เรียนรู้จากเวที “คุณอำนวย” ครั้งที่ ๒ (4. หน้าที่)


         หลังการประชุม อ. จิรัชฌา วิเชียรปัญญา แห่ง ม. รังสิต ส่งความเป็นเกี่ยวกับขีดความสามารถของคุณอำนวย ประเด็นที่ 4 มาให้ จึงขอเอามาแบ่งปัน        

KFCompetency  4
การตั้งคำถาม  กระตุ้น  จับประเด็น  เชื่อมโยงประเด็น  และสรุปประเด็น  (Catalytic  Function)
โดยจิรัชฌา วิเชียรปัญญา

จาก Competency ที่ 4  ขอแยกรายละเอียดออกเป็น 3  ส่วนดังนี้
1. การตั้งคำถาม:  มีกระบวนการดังนี้
1.1  ศึกษาเรื่องที่จะตั้งคำถามเพื่อกำหนดประเด็นคำถามที่อยากรู้
              1.2  ศึกษาสภาพแวดล้อมหรือบริบทที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจส่งผลต่อคำถามและคำตอบ
              1.3  มองเห็นคำตอบอย่างคร่าวๆ เพื่อการจดบันทึกที่รวดเร็ว
              1.4  ถ้ามีคำถามมาก  จะจัดคำถามออกเป็นกลุ่มๆ  เพื่อให้ได้คำตอบที่ครบถ้วนสมบูรณ์
              1.5  พยายามตั้งคำถามตั้งแต่ระดับพื้นฐานจนถึงคำถามในระดับลึกซึ้ง  เช่น  มีตั้งแต่คำถามทั้งที่เป็นอะไร  (What)  อย่างไร  (How)   ทำไม  (Why)    และเมื่อไร (When) 
              1.6  คำถามเน้นการดึงประสบการณ์ลึกๆ ของผู้ตอบ  จะไม่ตั้งคำถามที่สามารถหาคำตอบได้ด้วยตนเอง 

2. การกระตุ้น:  มีกระบวนการดังนี้
2.1  ต้องมีความรู้สึกที่ไวต่อบรรยากาศของการเปลี่ยนแปลง  และสังเกตบรรยากาศกลุ่มตลอดเวลา  หากมีคนใดที่กำลังหลุดจากวงสนทนา  ต้องรีบดึงความสนใจให้เข้ามามีส่วนร่วมในกลุ่มทันที
              2.2  รู้จัก /  ศึกษาหรือจับรายละเอียดภูมิหลังของกลุ่ม  เพื่อดึงมาเป็นข้อมูลสำหรับการกระตุ้นให้มีส่วนร่วมในการพูด  เช่น  ทราบว่าศิริราชมี CoP มาก  จึงเชิญและกระตุ้นผู้แทนจากศิริราชให้แบ่งปันประสบการณ์ดังกล่าว
              2.3  มีความยืดหยุ่นต่อกับเวลา
              2.4  สร้างกติกา (อย่างไม่เป็นทางการ) ให้  “ทุกคนต้องพูด”  ส่วนมากจะเน้นให้ผู้ที่มีอาวุโสน้อยกว่า  หรือผู้ใต้บังคับบัญชาพูดก่อน 
              2.5  ใช้เทคนิคกระบวนการกลุ่มที่เรียกว่า Nominal  Group  Technique  - NGT  เข้ามาช่วยกระบวนการกลุ่ม  ซึ่งเทคนิคดังกล่าวมีจุดเน้นที่สำคัญคือ  ทุกคนต้องพูด  และพูดนอกเหนือจากคนอื่นที่พูดมาแล้ว  ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเรื่องการผูกขาดในการพูดของคนใดคนหนึ่ง 
                     หมายเหตุ:  การใช้เทคนิค NGT  จะใช้ควบคู่กับ  “การเสวนา”  (Dialogue)  เสมอ

3. การจับประเด็น  เชื่อมโยงประเด็นและสรุปประเด็น:  มีกระบวนการดังนี้
3.1  มีเค้าโครง / กรอบ  หรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ฟังอย่างคร่าวๆ  เพื่อความสะดวกในการจดบันทึกประเด็นสำคัญๆ เป็นหมวดหมู่  
              3.2  ให้ความสนใจ  และตั้งใจฟังเรื่องที่กำลังพูดถึงกันอยู่
3.3  หูจะฟังอย่างตั้งใจ   มือจะจดประเด็นสำคัญๆ  ในสมองจะคิดและมองเห็นออกมาเป็นภาพ  แล้วจับภาพที่ได้มาแทนที่ด้วยคำหรือประเด็น 
              3.4  แยกเรื่องที่ฟังออกเป็นประเด็นต่างๆ   แล้วทำการเชื่อมโยงประเด็น   โดยดูว่าแต่ละประเด็นมีความแตกต่างหรือสัมพันธ์กันอย่างไร  หลังจากนั้นจึงรวมส่วนย่อยๆ  ออกเป็นภาพรวมหรือภาพใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
              3.5  คิดทบทวนและสะท้อนกลับเร็วๆ  สำหรับข้อสรุปหรือภาพใหญ่ที่ได้  เพื่อตรวจสอบว่าจับใส่กลุ่มถูกต้องหรือไม่
              3.6  นำเสนอข้อสรุปหรือภาพใหญ่ด้วยภาพหรือโมเดลประกอบ

เรียนรู้จากเวที “คุณอำนวย” ครั้งที่ ๒  (1)   เรียนรู้จากเวที “คุณอำนวย” ครั้งที่ ๒  (2)

เรียนรู้จากเวที “คุณอำนวย” ครั้งที่ ๒  (3)

วิจารณ์  พานิช

หมายเลขบันทึก: 25197เขียนเมื่อ 24 เมษายน 2006 09:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 12:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท