• เช้าวันที่ ๒๒ เมย. ๔๙ ผมวิ่งออกกำลังที่ถนนหน้าโรงแรมวิลลาสันติ รีสอร์ท แอนด์ สปา ที่หลวงพระบาง ถนนมีลักษณะโรยหิน ไม่ได้ลาดยาง คล้ายกับถนนปรมินทร์มรรคา ที่เชื่อมตลาดชุมพรกับปากน้ำและผ่านหน้าบ้านผมที่ตำบลท่ายาง อ. เมือง จ. ชุมพร เมื่อ ๕๐ ปีก่อน ผมถ่ายรูปถนนที่หลวงพระบางมาให้ดูด้วย
ถนนหน้าวิลลาสันติ ยามเช้า
• สมัยเรียนหนังสือชั้นมัธยม ที่โรงเรียนศรียาภัย
ซึ่งสมัยที่ผมเรียน ชื่อว่า โรงเรียนชุมพร “ศรียาภัย”
ตั้งแต่ปลายปีที่เรียน ม. ๑ อายุ ๑๐ ขวบ
ผมก็ถีบจักรยานไปโรงเรียนบนถนนเส้นนี้ ระยะทาง ๖ กม. ไป – กลับ วันละ
๑๒ กม. เป็นเวลาเกือบ ๕ ปี
• ถนนที่สภาพไม่ดี
หน้าฝนมีหลุมบ่อน้ำขังอยู่ทั่วไปบนผิวถนน
เราต้องฝึกการหลบหลีกหลุมบ่อ และสังเกตจดจำเส้นทาง
ถ้าเผลอถีบรถตกลงในหลุมลึกโดยไม่รู้ว่าลึกเพราะน้ำขังอยู่เต็ม
อาจล้มได้
ที่สำคัญต้องระวังรถยนต์ที่แล่นสวนหรือแล่นขึ้นหน้าแล่นทับน้ำกระเด็นมาโดน
ต้องหาทางหลบไปสวนหรือให้เขาขึ้นหน้าตรงจุดที่ปลอดภัยจากน้ำ
หน้าแล้งฝุ่นมากเพราะถนนโรยลูกรัง
ฝุ่นลูกรังเป็นสีแดง
วันไหนโดนรถยนต์ที่วิ่งเร็วมากสวนหรือขึ้นหน้า
วันนั้นสระผมน้ำจะแดง
อันตรายอีกอย่างหนึ่งคือรถที่วิ่งเร็วมากอาจดีดก้อนหินมาโดนเรา
ชีวิตที่ต้องต่อสู้ช่วยเหลือตัวเอง ระมัดระวังตนเองตั้งแต่เด็ก
เป็นประโยชน์เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว
ทำให้เราเป็นคนอดทน
เมื่อต้องเผชิญความยากลำบากก็ไม่รู้สึกเดือดร้อนมาก
บอกตัวเองว่าตอนเด็กๆ ลำบากกว่านี้
• จุดที่ถีบจักรยานยากที่สุดคือสะพานท่านางสังข์
ซึ่งเข้าใจว่าโดนแขวงการทางเปลี่ยนชื่อด้วยความเข้าใจผิดเป็น
“สะพานนางสังข์” ไปแล้ว
ในสมัยโน้นเป็นสะพานปูด้วยไม้ตามขวางของสะพาน
มีไม้ปูตามยาวเป็นไม้กระดานข้างละ ๓ แผ่น สองข้าง
ให้รถยนต์แล่นได้เรียบ แต่ต้องขึ้นสะพานทีละข้าง
สวนกันบนสะพานไม่ได้
การขี่จักรยานขึ้นสะพานนี้ต้องการทักษะ ๒ อย่าง มิฉะนั้นอาจล้ม
หรือต้องลงรถและจูงรถขึ้นสะพาน
ซึ่งจะทำให้เสียศักดิ์ศรีสิงห์จักรยาน
ทักษะอย่างแรกคือการปั่นตั้งหลักแต่ไกลให้สามารถขึ้นสะพานซึ่งมีความชันได้
และเมื่อขึ้นได้แล้วก็ต้องมีทักษะในการขี่รถไต่ไม้กระดานแผ่นเดียว
เพราะถ้าพลาดล้อรถตกลงไปในร่องระหว่างไม้กระดาน
ก็อาจล้มได้ ที่จริงเราต้องมีทักษะที่สาม
คือต้องดูให้ดีว่าจะไม่ขึ้นไปสวนกับรถยนต์กลางสะพาน
หรือถ้ามีรถยนต์ไล่หลังมาก็หลบให้เขาไปก่อน
มิฉะนั้นจะโดนบีบแตรไล่
• ผมเป็นคนใจร้อน ถีบจักรยานแบบถีบไปเรื่อยเอื่อยๆ
ไม่เป็น
พอขึ้นรถได้ก็บึ่งเต็มที่
จึงเหงื่อโทรมทุกครั้ง
มาคิดในตอนนี้ว่าการขี่จักรยานตอนวัยรุ่นเป็นคุณแก่ชีวิตผมมาก
และการขี่แบบบึ่งเป็นการออกกำลังแบบแอโรบิค
ทำให้ปอดใหญ่ ร่างกายแข็งแรง
และสมองแจ่มใส ผมเป็นคนเล่นกีฬาไม่เป็น
ถ้าไม่ได้การออกกำลังจากการถีบจักรยานไปโรงเรียนร่างกายคงไม่แข็งแรงอย่างนี้
วิจารณ์ พานิช
๑๑ เมย. ๔๙
หลวงพระบาง
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Prof. Vicharn Panich ใน KMI Thailand
ขอบพระคุณครับ อ่านแล้วทำให้ระลึกชาติด้วยเหมือนกัน ของผมดุเดือดเพราะ ระยะทางราว 9 กม ข้ามเนินเขาสองลูก กว่าจะถึงตัวอำเภอไชยา ระหว่างทางมีนกป่าสัตว์ป่านานาชนิดให้ได้ดูโดยไม่ต้องไปสวนสัตว์ รองเท้าไม่ได้สวม เดินเท้าเปล่า บางทีก็โดนปลวกตัวโตกัดเอาก็มี ข้ามลำห้วยที่มีน้ำตลอดปี 2 ครั้ง ข้ามคลองที่มีสะพานไม้ทอดข้าม 3 - 4 ครั้ง
เพราะขี่จักรยานไป-กลับไม่ไหว จึงต้องไปอยู่วัดเพื่อเรียนหนังสือ ไม่ได้ออกกำลังแบบท่านอาจารย์ น่าเสียดาย แต่วัดชยารามโดยท่านพระครูสุธนฯ เพื่อนตายของท่านอาจารย์พุทธทาส ก็ได้ให้ความแข็งแกร่งกับชีวิตไว้มาก .. ขอบคุณต่อความยากลำบากและทุกประสบการณ์ ที่ได้สร้างภูมิคุ้มกันให้ชีวิตอย่างน่าพอใจมาจนปัจจุบัน