สงกรานต์ที่บ้านเกิด


ในเทศกาลสงกรานต์นั้น กลายเป็นห้วงเวลาอันสำคัญของผู้คนที่พลัดบ้านไปทำงานยังต่างจังหวัดจะคืนกลับมาสู่อ้อมกอดของครอบครัวอีกครั้ง

สงกรานต์ปีนี้  เป็นปีที่ผมได้ใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิดยาวนานเป็นพิเศษ  ได้สัมผัสกับกลิ่นอายแห่งสงกรานต์เดิมๆ จากคืนวันที่ก้าวข้ามมา และกลิ่นอายใหม่ๆ ที่ผุดขึ้นมาอย่างใกล้ชิด

 

 

 

  

จะว่าไปแล้ว ไม่ว่าวันและคืนจะหมุนเคลื่อนไปกี่ปีก็ตาม  ผมก็ยังตระหนักเสมอมาว่า “สงกรานต์”
คือ “วันขึ้นปีใหม่ไทย”  และเป็นช่วงสำคัญของการที่คนในครอบครัวจะได้ทำกิจกรรมทางครอบครัวร่วมกันอย่างอบอุ่น

อันได้แก่  การทำความสะอาดบ้าน  ทำบุญตักบาตร ปล่อยนกปล่อยปลา บังสุกุล  ก่อพระทราย  สรงน้ำพระ  รดน้ำดำหัว-ขอขมาผู้ใหญ่  รวมถึงการขนน้ำใส่ตุ่มให้กับผู้เฒ่าผู้แก่ที่เราเคารพรัก   

และนั่นยังไม่รวมถึงวิถีชีวิตในแบบอีสานๆ  เป็นต้นว่า การเล่นพนันขันต่อโดยไม่ต้องเสียภาษีอากรใดๆ การละเล่นพื้นบ้าน อาทิ สะบ้า มอญซ่อนผ้า หรือแม้แต่ การปักหลักสาดน้ำอยู่ริมถนนหน้าบ้านของตัวเอง ซึ่งจะว่าไปแล้วก็สนุกไม่แพ้การนั่งเบียดเสียดอยู่บนรถยนต์แบบสุ่มเสี่ยง  และตะลอนๆ เล่นสาดน้ำในที่ต่างๆ เหมือนที่พบเจออย่างล้นหลามในทุกวันนี้

 

 

พ่อและเพื่อนบ้านช่วยกันทำซุ้มเล่นน้ำหน้าบ้านให้เด็กๆ ...

 

 

แต่สำหรับวันนี้  ต้องยอมรับว่าวันสงกรานต์ที่บ้านเกิดเปลี่ยนแปลงไปพอสมควร  กิจกรรมหลายๆ อย่างเลือนหายไปแบบไม่รู้ตัว 
          วิถีทางใจที่เคยปฏิบัติอย่างเข้มข้น ก็ถูกแทนที่ด้วยกระบวนการใหม่ๆ ที่ชูหราด้วยมหกรรมแห่งการบันเทิงเริงใจด้วยสายน้ำเป็นหลักสำคัญ
            
         
ซึ่งหลายแห่งถึงขั้นปิดถนนเล่นสาดน้ำกันตั้งแต่เช้าตรู่จนดึกดื่นก็มีให้เห็นอย่างน่ามหัศจรรย์ใจ 
อีกทั้งในถนนนั้น ก็หลายหลากไปด้วยเครื่องเสียงและการแสดงมากมาย
         
รวมถึงชุดแต่งกายหลากแฟชั่น ที่มองยังไงก็อดสะท้อนใจไม่ได้อยู่วันยังค่ำ

เช่นเดียวกันนี้  ผมไม่รู้หรอกว่าผู้คนในชุมชนของผม  โดยเฉพาะคนรุ่นหนุ่มรุ่นสาวนั้นยังคงจดจำได้หรือไม่ว่า วันสงกรานต์คือวันขึ้นปีใหม่ของไทย  หาใช่เทศกาลของการ “สาดน้ำ” คลายร้อนเพียงอย่างเดียว
         
แต่ถึงกระนั้น  ก็เป็นที่น่าสังเกตว่า  ในเทศกาลสงกรานต์นั้น  กลายเป็นห้วงเวลาอันสำคัญของผู้คนที่พลัดบ้านไปทำงานยังต่างจังหวัดจะคืนกลับมาสู่อ้อมกอดของครอบครัวอีกครั้ง 
         
บางคนกลับมาแบบธรรมดาๆ  หากแต่บางกลุ่มคนก็กลับมาพร้อมๆ กับ “ผ้าป่า”  ที่ได้ลงแรงระดมทุนเข้าสู่วัดวาอารามประจำหมู่บ้านของตัวเอง
         
บางคนก็พาว่าที่ลูกสะใภ้และลูกเขยมาเปิดตัวอย่างเป็นทางการ 
          หรือโชคร้ายหน่อย บางคนก็กลับมาเยียวยาจิตใจ หลังเจอถูกโรงงานปลดโละตามพิษเศรษฐกิจ
       

  

 

 

สำหรับผมแล้ว  ผมมีความทรงจำอันงดงามเกี่ยวกับสงกรานต์เสมอ  เป็นต้นว่า  ฉากชีวิตหลังพระฉันภัตตาหารเช้า  โดยพ่อจะนำพาชาวบ้านสรงน้ำพระพุทธรูปและพระสงฆ์ในวัด  จากนั้นก็ทำการสรงน้ำให้กับผู้เฒ่าผู้แก่บนศาลาการเปรียญไปพร้อมๆ กัน   

ตกเย็นก็มีขวนแห่พระพุทธรูปและพระสงฆ์สามเณรจากท้ายหมู่บ้านเข้าสู่ตัวบ้านอย่างช้าๆ  เพื่อให้ชาวบ้านได้ออกมาร่วมสรงน้ำกันอย่างถ้วนทั่ว 
         ซึ่งในขบวนแห่ดังกล่าวก็จะครึกครื้นไปด้วยเสียงเพลงเสียงดนตรี  มีการฟ้อนรำและสาดน้ำกันไปตามรายทาง 
 

ผมชื่นชอบห้วงบรรยากาศเช่นนั้นเป็นอย่างมาก  บางปีพาตัวเองเข้าไปอยู่ในขบวนแห่นั้นด้วย  หากแต่บางปีก็ปักหลักรออยู่หน้าบ้าน  เมื่อขบวนแห่เดินทางมาถึง  ก็จะใช้น้ำหอมที่ตระเตรียมไว้สรงน้ำพระ รวมถึงสาดน้ำใส่ผู้คนที่อยู่ในขบวนแห่   

และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือ การจัดเตรียมน้ำเย็นๆ ใส่กระติ๊กตั้งไว้บนเก้าอี้ หรือไม่ก็วางไว้บนเสื่อ
เพื่อให้ผู้คนที่สัญจรมากับขบวนได้ดื่มได้กินให้ชุ่มใจ

 

 

 

 

เสร็จจากนั้น ผมก็จะแทรกตัวเข้าไปร่วมในตัวขบวนแห่  พอถึงวัดก็เข้าร่วมพิธีการสรงน้ำพระพุทธรูปกันอีกรอบ  แต่ที่ชอบมากที่สุดก็คือการที่ผมและเพื่อนๆ จะมาออกันอยู่ใต้ศาลาวัด  เพื่อรออาบจากน้ำหอมที่ชาวบ้านนำมาสรงพระ ซึ่งไหลลอดผ่านแผ่นพื้นศาลาวัดลงมาอย่างไม่ขาดสาย 

อารมณ์นั้นหลักๆ คือความสนุกสนานในวัยเด็ก  

แต่ก็โกหกตัวเองไม่ได้เช่นกัน เพราะลึกๆ ก็เชื่อว่า  นั่นคือการอาบน้ำมนต์น้ำทิพย์ไปในตัว
ชีวิตจะได้สุขกายสบายใจ
 

แต่ทุกวันนี้  บรรยากาศอันแสนสนุกเช่นนั้นไม่มีแล้ว  เพราะศาลาวัดหลังเดิมถูกรื้อทิ้งไปจนสิ้น  ไม่เหลือแม้กระทั่งเศษไม้เศษสังกะสีให้ดูต่างหน้า  จะมีก็แต่ศาลาหลังใหญ่ที่สร้างขึ้นจากเหล็กและปูนซีเมนต์เท่านั้นที่ขยับมาแทนที่อย่างหนักแน่น

 

 

 

ขบวนแห่ฯ ผ่านหน้าบ้าน..ชาวบ้านจะแวะรดน้ำดำหัวเจ้าของบ้านแบบเป็นกันเอง

 

 

นอกจากนี้แล้ว  ผมก็ยังชื่นชอบบรรยากาศของการบังสุกุลอัฐิเป็นที่สุด  เพราะมันทำให้ผมรู้สึกเสมอว่า
ผมเป็นคนมีรากเหง้าและเครือญาติ
และที่สำคัญก็คือพิธีทางศาสนาดังกล่าวนี้  ยังเป็นกระบวนการอันสำคัญของการแสดงความกตัญญู    
 

         รวมถึงการช่วยให้เราอุ่นใจว่า ญาติมิตรที่ลับล่วงไปนั้น  จะได้รับผลบุญที่เราอุทิศไปให้...มีกินมีใช้ในเมืองสวรรค์ ...  

          และวันนั้น วันที่ใครๆ ต่างก็พากันไปบังสุกุล  สิ่งที่จำติดตาเลยก็คือ วัดทั้งวัดจะพลุกพล่านไปด้วยญาติโยมต่างวัยที่พร้อมใจกันรอคิวให้พระท่านนำสวดอุทิศส่วนกุศลไปยังญาติที่ล่วงลับ

          นั่นเป็นห้วงเวลาแห่งความสุขที่ใครหลายๆ คนจะได้ทักทายถามไถ่ถึงสารทุกข์สุขดิบกันอย่างพร้อมหน้า

 

 

 

เช่นเดียวกับอีกหนึ่งความทรงจำที่ผมหลงรักอย่างไม่รู้จบ นั่นคือการที่คนในบ้านพากันร่วมแรงใจปัดกวาดบ้านให้สะอาดสะอ้าน  ราวกับจะมีแขกบ้านแขกเมืองมาเยี่ยมยามถามข่าว 

และแม่ก็ไม่ลืมที่จะย้ำนักย้ำหนาว่า  ในช่วงสงกรานต์นั้น ห้ามไม่ให้พูดคำหยาบใดๆ เดี๋ยวจะนำพาความไม่เป็นมงคลมาสู่ตัวเองและคนในครอบครัว 

          หรือที่สำคัญเอามากๆ ที่ผมรู้สึกสนุกไม่แพ้เรื่องอื่นๆ  เลยก็คือการมีโอกาสได้หาบน้ำจากบ่อหรือบ่อบาดาลไปเทใส่ตุ่มตามบ้านผู้เฒ่าผู้แก่ที่เราเคารพรัก   เสร็จแล้วก็ถือโอกาสรดน้ำขอพรจากท่าน 

ซึ่งในคำอวยพรนั้น  ล้วนเป็นคำพื้นถิ่นอีสานที่สละสลวย  ฟังเพราะเสนาะหู 

ฟังแล้วเย็นกายสบายใจราวกับได้รับพรอันวิเศษจากเทวดาบนสรวงสวรรค์ก็ไม่ปาน

 

แต่พอหวนย้อนกลับมาสู่วันนี้  ภาพชีวิต หรือฉากชีวิตในทางวัฒนธรรมหลายอย่างถูกกลืนหายไปอย่างเงียบๆ  และมันก็เป็นธรรมดาของโลกและชีวิตที่ย่อมเปลี่ยนผันไปตามกาลเวลา...

          ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน  ไม่เว้นแม้แต่ความทรงจำของมนุษย์  ซึ่งย่อมเลือนรางไปตามอายุอานามของคนแต่ละคน

          เช่นเดียวกับสงกรานต์ที่บ้านเกิดของผมในวันนี้  ไม่หลงเหลือภาพการขนน้ำไปใส่ตุ่มให้คนเฒ่าคนแก่  เพราะนำประปาได้ทำหน้าที่แทนอย่างเสร็จสรรพ

          ไม่มีคนหนุ่มคนสาวตื่นเช้าปัดกวาดบ้านเป็นมหกรรม  เพราะหลายต่อหลายคนรีบเร่งกับการขึ้นนั่งบนรถกระบะ เพื่อตระเวนเล่นสาดน้ำตามที่ต่างๆ

          ไม่มีการก่อพระทราย หรือการตบปะทายที่วัด  เพราะฟังดูเหมือนนิยายรัก ปรัมปราที่ตกยุคไปแล้ว

          ฯลฯ

 

          ช่างเถอะ...เพราะทุกอย่างย่อมเปลี่ยนผ่านไปตามกาลเวลา 

          นั่นคือสิ่งที่ผมต้องเรียนรู้และอยู่กับปัจจุบันให้มีความสุขให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้  โดยไม่ติดยึดกับวันวานของสงกรานต์จนเกินเหตุ 

หรือมากจนไม่อาจพาตัวเองหลุดพ้นออกมาจากวังวนแห่งอดีตนั้นได้

แต่ถึงอย่างไรก็ตาม  ผมก็ไม่เคยสิ้นหวังกับการนำพาหัวใจกลับไปสัมผัสสงกรานต์ที่บ้านเกิดของตัวเองสักครั้งเดียว  เพราะผมคิด และเชื่อเสมอมาว่า ...

อย่างน้อย ทั้งผมและคนของความรัก  ก็ยังคงจะได้เห็นขบวนแห่พระฯ ผ่านหน้าบ้านเหมือนเก่าก่อน

          ได้ร่วมสาดน้ำริมถนนหน้าบ้านของตัวเอง

          ได้เตรียมน้ำเย็นๆ ไว้รับรองเพื่อนบ้านที่สัญจรมากับขบวนแห่พระฯ

ได้สรงน้ำพระพุทธรูปที่วัดประจำหมู่บ้าน

ได้รดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ รวมถึงพ่อแม่ และบรรดาเครือญาติในแบบครอบครัวใหญ่

ได้พบปะเครือญาติและเพื่อนบ้านที่ห่างเหินไปตามภารกิจของชีวิต

ได้บังสุกุลไปสู่ญาติที่ล่วงลับ

 

และที่สำคัญเอามากๆ  เลยก็คือ การได้นอนหลับอย่างเป็นสุขในบ้านเกิดอันเป็นที่รักของผมเอง...

                   
     

  

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 256023เขียนเมื่อ 18 เมษายน 2009 05:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (32)

สวัสดีค่ะ

  • น้องเณรสึกแล้ว..เป็นทิดน้อย ๆใช่ไหมคะ
  • พี่คิมไม่เข้าใจภาษาอิสานอย่างลึกซึ้ง..แต่เข้าใจความหมายและเจตนาการอวยพรของผู้เฒ่าผู้แก่..เป็นอย่างดี  ประทับใจค่ะ
  • วิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลง..แทบทุกแห่ง  แต่ถ้าเราช่วยกันฟื้นฟูรักษา  บางอย่างที่สูญหายไปก็จำลองมันขึ้นมายังดีกว่าปล่อยกาลเวลามาทำให้มันหายไป
  • วันก่อนพี่คิมซื้อกางเกงโจงกระเบนลายไทยและเสื้อไทยไปแจกหลาน ๆ ตัวเล็กอายุ สองสามขวบ พ่อแม่เขาก็ถ่ายภาพไว้ดู
  • พี่คิมมีความสุขน้อย ๆ ไปทำบุญให้คุณพ่อค่ะ

สวัสดีคะอาจารย์พนัส

อาจารย์เล่าเรื่องย้อนหลังได้อย่างชัดเจน พี่ประกายชอบชีวิตและบรรยากาศสงกรานต์สมัยก่อนมากกว่า ชอบตรงที่ต้องพากันไปตักน้ำใส่ตุ่มไปให้ผู้เฒ่าผู้แก่ พวกพี่ ๆหนุ่มสาวแรกรุ่นจะรวมตัวกันไปตักน้ำที่บ่อในหมู่บ้านแล้วช่วยเข็นน้ำไปใส่ตุ่ม อาบน้ำให้คนแก่ ช่วยกันฟอกตัว ถูตัวอาบน้ำให้ท่านจนสะอาด เปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ให้ แล้วตักน้ำใส่ไว้จนเต็มตุ่ม ผู้เฒ่าก็จะให้พร ตอนนี้ไม่มีแบบนี้แล้ว มีแต่เชิญผู้เฒ่าผู้แก่มารวมกันที่ชุมชนหมู่บ้าน พรุ่งนี้ที่ชุมชนหมู่บ้านพี่ก็จะมีพิธีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุและประกวดสุขภาพผู้สูงอายุ

ขอบคุณมากครับ..สำหรับการถ่ายทอดความรู้สึกที่เปี่ยมพลังทางจิตใจ

สวัสดีปีใหม่ไทยค่ะคุณแผ่นดิน

...

อ่านแล้วรู้สึกอิ่มเอมและเปรมปรีดิ์ไปด้วยเลยค่ะ

เห็นภาพน้องทิดน้อยแล้ว สดใส ร่าเริง เหมือนเคย

ปีนี้เป็นปีแรกเช่นกันค่ะ ที่ได้อยู่กับที่บ้านอย่างเต็มที่ เต็มอิ่ม

แม้ไม่มีการเดินทางใด ๆ แค่ได้ใช้เวลากับคนในครอบครัวก็สุขใจ

อย่างที่คุณแผ่นดินกล่าวแล้วนะคะ ขอบคุณเรื่องราวดีๆ ค่ะ ...

สวัสดีครับ ครูคิม

ตอนนี้น้องดินสึกออกมาแล้วครับ..เป็น "เซียงน้อย" ...

ปีนี้ ญาติจากจังหวัดต่างๆ และหมู่บ้านต่างๆ มาร่วมกันบังสุกุลหาปู่ย่าตาทวดกันเหมือนทุกปี  ซึ่งครอบครัวของผมจะปฏิบัติเช่นนี้เรื่อยมา  บางคนก็เอามะม่วงติดไม้ติดมือมาด้วย บางคนก็เอาขนมจีนมา และบางคนก็เอาเนื้อมาทำเป็นอาหารร่วมกัน..

ปีนี้ ไม่มีการเลี้ยงเหล้ายาปาปิ้ง...เป็นการงดเหล้าไปในตัวครับ

 

สวัสดีครับ ประกาย~natachoei ที่~natadee

จริงสิครับ..ภาพเก่าๆ เกี่ยวกับการสรงน้ำและเลยไปถึงการอาบน้ำให้คนแก่คนเฒ่า ผมเองก็เคยพบเห็นมาบ้างเหมือนกัน แต่ยุคสมัยนี้ไม่มีแล้วครับ  แต่ก็ยังพอได้เห็นบ้างเหมือนกันที่ลูกหลานที่กลับจากการทำงาน จะพากันขับรถไปรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ตามครัวเรือน โดยมีของชำร่วย-ที่ระลึกมอบให้ท่านด้วย ส่วนใหญ่เป็นเสื้อ  เป็นอาหารเสริม ฯลฯ

คิดถึงภาพเก่าๆ แล้ว ทำให้ชีวิตสดชื่นครับ  และเห็นความงดงามของสังคมที่แนบชิดกันอย่างอบอุ่น

แต่สังคมของวันนี้ก็งดงามไปอีกแบบ ใช่ไหมครับ...

สวัสดีครับ..ขอแค่ได้เขียน

ขอบคุณครับ-ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจ..

ขอให้สุข สดชื่นกับชีวิตและการงาน นะครับ-ผมเป็นกำลังใจให้

สวัสดีครับ คุณ poo

ตอนนี้น้องดินมีศักดิ์เป็น "เซียงน้อย" ครับ ไม่ใช่ "ทิด" ..เพราะคนที่บวชเณรมาก่อนจะเรียก "เซียง" แต่บวชพระแล้วจะเรียก "ทิด" ...ครับ

สงกรานต์ปีนี้  ผมสอนเสริมกิจกรรมให้ลูกๆ ด้วยการพารดน้ำดำหัว..สรงพระ...แห่พระ..บังสุกุล และแถมด้วยการเล่านิทานก่อนนอน โดยยกเอาตำนานสงกรานต์ในเวอร์ชั่นต่างๆ มาเล่าให้ฟัง

สนุกกันมากครับ และลูกๆ คงได้รับความรู้ไปเยอะทีเดียว เพราะสังเกตได้ว่า ทุกครั้งที่เล่าให้ฟัง พวกเขาจะจดจำเรื่องราวและรายละเอียดของตัวละครได้เป็นอย่างดี

สังเกตได้จากการนำไปเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง และเขาก็จะบอกว่า เพื่อนที่โรงเรียนยังไม่เคยรู้เรื่องเหล่านี้มาก่อน ..

เป็นการสอนพิเศษล่วงหน้าครับ...(ยิ้มๆ )

 

  • มาสาดน้ำลูกเณรด้วยคน
  • เลยได้อ่านบทความดีๆ
  • ใช่แล้วค่ะ  ไม่มีอะไรจีรังยั่งยืน  ไม่เว้นแม้แต่ความทรงจำของมนุษย์  ซึ่งย่อมเลือนรางไปตามอายุอานามของคนแต่ละคน
  • เลยเอานี้มาฝาก

สวัสดีค่ะ อาจารย์ มีความสุขจังเลยค่ะ

มีแต่หนุ่มๆ สาวๆ ไปไหนหมด ไม่เห็นมาเล่นน้ำ อิอิ

น่ารักจังนะคะ

สวัสดีครับ..มนัญญา ~ natachoei ( หน้าตาเฉย)

ขอบคุณบทกลอนที่ไพเราะและให้แง่งามของชีวิต นะครับ เมื่อครู่ก็ไปอ่านที่บันทึกมาแล้วรอบใหญ่ๆ ..

ผมเป็นคนที่ให้ค่าความสำคัญของ "ประสบการณ์" มากเป็นพิเศษ  โดยเฉพาะการชอบที่จะฟัง หรืออ่านเรื่องราวอันเป็นประสบการณ์ของคนอื่น  เพราะถือว่า นั่นเป็นกระบวนการเรียนลัดของการใช้ชีวิตอีกแบบหนึ่งเหมือนกัน

พักหลัง ผมชอบอ่านหนังสือประเภทความเรียงที่เน้นไปในเรื่องประสบการณ์ชีวิตในอดีตของแต่ละคน  เพราะทำให้ผมรู้สึกรื่นรมย์กับวันวัยในอดีตของผู้เขียน และยังช่วยให้ตัวเอง หวนคิดไปถึงความงดงามของตัวเองในอดีตด้วยเช่นกัน  และในนัยของความหมายนั้น  ยังมีสารัตถะอีกมากมายให้เราได้เรียนรู้  หลายเรื่องนำมาเป็นต้นทุนในการต่อยอดความคิดของเราได้เป็นอย่างดี...

หลายเรื่องเป็นเรื่องที่ทำให้เราตระหนักถึงการมองโลกมองชีวิตใน "มุมบวก"

มันเป็นประสบการณ์ที่มีค่า และวัดไม่ได้ในเชิงตัวเลข..แต่ผมก็ให้ค่าความสำคัญมากเป็นพิเศษครับ

 

สวัสดีครับ.... ♥.paula ที่ปรึกษาตัวน้อย✿

หนุ่มๆ สาวๆ ไปไหนหมด ไม่เห็นมาเล่นน้ำ

เป็นธรรมดาครับ
หนุ่มๆ สาว ๆ ไม่ชอบมาเล่นน้ำตามริมถนนในหมู่บ้านนัก เพราะส่วนใหญ่จับกลุ่มนั่งมอเตอร์ไซด์ไปตามที่ต่างๆ บ้างจับกลุ่มร่ำสุราประปรายตามความพึงพอใจของแต่ละคนครับ

ผมไม่อยากให้ลูกๆ ไปตามกระแสนั้น  จึงจำต้องทำซุ้มน้ำขึ้นมาเอง เพื่อให้พวกเขาได้เล่นสงกรานต์ในแบบเดิมๆ ...และซุ้มนี้ยังช่วยให้ลูกๆ ได้เป็นส่วนหนึ่งกับกิจกรรมแห่พระพุทธรูปจากท้ายหมู่บ้านเข้าสู่ตัววัด..

นั่นคือประเพณีหนึ่งของหมู่บ้านที่ยังสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน..

ขอบคุณครับ

 

  • งั้นพี่เขี้ยว
  • เอาเรื่องเล่าในความคิดแบบเด็กๆ
  • ของเมื่อตอนนั้นมาฝากให้อจ.ช่วยอ่าน
  • และวิจารณ์ว่าตอนนั้น
  • พี่ทำผิดหรือถูก
  • เพราะตัวเองก็ งงๆ
  • http://gotoknow.org/blog/patimmananya/255765
  • ตามไปดูนะคะ

สวัสดีครับ พี่เขี้ยว..มนัญญา ~ natachoei ( หน้าตาเฉย)

เมื่อครู่ผมเข้าไปอ่านบันทึกทีว่าแล้วนะครับ.. โลกและชีวิตของคนเราในวัยเด็ก งดงามเสมอแหละ  หลายเรื่อง หรือเกือบทุกเรื่องไม่อาจอธิบายเป็นเหตุเป็นผลได้ ...

หลายเรื่องผ่านไปแบบไม่ควรค่าต่อการเก็บจำ หากแต่บางเรื่องมีค่ายิ่งต่อการเป็นความทรงจำของชีวิต  แต่สำหรับผมนั้น ไม่ว่าเรื่องราวนั้นจะเป็นเรื่องดีๆ ร้ายๆ ผมก็ให้ความเคารพต่อบรรยากาศนั้นเสมอ  อย่างน้อยก็เรียนรู้ได้ว่า  เราต่างเติบใหญ่อยู่บนอดีตของตัวเอง..

ครับอดีตอันเป็นความทรงจำของชีวิต..นั่นเอง

ขอบคุณครับ

 

สวัสดีค่ะ

* อ่านและดูภาพประกอบแล้วคิดถึงบรรยกาศเก่าในอดีตค่ะ

* อดีตที่ควรจดจำ

* สุขกายสุขใจนะคะ

สวัสดีครับ...นาง พรรณา ผิวเผือก (ไม่มีชื่อกลาง)

ก่อนอื่นเลย ก็ขอให้สุขกายสุขใจด้วยเช่นกันนะครับ..

ผมเองก็เพิ่งกลับมามหาสารคาม เลยมีเวลาพอได้นั่งขีดๆ เขียนๆ อะไรได้บ้าง พร้อมๆ กับการทยอยตอบบันทึกกัลยาณมิตรย้อนหลังแบบค่อยเป็นค่อยไป...

สงกรานต์เป็นความทรงจำที่งดงามเสมอสำหรับผม..และสงกรานต์ก็เป็นต้นทุนที่ดีที่ทำให้ผมรู้สึกอบอุ่นกับความเป็น "ครอบครัว" ของตัวเอง...

นั่นแหละครับ คือเหตุผลว่าทำไมผมถึงเลือกที่จะกลับไปใช้ชีวิตที่บ้านเกิด โดยไม่คิดที่จะปักหลักปักฐานอยู่ที่มหาสารคามตลอดชีวิต...

 

สวัสดีค่ะ

 - วัฒนธรรม หรือฮีต เริ่มเปลี่ยนไปตามกระแส หากเราคนรุ่นหลังไม่รักษาไว้ก็น่าเสียดายค่ะ

 

สวัสดีครับ..เพชรน้อย

พักหลังไม่ค่อยได้คุยกันบ่อยนักนะครับ..

ล่าสุด ผมถามวัยรุ่นในหมู่บ้าน  สิ่งที่เขารับรู้เกี่ยวกับสงกรานต์คือการเล่นน้ำอย่างสนุกร่วมกับเพื่อนๆ ยิ่งสามารถเดินทางไปยังที่ต่างๆ ยิ่งถือว่าเป็นความสุขและความท้าทาย  และยอมรับว่ารู้ดีว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ไทย แต่ไม่รู้ว่า อะไรคือส่วนประกอบอันสำคัญในวันขึ้นปีใหม่ไทย..

ผมจึงอยากเขียนบันทึกแบบกว้างๆ ตามความทรงจำอันปะติดปะต่อของตัวเอง  เพื่อสำรวจความเป็นไทยในตัวเองอีกรอบ..และโชคดีไม่น้อยครับที่หลายอย่างยังคงแจ่มชัด ขณะที่หลายอย่างก็เลือนลางเต็มทนเหมือนกัน

ขอบคุณครับ...

  • อารมณ์เดียวกันกับแหววหลายอย่างเลยนะคะบันทึกนี้
  • รู้สึกดีจึงเลยค่ะ เห็นคุณปู่ คุณพ่อช่วยกันทำซุ้มให้เด็กๆได้ตั้งป้อมเล่นสงกรานต์ที่เชื่อมโยงกับสิ่งดีงามแบบนี้ เป็นสายสัมพันธ์ทางครอบครัวที่ทำได้ง่ายและงดงาม หาได้ยากในยุคนี้ค่ะ
  • เห็นภาพพระเอกเต็มจอถือปืนฉีดน้ำ กับขันและถังใบน้อยน่ารักแล้วมีความสุข เย็นกายเย็นใจดีแท้ 
  • บันทึกนี้ทำให้ได้ทบทวนบรรยากาศวัฒนธรรมประเพณีที่ดีมากๆเชียวค่ะ รู้สึกคล้ายกันด้วยว่าสิ่งดีๆ หลายอย่างเลือนหายไปเป็นหน้าที่ของคนรุ่นเก่าที่คงต้องสืบสานส่งต่อให้คนรุ่นใหม่ และทำได้เท่าที่ทำ กับลูกหลานของตัวเอง ยกเว้นครูอาจารย์ อย่างเช่นคุณแผ่นดินก็เพียรพยายามกับลูกศิษย์อย่างตั้งอกตั้งใจ ดีใจนะคะที่มหาวิทยาลัยมีครู-อาจารย์ที่ดีตั้งใจสืบสานความเป็นไทยด้วยกระบวนการเรียนรู้กับลูกศิษย์แบบนี้ค่ะ

สวัสดีครับ พี่แหวว พชรวรัตถ์ แสงทองชนาพงศ์

เกี่ยวกับเรื่องซุ้มน้ำที่ทำขึ้นหน้าบ้านนั้น เป็นเจตนาที่ชัดเจนที่ต้องการให้ลูกๆ ได้มีพื้นที่ของการเล่นน้ำ โดยไม่จำเป็นต้องดิ้นรนขึ้นไปนั่งบนรถกระบะ แล้วขับตระเวนเล่นน้ำไปยังที่ต่างๆ  สนุกแต่คงไม่ปลอดภัยนักสำหรับเด็กตัวเล็กๆ ...

และที่สำคัญก็คือ การสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้ลูกๆ ได้เข้าสัมผัสกับขบวนแห่พระพุทธรูปและพระสงฆ์ประจำวัดด้วยเช่นกัน  ซึ่งพวกเขาจะได้ซึมซับและร่วมกิจกรรมอย่างใกล้ชิด  ไม่เพียงแค่การสรงน้ำพระบนรถและการสาดน้ำใส่คนในขบวนเท่านั้น  แต่ยังรวมถึงการรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ในขบวนไปพร้อมๆ กัน...

เป็นมุมเล็กๆ น้อยๆ ที่หยิบมาบอกเล่า  เพราะเห็นว่า ในความเล็กน้อยนั้น มีความงามควรค่าต่อการพูดถึง และอนุรักษ์ไว้สืบต่อๆ กันไป ครับ

 

  ขอบคุณค่ะที่ช่วยอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยค่ะ

 

สวัสดีค่ะพี่แผ่นดิน

การเล่นสะบ้าคืออะไรค่ะ

กออ่านบันทึกนี้แล้วรู้สึกผิดจริง ๆ เลย

วันก่อนที่กอเห็นพระท่านไปยืนประท้วงหน้าโรงแรม

ปีนี้กอเลยไม่ได้สรงน้ำให้พระสงฆ์ เฮ้อ

ขอบคุณน่ะค่ะ

สวัสดีค่ะ

มาอ่านเพื่อรำลึกอดีต

ตอนเด็กเป็นอย่างนั้นจริง

แต่ตอนนี้เวลากลับบ้านสงกรานต์

เห็นตั้งวงเหล้า

เล่นการพนัน

แต่การตบพระทายยังเหลืออยู่ค่ะ

ลูกชายน่ารักมากค่ะ...

สวัสดีคะคุณแผ่นดิน เขียนดีนะคะ แต่ยาวไปหน่อยคะ

เลยอ่านแบบกระโดดคะ บอกตรงๆนะคะ

แล้วจะแวะมาอีกคะ

สวัสดีครับ...เพชรน้อย

ผมว่าเรื่องของการอนุรักษ์-สืบสานความเป็นไทยนั้น  เป็นภารกิจและพันธกิจทางใจของคนไทยทุกคนเลยทีเดียว  ยังดีนะครับที่เรายังได้ใช้ภาษาของตัวเองเป็นภาษาราชการ..

ทุกอย่างยังจำต้องอาศัยการศึกษาเป็นตัวขับเคลื่อน - ผมคิดเช่นนั้น ครับ

มาชม

ชื่น คืนสู่บ้านเกิดในวันสงกรานต์ สนุกสนานกันดีนะครับ..อิ อิ อิ

สวัสดีครับ..กอก้าน>>>ก้านกอ*:)*(แก๊งค์ก้านคอพับ)

ทุกวันนี้ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองในสังคมบ้างแล้วครับ  ชีวิตคนเรา ไม่ว่าใคร สถานะใด ก็มีผลกระทบจากการเมืองด้วยกันทั้งนั้น-ว่ามั๊ย

....

กรณีการเล่นสะบ้า นั้น...เป็นการละเล่นของไทยในแต่ละภาค เช่น เหนือ กลาง ใต้ อีสาน  ซึ่งเรียกแตกต่างกันไปตามภูมิภาค แต่ในอีสานไม่ค่อยพบ ที่เคยเห็นในตอนเป็นเด็กๆ ก็เป็นเพียงการสาธิตเท่านั้น จำได้พอลาง และเคยได้อ่านได้ศึกษาในช่วงที่เรียนมัธยม..

เป็นต้นว่า ..การเล่นสะบ้านั้น เป็นการละเล่นที่ชาวมอญนิยมเล่นกันมาก บางทีก็ใช้เป็นเวทีของการสื่อสารพูดคุยกันระหว่างคนหนุ่มคนสาว..และสะบ้าก็มีหลายประเภท

จะเล่าพอสังเขปเท่าที่รู้แบบงูๆ ปลาๆ นะครับ เช่น

การเล่นสะบ้า  มีการนำลูกสะบ้ามาเรียงเป็นแถวๆ มากน้อยเท่าไหร่ไม่แน่ใจ แต่นิยมเล่นเป็นทีม บางครั้งแยกเป็นทีมชายทีมหญิงตามประเภทของสะบ้า หรืออาจไม่แยกก็ได้  โดยฝ่ายที่เป็นผู้ตั้งรับจะตั้งสะบ้าไว้เป็นแถวเรียงกัน มีระยะห่างพอเหมาะ  ส่วนอีกฝ่ายที่เป็นฝ่ายยิงสะบ้า  จะถอยห่างออกมาตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยจุดตั้งลูกสะบ้าจะต้องมีอาณาเขตที่ชัดเจน และมีไม้กั้นระหว่างลุกสะบ้าที่ตั้งกับเจ้าของลูกสะบ้า

การส่งลูกสะบ้า จะมีท่าส่งหลายๆ ท่าที่กำหนดไว้ แต่การส่งในแต่ละท่า จะทำได้ไม่เกินสองหน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้สะบ้าที่ส่งไปนั้นไปชนกับลูกสะบ้าที่ตั้งไว้ให้ล้มเลง ถึงจะผ่านในท่านั้นๆ ไปได้ หากครั้งแรกส่งไปยังไม่ถึง หรือไม่โดนและยังไม่ออกจากเขตที่กำหนด อนุญาตให้ส่งอีกครั้งโดยใช้การดีดด้วยนิ้วแทน บางท่าก็ใช้เท้าส่งก็มีนะ (ถ้าจำไม่ผิด) ...

นี่เป็นการปะติดปะต่อจากความทรงจำอันขาดๆ เกินๆ ของชีวิต นะครับ

ผิดถุกต้องขออภัย ด้วยแล้วกัน

 

 

 

 

สวัสดีครับ พี่.แดง

สงกรานต์ในแต่ละปี มีเรื่องมากมายให้จดจำเป็นความทรงจำของชีวิต  เชนเดียวกับการพบเจอเรื่องใหม่ๆ ที่ชวนขบคิดไม่แพ้กัน นั่นคือ ปรากฏการณ์ของการดื่มสุราของเยาวชนไทยในวิถีสงกรานต์ ซึ่งร้อยทั้งร้อยของการทะเลาะวิวาทในสงกรานต์ ก็เกี่ยวโยงกับเรื่องเหล้าเรื่องสุรากันทั้งนั้น และนั่นก็หมายรวมถึงอุบัติเหตุด้วย นะครับ

ผมชอบวาทกรรมที่รณรงค์กันว่า สนุก ปลอดภัย ไร้แอลกอฮอล์มาก แต่ไม่รู้เอาเข้าจริง  เกิดผลกี่มากน้อย  แต่เป็นที่น่าดีใจว่า ในหลายท้องที่และหลายจังหวัดคุมเข้มเรื่องนี้ได้ดีมาก  โดยเฉพาะบางพื้นที่ที่เปิดถนนเป็นการท่องเที่ยว ก็บริหารจัดการเรื่องนี้ได้ดีไม่ใช่ย่อย...

ต้องให้กำลังใจกันมากๆ ครับ  จะได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ไปทีละน้อยทีละน้อยๆ ...

ขอบคุณครับ

 

 

สวัสดีครับ  คุณ เมธินี 

ขอบคุณสำหรับคำแนะนำดีๆ นะครับ

เอาไว้บันทึกหน้า จะลองปรับให้สั้นลงกว่าเดิม นะครับ 
แล้วเจอกันอีกทีในบันทึกที่ว่านั้น ...

ขอบคุณครับ

สวัสดีครับ อ.umi

สงกรานต์ปีนี้..เป็นปีแห่งการพักผ่อนโดยแท้สำหรับผม  ได้เจอญาติๆ และได้ทำกิจกรรมร่วมกันเหมือนที่ใจอยากจะทำ ได้เห็นพัฒนาการของลูกๆ ในวิถีของสงกรานต์ - เสียดายก็แต่ไม่ค่อยมีตังค์ ...

อิอิ....

สวัสดี ครับ

สงกรานต์บ้านเกิด..เป็นบันทึก ที่อ่านแล้ว ประทับใจ ครับ

วิถีชีวิต คนในสังคมเมือง กับ ชนบท ที่เห็นได้ด้วยตา สัมผัสได้ด้วยใจ

และที่สำคัญ ....การได้นอนหลับอย่างเป็นสุขในบ้านเกิดอันเป็นที่รักของผมเอง...

ยิ้ม..และรู้สึก อิ่มในอารมณ์ของคุณแผ่นดิน จริง ๆ ครับ

อยู่ที่ไหนก็ไม่สุขใจ...เหมือนบ้านเรา

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท