คุณอำนวย เบอร์ 2 (1)


จากความไม่ชัดเจน และไม่มีใครที่จะเป็นผู้จุดประกายในเรื่องดังกล่าว ทำให้เกิดคุณอำนวยมือสอง ขึ้นมาครับ

  บันทึกฉบับนี้ผมได้ลองเขียนทบทวนการทำประกันคุณภาพของสำนักงานเลขานุการ ที่ผมมีส่วนรับผิดชอบอยู่ จากการทำประกันคุณภาพที่มีความไม่ชัดเจนในบางองค์ประกอบ ทำให้ผมได้เรียนรู้เครื่องมือของ KM จากรศ.มาลินีในการนำมาประยุกต์ใช้ในการประกันคุณภาพ และได้ฝึกหัดการเป็นคุณอำนวย เบอร์ 2  คุณธวัชได้ให้ผมช่วยเขียนเล่าประสบการณ์ในการเป็นคุณอำนวยส่งให้ ส.ค.ส. ผมนั่งเขียนไปเขียนมาเยอะอยู่เหมือนกัน แต่ฉบับที่จะส่งให้ส.ค.ส. ต้องให้กระชับกว่านี้ครับ (ผมเขียนน้ำเยอะไปหน่อย)

  ก้าวแรกกับการประกันคุณภาพ 

  

   คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นหน่วยงานที่ผมได้เริ่มเข้ามาปฏิบัติงานครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2541 ในขณะนั้นคณะสหเวชศาสตร์ยังเป็นโครงการจัดตั้ง ผมสอบบรรจุเข้ามาในตำแหน่งเจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป ทางมหาวิทยาลัยนเรศวร มีการเปิดสอบบรรจุเข้ารับราชการ 4 ตำแหน่ง คือ เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป 2 อัตรา และพนักงานการเงินและบัญชี 2 อัตรา ซึ่งสังกัดโครงการจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ และโครงการจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ เดิมผมปฏิบัติงานพัสดุอยู่ที่กองคลัง ของมหาวิทยาลัย (ขณะนั้นเรียกว่างานคลังและพัสดุ)

   ผมได้บรรจุที่โครงการจัดตั้งคณะสหเวชศาสตร์ โดยที่ผมเองก็ไม่รู้ว่าสหเวชศาสตร์ คืออะไร สำหรับผมไม่เลือกที่ทำงาน ที่ไหนก็ได้ ผมพร้อมที่จะทำงาน  คณะสหเวชศาสตร์เดิมยังไม่มีสถานที่ทำงาน ใช้ที่ทำการชั่วคราวของคณะเภสัชศาสตร์ เป็นสถานที่ทำงาน เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ที่คณะสหเวชศาสตร์ ในขณะนั้น มี 3 คน คุณชรินทร์ ร่วมชาติ เป็นเจ้าหน้าที่คนแรกของคณะ ผมกับคุณถนอม รุ่งเรือง (ปัจจุบันชื่อคุณรวิศสกุล) มาทำงานที่หลัง ตอนนั้นการทำงานผมไม่รู้เรื่องของการประกันคุณภาพเลยครับ และงานของคณะเยอะมาก แต่ละคนรับผิดชอบในหลายหน้าที่ สิ่งอำนวยความสะดวกในคณะยังไม่พร้อม

    การประกันคุณภาพการศึกษา ตอนแรกทำในระดับคณะ เริ่มต้นจากการทำประเมินตนเอง (Self Study Report) วิเคราะห์ถึงจุดแข็ง จุดอ่อน ของหน่วยงาน ในปี 2544 คณะกรรมการประเมินตรวจสอบได้เห็นควรให้หน่วยงานย่อยในคณะทำการประเมินตนเองด้วย สำนักงานเลขานุการคณะสหเวชศาสตร์ จึงได้เริ่มมีการประเมินการประกันคุณภาพของหน่วยงานในปี 2545 และเป็นปีแรกที่ได้มีการย้ายสถานที่ทำงานชั่วคราวจากคณะเภสัชศาสตร์ มาอยู่สถานที่ใหม่เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2545

     การประเมินการประกันคุณภาพ ครั้งแรกสำนักงานได้ประเมินตามองค์ประกอบของหน่วยงานสายสนับสนุน มหาวิทยาลัยได้กำหนดเกณฑ์ในการประเมินของหน่วยงานสายสนับสนุน 4 องค์ประกอบ คือ องค์ประกอบที่ 1 ปรัชญา ปณิธาน วัตถุประสงค์ องค์ประกอบที่ 7 การบริหารจัดการ องค์ประกอบที่ 8 การเงินและงบประมาณ องค์ประกอบที่ 9 ระบบและกลไกในการประกันคุณภาพ สำหรับสำนักงานเลขานุการคณะสหเวชศาสตร์ ได้ประเมินในองค์ประกอบที่ 7  และ 9 โดยใช้รอบระยะเวลาการประเมินในปีงบประมาณ เหมือนกับหน่วยงานสายสายสนับสนุนที่สังกัดสำนักงานอธิการบดี การประเมินครั้งแรกผมรู้สึกตื่นเต้นเหมือนกัน เพราะเป็นครั้งแรกของหน่วยงาน กรรมการที่มาประเมินจากภายนอก คือ คุณธงชัย แสงจันทร์ หัวหน้างานติดตามและประเมินผล และคุณจิระพงษ์ พงศ์นิมิตประเสริฐ หัวหน้าหน่วยตรวจสอบภายใน ซึ่งเป็นกรรมการจากภายนอกหน่วยงาน ส่วนใหญ่กรรมการที่มาประเมินผมรู้จักเป็นอย่างดี มีการแซวกันบ้างในตอนที่ผมรายงานการประเมินตนเอง ทางสำนักงานส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยสนับสนุนที่จัดเตรียมข้อมูลในระดับคณะ ให้กรรมการมาตรวจสอบ แต่ตอนนี้เป็นการประเมินของหน่วยงานตัวเอง

      การประเมินการประกันคุณภาพ สำนักงานเลขานุการ ครั้งที่ 2 ได้มีการประเมินองค์ประกอบเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มองค์ประกอบที่ 1 7 8 และ 9 มีการปรับเปลี่ยนรอบระยะเวลาที่ใช้ในการประเมินจากรอบปีงบประมาณ เป็นรอบปีการศึกษาให้เหมือนกับคณะ ตอนนั้นหลายคนเริ่มสับสนกับภารกิจหลักของสำนักงานเลขานุการ ว่าคืออะไร และสนใจที่จะทำการประกันคุณภาพของสำนักงานเลขานุการในองค์ประกอบที่ 10 คือภารกิจหลัก

      จุดเริ่มต้นของคุณอำนวย เบอร์ 2 

      การประเมินการประกันคุณภาพ สำนักงานเลขานุการ ครั้งที่ 3 สำนักงานมีความมุ่งมั่นจะประเมินการประกันคุณภาพในองค์ประกอบที่ 10 ภารกิจหลัก เพราะการประกันคุณภาพในองค์ประกอบที่ 1 7 8  และ 9 ยังไม่สามารถทำให้ทุกคนมีความรู้สึกว่าการประกันคุณภาพเป็นส่วนหนึ่งในงานประจำที่ทำ มีการระดมความคิดเห็นกันในคณะกรรมการประกันคุณภาพของสำนักงานเลขานุการ และไปดูงานหน่วยงานของสำนักงานเลขานุการที่มีการทำประกันคุณภาพในองค์ประกอบที่ 10 เช่น สำนักงานเลขานุการคณะวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานเลขานุการคณะเกษตรศาสตรฯ และได้เกณฑ์ที่เน้นกระบวนการ คือ P D C A ของแต่ละงานในสำนักงานเลขานุการ คณะกรรมการประกันคุณภาพของคณะ เห็นว่าเกณฑ์ดังกล่าวยังไม่สามารถเป็นตัวบ่งชี้ในการประกันคุณภาพได้ และกระแส กพร. เกี่ยวข้องกับหน่วยงานสายสนับสนุน ผู้บริหารเสนอแนะว่าควรนำแนวทางของกพร.มาใช้ในการจัดทำเกณฑ์การประเมิน หลายคนในสำนักงานยังไม่ค่อยมีความรู้เกี่ยวกับ กพร. งานนี้ผมจึงรับผิดชอบในการไปทำตุ๊กตามาให้ทุกคนช่วยกันพิจารณา เพื่อเสนอคณะกรรมการประกันคุณภาพของคณะฯ แนวทางดังกล่าวคณะกรรมการประกันคุณภาพของคณะฯ เห็นว่าเริ่มเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับสำนักงานแล้ว แต่เห็นควรให้ไปปรับปรุงต่อ การดำเนินการดังกล่าวในการพัฒนาเกณฑ์ในการประกันคุณภาพในองค์ประกอบที่ 10 ภารกิจหลักของสำนักงานเลขานุการภายในคณะ ได้ใช้เวลาในการพิจารณากันพอสมควร แต่ยังไม่ได้แนวทางที่ชัดเจน หลายคนในสำนักงานเริ่มท้อ และปล่อยให้ผมรับผิดชอบ จากความไม่ชัดเจน แต่ละสำนักงานเลขานุการมีแนวทางที่แตกต่างกันไปในการทำประกันคุณภาพในองค์ประกอบที่ 10 สายสนับสนุนส่วนใหญ่ จะดำเนินการอะไรก็ตามต้องได้รับการสั่งการจากผู้บริหาร มากกว่าด้วยการทำด้วยการคิด ริเริ่มของตนเอง จากความไม่ชัดเจน และไม่มีใครที่จะเป็นผู้จุดประกายในเรื่องดังกล่าว ทำให้เกิดคุณอำนวยมือสอง ขึ้นมาครับ

บอย

ชุมชนสำนักงานเลขานุการ

คำสำคัญ (Tags): #okm#qa#คุณอำนวย
หมายเลขบันทึก: 26021เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2006 09:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท