ประชุมร่วมกับ อาจารย์แพทย์พยาบาล เรื่องตัวชี้วัด โรงเรียนแพทย์ (ตอนที่ 6)


วิธีการ empowerment นั้น คงหาดูจากตำราเล่มไหนก็ได้ สิ่งที่สำคัญจริงๆ คือ หลักคิด และเจตนา เพราะ กระบวนการเพิ่มพลังอำนาจ มีเส้นแบ่งกั้นกลางอยู่นิดเดียว ระหว่างการอาจถูกมองว่า สร้างความเชื่อมั่น หรือ การปัดภาระ ก็ได้ ขึ้นอยู่กับเจตนา ความจริงใจ หลักคิดของผู้ปฏิบัติ

สุขภาพ

คำที่สาม คือ สุขภาพ ซึ่งแปลตรงตัวว่า สุขภาวะ มีความหมายในเชิงบวกโดยตัวของมันเอง จึงบอกได้ทันทีว่าไม่มีคำว่า สุขภาพดี หรือ สุขภาพไม่ดี  มีแต่ เพิ่มขึ้น” “ลดลง แต่เรื่องการใช้คำคงไม่ใช่ประเด็นที่ต้องใส่ใจอะไรนักเพราะเราคุ้นเคยกันมาอย่างนี้ แต่ประเด็นที่สำคัญอยู่ตรงที่ว่าจะได้ยินอยู่เสมอว่า ผู้ป่วยรายนี้รายนั้นยังทำส่งเสริมสุขภาพไม่ได้เพราะยังมีอาการป่วยหนักอยู่ นั่นคือ คนพูดเข้าใจว่าการส่งเสริมสุขภาพคือ การให้สุขศึกษา นี่คือปัญหา การที่ผู้ป่วยเห็นเรายิ้มหรือรับรู้ว่าบุคลากรของรพ.มีความเอื้ออาทร ความสุขความหวังความมั่นใจก็เริ่มเกิดขึ้นมาแล้ว ท่านอาจารย์ประเวศเคยสอนว่าคนป่วยใกล้ตายก็ยังมีสุขภาพดีขึ้นได้ คำที่มีมานานคือนอนตายตาหลับ คือ แม้จะตายในวันสองวันนี้ ก็ไม่มีความกังวลใจ เนื่องจากมีความพร้อมความเข้าใจเรื่องเกิดแก่เจ็บตาย หรือ ภาระความคาดหวังความกังวลเรื่องต่างๆคลี่คลายไปแล้ว นั่นคือ สุขภาพของคนป่วยคนนี้ แม้สุขภาพกายจะบกพร่องแต่สุขภาพจิตใจสังคมอารมณ์นั้นดีมาก นี่คือหลักการที่ต้องให้ลูกศิษย์เห็นว่า การมีสุขภาพดีไม่ใช่แค่ไม่ป่วย แต่ยังมีมุมมองด้านจิตใจ สังคม อารมณ์ จิตวิญญาณอีกด้วย” “การส่งเสริมสุขภาพไม่ใช่การให้สุขศึกษา
       

         อีกประเด็นที่สำคัญที่สะท้อนกระบวนทัศน์ของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่คลาดเคลื่อนมานานคือ ความคิดที่ว่า สุขภาพของประชาชนเป็นเรื่องและหน้าที่ของเราชาวสาธารณสุข ประเด็นนี้ประโยชน์ไม่ผิดซะทีเดียวแต่ตีความกันคนละทาง อันที่จริงแล้ว สุขภาพเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล และสิ่งแวดล้อมของเขา อย่างที่เรามักท่องจำมาพูดคุ้นหูกันว่า สุขภาพหาซื้อไม่ได้ อยากได้ต้องสร้างเอง เราไม่มีทางที่จะทำให้ผู้ป่วยติดเหล้าคนใดคนหนึ่งตัดสินใจไม่ยกแก้วเหล้าขึ้นดื่มอีกในวันพรุ่งนี้ เราทำได้เพียงช่วยเขาเมื่อมีอาการป่วยมา ช่วยให้พ้นสภาวะที่คุกคามรุนแรงจนต้องมานอนรพ.  แม้จะไปเยี่ยมบ้านได้สองสามครั้ง  ก็คงดูแลห้ามปรามกันไม่ได้ 24ชั่วโมง 365 วัน สิ่งที่เราควรทำและเป็นหน้าที่ ก็คือ การให้ความรู้อย่างเพิ่มพลังอำนาจให้เกิดองค์ความรู้ ความเข้าใจสถานการณ์ของตนเองและโรคที่เป็น สนับสนุนให้เกิดการตัดสินใจที่จะแก้ไขปัญหาด้านพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรค นั่นคือ หน้าที่ที่แท้จริง ในฐานะผู้สนับสนุน เสนอทางเลือก ด้วยการเพิ่มพลังอำนาจ อย่างจริงจัง จริงใจ ต่างหาก

สิ่งแวดล้อม

        คำที่สี่ คือ สิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมในความเข้าใจและมุมมองของผู้บริหารบางท่าน คือ ความสวยงามดูดี หรือควบคุมการกำจัดขยะ บ่อน้ำเสียได้เท่านั้น บางรพ.เอาปลาไปเลี้ยงในบ่อน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วเพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่าน้ำที่ผ่านการบำบัดปลอดภัย จนชาวบ้านไปหย่อนเบ็ดจับปลา เพราะกลับไปเข้าใจว่าปลาในบ่อนี้กินได้ บางแห่งต่อท่อน้ำทิ้งที่บำบัดแล้วไปรดน้ำต้นไม้ ชาวบ้านก็เปิดเอาน้ำไปล้างหน้าล้างมือ ล้างถ้วยชาม หรือแม้แต่บริโภค เพราะเขาไม่เข้าใจแบบที่เราอยากให้เข้าใจ ที่รพ.หนึ่งพยายามปรับปรุงสิ่งแวดล้อมให้ดูดี ลงทุนปรับพื้นที่ทางเดินขรุขระเป็นดินลูกรัง ให้เป็นปูนซีเมนต์ขัดมันสวยงาม ลานเดินออกกำลังปูด้วยหินแกรนิตสวยงาน แต่พอฝนตกก็ลื่นเสียจนไม่สามารถเดินได้สะดวก แถมเกิดอุบัติเหตุลื่นล้มเป็นความเสี่ยงเข้าอีก ท้ายสุดท้ายก็ต้องทุบทิ้งอย่างน่าเสียดาย เพราะฉะนั้น สวย ดี แพงไม่ได้หมายความว่า ใช่เสมอไป บางครั้งทำดีเข้ามาก็เกิดอาการหวง ทะนุถนอมจนลืมว่า มีไว้ใช้ไม่ใช่ไว้ชื่นชมเป็นบุญตา เช่นที่ทำห้องฟิตเนสซื้อข้าวของมากมายหลายแสน แต่กุญแจห้องอยู่ที่ ผู้อำนวยการ เสียนี่
สิ่งที่ทำให้ ใช่หรือเปล่า
รพ.หนึ่ง มีการพัฒนาสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนสุขภาพ โดยจัดทำสนามบาส 2 สนาม สนามฟุตบอล ห้องฟิตเนส ห้องคาราโอเกะ มีสวนหย่อม ลู่วิ่ง  มีการตรวจสุขภาพของ จนท. มีการเต้นแอโรบิค ประเมินความเครียดและให้ทำสมาธิแก้เครียด  ตัวชี้วัดที่ภาคภูมิใจคือ เจ้าหน้าที่ของรพ.สามารถวิ่งระยะ 10 กม.รวดเดียวได้ถึง 20 คน และสามารถวิ่ง 25 กิโลเมตร รวดเดียวได้ 5 คน
       สิ่งที่ พบจริง
  • อัตราการใช้สนามกีฬาของ จนท.เป็น ศูนย์
  • สวนหย่อม สวยงาม ลงทุนสูง แต่ มีป้ายห้ามเดินผ่าน ห้ามลัดสนาม ห้ามนั่นห้ามนี่อีกมากมาย
  • นอกจากเจ้าหน้าที่ 25คนที่เป็นนักวิ่งแล้ว คนที่เหลือแทบไม่ได้ออกกำลังกายเลย  หรือที่มาเต้นแอโรบิคก็สลับผลัดกันมาเต้นให้ชมรมอยู่ได้
  • หลังการเต้นแอโรบิค  มี จนท.ส่วนหนึ่งตั้งวงอาหาร ทานเหล้า ในห้องคาราโอเกะ
  • จนท.ที่เครียด เกิดจากปัญหาหนี้สิน ใน/นอก ระบบ ถูกประเมินว่าเครียดผิดปกติแล้วถูกกำหนดเข้าห้องทำสมาธิ
           
            สิ่งแวดล้อมจึงไม่ใช่มีเพียงด้านโครงสร้างกายภาพเท่านั้น สิ่งแวดล้อมที่สำคัญมากๆแต่ขาดการสนับสนุนอย่างจริงจังและเข้าใจ คือ สิ่งแวดล้อมทางสังคม และสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ เคยตั้งคำถามง่าย ๆ ว่าถ้าผู้ป่วยคนหนึ่งรู้ว่ารพ. A มีความชำนาญเชี่ยวชาญมาก ถ้าเข้าไปรักษาสามารถรับรองได้ว่าคุณภาพการรักษาเป็นเลิศ แต่ขาดสองอย่างคือ รอยยิ้มจริงใจ และวาจาที่รื่นหู กับ รพ. B ที่รักษาได้ตามมาตรฐานรพ.ทั่วไป ที่มีบรรยากาศที่เป็นมิตร แม้จะมีคุณภาพการรักษาธรรมดาไม่แตกต่างจากที่อื่น  ในกรณีที่ป่วยร้ายแรง ผู้ป่วยคงพยายามไปรพ. A แต่ 99% ของคนไม่ใช่ป่วยร้ายแรง คงอยากไป รพ.B มากกว่า  แต่ถ้า รพ.สามารถทำได้ทั้งสองแบบก็คงยิ่งดี
            สิ่งแวดล้อมที่ไปไม่ถึงแก่นของแนวคิดที่สุดคือ สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ทุกรพ.จะมองว่ารพ.มีครบไม่ว่าจะเป็น เสียงตามสาย วิทยุชุมชน โปสเตอร์ แผ่นพับ สอนที่อาคารผู้ป่วยนอก/ใน หรือแม้แต่สื่อวีดีทัศน์  หลายท่านคงจำได้ถึงโปสเตอร์ เอดส์เป็นแล้วตายลูกเดียว สื่อวีดีโอที่เน้นเอาผู้ป่วยเอดส์ระยะสุดท้ายมาให้ชมดูเพื่อสร้างความตระหนักแต่ได้รับความตระหนก และความน่าสะพรึงกลัวแถมไปด้วย ก็คงไม่มีใครผิดเพราะอยากให้ความรู้กับประชาชน  แต่ก็ควรมีมุมมองนอกกรอบบ้างว่า  ตัวผู้ป่วยและญาตินั่นทุกข์พอไม่ว่าจะเป็นจากอาการของโรค หรือการรอคอยการบริการผู้ป่วยที่ปวดท้องมากนั่งรอตรวจคงไม่ค่อยมีอารมณ์ที่จะฟังสารคดีไข้หวัดนก ขอเปลี่ยนเพลง บรรยากาศสบาย ๆ  หรือการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ฉันญาติมิตร ถามสารทุกข์สุกดิบบ้างก็คงจะดีบ้างกระมัง
            รพ.หนึ่งเจอปัญหาผู้ป่วยถูกงูกัด มารพ.ตอนกลางคืนเยอะ ถามผู้ป่วยว่างูอะไร ผู้ป่วยตอบไม่ได้ จะนั่งนับ รอยเขี้ยวก็ไม่มั่นใจ เจ้าหน้าที่จึงเอาตัวอย่างงูที่พบในท้องถิ่นใส่ขวดโหลพร้อมคำอธิบาย ไปตั้งไว้ให้ผู้ป่วยชี้และเรียนรู้ สามารถเอื้อต่อการดูแลรักษาและเอื้อต่อการเรียนรู้ไปโดยปริยาย ดังนั้น รูปแบบการเรียนรู้นั้นมีมากกว่าที่เราคิด แต่ที่สำคัญคือต้องตรงตัว ตรงใจ ตรงเวลา เข้าใจและใช้ปฏิบัติเป็น ซึ่งเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญมากกว่าปริมาณและชนิดของสื่อ
            เคยไปเยี่ยมรพ.หนึ่ง ซึ่งกำลังรณรงค์เรื่องไข้หวัดนกโดยการอัดสื่อประชาสัมพันธ์ทุกรูปแบบรวมทั้ง บอร์ดความรู้ยาวเหยียด ถามชาวบ้านว่าเข้าใจหรือไม่ ชาวบ้านบอกว่าอ่านทีแรกไม่เข้าใจ แต่พยายามอ่านอยู่หลายๆรอบก็พอเข้าใจ ถามว่าเข้าใจว่าอย่างไร สมมติว่ามีไก่ที่บ้านตาย 2 ตัว จะทำอย่างไร ชาวบ้านบอกว่า จะรีบต้มไก่ตัวที่เหลือให้หมด ถามว่าทำไมคิดเช่นนั้น เพราะมีสื่อ 2 ด้าน ที่รัฐบาลใช้แบบทูอินวัน คือ
1.    ถ้ามีไก่ตายให้ทำลายไก่ที่เหลือ ห้ามนำไปบริโภค(กลัวโรคระบาด)
2.    อย่ากลัวการบริโภคไก่ ทำอาหารถ้าไก่สุกจะไม่เป็นอันตราย (กลัวปัญหาทางเศรษฐกิจและการส่งออก)
            ในความเป็นจริงเมื่อพบว่า ไก่ของตนเองตายจำนวนหนึ่งก็นำไปฝังดินหรือเผา แต่ก็รีบจัดการกับไก่ที่เหลืออยู่ โดยเร่งฆ่าไก่แล้วทำไก่ต้ม ไก่ย่างขายที่ตลาดอย่างทันท่วงทีเพราะ อ่านพบว่าไก่สุกรับประทานได้ และก็เพื่อมิให้เสียรายได้ด้วย ท่านคงคิดออกว่า ประชาชนไม่โง่เขลา แต่สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ยังมีความหมายถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างถูกต้อง เข้าใจง่าย ปฏิบัติได้จริง ซึ่ง ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่สำหรับการเรียนการสอนในโรงเรียนแพทย์ ซึ่งเรื่องนี้แทบจะไม่พบเห็นอยู่ในหลักสูตรเลย  จึงไม่ใช่ประเด็นของการหาตัวชี้วัด แต่กลับเป็นว่า จะมองโจทย์ปัญหาประเด็นนี้ให้ได้รับการพัฒนาในโรงเรียนแพทย์ได้อย่างไร

การสร้างสุขภาพ

        คำที่ห้า คือ การสร้างสุขภาพ  ที่ผ่านมามักจะตีความว่าคือการให้สุขศึกษา การบริการตรวจสุขภาพ การออกทำกิจกรรมบริการส่งเสริมสุขภาพ หรือการรณรงค์ต่างๆนานา แต่อันที่จริงแล้วที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นเพียง กิจกรรมสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพและการบริการเท่านั้น อันที่จริงแล้วเนื้อหาสาระที่แท้จริงของการสร้างเสริมสุขภาพก็จะสอดคล้องกับความหมายที่ถูกต้องของ สุขภาพ นั่นคือ เป็นการจัดการเรียนรู้ให้บุคคลโดยเรียนรู้และเข้าใจ ด้วยความเชื่อมั่นใจศักยภาพของบุคคลและชุมชน มุ่งใช้กระบวนเพิ่มพลังอำนาจ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้บุคคล สามารถร่วมคิด ร่วมสร้าง และร่วมทำ จนสามารถเข้าใจ เข้าถึง และปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง จนพร้อมที่จะตัดสินใจเองได้ว่าควรทำควรละ เลิก อะไร แล้วเมื่ออยู่ในครอบครัวก็จะสามารถจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของตนเองได้  ถ้าเราไม่ทำตรงนี้เลย มุ่งแต่สอนกับสอน ให้ครบตามกรอบภารกิจ ตรวจสุขภาพประจำปี หรือให้ยา ที่ผู้รับบริการเป็นอยู่ป่วยอยู่ ก็จะกลับมาเป็นเหมือนเดิมหรือไม่มีอะไรพัฒนาก้าวหน้าทางด้านสุขภาพ ฉะนั้นตัวชี้วัดที่สำคัญอีกตัวหนึ่งคือทำอย่างไรให้เด็กของเรารู้ว่าเขาไม่ใช่ผู้นำ ไม่ใช่ผู้ทำ ไม่ใช่ผู้ให้คำตอบ แต่เขาคือผู้สนับสนุน ผู้เสนอทางเลือก พร้อมเพิ่มพลังอำนาจอย่างเชื่อมั่นและจริงใจ

การเพิ่มพลังอำนาจ 

           การ empowerment หรือการเพิ่มพลังอำนาจ การให้พลังอำนาจ แล้วแต่จะใช้กัน ประเด็นรายละเอียดกระบวนการ วิธีการ empowerment นั้น คงหาดูจากตำราเล่มไหนก็ได้ สิ่งที่สำคัญจริงๆ คือ หลักคิด และเจตนา เพราะ กระบวนการเพิ่มพลังอำนาจ มีเส้นแบ่งกั้นกลางอยู่นิดเดียว ระหว่างการอาจถูกมองว่า สร้างความเชื่อมั่น หรือ การปัดภาระ ก็ได้  ขึ้นอยู่กับเจตนา ความจริงใจ หลักคิดของผู้ปฏิบัติ ยกตัวอย่าง เรื่องการทำแผลเล็กๆน้อยๆที่คิดว่าผู้ป่วยน่าจะทำเองได้  ระหว่างวิธีแรกคือ ทำให้ดูพอเป็นพิธี ปากอธิบายตามตำรา แล้วให้อุปกรณ์เครื่องมือผู้ป่วย ให้กลับไปทำเองที่บ้าน โดยลึกๆอาจมีเจตนาที่ซ่อนเร้นเพื่อผู้ป่วยจะได้ไม่ต้องกลับมาที่รพ.บ่อย ๆ  กับอีกวิธีหนึ่งคือ การสอนสาธิตให้ผู้ป่วยทำได้เอง อย่างช้าๆชัดเจน ภายหลังผ่านการพิจารณาขีดความสามารถของผู้ป่วยแล้ว  โดยมีความเชื่อมั่นว่าเขาทำได้เท่าที่สมควร  และคาดหวังว่าในที่สุดเขาจะมีความรู้ความเข้าใจทักษะเพียงพอที่จะทำแผลตนเองได้จริง
            ทั้งสองวิธีแตกต่างกัน วิธีแรกผู้ป่วยส่วนหนึ่งอาจเข้าใจว่า พวกเราปัดภาระให้ผู้ป่วย  แต่วิธีที่สองผู้ป่วยมักจะเข้าใจถึงความปรารถนาดี และขอบคุณที่พวกเราสอนสิ่งที่ควรทำเป็น จะทำอย่างไรให้ลูกศิษย์ของเรา คิดชอบทำชอบในแบบที่สอง
เมื่อลูกหลานของท่านหัดเดิน
·         ท่านจะอารมณ์เสีย หงุดหงิด ไหม ที่ เขา ต้องพยายามคลาน ลุกยืนบ้าง ล้มบ้าง ร้องไห้บ้าง ร้องให้อุ้มบ้าง โดยมีพัฒนาการไปอย่างช้าๆ
·         ท่านคิดจะอุ้ม เขา ตลอดเวลา เพราะกลัวว่าเขาจะหกล้มไหม ?
·         ท่านพยายาม จูงเขาเดินเตาะแตะ ปล่อยมือให้เดินมาหาหรือ แม้แต่ยืนดูอยู่ห่างๆ
·         ท่านพยายาม จะดูแล จัดแจง บริเวณ สิ่งแวดล้อมรอบๆตัวลูกเรา เคลียร์พื้นที่ไม่ให้มีสิ่งกีดขวาง เอาของที่เป็นอันตรายออก ทำให้เกิดความสะอาด ปลอดภัย  เพื่อให้ ลูก มีความปลอดภัยจากการพลัดตก หกล้ม กระทบกระแทก ซึ่งมักเกิดขึ้นแน่นอน
·         ท่านเชื่อมั่นใช่ไหมว่า เขา จะเดินได้ในที่สุด เมื่อผ่านประสบการณ์ การเรียนรู้ เด็กแทบทุกคนเดินได้เองในที่สุด
            จากตัวอย่างคงไม่มีใครพยายามบอกลูกว่าไม่ต้องเตรียมอะไรเลย พอถึงเวลาแม่จะเป็นคนสาธิตการเดินให้ดูแล้วลูกจะเดินได้ เชื่อว่าคงไม่มีใครทำแบบนี้กับลูก แต่เชื่อหรือไม่ว่าที่ผ่านมาเรากำลังทำแบบนี้กับผู้ป่วย เราสาธิตทุกอย่างตามแบบตามตำรา ตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจนครบ โดยไม่มีการสอบทวนความมั่นใจในสิ่งที่ผู้ป่วยสามารถทำได้จริง  และที่แน่ๆคือเชี่อได้ว่า เราไม่เคยรู้สึกจริงจังจริงใจในการปฏิบัติเท่าที่ควร
           
            มาดูตัวอย่าง ลูกศิษย์เรา เมื่อไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วย post CVA ซึ่งกำลังฝึกเดินใหม่
ตัวอย่างประโยค 1          : คุณลุงขาหนูมีเวลามาได้ 2 ครั้งๆ ละ 15 นาที ต้องพยายามเดินได้นะคะ เพราะหนูคงมาไม่ได้อีกแล้ว  งานเยอะมาก จากนั้นลุงต้องช่วยตัวเองนะคะ
ตัวอย่างประโยค 2          : น่าเสียดายที่หนูมาได้แค่ 2 ครั้งๆ ละ 15 นาทีก็ตาม แต่หนูเห็นคนไข้แบบลุงมาหลายคนแล้ว  บางคนแย่กว่าลุงอีก แต่ที่สุดแล้วเดินได้ทุกคนเลยคะ
            ประโยคแบบนี้เกิดขึ้น ย่อมกระทบและส่งผลต่อจิตใจของผู้ป่วยที่แตกต่าง  คงขึ้นกับหลักคิด เจตนาและความทัศนคติของลูกศิษย์เรา ซึ่งจะสะท้อนออกไปใน ท่าที การกระทำ การใช้คำพูด
            มีนักปราชญ์เขียนไว้ชัดว่า แค่มีความรู้เท่านั้นไม่เพียงพอต้องทำให้ผู้คนมีความมั่นใจว่า สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตของตนเองได้ (John Hubler,2002) ประโยคนี้สามารถตอบคำถามเราได้

การสร้างเสริมพลังอำนาจ เป็นกระบวนการที่ทำให้บุคคลรับรู้ว่าเขามีความสามารถมากน้อยเพียงใดในการควบคุมสถานการณ์ที่เกี่ยวกับตนเองและสิ่งแวดล้อมเพิ่มพูนทักษะ จนเกิดความรู้สึกมีคุณค่า เชื่อมั่น กล้าตัดสินใจและดำเนินการด้วยตนเอง

            บุคคลต้องรับรู้ว่าเขามีความสามารถมากน้อยแค่ไหน คนที่มีขาข้างเดียวต้องคิดให้ได้ในเชิงบวกว่ายังมีขาอีกตั้งหนึ่งข้าง คนที่ขาขาดทั้งสองข้าง จะต้องสามารถยอมรับให้ได้ว่าตัวเองยังมีมืออีกตั้ง 2 ข้าง เป็นต้น
            ผมมักจะถามเสมอว่า NR คืออะไร ลูกศิษย์จะตอบว่า No Resuscitation แต่ในทางปฏิบัติลูกศิษย์เราหลายคนปฏิบัติต่อผู้ป่วยเหล่านี้แบบ No Return ทุกที เขามักถูกมองว่าเป็นผักอยู่บนเตียงทุกครั้งที่ลูกศิษย์เราเดินผ่านแล้วเลยไป และก็รอว่าเมื่อไรญาติจะพากลับบ้านสักที ฉะนั้นงาน HPเป็นงานเชิงบวก ต้องมีความหวัง มีเจตนาที่ดี และเชื่อมั่น พิทักษ์สิทธิตลอดเวลา และที่สำคัญต้องมีความสุขที่ได้กระทำเพราะเราจะไม่มีทางทำให้ประชาชนมีความสุขได้อย่างแท้จริงถ้าตัวเองยังมีแต่ความเป็นทุกข์ 

(ยังมีต่อ)

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 26378เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2006 08:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่าน


ความเห็น
ศูนย์คุณภาพ รพส่งเสริมสุขภาพศูนย์อนามัยที่ 5
อ่านบทความทุกตอนเลยค่ะ เป็นแนวคิดที่ดีมากๆ ขอนำไปใช้ในการดำเนินงาน HPH/HA ด้วยคะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท