นักวิจัยที่ดี


ลักษณะของนักวิจัยที่ดี ต้องมีความซื่อสัตย์ ต่อการเก็บ จัดกระทำ และแปลผลข้อมูล

ลักษณะของนักวิจัยที่ดี 

       การวิจัยเป็นงานที่มีระบบระเบียบเพื่อสร้างสรรค์ความรู้ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ดังนั้นผู้ที่จะเป็นนักวิจัยได้ดีจะต้องได้รับการฝึกหัดที่ถูกต้อง  และมีความรับผิดชอบสูงดัง ได้สรุปลักษณะของนักวิจัยที่ดีไว้  6 ประการ ดังนี้ 

       1. กรณีที่นักวิจัยต้องการนำข้อความรู้ความคิดเห็นหรือข้อค้นพบของบุคคล อื่นมาใช้ประโยชน์ จะต้องอ้างอิงแหล่งที่มาของข้อความรู้หรือบุคคลที่เป็นผู้ค้นพบข้อความรู้นั้นๆ 
      2. นักวิจัยจะต้องวิเคราะห์ข้อมูลและรายงานผลการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาจะต้องไม่มีการบิดเบือนปิดบัง ตกแต่ง หรือกำหนดตัวเลขค่าสถิติ ขึ้นเองโดยไม่มีการเก็บข้อมูลต่างๆ มาจริง 
       3  นักวิจัยจะต้องรายงานผลการวิจัยอย่างตรงไปตรงมาใช้ภาษาที่ผู้อ่านเข้าใจความหมายได้ถูกต้องชัดเจน ไม่ปิดบังซ่อนเร้นหรือเขียนรายงานการวิจัยให้เกิดประโยชน์แก่บุคคลกลุ่มใดๆ โดยไม่มีผลการวิจัยที่สามารถยืนยันได้อย่างชัดเจน 
       4. ก่อนที่นักวิจัยจะเก็บข้อมูลจากบุคคล หน่วยงาน หรือสถาบันใด ๆ จะ ต้องมีการติดต่อขออนุญาตล่วงหน้า และลงมือเก็บรวบรวมข้อมูลหลังจากที่ได้รับอนุญาตแล้ว 
       5. นักวิจัยจะต้องไม่กระทำการใดๆ ในลักษณะของการบังคับจิตใจหรือ ฝืนความรู้สึกของผู้ให้ข้อมูล และทำการวิจัยในลักษณะทดลองจะต้องได้รับการยินยอมจากผู้เข้ารับการทดลอง 
       6. ในการรายงานผลการวิจัย   นักวิจัยจะรายงานผลการวิเคราะห์ในลักษณะของผลรวมทั้งหมด  ไม่นำเอาข้อมูลเฉพาะบุคคลมาเปิดเผยหรือกล่าวอ้างชื่อของบุคคลที่ให้ข้อมูล 

 

คุณสมบัติที่สำคัญ ๆ ของผู้ที่เป็นนักวิจัย  

               เนื่องจากงานวิจัยเป็นงานหนัก เป็นการค้นคิดเพื่อแก้ปัญหา เป็นกระบวนการสร้างสรรค์ทางปัญญาของมนุษย์ ดังนั้น นักวิจัย (Researcher) หรือผู้ที่ประสบความสำเร็จในงานวิจัยจึงมักจะมีบุคลิกภาพ และความสามารถตามที่รวบรวมได้ดังนี้คือ


     
1. ในด้านอารมณ์หรือทัศนคติ ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการวิจัยนั้นมักจะมีความมุ่งหวัง และแรงขับทางอารมณ์ต่าง ๆ ดังนี้ คือ
                1.1 มีแรงกระตุ้นเตือนภายในตัวเอง อันเกิดขึ้นจากความอยากรู้อยากเห็นมากเป็นพิเศษ
                1.2 เป็นคนที่มีความสุข เพลิดเพลินต่อการงานคิดสร้างสรรค์ของใหม่
                 1.3 เป็นบุคคลที่มีแรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ (Achievement Motive) หรือเป็นคนที่มุ่งหวังหรือต้องการจะทำอะไรให้สำเร็จมาก เพราะคิดว่าผลงานนั้นจะมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น


     
2. ในทางความรู้ความสามารถ มักจะมีลักษณะเด่น ๆ ในทางความรู้ที่มีประสิทธิภาพ คือเป็นความรู้ที่ใช้งานแต่มิใช่ความรู้ที่เก็บสะสมไว้ ได้แก่
                 2.1 เป็นผู้ที่มีความสามารถในการค้นหา เลือก และใช้ผลงานการวิจัยของคนอื่นได้อย่างดีและรวดเร็ว
                2.2 เป็นคนที่มีความรู้และทักษะในการใช้แบบแผนการวิจัย (Research Design) วิธีการทางวิทยาศาสตร์ และทักษะในการใช้หลักตรรกวิทยาในการแก้ปัญหา
                2.3 เป็นคนที่มีความรู้และทักษะในการใช้เครื่องมือการวิจัยประเภทต่าง ๆ
                 2.4 เป็นคนที่มีความรู้และทักษะในวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล วิธีการทางสถิติวิเคราะห์
                 2.5 เป็นคนที่มีความสามารถในการสรุปความคิดให้เป็นข้อยุติ แล้วนำไปใช้อ้างอิงได้อย่างกว้างขวาง (Generalization)
                2.6 เป็นคนที่มีความสามารถในการตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์และคาดคะเนได้
                2.7 เป็นคนที่มีระบบในการทำงาน โดยทำงานมีระเบียบ และสามารถจัดหมวดหมู่ของความคิดสามารถเขียนรายงานการวิจัยได้ดี


      
3. ในด้านความสามารถในการตัดสินใจ ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการวิจัยมักจะมีความสามารถในการเลือกกระทำ หรือสามารถตัดสินใจดี เช่น
                3.1 เป็นคนที่กล้าคิด
                3.2 เป็นคนที่อดทน
                3.3 เป็นคนใจกว้าง รับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
                3.4 เป็นคนที่ถ่อมตน รอบคอบ สุภาพต่อคนทั่วไป ไม่ใช้อารมณ์ในการตัดสินใจ แต่ใช้ปัญญาที่รอบคอบในการ ตัดสินใจทุก ๆ อย่าง
                3.5 เป็นคนที่มีแรงศรัทธาในปัญญา และมีรสนิยมในทางวิทยาศาสตร์ นั่นคือ เป็นผู้ยึดมั่นในหลักวิชาที่ดีงามและ ยุติธรรม
                3.6 เป็นคนที่มีความคิดเป็นอิสระและทำงานไปในทางที่ดีงาม
                3.7 เป็นคนที่ประมาณตัวเองได้ คือรู้ฐานะแห่งตน รู้กำลังของตน รู้ขอบเขตของตน
                3.8 เป็นคนที่มีความสามารถในการควบคุมตัวเองให้เป็นไปตามหลักวิชาที่ดีงามและยุติธรรม
                3.9 เป็นผู้ที่มีความเชื่อมั่นในกฎเกณฑ์ธรรมชาติ เชื่อมั่นตามหลักเหตุผล
                3.10 เป็นคนที่มีความหวังที่จะเห็นผลงานวิจัยอยู่เสมอ
                คุณสมบัติทั้งหมดที่กล่าวมาแล้วนี้นับได้ว่าเป็นลักษณะที่เด่น ๆ โดยเฉพาะของนักวิจัยผู้ที่ประสบความสำเร็จทางการวิจัย ซึ่งสมาคมการวิจัยแห่งสหรัฐอเมริกาได้รวบรวมไว้  ดังนั้นถ้าท่านต้องการเป็นนักวิจัยที่มีคุณสมบัติ  ิและความสามารถดังกล่าวมาแล้ว ก็ควรจะได้ฝึกฝนตนเองในด้านต่าง ๆ เท่าที่จะกระทำได้

จรรยาบรรณนักวิจัย   

                คณะกรรมการบริหารสภาวิจัยแห่งชาติิ ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2541 ได้กำหนดจรรยาบรรณนักวิจัยขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวหลักเกณฑ ์ควรประพฤติของนักวิจัยทั่วไป ไม่ว่าสาขาวิชาการใด ๆ โดยให้มีลักษณะเป็นข้อพึงสังวรณ์คุณธรรม และจริยธรรมในการทำงานวิจัยของนักวิจัยไทย ดังนี้ (สภาวิจัยแห่งชาติ , 2541)


                 “นักวิจัยหมายถึง ผู้ที่ดำเนินการค้นคว้าหาความรู้อย่างเป็นระบบ เพื่อตอบประเด็นที่สงสัย โดยมีระเบียบวิธีอันเป็นที่ยอมรับในแต่ละศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ระเบียบวิธีดังกล่าวจึงครอบคลุมทั้งแนวคิด มโนทัศน์ และวิธีการที่ใช้ในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

 

                 “จรรยาบรรณหมายถึง หลักความประพฤติอันเหมาะสม แสดงถึงคุณธรรมและจริยธรรมในการประกอบอาชีพ ที่กลุ่มบุคคลแต่ละสาขาวิชาชีพประมวลขึ้นไว้เป็นหลักเพื่อให้สมาชิกในสาขา วิชาชีพนั้น ๆ ยึดถือปฏิบัติเพื่อรักษาชื่อเสียงและส่งเสริมเกียรติคุณของสาขาวิชาชีพของตนจรรยาบรรณในการวิจัย จัดเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระเบียบวิธีวิจัย เนื่องด้วยในกระบวนการค้นคว้าวิจัย นักวิจัยจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องใกล้ชิดกับสิ่งที่ศึกษา ไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิต การวิจัยจึงอาจส่งผลกระทบในทางลบต่อสิ่งที่ศึกษาได้หากผู้วิจัยขาดความรอบคอบระมัดระวัง การวิจัยเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางแผน และกำหนดนโยบายในการพัฒนาประเทศทุกด้าน โดยเฉพาะในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ ผลงานวิจัยที่มีคุณภาพขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถของ นักวิจัยในเรื่องที่จะศึกษา และขึ้นอยู่กับคุณธรรมจริยธรรมของนักวิจัยในการทำงานวิจัยด้วย ผลงานวิจัยที่ด้อยคุณภาพด้วยสาเหตุใดก็ตาม หากเผยแพร่ออกไป อาจเป็นผลเสียต่อวงวิชาการและประเทศชาติได้


                ด้วยเหตุนี้สภาวิจัยแห่งชาติจึงกำหนดจรรยาบรรณนักวิจัยไว้เป็นแนวทางสำหรับนักวิจัยยึดถือปฏิบัติ เพื่อให้การดำเนินงานวิจัยตั้งอยู่บนพื้นฐานของจริยธรรมและหลักวิชาการที่เหมาะสม ตลอดจนประกันมาตรฐานของการศึกษาค้นคว้า ให้เป็นไปอย่างสมศักดิ์ศรีและเกียรติภูมิของนักวิจัยไว้ 9 ประการ ดังนี้

                1. นักวิจัยต้องซื่อสัตย์และมีคุณธรรมในทางวิชาการและการจัดการนักวิจัยต้องมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ไม่นำผลงานของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่ลอกเลียนงานของผู้อื่น ต้องให้เกียรติ และอ้างถึงบุคคลหรือแหล่งที่มา ของข้อมูลที่นำมาใช้ในวิจัย ต้องซื่อตรงต่อการแสวงหาทุนวิจัย และมีความเป็นธรรมเกี่ยวกับผลประโยชน์ที่ได้จากการวิจัย
                2. นักวิจัยต้องตระหนักถึงพันธกรณีในการทำงานวิจัย ตามข้อตกลงที่ทำไว้กับ หน่วยงานที่สนับสนุนการวิจัย และต่อหน่วยงานที่ตนสังกัด นักวิจัยต้องปฏิบัติตามพันธกรณีและข้อตกลงการวิจัยที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน อุทิศเวลาทำงานวิจัยให้ได้ผลที่ดีที่สุดและเป็นไปตามกำหนดเวลา มีความรับผิดชอบ ไม่ละทิ้งงานระหว่างดำเนินการ
                3. นักวิจัยต้องมีพื้นฐานความรู้ในสาขาวิชาการที่ทำวิจัย  นักวิจัยต้องมีพื้นฐานความรู้ในสาขาวิชาการที่ทำวิจัยอย่างเพียงพอ และมีความรู้ความชำนาญ หรือมีประสบการณ์เกี่ยวเนื่องกับเรื่องที่ทำวิจัย เพื่อนำไปสู่งานวิจัยที่มีคุณภาพ และเพื่อป้องกันปัญหาการวิเคราะห์ การตีความ หรือการสรุปที่ผิดพลาด อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่องานวิจัย
                 4. นักวิจัยต้องมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่ศึกษาวิจัย ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต นักวิจัยต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ ระมัดระวัง และเที่ยงตรงในการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับคน สัตว์ พืชศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากร และสิ่งแวดล้อม มีจิตสำนึกและมีปณิธานที่จะอนุรักษ์ ศิลปวัฒนธรรม ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

                 5. นักวิจัยต้องเคารพศักดิ์ศรี และสิทธิของมนุษย์ที่ใช้เป็นตัวอย่างในการวิจัยนักวิจัยต้องไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ทางวิชาการจนละเลยและขาดความเคารพในศักดิ์ศรีของเพื่อนมนุษย์ ต้องถือเป็นภาระหน้าที่ที่จะอธิบายจุดมุ่งหมายของการวิจัยแก่บุคคลที่เป็นกลุ่ม ตัวอย่าง โดยไม่หลอกลวงหรือบีบบังคับ และไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล
                  6. นักวิจัยต้องมีอิสระทางความคิด โดยปราศจากอคติในทุกขั้นตอนของการทำวิจัย นักวิจัยต้องมีอิสระทางความคิด ต้องตระหนักว่า อคติส่วนตน หรือความลำเอียงทาง วิชาการ อาจส่งผลให้มีการบิดเบือนข้อมูลและข้อค้นพบทางวิชาการ อันเป็นเหตุให้เกิดผลเสียหายต่องานวิจัย
                 7. นักวิจัยพึงนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในทางที่ชอบ นักวิจัยพึงเผยแพร่ผลงานวิจัยเพื่อประโยชน์ทางวิชาการและสังคม ไม่ขยายผลข้อค้นพบจนเกินความเป็นจริง และไม่ใช้ผลงานวิจัยไปในทางมิชอบ
                 8. นักวิจัยพึงเคารพความคิดเห็นทางวิชาการของผู้อื่น นักวิจัยพึงมีใจกว้าง พร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลและขั้นตอนการวิจัย ยอมรับฟังความ คิดเห็นและเหตุผลทางวิชาการ ของผู้อื่น และพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไขงานวิจัยของตนให้ถูกต้อง
                9. นักวิจัยพึงมีความรับผิดชอบต่อสังคมทุกระดับ  นักวิจัยพึงมีจิตสำนึกที่จะอุทิศกำลังสติปัญญาในการทำวิจัย เพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ เพื่อความเจริญและประโยชน์สุขของสังคมและมวลมนุษยชาติ

 

หมายเลขบันทึก: 261213เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2009 20:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท