ออกเดินสายไปเยี่ยมสถานศึกษาเที่ยวนี้ พบความจริงอย่างหนึ่งว่าสถานศึกษาของเราในปัจจุบัน ไม่ว่าขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ ต่างมีความพร้อมด้านปัจจัย
พื้นฐาน (input) ไม่แตกต่างกัน
ความพร้อมด้านอาคารสถานที่ บรรยากาศ สิ่งแวดล้อม ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (คอมพิวเตอร์) ห้องสมุด ห้องปฏิบัติการทางภาษา อุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้สถานศึกษาขนาดใหญ่มี สถานศึกษาขนาดเล็กก็มี จะต่างกันตรงจำนวนและประสิทธิภาพของอุปกรณ์เครื่องมือเท่านั้น
ที่มาของความพร้อมเหล่านี้ ทราบว่าส่วนใหญ่มาจากกระแสสังคม และนโยบายกระทรวง นโยบายกรม ที่มองว่าปัจจัยพื้นฐานเหล่านี้จะนำไปสู่คุณภาพการศึกษา จึงระดมงบประมาณให้การสนับสนุนเป็นการใหญ่ สถานศึกษาบางแห่งไม่ได้รับ หรือได้รับไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็พยายามขวนขวายงบประมาณจากแหล่งต่าง ๆ เพื่อให้เทียมหน้าเทียมตาสถานศึกษาอื่น
ผมยอมรับว่า บรรยากาศทางกายภาพ เหล่านี้เป็นปัจจัยเบื้องต้นที่สำคัญในการจัดการศึกษา ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยสนับสนุนการตัดสินใจของพ่อแม่ผู้ปกครองในการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในสถานศึกษา แต่เราคงจะไม่ยึดติดแต่เพียงการมุ่งหาหรือสร้างความหรูหราด้านกายภาพเพียงอย่างเดียว และเข้าใจไปว่า นี่คือ จุดชี้ขาดด้านคุณภาพการศึกษา
คุณภาพของสถานศึกษาน่าจะอยู่ตรงความพยายามในการบริหารและการจัดการใช้ปัจจัย
พื้นฐานและทรัพยากรทุกอย่าง เพื่อจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลายให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาตามศักยภาพอย่างเต็มที่ สร้างให้เขาเป็นคนดีและเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ มีทักษะในการดำรงชีวิตที่เหมาะสมมากกว่า
การพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาในสถานศึกษาจึงจำเป็นที่ทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือร่วมใจกัน มีวิสัยทัศน์ (vision) ที่ตรงกัน มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ (strategic plan) หรือแผนพัฒนาโรงเรียน (school improvement plan) ที่ชัดเจนเพื่อพัฒนาสู่วิสัยทัศน์ที่มุ่งหวังและปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องตามวงจรคุณภาพ(ของ Dr, Deming) คือ plan (วางแผน) Do (ปฏิบัติ) Check (กำกับติดตามและประเมินผลการปฏิบัติ และ Action (ปรับปรุงพัฒนา)
แผนพัฒนาสถานศึกษาจึงเป็นแผนแม่บทที่เกิดจากบุคลากรทุกคน ซึ่งอาจรวมชุมชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย(stakeholder) มาร่วมกันจัดทำ ปัจจุบันเริ่มมีการจัดทำแผนพัฒนาสถานศึกษาในรูปของธรรมนูญโรงเรียน(school charter) กันมากขึ้น เพื่อหวังให้เป็นยุทธศาสตร์ที่มีพันธะสัญญาร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับชุมชน ว่าจะจัดการศึกษาตามธรรมนูญหรือข้อตกลงที่ทำร่วมกัน ซึ่งจะสามารถตรวจสอบและประเมินผลได้
แผนการสอน ถือว่าเป็นแผนพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนของครูแต่ละคนที่มีความสำคัญที่สุดในการจัดการศึกษาที่ครูจะต้องถือเป็นภาระหน้าที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ จะเห็นได้ว่าระเบียบข้อบังคับหรือเกณฑ์การประเมินการปฏิบัติงานของครูที่กำหนดขึ้นนั้น สาระสำคัญอยู่ที่แผนการสอนแทบทั้งนั้น
เท่าที่ได้พูดคุยกับครูหลายคนก็ทราบว่า ครูยังมีเจตคติที่ไม่ค่อยดีนักต่อการทำแผนการ สอน ทั้ง ๆที่ต่างก็ยอมรับว่าแผนการสอนมีประโยชน์โดยมีข้ออ้างที่เป็นเหตุผลน่ารับฟัง เช่น ต้องสอนหลายรายวิชา สอนหลายคาบ ต้องรับผิดชอบงานอื่นๆ อีกจิปาถะ จะเอาเวลาที่ไหนไปทำแผนการสอน ฯลฯ
สาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ครูเบื่อหน่ายเรื่องแผนการสอนนั้นพบว่ามาจากกระบวนการส่งเสริมการจัดทำแผนที่ไม่ยึดหลักความพอดีความเหมาะสม และการพัฒนาที่ไม่เป็นระบบไม่เป็นขั้นตอน เริ่มแรกก็หวังให้ครูทำแผนการสอนที่สมบูรณ์ที่สุด โดยยึดติดรูปแบบและกติกามากมาย เช่น รูปแบบแผนการสอนที่สนองสมรรถภาพของมนุษย์ 9 ขั้นของกาเย่ (GAGNE) รูปแบบแผนการสอน9 ขั้นที่เน้นกระบวนการ เป็นต้น หรือเวลาอบรมเรื่องการทำแผนการสอน ก็เอาตัวอย่างแผนการสอนของผู้ที่ผ่านการประเมินเป็นอาจารย์3 เล่มโต ๆ มาให้ดู พอครูเห็นเข้าก็ท้อแต่แรกแล้ว แต่เมื่อถูกบังคับให้ทำก็ทำส่ง (ทำส่งๆ)โดยทำแบบไม่เต็มใจเท่าใดนัก หรือบางคนพอเริ่มต้นก็พยายามทำอย่างดีเพื่อส่งเป็นผลงานอาจารย์3 เลย แต่ไม่ว่าจะทำแบบไหน ก็มักทำเพื่อส่งหรือเพื่อให้คณะต่าง ๆที่มาประเมินได้ให้คะแนนว่า มีแผนการสอนแล้ว แต่เรื่องการนำไปใช้จริงและการพัฒนาแผนการสอนอย่างเป็นระบบ ยังเป็นเพียงอุดมคติเท่านั้น
ถ้าโยงใยสาเหตุของปัญหาต่อไปก็จะมาลงที่การบริหารการจัดการของสถานศึกษาที่ยังเกรงอกเกรงใจกัน ไม่มีระบบกำกับติดตาม และประเมินอย่างแท้จริงและต่อเนื่อง
แผนการสอนของเราจึงยังเขียนเพื่อส่งมากกว่าเขียนเพื่อใช้สอนจริง
เรื่องนี้เป็นเรื่องคุณภาพการศึกษาที่เราต้องมาพูดความจริงและหาทางออกที่เหมาะสม โดยไม่ต้องเกรงอกเกรงใจกันได้แล้ว ถ้ายังคิดหนทางแก้ปัญหาไม่ออก ผมขอเสนอแนะแนวทางหนึ่งที่พยายามแก้สาเหตุของปัญหาทุกอย่างที่กล่าวข้างต้น โดยต้องทำในระดับนโยบายและทำกันอย่างต่อเนื่องทั่วทั้งโรงเรียนคือ
1. สถานศึกษาจะต้องกำหนดเป็นนโยบายและเป้าหมายในเรื่องการทำแผนการสอนร่วมกันให้ชัดเจน เช่น
-ให้เขียนหรือปรับแผนการสอนที่มีอยู่แล้วเพื่อมุ่งที่จะใช้สอนจริง
- ไม่ยึดติดรูปแบบของแผนการสอน อาจเขียนในสมุดด้วยลายมือก็ได้ แต่ควรมีหัวข้อสำคัญ เช่น จุดประสงค์ เนื้อหากิจกรรมการเรียนการสื่อ สื่อการสอนและการประเมินผล
-การเขียนกิจกรรมการเรียนการสอนให้มุ่งแต่เพียงการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งต้องสร้างความคิดรวบยอดในเรื่องนี้ให้ตรงกัน
ทั้งนี้ สถานศึกษาอาจยืดหยุ่นให้ครูแต่ละคนที่สอนหลายรหัสวิชาเริ่มจัดทำภาคเรียนละ1 รายวิชาหลักก่อนก็ได้ แต่ถ้าสถานศึกษาใดพร้อมจะทำทุกรายวิชาเลยก็เป็นเรื่องที่ดี
2. สถานศึกษาต้องสร้างความเข้าใจและสร้างความเห็นพ้องต้องกันในการกำหนดระบบการกำกับติดตามการสอนตามแผนการสอนเพื่อให้เกิดการปฎิบัติจริงหลายๆ วิธี เช่น
-ในท้ายของแต่ละแผนการสอน ให้มีที่ว่างอย่างน้อยครึ่งหน้ากระดาษสำหรับให้ครูเขียนผลการสอนปัญหาและข้อเสนอแนะ หลังจากที่สอนตามแผนการสอนแล้ว โดยเขียนให้ชัดเจน ระบุเป็นประเด็นที่จะเป็นแนวทางในการนำไปใช้ปรับแผนการสอนในโอกาสต่อไป
-ต่อจากหัวข้อปัญหาและข้อเสนอแนะ ซึ่งเป็นหัวข้อ ความคิดเห็นของผู้บริหาร ผู้บริหารสถานศึกษาหรือรองผู้บริหารฝ่ายวิชาการควรได้อ่านแผนการสอนปัญหาข้อเสนอแนะ แล้วให้ความเห็นและข้อเสนอแนะ หรือชื่นชมตามความจริงมากกว่าการลงนามอย่างเดียว
-ผู้บริหารสถานศึกษาหรือรองผู้บริหารฝ่ายวิชาการควรมีการตรวจเยี่ยมการสอนตามสภาพจริง โดยมีสมุดส่วนตัวสำหรับบันทึกข้อมูลการสอนตามแผนการสอนจริงของครูด้วย ไม่ใช่เพียงเดินดูเฉย ๆวิธีการตรวจเยี่ยมนั้นจะไม่ทำเพื่อจับผิด แต่จะทำเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการปรับปรุงพัฒนาและประเมินผลการปฏิบัติงานของครูอาจารย์เป็นสำคัญ
-กำหนดให้มีวาระหนึ่งในการประชุมครูทุกครั้ง สำหรับการติดตามและรายงานการสอนตามแผนการสอนของแต่ละหมวดวิชา
-กำหนดให้แต่ละหมวดวิชาจัดตารางสอนให้ครูว่างตรงกันสำหรับการนิเทศภายในเรื่องการพัฒนาการเรียนการสอนและการสอนตามแผน การสอนฯ
3. เมื่อสิ้นภาคเรียนหรือสิ้นปีการศึกษา สถานศึกษาควรจัดให้มีการประชุมปฏิบัติการพัฒนาแผนการสอนของครูแต่ละคน โดยใช้ปัญหาและข้อเสนอแนะในแต่ละแผนที่ได้บันทึกไว้เป็นฐานการปรับปรุงพัฒนา เมื่อเปิดภาคเรียนใหม่ก็นำแผนที่ปรับปรุงใหม่ไปใช้สอนจริงและบันทึกปัญหาและข้อเสนอแนะเช่นเดียวกับปีแรก และปรับปรุงในปีต่อไปอีกทำเช่นนี้ติดต่อกันสัก 3 ปี เชื่อว่าในปีที่3 จะได้แผนการสอนที่สมบูรณ์ เป็นวิจัยเชิงปฏิบัติการที่เกิดจากชีวิตจริงในการจัดการเรียนการสอนที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง
แผนการสอนในแต่ละปีจะไม่ได้รับการพัฒนากิจกรรมการเรียนการสอนที่สร้างสรรค์ ถ้าครูไม่ได้พัฒนาตนเองให้มีความรู้อย่างกว้างขวางลึกซึ้งในสาขาวิชาที่สอน ดังนั้น สถานศึกษาควรมีข้อกำหนดให้ครูได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งความรู้ต่างๆ ให้มาก โดยเฉพาะหนังสือทุกเล่มในห้องสมุดที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาที่สอน ควรมีร่องรอยการอ่าน การหยิบยืม รวมทั้งการค้นคว้าทางInternet เพราะจะทำให้ครูมีวิสัยทัศน์ในการนำมาพัฒนาแผนการสอนให้ก้าวหน้ามากขึ้นทุกปี เพื่อจะได้เป็นแบบอย่างในการสร้างนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียนให้เกิดขึ้นกับผู้เรียนต่อไป
อีกประการหนึ่งที่อยากฝากให้สถานศึกษาพิจารณาดำเนินการ คือ การใช้บรรยากาศทางกายภาพที่จัดได้ดีอยู่แล้วมาเสริมสร้างบรรยากาศทางวิชาการให้เกิดขึ้นทั่วทั้งสถานศึกษา โดยใช้ยุทธศาสตร์การสร้างผู้เรียนให้เป็นผู้ช่วยครูอาจารย์แล้วบริหารจัดการให้ผู้ช่วยเหล่านั้นมาจัดกิจกรรมทางวิชาการที่สร้างสรรค์กับเพื่อนหรือรุ่นพี่รุ่นน้อง ให้เกิดบรรยากาศทางวิชาการที่คึกคักมีชีวิตชีวาอย่างต่อเนื่อง โดยใช้แหล่งการเรียนรู้ของสถานศึกษา เช่น ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการทางภาษา และห้องสมุด ฯลฯ ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด แทนการผู้ขาดจากครูอาจารย์ผู้ดูแลรับผิดชอบที่เคยจัดให้ผู้เรียนใช้แหล่งความรู้ตามที่ตนเองว่างเท่านั้น
ถ้าสามารถทำได้เช่นนี้จะเป็นการใช้ทรัพยากรที่คุ้มค่าเป็นการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลางที่สร้างเสริมประสบการณ์การเรียนรู้ให้ผู้เรียนอย่างเต็มศักยภาพและเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนครูด้วยเพียงแต่ครูอาจารย์ต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอน ผู้บงการมาเป็นผู้จัดการเป็นผู้ช่วยเหลือ สนับสนุนให้กำลังใจผู้เรียนแทน
อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดทั้งปวงที่กล่าวมาจะสำเร็จไม่ได้ ถ้าไม่สร้างความเข้าใจสร้างความเห็นพ้องต้องกัน (consensus) เมื่อทุกฝ่ายยอมรับเป็นแนวทางปฏิบัติแล้วก็ควรจัดทำเอกสารคู่มือเป็นลายลักษณ์อักษร เมื่อตกลงอย่างไรก็ต้องทำอย่างนั้น เมื่อพบมีปัญหาก็ปรับปรุงแก้ไขกันไป ไม่ถือเป็นข้อบกพร่อง เมื่อทำกันบ่อยครั้งเข้าก็จะเป็นวัฒนธรรมการพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษาไปในที่สุด
การพัฒนาคุณภาพการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่ผู้บริหาร ครู จะต้องใช้ความรู้ความสามารถ อาศัยหลักการศึกษา หลักจิตวิทยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะต้องมีใจรักในวิชาชีพครู มีจิตวิญญาณของความเป็นครู ทุ่มเท เสียสละ เอาใจใส่ติดตามแก้ปัญหามองปัญหาเป็นสิ่งท้าทายมากกว่าเห็นเป็นอุปสรรคและทำงานอย่างเป็นระบบ คิดค้นพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง ไม่ทำอะไรแบบไฟไหม้ฟาง มีความสุขเมื่อได้เห็นผลสำเร็จของงานมากกว่าผลตอบแทนทางวัตถุ ดังเช่นปณิธานของพลตรี หลวงวิจิตรวาทการ ที่ว่า …………..
“สุขของฉันอยู่ที่งานหล่อเลี้ยงจิต สุขของฉันอยู่ที่คิดสมบัติบ้า งานยิ่งมีมากจริงยิ่งเป็นสุข งานยิ่งชุกมันสมองยิ่งผ่องใน เมื่องานทำได้เสร็จสำเร็จไป ก็สุขใจปลาบปลื้มลืมทุกข์ร้อน” ************************** ธเนศ ขำเกิด [email protected] |
ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก