GotoKnow

ชีวิตที่พอเพียง : 9. ความสันโดษ

Prof. Vicharn Panich
เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2549 08:37 น. ()
แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2559 21:21 น. ()

• ความประหยัดมัธยัสถ์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่พอเพียง
• ต้องประหยัดแล้วเกิดความสุขจึงจะถูกต้อง ดังนั้นจึงต้องมีสันโดษ ความพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่มาประกอบด้วย
• สมัยผมอยู่ที่ มอ. หาดใหญ่ มีแต่เงินเดือนราชการ ก็บอกตัวเองว่าเราโชคดีกว่าคนอื่นที่ได้เงินเดือนสองเท่า เพราะภรรยาก็เงินเดือนเกือบเท่ากัน แถมมีบ้านหลวงให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า บ้านหลังคารั่วยังมีช่างมาซ่อมให้ฟรี ใหม่ค่าไฟฟ้าก็ฟรี ส่วนค่าน้ำฟรีมาตลอด แถมค่าน้ำมันรถก็แทบไม่เสียเพราะที่ทำงานห่างไม่ถึงกิโลเมตร ลูกไปโรงเรียนเขาก็มีรถไปรับส่ง คิดแล้วก็บอกตัวเองว่าจริงแล้วเราสองคนผัวเมียเท่ากับมีรายได้กว่าสองเท่าของเงินเดือน ไปบอกใครก็ไม่มีใครเห็นด้วย เพราะเขาต้องการใช้ตัวเลขเงินเดือนที่ต่ำเป็นหลักฐานสนับสนุนการบ่นแสดงความไม่พอใจต่อการเป็นข้าราชการที่นั่น ผมคิดในใจว่าเมื่อคุณไม่พอใจแล้วจะทนอยู่ไปทำไม แต่ไม่กล้าพูด
• เราสองคนสามีภรรยามาจากครอบครัวคนชั้นกลาง ฐานะปานกลาง ได้รับพรสวรรค์มาให้สมองดี ลูกเกิดมาก็สมองดี เรียนหนังสือเก่ง สอบเข้าโรงเรียนที่ดีที่สุดได้ ค่าเล่าเรียนก็ไม่แพง การลงทุนด้านการศึกษาของลูกจึงไม่เป็นภาระหนัก คุยกับพนักงานขับรถ คนงาน ลูกๆ ของเขาสมองปานกลาง สอบเข้าเรียนอาชีวะเอกชน ค่าเล่าเรียนแพงกว่าของลูกเราหลายเท่า
• สมัย ๒๐ กว่าปีมาแล้ว ผมถาม อ. หมอสุธรรม ปิ่นเจริญ ที่คณะแพทย์ มอ. (เป็นสูติแพทย์) ว่าเงินเดือนเท่าไร อ. หมอสุธรรมตอบว่า หมื่นแปด ผมบอกว่าถ้าอย่างนั้นสุธรรมก็ทำบุญให้สังคมเดือนละแปดหมื่นสอง อ. หมอสุธรรมงง ผมอธิบายว่าลูกศิษย์เราที่จบบอร์ดไปทำงานเอกชนได้เงินเดือนแปดหมื่น ดังนั้นขนาดสุธรรมต้องได้หนึ่งแสน แต่ราชการให้แค่หมื่นแปด เราจึงถือว่าเราทำบุญให้สังคมเดือนละแปดหมื่นสอง ไม่มีใครคิดอย่างนี้แต่เราคิดเองก็ไม่ผิดอะไร อ. หมอสุธรรมหัวเราะและบอกว่า “คิดอย่างนี้ทำให้สบายใจดีนะครับอาจารย์” นี่คือวิธีคิดของผมตลอดมา แต่ไม่ได้บอกใคร
• ผมคิดว่าเราเกิดมาโชคดี ร่างกายแข็งแรง ครอบครัวก็แข็งแรง ญาติพี่น้องเป็นคนดี สมองดี ได้เรียนมาก ได้ครอบครัวดี มีลูกก็เป็นคนดี จึงควรที่จะทำงานและดำรงชีวิตให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมต่อบ้านเมืองให้มากที่สุด สังคมให้เรามากมายอยู่แล้ว เราจึงไม่ควรเรียกร้องอะไรมากมายนัก

วิจารณ์ พานิช
๑๖ เมย. ๔๙


ความเห็น

ไม่ระบุ
เขียนเมื่อ

ท่านคือตัวอย่างของคำว่า ผู้มีบุญ โดยแท้จริง  ผมสังเกตุว่าแนวความคิดส่วนใหญ่ของคนที่มีบุญวาสนาไม่ได้คิดเพื่อตัวเองซักเท่าไร จะมองสังคมส่วนรวม เพราะถ้าสังคมสุขสงบเราซึ่งเป็นอนูหนึ่งก็จะสุขไปด้วย  ผมคิดถูกไหมครับ

ไม่ระบุ
เขียนเมื่อ

ถ้าปัจจุบัน ชีวิตคนเมืองส่วนใหญ่คิดได้อย่างนี้ ก็คงจะไม่มีหนี้มีสิน จนทำให้ต้องเกิดปัญหาสังคมตามมาป็นแน่ครับ

ขอบคุณครับที่นำประสบการณ์ดีๆ มาถ่ายทอดสู่กัน อย่างน้อยๆ ก็ได้ข้อคิดอย่างหนึ่งว่า การประหยัด อาจจะต้องเจอกับความสันโดษบ้าง แต่ก็ไม่ได้ถึงกับทำให้เราตัดขาดจากสังคม เพียงแต่หันมาพอเพียงในสิ่งที่ตัวเองมี และเชื่อว่าน่าจะเกิดความสุขอย่างแท้จริง

ไม่ระบุ
เขียนเมื่อ

เรื่องเล่าเรื่องนี้มีพลังมากครับ  การยกตัวอย่างของท่านอาจารย์ทำให้ผมภูมิใจกับการที่ได้เป็นข้าราชการขึ้นอย่างมากเลยครับ  ขอบพระคุณท่านอาจารย์ที่แนะนำแนวทางที่ดีในการใช้ชีวิตให้มีความสุขอย่างแท้จริง

 

ไม่ระบุ
เขียนเมื่อ

      เรื่องคุณธรรม-จริยธรรม  คำสอนใดหรือจะวิเศษเท่าการ “ทำให้ดู - อยู่ให้เห็น - เป็นแบบอย่าง” มันมีพลังมากเหลือเกินครับ  ขอกราบขอบพระคุณ

ไม่ระบุ
เขียนเมื่อ

อยากได้คำถามและความคิดเห็นเกี่ยวกับความ ความสันโดษ เพื่อทำแบบฟอร์มสอบถามนักเรียนในโรงเรียนมัธยม โพส์ได้เลยนะครับ หรือเมล์มาก็ได้ จะ ขอบพระคุณอย่างสูง  


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท
ภาษาปิยะธอน (Piyathon)
เขียนโค้ดไพทอนได้ด้วยภาษาไทย