"การเรียนรู้" ของผู้ที่ประสบความสำเร็จ มักเริ่มต้นจาก "การจดบันทึก"


การศึกษามิใช่อยู่ที่ว่าคุณจำได้เท่าไหร่ หรือคุณรู้มากแค่ไหน แต่อยู่ที่ว่าคุณสามารถแยกแยะข้อแตกต่างระหว่างสิ่งที่คุณรู้กับสิ่งที่คุณไม่รู้ได้ ... อนาโตล ฟรองซ์

หนังสือที่ดูเป็นเรื่องของธรรมะ การนั่งสมาธิหาคำตอบให้กับชีวิตบางอย่าง กลับพบว่า มีบทที่พูดถึง "การเรียนรู้" แถมเป็นการเรียนรู้โดยใช้ "การจดบันทึก" เป็นอาวุธทางปัญญา

เชิญชวนลองอ่านหาความรู้ดูครับ

 

เรียนรู้ ... (คมสัน วิเศษธร)

 

การศึกษาหาความรู้ ไม่จำเป็นต้องทำที่โรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัยเท่านั้น การไปห้องสมุด ร้านหนังสือ ไปนั่งตามร้านอาหาร หรือพูดคุยกับคนอื่น ก็เพิ่มรอยหยักในสมองได้เหมือนกัน

การเดินทาง ออกนอกบ้านไปพบเจอสิ่งแวดล้อมแปลก ๆ ทั้งผู้คนและสถานที่จะทำให้ได้รับความรู้ใหม่ ๆ ก่อเกิดเป็นฐานข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ได้ภายหลัง

หรือจะใช้วิธีเดินทางอีกรูปแบบหนึ่งคือ การชมภาพยนตร์ก็เก๋ไปอีกแบบ เพราะภาพยนตร์จะดึงให้เรารู้สึกร่วมไปกับเนื้อเรื่องและตัวละคร มุมมอง แง่คิด และความเห็นที่ได้เป็นเหมือนกระจกสะท้อนภาพของชีวิต แถมยังมีสัจธรรมดี ๆ ให้เราจดจำไม่ลืมเลือน

แต่จะดียิ่งขึ้นหากขณะเดินทางได้พูดคุย แบ่งปัน หรือแลกเปลี่ยนประสบการณ์ส่วนตัวกับใคร แล้วลอง สังเกต บุคคลที่เรากำลังสนทนาอยู่ด้วยบ้าง เพียงพิจารณาถ้อยคำที่พูด สังเกตอากัปกิริยาท่าทางการเล่า ดูสายตาว่าวอกแวกหรือไม่ ไม่แน่ เราอาจอ่านใจคนที่กำลังคุยกับเราอยู่ได้ว่าเป็นเช่นไร น่าเชื่อถือไหม พูดจริงหรือโกหกแค่ไหนกัน ยิ่งถ้าได้ลองสังเกตคนที่เล่าเรื่องราวต่าง ๆ ได้เป็นคุ้งเป็นแคว บางทีเราอาจพบเคล็ดลับดี ๆ ในตัวเขาหรือเธอผู้นั้นก็เป็นได้

 

การสังเกตเป็นประตูสู่การรับความรู้มากมาย หากอยากเป็นนักสื่อสารที่ดีต้องหัดสังเกตสิ่งรอบข้างให้ถี่ถ้วนละเอียดลออเข้าไว้ พยายามเข้าถึงรายละเอียดต่าง ๆ ให้มากกว่าคนทั่วไป หูตาต้องว่องไว ฟังอะไรมองอะไรต้องลึกซึ้ง

นอกจากการสังเกต การรู้จัก ย่อยความรู้ ให้เป็นของตัวเองก็สำคัญไม่แพ้กัน

ผมนึกย้อนไปถึงสมัยเรียน สถานศึกษาหลายแห่งมักไม่ค่อยมีการเรียนการสอนแบบวิเคราะห์มากนัก นอกจากเน้นการท่องจำ ไม่เคยสอนให้รู้จักคิด ซึมซับความรู้ และย่อยออกมาเป็นของตัวเอง นักเรียนนักศึกษาหลายคนจึงถนัดแต่ตัดแปะข้อความมาส่งอาจารย์ คัดจากเล่มนั้น - เล่มนี้บ้าง ถ้าเป็นเดี๋ยวนี้ก็เอามาจากอินเทอร์เน็ต

แต่อย่ามัวเสียเวลาโทษว่า ปัจจัยใดเป็นสาเหตุอยู่เลย เรามาเปลี่ยนรูปแบบการเรียนรู้เสียใหม่ด้วยตัวของเราเอง จากการอ่านเพื่อจำให้เป็น การอ่านเพื่อความเข้าใจ ดีกว่า

สำหรับคนที่ชอบอ่าน นั่นเท่ากับได้เรียนรู้โลกกว้างไปในตัว แต่ถ้าจะให้ดีต้องลองนึกแย้ง โต้เถียง ลองค้นหาเหตุผลลึก ๆ ของผู้เขียนดูว่ามีจุดประสงค์อะไร เราเห็นด้วยหรือไม่ จากนั้นก็ค้นคว้าเพิ่มเติม หาข้อมูลสนับสนุนในสิ่งที่สงสัย แล้วจึงสรุปออกมาเป็นผลงานที่มีคุณค่าและน่าภาคภูมิใจของตน

ยิ่งใครที่อยากโตขึ้นเป็นนักเขียนยิ่งต้องอ่านให้เป็น ทั้งอ่านเอารส อ่านเอาเรื่อง และอ่านวิเคราะห์ คือแยกแยะกลวิธีการเขียนให้ออกว่า งานเขียนที่ชื่นชอบมีการดำเนินเรื่องอย่างไร สำนวนภาษาแบบไหน หัดสังเกตไว้แล้วนำมาพัฒนาสร้างสรรค์เป็นแนวทางการเขียนเฉพาะตัว

หากทำตามนี้ได้ รับรอง ไม่ว่าจะศึกษาเรื่องใด สาขาไหนก็รุ่งไปทั้งหมด

เพราะรู้จักย่อยและนำความรู้มาปรับให้เข้ากับตนเอง ฉะนั้นจึงเป็นผู้รู้ลึก รู้แจ้ง ทำได้จริงในสิ่งที่รู้ ไม่ใช่รู้เพียงทฤษฎีหรือเป็นนกแก้วนกขุนทองตัวหนึ่ง

 

การย่อยความรู้ ต้องอาศัยเวลาในการครุ่นคิดและฝึกฝน อาจไม่รวดเร็วและง่ายดายเหมือนวัฒนธรรมเร่งด่วนในปัจจุบัน ถึงแม้ความรู้ที่ย่อมและสรุปออกมาเป็นของตนจะเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง  แต่นี่คือ ... วิถีของการเรียนรู้ที่แท้จริง

เส้นทางการเรียนรู้แบบนี้ต้องอาศัยความพยายาม บุกลุย ถากถางด้วยฝีมือตัวเองเท่านั้นจึงจะก่อเกิดหนทางข้างหน้าได้ แต่สิ่งที่ยากและใช้เวลาเช่นนี้แหละจะกลายเป็นความยั่งยืนอยู่คู่กับเราไปตลอดชีวิต

เมื่อย่อยความรู้แล้วก็ถึงเวลาของเคล็ดลับความสำเร็จที่ขาดเสียไม่ได้เลย...

เคยสงสัยเคล็ดลับความสำเร็จของคนเก่ง ๆ บ้างไหม

ผมเป็นคนหนึ่งในนั้นที่อยากรู้จักวิธีสู่ชัยชนะหรือไขว่คว้า หาสิ่งที่ฝันมาให้ได้ ที่ใดมีเสวนาหรือจัดกิจกรรมเกี่ยวกับเคล็ดลับคนเก่ง ผมจะปรากฎตัวที่นั่นเสมอ

ผ่านไปหลายงาน ผมเริ่มจดจำในสิ่งที่คนเก่งพูดได้ตรงกัน นั่นคือ ต้องลงมือทำในสิ่งที่คิดและพากเพียรทำสิ่งนั้นต่อไป !

 

ผมลองนำกลับมาปฏิบัติดูบ้าง แต่ทำได้ไม่เท่าไรก็ต้องล้มเลิกกลางคัน หมดแรงเสียก่อน ผมจึงเกิดความสงสัยขึ้น (อีกแล้ว) ว่า เหตุใดผู้ที่ประสบความสำเร็จจึงมีเรี่ยวแรงของความมานะอดทนมากมายนัก เขาเอาสิ่งนี้มาจากไหน สร้างกันด้วยวิธีใดหนอ

ไม่นานมานี้ ผมก็พบคำตอบด้วยตนเองว่า คนที่ประสบความสำเร็จหรือผู้ที่มีความมุ่งมั่นนั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจาก การจดบันทึก

เพราะในสมุดบันทึกเราสามารถเขียนได้ทั้งสิ่งที่กระทำในแต่ละวัน ปัญหาที่พบ หนทางแก้ไข และความก้าวหน้า อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมเขียนสิ่งที่จะทำในวันรุ่งขึ้นด้วย เพราะการเขียนถึงสิ่งที่หวังของวันพรุ่งนี้ก็เหมือนการโปรแกรมให้สมองได้เตรียมพร้อมแต่เนิ่น ๆ พอถึงพรุ่งนี้ก็จะทำสิ่งนั้นได้สำเร็จง่ายดายขึ้น

การจดบันทึกช่วยให้เราไม่หลงทาง ทำให้รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่จึงไม่เสียเวลาไปกับการคลำหาความฝันครั้งแล้วครั้งเล่า แต่จะสานต่อสิ่งนั้นได้ทันที

เมื่อหยิบบันทึกขึ้นมาอ่านก็เท่ากับเป็นการกระตุ้นทางอ้อมเป็นอุบายให้เราหันมาฝักใฝ่กับสิ่งที่เราฝันอยู่อย่างจริงจัง ผลักดันให้คิดต่อได้เองว่า..ขอเพียงอย่าคิดฝัน แต่ต้องลงมือทำมันเท่านั้นแล้วใจก็จะเกิดกำลังขึ้นมาสานต่อความฝันอย่างฉับไว

เรามักจะเห็นคนเก่ง ๆ ชอบจดบันทึก ส่วนหนึ่งก็เพื่อป้องกันการลืมเลือน แต่อีกส่วนคือการช่วยย้ำให้ภาพความฝันชัดเจนขึ้น ยิ่งทบทวนก็ยิ่งมองเห็นก้าวต่อไปที่ชัดใสยิ่งกว่าเดิม ความฝันก็ใกล้ความจริงเข้าไปทุกขณะ

บุคคลที่ประสบความสำเร็จมักจะพกบันทึกติดตัวไว้ เพื่อไม่ให้หลงลืมว่า เป้าหมายของตนอยู่ที่ไหน เวลาสับสนเคว้งคว้างก็เปิดสมุดบันทึกอ่าน อ่านแล้วมีกำลังใจ ความมุ่งมั่น ความหวังจะกลับคืนมา เขาหรือเธอผู้นั้นก็จะก้าวต่อไปได้โดยไม่เสียเวลาไปกับความเศร้าซึมอย่างเปล่าประโยชน์

สรุปก็คือ...วันนี้ได้ทำสิ่งที่หวังแล้วหรือยัง ทำแล้วจดบันทึกไว้ และเขียนสิ่งที่จะทำพรุ่งนี้ต่อ พอลืมมาตื่นมาวันรุ่งขึ้นก็เปิดสมุดบันทึกขึ้นมาเตือนความจำ จดจำให้ขึ้นใจแล้วทำในสิ่งนั้นปฏิบัติเช่นนี้เรื่อย ๆ ความเก่ง ความชำนาญ ย่อมเกิดขึ้นกับเราอย่างแน่นอน

นี่คือเคล็ดลับแห่งความสำเร็จที่ใคร ๆ ก็ทำได้ อยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่ มีความตั้งใจจริงหรือเปล่า การประสบความสำเร็จในเรื่องใดก็คือ การทุ่มเทพลังทั้งหมดไปกับเรื่องนั้น

น่าเสียดายที่คนส่วนใหญ่ชอบถอดใจ ถอยหลัง และเดินหนีไปเสียก่อน

 

ไหน ๆ ก็พูดถึงการเรียนรู้แล้ว ผมมีอีกสถานที่หนึ่งซึ่งจะทำให้มนุษย์เราเรียนรู้ความจริงได้อย่างถ่องแท้ นั่นคือ โรงพยาบาล

โรงพยาบาลคือ สถานที่ที่มีการปรุงแต่งน้อยที่สุด อบอวลไปด้วยกลิ่นยาเวชภัณฑ์ แถมยังมีกระแสความทุกข์ล่องลอยในบรรยากาศให้สัมผัสได้ทุกขณะ

ความทุกข์ คือ สัจธรรมที่พบเห็นเป็นประจำในสถานที่แห่งนี้

ความทุกข์อยู่ในลมหายใจของผู้คน

ยิ่งได้เห็นสีหน้า แววตา ท่าทางของคนที่มาโรงพยาบาลพร้อมกับอาการป่วยไข้ ยิ่งเข้าใจได้ว่า ทุกคนมีความทุกข์เป็นส่วนประกอบหนึ่งด้วยกันทั้งนั้น

นี่คือสภาพความเป็นจริงของชีวิต ร่างกายเสื่อมถอยและย่อยสลายไปในที่สุด เป็นปลายทางที่ทุกคนต้องเดินทางไปพบ ไม่มีใครฝืนธรรมชาติข้อนี้ได้

 

แต่สภาพสังคมปัจจุบันทำให้เราไม่เห็นความทุกข์ในชีวิตเพราะมีสิ่งอำนวยความสะดวกและวัตถุปรุงแต่งปกปิดมากมาย เราจึงลืมหลงความทุกข์ที่ติดตัวมาตั้งแต่ไหนแต่ไร

ต่อเมื่อมีญาติ พ่อแม่พี่น้องเข้าโรงพยาบาล วินาทีนั้นและที่จะทำให้มองเห็นอีกด้านของชีวิต บางคนถึงกับช็อก ตั้งสติไม่อยู่ ยิ่งทุกข์หนัก เจ็บป่วยไปพร้อมกับญาติในโรงพยาบาล

...หากเวลาผ่านพ้นจนตั้งสติได้

ขอจงหมายใจไว้เลยว่า นั้บแต่นี้ต้องไม่ประมาทกับชีวิตอีกจะดูแลสุขภาพกายและใจให้ดี ผ่อนคลายความเคร่งเครียด ความจริงจังลง และหันมาประพฤติตนตามแนวทางที่เหมาะสมตลอดไป

ถ้าไปโรงพยาบาลแล้วคิดอย่างนี้ได้...ถือว่าเป็นกำไรของชีวิต !

โรงพยาบาลช่วยให้รู้เนื้อรู้ตัว รู้จักเตรียมใจล่วงหน้า รู้ความจริงของชีวิตมากขึ้น ทั้งยังได้ทำความดี ปฏิบัติหน้าที่เป็นลูกกตัญญูรู้คุณตอบแทนคนที่เรารักยามป่วยไข้

แม้ความจริงจะเลวร้าย แต่ก็มีแง่คิดดี ๆ ซ่อนไว้ให้เราคิดบวก

 

.......................................................................................................................................

 

การจดบันทึก คือ การเขียนบันทึกลงในสมุดบันทึกส่วนตัว เพื่อเตือนความทรงจำ

ทำให้ผมนึกถึงวิธีการเขียนบันทึกในบล็อกของ Gotoknow ยังไงยังงั้น

ซึ่งข้อมูลในบันทึกนี้ สามารถนำไปใช้อธิบายถึงประโยชน์ของการเขียนบันทึกได้เป็นอย่างดี

ว่า การเขียนบันทึกมีประโยชน์เพียงใด แถมยังมีคำว่า การจัดการความรู้ ติดปลายนวมด้วยนะ

เรียกยังไงดี ...

 

"การเขียนบันทึก เป็นอาวุธทางปัญญา .. ที่เปิดหู เปิดตา เปิดใจ ของตนเอง"

 

ขอบคุณครับ :)

 

.......................................................................................................................................


แหล่งอ้างอิง

คมสัน  วิเศษธร.  ปรากฏการณ์ตาสว่าง.  กรุงเทพฯ: อมรินทร์ธรรมะ, ๒๕๕๒.

 

หมายเลขบันทึก: 256177เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2009 01:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (24)

สวัสดีครับท่านอาจารย์ ทุกวันนี้ เราอ่านหนังคล้ายกับรับประทานอาหาร คือเร่งรีบ

ยี่งเป็นของกินที่ไม่ต้องเคี้ยว เรายิ่งชอบ คือประหยัดเวลา เราหิวข้าว ก็กินนมแทน

การอ่านก็เหมือนการกิน คือคอ่ยเคี้ยว ค่อยๆกลืนมันจะประโยชน์มีคุณค่า เหมือนอาหารครับท่าน

ขอบคุณ ท่าน  วอญ่า-ผู้เฒ่า ที่แวะมาให้มุมมองว่า

"การอ่าน เหมือน การทานข้าว แต่ต้องค่อย ๆ กลืน ค่อย ๆ เคี้ยว"

:)

"จำดีกว่าจด แต่ถ้าคิดว่าจะจำได้ไม่หมด จดดีกว่าจำ อยากได้ความรู้ลึกล้ำ ต้อง ทั้งจำทั้งจด" ครับ ขอบคุณมากครับ

สวัสดีค่ะ

  • ความจริงจะเป็นหนทางสู่ความดีและความงาม..ในจิตใจนะคะอาจารย์
  • ขอขอบคุณค่ะ..อ่านแล้วเป็นกำลัง
  • ที่..เกือบจะถอยหนี..ค่ะ

สวัสดีครับ

......

ผมจดบันทึกมาตั้งแต่เด็กเลยครับ และปฏิบัติมากขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น อย่างน้อยตอนนี้มี gotoknow ส่วนหนึ่งผมก็บันทึก offline เป็นสมุดบันทึก เป็นส่วนหนึ่งของนักวิจัยนะครับที่ต้อง จด จด และ จด ไว้ก่อนเพื่อนำมาสังเคราะห์ วิเคราะห์ อีกครั้ง

วัฒนธรรมการบันทึก ของไทย ผมว่ามีปัญหามากเหมือนกันครับ หลายครั้งในเวทีอบรม สัมมนา ผมมักจะเห็นผู้ใหญ่(ส่วนใหญ่) เขียนไม่เป็น เมื่อเขียนไม่เป็นก็สังเคราะห์ความคิดออกมาไม่ได้

เหมือนอย่างที่ผมได้สนทนากับอาจารย์ Was  ที่เชียงใหม่ นะครับ คุณครูหลายท่านก็มีปัญหาการเขียน เพราะสมัยนี้แผนการสอนมีแบบสำเร็จรูป หยิบเอามาใช้ง่ายๆสะดวกๆครับ

ส่วนกิจกรรม "เร้าให้เขียนบันทึก" ที่เราจะจัดกันที่เชียงใหม่ กลาง พค. นั้น ผมขอยืนยันวันที่เดิมนะครับ เพราะผมจัดวันเรียบร้อยแล้วครับ :)

ขอแลกเปลี่ยนค่ะ

  • ถ้าเราฝึกให้เด็กๆ หัดจดบันทึกก็จะดีเหมือนกันนะคะ
  • เราจะได้ลดปัญหาเมื่อเติบโตแล้วเด็กๆ เขียนหนังสือไม่เป็น...
  • เขียนไม่เป็น คือ เขียนได้ แต่ เขียนแล้วจับประเด็นไม่ได้ เขียนย่อความไม่เป็น
    เขียนวนไปมา เขียนแล้วสื่อความไม่ได้หรือไม่ชัดเจน ฯลฯ
  • เห็นด้วยกับคุณเอกว่า...เราต้องสร้างวัฒนธรรมการบันทึกให้กับสังคมกระมัง
  • หลายๆ ครั้งผู้ฟังพบเรื่องที่น่าสนใจจากเวทีสัมมนาหรืออบรม มักจะไม่จด และจะ
    เข้าไปขอ powerpoint ซึ่งเป็นเพียงสรุปย่อความคิดของผู้บรรยาย ซึ่งบางครั้ง
    ได้ไปแล้วก็ไม่ได้ช่วยให้เข้าใจ เพราะไม่ได้เกิดจากความเข้าใจเช่นการจดบันทึกเอง

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะ

สมัยเป็นเด็กวัยรุ่น ชอบจดบันทึกเหตุการณ์และความทรงจำของตนเองทุกวัน 

พอปัจุบันเอากลับมาอ่านดูใหม่ทำให้ทึ่งว่า  เราเขียนได้ดีจังเลย  เป็นเรื่องเป็นราวและสนุกน่าติดตาม 

ภาพเหตุการณ์ในอดีตผุดขึ้นมาราวกับพึ่งผ่านไป

แต่น่าเสียดายในปัจุบันที่ภารกิจประจำวันมากมาย  ขาดการบันทึกและสมาธิ  ทำให้การสังเคราะห์ความรู้ของตนเองน้อยลงทุกวันๆ

คงต้องพยายามพัฒนาค่ะ

  • ได้ข้อคิดที่ดีมาก ๆ เลยครับ....
  • ขอบคุณมากครับ

ชยพร แอคะรัจน์

สวัสดีครับคุณพี่Wasawat Deemarn
บันทึกซธยาวเชียวครับพี่ 555

เห็นด้วยกับพี่pis.ratana นะครับ ชวนให้เด็กเขียนและฝึกระบบการคิดก่อนเขียน คิดก่อนพูดด้วย :)

เห็นด้วยกับพี่ที่บอกว่าเรา(คนไทย)ส่วนใหญ่ยังบันทึกไม่ค่อยเก่ง หลักฐานต่างๆที่ทำให้เราก้าวหน้ามาถึงทุกวันนี้ก็ได้จากบันทึกของคนรุ่นก่อนใช่มั้ยครับ :)

คุณพี่Wasครับ เดย์ขออณุญาตแนะนำเพื่อนสมาชิกใหม่ไว้คนนึงนะครับชื่อ มันนี่ P คนสร้างภาพ » คนสร้างภาพ.... เป็นเพื่อนที่ทำงานเดย์เองครับผม ชอบถ่ายรูปมากม๊าก อิอิ น่าจะแลกเปลี่ยนกันได้สนุกสนานนะครับ :)

ขอบคุณมากๆนะคร๊าบพี่

ทั้งจำทั้งจดที่ดีซู้ดเลยนะครับ ท่าน ผอ.บวร :)

ขอบคุณมากครับ

คุณ ครูคิม อย่าเพิ่งถอยหนี ... เพราะในชีวิตทุก ๆ วันยังมีอะไรที่บอกเล่าให้กัลยาณมิตรท่านอื่นได้ฟังไว้เป็นวิทยาทานอีกมากมายครับ :)

ขอบคุณครับ

สวัสดีปีใหม่ไทยค่ะอ.เสือ

...

เป็นไงบ้างค่ะกับสงกรานต์ ณ เวียงพิงค์ :)

"""

แม้ความจริงจะเลวร้าย แต่ก็มีแง่คิดดี ๆ ซ่อนไว้ให้เราคิดบวก

มีความสุข กับ การเขียน บันทึก สังเกต ถ่ายภาพ และ กิจกรรมที่ชอบ นะคะ

.. ขอบคุณ บทความดีๆ เช่นเคยค่ะ  :)

สวัสดีครับ คุณเอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร :)

เห็นเต็มตาเลยครับว่า คุณเอก คือ ผู้ที่ใช้การจดบันทึกเป็นอาวุธหลัก :) ... เหมือนเพื่อนอาจารย์อ้อยของผมครับ ... เวลาลงพื้นที่ เวลานัดหมาย จะมีสมุดเก่า ๆ อยู่เล่มหนึ่ง จด จด จด เหมือนคุณเอกเปี๊ยบ สมกับเป็นนักวิจัยทั้งสองท่าน

บ้านเรา .. มีคนมีความรู้มากมายแต่ไม่ค่อยได้เขียน หรือเขียนไม่ค่อยเป็น แต่พูดซะส่วนใหญ่ ขนาดผมยังเขียนไม่เป็นเลยครับ ไม่ค่อยจะมุ่งมั่นยาวนานนัก งานเลยไม่ค่อยออก ::)

กิจกรรมเร้าให้บันทึก ... ยืนยันตามเจ้าของโครงการครับ อิ อิ ... ผมอ่ะ ผู้ช่วยครับ 555

ขอบคุณครับ :)

ชอบความคิดของคุณ pis.ratana จังครับ :)

  • เด็กเราเขียนไม่เป็น เขียนแล้ววนไปวนมาจริง ๆ ครับ เวลาผมตรวจข้อสอบอัตนัยอ่านแล้วก็ "เมาหัวจ้น ๆ" ครับ
  • การรณรงค์ เรื่อง วัฒนธรรมการเขียน หรือ การจดบันทึก น่าจะมีในสังคมไทยได้แล้วนะครับ
  • แต่ประเด็นนี้ชอบหนักครับ ... ผู้เข้าสัมมนาชอบวิ่งมาขอ PowerPoint แบบไม่ต้องจด เหอ เหอ ผมโดนประจำ ขอจัง ขอจริง ... แล้วก็ไม่ทราบเหมือนกันว่า อ่านหรือเปล่า เอาไปน่ะ

ขอบคุณครับ :)

ผมเชียร์คุณครู อรวรรณ นะครับให้เขียนบันทึกใน Gotoknow ต่อไปด้วยความตั้งใจครับ เพราะคุณครู อรวรรณ มีพื้นความชื่นชอบในการเขียนบันทึกอยู่แล้ว ย่อมเขียนออกมาน่าสนใจแน่นอนครับ

ขอบคุณครับ :)

ยินดีและขอบคุณท่านอาจารย์ ชยพร แอคะรัจน์ มาก ๆ ครับ :)

สวัสดีครับ คุณน้อง adayday :)

ยาวประจำแหละครับ น้อง

เนี่ยนะ หลายตำราว่าไว้ตลอดเลยว่า "การเขียนนำไปสู่การเชื่อมต่อของปัญญาของเรา ทำให้เราสามารถรู้คิดได้ชาญฉลาดกว่าคนปกติ"

ขอบคุณที่แนะนำบล็อกเกอร์ท่านใหม่ครับ

เดี๋ยวแวะชม :)

ว้าว คุณ poo โผล่มายังไงนั่น :)

กลัวน้ำจนไม่ยอมออกไปไหนไงครับ ... ปีนี้โดนแถวหมู่บ้านไป 1 ครั้ง โหย แค้น ... หลบแล้วนั่นน่ะ 555

มองสิ่งบวก ๆ ชีวิตจะได้มีกำลังใจครับ

ขอบคุณครับ :)

ดีใจด้วยนะคะ อ.หนอนเสือ ยังโดนไป 1 แสดงว่าเรทติ้งยังดีไงคะ :)

"""

ว่าแต่ วันคล้ายวันเกิดใครหนอ เมษ นี้ วันก่อนอ.บอกผิดหนา 19.3 ?

มีความสุขมากๆ นะคะ

 

ผมถือว่าการเขียนบล็อก เป็นส่วนหนึ่งของการจดบันทึกชีวิตของตัวเอง

....

ขอบคุณสาระดีๆ...นะครับ

จำมิได้แล้วครับคุณ poo ... ผมได้บอกไว้ที่ไหนน้า ... :)

ขอบคุณมากครับสำหรับคำอำนวยพร

"BLOG คือ บันทึกชีวิต" ...

สบายดีนะครับ คุณ แผ่นดิน :)

การย่อยความรู้ ต้อง อาศัยเวลาในการครุ่นคิดและฝึกฝน

อาจไม่รวดเร็วและง่ายดายเหมือนวัฒนธรรมเร่งด่วนในปัจจุบัน

ถึงแม้ความรู้ที่ย่อยและสรุปออกมาเป็นของตนจะเป็นสิ่งที่หาได้ยากยิ่ง 

แต่นี่คือ ... วิถีของการเรียนรู้ที่แท้จริง

เส้นทางการเรียนรู้แบบนี้ต้องอาศัยความพยายาม บุกลุย

ถากถางด้วยฝีมือตัวเองเท่านั้นจึงจะก่อเกิดหนทางข้างหน้าได้

แต่สิ่งที่ยากและใช้เวลาเช่นนี้แหละจะกลายเป็นความยั่งยืนอยู่คู่กับเราไป ตลอดชีวิต!

.........................

คนที่ประสบความสำเร็จหรือผู้ที่มีความมุ่งมั่นนั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจาก การจดบันทึก

เพราะในสมุดบันทึกเราสามารถเขียนได้ทั้งสิ่งที่กระทำในแต่ละวัน

ปัญหาที่พบ หนทางแก้ไข และความก้าวหน้า

อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมเขียน สิ่งที่จะทำในวันรุ่งขึ้นด้วย

เพราะการเขียนถึงสิ่งที่หวังของวันพรุ่งนี้ก็เหมือนการโปรแกรมให้สมองได้เตรียมพร้อมแต่เนิ่น ๆ

พอถึงพรุ่งนี้ก็จะทำสิ่งนั้นได้สำเร็จง่ายดายขึ้น

...

บุคคลที่ประสบความสำเร็จมักจะพกบันทึกติดตัวไว้

เพื่อไม่ให้หลงลืมว่า เป้าหมายของตนอยู่ที่ไหน

เวลาสับสนเคว้งคว้างก็เปิดสมุดบันทึกอ่าน อ่านแล้วมีกำลังใจ ความมุ่งมั่น ความหวังจะกลับคืนมา

เขาหรือเธอผู้นั้นก็จะก้าวต่อไปได้โดยไม่เสียเวลาไปกับความเศร้าซึมอย่าง เปล่าประโยชน์

...........

 

"การเขียนบันทึก เป็นอาวุธทางปัญญา .. ที่เปิดหู เปิดตา เปิดใจ ของตนเอง"

.....

บันทึกยาวววมาก

แต่ยอดเยี่ยมจริงๆค่ะ

ขอบคุณมากนะคะ

(ขออภัยนะคะครู ขอคัดลอกมาแปะในความเห็นตนเองยาว เพื่อสะดวกสำหรับการทบทวนและตามอ่านอีกค่ะ)

ยินดีและขอบคุณครับ คุณ Tawandin ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท