อบรมอานาปานสติที่สวนโมกข์นานาชาติ


เกิดมาได้พบกับพุทธศาสนาและได้เกิดทันในยุคของท่านอาจารย์พุทธทาสครับ

ผมเข้าร่วมอบรมอานาปนสติภาวนาที่สวนโมกข์ เมื่อวันที่19-27 เมษายน 2549 มีประสบการณ์และความเห็นสรุปอย่างย่นย่อเล่าสู่กันฟังครับ

กิจกรรมเริ่มตั้งแต่ ตี 4 ตื่นนอนด้วยเสียงระฆังปลุก อาบน้ำออกมาทำวัตรเช้าเวลา4.30น. เวลา 5 น.รายการธรรมะรับอรุณมีหัวข้อธรรมที่อาสาสมัครมาอ่านสู่กันฟัง จากนั้นก็นั่งสมาธิ และออกกำลังกายด้วยโยคะและไทเก๊ก จนถึงเวลาอาหารเช้า 7.30 น. เป็นข้าวต้มเจ เสร็จแล้วก็ทำงานอาสา ปัดกวาด ล้างห้องน้ำ กลับที่พักทำภาระกิจส่วนตัวกัน ผมก็จะไปแช่น้ำร้อนแล้วมาอาบนำเย็นทุกวัน เสร็จแล้ว10.00น.กลับมารวมกันเพื่อฟังเทปธรรมมะของท่านอ.พุทธทาสโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการปฏิบัติคือการทำอานาปนสติภาวนา เสร็จแล้วก็ฝึกปฏิบัติจนถึง11.30น.ทานอาหารเที่ยงเจ กลับที่พักทำภาระกิจส่วนตัว แล้วมารวมกันเวลาบ่าย2 ฟังวิทยากร เทปธรรมะและฝึกปฏิบัติต่อจนถึง5โมงเย็น ดื่มน้ำปานะ กลับที่พักอาบน้ำ(แช่น้ำแร่อีก)แล้วกลับมาทำวัตรเย็น ฝึกปฏิบัติต่อจนถึง3ทุ่มกลับที่พักนอน รายการก็เป็นอย่างนี้ทุกวัน โดยงดเว้นการพูดคุยกัน ถือศีลแปด และมีหนึ่งวันที่ถืออุโบสถศีล ทานมื้อเดียวครับ

สองวันแรกจิตใจของผมยังวิ่งวุ่นมาก วันหลังๆค่อยดีขึ้นหน่อย ที่นี่เน้นการฝึกภาคปฏิบัติโดยใช้อานาปนสติภาวนาเป็นเคล็ดวิชาสำหรับฝึกฝนเพื่อเข้าใจธรรมชาติของสรรพสิ่ง แต่ผมพอทำได้เพียงขั้นที่2-3ของอานาปนสติสูตรเท่านั้น โดยที่ทั้งหมดมี16ขั้นด้วยกัน ในเชิงทฤษฎีโดยใช้การคิดวิเคราะห์ ผมพอเข้าใจอยู่บ้างคือ สิ่งที่เกิดขึ้นและเราคิดว่ามีอยู่นั้นจะผ่านเข้ามาทางอายตนะ6ทางคือตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ 6ทางนี้เปรียบเสมือน สวิสต์เปิดปิดที่มีความเร็วมากยิ่งกว่าสิ่งใดๆที่มนุษย์เราจะจินตนาการได้ วิญญาณที่บังเกิดขึ้นเมื่ออายตนะภายนอกและภายในพบกันนั้นเรียกว่าผัสสะ ถ้าผัสสะโง่ก็จะมีเวทนาเกิดขึ้นซึ่งมีอยู่3แบบคือสุข ทุกข์และไม่สุขไม่ทุกข์มั่วๆอยู่ จากเวทนาก็เป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา และตัณหาก็เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทานคือความยึดติดที่เป็นตัวตนหน่ออ่อนขึ้นมา แล้วก็สร้างภพ ชาติ เป็นความทุกข์ขึ้นมาในจิตใจ

จุดสำคัญคือตรงสวิสต์เปิดปิดที่เร็วมาก ถ้าสติขนปัญญามาไม่ทันก็เสร็จทุกราย คือเป็นเหยื่อของเวทนา ผมลองพิจารณาดูพบว่า อายตนะทั้ง6ของเรารับรู้(สวิสต์)แต่ละครั้งไม่พร้อมกัน แต่เสมือนกับเกิดภาพที่ต่อเนื่องกัน จนเรารู้สึกเหมือนกับว่ามีสิ่งนั้นอยู่จริงก็เพราะการทำงานของกองขันธ์สัญญาและสังขาร เช่นเราหลับตาก็ยังรู้สึกว่ามีเครื่องคอมฯอยู่ตรงหน้า ที่หลับตาแล้วแต่ยังรู้สึกว่ามีเครื่องคอมอยู่ข้างหน้าก็คือผัสสะทางใจหรือธรรมารมณ์นั่นเอง ผัสสะทางตาจะไม่เกิดขึ้นอีกเพราะอายตนะภายในคือตาไม่สามารถทำงานได้

หูของผมได้ยินเสียงเพลง เสียงแอร์และเสียงเด็กวิ่งเล่นกันข้างนอก บางทีก็ได้ยินเสียงเพลงอย่างเดียว บางทีก็เสียงแอร์อย่างเดียว บางทีเหมือนกับได้ยิน 2-3อย่างพร้อมๆกัน ซึ่งที่จริงการได้ยินเสียง2-3อย่างพร้อมกันไม่มี แต่เป็นเพราะสวิสต์ที่สับเร็วมาก จนผัสสะของเสียงในแต่ละกรณีมาเชื่อมต่อกัน ส่วนหนึ่งก็ด้วยกองขันธ์สัญญาคือความจำได้หมายรู้ได้และกองขันธ์สังขารคือความคิดปรุงแต่งของชีวิต(ซึ่งมี5กองขันธ์) จึงเกิดภาพปะติดปะต่อจนกลายเป็นเหตุการณ์นั้นๆขึ้นมา ถ้าผัสสะนั้นๆไม่มีเวทนาก็เป็นเพียงเหตุการณ์ที่เป็นภววิสัย คือได้ยินเสียงซึ่งรู้ว่าเป็นเสียงแอร์ เสียงเพลง เสียงเด็กเพียงเท่านั้น ไม่มีอะไรอื่นมากกว่านั้น ผ่านเข้ามาก็ผ่านเลยไป ไม่เกิดปัญหาอะไร แต่หากผัสสะจากเสียงใดเสียงหนึ่งเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนาก็จะเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาอุปาทานหมุนวัฏฏะเกิดภพชาติชรามรณะเป็นความทุกข์ระดับใดระดับหนึ่ง ซึ่งสวิสต์นี้มีทั้งหมด6ตัวทำงานข้ามไปข้ามมาอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ นี่คือโลกที่เกิดขึ้น ซึ่งบางครั้งก็จะเกิดผัสสะโง่เป็นความทุกข์ (สุขเวทนาและไม่ทุกข์ไม่สุขเวทนาก็เป็นความทุกข์ ในความหมายของความเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจคงอยู่ได้ตลอดไป)

การตามรู้ในผัสสะที่เกิดขึ้นจนผัสสะนั้นๆเป็นเพียงผัสสะเฉยๆในทุกกรณีคือการตามรู้เพื่อต้องการหลุดพ้นจากความทุกข์ซึ่งเป็นหัวใจของการฝึกอบรมในครั้งนี้ โดยใช้เคล็ดวิชาอานาปนสติภาวนา โดยการฝึกตามรู้กองขันธ์รูปโดยใช้กายลมและกายเนื้อของเราเป็นอุปกรณ์ในการฝึก และฝึกตามรู้กองขันธ์นามประกอบด้วย เวทนา จิต ธรรมเป็นอุปกรณ์ในการฝึก ใช้อะไรเป็นตัวตามรู้ก็ใช้ตัวมันเองนั่นแหละเป็นตัวตามรู้

ในภาคทฤษฎีนี้ ผมค่อนข้างเข้าใจวงจรทุกข์ที่อธิบายไว้ และเห็นด้วยว่าถ้าเกิดผัสสะแต่ไม่มีเวทนาก็ไม่เกิดทุกข์ขึ้น ซึ่งชีวิตส่วนใหญ่ก็เป็นเช่นนั้น อย่างที่บอก ตอนนี้ผมนั่งทำงานได้ยินเสียงเพลง เสียงแอร์ และพิมพ์งานมาก็ยังไม่เห็นมีความทุกข์เกิดขึ้นมาเลย

ความทุกข์เกิดเมื่อมีผัสสะโง่ ผัสสะเกิดวันหนึ่งเป็นพันๆครั้ง มีผัสสะโง่ไม่มากแต่ถ้าไม่รู้ว่ามันมีแล้ว ก็หายไป ก็จะไปจับฉวยผัสสะโง่นั้นไว้เป็นอารมณ์ ใช้กองขันธ์สัญญาและสังขารในสิ่งที่เป็นทุกขเวทนา (ซึ่งรวมถึงการคิดถึงความสุขที่มลายหายไปด้วย) ความทุกข์จึงคล้ายกับว่าจะมีมากเสียเหลือเกิน การฝึกสติเพื่อตามรู้สิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปโดยใช้ลมหายใจเป็นอุปกรณ์จึงมีความสำคัญ เพราะมันเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดและมีความละเอียดมาก ถ้าทำได้ก็จะมีประโยชน์มาก

แต่ในภาคปฏิบัติไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเป็นการฝึกเพื่อตามรู้การทำงานของสวิสต์(จิต)เพียงตัวเดียวอย่างต่อเนื่องด้วยความเร็วสุดพรรณาจนเกิดเป็นจิตหนึ่งเดียว (เพื่อก้าวข้ามไปสู่การเห็นปรากฏการณ์ที่แท้จริงของธรรมชาติ นั่นคือความว่าง เป็นการสลายวงจรไม่เกิดผัสสะขึ้นอีก) จิตที่ไม่ค่อยได้ฝึกจึงมักจะสวิสต์ไปโน่นบ้างนี่บ้างตามความเคยชิน ซึ่งของผมเคยชินกับการขบคิดมากที่สุด (ตอนนี้ผมเห็นว่าการคิดมันเป็นสุขเวทนา คือ ถ้าได้คิดแล้ว รู้สึกมีความพอใจ มันจึงคิดเรื่อยไปไม่ค่อยได้หยุดพัก แม้ว่าจะเป็นเรื่องงาน แต่ก็ไม่รู้จักพัก จิตสักเท่าไร) ตอนนี้กำลังเขียนงานจึงต้องใช้การคิดเป็นหลักซึ่งก็คือการทำหน้าที่ให้ตรงกับเหตุการณ์ที่อยู่ตรงหน้า ดังนั้น ถ้าให้ดีก็ต้องตามรู้ลมหายใจไปด้วย แต่ผมก็มักคิดเพลิน เลิกงานกลับบ้านพักก็คิดต่อ จะเดินไปทานข้าวก็คิด ทานข้าวอยู่ก็คิด ตอนเย็นออกมาเดินเล่นก็เดินคิด ตอนนอนก่อนหลับก็คิดอีก จิตจึงวิ่งวุ่นอยู่กับการคิดซึ่งให้ความเพลิดเพลิน แต่ก็เหน็ดเหนื่อย เพราะในการคิดหลายๆครั้งก็มีตัวตนเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย(สุขเวทนา) แม้ว่าบางครั้งจะคิดเพลินแบบไม่มีตัวตนก็ตาม

สรุปคือ การเข้าร่วมอบรมครั้งนี้ทำให้ผมได้ฝึกฝนการตามลมหายใจ และทำได้ในระดับที่ตนเองมีความพอใจตามสมควรเพราะทำได้มากกว่าที่เคยทำมาด้วยความตั้งใจ ซึ่งผมจะพยายามนำกลับมาทำอย่างต่อเนื่องทั้งที่บ้านและที่ทำงาน คือ การตามรู้สิ่งที่กำลังทำอยู่อย่างต่อเนื่อง (ซึ่งปกติก็มีพื้นฐานสมาธิในการทำงานอยู่บ้างแล้ว) คือ ทำอะไรอยู่ก็มีสมาธิกับสิ่งนั้นและให้ตามรู้ลมหายใจไปด้วย อันนี้ในเรื่องการจัดการกับหน้าที่การงานและวิถีการดำเนินชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงกลับเข้านอน ทั้งการกิน อาบน้ำ เดินเล่นที่ต้องอยู่กับอาการนั้นๆอย่างเป็นปัจจุบันให้มากขึ้นโดยใช้การตามรู้ลมหายใจประกบไปด้วย อีกอันหนึ่งก็คือการจัดแบ่งเวลาเพื่อทำวัตรสวดมนต์และฝึกฝนการทำอานาปานสติภาวนาให้สม่ำเสมอและมากขึ้น เพื่อให้สติสามารถตามรู้สวิสต์ทั้ง6ตัวได้อย่างทันท่วงที ไม่ให้เกิดทุกข์มากจนเกินไปให้สมกับที่เกิดมาได้พบกับพุทธศาสนาและได้เกิดทันในยุคของท่านอาจารย์พุทธทาสครับ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 25957เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2006 15:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มิถุนายน 2012 12:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

นึกว่าอาจารย์ภีมหายไปไหน ที่แท้ประกอบกิจส่วนตัวอยู่นี่เอง แล้วจะตามไปติดๆเมื่อเสร็จโครงการวิจัยนี้แล้ว 1 สัปดาห์ กับชีวิตที่สดชื่น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท