โรคติดเชี้อและบุคลกรทางการแพทย์ ทบทวนจากอดีต


โรคติดเชื้อ บุคลากรทางการแพทย์ การติดต่อ โรคไข้หวัดนก โรคซาร์ส โรคไข้หวัดแม็กซิโก

โรคติดเชื้อกับบุคลากรทางการแพทย์: ประสบการณ์ของประเทศสิงคโปร์จากโรคซาร์ส

 

เรื่องเกี่ยวกับไข้หวัดแม็กซิโกนี้ น่าสนใจ ไม่ใช่ตื่นตูมครับ แต่เป็นบทเรียนว่าเรื่องแบบนี้เกิดหลายครั้งแล้ว และเรามักจะลืม บทความนี้ดัดแปลงจากจดหมายข่าวของเครือข่ายอาชีวอนามัยโลก (GOHNET) ของ WHO ฉบับที่ 8 ปี 2005 เป็นบทความที่เขียนเกี่ยวกับประสบการณ์เรื่องโรคซาร์ส และการจัดการ โดยโปรเฟสเซอร์นายแพทย์เดวิด โก๊ะซึ่งเป็นแพทย์ผู้มีชื่อเสียงด้านอาชีวเวชศาสตร์ระดับโลก

                บุคลากรทางการแพทย์จะสัมผัสกับสารชีวภาพหรือเชื้อโรคหลายอย่างเช่นเชื้อไวรัสตับอักเสบ เชื้อเอชไอวี เชื้อวัณโรค ตลอดระยะเวลาการทำงาน ในวันที่ 12 มีนาคม 2003 องค์การอนามัยโลกได้ส่งสัญญาณเตือนทางสุขภาพว่ามีโรคใหม่ ซึ่งมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ซึ่งอาจมีการแพร่กระจายในบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเรียกว่าโรคซาร์ส (SARS: Severe Acute Respiratory Syndrome)  จนถึงเดือนสิงหาคม 2003 มีการสะสมของผู้ป่วยถึง 8,422 ราย และมีผู้ถึงแก่กรรม 916 ราย จาก 29 ประเทศ กว่าหนึ่งในห้าเป็นบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งโรคซาร์สนี้เป็นโรคทางเดินหายใจจากการติดเชื้อซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำงานเป็นโรคแรกในศตวรรษใหม่นี้ มีบทเรียนหลายอย่างที่ได้จากโรคนี้และการระบาดรวมทั้งผลกระทบต่อบุคลากรทางการแพทย์

 บทเรียนที่หนึ่ง การทำงานด้านการแพทย์อาจเป็นสิ่งคุกคามต่อสุขภาพ

โรคซาร์สทำให้เราระลึกถึงการเป็นอันตรายต่อสุขภาพจากการทำงานดูแลผู้ป่วย ซึ่ง (1) บุคลากรทางการแพทย์เป็น 21% ของผู้ป่วยโรคนี้ทั่วโลก และในบางประเทศเช่นแคนาดา หรือสิงคโปร์กว่า 40% ของผู้ป่วยเป็นบุคลกรทางการแพทย์ นอกจากนี้แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ และ paramedic คนทำความสะอาด ล้วนเสี่ยงต่อการติดเชื้อ และยังขยายไปยังทุกคนที่ทำงานในโรงพยาบาลอีกด้วย ซึ่งได้แก่นักกายภาพ แพทย์ทางเลือก ผู้ป่วยอื่นๆ ญาติผู้ป่วย คนที่มาเยี่ยม คนรับส่งผู้ป่วยที่นำผู้ป่วยซาร์สมาโรงพยาบาล รายงานการเกิดโรคยังแตกต่างกันไปในวิชาชีพต่างๆของบุคลากรทางการแพทย์ ในระยะแรกจะเป็นการระบาดในหมู่บุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลฝรั่งเศสในเมืองฮานอย ประเทศเวียดนาม ซึ่งมีอัตรา 18%  อัตราการเป็นจะแตกต่างกันไป โดยมีแพทย์เป็น 16% ในพยาบาล 35% และในผู้บริหาร 2% และในกลุ่มเจ้าหน้าที่ซึ่งมีการสัมผัสผู้ป่วยมีอัตราการติดสูงสุดคือ 53% (WHO 2003) จะเห็นว่าอัตราการเพิ่มของกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ใช่แพทย์และพยาบาลค้านกับการศึกษาจากฮ่องกง ซึ่งศึกษาผู้ป่วยซาร์ส 339 รายในโรงพยาบาล 16 แห่งพบว่ามีอัตราการเกิดในพยาบาล 1.21% และในบุคลากรทางการแพทย์และเทคนิกการแพทย์ 0.29% และในกลุ่มสนับสนุนบริการ 2.73%  พบว่าการอยู่ใกล้ผู้ป่วยเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ในการติดเชื้อซึ่งมีการติดเชื้อในกลุ่มนักศึกษาแพทย์ในโรงพยาบาลปรินส์ออฟเวลล์ ซึ่งมีการสอนข้างเตียงผู้ป่วยและดูแลผู้ป่วยประมาณ 40 นาที ในวันที่ 6 หรือ 7 มีนาคม 2003 ซึ่งมีผู้ป่วยโรคซาร์อยู่ในตึกผู้ป่วย นักศึกษาแพทย์สามคนซึ่งเยี่ยมผู้ป่วยซึ่งอยู่ในเตียงข้างผู้ป่วยซาร์สติดเชื้อทั้งหมด มีนักคึกษาแพทย์ที่ไปเยี่ยมผู้ป่วยในเตียงข้างเคียงผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด 4ใน 8 คน ในขณะที่นักศึกษาแพทย์อีกกลุ่มหนึ่งที่เพียงแต่เดินเข้าออก ไม่มีใครติดเชื้อเลย  การติดเชื้อที่แตกต่างกันอาจเกิดจากหัตถการบางอย่างเช่นการใส่ท่อช่วยหายใจ การพ่นละอองน้ำในเครื่องช่วยหายใจของผู้ป่วยซาร์สเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ แต่ในกิจกรรมบางอย่างซึ่งมีความเสี่ยงน้อยก็ทำให้ติดเชื้อได้ ปัจจัยอื่นๆที่ช่วยอธิบายความแตกต่างได้แก่ชนิดของโรงพยาบาล หรือขนาดของโรงพยาบาล ระดับของการเตรียมการป้องกัน การที่มีหรือไม่มีผู้ป่วยโรคซาร์ส หรือการวินิจฉัยโรคได้ช้า

บทเรียนที่สอง ผลกระทบของซาร์สมีมากกว่าเรื่องโรคติดเชื้อ

ระหว่างการระบาด บุคลากรทางการแพทย์ต้องทำงานภายใต้ความเครียดและความกลัวที่จะติดจากรายที่ไม่สามารถวินิจฉัยโรคได้  ความไม่สบายในการทำงานโดยมีหน้ากากหรือมีชุดป้องกันใส่ตลอดเวลา  การที่ต้องเฝ้าระวังเรื่องอุณหภูมิกายหลายครั้งต่อวัน การทำงานในทีมที่แยกต่างหาก ในพื้นที่ซึ่งจำกัด ทำให้เกิดความไม่สบายในการทำงานและความเครียด ในการศึกษาของบุคลากรในโรงพยาบาลในเมืองโตรอนโต พบว่ามีความเครียดในระดับสูงถึง 29-35% ซึ่งเกิดจากความตึงเครียด (เช่นพยาบาลสัมผัสกับผู้ป่วยโรคนี้ การมีบุตร) ปัจจัยในกระบวนการทำงาน (การมีความเครียดในงาน การถูกรังเกียจจากเพื่อนร่วมงานเนื่องจากกลัวติดเชื้อจากผู้ที่ไปสัมผัส การถูกกักบริเวณ) ในการศึกษาบุคลากรทางการแพทย์ 10,511 คนในสถานบริการสาธารณสุขเก้าแห่งในประเทศสิงคโปร์ระหว่างมีการระบาดของโรคพบว่ามี 56% รู้สึกเครียดมากขึ้น 53% มีภาระงานมากขึ้น 54% ต้องทำงานซึ่งปกติจะไม่ทำ และ 36% ต้องทำงานนอกเวลา  ส่วนใหญ่ 87% เห็นด้วยว่าคนใกล้ชิดเป็นห่วงภาวะสุขภาพของเขา และ 69% รู้สึกว่าคนใกล้ชิดกลัวว่าจะติดเชื้อจากพวกเขา นอกจากนี้ยังกลัวว่าการที่ทำงานในโรงพยาบาลจะทำให้ถูกรังเกียจจากสังคม 49% คิดว่าประชาชนหลีกเลี่ยงพวกเขาเนื่องจากอาชีพ และ 31% รู้สึกว่าประชาชนพยายามหลบหลีกครอบครัวของพวกเขาเนื่องจากอาชีพของเขา

บทเรียนที่สาม โรคซาร์สในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ป้องกันได้

โรคซาร์สมีการติดต่อง่าย ซึ่งติดต่อไปยังบุคลากรทางการแพทย์โดยการสัมผัสกับน้ำลาย ของผู้ป่วยกับเยื่อเมือกโดยตรง หลักการของการค้นหาผู้เป็นโรคและแยกออกเป็นเรื่องสำคัญในการป้องกันและควบคุม สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ การใส่ถุงมือ เสื้อกาว์น แว่นตาป้องกัน หน้ากาก N95 การมีสุขนิสัยที่ดีและการดูแลสุขภาพตนเอง (โดยการเฝ้าระวังอาการ หรือแยกตนเองเมื่อมีอาการ) เป็นมาตรการป้องกันซึ่งมีประสิทธิภาพ โดยมากนโยบายนี้ปฏิบัติยากในกลุ่มประชาชน แต่ง่ายในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะประเทศสิงคโปร์  อย่างไรก็ตามมาตรการนี้ในตอนแรกจะทำง่าย แต่ยากที่จะให้ทุกคนทำตลอดเวลาในระยะเวลานานๆ นอกจากนี้จะต้องมีมาตรการอื่นๆทางอาชีวอนามัยเข้าช่วยด้วย เช่นในประเทศไต้หวันนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมช่วยโรงพยาบาลในการออกแบบการระบายอากาศเพื่อควบคุมป้องกันการติดเชื้อ และสร้างแนวทางเพื่อเปลี่ยนห้องผู้ป่วยเป็นห้องแยกสำหรับผู้ติดเชื้อ นอกจากนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยยังมีบทบาทในการประเมินหน่วยงานบริการสุขภาพด้วย ในประเทศสิงคโปร์ผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยถูกเชิญให้เข้ามาทบทวนประเมินอย่างน้อยสองโรงพยาบาลในระหว่างวิกฤตินี้ และมีการนำเสนอแนวทางการแก้ไขกับผู้บริหาร ซึ่งนอกเหนือจากการประเมินทางสุขศาสตร์อุตสาหกรรม เช่นการตรวจวัดสิ่งแวดล้อมในโรงพยาบาล การประเมินการระบายอากาศ อุณหภูมิ ความชื้น ซึ่งเป็นตัวป้องกันสำคัญในประเทศเขตร้อนนี้ การตรวจสอบทางอาชีวอนามัยยังรวมถึงการเข้าไปดูสถานที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลการทบทวนกระบวนการทำงานในบริเวณที่มีการแพร่กระจายของเชื้อ และบริเวณคัดกรองผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมีเรื่องที่ต้องรีบด่วนแก้ไขเช่นการพักผ่อนให้เพียงพอ การอาบน้ำ การเปลี่ยนแผนก การควบคุมการเจ็บป่วย การลาหยุดของเจ้าหน้าที่ และการป้องกันปัญหาด้านจิตใจ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ยังช่วยสรุปให้กับคณะกรรมการซาร์ส และทบทวนมาตรการต่างๆ ที่จะต้องทำถ้ามีการระบาดมากขึ้น และในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งมีการตั้งแผนกอาชีวอนามัยซึ่งดำเนินงานโดยแพทย์อาชีวเวชศาสตร์ขึ้น

บทเรียนที่สี่ การติดเชื้อเนื่องจากการทำงานยังเป็นเรื่องที่ท้าทายของบุคลากรทางการแพทย์

ตั้งแต่สิงหาคม 2003 ยังมีกรณีโรคซาร์สจากอุบัติเหตุจากการทำงานในห้องปฏิบัติการซึ่งมีนักวิจัยสามคนในสิงคโปร์ ไต้หวัน และปักกิ่ง ติดเชื้อโรค นักวิจัยอายุ 27 ปีทำงานกับเชื้อ West Nile virus ในห้องปฏิบัติการซึ่งมีการทดลองเกี่ยวกับเชื้อ SARS-CoV และมีการปนเปื้อน ซึ่งนักวิจัยผู้นี้เป็นโรคและแยกได้เชื้อ SARS Co-V นอกจากนี้ยังมีในไต้หวัน ในปักกิ่งเดือนเมษายน 2004 มีการติดเชื้อรุนแรงกว่า มีสองรายติดเชื้อจากห้องปฏิบัติการและแพร่ไปติดเชื้ออีก 9 คน และถึงแก่กรรมหนึ่งคน องค์การอนามัยโลกได้ให้ข้อแนะนำเนื่องจากห้องปฏิบัติการในหลายประเทศมีการเก็บไวรัสซาร์สไว้ซึ่งจะต้องมี biosafety standards บังคับใช้เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ นอกจากนั้นยังให้ระวังว่าห้องปฏิบัติการอาจเป็นแหล่งที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคขึ้นใหม่ จากอุบัติเหตุจากการละเลยเรื่อง biosafety

ในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เอง จะต้องมีการเฝ้าระวัง เช่นการที่มีโรคแปลก เกิดขึ้น เจ้าหน้าที่เป็นโรคแปลกๆ หรือมีข่าวโรคแปลกๆ เกิดขึ้น หรือสงสัยว่าจะเป็นโรคซาร์ส ควรมีการเฝ้าระวังในหมู่บุคลากรทางการแพทย์ และเป็นไปได้ที่โรคซาร์สหรือโรคไข้หวัดใหญ่จากสัตว์ อาจมีการระบาดขึ้นในอนาคต

บทสรุป

การเกิดของโรค SARS Co-V และการระบาดของโรคซาร์สในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์แสดงว่ามีการติดเชื้อโรคใหม่ๆ ในวิชาชีพเหล่านี้ ขณะที่เราสามารถควบคุมโรคซารัสได้ แต่ก็ต้องยอมรับบทเรียนที่เจ็บปวดของบุคลากรทางการแพทย์นี้ อย่างไรก็ตามเป็นบทเรียนที่สำคัญในการเฝ้าระวังและควบคุมความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในบุคลากรทางการแพทย์ และเป็นที่แน่ชัดว่าผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีวอนามัยมีบทบาทสำคัญในการป้องกันและจัดการการติดเชื้อมายังบุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้ เราควรมีการเตรียมตัวให้ดีกว่าเมื่อพบสถานการณ์แบบเดียวกันในอนาคต เราไม่ควรทำความผิดพลาดอย่างเดียวกัน และเรียนรู้จากการทบทวนบทเรียนที่ขมขื่นในอดีตที่มีผลต่อสุขภาพและการตายในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ขอจบด้วยสุภาษิตจีน "ถ้าเราไม่ลืมประสบการณ์ในอดีต เราก็สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในอนาคตได้"

หมายเลขบันทึก: 258030เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2009 21:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 17:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีคะคุณหมอ

ตอนนี้กำลังดูแลและเฝ้าระวังบุคลากร เจ็บป่วยจากการปฏิบัติงานอยู่คะ

ขอเสนอด้วยสุภาษิตไทยๆ ว่า "การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ" เจ้าค่ะ แต่ถึงกระนั้น การระบาดของโรคซาร์สในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ ก็ยังคงดำเนินต่อไป สำหรับแนวทางแก้ไขนั้น ต้องร่วมมือกันอย่างยิ่ง ช่ายมั้ยคะอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท