราชมงคลสรรเสริญ สาขาเพลงพื้นบ้าน (ระดับประเทศ) ก็ไม่มีชื่อปรากฏว่าเป็นผู้รักษาไว้ซึ่งเพลงพื้นบ้านของท้องถิ่น

- สภาวัฒนธรรมจังหวัด องค์กรนี้ดีขึ้น เพราะมีผู้ใหญ่ที่รู้จักกันทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการในระดับสูงและมีผมเป็นคณะกรรมการอยู่ด้วย ในระดับนี้พอที่จะได้รับการดูแลบ้าง แต่ก็ไม่เต็มที่ เพราะผลงานและชื่อเสียงที่โลดแล่นอยู่ในชุมชนในสังคมโดยเฉพาะบนเวทีการแสดงเพลงพื้นบ้านของผมที่ผ่านมา มากกว่า 1,000 งาน คณะกรรมการบางท่านยังบอกว่าไม่รู้จักเลย (เป็นไปได้อย่างไร) ความจริง คณะกรรมการและเจ้าหน้าที่วัฒนธรรมระดับจังหวัดน่าที่จะบันทึกเรื่องราวของบุคคลที่สร้างสรรค์ผลงานให้กับจังหวัด ท้องถิ่นของตนเอาไว้อย่างครบถ้วน จะได้เอาไว้บอกพวกที่ไม่รับรู้ ได้เปิดหูเปิดตาออกมารับรู้บ้าง

- องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์กรนี้ให้การสนับสนุนดี-ดีมาก จัดสรรงบประมาณให้เด็กๆ ได้แสดงออกอย่างเป็นรูปธรรม (เป็นแบบอย่างที่ประทับใจ) และผมได้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานหลายครั้ง แต่ว่า อบจ. จะต้องดูแลในหลายเรื่อง จะให้ช่วยเหลือโครงการที่เกี่ยวกับเพลงพื้นบ้าน เพลงท้องถิ่นอย่างเดียวก็คงไม่ได้ แต่เท่าที่ได้สัมผัสองค์กรนี้ก็นับว่า ให้ความสนใจงานด้านนี้ดีมาก ไม่เคยปฏิเสธเรื่องของการสนับสนุนงานการศึกษาและวัฒนธรรมท้องถิ่น

- หน่วยงานที่อยู่เหนือขึ้นไป มีหลายองค์กรที่สามารถจัดสรรงบประมาณ ดำเนินงาน ให้นโยบายในการที่จะเข้าสู่การผลักดัน เสริมแรงให้เยาวชนหันมาให้ความสนใจและร่วมรักษาเอกลักษณ์ของท้องถิ่น แต่ที่น่าเสียดายคือ การสนับสนุนงบประมาณไม่ตรงไปยังคนทำงาน ไม่มีการสืบค้นหาคนที่เดินดิน ย่ำเท้าอยู่กับที่ แต่ผลงานเดินหน้าไปไกลกว่าที่จะกลับมามองย้อน  ให้เริ่มต้นใหม่ได้

หน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ในทุกระดับจึงมีส่วนในการผลักดันให้ความสนใจในเรื่องของศิลปะท้องถิ่น ถ้าขืนปล่อยให้บุคคลไม่กี่คน ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของท้องถิ่นรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ ทางด้านศิลปะและวัฒนธรรมดั้งเดิมเพียงลำพังมานานนับสิบ ยี่สิบ สามสิบ สี่สิบปี พวกเขาเหล่านั้นไม่เคยได้รับการสนับสนุน ไม่ได้รับกำลังใจ ไม่มีแม้แต่เกียรติยศให้การยกย่องชมเชย สิ่งที่ได้รับคือ ผมไม่รู้จัก เขาไม่มีคณะเล่น ไม่ได้รับงานเป็นอาชีพ ไม่สามารถด้นกลอนสดได้จริง ถึงได้ก็ยังไม่เก่งเท่า.... ชื่อเสียงยังไม่ถึงขั้น และ ฯลฯ (ทั้งที่สิ่งที่เขาสงสัยมีครบทุกอย่างและสมบูรณ์แบบในบุคคลผู้นั้นด้วย) แล้วจะเอากำลังใจที่ไหนมาทำงาน

 

ท่านคิดว่า ยังมีวิธีการใด ๆ บ้าง ที่จะทำให้หน่วยงานหรือองค์กรมองเห็นความสำคัญในการรณรงค์ให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจและร่วมรักษาเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของท้องถิ่นเอาไว้ให้จงได้

 

(ติดตามตอนที่ 6  ทำอย่างไร เยาวชนไทยจึงจะหันกลับมาสนใจเอกลักษณ์ของท้องถิ่น)

หมายเลขบันทึก: 261215เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2009 21:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท