Proceedings มหกรรมจัดการความรู้แห่งชาติ ครั้งที่ ๒ (๗๑)


นานาเรื่องราวการจัดการความรู้ (๒๗)

สสส. กับการจัดการความรู้

         “การจัดการความรู้ในโลกธุรกิจสร้างผลประโยชน์มหาศาล ทำไมเราจึงไม่ประยุกต์วิธีการนี้มาใช้ในงานพัฒนาสังคม เพราะการจัดการที่ดีสามารถทำให้สิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ให้กลับเป็นไปได้ ใช้กำลังคนน้อยแต่สามารถทำงานใหญ่สำเร็จ   ” นพ.สุภกร  บัวสาย  ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

ภาค 1 การจัดการความรู้เพื่อการพัฒนาสังคม
         “การจัดการความรู้เป็นวิธีการหนึ่งที่จะสกัดเอาความรู้ที่ไม่ได้มีเฉพาะผลวิจัยนำมาใช้ประโยชน์  เพราะ ความรู้บางอย่างอยู่กับการทำงานทุกเมื่อเชื่อวัน  ว่าไปแล้วแม้แต่กรณีนักวิจัยเอง ความรู้ที่มิได้ตีพิมพ์ยังมีปริมาณมากกว่าความรู้ที่มาตีพิมพ์เป็นผลงานวิจัยเสียอีก ความรู้จากนักปฏิบัติยังมีอีกมหาศาล ถ้าทำสำเร็จจะเกิดผลกระทบที่ยิ่งใหญ่มากๆ สสส.จึงสนับสนุนให้เกิด สคส.ขึ้นมา”  นพ.สุภกร  บัวสาย ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

         โจทย์ของสสส.คือจะนำวิธีการจัดการความรู้ในภาคธุรกิจมาใช้ในภาคสังคมได้เพียงไรและอย่างไร  เพราะเราไม่สามารถยกเครื่องมือ  วิทยาการทั้งหมดในภาคธุรกิจมาใช้โดยสำเร็จรูปได้  นี่คือ จุดเริ่มต้นของการที่สสส.สนุบสนุนให้เกิดสถาบันการจัดการความรู้เพื่อสังคมหรือ สคส.ขึ้น
         “เราเชื่อมั่นว่าทำได้ และถ้าทำได้จริงก็จะเดินหน้าแบบก้าวกระโดด  แต่สิ่งสำคัญคือเรายังไม่รู้ว่าจะใช้ความรู้อย่างไร  จึงจำเป็นจะต้องสร้างความรู้ตรงนี้ขึ้นมา และสร้างเครื่องมือเพื่อนำความรู้เข้าไปจัดการงานพัฒนาสังคม “  นพ.สุภกร กล่าว

โจทย์ท้าทายที่ต้องอาศัยมืออาชีพ
         “คนที่จะแก้โจทย์นี้ได้ไม่ใช่ว่าใครก็สามารถทำได้ จึงไปเชิญ  ศ.วิจารณ์  พานิช ซึ่งท่านให้ความสนใจมาก ที่สำคัญประวัติของท่านไม่ธรรมดา ระดับที่ 1 ของประเทศ ระดับอธิการบดีมหาวิทยาลัย  ระดับศาสตราจารย์  อดีตผู้อำนวยการกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.)ซึ่งเป็นหน่วยงานสร้างความรู้ที่ดีที่สุดของประเทศไทย  จึงนำมาสู่การลงหลักปักฐานของสถาบันการจัดการความรู้หรือสคส.ขึ้นในประเทศไทย”


ความคาดหวังต่อ สคส.
         สิ่งที่เราคาดหวังจากสคส.คือ การจัดการความรู้ในบริบททางสังคม ที่จะเริ่มต้นได้อย่างเป็นระบบซึ่งหากสำเร็จใช้ได้จริง จะส่งผลให้การพัฒนาสุขภาพผ่านกระบวนการทางสังคมอย่างก้าวกระโดดทีเดียว
         “ผมเชื่อว่า ขณะนี้ ในปีที่สอง สคส.มีองค์ความรู้อยู่บ้างแล้ว ถึงเวลาของการเริ่มทดลองทำ เพื่อพิสูจน์ว่ามันได้ผลเพียงไร  สคส.ต้องสร้างคน สร้างเครือข่ายที่เข้าใจเรื่องนี้อย่างถ่องแท้และทำเป็นด้วยด้วย เพราะถ้ารู้ ถ้าเข้าใจกันแต่ภายใน สคส. ก็ไม่สามารถขยายผล ไม่สามารถก้าวกระโดดไปสู่วงการสร้างเสริมสุขภาพที่กว้างขึ้นได้”


ล้อมกรอบ
กว่า 20 ปีของขบวนการบุหรี่ คือ บทพิสูจน์ของมืออาชีพในการจัดการความรู้

         “เรื่องบุหรี่ที่ต่อสู้กันมานาน ถ้าพึ่งพิงเพียงงานวิจัยอย่างเดียวก็ไม่ทันการ และนักวิจัยมักไม่รู้ว่าจะเอาความรู้ผลักดันไปสู่ปฏิบัติได้อย่างไร แต่ที่ผ่านมา เราสามารถเรียนรู้       ถ่ายทอดกันระหว่างประเทศได้   เช่น ความรู้เรื่องภาษีบุหรี่ในประเทศต่างๆ   ทั้งหมดนี้ต้องอาศัยทั้งงานวิจัย และประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญ ที่ทำงานด้านนี้มายาวนานเช่น อาจารย์ประกิต  สรุปชุดความรู้ไว้ว่าว่าอะไรก็แล้วแต่ที่ทำแล้วบริษัทบุหรี่ดิ้นรนต่อต้านนักต้องเป็นมาตรการที่ได้ผลแน่นอน แต่ถ้าทำอะไรแล้วบริษัทบุหรี่เฉยๆ   มาตรการนั้นไม่ได้ผลแน่นอน ยิ่งทำอะไรแล้วบริษัทบุหรี่เข้ามาส่งเสริม เจ้ากี้เจ้าการจะเข้ามาช่วย รับรองได้ว่าได้ผลตรงกันข้าม คนจะสูบบุหรี่มากขึ้น  ความรู้แบบนี้ไม่ได้มาจากการวิจัย แต่ได้มาจากคนที่ทำงานมา 20 ปี ลงลึก และตกผลึกความรู้ออกมาได้  ดังนั้น การจัดการความรู้คือการที่เราสามารถย่นระยะเวลาของการเรียนรู้ โดยสามารถดึงความรู้จากผู้ปฏิบัติขึ้นมาใช้ได้  แต่ต้องเป็นการดึงขึ้นใช้อย่างเป็นระบบ สมเหตุสมผล ไม่เช่นนั้นจะเป็นการดึงความเชื่อ ความเห็น นี่คือตัวอย่างที่สคส.จำเป็นต้องไปค้นหาวิธีการออกมาในกรณีอื่นๆ”  นพ.สุภกร  กล่าว

ล้อมกรอบ
         “คำว่าการจัดการความรู้ หมายถึง เทคนิค ศิลปะ วิธีการที่จะโน้มนำให้คนสามารถดึงเอาความรู้ที่มีอยู่ออกมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ดีขึ้น   กระบวนการจัดการความรู้จะต้องทำให้คนสนุกกับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย”  อาจารย์ไพบูลย์  วัฒนศิริธรรม   ที่ปรึกษาสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะในพื้นที่และชุมชน   สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)

ภาค 2   จากแนวคิดสู่ภาคปฏิบัติ    (การจัดการความรู้ของสสส.)
         “วงประชุมของสสส.และภาคีคือเวทีแลกเปลี่ยนที่มีชีวิต   คนเหล่านี้ไม่ได้ต่อเชื่อมด้วยเป้าหมายทางธุรกิจหรือผลประโยชน์จากรัฐเลย   ทุกคนมาเพราะมีความมุ่งหวัง อยากเห็นสิ่งที่ดีๆ ในสังคม ดังนั้น การที่เราจะเข้าไปทำให้วงแลกเปลี่ยนจุดประกายความเคลื่อนไหวใดใดได้ถือว่าเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง”
         ทพ.กฤษดา   เรืองอารีย์รัชต  รองผู้จัดการสสส.กล่าวได้ว่าภารกิจหลักของ สสส. คือการเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเวทีจัดการความรู้เพื่อขับเคลื่อนสังคมก็ว่าได้ ตั้งแต่การจัดวงประชุมขนาดย่อมตั้งแต่ 2 คนถึง วงประชุมใหญ่ ที่เชื่อมร้อยภาคีทั้งในและต่างประเทศ
         “สสส.เป็นศูนย์กลางที่ดึงดูดให้คนที่มีหัวใจเดียวกัน มาเชื่อมต่อเครือข่ายเข้าด้วยกัน  สสส.มีหน้าที่ทำให้คนกลุ่มนี้เกิดความรู้สึกร่วม สกัดความคิด ความรู้ออกมาเพื่อขับเคลื่อนสังคมได้ แต่สสส.ไม่สามารถสร้างขบวนขึ้นมาเองได้   ขบวนการเหล่านี้เกิดเองตามธรรมชาติ  สสส.เพียงเชื่อมร้อยเข้าด้วยกันให้มีพลังมากขึ้น   เหมือนที่พระพุทธเจ้าบอกว่าธรรมะมีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ  พระพุทธเจ้าเป็นคนที่พบ แล้วเข้าใจมัน ” 


วงแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีชีวิตได้อย่างไร?
ในแต่ละกลุ่มมีวิธีการไม่เหมือนกัน ไม่มีสูตรสำเร็จ  แต่สิ่งที่เราทำคือ เข้าไปสัมผัสถึงเป้าหมายของวงได้  ทำให้เขายอมรับว่าเราเป็นผู้ร่วมกิจกรรม เป็นทีมเดียวกับเขา  ไม่ใช่เล่นบทผู้ให้เงิน ที่สำคัญต้องพยายามจัดองค์ประกอบในวงประชุมนั้นให้เหมาะสม ควรมีนักจัดการที่ดีอยู่ในนั้นด้วย สสส.มีหน้าที่เติมในจังหวะที่จำเป็น วงถึงจะเคลื่อนเองได้ จัดการตัวเองได้ เช่น วงออกกำลังกาย หรือ การเชื่อมร้อยงานบุหรี่กับงานคุ้มครองผู้บริโภค
         “แต่ละขบวนนั้นสวยงาม มีความเฉพาะตัว  มีผู้เล่นไม่เหมือนกัน ถึงจะมีลักษณะการเติบโตในแบบเดียวกันคือสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา  เคลื่อนสังคมแบบเดียวกัน แต่มีวิธีการของแต่ละกลุ่มที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นสสส.ต้องอาศัยความอดทนสูงมาก เพราะเราไม่สามารถที่จะเขียนหนังสือแล้วบอกให้ทุกคนทำแบบนี้ มันเป็นไปไม่ได้หรอก สิ่งที่ต้องทำคือให้ขบวนเหล่านั้นมีการเรียนรู้กัน ”ศิลปะในการสร้างชีวิตให้กับวงแลกเปลี่ยนเรียนรู้อีกข้อคือการไม่มีโครงสร้างอำนาจ หรือโครงสร้างทางธุรกิจ  แต่เชื่อมกันด้วยใจต่อใจ  นั่นเอง
         “นอกจากการจัดการความรู้แล้วต้องใช้หัวใจด้วย เพราะสสส.ไม่มีโครงสร้างอำนาจและผลประโยชน์  จุดที่เป็นพลังของเราคืองานที่เราและภาคีร่วมกันทำเป็นคุณค่าของสังคม  และทุกคนทำงานด้วยใจ เงินเป็นเพียงน้ำมันหล่อลื่น   ตรงนี้เป็นศิลปะที่ทำให้วงของเราเป็นวงที่มีชีวิต  บางครั้งผมไปเข้าบางวงผมรู้สึกเลยว่าไม่ใช่  ผมเห็นความแตกต่างของวงที่มันเป็นโครงสร้าง  มีกรรมการอำนวยการ มีคนมาทำงานด้วยกัน  แต่ไม่มีหัวใจ ความกระชุ่มกระชวยนั้นต่างกันมาก ตัวนี้ต้องค่อยๆ เรียนรู้กันไป “  “การทำงานที่ผ่านมาเราพยายามใช้องค์ความรู้  วิชาการ   รวมทั้งอาศัยประสบการณ์ของผู้ทรงคุณวุฒิ และเครือข่ายภาคี ร่วมกันสังเคราะห์องค์ความรู้เพื่อเป็นฐานในการทำงานแทบทุกเรื่องเพื่อจะอธิบายว่าทำไมถึงต้องทำอย่างนี้  ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรณรงค์ หรือผลักนโยบายใดก็ตาม ”
         นพ.สุปรีดา  อดุลยานนท์   ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงหลัก  เล่าถึงกระบวนการจัดการความรู้ที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพในงานควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งมีภาคีภาคประชาชน และ ภาควิชาการร่วมอยู่ในขบวนการนี้มากมาย

เอาชนะศึกน้ำเมาด้วยกระบวนการจัดการความรู้
1.รวบรวม เลือก และยิงข้อมูลช็อกสังคม
         นพ.สุปรีดา ชี้ว่า ก่อนปี 2546  ประเทศไทยไม่เคยมีเจ้าภาพในเรื่องการแก้ไขปัญหาสุรามาก่อน   ในส่วนของภาครัฐเองก็ไม่มีเจ้าภาพเป็นตัวเป็นตน   กฎหมายที่มีอยู่ก็กระจัดกระจาย    ฝ่ายประชาชนเองก็ไม่มีใครเป็นโต้โผเรื่องขบวนการ   พอ สสส. เริ่มเคลื่อนไหว  สิ่งแรกที่ทำคือ การศึกษาความรู้หลายรูปแบบ  แล้วพบว่าเรามีข้อมูลย่อยอยู่มาก ทั้งที่ได้ผลและไม่ได้ผล ตั้งแต่ ข้อมูลเชิงวิชาการ  และข้อมูลเชิงสถานการณ์   ช่วงนั้น  นพ.ยงยุทธ   ขจรธรรม   ซึ่งศึกษาเรื่องสุรามานาน มีข้อมูลจำนวนมากก็นำข้อมูลเหล่านี้มาจัดประเภท  วางแผนว่าจะยิงเนื้อหาเหล่านี้ไปสู่สังคมเพื่อสร้างกระแสได้อย่างไร    จึงนำมาสู่ประโยคเด็ดที่ว่า“คนไทยดื่มสุรามากเป็นอันดับ 5 ของโลก”

2.สร้างเครือข่ายมืออาชีพ
 ต้องวิเคราะห์ต้นทุนทางสังคมที่มีเพราะเราไม่มีเจ้าภาพ ดังนั้น ต้องสร้างเจ้าภาพ บางทีก็ต้องเช็คสต๊อก ถึงแม้ยังไม่มีเจ้าภาพชัดเจนแต่ต้องประเมินว่ามีใคร องค์กรไหนที่พอจะมีศักยภาพเป็นเจ้าภาพในอนาคตได้   ใครที่พอจะชวนมาทำงานต่อยอด  ร่วมมือกันอีกยาวนานได้  บางทีเราก็เอาฐานหนึ่งไปเชื่อมกับอีกฐานหนึ่ง
         “กลไกการพัฒนาขบวนการของสสส.นี้  บางทีก็ต้องนั่งล้อมวงและยิงเนื้อหา ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์มันแย่ขนาดนี้แล้ว  แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง  ไม่ใช่เอาความคิดเห็นอย่างเดียว เราต้องเอาฐานความรู้เข้าไปวิเคราะห์กัน  แล้วก็เริ่มเคลื่อนไหว   พองานเคลื่อนไป ก็มีพัฒนาการ ในที่สุดคนที่ไม่ใช่ก็จะหลุดไป  คนที่ใช่ก็เริ่มปักหลักมากขึ้น  และเป็นการปักหลักอย่างมืออาชีพด้วย นี่คือ ขบวนการกว่าจะมาเป็นเครือข่ายองค์กรงดเหล้า” นพ.สุปรีดา ระบุ
3.ถอดบทเรียนจากการต่อสู้เรื่องบุหรี่
         ตัวอย่างของบทเรียนจากบุหรี่ที่ถูกนำมาใช้ในเรื่องแอลกอฮอล์ เช่น การรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ถูกพิสูจน์มาแล้วว่า ถ้ารณรงค์กับตัวผู้สูบ ว่าบุหรี่อันตราย สูบแล้วจะเป็นโรคนั้น โรคนี้ ไม่ได้ผล ต้องพูดถึงสิทธิของผู้ไม่สูบคือ พวกเขาต้องการหายใจเอาอากาศบริสุทธิ์เข้าไป จึงเป็นที่มาของเขตปลอดบุหรี่  บทเรียนนี้ถูกนำมาใช้กับแอลกฮอล์ ซึ่งแอลกอฮอล์เองก็ไม่หยุดแค่ว่าเหล้าไม่ดีต่อผู้ดื่ม เหล้านั้นเริ่มมองไปสู่ผลกระทบต่อสังคม ซึ่งงานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ถ้าคิดเป็นมูลค่าเงิน  ผลกระทบต่อสังคมของเหล้าสูงกว่าผลกระทบของบุหรี่ ดังนั้น ประเด็นผลกระทบจากเหล้าไม่ว่าจะเป็น อุบัติภัย ความรุนแรง  อาชญากรรม จึงถูกหยิบยกขึ้นบ่อย  บ่อยกว่าเรื่องตับแข็งเสียอีก นี่คือตัวอย่างหนึ่งของการจัดการความรู้
4.ต้องไปให้ถึงสถาบันความรู้ ถึงจะสู้กับนายทุนเงินหนาได้
         เมื่อรู้ว่าฐานความรู้คือสิ่งสำคัญ เราก็พยายามที่จะจัดตั้งเชิงสถาบัน   จึงเป็นที่มาของศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) เพราะสถาบันนั้นมันมีโอกาสที่จะสะสมความรู้มากขึ้นมากกว่าที่จะเป็นโครงการวิจัย ก-ข หรือ การต่อสู้ในนามของนักวิชาการคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
         การแลกเปลี่ยนเรียนรู้โดยการประชุมก็เป็นสิ่งสำคัญเราเพิ่งรื้อฟื้นให้เกิดการประชุมวิชาการทั้งเรื่องสุราและบุหรี่ระดับชาติขึ้นและสัญญาว่าเราจะจัดทุกปี  เพื่อให้นักวิจัยที่ได้รับทุนหรือไปเคลื่อนไหวอะไรมาตลอดปี มาถอดบทเรียนโดยจะมีเวทีให้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ นับว่าเป็นเวทีที่จัดขึ้นให้คนทำงานมาเจอกัน  
 
         “ยุทธศาสตร์สสส.นั้น ไม่ใช่แก้ปัญหาเรื่องหนึ่งด้วย  1 โปรเจค หรือ 5   โปรเจคจะแก้ได้ แต่เนื้อแท้คือขบวนการที่ต้องมีคนเกาะติด เป็นเจ้าภาพ มีคนที่เดินเรื่องอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน  การสร้างขบวน สร้างต้นทุนทางสังคมเหล่านี้ ต้องมาล้อมวงกันจัดการอย่างเป็นหลักเป็นฐาน โดยมี คบอช.เป็นแกนหลักด้านนโยบาย  ศูนย์วิชาการปัญหาสุราเป็นแกนหลักทางวิชาการ  เครือข่ายองค์กรงดเหล้าเป็นแกนประสานหลักทางสังคม มาจัด 3 วงเชื่อมกันหลายรูปแบบ กระบวนการที่เกิดคือลักษณะของสามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา คือ การจัดการความรู้อย่างมีประสิทธิภาพ”

การจัดการความรู้กับการพัฒนาสมรรถนะบุคลากร

                ระหว่างการสร้างกระบวนการเหล่านี้  ต้องพัฒนาคนในกระบวนการร่วมไปด้วย  จากมือสมัครเล่น เมื่อถึงจุดหนึ่งพวกเขาคือมืออาชีพ อยู่ในจิตวิญญาณ ดังนั้น การพัฒนาสมรรถนะบุคลากรจึงเป็นสิ่งสำคัญ และต้องมีมุมของการจัดการความรู้เข้ามาช่วยสนับสนุนด้วย
       กรณีสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า(สคล.)   ซึ่งมีฐานคนจากกลุ่มสันติอโศก กลุ่มวัด ก็ไม่ได้รอบรู้ทุกด้าน เช่น แง่บริหารจัดการ แต่คนกลุ่มนี้มีใจในการทำงานเต็มที่  ความซื่อสัตย์ 100%   ดังนั้นต้องเสริมสิ่งที่ขาด  ซึ่งนอกจากเรียนรู้จากกระบวนการทำงาน  ผลลัพธ์ของการทำงานแล้ว  บางครั้งก็ต้องไปดูงาน  หรือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับเครือข่ายที่เข้มแข็งในเรื่องการจัดการความรู้ เช่น  มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่   ขณะเดียวกันเรื่องของสื่อ  สคล.ก็พัฒนาร่วมกับสำนักรณรงค์และสื่อสารสาธารณะเพื่อสังคม  และทีมประชาสัมพันธ์สนับสนุนซึ่งกันและกัน ส่งผลให้ผู้ประสานมีความเชี่ยวชาญ รอบรู้มากขึ้นเรื่อยๆ   ล่าสุด สคล.ได้วางแผนที่จะพัฒนาสมรรถนะร่วมกับภาคีที่ประสานงานกันอยู่  สะสมวิทยากร   สื่อพื้นฐาน   จัดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ซึ่งไม่ใช่เรื่องวันเวย์ที่นำคนเก่งมาสอน แต่แลกเปลี่ยนมุมมอง และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ขบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จึงถูกคาดหวังเข้ามาสนับสนุนในเรื่องนี้
 
         อย่างไรก็ตามไม่ว่าสสส.จะพยายามออกแรง/ลงทุนเคลื่อนสังคมเพียงใด หากนิ่งดูดายที่จะจัดการความรู้ภายในองค์กร ก็พาแต่จะบั่นทอนผลสัมฤทธิ์ของงานและร่วงโรยถดถอยในระยะยาว
         “นอกจากสรุปบทเรียนจากการทำงานเพื่อปรับปรุง โดยมีโครงสร้างของ คณะกรรมการประเมินผล ผู้บริหารโครงการแล้ว  การประชุมของแต่ละสำนัก(หน่วยบริหารภายใน)นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เล่าสู่กันฟังเรื่องงานที่รับผิดชอบ ปัญหา อุปสรรคที่เผชิญ  การประชุมร่วมกับภาคีครั้งนั้นไม่ดี ล้มเหลวเพราะเหตุใด ประสบความสำเร็จเพราะเหตุใด นี่เป็นกระบวนการจัดการความรู้ ภายในองค์กรที่ใครจะนิ่งดูดายไม่ได้เลย” นพ.สุปรีดา  อดุลยานนท์    ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างสุขภาวะและลดปัจจัยเสี่ยงหลัก
          “เราต้องสร้างวัฒนธรรมภายในองค์กรที่เอื้อให้เกิดการจัดการความรู้ นั่นคือ  ไม่ทำงานแบบตั้งรับ  แต่ควบคุมสถานการณ์  คิดค้น ริเริ่มสร้างสรรค์  สำนึกว่างานที่ทำอยู่ทุกวันนี้ เราควบคุม พัฒนาให้ดีขึ้นได้ด้วยมือของเรา   ก็จะเกิดความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ แลกเปลี่ยนกับผู้อื่นนั่นคือต้องทำงานด้วยอิทธิบาทสี่( ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ”  นพ.สุภกร  บัวสาย  ผู้จัดการสสส.

 

 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 25204เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2006 10:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับอาจารย์

ผมสนใจเรื่องถนนปลอดภัยครับ แต่รู้สึกว่าหลายกิจกรรมจัดเฉพาะในกรุงเทพฯ ทำให้คนต่างจังหวัด ไปร่วมด้วยลำบาก น่าจะมีการกระจายจัดกิจกรรม ตามหัวเมืองใหญ่ๆ ในต่างจังหวัดบ้าง อีกอย่างคือบางทีค่าลงทะเบียนก็แพงครับ เช่น กิจกรรมชุมชนถนนปลอดภัย (ที่จะจัดที่เมืองทองธานี ในเดือนมิถุนายน) ทำให้ผู้สนใจที่เป็นชาวบ้าน(ประชาชนธรรมดา ที่ไม่มีต้นสังกัดให้เบิกค่าใช้จ่าย) เข้าร่วมยากไปใหญ่ ไหนจะค่าเดินทาง ไหนจะค่าที่พัก ไหนจะค่าลงทะเบียน จึงรู้สึกว่า บางงานจัดเพื่อบุคคลที่มีสังกัดเท่านั้น

มาดูถึงความเป็นจริง

http://www.songkhlaroads.com/

ไม่อัพเดทข้อมูลเลย เว็บบอร์ดก็ไม่มีใครอ่าน จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่าทำไมสงขลาถึงติดอันดับต้นๆ ที่มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรแทบทุกปี

อีกตัวอย่างคือ หน้าหน่วยงาน ของกรมป้องกันภัยที่หาดใหญ่เอง เป็นถนนสี่ช่องจราจรสาย 4135 (หาดใหญ่-สนามบิน) แต่ไม่มีเกาะกลาง ข้างๆ ปภ. เป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ มีนักเรียนจำนวนมากต้องข้ามถนนสายนี้ไปมาทั้งเช้าและเย็น ซึ่งเสี่ยงต่ออุบัติเหตุเป็นอย่างมากเพราะ รถบนถนนใช้ความเร็วสูงมาก แต่ไม่มีหน่วยงานใดเลย ใส่ใจต่อสิ่งเหล่านี้ เช่น จัดทำเกาะกลางสำหรับให้นักเรียนข้ามถนนได้หลบรถ (Pedestrian Refuge) และจัดทำสัญญาณไฟสำหรับการข้ามถนนแบกดปุ่ม เช่น ทางข้ามแบบ Pelican หรือ Puffin

สนข มีมาตรฐานเกี่ยวกับทางเท้า และทางข้าม แต่ก็ไม่ทราบว่ามีการเผยแพร่บ้างหรือไม่ มีใครเคยเอาไปใช้กันบ้างหรือไม่

ส่วนในเมืองหาดใหญ่ มีคนเดินเท้าโดนรถชนตาย ทุกวันๆ ละประมาณ 2 คน เป็นอย่างนี้มา 5 ปีแล้ว ทางเท้าก็มีบ้างไม่มีบ้าง ทางเท้าที่มีอยู่ก็ปล่อยให้มีการขายของ ส่วนการข้ามถนนก็เป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะปล่อยให้รถเลี้ยวผ่านตลอด แทนที่จะต้องหยุดรอสัญญาณไฟ ค่อยเลี้ยวตอนไปเขียว แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่มีการจัดเฟสสัญญาณไฟสำหรับการข้ามถนนเลย ปุ่มกดสัญญาณที่มีอยู่หลายจุดก็ใช้ไม่ได้เลยสักจุด

ตราบใดที่ผู้มีอำนาจ และหน้าที่ยังคงละเลยที่จะใส่ใจสังคม แม้กระทั่งหน้าบ้านตัวเอง ก็ยากที่ถนนจะปลอดภัยได้ สงขลาก็จะติดอันดับอยู่ตลอดไป

กิจกรรมควรให้โอกาส คนธรรมดาเข้าร่วมได้บ้าง เช่น ไม่เก็บค่าลงทะเบียน หรือมาจัดตามหัวเมืองต่างจังหวัดบ้าง ถ้าให้เฉพาะเจ้าหน้าที่เข้าร่วม เขาก็แค่ทำตาม"หน้าที่" นายสั่งก็ทำ(รณรงค์) นายไม่สั่งก็ไม่ทำ ประชุมเสร็จก็เก็บเข้าแฟ้มเข้าตู้ (Plan-นิ่ง)

ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วม เช่น Road Watch Program ให้ประชาชนได้สอดส่องว่าถนน มีข้อบกพร่อง หรือมีอันตรายตรงไหนบ้าง

น่าจะมี Road Safety Forum แห่งชาติ ให้ประชาชนที่สนใจได้แลกเปลี่ยนไอเดียกันบ้าง เปิดกว้างทางอินเตอร์เน็ต มี Video Conference กันบ้าง ไม่ใช่ประชุมกันเฉพาะคณะทำงาน ไม่เช่นนั้นก็เป็นอย่างที่เห็น คือสงขลาติดอันดับแทบทุกปี

http://www.geocities.com/jarajorn_hadyai/

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท