• ว่าด้วย ภูมิภาคาภิวัตน์ : คิดใหม่ ทำใหม่
ด้านวัฒนธรรมท้องถิ่น พื้นที่ทางสังคม
และความเป็นตัวตน จากมุมมองของผม
เป็นการนำเอาวิชาการเข้ามาสร้างความเข้มแข็งของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
(GMS – Greater Mekong Subregion)
ไม่ให้กระแสโลกาภิวัตน์กระแสเดียวเข้ามาครอบงำแบบไม่คำนึงถึงสิ่งดีๆ
ที่มีอยู่และสร้างขึ้นใหม่ในท้องถิ่น
• ประชุม 2 ½ วัน ตามด้วยการประชุม BoT ในครึ่งวันที่
3 ระหว่างวันที่ 22 – 24 เมย. 49
ที่วิลลาสันติรีสอร์ท (www.villasantihotel.com)
กับโรงแรมแกรนด์ (www.grandluangprabang.com)
คือห้องประชุมหลักอยู่ที่วิลลาสันติรีสอร์ท
ตอนมีประชุมพร้อมกัน 2
ห้องก็แยกไปประชุมที่โรงแรมแกรนด์อีกห้องหนึ่ง
ห้องประชุมที่โรงแรมแกรนด์เล็กกว่า
• การประชุมเริ่มช่วงแรก ซึ่งอาจถือเป็นช่วงโหมโรง หรือ
highlight ว่าด้วย การพัฒนาหลวงพระบาง
เชื่อมโยงกับการพัฒนาภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
หลวงพระบางได้รับการยอย่องโดยยูเนสโกให้เป็นเมืองมรดกโลกตั้งแต่ปี
พ.ศ. 2538 เป็น
เมืองในอ้อมกอดของแม่น้ำและขุนเขา
โอบโดยแม่น้ำโขง แม่น้ำคาน
และแม่น้ำคง
สองแม่น้ำหลังไหลมาสบกับแม่น้ำโขง
หลวงพระบางจึงมีสบคานและสบคง
เมื่อมีเขามีป่ามีน้ำธรรมชาติจึงงดงาม อากาศดี
ปลาน้ำจืดอุดมและอร่อย
นอกจากธรรมชาติก็มีประวัติศาสตร์และศิลปะวัฒนธรรม
เพราะเคยเป็นเมืองหลวง นอกจาก “สินทรัพย์”
ด้านธรรมชาติ และศิลปะวัฒนธรรม ผมมองว่า
“สินทรัพย์” (assets) ที่สำคัญกว่าคือ คน
ที่มีอัธยาศัยไมตรียิ้มแย้มแจ่มใสไม่หลอกลวง
คนที่มีหลากหลายเผ่าพันธุ์ สินทรัพย์ 3
อย่างนี้เองคือเสน่ห์ของหลวงพระบาง ทำให้หลวงพระบางเป็น
เพชรแห่งขุนเขา ด้านการท่องเที่ยว
ผมเตรียมตั้งคำถามว่า สปป. ลาว มีวิธีรักษาสินทรัพย์ 3 อย่างนี้
ในส่วนที่ดี และพัฒนาส่วนที่ขาดอย่างระมัดระวัง ไม่สูญเสียเอกลักษณ์
ไม่สูญเสีย “สินเดิม” อย่างไรบ้าง
ไทยจะมีส่วนช่วยให้ลาวสามารถพัฒนาหลวงพระบางให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างไรบ้าง
ผมตั้งใจฟัง (deep listening) เพื่อค้นหาคำตอบจากผู้นำเสนอ 4
คนในช่วงแรกนี้ ในเวลาเพียง 45 นาที
• ผมได้คำตอบที่ผมตีความเอาเองจากความเห็นของผู้นำเสนอถึง 4 คน 3
ท่านแรกเป็นผู้นำของลาว ได้นำเสนอแบบเล่า (descriptive)
ไม่ได้นำเสนอแบบวิเคราะห์
ไม่ได้แตะเรื่องการเชื่อมโยงกับภูมิภาค
ยกเว้นผู้นำเสนอคนสุดท้าย คือ Dr. Alan Feinstein จาก Rockefeller
Foundation ซึ่งได้เข้ามาสนับสนุน RCSD
โดยมีเป้าหมายให้คนในภูมิภาคเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น
สนับสนุนนักวิชาการที่ตั้งคำถามที่ถูกต้อง (Support
people who make the right questions.)
• คำตอบที่ผมตีความได้คือการเป็น Living Heritage ซึ่ง ดร.
บุญเที่ยง สิริพาพัน ผู้อำนวยการวิทยาลัยศิลปากรแห่งชาติ
กระทรวงสารสนเทศและวัฒนธรรม สปป. ลาว
อธิบายตอนพักดื่มกาแฟ ว่าต้องการให้หลวงพระบางเป็นมรดกโลกที่มีชีวิต
คือรวมชาวหลวงพระบางเป็นมรดกโลกด้วย
และเป้าหมายของการพัฒนาหลวงพระบางคือการเป็นแหล่งท่องเที่ยว
เขามีโครงการอนุรักษ์และพัฒนาวัด สถาปัตยกรรม
นาฏศิลป์ ดนตรี มีพิธีแห่วอ
ประกวดนางสังขาร (นางงามปีใหม่)
และแต่ละวันจะมีการจัดพิธีตักบาตรเวลาประมาณ 6
โมงเช้าในตลาดหลวงพระบาง
พระเณรจำนวนร้อยเดินแถวรับบาตรเหลืองอร่าม
นักท่องเที่ยวนิยมไปตักบาตรและถ่ายรูปกัน
ผมได้ถ่ายรูปมาฝากด้วย
เราสังเกตเห็นว่าพอพระเณรเดินแถวรับบาตรเลยแถวผู้ไปใส่บาตร จะมีเด็ก
(ชาย หญิง) มาขอข้าวเหนียวจากพระเณรอีกต่อหนึ่ง
พระเณรก็จะหยิบข้าวเหนียวจากในบาตรใส่ถุงปลาสติกของเด็ก
อ. ศุภชัย สิงยะบุศย์ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ซึ่งทำวิจัยเรื่องหลวงพระบางเล่าว่านักท่องเที่ยวผู้หญิงชาวญี่ปุ่นนิยมมามีความสัมพันธ์ทางเพศกับเณร
ซึ่งเมื่อถูกจับได้เณรก็จะถูกไล่ออกจากวัด
ผมหวังว่าจะเป็นเรื่องที่เกิดไม่บ่อย
• ผมจะบันทึกเรื่องทางวิชาการจากการประชุมเท่าที่ผมพอจะจับความได้
มาเล่าสู่กันฟังอีกหลายตอน
วิจารณ์ พานิช
๒๓ เมย. ๔๙
หลวงพระบาง
ไม่มีความเห็น