BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

๑๐ เมษา วันทำบุญสงกรานต์ประจำปีของวัดยางทอง


๑๐ เมษา วันทำบุญสงกรานต์ประจำปีของวัดยางทอง

วันสงกรานต์ จัดเป็นวันปีใหม่ของไทยในสมัยก่อน ซึ่งปัจจุบันนี้ ก็ยังมีอยู่บางท้องถิ่นทียึดถือธรรมเนียมนี้อยู่ แต่โดยมากมักถือเอาวันที่ ๑ มกรา ตามระเบียบใหม่มากกว่า.... ส่วนปักษ์ใต้บ้านเราเรียกกันว่า วันว่าง ซึ่งผู้เขียนเคยเล่าบางประเด็นไว้ เมื่อปีที่แล้ว (ผู้สนใจ คลิกที่นี้) และกิจกรรมสำคัญอย่างหนึ่งของวันสงกรานต์ปักษ์ใต้ก็คืออาบน้ำคนแก่ ซึ่งผู้เขียนก็เคยเล่าไว้แล้วเช่นกัน (ผู้สนใจ คลิกที่นี้)... บันทึกนี้จะเล่าเฉพาะกิจกรรมของวัดยางทองในวันนี้

ธรรมเนียมของวัดยางทอง บ่อยาง เมืองสงขลา ถือเอาวันที่ ๑๐ เมษา เป็นวันทำบุญเดือนห้าประจำปี ซึ่งพิธีกรรมก็มีเพียงภาคเช้า โดยการสวดมาติกาบังสุกุลกระดูกแล้วก็ถวายพรพระให้บรรดาญาติโยมตักบาตรเท่านั้น... ฟังมาจากท่านอาจารย์มหาประดับ เจ้าอาวาสรูปก่อน ท่านบอกว่า เพื่อต้องการให้บรรดาญาติโยมได้ไปทำบุญที่อื่นในวันที่ ๑๓ และบรรดาพระ-เณร ในวัดจะได้กลับไปเยี่ยมญาติโยมบ้านเดิมวัดเดิมของท่าน...

แต่เดิมมานั้น การเตรียมการเพื่องานวัดทั่วไป จะเป็นหน้าที่ของท่านเจ้าอาวาสสั่งให้คนโน้นทำนี้ คนนี้ทำนั้น แต่เมื่อมาถึงปีนี้ ท่านเจ้าอาวาสก็อาพาธไม่อาจปฏิบัติภารกิจได้ ท่านรองเจ้าอาวาสก็อาพาธ... เรื่องต่างๆ จึงต้องจัดการกันเองตามที่เห็นสมควร ดังเช่นตอนเย็นเมื่อวาน เมื่อผู้เขียนเห็นบาตร ๒-๓ ลูก มาคว่ำอยู่ข้างนอก จึงรู้ว่าหลวงพี่ที่กุฏิได้จัดเตรียมไว้เพื่องานพรุ่งนี้...

 

(พระประธานในศาลาการเปรียญ)

 

เจ็ดโมงเช้า (ตามสำนวนปักษ์ใต้) หลวงพี่ก็ไปเปิดศาลาการเปรียญ นำบาตรไปวางไว้ โดยบาตรนี้จะแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ บาตรดำเก่าๆ ๒ ลูก จะวางไว้ด้านในศาลาฯ ที่บาตรลูกหนึ่งจะเขียนว่า บังสุกุล อีกลูกหนึ่งก็จะเขียนว่า ค่าน้ำค่าไฟ เพื่อให้บรรดาญาติโยมนำปัจจัยมาร่วมทำบุญตามกำลังศรัทธา... ส่วนบาตรอีกชุดหนึ่ง ๓-๔ ลูก เป็นบาตรสแตนเลสที่ใช้งานอยู่ วางไว้ที่โต๊ะใต้ต้นมะขามด้านนอกศาลาฯ เพื่อให้ญาติโยมมาตักบาตรด้วยข้าวสุกในตอนที่พระสงฆ์สวดบทพาหุง เนื่องจากคนมาก จะวางไว้ภายในศาลาฯ เป็นการไม่สะดวก... ส่วนผู้เขียนก็เอาวิทยุเทปรุ่นเก่าจากกุฏิไปเปิดในศาลาฯ แล้วใช้ไมโครโฟนจ่อเข้ากับลำโพง เพื่อจะได้มีเสียงดังๆ ขึ้นมา ทำให้รู้กันว่า วันนี้ในวัดมีงานเท่านั้น

เมื่อ ๒-๓ วันพระก่อน... โยมผู้หญิงหน้าวัด ซึ่งเป็นผู้นำสวดประจำวันพระ ได้ปรารภกับผู้เขียนว่า ทำบุญเดือนห้าปีนี้ ช่วยหาพิธีกรมาช่วยงานหน่อย เพราะวัดเราเดียวนี้ไม่มีพิธีกรในวันสำคัญของวัด... ผู้เขียนก็นึกไปถึงอาจารย์ไกรทอง ซึ่งเพิ่งมาเยี่ยมก่อนหน้านั้นไม่นานนัก บอกความประสงค์ไป ท่านก็มีเมตตารับปากในเบื้องต้น และเก้าโมงกว่าๆ ของวันนี้ ท่านก็ถึงมายังกุฏิผู้เขียน...

ประมาณเก้าโมงครึ่ง ญาติโยมก็ทยอยมาพอสมควร ผู้เขียนก็เข้าไปยังศาลาอีกครั้ง เห็นดอกไม้เต็มแจกันแล้ว จึงนึกได้ว่าขาดไปอีกอย่าง จึงกลับมาที่กุฏิ นำกะละมังลูกโตไปวางไว้บริเวณหน้าพระประธาน แล้วก็ดึงดอกไม้จากแจกันโน้นบ้างนี้บ้างมาเรียงไว้ในกะละมัง ซึ่งญาติโยมที่มาภายหลัง เมื่อเห็นว่าในแจกันดอกไม้เต็มแล้ว ก็จะได้วางไว้ในกะละมัง...

เมื่อเห็นว่าสมควรแก่เวลา ผู้เขียนก็ปิดวิทยุเทปแล้วก็จับไมค์ขึ้นพูดเล็กน้อยเป็นการเริ่มต้น... พอเริ่มพูดได้นิดเดียว ปัญหาก็เข้ามา กล่าวคือ ฝนังด้านหลังพระประธานภายในศาลาฯ นั้น จะทำเป็นช่องไว้พระพุทธรูปบ้าง โกฏิเล็กๆ บ้าง ที่บรรจุกระดูกผู้ตาย โยมผู้ชายคนหนึ่งก็มาบอกว่า โกฏิที่บรรจุกระดูกญาติของเขาหายไป มีของใครไม่รู้ แล้วก็ไปอ่านชื่อที่โกฏิอันใหม่มาบอกว่า ช่วยประกาศหาเจ้าของให้หน่อย... ผู้เขียนก็ประกาศให้ ก็มีโยมผู้หญิงเข้ามา เมื่อทราบความก็ปฏิเสธว่า ช่องนั้นว่าง ไม่เคยเห็นโกฏิของโยมผู้ชาย รู้สึกว่าต่างคนต่างไม่ค่อยพอใจนัก ผู้เขียนก็พูดเป็นกลางๆ ว่า กระดูกบรรพบุรุษของเรา ย่อมเป็นที่เทิดทูนเคารพบูชาฉันใด คนอื่นๆ เขาก็ย่อมเทิดทูนเคารพบูชาฉันนั้น ควรเอาใจเขามาใส่ใจเรา...

ต่อจากนั้น ก็แนะนำอาจารย์ไกรทอง พิธีกรรับเิชิญคนใหม่ของวัด แล้วก็ส่งไมค์ให้อาจารย์ไกรทอง ก่อนที่จะปลีกตัวออกมา... ไปนั่งม้วนยาเส้นใบจากจุดสูบเพื่อสงบสติอารมณ์อยู่ที่กุฏิด้านหลังศาลาฯ พลางคิด เรื่องโกฏิทองเหลืองและพระพุทธรูปทองเหลืองที่บรรจุกระดูกของญาติโยมหายนี้ ไม่รู้จะแก้ยังไง เพราะพักหลังนี้ มีเกือบทุกครั้งที่ทำบุญไ่ม่ว่าจะเป็นเดือนห้าเดือนสิบ พอดีหลวงพี่ผ่านมาจึงปรารภเรื่องนี้ ท่านก็บอกว่าแก้ยากส์... ประเด็นนี้ ผู้เขียนค่อยนำมาเล่าเป็นการเฉพาะอีกเรื่องหนึ่ง.

 

ตีสิบ (๑๐.๐๐ น) ได้ยินเสียงเคาะระฆังก็เป็นสัญญาณว่าจะเริ่มทำพิธี ผู้เขียนก็เข้าไปในศาลาอีกครั้ง... อาสนสงฆ์ภายในศาลาซึ่งยกพื้นสูงขึ้นมาติดกับกับฝ่าฝนังนั้นจะปูพรมนั่งไว้ ๖ ผืนตามจำนวนพระ-เณร ถัดจากพรมนั่งออกมา ตอนนี้มีข้าวปลาอาหารเรียงไว้เต็ม เมื่อพิธีกรเริ่มกล่าวบูชาพระรตนตรัย ผู้เขียนเห็นว่ายังขาดเณรอยู่รูปหนึ่ง ลองถามพระปลายแถวดู ท่านว่าตีระฆังแล้วประเดียวมาเอง เมื่อเห็นว่าไม่มา ผู้เขียนจึงลุกขึ้นไปตาม ปรากฎว่าเณรนอนหลับอยู่ในห้อง จึงเรียกให้รีบห่มจีวรมา...

ตอนนี้ที่วัดก็มีเณรอยู่ ๒-๓ รูป แต่ตอนนี้โรงเรียนปิดจึงกลับวัดบ้านเดิม รูปนี้เพิ่งกลับมาเมื่อวาน ส่วนพระอีกรูป ขออนุญาตกลับวัดบ้านเดิม เพราะที่วัดบ้านเดิมของท่านตอนนี้มีพระเพียงรูปสองรูปเท่านั้น... ขณะที่ท่านเจ้าอาวาสตอนนี้ก็พักอยู่ที่กุฏิเนื่องจากอาพาธ ดังนั้น จึงทำพิธีเพียง ๖ รูป.

พิธีกรรมก็เริ่มต้นด้วยการที่ญาติโยมไหว้พระรับศีล ต่อจากนั้นพระสงฆ์ก็สวดมาติกาบังสุกุล เมื่อพระสงฆ์ขึ้นบทพาหุงฯ ญาติโยมก็ถือขันหรือปินโตใส่ข้าวสุกออกไปใส่บาตรด้านนอก แล้วทยอยกลับมาภายในศาลาฯ แต่ก็มีญาติโยมอีกบางส่วนที่สมัครใจนั่งอยู่ภายนอกศาลา... หลังจากบังสุกุลและตักบาตรเสร็จแล้ว พิธีกรก็กล่าวนำถวายสังฆทาน ต่อจากนั้นญาติโยมก็กรวดน้ำรับพร และพิธีกรรมก็สิ้นสุดลงโดยพิธีกรนำกล่าวลาพระรตนตรัยอีกครั้ง...

ขั้นตอนต่อไปพระสงฆ์ก็กระทำภัตรกิจหรือฉันข้าว... ด้วยเหตุว่าอาหารมีมาก การประเคนจึงมักจะใช้วิธีการให้พระ-เณร จับที่จานใบแรกใกล้ตัว แล้วญาติโยมก็ประเคนชิดๆ เข้ามา ถือว่าเป็นการปรับไปตามสถานการณ์... อาหารที่วางไว้ข้างหน้าวันนี้นั้น ผู้เขียนคิดว่าพระ-เณรร้อยรูปก็ฉันพอ ดังเคยเล่าไว้เรื่อง อาหารเสือ (คลิกที่นี้)แต่ผู้เขียนก็ฉันได้นิดหน่อย ไม่ค่อยมีอารมณ์ฉัน คงเป็นเพราะพะวงกับเรื่องโน้นเรื่องนี้ และอาหารมากเกินไป...

สำหรับที่วัดยางทอง เมื่อพระ-เณรฉันเสร็จแล้ว ประธานสงฆ์ก็จะขึ้นบทอัชชะ มะยา ฯ ่ก่อนจะลุกจากที่นั่ง วันนี้ก็เช่นเดียวกัน หลังจากสวดบทอัชชะ มะยาฯ เสร็จแล้ว ผู้เขียนก็บอกว่าเอาไปกินกันได้ พลางลุกขึ้น บรรดาญาติโยมก็กรูกันเข้ามา ต่างก็หยิบฉวยกับข้าว ของหวาน หรือผลไม้ที่หมายตาไว้... สังเกตว่า เดือนห้าทุกปี ผลไม้จะมีน้อย ต่างจากเดือนสิบ ผลไม้จะมีมาก ส่วนแกงสมรม (คลิกที่นี้) เดือนห้าปีนี้ น่าจะไม่ได้ฉัน เพราะไม่เห็นมีใครเอาหม้อใบใหญ่ไปถ่ายแกงไว้...

ก็กลับมายังกุฏิ จะมาเอากล้องไปเก็บภาพไว้ แต่พอหยิบกล้องออกมาจากห้อง ก็เห็นชายคนหนึ่งกำลังขึ้นมาในกุฏิ... ไอ้ดิด ! พอเห็นหน้าเท่านั้น ความจำก็ผุดขึ้นมา เป็นเพื่อนเก่าร่วมรุ่นเรียนเทคนิค เคยมาเยี่ยมผู้เขียนเมื่อสิบกว่าปีก่อน จึงต้องชวนกันนั่ง สนทนาปราศัยรำลึกความหลังกันครู่หนึ่ง... ประดิษฐ์ทำงานและมีครอบครัวอยู่กรุงเทพ ปีนี้โอกาสดีได้กลับมาทำบุญบ้านเดิม จึงแวะมาเยี่ยมผู้เขียน ถามว่า ขาดอะไรบ้าง ผู้เขียนว่า ไม่ขาดอะไร เพียงแต่ยังไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส ! (5 5 5...) เค้าบอกว่าวันอาทิตย์จะเข้ามาอีกครั้ง ผู้เขียนจึงเปิดตู้เย็นให้ดู ซึ่งตอนนี้นอกจากน้ำเย็นแล้วก็เกือบจะไม่มีอะไร แล้วก็บอกว่าซื้ออะไรมาใส่ก็ได้ให้เต็มๆ เค้าก็รับปาก.

กลับลงไปที่ศาลาฯ อีกครั้ง ญาติโยมเกือบทั้งหมดก็กลับกันแล้ว ที่ยังมีอยู่ บางท่านกำลังปิดทององค์พระ บางท่านก็สรงน้ำองค์พระ... ผู้เขียนก็ปรารภกับโยมท่านหนึ่งว่า ปีหน้าน่าจะยกพระพุทธรูปให้ญาติโยมปิดทองหรือสรงน้ำที่ศาลาด้านนอก ซึ่งโยมก็เห็นด้วยพร้อมทั้งเพิ่มเติมว่า น่าจะวางไว้หลายๆ วัน... ผู้เขียนก็กลับมาปรารภกับหลวงพี่ที่กุฏิเพื่อกันลืม ท่านก็บอกว่า เอาไว้ก่อน ไม่รู้ว่า ปีหน้าจะเป็นอย่างไรอีก...

สรุปว่า วัดที่ไม่มีผู้นำซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จ จะคิดจะทำอะไรก็ไม่ค่อยราบรื่น ได้เพียงแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปแต่ละครั้งเท่านั้น...

หมายเลขบันทึก: 254961เขียนเมื่อ 10 เมษายน 2009 23:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:35 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

กราบ นมัสการ พระคุณเจ้า

P BM.chaiwut

ผมแวะมากราบรับ พร วัน สงกรานต์ ครับ

นมัสการพระคุณเจ้า ประเพณีสงกรานต์แยกกันไม่ใคร่ออกกันกับคนมุสลิมเรา ที่ทำงานผมถูกรดน้ำประจำ พร้อมทั้งให้พรและขอพร ซึ่งผมพยายามอธิบายให้ฟังทุกปีว่าประเพณีสงกรานต์ มุสลิมเราห้ามกระทำการไดๆเกี่ยวกับสงกรานต์ แต่พวกเธอยังแอบๆมาเวลาเผลอ โดนทุกปีครับท่าน

 

P วอญ่า-ผู้เฒ่า-natachoei--

 

อันที่จริง ประเพณีสงกรานต์ ก็มิได้มีพื้นฐานมาจากพระพุทธศาสนาเหมือนกัน...

สำหรับศาสนาอิสลามนั้น... เคยอ่านเรื่องการจัดประเภทการกระทำตามหลักจริยศาสตร์ของอิสลามว่ามี ๕ ประการ กล่าวคือ

  1. การกระทำที่เป็นหน้าที่หรือข้อผูกพัน เช่น ซากาด การถือศีลอด
  2. การกระทำที่เป็นคำแนะนำ เช่น ความกรุณา การอธิษฐาน
  3. การกระทำที่ยอมรับได้ คือ ธรรมเนียมโบราณที่นอกเหนือการให้รางวัลและการลงโทษ
  4. การกระทำที่ถูกกีดกันไว้ มิใช่ข้อห้ามอันเข้มงวด
  5. การกระทำที่ผิด เป็นข้อห้ามเด็ดขาด เช่น การผิดประเวณี

ตามความเห็นส่วนตัว เมื่อนำหลักนี้มาพิจารณาประเพณีสงกรานต์ ก็น่าจะเข้าข่ายข้อ (3) หรือ (4) ซึ่งก็คงขึ้นอยู่กับการตีความแล้วรับมาปฏิบัติ... มิได้ยืนยันและคัดค้านว่าผิดหรือถูก เพียงแต่แลกเปลี่ยนความเห็นกับบังทำนองว่า...

"หลักศาสนาทั่วไป เหมือนกันในแง่ที่ว่า การตีความแล้วนำมาประยุกต์ใช้นั้น แต่ละคน กลุ่มชน หรือสังคม ก็แตกต่างกันไป..."

ซึ่งความเหมาะสมทำนองนี้ บังคงจะเข้าใจชัดเจนด้วยตัวเองเป็นอย่างดี...

เจริญพร

นมัสการค่ะ

* มานิมนต์ไปดูหนังสี่จอค่ะ

Sdc19787 Sdc19788 Sdc19789 Sdc19796 Sdc19790 Sdc19791 Sdc19794 Sdc19798
Sdc19799 Sdc19800 Sdc19801 Sdc19802 Sdc19804 Sdc19805 Sdc19806 Sdc19807
Sdc19809 Sdc19808 Sdc19810 Sdc19811 Sdc19812 Sdc19813 Sdc19814 Sdc19815
Sdc19816 Sdc19817 Sdc19818 Sdc19819 Sdc19820 Sdc19821 Sdc19822 Sdc19823
Sdc19824 Sdc19825 Sdc19826 Sdc19827 Sdc19828 Sdc19829 Sdc19830

* นมัสการลาค่ะ

***แวะมากราบนมัสการและอ่านบันทึกดีๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท