299 อินเดียกับบทบาทการก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำทางความรู้โดยใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคม


Digital Divide ร่วมสมัย

 

 

ปัจจุบันมีการพูดถึงความเหลื่อมล้ำทางความรู้ หรือ ช่องว่างในการเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีสารสนเทศ Digital Divide ผมเลยขอร่วมนำเรื่องมาเล่า ดังนี้

เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2552 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมบริษัท Telecommunications Consultants India Limited  หรือ TCIL ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจของอินเดีย ที่ให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ได้รับความรู้ที่น่าสนใจมาก จึงขอนำมาเล่าสู่กันฟัง ณ ที่นี้

เป็นการไปเยือนของเอกอัครราชทูตจากประเทศอาเซียน 10 ประเทศที่ประจำอยู่ ณ นครเดลี อินเดีย

ความเป็นมาของบริษัท

TCIL ตั้งขึ้นเมื่อปี คศ. 1978 โดยมีวัตถุประสงค์ เผยแพร่ความสามารถของอินเดียทางด้านการสื่อสารโทรคมนาคมไปยังประเทศกำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาทั้งหลายซึ่งตลอดเวลา 31 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับมาตรฐาน IS/ISO  9001 :2000 และรางวัลการบริการมากมาย

บริษัทให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม อิเลคโทรนิคและเครือข่ายทุกรูปแบบ ทั้งในประเทศ เป็นผู้รับผิดชอบโครงการรัฐบาล-อิเลคโทรนิค e-Government และในต่างประเทศ เช่นแอฟริกา Pan Africa e-Network โดยเฉพาะในเรื่องการแพทย์ Tele-medicine และ Tele-education จนได้รับการยอมรับจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก รายละเอียดของผลการดำเนินงานของบริษัทดูได้จาก www.tcil-india.com

 

โครงการ e-Network ในกรอบอาเซียน

ที่น่าสนใจของการไปเยือนบริษัทครั้งนี้อยู่ที่ โครงการอาเซียนอี-เน๊ตเวริ์ค  ซึ่งริเริ่มโดยนายกรัฐมนตรีของอินเดียคนปัจจุบัน ในการประชุม ASEAN-India ครั้งที่ 4  เมื่อเดือนธันวาคม 2005 ณ กรุงกังลาลัมเปอร์ วัตถุประสงค์สำคัญก็คือการจัดทำโครงการเครือข่ายสื่อสารใน 4 ประเทศในอาเซียนได้แก่ เขมร ลาว พม่าและเวียดนาม CLMV ในด้านการศึกษา Edu-net และด้านการแพทย์ กล่าวคือใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการสื่อสารผ่านดาวเทียม VSAT ส่งความรู้ทางด้านการเรียนภาษาอังกฤษไปยังประเทศทั้ง 4 เพื่อให้คนในประเทศสามารถเรียนภาษาอังกฤษจากผู้สอนในอินเดียได้ นอกจากนั้น ในด้านการแพทย์ยังสร้างเครือข่ายสามารถให้คำปรึกษาและการวินิจฉัยโรคตลอดจนการรักษาแบบออนไลน์จากผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงของอินเดียได้ด้วย สิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือการจัดตั้งศูนย์รับสัญญานดาวเทียมเครือข่ายใน 4 ประเทศเหล่านั้นโดยเป็นความช่วยเหลือเปล่าให้เปล่าโดยใช้เงาจากกองทุนอาเซียน-อินเดียเพื่อการพัฒนา ASEAN –India cooperation fund ถือเป็นความพยายามลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้ที่ชัดเจน

ในการเยี่ยมชมวันนั้น ผมและคณะทูตอาเซียนได้มีโอกาสชมการทดลองติดต่อระหว่างศูนย์เครือข่ายของบริษัทกับเครือข่ายในประเทศเซเนกัล เอธิโอเปีย ไนจีเรีย เป็นต้น เท่าที่เห็น สัญญานรับส่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ประโยชน์ของการสื่อสารดาวเทียมเพื่อการศึกษาและการแพทย์นี้ นับว่ามีประโยชน์มากมายหลายประการ ที่ทุกท่านคงทราบอยู่แล้ว อาทิ เรื่องเวลา ระยะทางและการขาดแคลนบุคลากรทางด้านการศึกษา วิธีการนี้แสดงให้เห็นว่ามนุษย์สามารถก้าวข้ามความเหลือมล้ำทางความรู้ Digital Divide ได้อย่างแน่นอน ถ้าใช้เป็น โดยเฉพาะในโลกที่ช่องว่างทางเศรษฐกิจและสังคมที่ห่างกันมากเช่นนี้

 

ข้อคิด

เป็นเรื่องที่น่าแปลกมากที่ตลอดเวลา 31 ปี ของการดำเนินการของบริษัท TCIL นี้ เท่าที่ทราบจากนาย R.K. Upadhyay ผู้อำนวยการบริษัท ไม่ได้มีการติดต่อหรือร่วมงานกับประเทศไทยเลย ในขณะที่บริษัทมีโครงการและร่วมดำเนินการแล้วกับประเทศในทวีปต่างๆ  55 ประเทศ ทั่วโลก ผมไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น..........................

โครงการของอาเซียนดังกล่าวนี้ แม้จะเริ่มมาหลายปี แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้านัก อย่างไรก็ดี เมื่อเดือนที่แล้วมีการสัมมนาเชิงปฏิบัติเรื่อง ASEAN e-NETWORK PROJECT Under India-ASEAN Cooeration  ระหว่างวันที่ 25-26 มีนาคม 2552  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก  Ministry of External Affairs, Government of India สำหรับประเทศไทยมีอาจารย์ ดร.กมลรัฐ อินทรทัศน์   Kamolrat Intaratat (Ph.D.) ผู้อำนวยการสำนัก The Research Center of Communication and Development Knowledge Management (CCDKM) : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  STOU   ( www.ccdkm.org ) และได้มีข้อเสนอและมาตรการต่างๆ ออกมา ซึ่งประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจได้แก่ข้อเสนอที่ว่าโครงการควรขยายขอบข่ายไปยังสมาชิกอื่นๆ ที่เหลือของอาเซียนด้วยเพื่อที่จะให้ประโยชน์เกิดไม่เฉพาะกับ 4 ประเทศแต่กับทุกประเทศในอาเซียน ซึ่งผมเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง

 

ในการไปเยี่ยมดูงานที่บริษัท  TCIL ในวันนั้น มีทูตประเทศหนึ่งถามด้วยความสงสัยว่าทำไมโครงการดังกล่าวจึงมีให้เฉพาะ 4 ประเทศเท่านั้น คำตอบที่ได้รับจากทูตอีกประเทศหนึ่งก็คือเป็นเพราะทั้ง 4 ประเทศเป็นประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดในอาเซียน จึงเห็นว่าให้ทำเฉพาะใน 4 ประเทศดังกล่าว

ผมฟังเหตุผลนี้แล้วก็รู้สึกกังวลใจพอสมควร ในฐานะที่เป็นผู้แทนประเทศไทย หนึ่งในอาเซียน 10 ประเทศ ในที่นั้น ก็เห็นว่าประโยชน์ที่จะได้รับจากการส่งผ่านความรู้ทางการสื่อสารนั้นน่าจะให้คนไทยได้รับประโยชน์นั้นด้วย ผมไม่ได้ขัดข้องเลยที่อินเดียมุ่งมั่นจะพัฒนาโครงการดังกล่าวกับ 4 ประเทศในอาเซียน เป็นเรื่องที่ดีมาก ซึ่งเมื่อ 5 ปีที่แล้วมองกันว่าทั้ง 4 ประเทศเป็นประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดในอาเซียน ก็ไม่ว่ากัน  แต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว 4 ประเทศดังกล่าวไม่ได้อยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดอีกต่อไปแล้วแต่ก้าวขึ้นมาเป็นประเทศกำลังพัฒนาเช่นประเทศอื่นอย่างน่าชื่นชม

ที่สำคัญ ผมคิดว่าคนไทยเองคงเข้าใจสภาพของประเทศไทยเราต่างกัน หากจะบอกว่าไทยเราเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่พัฒนาแล้ว ซึ่งก็หมายความว่าคนไทยส่วนใหญ่ทั่วประเทศสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและความรู้ผ่านเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัยแล้ว....กระนั้นหรือ  หรือว่าคนไทยส่วนใหญ่ทั่วประเทศ ได้รับโอกาสให้เข้าถึงการเรียนรู้ภาษาอังกฤษและมีความรู้มีทักษะในการใช้ภาษาอังกฤษในระดับที่เหมาะสมแล้ว กระนั้นหรือ ..........และเช่นกันในพื้นที่ห่างไกลความเจริญ ความต้องการทางการแพทย์ของคนในชนบทได้รับการตอบสนองอย่างทั่วถึงแล้ว...กระนั้นหรือ

ผมเห็นว่าคำตอบ ยังไม่ทำให้ผมเชื่อว่าเป็นเช่นนั้น

ผมยังเชื่อว่าคนไทยอีกจำนวนมากยังต้องการเข้าถึงความรู้ผ่านช่องทางสื่อต่างๆ  

ผมเชื่อว่าคนไทยอีกจำนวนมากหรือส่วนใหญ่ยังต้องการเรียนรู้ด้านภาษาอังกฤษที่มากกว่านี้

ผมเชื่อว่าคนไทยอีกจำนวนมากยังต้องการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่มากขึ้นและดีกว่านี้

ถ้าเรายังมองไม่เห็นภาพของประเทศตัวเองไม่ชัดเจนและถูกต้อง ผมคิดว่าเราคงจะกลายเป็นประเทศที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดในอาเซียนในอนาคตเป็นแน่

 ด้วยเหตุผลดังกล่าวมาแล้ว ผมจึงเห็นว่าไทยควรจะสนใจและเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการ E-Network ของอาเซียนที่มีอินเดียเป็นเจ้าภาพหลักกับประเทศ กัมพูชา ลาว พม่าและเวียดนาม  

ผมลังเลนิดหนึ่งที่จะนำเรื่องนี้มานำเสนอ แต่คิดว่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าและน่าจะเป็นโอกาสดีให้หน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและพิจารณาว่าเรื่องที่ผมนำเสนอนี้มีประเด็นน่าสนใจหรือไม่อย่างไร

หากผู้ใดสนใจ ขอเรียนว่าผู้อำนวยการบริษัทได้ฝากบอกว่าหากองค์กร สถาบันการศึกษาหรือบริษัทไทยใดของไทยสนใจจะร่วมมือกับบริษัท TCIL ในเรื่องโครงการโทรคมนาคมในประเทศไทย หรือสนใจจะร่วมงานด้วยกัน ก็ยินดีอย่างยิ่ง....ผมก็เอามาฝากกันนะครับ

 

 

…………………………………………

หมายเลขบันทึก: 257762เขียนเมื่อ 27 เมษายน 2009 21:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 06:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะพี่โยคี

ครั้งแรกอ่านแล้วเหมือนเรื่องไกลตัว

เป็นเรื่องของระหว่างประเทศ

เป็นเรื่องของผู้บริหรระดับสูงๆ

แต่เมื่ออ่านซ้ำแล้วจึงเข้าใจ

และเห็นว่ามีความสำคัญมากทุกหัวข้อที่พี่กล่าวมา

โดยเฉพาะการเรียนภาษาอังกฤษที่สำคัญมากในยุคนี้

บางพื้นที่ต้องเกี่ยวข้องกับคนต่างชาติ

แต่คนไทยก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ฟังไม่รู้(เหมือนตัวเอง)

ยิ่งการจะได้ออกไปทำงานอะไรในต่างประเทศ ก็เป็นอันจบกัน

ส่วนเรื่องการแพทย์นั้น ประเทศไทยต้องยอมรับ

ว่าระบบของเรายังไปไม่ถึงการใให้คำปรึกษา

หรือการรักษาแบบออนไลน์ โดยเฉพาะชนบท

เอาแค่จะมีแพทย์ลงไปถึงเดือนละครั้ง ก็ยังไม่สมบูรณ์

เมื่อเกิดฉุกเฉินก็ต้องอาศัยการส่งต่อให้เร็วที่สุด

แต่ก่อนมี โครงการ พอ.สว.ทางอากาศ สามารถใช้วิทยุสื่อสาร

ขอความช่วยเหลือจากแพทย์ได้

แต่พอนานวันเข้า ระบบนี้ก็หายไป

แอบคิดๆว่า ถ้าเป็นไปได้ อยากเป็นแหล่งทดลองของประเทศไทย

เพราะชนบทไทย ก็คงไม่แพ้ประเทศ ทั้ง 4 สักเท่าไหร่หรอกค่ะ

แต่จะเริ่มต้นอย่างไรดีหนอ ?

สวัสดีค่ะ คุณพลเดช วรฉัตร

เข้ามาเยี่ยม มาชม

บทความมีประโยชน์ดีค่ะ

โชคดี มีสุขในการทำงานนะคะ

โยคีน้อย ตันติราพันธ์

ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ อินเดียเป็นผู้นำทางด้านไอทีและการให้บริการทางด้านนี้

การใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษามีข้อดีโดยเฉพาะกับประเทศที่ยังมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงความรู้

ซึ่งประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่แน่นอน เราต้องดูตัวเองให้ละเอียดและถูกต้อง

ผู้บริหาร บางคนหรือส่วนใหญ่ อาจจะมองตรงนี้ไม่ละเอียด และอาจจะ (อาจจะ)ไม่เข้าใจเรื่องเทคโนโลยีในทางที่บวกอีกทั้งหากไม่ได้เป็นผู้สนใจเรื่องโทรคมนาคม หรืออินเตอร์เน็ต  ก็คงไม่ทราบจริงๆ ว่าอินเตอร์เน็ตสามารถทำสิ่งดีๆ ให้ได้อย่างไรกับคนที่ยังขาดโอกาสและอยู่ในพื้นที่ห่างไกล

ความรู้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน สามารถแผ่ไปถึงในที่ที่ต้องการได้ เพียงแต่รู้ช่องทางและจัดการสื่อให้เหมาะสม

ทัศนคติหรือวิสัยทัศน์ของผู้บริหารหรือผู้นำองค์กรจึงสำคัญยิ่ง

จะเริ่มอย่างไร

เหมือนที่บอกว่า ถ้าเปรียบฐานความรู้เป็นลูกโป่งน้ำลอยฟ้าที่มีขนาดมหึมา ทำอย่างไรจึงจะเจาะหรือต่อท่อเอาน้ำมาใช้

ก็ให้หน่วยงานนั้นติดต่อ TCIL ของอินเดียโดยตรงเพื่อขอมีความร่วมมือด้านการศึกษาทางไกล

จะได้ทั้งการเรียนภาษาอังกฤษและความรู้ต่างๆ จากอินเดียซึ่งเป็นดินแดนแห่งปัญญาของโลก

 

 

 

 

 คุณ ภัทรานิษฐ์ เจริญธรรม ครับ

อยากเห็นการร่วมมือในด้านการศึกษาระหว่างไทยแบอินเดียให้มากกว่านี้ครับ

โดยเฉพาะ อินเดีย ในฐานะที่เป็นผู้นำด้านไอทีและบริการที่เกี่ยวข้อง

ทำอย่างไรจึงจะดึงความรู้ตรงนี้ไปให้คนไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางความรู้

ช่วยกันคิดนะครับ น่าจะดีที่สุด

ของคุณครับที่แวะมาทักทาย

สวัสดีค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ อ่านตั้งแต่ต้นจนจบ

สิ่งที่รู้สึกคือจะเสียดายมากหากประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมโครงการนี้ค่ะ สี่ไม่ทราบเบื้องหลังเบื้องลึกใดๆ ว่าเหตุใดประเทศไทยถึงมิได้อยู่ในโครงการนี้ด้วย แต่สี่มองแค่ผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเท่านั้น

ขอบคุณข่าวสารอันมีประโยชน์ที่ช่วยลดความไม่รู้ของเด็กคนหนึ่งลงค่ะ

คุณ สี่ซี่ ครับ

ความจริงแล้ว ไทย หน่วยงานไทย สถาบันการศึกษาหรือเอกชนไทยสามารถติดต่อ ริเริ่มและขอร่วมโครงการในลักษณะนี้ กับอินเดีย เช่นบริษัท  TCIL ที่ว่านี้ได้นะครับ

ขอเพียงมีความสนใจ เข้าใจและรู้ถึงศักยภาพของเทคโนโลยี ไอทีและของอินเดียในด้านนี้

การปฏิสมัพันธ์กับคนที่เก่งในด้านต่างๆ ก็จะทำให้ได้ความรู้มากมายครับ

คนไทยต้องพัฒนาตนในเรื่องการปฏิสัมพันธ์ในระดับระหว่างประเทศให้มากขึ้นครับ ถ้าประชาชนติดต่อกันเองได้ ก็จะช่วยตรงนี้ครับ

โชคดีครับ

 

สวัสดีค่ะพี่โยคี

ขอคำปรึกษาแนะนำ

และรายละเอียดจากพี่มากกว่านี้

สนใจจริงๆนะคะ

แต่รายละเอียดเท่านี้ และขาดคนแนะนำ

ประสานงานให้

คงเจาะเอาปัญญามาใช้ไม่สำเร็จแน่เลยค่ะ

โยคีน้อยตันติราพันธ์

ได้เลย

ติดต่ออาจารย์ดร.กมลรัฐ อินทรทัศน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชได้เลย

หรือหากอาจารย์เข้ามาอ่าน กรุณาให้อีเมล์ติดต่อด้วยครับ

ร่วมบุญกันเพื่อคนไทยนะครับ ล้วนเป็นกัลยาณมิตรกันทั้งนั้น

เจริญสุขครับ

กมลรัฐ อินทรทัศน์

ขอบพระคุณท่านฑูตพลเดชเป็นอย่างสูงค่ะ แอบชื่นชมในการเป็นท่านฑูตติดประชาชน (ติดดิน) ของท่านมากค่ะ ต้องขออภัยที่ตอบช้าค่ะ เพราะเมื่อวานไปประชุมหลักสูตรที่ ม.เกษตรศาสตร์ครึ่งบ่าย ก็จะเปิดวิชา International Development Communication การสื่อสารระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนา จริงๆแล้วเปิดมา 2 ปีแล้วค่ะ งานนี้ได้สนุก เดี๋ยวรอท่านฑูตกลับมาประเทศไทยจะเรียนเชิญให้วิทยาทานเด้กไทยด้วยนะคะ เป็นโครงการปริญญาโทสายการสื่อสารเพื่อการพัฒนา เปิดมาเป้นร่นที่ 11 แล้วค่ะ ใช้ภาษาอังกฤษสอน ราคาไม่แพง เพราะอยากให้เด้กไทยที่เรียนสายสื่อเพื่อการพัฒนาได้มีโอกาสใช้ภาษาอังกฤษบ้างในราคาไม่แพงนัก เป็นโครงการเล็กๆค่ะ อยู่ในภาควิชาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตร คณะเกษตรค่ะ แต่อย่างไรก็ตามคณะมนุษย์ฯ ก้ได้รับอนุมัติเป็นภาควิชาสื่อสารมวลชน และอนุมัติสื่อสารและสารสนเทศแล้วค่ะ ก็เคลื่อนกันไปเยอะค่ะ แต่ก้มีคนทำงานน้อย เป้นแรงมด ค่อยๆเดินไปเรื่อยๆค่ะ

ที่คุยเรื่องนี้เพราะตอนรุ่นที่ 7-8 ก็พยายามเรียน online เป็น joint program กัย UPOU (university of the Philippines) วิชา Communication for Social Marketing นิสิตชอบกันมากค่ะ แต่ทาง UPOU ติดขัดเรื่องเน็ตที่ล่มๆดอนๆ เลยเลิกไป

ก็เลยเป้นตัวพิสูจน์ว่าเด้กไทยเราทำได้แน่ และในส่วนของชุมชนเอง ถ้า focus มาที่ ครอบครัว ICT ชุมชน ของเราที่ดิฉันเองลงไปคลุกมา 2 ปีเป็น 65 ศูนย์ฯ ในบรรดาศูนย์ฯเหล่านั้นก็มีกล่มหมออนามัยด้วยค่ะ เรียกว่าถ้าพวกเราสามารถที่จะอาสาลุยเปิดทางให้พวกเขา จะมีช้างเผือกหลายเชือกเลยค่ะ ดิฉันจะลองไปปรึกษาทั้งทางกระทรวง ICT และอธิการมสธ. ค่ะ ถ้าทั้ง 2 ท่านยังไม่เห็นด้วย เราก็อาจจะเอาศูนย์วิจัย CCDKM (www.ccdkm.org) เป้นหลักร่วมกับหน่วยอื่นๆที่เห็นไประโยชน์ก้ได้ค่ะ

ตอนนี้ดิฉันย้ายมาอยู่ที่ มสธ.แล้วเพราะอยากจะมาทำเรื่องแนวๆนี้แหละค่ะ เคยทำกับ COL แคนาดาเรื่องการเกษตรสมัยอยู่มก. แต่ดูที่นั่นยังไม่มีใครสนใจนัก ที่มสธ.เลยชวนมาทำแนวๆนี้กับปงเอกค่ะ ก็เลยพยายามทำดู แต่ก็ช้าหน่อยค่ะ งานเยอะมา และวันที่ 1 พค. นี้เรากำลังจะส่งมอบของขัวญให้ศูนย์เรียนรุ้ ICT ชุมชนทั่วประเทศ เป็นหนังสือแนว how to ค่ะ ชื่อ ThaiTelecentre : ศูนย์ที่ที่เคลื่อนด้วย "ใจ" ของชุมชนค่ะ รีบรอ้นที่จะให้ทัน kick off ปีนี้ค่ะ มากัน 500 กว่าคน ว่าจะเอาไว้ฝากท่านฑูตด้วยค่ะ

ส่งข่าวเท่านี้ก่อนนะคะ ขอบพระคุณท่านมากค่ะ

กมลรัฐ

อจ.กมลรัฐครับ

ขอบคุณครับ

ผมเห็นโอกาสอีกมากมายของอินเดียที่คนไทยสามารถจะร่วมมือให้เกิดประโยชน์ร่วมกันได้

การศึกษาเป็นหนึ่งเรื่องที่เด่นชัดว่าอินเดียมีฐานการศึกษาที่แข็ง

ยินดีอย่างยิ่วที่ทราบว่าอาจารยืทำอะไรมากมาย ที่ล้วนเป็นประโยชน์กับเด็กไทย

สร้างช้างเผือกให้เกิดได้ ผมเชื่อว่าอาจารย์ทำได้ครับ

ในขณะที่อินเดียผลิตนักษึกษาด้านไอทีปีละ 3-4 แสนคน อยากให้คิดว่าเด็กไทยก็มีความสามารถ หากได้รับโอกาส

แต่อยู่ที่ว่าเรา ผู้ใหญ่สนใจและมองหาโอกาสให้เด็กไทยหรือไม่

ผมคิดว่าเป็นเรื่องของการมีวิสัยทัศน์ในเรื่องการ "สื่อสาร" และสารสนเทศของผู้บริหารบ้านเมือง

ถ้าไม่เข้าใจศักยภาพ ไม่เคยใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ ไม่ได้ "ติด" อินเตอร์เน็ต ก็จะไม่คิดว่าจะเป็นประโยชน์และอาจมองไม่เห็นงานที่จะทำให้เกิดจากการนี้

นึกถึงการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่หากจะคนในระดับรากหญ้าสามารถเข้าถึงได้ง่ายดาย จะทำให้คนไทยมีโอกาสในตลาดแรงงานในต่างประเทศอีกมาก

ผมนึกถึงหมออนามัย ที่ต้องการพัฒนาภาษาอังกฤษ เพื่อที่จะพัฒนาวิชาชีพ พัฒนาตนเองและสามารถออกไปทำงานในต่างประเทศได้

ทุกอย่างเริ่มที่ใจนะครับ ขอเอาใจช่วยให้อาจารย์สามารถสานฝันเพื่อเด็กไทยครับ

เจริญสุขครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท