ขอสับหลีกหนีจากอุณหภูมิที่ร้อนแรงทางการเมืองของไทยสักครู่ครับ
เพื่อให้ทุกท่านได้คลายเครียดและเข้าสู่การเป็นหนึ่งในสมาชิกของ
"องค์กรแห่งความสุข"
หรือที่สากลนิยมเรียกว่า happy organization นั่นเอง
โดยได้มีรายงานการวิจัยออกมาว่า
หากผู้บริหารสามารถสร้างให้องค์กรของตนมีบรรยากาศการทำงานที่ดี
เป็นมิตร และบุคลากรทุกท่านในองค์กรของตนมีความรู้สึกที่ดีต่อองค์กร
กระตือรือร้นในการทำงานแล้ว ก็จะทำให้พนักงานทั้งหลายขององค์กรนั้น
มีความ ทุ่มเท สนุกสนานกับการทำงาน
ซึ่งจะนำไปสู่สิ่งที่องค์กรคาดหวังและต้องการมากในยุคปัจจุบัน คือ
การพัฒนาเข้าสู่การเป็นองค์กรแห่งการสร้างสรรค์ (creative
organization) ที่จะมีแนวคิดใหม่ๆ ความคิดที่แปลกแหวกแนว
มีการใช้ความพยายามที่มากขึ้น
เพื่อนำไปสู่การพัฒนามูลค่าเพิ่มในสินค้าและบริการต่างๆ
ของกิจการในอนาคตอีกด้วย
ผีหลอก
จริงๆ เรื่องนี้
ท่านผู้อ่านทุกท่านก็คงจะสัมผัสได้กับองค์กรของท่าน
หรือสิ่งที่เกิดขึ้นใกล้ตัวขณะนี้
ซึ่งหากเราต้องทำงานในสถานการณ์ที่ล่อแหลมต่อความมั่นคงปลอดภัย
อาจมีอันตรายเกิดขึ้น เช่น
ต้องทำงานในสถานที่ที่ยังไม่มีความสงบเรียบร้อยทางการเมือง
มีการก่อการร้ายเกิดขึ้นเนืองๆ แล้วเช่นนี้
ก็นำไปสู่ขวัญกำลังใจในการทำงานที่หดหาย
ยากที่จะไปมุ่งมั่นเพื่อพัฒนาคิดค้นคว้าหาสิ่งใหม่ๆ ให้กับองค์กรครับ
เนื่องจากแต่ละวันก็ต้องสนใจกับความอยู่รอดปลอดภัยของตนเองก่อนเป็นอันดับแรก
หรือหากท่านต้องทำงานอยู่ภายใต้สถาน การณ์ที่มีความเครียด
และความกดดันจากสภาพการณ์รอบข้างอยู่ตลอดเวลา ดังที่หลายๆ
ท่านกำลังเผชิญความเครียดจากปัจจัยทางการเมืองขณะนี้
ก็ยากที่จะสงบจิตสงบใจนิ่งๆ และมุ่งมั่นต่อการคิดค้นสิ่งใหม่ๆ
ให้เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน
ดังนั้น
หากต้องการที่จะพัฒนาองค์กรของเรา
ให้บุคลากรมีความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่
อันจะนำไปสู่นวัตกรรมในสินค้าหรือบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น
แตกต่างเป็นเอกลักษณ์จากคู่แข่ง สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงก็คือ
การทำให้บุคลากรของเรามีความสุขกับการทำงานในกิจการเสียก่อน
โดยได้มีการประยุกต์หลักการทางจิตวิทยาเข้ามาในประเด็นนี้เช่นกันครับ
โดยได้มีการพิจารณาปัจจัยหลักสองด้าน คือ ด้านบรรยากาศในการทำงาน
และด้านเนื้อหาของงานที่ให้บุคลากรทำ
ในด้านแรก คือ บรรยากาศในการทำงานนั้น ก็เป็นที่ทราบกันทั่วไปแล้ว
เนื่องจากได้มีการพูดถึงเรื่องนี้กันค่อนข้างแพร่หลายครับ
ไม่ว่าจะเป็นการสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรระหว่างเพื่อนร่วมงาน
ไม่ให้มีการชิงดีชิงเด่น แข่งขันกันจนมากเกินไป
ซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งในการทำงานที่เกินกว่าจะควบคุมได้
จะยิ่งนำไปสู่ความเครียดและความไม่ไว้วางใจกัน เกิดการปกปิดข้อมูล
ไม่ร่วมมือประสานงานกัน
ยิ่งจะทำให้บรรยากาศของการระดมสมองและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อพัฒนาสิ่งใหม่ๆ
ลดน้อยลงไปอีก
นอกจากความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานแล้ว
ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้านายลูกน้อง การดูแลที่เป็นธรรม
การให้ความเอาใจใส่อย่างเหมาะสม
รวมถึงการมีกิจกรรมที่ไม่เป็นทางการระหว่างกันบ้าง
เพื่อกระชับความสัมพันธ์และสร้างความรู้สึกที่ดีต่อกัน
จะสร้างความสุขในการทำงานให้กับบุคลากรอย่างมาก
เนื่องจากลูกน้องเองก็จะมีความเครียดเกร็งน้อยลง
ไม่คิดแต่ว่าจะทำอย่างไรให้ไม่ถูกด่าถูกตำหนิจากหัวหน้า
ซึ่งก็จะทำให้ลูกน้องมีความกล้าที่จะนำเสนอไอเดียใหม่ๆ
ที่แตกต่างไปจากสิ่งเดิมให้หัวหน้าพิจารณาได้
ซึ่งไอเดียเหล่านี้นี่เองจะนำไปสู่การพัฒนาองค์กรให้มีประสิทธิภาพทางการแข่งขันที่สูงขึ้นอย่างมาก
ดังในกรณีของบริษัท Pixar
ซึ่งเป็นผู้ผลิตหนังแอนิเมชั่นระดับโลกอย่าง ทอย สตอรี่ ฯลฯ
และได้รับการยกย่องว่าเป็นองค์กรผู้นำด้านความคิดสร้างสรรค์ของโลกทีเดียว
ก็ได้มีนโยบายสร้างบรรยากาศให้เกิดการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานดังกล่าว
โดยจะมีการให้อิสระเปิดกว้างทางความคิดใหม่ๆ
ไม่ให้พนักงานรู้สึกว่าตนเองมีข้อจำกัดทางความคิดว่าจะต้องดำเนินไปในแนวทางเดิมๆ
เท่านั้น รวมถึงผู้บริหารให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่
ไม่ว่าจะเป็นด้านทรัพยากรต่างๆ เงินทุน เวลา และที่สำคัญที่สุดคือ
การให้ความเชื่อมั่นกับพนักงานให้เกิดความกล้าเสี่ยงและยอมรับผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้น
ซึ่งผู้บริหารเองก็จะไม่ตำหนิพร่ำเพรื่อถึงความเสี่ยงที่อาจจะไม่ได้รับผลตอบแทนดังที่คาดหวัง
ทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงาน เหมือนดังที่ตนเองเป็น
"ผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการคนหนึ่ง"
มิใช่เพียงแค่ลูกจ้างเท่านั้นครับ
ด้านที่สอง ก็คือ
ทางด้านของเนื้องานที่ให้บุคลากรทำ
ทางด้านนี้ได้รับการวิเคราะห์ว่ามีอิทธิพลสูงมากเช่นกัน
ถึงแม้ว่าองค์กรจะมีซูเปอร์สตาร์ที่มีความสามารถในการทำงานสูงมาก
หรือมีระบบเทคโนโลยีในการดำเนินงานที่สลับซับซ้อนสูงกว่าคู่แข่งขันอย่างมากมายในธุรกิจ
ก็ยังไม่ใช่เหตุผลที่จะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ในองค์กรได้ครับ
ประเด็นหลักที่ค้นพบจากการศึกษานี้คือ
ต้องให้บุคลากรมีความรักและมีความสุขกับงานที่เขาได้รับมอบหมายไป
จึงจะสามารถกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่ออกมาได้
โดยทางด้านจิตวิทยาก็สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวในการจัดการอย่างมาก
โดยกล่าวว่าหากพนักงานมีความรักชอบในงานที่ทำ
จะช่วยขจัดความเบื่อหน่ายในการทำงานลงได้
อีกทั้งยังสร้างความกระตือรือร้นและสมาธิในการทำงานด้วย
เสมือนกับว่านั่งทำงานที่ตนชอบหลายชั่วโมงก็เสมือนว่าเวลาเพิ่งผ่านไปไม่ถึงสิบนาที
และจากความรู้สึกในช่วงดังกล่าวนั้น
จะช่วยสร้างและกลั่นกรองความคิดสร้างสรรค์ออกมาได้อย่างไม่จำกัดเลยทีเดียว
นับเป็นอาวุธทางการแข่งขันอย่างหนึ่ง เช่น ในอุตสาหกรรมวิดีโอเกม
ซึ่งมักจะมีการเสาะหาผู้ที่มีความสามารถทางด้านโปรแกรมมิ่งและต้องเป็นผู้ที่ความรักลุ่มหลงในการเล่นเกมคอมพิวเตอร์มาช้านาน
เพื่อให้เข้ามาเป็นนักพัฒนาเกม เขียนโปรแกรมใหม่ๆ
ที่เกี่ยวข้องกับการเล่นเกมขึ้นมา
ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์แปลกใหม่
กระตุ้นความแตกต่างและตื่นตาตื่นใจต่อผู้เล่นเกมอย่างมาก
การนำผู้ที่รักในเนื้องานดังกล่าวอย่างจริงจังมาพัฒนา
จึงเป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของธุรกิจนี้
และในเนื้อหาของงานที่มีความสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ
ต้องมีความท้าทายแอบแฝงอยู่ในงานดังกล่าว
มิใช่เป็นงานประจำวันที่พนักงานทำอยู่ทุกวันได้อยู่แล้ว
แต่ควรต้องมีขอบเขตงานที่กว้างขวางขึ้น ท้าทายขึ้น
ให้พนักงานมีโอกาสไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม และที่ต้องคำนึงถึงก็คือ
เป้าหมายที่ตั้งให้กับพนักงานต้องมีความชัดเจน
ว่าจะต้องให้เขาบรรลุอะไรบ้าง
จึงจะสร้างความสุขและกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ
ให้เกิดขึ้นได้จริง อย่างไรก็ตาม
การตั้งเป้าหมายและขอบเขตของงานอย่างท้าทายมากขึ้นนั้น
ก็นับว่าเป็นดาบสองคมเช่นกัน เนื่องจากเป็นงานที่ท้าทายมากเกินไป
ซับซ้อนและยากเกินกว่าความสามารถของพนักงาน
จะยิ่งเป็นการเพิ่มความเครียดและนำไปสู่การท้อถอยในการทำงานมากขึ้น
ซึ่งถือว่าเป็นผลทางลบอย่างมากต่อการพัฒนานวัตกรรม
เช่น
ในช่วงที่เศรษฐกิจตกสะเก็ดและประชาชนต้องใช้เงินอย่างคุ้มค่ามากขึ้น
แต่บริษัทผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งกลับตั้งเป้าให้สินค้าใหม่ของตนต้องนำเสนอสู่ตลาดและสร้างสถิติใหม่ของการเติบโตด้านยอดขายในปีนี้ให้มากกว่าช่วงที่ประชาชนมีอำนาจซื้อสูงๆ
และไม่อ่อนไหวต่อราคา
ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวจะเห็นว่าเป็นเป้าหมายที่ยากและมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้หลายประการ
จึงอาจส่งผลทางลบต่อความสุขของพนักงานในด้านลบได้มากกว่า
ดังนั้น บุคลากรที่เกร็ง
เครียด และหมกมุ่นกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเกิน
แม้จะเป็นเรื่องงานก็ตาม
ผลลัพธ์ของการทำงานก็จะไม่ดีและสร้างสรรค์เท่าคนที่มีความสุขและรักในงานที่ทำครับ
ดังนั้นเราทุกคนช่วยมาสร้าง "องค์กรแห่งความสุข"
ให้กับทั้งพนักงานและตัวของท่านเองตั้งแต่วันนี้
เพื่อวันข้างหน้าที่ดีกว่าครับ