หมอบ้านนอกไปนอก(89): คลี่ม่านภาษา


การไม่เห็นความสำคัญหรืออาจจะด้วยมิจฉาทิฐิของผมเอง ที่ทำให้ผมละทิ้งภาษาอังกฤษไปนานมาก หากไม่ได้มีโอกาสไปเรียนที่เบลเยียมก็คงยังคิดแบบเดิม เป็นหมอบ้านนอก ใช้ภาษาไทย ภาษาถิ่นได้ก็พอ ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษเก่ง แต่จริงๆแล้วมันไม่ใช่ โลกทุกวันนี้แคบลงมาก จนการเดินทางและการสื่อสารถึงกันหมดอย่างรวดเร็ว ภาษาสากลอย่างภาษาอังกฤษจึงมีความสำคัญมาก

ผมเริ่มต้นชีวิตนักศึกษาอย่างเต็มตัวอีกครั้งในบ้านพักถนนเวอร์บอนด์สแตรต 52 เมืองแอนท์เวิปที่ใช้เวลาเดินไปเรียนแค่ไม่ถึงสิบนาทีตั้งแต่สัปดาห์แรกเดือนกันยายน 2550 จนมาถึงวันรับปริญญาบัตรในสัปดาห์ที่ 42 เดือนมิถุนายน 2551 กับการเรียนในหลักสูตรนานาชาติของสถาบันITMที่สอนเป็นภาษาอังกฤษ ในขณะที่รุ่นหน้าในปีถัดไปจะเปิดสอนเป็นภาษาฝรั่งเศส (อังกฤษสลับฝรั่งเศสปีเว้นปี) ถ้าเป็นหลักสูตรปกติจะเป็นภาษาดัชท์กับฝรั่งเศสตามภาษาราชการของเบลเยียม เพื่อนๆส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษได้ดีเพราะเคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษมาก่อนจึงใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการและคุ้นเคยดี แม้สำเนียงจะแปร่งๆออกไปตามแต่ละภูมิลำเนา แต่เขาก็สามารถพูดคุยสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว ทำให้เขามีความสมาร์ทที่จะออกความคิดเห็นร่วมกับฝรั่งได้

ส่วนผมเวลานั่งฟังบรรยายหรือคุยกับเพื่อน รู้สึกว่ามันไม่ชัดเจน เหมือนเวลามองอะไรแล้วมีม่านหรือฉากมาบัง รู้ว่าเป็นอย่างไรกันแน่ สภาพเบลอๆ เวลาคุยกับเพื่อนก็คุยได้ไม่มาก ฉากหรือม่านที่มาบัง (Barrier) นั้นก็คือภาษานั่นเอง เวลาเรียนจึงรู้สึกเหมือนกับว่ายังเข้าใจได้ไม่แจ่มแจ้งชัดเจนนัก บางทีก็ไม่แน่ใจนักว่าเราเข้าใจถูกต้องหรือไม่ แปลความหมายหรือสื่อความหมายได้ถูกต้องหรือไม่ ต้องไปรอลุ้นตอนผลสอบออกมาว่าเราตีความหรือสื่อความได้ดีหรือไม่จากคะแนนสอบ

ทำให้เข้าใจความรู้สึกของเพื่อนๆหลายคนในสมัยเรียนชั้นมัธยมศึกษาที่เรียนแล้วไม่ค่อยเข้าใจว่าเป็นอย่างไร ทั้งๆที่เราเองกลับคิดว่าไม่เห็นจะยากอะไร พอครูอธิบายปุ๊บเราก็เข้าใจปั๊บ บางหัวข้อแค่อ่านในหนังสือก็เข้าใจได้เองแล้ว ส่วนหนึ่งนั่นเป็นเพราะเราสามารถอ่านหนังสือที่เป็นภาษาไทยได้ชัดเจน ฟังครูสอนเป็นภาษาไทยได้ชัดเจน จึงทำให้ง่ายต่อการเข้าใจและจับใจความสำคัญได้ ไม่มีอุปสรรคทางด้านภาษา ขณะเดียวกันเพื่อนๆหลายคนที่เรียนแต่อาจฟังและเข้าใจความหมายที่ครูสอนได้ไม่ชัด เวลาสอบผลคะแนนจึงออกมาไม่ดี พอเรียนไม่เข้าใจบ่อยๆก็จะส่งผลให้เกิดความเบื่อและไม่อยากเข้าเรียนหรือความสนใจลดลงไป เมื่อไปอ่านหนังสือก็ไม่เข้าใจก็เลยเกิดอาการไม่อยากอ่านหนังสือ เพราะอ่านแล้วไม่สนุก ไม่เข้าใจเนื้อหาเรื่องราวเหมือนอ่านนิยายหรือการ์ตูนซึ่งเข้าใจได้ง่าย จึงทำให้สนุกและอยากอ่านมากกว่า

ผมเริ่มเรียนภาษาอังกฤษตอนขึ้นชั้นประถมปีที่ 5 ที่โรงเรียนบ้านป่ากุมเกาะกับอาจารย์ยุพมาศ ดิษนุ้ย (ปัจจุบันท่านเป็นรองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านป่ากุมเกาะ) ผมก็รู้สึกชอบและสนุกกับการเรียนภาษาอังกฤษมาตลอดจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 พอเข้าเรียนที่คณะแพทย์เชียงใหม่ก็ไม่มีคอร์สเรียนภาษาอังกฤษอีกเลย ผมเป็นคนไม่ชอบท่องศัพท์ ไม่ชอบเปิดดิกชันนารี่ ผมจะอ่านและจำศัพท์เฉพาะในหนังสือเรียนเท่านั้น ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ฝรั่ง ไม่ฟังเพลงหรือดูหนังฝรั่ง ทำให้ทักษะการฟังและการพูดหรือใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารทั่วๆไปไม่ดีนักแม้จะได้เกรดสี่ (A) มาตลอดก็ตาม ผมสามารถออกเสียงภาษาอังกฤษเป็นไทยได้ชัดเจนแต่สำเนียงฝรั่งแย่มาก และออกเสียงผิดไปหลายตัว เมื่อออกเสียงผิดเวลาเราฟังเขาพูดก็จะไม่เข้าใจเวลาเราพูดฝรั่งก็ฟังเราไม่เข้าใจ และยังคิดไปอีกว่าพอจบแพทย์แล้วก็ตั้งใจไปทำงานบ้านนอกไม่ได้ใช้ภาษาอังกฤษอยู่แล้วและคงไม่มีโอกาสไปเรียนเมืองนอก ก็ยิ่งไม่สนใจไปใหญ่

ก่อนไปนอกผมเตรียมตัวน้อยมากเพราะไม่ต้องสอบโทเฟลหรือไอเอลท์ สอบเฉพาะของกรมวิเทศฯเท่านั้น ประกอบกับข้ออ้างของผมที่ผมทำงานถึง 3 แห่งคือที่โรงพยาบาลบ้านตาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตากและไปช่วยราชการเป็นทีมสนับสนุนทางวิชาการของเลขานุการรัฐมนตรี (นพ.อำพล จินดาวัฒนะ) ของรัฐมนตรีว่าการสาธารณสุข (นพ.มงคล ณ สงขลาและ นพ.มรกต กรเกษม) ต้องเดินทางบ่อยมากยังไม่รวมการไปบรรยายตามที่ต่างๆอีก มีหนังสือภาษาอังกฤษหลายเล่มแต่ก็ไม่เคยอ่านจบสักเล่ม มีซีดีเรียนภาษาอังกฤษก็ได้ฟังเฉพาะช่วงขับรถหรือนั่งรถ บางทีผมนั่งหลับกลายเป็นคนฟังคือคนขับรถ การเตรียมตัวไม่ดีทำให้ต้องพบกับความยากลำบากในการเรียนพอควรและเครียดเพราะเราฟังอาจารย์หรือเพื่อนๆไม่ค่อยรู้เรื่อง ยังดีหน่อยที่ทักษะการอ่านภาษาอังกฤษพอใช้ได้เพราะสมัยเรียนแพทย์ต้องอ่านตำราภาษาอังกฤษ

แต่อย่างไรก็ถอยไม่ได้แล้ว ต้องพยายามฝึกฝนเพื่อเอาตัวรอดให้ได้ ผมเชื่อมั่นเสมอว่าความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น นึกถึงตอนเด็กๆหาบน้ำขึ้นตลิ่งสูงเพื่อตักน้ำใส่ตุ่มกว่าจะเต็มได้ก็หลายเที่ยวจนเหนื่อยมากพอควร แต่เราก็พยายามจนได้ หรือนึกถึงตอนหัดเล่นกีตาร์กว่าจะทำได้ก็ใช้เวลาหลายเดือน จากการที่ไม่มีพรสวรรค์ด้านดนตรี แต่ก็พยายามจนพอเล่นได้ แม้จะตั้งเสียงกีตาร์เองไม่ได้ก็ตาม ก่อนไปอยู่ที่เบลเยียมพี่ต้อย (สุดาวรรณ สุขเจริญ) ได้ให้หนังสือฝึกภาษาอังกฤษของครูเคตและซีดีหนังฝรั่งมาให้ศึกษา หมอไพทูรย์ อ่อนเกตุ (ตอนนี้ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลกำแพงเพชร) ได้ให้เอกสารและซีดีฝึกเรียนภาษาอังกฤษของบีบีซีมาให้ฝึกได้ประโยชน์อย่างมาก

ผมไม่เคยเรียนกับครูเคท แต่ได้อาศัยอ่านเทคนิคของครูเคตจากหนังสือที่พี่ต้อยให้มาเป็นการฝึกกล้ามเนื้อที่ใช้ในการออกเสียงภาษาอังกฤษ ผมก็พยายามฝึกทุกวันตอนเช้าตื่นมาก่อนแปรงฟันก็ฝึก ตอนเดินไปเรียนก็ฝึกไปด้วย ตอนยืนรอไฟแดงเคยฝึกแล้วคนนั่งในรถที่ติดไฟแดงก็หัวเราะเพราะผมฝึกฉีกยิ้ม(เสียงS) ทำปากจู๋ (เสียงR) บีบริมฝีปาก (เสียงPกับB) ยิงฟันทำคางยื่นไปข้างหน้า ลิ้นดันเพดาน (เสียงTหรือD) กัดริมฝีปากแล้วเป่าลม (เสียงFหรือV) ก็เรียกว่าว่างตอนไหนฝึกตอนนั้น พอกลับบ้านพักก็เปิดซีดีฟังบทเรียนของบีบีซีที่ได้ไปจากหมอไพทูรย์เป็นบทๆ ฟังวันละบทพร้อมกับอ่านเอกสารประกอบไปด้วย ช่วงกินข้าวล้างจานหรือถูบ้านก็เปิดโทรทัศน์ดู (ฟัง) ข่าวจากซีเอ็นเอ็นหรือบีบีซี

เทคนิคของครูเคท (เนตรปรียา (มุสิกไชย) ชุมไชโย)ที่พี่ต้อยแนะนำให้ผมทำอีกหลายอย่างที่ผมไม่ได้ทำ (อ้างว่าไม่มีเวลา) เช่นการฝึกออกเสียงแบบแยกคำ เช่น mark (มาร์ค) ให้ฝึกออกเสียงเหมะ-อ๊า-เหรอะ-เขอะ หรือcoffee ให้ฝึกเป็นเขอะ-อ๊อฟ-เฝอะ-อี้ อีกเรื่องคือให้ดูหนังฝรั่งพี่ต้อยบอกว่าถ้าดูหนังฝรั่งวันละ 1 เรื่อง 6 เดือนก็จะฟังและพูดได้ดีเลย ส่วนพี่ต้อยลองทำโดยดูวันละ 2 เรื่องใช้เวลา 3 เดือนก็ไปทำงานที่อเมริกาได้สบาย แถมฝรั่งยังชมด้วยว่าสำเนียงดีมาก และแม้ว่าเราจะหลับไปแต่สมองในส่วนจิตใต้สำนึกก็จะฟังต่อได้ และถ้าฝันเป็นภาษาอังกฤษเมื่อไหร่ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว ผมเองยังไม่เคยฝันเป็นภาษาอังกฤษซะที (ถ้าสนใจดูที่ www.krukate.com )

เวลาอ่านหนังสือเรียนหรือเอกสารเตรียมสอบก็ใช้วิธีอ่านออกเสียงเพื่อให้คุ้นเคยและฝึกออกเสียงไปด้วยในตัว การอ่านออกเสียงทำให้จำได้ง่าย เพราะได้รับรู้ทั้งตาเห็น หูได้ยิน กล้ามเนื้อการออกเสียงได้ทำงาน แต่ก็มีข้อเสียคือเสียงดังรบกวนคนอื่นๆและอ่านได้ช้ากว่าการอ่านในใจเยอะ นึกถึงสมัยเด็กๆตอนเรียนชั้น ป. 1 คุณตา (ทวน มีเจริญ) สอนให้อ่านหนังสือทุกคืนโดยการให้อ่านออกเสียงภายใต้แสงตะเกียงดวงน้อย การฝึกอ่านหนังสืออกเสียงสองสามปี ทำให้อ่านหนังสือได้เร็ว พอน้องแคนเข้าเรียนชั้น ป. 1 ผมก็สอนลูกให้อ่านหนังสือแบบออกเสียง สะกดคำเช่นกัน

ดิกชันนารีอีเล็กโทรนิกส์ยี่ห้อเอลลิแกนท์ (Talking Dictionary) ที่ซื้อไปจากเมืองไทยช่วยฝึกอ่านออกเสียงให้ถูกต้องมากขึ้นและช่วยให้ผมสามารถแปลความหมายของคำศัพท์ในขณะเรียนในห้องเรียนได้เร็วขึ้น การใช้ทอคกิ้งดิกทำให้ผมได้เรียนรู้การออกเสียงคำภาษาอังกฤษได้ถูกต้องมากขึ้น มีหลายคำที่ผมออกเสียงไม่ถูกต้องเช่น opposite (อ๊อบโพสิต) ผมมักอ่านว่าอ๊อปโพไซต์ หรือคำว่าListen (ลิสเซ่น) ผมอ่านลิสเท่น หรือFasten (ฟาสเซ่น) ผมออกเสียงฟาสเท่น ส่วนOften ผมอ่านอ๊อฟเฟ่น แต่อาจารย์เดิ๊กบอกว่าเขาอ่านอ๊อฟทึ่น สำหรับตัวH ผมได้รับการชี้แนะจากคุณหมอศุภกิจให้ออกเสียงเอช จากที่เคยออกเสียงเฮช มานาน ยังไม่รวมการออกเสียงหนักเบาในคำที่มีสองพยางค์ขึ้นไปที่มักออกเสียงไม่ถูกต้องโดยลงเสียงหนักเท่ากันทุกพยางค์

คนคิดภาษาอังกฤษนี่ก็แปลกไม่ยอมให้เป็นแบบเดียวกัน ไม่มีวรรณยุกต์กำหนดเสียงเหมือนภาษาไทยเรา อาจจะเป็นเพราะต้องการให้ภาษามีความงดงามก็เป็นได้เช่น physically ให้อ่านฟี้สิกลี่ ไม่ใช่ฟิสิกคอลลี่ หรือ component ให้ลงเสียงหนักตัวที่สอง (ข่อมโพ้นึ่นท์) ส่วนpermanent กลับให้หนักตัวแรกเป็นเพ้อมะนึ่นท์ เจ้าRecognize ให้ออกหนักตัวแรกกับตัวท้ายเป็น เร๊ก-ข็อก-น้ายซ์ ส่วนphotograph ออกเสียงหนักตัวแรกเป็นโฟ้โถะกรัฟท์ แต่Photography หนักตัวที่สองเป็นโฝะโท้กรัฟฟิ ขณะที่photographerไปเน้นเสียงที่สามคือโฝะโทะกร๊าฟเฝอะ มีออีกคำหนึ่งที่ผมคุ้นมากคือsurveillance ผมออกเสียงเซอร์เวย์แลนซ์ มาตลอด พอเรียนกับอาจารย์เดิ๊กที่สอนพิเศษบอกว่าคำนี้มาจากภาษาฝรั่งเศษต้องออกเสียงเสอะเว้ยึ่น

ช่วงหกเดือนแรก ผมได้สมัครเรียนพิเศษภาษาอังกฤษกับโรงเรียนเอกชนที่ทางสถาบันประสานให้ได้เรียนกับอาจารย์สองคน คนแรกเป็นผู้หญิงสอนได้สองเดือนกว่าก็ลาออกนัยว่าตกลงค่าจ้างสอนไม่ได้ คนที่สองเป็นผู้ชายมาสอนต่อมีการเรียนไวยากรณ์ การออกเสียงพยางค์ในคำ การออกเสียงหนักเบาของคำในประโยค การเขียนตามคำบอกและการฝึกออกเสียง การเรียนพิเศษเพิ่มเติมทำให้ได้ทักษะภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น การเรียนภาษาอังกฤษในบรรยากาศที่ผู้สอนและผู้เรียนสื่อสารกันด้วยภาษาอังกฤษเท่านั้นก็สนุกดี ต้องพยายามฟัง สื่อสารกับเพื่อนกับครูทำให้ได้เรียนรู้คำที่ใช้สื่อสารกันทั่วๆไปนอกเหนือไปจากศัพท์ทางวิชาการที่ใช้ในห้องเรียน จริงๆแล้วผมเคยเรียนมาแล้วแต่ก็ลืมไปแล้ว พอมาเรียนซ้ำก็ตามได้เร็วขึ้น

การฝึกฝนที่ดีอีกอย่างคือการสนทนากับเพื่อนหรืออาจารย์บ่อยๆทำให้เกิดความคุ้นเคยกับสำเนียงจะเข้าใจการสื่อสารได้ง่ายขึ้น ตอนไปเล่นแบดมินตันกับพี่ตู่และประชันธ์ก็ได้เรียนรู้การใช้คำง่ายๆ เช่นถ้าบอกให้เพื่อนปล่อยให้เราตีก็บอก leave it ถ้าจะให้เขาเล่นก็บอก take it การไปงานเลี้ยงก็ฝึกได้เยอะ การอ่านอีเมล์และส่งอีเมล์ให้เพื่อนๆก็ได้ฝึกมากเช่นกัน ผมมีโอกาสได้ติวเพื่อนในกลุ่ม 5-6 คนก่อนสอบ ก็ทำให้เราฝึกอธิบายได้ การออกไปนำเสนอหน้าชั้นเรียนก็ช่วยได้เยอะ และผมได้มีโอกาสไปบรรยายการจัดการความรู้ให้เพื่อนๆฟังด้วยประมาณชั่วโมงครึ่ง ก็พอสื่อสารให้เพื่อนๆเข้าใจได้

บทเรียนภาษาอังกฤษของบีบีซี (British Broadcasting Corporation: BBC) ที่หมอไพทูรย์ให้มา ผมก็อ่านและฟังทุกวันวันละ 1 บท เป็นบทเรียนภาษาอังกฤษชุดEnglish for you ลิขสิทธิ์ในเมืองไทยเป็นของบริษัทธนาชัย แอนด์เอ็นพีจี กรุ๊ปจำกัด ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 แม้จะเก่าไปแต่ผมคิดว่าเป็นสื่อการเรียนรู้ที่ดีมาก มีทั้งเอกสารเป็นหนังสือและเทปเสียงทั้งหมด 96 บท แบ่งออกเป็น 4 ระดับคือระดับ 1 ระดับพื้นฐาน บทที่ 1-8 ระดับสอง ระดับต้น บทที่ 9-40 ระดับที่สาม ระดับกลาง บทที่ 41-72 ระดับที่สี่ ระดับสูง บทที่ 73-96  เนื้อหาในแต่ละบทประกอบไปด้วยการพูด (Speaking) การฟัง (Listening) การอ่าน (Reading) การเขียน (Writing) ไวยากรณ์ (Grammar) เนื้อหาสาระ (Information) เป็นข้อมูลเกี่ยวกับประเทศต่างๆที่พูดภาษาอังกฤษ บทสรุป (Synopsis) แบบทดสอบ (Test)

เขากำหนดให้ฝึกฝนและอ่าน ทำความเข้าใจสัปดาห์ละบทเพราะภาษาต้องใช้เวลา ทำนองยิ่งนานยิ่งดี (So far, so good) หรือกรุงโรมไม่ได้สร้างในวันเดียว (Rome wasn’t built in a day) แต่ผมดันใจร้อนฟังและอ่านวันละบทแต่ไม่ได้อ่านซ้ำๆในแต่ละบท ทำให้รับความรู้ในบทเรียนได้ไม่มากนัก อ่านแล้วฟังแล้วก็ลืมง่าย มีการสื่อสารหลายอย่างที่ได้จากแบบเรียนนี้ตั้งแต่การแนะนำตัว การทักทาย การลาจาก การขอบคุณ การขอโทษ ซึ่งเป็นคำง่ายๆที่พอไม่ได้ใช้ก็หลงลืมไปเช่นถ้าเขาถามว่า How do you do? เราก็ต้องตอบประโยคเดิมกลับไป หรือคำตอบอย่างYes, please หรือ No, thank you นอกจากนี้ในทุกบทยังมีเพลงให้ฟัง มีสุภาษิตฝรั่ง ส่วนเนื้อหาในเทปก็เป็นเรื่องเป็นราวคล้ายดูหนังทีวีเป็นตอนๆ แต่ผมเองก็ไม่ได้อ่านและฟังจนครบทุกบท ช่วงหลังที่ลูกๆมาอยู่ด้วยก็ไม่ได้ฟังเลย ใช้เวลาอยู่กับลูกๆมากกว่า

มีเรื่องตลกให้ฟังเป็นระยะๆ คำถามกวนๆเช่น Why do birds fly south in the winter? ทำไมนกจึงบินลงมาทางตอนใต้ในช่วงหน้าหนาว ผมเคยถามประชันธ์ เขาก็อธิบายเรื่องการหนีหนาว (ประชันธ์เป็นนักดูนกและอนุรักษ์นกที่เชี่ยวชาญคนหนึ่ง) แต่คำตอบง่ายๆคือIt’s too far to walk มันไกลเกินกว่าที่จะเดินไปได้ ตอนไปงานวันเกิดทุ้ย (เพื่อนชาวเวียดนาม) เราก็ผลัดกันเล่าเรื่องตลกอย่างสนุกสนาน บางทีก็เล่นกลับคำไปซะเช่น ไนท์ทูมีทยู (Nice to meet you.) ก็กลายเป็น มีทยูทูไนท์ (Meet you tonight.) หรือซัมมอร์ไวน์ (Some more wine?) ก็พาลออกเสียงไปเป็นซัมมอร์ไวฟ์ (Some more wives?)

ผ่านไปเกือบสิบเดือน ผมคิดว่าภาษาอังกฤษของผมดีขึ้นกว่าเดิม แม้จะไม่มากนักจนถึงขั้นพูดกับฝรั่งอย่างสมาร์ท แต่ก็ถือว่าพอเอาตัวรอดมาได้ ผลการเรียนที่บันทึกในใบปริญญาคือดีมาก (Very good) เหมือนพี่ตู่ มีประมาณ 10 คน ส่วนที่ได้ดีเยี่ยม (Excellent) มีสามคนคาดว่าจะเป็นเกรซ แดเมี่ยนและเอ็ดวิน แต่สิ่งที่ผมเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนคือผมรู้แล้วว่าภาษาอังกฤษมีความจำเป็นและสำคัญอย่างมากที่จะใช้ในการเปิดโลกการเรียนรู้ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการสื่อสารผลงานทางวิชาการ ซึ่งผมยังต้องการการพัฒนาอีกมากและยังไม่สายที่จะเรียนรู้

พิเชฐ  บัญญัติ(Phichet Banyati)

บ้านพักโรงพยาบาลบ้านตาก อ.บ้านตาก จ.ตาก

เขียนจากบันทึกประจำวันของวันที่ 2 ตุลาคม 2550 18.35 น. แอนท์เวิป (23.35 น.เมืองไทย)

18 เมษายน 2555

หมายเลขบันทึก: 256168เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2009 23:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 04:06 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เข้ามาอ่านบันทึกของคุณหมออย่างจุใจเลยครับ ขอบพระคุณมากครับ

มาคราวะ ท่าน ว่าที่ สสจ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท