บุกรุกพื้นที่อย่างไร? ในการทำงานพัฒนาบุคลากร
จากบทเรียน ที่เกิดขึ้นกับการทำงานร่วมกับภาคสนามเพื่อจับมือกันพัฒนางานส่งเสริมการเกษตร พอมาถึงวันนี้ "ข้อสรุป" ที่เกิดขึ้นได้มีกระบวนการคือ
ช่วงที่ 1 ทดลองแหย่ เจ้าหน้าที่ โดยนำสิ่งใหม่เข้าไปพูดคุยและลองทำให้ดู
ช่วงที่ 2 ลองประเมินผลงาน ดูว่า "เขาคิดและรู้สึกอย่างไร? กับสิ่งนั้น" เพื่อการปรับแก้และก้าวสู่การปฏิบัติการในครั้งต่อไป
ช่วงที่ 3 ทำให้ติดใจ โดยทำอย่างไรให้เจ้าหน้าที่ได้ทดลองใช้ ฝึกทำ และทำซ้ำ
ช่วงที่ 4 สอดแทรกในความคิด โดยติดตามสอบถามแบบ "ย้ำคิดย้ำทำ"
ช่วงที่ 5 อดทนและรอได้ โดยติดตามนิเทศเป็นระยะ ๆ ซึ่งต้องประกบสถานการณ์ตลอดเวลา เพื่อสังเกตและติดตามความเคลื่อนไหวที่ต้องรู้เท่าทันข้อมูลและพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ช่วงที่ 6 ทำให้กลมกลืน โดยทำให้เกิดการนำไปประยุกต์ใช้ในงานประจำแบบไม่รู้ตัว ซึ่งต้องให้เวลาเจ้าหน้าที่ได้คิด ได้ไตร่ตรอง และสรุปผลด้วยตนเอง
ช่วงที่ 7 เป็นผู้สังเกตการณ์การพัฒนา ที่เกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างไรและมีอะไรบ้าง? ที่จะเสริมจุดแข็งและแก้จุดอ่อน
ช่วงที่ 8 กระตุ้นและเสริมพลัง โดยชักชวนผู้รู้ ผู้ชำนาญการ และผู้สนใจไปร่วมมือร่วมใจกันพัฒนางานและปรับแต่งสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งคนและงานตามความต้องการของเจ้าหน้าที่
ช่วงที่ 9 สรุปและประเมินผล "นวัตกรรมขององค์กรมีอะไรบ้าง? ผลเป็นอย่างไร? เหมาะสมกับหน่วยงานของเราหรือไม่? และจะปรับแก้กันอย่างไรบ้าง"
ช่วงที่ 10 กระจายและแพร่นวัตกรรม โดยผู้ใช้เป็นผู้แพร่กระจายด้วยตนเอง และแบ่งบทบาทหน้าที่กันทำ หลังจากนั้นนำผลงานมาสนทนาและปรึกษาหารือกัน
อีกบทเรียนหนึ่งของการเป็น "นักพัฒนาฯ" กับ 10 ปี ที่เกิดขึ้นกับการทำงานที่มีความสนุกและความศรัทธาต่อเจ้านาย "เกษตรกร" แล้วตัวท่านเองละ...วันนี้ท่านสรุปบทเรียนของตนเองกับสิ่งที่ภาคภูมิใจได้ว่า....อย่างไรบ้าง?
ศิริวรรณ หวังดี
28 เมษายน 2549