พ่อจุดประกายไฟ


จากหนังสือ..."โลกในใจของบุญถึง" ของ ธเนศ ขำเกิด และบทความตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ 2547
           นับตั้งแต่ผมจำความได้ เกือบทุกวันพอแดดร่มลมตก ทุกคนกินข้าวมื้อเย็นเสร็จก็จะ พากันมานั่งรับลมเย็นที่นอกชาน  มีอะไรก็จะนำมาเล่าสู่กันฟัง  บางครั้งก็มีเพื่อนบ้านใกล้เคียง มาร่วมวงเสวนาด้วย ที่มาบ่อยที่สุดก็เห็นจะเป็นป้าม้วนกับลุงพันธ์บางวันแกก็พาลูกหลานมาเล่นกับพวกเรา
         พอเริ่มขมุกขมัวเพื่อนบ้านกลับไปหมดแล้ว แม่จะจุดตะเกียงน้ำมันก๊าดมาตั้งที่นอกชาน
ปะชุนผ้าให้พ่อและลูกๆหรือหางานอื่นทำไม่ให้มือว่าง ปากก็พร่ำสอนหรือบ่นลูกไปตามเรื่องตามราว
ได้ทุกวัน พวกเราก็ฟังบ้างไม่ฟังบ้างโดยไม่ใส่ใจเพราะความชินหู ถือเสียว่าเป็นดนตรีขับกล่อมยามโพล้เพล้  
         ส่วนพ่อก็นอนเอ้เตเอกเขนกพิงหมอนขวานที่ริมนอกชานมุมหนึ่งอย่างสบายอารมณ์ พ่อชอบนุ่งกางเกงขาก๊วยไม่สวมเสื้อ ปล่อยชายขอบเอวหลวมๆจนเห็นพุงพลุ้ย พ่อมักจะอารมณ์ดี หัวเราะร่วน ชวนแม่และพวกเราคุยโน่นคุยนี่ และท้ายสุดก็มีสิ่งล่อคือนิทานและเรื่องสนุก ๆ มาเล่า ให้พวกเราฟัง โดยพวกเราต้องบีบนวดให้ท่านเป็นการตอบแทน ผมกับพี่สายใจมักถูกเรียกใช้ให้ไป ประจำตำแหน่งที่ขาพ่อคนละข้างซึ่งเหยียดยาวให้พวกเราบีบนวดกันเป็นประจำ  พอพี่สายใจเริ่มโตเป็นสาว น้องแสงดาวก็ต้องมารับหน้าที่แทน คู่กับผม ส่วนพี่คนอื่นๆและน้องคนเล็กก็สบายไป นั่งฟังนิทานโดยไม่ต้องทำอะไรเพราะถือว่าโตและเล็กเกินไปที่จะมารับหน้าที่นี้ลูกคนกลางๆอย่างผมก็เลยหนีไม่รอด
              แต่ผมก็รู้สึกเต็มใจและไม่เคยเบื่อหน้าที่การบีบนวดให้พ่อสักนิด  เพราะการได้ฟังนิทานสนุก ๆ อย่างใกล้ชิดนับเป็นรางวัลชีวิตที่คุ้มแล้ว  ขยี้ขยำไปตามเรื่องตามราวตามประสาเด็กพอเมื่อย ก็หยุดอ้าปากหวอฟังพ่อเล่านิทาน พ่อเองก็ไม่ว่าอะไรท่านคงให้อภัยที่เรายังเด็ก และพ่อก็คงเล่าจนเพลินติดลมไปเหมือนกัน พอคิดขึ้นได้เห็นพวกเราหยุดบีบนวดนานเกินไปพ่อก็เขย่าขาเตือน พวกเราจึงตั้งท่าเขย่งทำท่านวดอย่างขมีขมัน พอนวดไปไม่นานก็เข้าอีหรอบเดิมอีก
             พ่อมีความฉลาดอย่างลึกล้ำในการเข้าใจและหยั่งถึงธรรมชาติความสนใจของลูก ๆ ทุกคน โดยท่านมักประเดิมเล่าเรื่องที่พวกเราชอบตรงกันเป็นอันดับแรกก่อนคือเรื่องผี พอเห็นพวกเราติดกันงอมแงมท่านก็จะขยับไปเล่าเรื่องที่มีสาระได้แก่นิทานพื้นบ้าน ตามด้วยวรรณคดีไทย แล้วแถมท้ายด้วยการอบรมสั่งสอน โดยอาศัยบทกลอนหรือคติ คำคมที่แฝงไว้ในแต่ละเรื่องมาคอยเตือนใจพวกเราเสมอ
              เรื่องผีที่พ่อเล่าให้พวกเราฟังมีหลายเรื่อง เช่น ผีที่วัดมะขามเฒ่า ผีโป่ง ผีกระสือ  ผีเปรต ผีที่ป่าช้าในหมู่บ้าน ผีแม่นากพระโขนง เป็นต้น พ่อมีท่วงทำนองการเล่าประกอบท่าทางที่ชวนขนลุก ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่จริง แต่พวกเราก็เชื่อสนิท กลัวก็กลัวแต่ก็อยากฟังพี่สมหวังอีกคนรู้ว่าน้อง ๆ  กลัวผี ชอบย่องลงไปใต้ถุนนอกชาน ระหว่างที่พ่อกำลังเล่าอย่างออกรสชาติ   ก็จะเอาไม้แหย่ขาพวกเราจนร้องลั่น พวกเราจึงต้องระมัดระวังไม่ยอมนั่งตรงร่องไม้กระดาน 
              มีเรื่องผีที่ต้นมะขามซึ่งอยู่ริมทางเดินที่พวกเราเดินเข้าเดินออกจากบ้านไปวัด      หรือไปตลาดกันเป็นประจำ  พ่อเล่าว่าเวลาเดินกลับบ้านตอนค่ำคืนพ่อเคยเห็นผีผู้ชายห้อยหัวอยู่บนต้นมะขาม แลบลิ้นปลิ้นตาหลอกพ่อ พ่อต้องรีบจ้ำอ้าวจนตัวเบาหวิวกลับมาบ้านแทบไม่ทัน และทราบว่า ที่ต้นมะขามนั้นเคยมีคนถูกฆ่าตายดวงวิญญาณคงไม่ไปไหนคอยหลอกหลอนคนที่เดินผ่านไปมา  
            การเล่าเรื่องผีครั้งนั้นของพ่อคงเป็นความผิดผลาดอย่างมหันต์ที่ส่งผลตามมาก็คือ เวลาพ่อใช้พวกเราไปซื้อของที่ตลาดพวกเราก็จะอิดออดและอ้างสาเหตุเรื่องนี้ไม่ยอมไปเสมอ  ตอนหลังพ่อพยายามลบล้างสิ่งที่เคยเล่าว่าไม่เป็นความจริง แต่พวกเราก็ไม่เชื่อ เพราะฝังใจกลัวเสียแล้ว แม้เป็นเวลากลางวัน   เวลาผมเดินผ่านต้นมะขามต้นนี้ทีไร   ผมต้องเดินให้ห่างยอมเดินอ้อมไปให้ไกล  เพราะทำใจไม่ได้ที่จะให้หายกลัว 
           พ่อเล่าเรื่องผีเปรตให้พวกเราฟัง โดยบอกถึงรูปร่างหน้าตาของมันจนทำให้ผมจำภาพของผีเปรตตามคำบอกเล่าของพ่อได้จนถึงทุกวันนี้ว่า  "สูงเท่าต้นตาล  มือเท่าใบลาน  ปากเท่ารูเข็ม" แล้วพ่อก็บอกถึงสาเหตุว่าคนที่ด่าพ่อด่าแม่หรือตีพ่อตีแม่เมื่อตายไปจะต้องกลายเป็นผีเปรต ที่แสนทรมานเวลาหิวน้ำจะดื่มก็ไม่ได้เพราะปากเล็กเท่ารูเข็ม เดินไปไหนก็เก้งก้างไม่น่าดูสุดแสนทรมาน นับเป็นวิธีการสอนพวกเราให้รักพ่อรักแม่ที่แยบยลยิ่งนัก
              พ่อเรียนจบแค่ชั้นประถมปีที่สามแต่ก็มีนิทานพื้นบ้านและวรรณคดีมาเล่าให้พวกเราฟังหลายเรื่อง  เช่น  ลักษณวงศ์  พระรถ-เมรี  พระสุธน-มโนราห์  ขุนช้างขุนแผน  พระอภัยมณี  สามก๊ก ราชาธิราช รามเกียรติ์  เป็นต้น มีหลายเรื่องที่พวกเราฟังแล้วประทับใจจนผมถึงกับน้ำตาไหลสงสารพระเอก  และนางเอกในเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องพระรถ-เมรี และเรื่องพระสุธน-มโนราห์ พ่อสามารถผูกโยงเรื่องทั้งสองเข้าด้วยกัน ทำให้พวกเราเห็นความต่อเนื่องของท้องเรื่องทั้งสองอย่างซาบซึ้ง
             ตัวอย่างหนึ่งคือตอนที่นางยักษ์เมรีกำลังติดตามพระรถผู้เป็นสวามีด้วยความรักอย่างท่วมท้น แต่นางกลับถูกพระรถตัดสวาทขาดไมตรี จึงทำให้นางเมรีคิดฆ่าตัวตาย  และก่อนตายนางได้กล่าวไว้ประโยคหนึ่งว่า "ชาตินี้น้องตามพระมา ชาติหน้าพระตามน้องไป  "  ซึ่งนับเป็นคำพูดปริศนาที่โยงใยไปถึงเรื่องพระสุธน-มโนราห์ทิ้งท้ายจูงใจให้พวกเราติดตามเรื่องพระสุธน_มโนราห์ต่อไป  ซึ่งเมื่อติดตามเรื่องก็รู้ว่า ในชาติต่อมาพระรถนั้นไปเกิดเป็นพระสุธนต้องเที่ยวติดตามหานางเมรี    ซึ่งไปเกิดเป็นนางมโนราห์ ปรากฎว่าพระสุธนต้องดั้นด้นตามหานางด้วยความรักเป็นเวลานานถึงเจ็ดปี เจ็ดเดือน กับเจ็ดวันต้องผจญกับอุปสรรคต่าง ๆ นานัปการจึงได้สมหวังในความรัก 
            เรื่องรามเกียรติ์เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่พ่อเล่าได้สนุกมาก  พ่อเล่าได้เป็นฉาก ๆ  ตั้งแต่ต้นจนจบ ผมตื่นเต้นและประทับใจจนเคยฝันไปว่าตัวเองเป็นหนุมาน และชอบกระโดดโลดเต้น  โจนทะยานเล่นกับเพื่อน ๆ ก็คงเหมือนกับเด็ก ๆ ในปัจจุบันที่ชอบรำกระบี่ตามหนังจีนในทีวีนั่นแหละ        
              คืนไหนที่พ่อเมาเหล้าพวกเราจะรู้สึกผิดหวังเพราะต้องอดฟังเรื่องรามเกียรติ์ ก็คงเหมือนพวกที่ติดละครทีวีแล้วไม่ได้ดูยังไงยังงั้น  เวลามีโขนงานศพหรืองานวัดในหมู่บ้านผมมักไปแต่หัวค่ำเพื่อขึ้นไปจองที่นั่งบนเวทีซึ่งติดกับวงปี่พาทย์ลาดตะโพน ถ้าถูกไล่ลงมาก็จะนั่งอยู่แถวหน้าสุด พร้อม ๆ กับเพื่อนในหมู่บ้านที่เรียนหนังสือรุ่นราวคราวเดียวกัน ผมดูไปก็อดไม่ได้ที่จะเล่าเรื่องที่โขนแสดงให้เพื่อน ๆ ฟังล่วงหน้าจนเพื่อนๆพากันแปลกใจว่าผมรู้เรื่องก่อนที่โขนจะแสดงได้อย่างไร   แต่บ่อยครั้งที่ถูกเพื่อนเอ็ดเอาเพราะทำให้เขาเสียสมาธิในการดูโขน 
              แรงจูงใจที่ผมได้ฟังพ่อเล่านิทานและวรรณคดีทำให้ผมเกิดความสนใจอยากหาหนังสืออ่านเพิ่มเติม  เวลาผมเรียนหนังสือที่โรงเรียนผมมักยืมหนังสือวรรณคดีหรือนิทานพื้นบ้าน  เรื่องที่พ่อเล่ามาอ่านต่อจนจบทุกเรื่อง  ผมแปลกใจเหมือนกันว่าหลายครั้งขณะที่พ่อเล่าเรื่องถึงตอนสนุก   และพวกเรากำลังเคลิบเคลิ้มตาม  อยู่ ๆ พ่อก็แกล้งหาเหตุหยุดเล่ากลางคันเสียอย่างนั้นแหละ เหตุผลที่พ่อมักใช้เป็นประจำก็คือ
              "ดึกแล้วไปนอนก่อนพรุ่งนี้จะเล่าให้ฟังต่อ"   แม้เราจะออดอ้อนว่ายังไม่ง่วงพ่อก็ไม่ยอม ในที่สุดพวกเราก็ต้องอารมณ์ค้างอดได้ฟังตอนสนุกๆในคืนนั้น เหมือนกับละครทีวีแต่ละวันที่มักจะจบตอนเมื่อใกล้จะถึงจุดไคลแม็กซ์
              ครั้นถึงวันต่อมา   พวกเราตั้งท่าเตรียมฟังเรื่องที่พ่อเล่าค้างเมื่อคืน    แต่พวกเราก็ต้องผิดหวังอีก   เพราะพ่อหลบไปดื่มเหล้ากับเพื่อนบ้านจนเมาติดต่อกันหลายวัน  ทำให้ว่างเว้นจากการ เล่านิทานให้ลูกฟัง  ผมเองตอนแรกก็หงุดหงิด  โกรธพ่อนิดๆที่แกล้งเรา แต่เมื่ออดรนทนไม่ไหวก็เลย ไปหาหนังสืออ่านเองที่ห้องสมุดโรงเรียน  โดยยืมมาอ่านที่บ้านด้วย  ท่ามกลางแสงตะเกียงน้ำมันก๊าด ดึกดื่นแค่ไหนก็ไม่ยอมหยุดอ่าน ยิ่งอ่านยิ่งมัน เพราะผมมีพื้นฐานจากที่พ่อเล่าให้ฟังแล้ว   โดยเฉพาะ บทกลอนหรือคำประพันธ์ที่พ่อท่องให้ฟัง ผมจะต้องหาอ่านจนพบทุกครั้งและท่องจำได้ขึ้นใจ  แม่เห็นว่า ผมไม่ยอมหลับยอมนอน จึงคอยมาเตือนว่าเปลืองน้ำมัน ผมจึงต้องหยุดอ่านทั้งๆที่ยังไม่อยากเลิก
              วันต่อมาผมก็อดไม่ได้ที่จะเล่าเรื่องที่อ่านอย่างคร่าว ๆ  ให้พี่สายใจและน้องแสงดาวฟังเลยมีผลทำให้ทั้งสองคนเกาะติดผมแจ ผมก็เลยแย่ต้องอ่านออกเสียงให้พวกเขาฟังด้วยในคืนต่อมา  ซึ่งผม
ไม่ค่อยชอบอ่านออกเสียงนัก เพราะรู้สึกว่าอ่านได้ช้ากว่าอ่านในใจ ตอนหลังผมจึงเลี่ยงโดยไม่ให้พวกเขาเสียน้ำใจ ด้วยการยืมหนังสือมาหลายๆเล่มให้พวกเขาอ่านเอง              
             พอพ่อรู้ว่าพวกเราไม่ง้อ ไปหาหนังสืออ่านต่อกันเอง ท่านก็แอบยิ้มด้วยความพอใจ แถมยังมาแกล้งซักไซร้ถามโน่นถามนี่ แกล้งพูดเฉไฉเหมือนกับไม่มีอะไรเกิดขึ้น พวกเราก็เลยหายโกรธพ่อ    ซึ่งต่อมาจึงรู้ว่าเป็นแผนของพ่อที่คอยจุดประกายไฟให้เราอยากรู้อยากติดตามและหาอ่านด้วยตนเอง 
              ต่อมาพอพ่อเห็นว่าพวกเรามีพื้นฐานมากขึ้น พ่อจึงเปลี่ยนจากการเล่านิทานมาเป็นการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่พวกเราอ่านแทน ผมก็เริ่มรู้ว่าพ่อเองก็พยายามจะศึกษาเพิ่มเติมจากพวกเราเหมือนกันเพราะท่านอ่านมานานคงจะหลงลืมไปบ้าง แต่ท่านก็พยายามไว้เชิง ไม่ให้เสียฟอร์ม  ยิ่งนานวันผมก็รู้สึกตัวว่ามีสมาธิในการอ่านและแตกฉานในวรรณคดีมากขึ้น นี่น่าจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผมได้คะแนนวิชาภาษาไทยสูงมาโดยตลอด                
              พ่อเป็นวีรบุรุษที่ผมภูมิใจและศรัทธาในความสามารถหลายเรื่อง  พ่อเป็นคนชอบอ่าน  ช่างจดจำและมีศิลปะการถ่ายทอดที่ยอดเยี่ยม  พ่อบอกว่า พ่ออ่านวรรณคดีต่าง ๆ ตอนบวชเป็นพระ  อ่านทั้งภาษาบาลี  วรรณคดี  และนิทานพื้นบ้านต่าง ๆ เกือบทุกเรื่อง นอกจากนี้พ่อยังมีความรู้ทาง โหราศาสตร์อีกด้วย  คนในหมู่บ้านเวลามีเรื่องหรือจะมีงานอะไรมักมาหาพ่อให้ทำนายทายทัก จับยามสามตาหรือสะเดาะเคราะห์ให้เสมอ อาศัยที่พ่อเป็นคนมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี  มีจิตวิทยาสูง  พยายามตรวจวิเคราะห์ทำนายทายทัก ให้ผู้คนที่มาหามีความสุขและพึงพอใจทุกคน พ่อจึงได้รับ ความเชื่อถือจากชาวบ้านอย่างกว้างขวาง และมีคนมาหาพ่อไม่เว้นแต่ละวัน 
           นอกจากนี้พ่อยังมีความรู้เรื่องยาแผนโบราณเป็นอย่างดี พ่อมีตำรายาที่รักษาโรคพื้นบ้านได้เกือบทุกโรค ลูก ๆ ของพ่อจะต้องกลายเป็นหนูตะเภาทดลองยาของพ่อกันทุกคน  ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นเวลามีบาดแผลก็ใช้ใบสาบเสือขยี้กับปูนแดงจนเป็นฟองเอามาป้ายแผล ไม่กี่วันก็หาย เวลาเป็นไข้อีสุกอีใสพ่อก็ต้มน้ำใบส้มป่อยให้อาบ แต่เรื่องที่พวกเรากลัวกันมากที่สุดเห็นจะเป็นการถูกบังคับให้ดื่มลูกมะเกลือจำนวนเท่าอายุ  โดยนำมาตำแล้วคั้นกับน้ำกะทิเพื่อถ่ายพยาธิกันปีละหน  ผมนึกถึงเรื่องนี้ทีไรชวนให้คลื่นไส้ทุกครั้ง
         ผมมักถูกพ่อเคี่ยวเข็ญหนักกว่าใครในเรื่องดื่มยาถ่ายพยาธิเพราะตอนเด็ก ๆ รูปร่างผอมกะหร่อง  พุงโรก้นปอด    ซึ่งพ่อเรียกว่าเป็นโรคตานขโมย   พ่อมักต้มยาหม้อใหญ่ขมปิ๊ดปี๋ให้ผมดื่ม   ต้องทั้งขู่
ทั้งปลอบกัน บางทีถึงกับเรียกแม่และพี่ ๆ มาช่วยกันจับกรอกจนผมต้องร้องลั่นทุกครั้ง ผมยังจำเจ้าตัวยาศัตรูคู่อาฆาตของผมที่พ่อท่องให้ฟังจนขึ้นใจได้ดี 
                                                                                                                                                                                             
                    "ชุมเห็ดทั้งห้า             ขี้กาลูกเล็ก                                   
                      เอาตามอายุเด็ก           เลือกลูกอ่อน ๆ
                      สมอเทศสมอไทย           เข้าใบมะกา
                      ตูดหมูตูดหมา              เอารากอ่อน ๆ " 
 
           ก่อนนอนพ่อชอบนั่งหน้าหิ้งพระที่ไม่เคยปัดกวาด    จึงมีทั้งก้านธูปทั้งขี้เถ้าหกอยู่เลอะเทอะ 
กับพวกหยากไย่ระโยงระยางเต็มไปหมด พ่อสวดมนต์บทต่าง ๆ อย่างยาวนาน เสียงดังไปทั้งบ้านราวกับ
เจตนาให้ลูก ๆ ได้ยิน
           พ่อจำบทสวดมนต์ในหนังสือเจ็ดตำนานได้ทั้งเล่ม     ยังมีคาถาอีกสารพัดที่พ่อท่องอยู่
เป็นประจำ ที่ผมจำได้ถนัดก็เห็นจะเป็นคาถาป้องกันภัยสิบทิศของพระอาจารย์ฝั้นและคาถาชินบัญชร 
เวลาสวดมนต์พ่อจะมีลีลาการเอื้อนเสียงเป็นจังหวะจะโคนหนำซ้ำยังทำเสียงสั่น       แถมลงลูกคอ
เหมือนกับพระตอนขึ้นธรรมาสน์  ชวนให้น่าฟัง  ผมเองค่อนข้างจะจำอะไรได้แม่น  ฟังพ่ออยู่ทุกวัน
ก็จดจำได้หมด  เมื่อถึงตอนบวชเรื่องการสวดมนต์จึงไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับผมเลย
          ผมพยายามจดจำและลอกเลียนแบบการกระทำของพ่อเกือบทุกเรื่องที่ผมศรัทธาเป็นต้นว่า ท่วงทำนองการพูดที่สุภาพ  นุ่มนวลชวนฟัง  ตลอดจนบุคลิกท่าทางการวางตัวที่สง่างาม  ยกเว้นเรื่องการดื่มเหล้าซึ่งผมไม่ยอมตามอย่างพ่อ  ผมไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมจึงไม่ลอกเลียนแบบ ในเรื่องนี้ด้วย  อาจเป็นเพราะผมเห็นเวลาพ่อเมาเหล้าครองสติไม่อยู่  กลิ่นเหล้าเหม็นคลุ้ง   ร้องรำทำเพลง    ส่งเสียงเอะอะโวยวาย พูดจาอ้อแอ้  อาเจียน จนน่ารำคาญ  กลายเป็นคนละคนกับพ่อที่ผมชื่นชมศรัทธาก็ได้ จึงไม่อยากเอาอย่าง

          ก็แปลกใจอยู่เหมือนกันว่า ตอนนั้นผมก็ยังเป็นเด็ก แต่ทำไมจึงรู้จักแยกแยะว่า 
         อะไรควรอะไรไม่ควร
.
 
-----------------------------

ธเนศ  ขำเกิด  [email protected]
 
 

หมายเลขบันทึก: 25198เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2006 10:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท