กรณีศึกษาว่าด้วยเรื่อง “ตัวกู ของกู”


ทำอย่างไรเราจึงจะไม่ “ติดแหงก” อยู่กับความรู้สึกที่ว่าเป็น “ตัวกู ของกู” . . . นี่สไลด์ “ของกู” . . . นี่โมเดลปลาทู “ของกู”

         เป็นบันทึกที่ต่อเนื่องมาจากบันทึกที่แล้ว ถ้าท่านใดยังไม่ได้อ่าน ขอให้ย้อนกลับไปอ่านบันทึกที่แล้ว (หรือสามบันทึกที่ผ่านมา) อ่านสิ่งที่อยู่ใน Comment ด้วยนะครับ เพราะในนั้นมีประเด็นที่ คมชัด มากมายหลายประเด็น

        กรณีที่ผมเล่าไว้ในบันทึกที่แล้ว ถือว่าเป็นเพียงเหตุการณ์เล็กๆ เหตุการณ์หนึ่งเท่านั้น เพราะเท่าที่ผ่านมาพบว่ามีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดให้เห็นกันเป็นประจำ เช่น มีการนำสไลด์ powerpoint หรือบทความของผู้หนึ่งผู้ใดไปใช้โดยไม่ได้ให้เครดิตผู้จัดทำหรือไม่ได้บอกแหล่งที่มา เป็นต้น แต่สิ่งที่ผมสนใจก็คือการใช้เหตุการณ์ดังกล่าวเป็น กรณีศึกษา (Case Study)” ซึ่งผมมองว่าสามารถนำมาศึกษาได้ 2 ระดับด้วยกัน ระดับแรก ผมเรียกว่าเป็นมุมมอง ทางโลก คือเป็นการมอง ออกนอก ซึ่งหมายความว่าจะต้องทำอย่างไรจึงจะทำให้เรื่องดังกล่าว ถูกต้อง ตามมุมมองของคนทั่วไปหรือเป็นไปตามกติกาอันเป็นที่ยอมรับในสังคม ส่วนใน ระดับที่สอง คือประเด็นที่ผมสนใจ เป็นเรื่องการมอง เข้าใน จะเรียกว่าเป็นมุมมอง ทางธรรม ก็น่าจะได้ . . . คำถามที่สำคัญก็คือ . . . ทำอย่างไรเราจึงจะไม่ ติดแหงก อยู่กับความรู้สึกที่ว่าเป็น ตัวกู ของกู . . . นี่สไลด์ ของกู . . . นี่โมเดลปลาทู ของกู

          ผมลองพิจารณาดูสิ่งที่อยู่ในสไลด์ (powerpoint) ถามตัวเองอย่างจริงจังว่า . . . ไอ้ที่เป็น ของกู นะมันอยู่ที่ตรงไหน? มองๆ ไปก็เห็นว่าส่วนนี้หยิบมาจากตรงนั้น ส่วนนั้นหยิบมาจากทฤษฎีนี้ เป็นการรวมกันของความรู้จากหลายๆ ที่ มีการนำมาร้อยเรียงใหม่เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ มีการเปลี่ยนภาษาหรือคำที่ใช้ . . . แล้วมันเป็น ของกู ที่ตรงไหน? หรือว่าตอนที่ผม “Create” มันขึ้นมา มันทำให้ผมเริ่มรู้สึกว่าสิ่งนั้นเป็น ของๆ ผม เวลาใครชม ก็รู้สึกดี เวลาใครตำหนิก็รู้สึกแย่ ที่แน่ๆ ก็คือเป็นสภาพคล้ายๆ กับว่าคนอื่นนั้นยืนถือ รีโหมด (Remote Control)” อยู่ เขาสามารถ กดปุ่ม ให้เรารู้สึกดี หรือ รู้สึกแย่ก็ได้ เรากลายเป็นอะไรบางอย่างที่ตกอยู่ภายใต้ การควบคุม ของเขา นี่แหละ ความโง่เขลา ที่ก่อกำเนิดขึ้นมาจากความรู้สึกเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ

         หากเราสามารถเปลี่ยนมุมมองได้ เห็นว่าสไลด์ (powerpoint) นี้มิได้เกิดขึ้นเพราะเราเพียงผู้เดียว หากแต่เป็นผลอันเนื่องมาจาก เหตุปัจจัย หลายสิ่งหลายอย่างด้วยกัน กว่าจะสร้างมันออกมาเป็นเช่นนี้ได้ หากใครมีมุมมองเช่นนั้น ความเป็น ตัวกู ของกู ก็คงจะทนอยู่ตรงนั้นไม่ได้ . . . ชายตาดูตัวเองแล้วจึงรู้ว่า ผมยังคงอยู่อีกไกล กว่าจะไปถึงจุดนั้น !!

หมายเลขบันทึก: 250015เขียนเมื่อ 21 มีนาคม 2009 19:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

อาจารย์คะ เวลาคนขอสิ่งที่เราใช้สอน บางทีเราก็รู้สึกว่า เขาจะเอาไปทำอะไรนะ

แต่มาคิดอีกที ถ้าเขาขอไป แล้วเขาเอาสิ่งที่เราให้ ไปปฏิบัติได้ ก็เป็นประโยชน์ต่อตัวเขาและคนไข้ ก็เอาไปเถอะ  อย่างน้อยประเทศชาติน่าจะดีขึ้นด้วย

คิดแบบนี้  ก็จะรู้สึกสบายใจค่ะ

บันทึกนี้ของอาจารย์ทำให้รู้สึกลึกซึ้งกับคำว่า "วิทยาทาน" ยังไงไม่รู้นะคะ

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์

ขอแสดงความคารวะในความกล้าหาญ และซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเอง ของอาจารย์ครับ

ช่วงนี้พอดีผมได้ฟัง mp3 ของพระอาจารย์ปราโมช  ท่านได้กล่าวถึงเรื่องที่มีนัยยะ คล้ายๆ กันว่า...

ใครปฏิบัติ แล้วเห็น "อัตตา" เห็น "กิเลส" ของตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถือว่ามาถูกทางแล้ว

แต่หากใครปฏิบัติแล้วเห็นว่า "กูเก่งๆ"  หรือ "กูดีๆ" แสดงว่าผิดทาง เป็นการปฏิบัติที่เป็นไปเพื่อสร้างอัตตาให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

ผมเองก็ไม่ค่อยได้ปฏิบัติอะไรหรอกนะครับ แต่ชอบฟังท่านบรรยายธรรม สนุก และได้แง่คิดอะไรเยอะ 

ผมเชื่อว่าอาจารย์กำลังอยู่บนเส้นทางที่ถูกต้องแล้วครับ แม้อาจารย์จะรู้สึกว่ามันไกลไปนิด ก็คงไม่ใช่ปัญหา 

ที่เป็นปัญหาน่าจะเป็นพวกที่ชอบคิดหลอกตัวเองว่า "ข้าถึงแล้ว" "ข้าไปไกลแล้ว" แต่จริงๆ แล้วไม่รู้ว่าถึงไหนกันแน่

เป็นกำลังใจให้นะครับ

และจะขอพิจารณารอยทางที่อาจารย์ได้นำร่องไว้ และกรุณานำมาบอกกล่าวกันครับ

สำหรับผมตอนนี้ ยอมรับว่า ยังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะเดินหน้าไปบนเส้นทาง  เพราะเสียงภายในหัวของผมมันร้องว่า

"อย่าเดินไปเลยนะทางเส้นนี้ 

มันอันตรายเกินไป 

ตัวเจ้าอาจจะต้องสูญหายไปตลอดกาล"

สวัสดีครับ

มาเห็นด้วย กับประโยคนี้ของพ่อแม่ครูอาจารย์ครับ...

ช่วงนี้พอดีผมได้ฟัง mp3 ของพระอาจารย์ปราโมช  ท่านได้กล่าวถึงเรื่องที่มีนัยยะ คล้ายๆ กันว่า...

ใครปฏิบัติ แล้วเห็น "อัตตา" เห็น "กิเลส" ของตัวเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถือว่ามาถูกทางแล้ว

...อยากเรียนอาจารย์ว่า  ไม่ไกล    ..ครับ

...ผมกำลังเดินตามอาจารย์มาอยู่นะครับ(แต่หลวงพ่อสอนไม่ให้เราเปรียบเทียบกันในการปฏิบัติ..)

..ด้วยความนับถือครับ...

 

 

 

ความคิดเรื่องตัวกูของกูน่าสนใจมากค่ะ วันก่อนได้เห็นคนทะเลาะกัน ก็เพราะเขารู้สึกไม่ดีกับเสียงไม่ไพเราะที่มากระทบหู รู้สึกไม่พอใจกับท่าทีก้าวร้าวของอีกฝ่ายที่มากระทบตา

รู้สึกไม่ดีด้วยอคติและการตัดสินทางลบต่อบุคคลนั้น จึงเป็นเหตุให้เข้ามากระทบที่ใจ โดยรวมแล้วคนเราถูกกระทบได้ง่ายทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เพราะอัตตาตัวตน หรือตัวกูของกู นี่เอง จะมีใครสักกี่คนที่ปล่อยวางได้ด้วยเมตตาแท้จริง

ที่อาจารย์พูดถึงความยึดมั่นถือมั่นในความรู้ของตน โมเดลของตน ชุดความรู้ของตน ก็คงไม่ต่างกัน นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดของมนุษย์ หากข้ามพ้นอัตตาไปไม่ได้ ก็ยากที่จะเห็นอนัตตา หรือความเกิด ดับ ไม่แน่นอนของชีวิตได้

ความจริงก็อย่างที่อาจารย์รู้และเข้าใจจากวิถีปฏิบัติ จากการอ่าน การแปล การฟังครูอาจารย์ผู้รู้ ว่าไม่มีอะไรเลยที่เป็นของเราแม้แต่น้อย แต่มนุษย์ช่างไขว่คว้าเอาทุกสิ่งมาเป็นของตนอย่างน่าสงสาร ผู้รู้แท้จริงจะให้ด้วยเมตตา แล้วปล่อยวาง ไม่เหลือแม้แต่ตัวตนของความเป็นผู้ให้ ผู้มี ผู้เป็น แต่ประการใดเลย

ดีค่ะที่อาจารย์นำเรื่องราวดีๆ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยให้เกิดสมุหปัญญาร่วมกันค่ะ

เรียน ท่านอาจารย์ ครับ

ขออนุญาตแลกเปลี่ยนนะครับ

ผมเห็นว่า การที่ "ทำอะไรจะทำให้เรื่องดังกล่าวถูกต้อง" ไม่ได้เป็นมุมมอง "ออกนอก" เสียทีเดียวครับ กล่าวคือ เมื่อเราดูข้างในใจเราแล้ว และเราไม่ได้รู้สึกขุ่นเคืองใจที่เขาเอาไปใช้โดยไม่อ้างอิง หรือสามารถจับตัวความรู้สึกที่ไม่ดี จนมันเปลี่ยนเป็นความรู้สึกที่ดีได้อย่างแท้จริงแล้ว ตรงนี้คือการที่เรารู้เท่าทัน "ภายใน" ของตัวเราแล้ว เรียกได้ว่า ท่านเป็นผู้ที่มี"สติ" อย่างไรก็ตาม เมื่อท่านมีสติแล้ว หากท่านบอกผู้ที่นำไปใช้โดยไม่อ้างอิง ให้ทราบด้วยใจที่ไม่ขุ่นเคือง เพื่อให้ความรู้แก่เขา ที่จะพัฒนาต่อไป ผมคิดว่าแบบนี้จึงเรียกว่า "ทางสายกลาง" ครับ

หากท่านมุ่งทางด้านจิตใจมาก จนไม่สนใจสิ่งอื่นๆ ผมคิดว่า อาจกลายเป็นสุดโต่งอีกทางหนึ่งได้ครับ

ตรงนี้จะเกี่ยวข้องกับ คำว่า "อุเบกขา" ครับ อุเบกขา มิใช่แปลว่า เฉย แบบปล่อยไป ครับ แต่หมายถึง เฉยด้วยสติ คือรู้ว่าใจตัวเราเป็นอย่างไร เมื่อเจอแบบนี้ นอกจากนี้ยังรู้ว่าควรจะทำอย่างไร จริงจะไม่เป้นการหักหน้าเขา และทำอย่างไรจะให้เขาได้ประโยชน์ด้วย แล้วจึงทำตามนั้น แต่หากกระทำแล้ว เขาไม่พึงรับรู้สิ่งที่เราพยายามหยิบยื่นให้ ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งครับ :)

เวลาไปบรรยายที่ไหน แล้วมีใครมาขอสไลด์ (powerpoint) ผมก็ให้แทบทุกครั้ง มีบางเหมือนกันที่ไม่ได้ให้ เพราะบอกช้าไป ปิด Notebook ไปแล้ว . . . เวลาเห็นคนเอาสไลด์เราไปใช้ ก็รู้สึกดีนะครับ กรณีที่รู้สึกแย่ ก็ตอนที่เห็นสไลด์ของผู้ที่เอา "ของเรา" ไปใช้ ขอบคุณคนอื่นๆ หลายๆ คนแต่กลับไม่มีชื่อของเราอยู่ในนั้น อาการ "ตัวกู ของกู" จึงปรากฏให้เห็น

อาจารย์โสรจพูดได้ชัดเจนมากครับเรื่องอุเบกขา ว่าจะเอามาใช้ใน Case นี้ได้อย่างไร . . . ขอนำไปใช้อธิบายต่อในกรณีที่มีการพูดคุยเรื่องทำนองนี้นะครับ

ขอบคุณทุกๆ ท่านที่เข้ามา "ต่อยอด" ทำให้ประเด็น "คมชัด" ขึ้นเรื่อยๆ . . . ขอบคุณครับ

เป็นคนที่ขอslide อาจารย์ไปใช้และจะอ้างถึงเสมอเพราะนับถือความเป็นครูของอาจารย์และคิดว่าอาจารย์คิดออกมาได้เรื่อยค่ะ

เคยเห็นอาจารย์วรภัทรก็ไม่หวง slide

เวลามีใครมาดูงานและขอslide ไปก็จะให้ไปเสมอเพราะรู้สึกเป็นวิทยาทานและความรู้ที่เรามีสามารถผลิตออกมาไม่จำกัดเพราะเป็นtacit k ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย

แต่คนที่เอาของเราไปและไม่อ้างอิงก็แสดงให้เราเห็นความเป็นคนที่มีหลากหลาย บางคนก็อยากให้ตัวเองดูดีโดยนำความรู้คนอื่นไปทำมาหากิน ถ้าเป็นหมอก็คงโกรธเหมือนกันค่ะ

หลวงพ่อปราโมทย์ท่านสอนว่า โกรธให้รู้ว่ากำลังโกรธแต่ไม่ได้ห้ามโกรธนะคะอาจารย์เพียงแต่ไม่ให้ผิดศีล5ค่ะ

หมอเองก็อีกไกลค่ะกว่าจะถึงจุดนั้น

มาให้กำลังใจอาจารย์ที่เป็นครู KM ของหมอจนเกษียณก็ยังติดตามเรียนค่ะ

ขอบคุณที่อาจารย์หมออัจฉรา คอยให้กำลังใจผม และเป็นตัวอย่างให้ผมเห็นเสมอมา

ฮึ ฮึ

slides ผมมักจะมีแต่รูป หนัง และเพลง อยากได้มักจะให้ แต่ใหญ่หน่อย (หลายสิบเมกะไบต์)

ผมพึ่งเปลี่ยนมาใช้ apple ประมาณ 1-2 ปีมานี้เอง presentation จะใช้ Keynote ซึ่งเป็นโปรแกรมนำเสนอของ apple เทียบเท่ากับ powerpoint ตอนแรกใครมาขอ ก็จะมีปัญหาเรื่องเปิดไม่ออก ตอนหลังผมพึ่งทราบว่ามันแปลงเป็น pdf file ได้ ก็แก้ปัญหาไปได้เล็กน้อย (คือ transfer เนื้อหาได้ แต่ animation, function และ อืื่นๆก็จะถูก compress ไปเยอะ)

เรื่องความหงุดหงิด (หรือที่เราเรียก "จี๊ด") นั้น มีได้ แต่ให้รู้เท่าทัน ที่จริงช่วงที่เรา "ทัน" ว่าเราจี๊ดนี่แหละ ที่ผมคิดว่าสนุกที่สุด เหมือนมี achievement อะไรบางอย่าง อย่าพึ่งรีบปลดปล่อย แต่ให้สืบสาวราวเรื่องต่อไปว่าทำไมหนอเราถึงได้จี๊ด และอย่าพึ่งพึงพอใจกับคำอธิบายตื้นๆ (เพราะอาจจะเป็น self defence explanation) หลายสิ่งหลายอย่างมีรากลึกมาจากสิ่งที่เรา "กลัว" และเราไม่ค่อยจะยอมแตะลึกลงไป และถ้าไม่แตะ เราก็จะยังจี๊ดต่อๆไปในอนาคต

เหมือนผมเป็นอาจารย์ใหม่ๆ หงุดหงิดเวลานักเรียนถามออกนอกเรื่อง ลึกๆอาจจะเป็นเพราะเราตอบไม่ได้ ไม่ได้เตรียมตัวมา กลัวเสียหน้า ฯลฯ ก็เลยเอาเหตุผลที่ legitimate มาบอกว่า "อย่าถามนอกเรื่อง" หรือ "ไร้สาระ" ฯลฯ ถ้าเขาถามขึ้นมา แสดงว่ามันเชื่อมโยงไปได้ และถ้าเราไม่ได้คิดมาก่อน แปลว่านั่นเป็นมุมที่น่าสนใจ พออายุมากขึ้น ลดความรู้สึกเสียหน้าง่ายๆลง ความไม่รู้ก็กลายเป็นความสดใหม่ในการทำงาน ในการใช้ชีวิตไป

อาจารย์ ดร.ประพนธ์ และอาจารย์หมอสกล คะ

เข้าใจที่คุณหมอสกล (Phoenix)พูดทุกประการ และน่าสนใจพิจารณาอย่างลึกซึ้งถึงตัวตนภายในส่วนลึกที่แท้จริงของมนุษย์ อาจารย์หมอสกล พูดถึงความขลาดกลัวของมนุษย์ในเรื่องทั่วๆไป ทำให้เล็กนึกถึงคำพูดของหมอวิธาน ที่มักชอบพูดบ่อยๆว่า คนเรามักชอบอยู่ในเขต Comfort Zone ของตนเอง มันเห็นภาพของการทะนุถนอมตัวเองหรือการสร้างเกราะป้องกันตนเองในเรื่องใดก็ตาม บางทีการกล้าก้าวข้ามออกไปจากความเคยชินเก่าๆ รูปแบบเก่าๆ ความคิดเก่าๆ กรอบกฏเกณฑ์เก่าๆ บางประการ ก็คือการเขียนโลกใบใหม่ที่แท้จริงให้กับชีวิตของเรา ไม่มีอะไรเสียหาย มันกลับทำให้จิตเราเติบใหญ่ขึ้นมากเกินกว่าที่จะคาดคิด

นึกถึงคำพูดของท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (พระประยุทธ ปยุตโต)คำหนึ่งนานมาแล้วที่มีโอกาสพูดคุยกับท่าน แต่จำฝังใจมาจนทุกวันนี้ที่ว่า..ให้เราหมั่นถามตนเองอยู่เสมอว่า วันนี้เราให้ผู้อื่นมากพอหรือยัง แทนคำถามที่ว่า..วันนี้ เราได้อะไรจากผู้อื่น ซึ่งเป็นคำพูดที่เตือนสติตัวเองมาตลอดชีวิตจนตราบเท่าทุกวันนี้

ที่พูดเช่นนี้ ไม่ได้แปลว่า สุดโต่งทางจิตใจ นะคะ แต่หมายถึง หากเราตั้งปณิธานของจิตไว้ในทางที่ถูกต้องและดับทุกข์ได้จริง ไม่ว่าอะไรก็ตามจะผ่านเข้ามาในชีวิตรูปแบบใด เราก็จะมองเห็นเป็นธรรมดาของชีวิต และความเป็นมนุษย์..การอธิบายถึงลิขสิทธิ์ทางปัญญาให้คนทั่วไปฟังว่าต้องเคารพ ให้เกียรติ เจ้าของความคิด ไม่งั้นจะเทียบเท่าอาชญากรทางปัญญา เท่าที่มีประสบการณ์ก็พบว่า บางคนก็รู้ ฟัง แต่ก็ไม่นำพา หรือนำพาไปอย่างนั้น ก็เลยรู้สึกว่าคนทั่วไปฉลาด แต่ไม่ค่อยซื่อตรงกับตนเองและผู้อื่น ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เราเปลี่ยนแปลงผู้อื่นและสภาพแวดล้อมได้ยาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะละเลย ให้ใครกระทำอะไรก็ได้ตามใจชอบแบบขาดจริยธรรม ทุกอย่างย่อมมีความพอดีในตัวเอง เพียงแต่ขอให้เรามีสติ เท่าทัน และดำรงไว้ซึ่งปณิธานที่งดงามต่อตนเอง ชีวิต และสังคม ในทางที่ถูกต้องและดับทุกข์ได้จริง อะไรที่เข้ามาในชีวิตมันจะเป็นเรื่องเล็กหมดจริงๆค่ะ

ขอให้กำลังใจอาจารย์ ดร.ประพนธ์ สู้ๆ เพื่อ Beyond KM ให้ได้ในที่สุดนะคะ

ด้วยความเคารพรักทุกความเห็นค่ะ

เล็ก-ศุภลักษณ์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท