"สังคมอุดมศึกษา" ในมุมมองของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ... ( ๑ )


ผมได้มีโอกาสอ่านมุมมองของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ในเรื่อง "สังคมอุดมศึกษา" จาก "มติชนสุดสัปดาห์" เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ...

ขออนุญาตเลือกนำเสนอเป็น 2 3 ตอนนะครับ เพราะเนื้อหาและวิธีคิดของอาจารย์เขียนไว้ยาวพอสมควร

 

สังคมอุดมศึกษา

 

ผมเคย "อ่าน" (read for) ประวัติศาสตร์อินโดนีเซียระหว่างที่ศึกษาในมหาวิทยาลัย และพบด้วยความประหลาดใจว่า ในสมัยประธานาธิบดีซูการ์โน นักศึกษาอินโดนีเซียใช้เวลาเฉลี่ย 6 ปีขึ้นไป เพื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรี

เหตุผลก็เพราะว่า ในสมัยนั้นไม่ค่อยมีตำแหน่งงานให้บัณฑิตมากพอ ถึงรีบจบไปก็เตะฝุ่น จึงสู้ใช้เวลาเตะฝุ่นในมหาวิทยาลัยไม่ได้โดยเรียนไปและรับงานจ๊อบไปเรื่อย ๆ ดีกว่า เพราะงานประเภทนี้หาได้ง่ายกว่าในฐานะนักศึกษา

ไม่นานมานี้ ผมได้ยินข่าวว่า รัฐบาลหรือใครในรัฐบาลสักคน (เวลานี้เรามีรัฐบาลที่เป็นองค์กรเดียวหรือไม่ผมก็ไม่แน่ใจน่ะครับ)  ท่านกำลังจะหาเงินมาสนับสนุนให้บัณฑิตได้เรียนต่อในระดับหลังปริญญาตรี เพื่อลดจำนวนของบัณฑิตเตะฝุ่นลง

และนี่คือเหตุที่ทำให้ผมนึกไปถึงเรื่องอินโดนีเซียสมัยซูการ์โนที่เคยอ่านมา แล้วก็นึกเลยไปถึงอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งผมคิดว่า สำคัญกว่า

เป้าหมายเดิมของการศึกษาระดับปริญญาตรี โดยเฉพาะในอังกฤษและยุโรปนั้น คือ ความสามารถที่เรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ว่าจะเรียนอะไรในระดับนี้ก็ตาม ก็ล้วนเรียนเพื่อจะได้สามารถไปเรียนเองถึงระดับไหนก็ได้ที่ตัวพอใจ

ไม่เฉพาะแต่เรียนเองได้ในวิชาที่เรียนมาเท่านั้นนะครับ แต่เรียนเองได้ในทุกวิชา และทุกเรื่อง เพราะรู้แล้วว่าวิธีเรียนรู้เรื่องต่าง ๆ นั้น ต้องทำอย่างไร ตั้งแต่ชั้นเริ่มต้นจนปลาย

และนั่นคือเหตุที่ผมดัดจริตพูดว่าเคยไป "อ่าน" ประวัติศาสตร์อินโดนีเซียในตอนต้น เพื่อให้ตรงกับสำนวนโบราณของอังกฤษว่าไปเรียนเอาวิชาในมหาวิทยาลัย การไปมหาวิทยาลัยคือไป "อ่าน" หรือไปเรียนเอง มหาวิทยาลัยเพียงแต่จัดสิ่งอำนวยความสะดวกในการเรียนเองไว้ให้ เช่น ห้องสมุด และผู้รู้ที่เรียกว่า อาจารย์ เท่านั้น

เมื่อผมเรียนปริญญาตรีในเมืองไทย เป้าหมายอันเป็นอุดมคตินี้ก็ยังตกค้างอยู่ในมหาวิทยาลัยไทย แม้แต่เมื่อมาเป็นครูในมหาวิทยาลัย ก็ยังได้เห็นร่องรอยของอุดมคตินี้ตกค้างอยู่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม เพราะเป็นแค่สิ่งตกค้างจึงไม่มีมหาวิทยาลัยใดคิดถึงเรื่องนี้อย่างจริงจังคงทำไปตามรูปแบบอย่างผิวเผินทั้งสิ้น เช่น เพื่อให้ศึกษาค้นคว้าได้เองเป็น เขาก็จัดสอนวิชาการใช้ห้องสมุด ซึ่งเนื้อหาวิชาตื้นเขินขนาดที่น่าจะพิมพ์เป็นเอกสารเล่มเล็ก ๆ แจกนักศึกษาที่สอบเข้าได้ทุกคนโดยไม่ต้องสอนเลย (ซึ่งก็เป็นการฝึกความสามารถในการเรียนเองอย่างหนึ่ง)

ในส่วนการเรียนการสอน กลับเรียนและสอนกันโดยไม่มุ่งจะสร้างความสามารถเรียนเอง เช่น เน้นแต่ด้านเนื้อหา ทั้ง ๆ ที่เนื้อหาเป็นสิ่งที่สามารถกลับไปเปิดหนังสือดูเมื่อไรก็ได้ (และได้ความละเอียดเที่ยงตรงกว่าที่สอนในชั้นเรียน)

วิธีคิดในแต่ละวิชากลับไม่ค่อยได้รับความสำคัญในกระบวนการเรียนการสอน ฉะนั้น จึงไปไม่ถึงสมมติฐานเบื้องต้นของวิธีคิดนั้น ทำให้มองไม่เห็นจุดบกพร่องของวิธีคิดซึ่งได้มาเผิน ๆ โดยผ่านเนื้อหา

เมื่อขาดทั้งสองอย่างนี้การเรียนอะไรด้วยตัวเองก็เป็นเรื่องยาก เพราะต้องงมไปกับเนื้อหาโดยขาดหลักที่จะจัดระเบียบข้อมูล เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ตนเอง

เรียนมหาวิทยาลัยแล้ว ยังสามารถเรียนด้วยตนเองต่อไปได้จึงหายาก ใครทำได้ (เช่น คุณจิตร ภูมิศักดิ์ หรือ ศาสตราจารย์สุธิวงศ์ พงษ์ไพบูลย์) ก็ต้องยกย่องเป็นพิเศษ

เพราะไม่รู้ว่าเอาเรี่ยวแรงและสมองที่ไหนมาฟันฝ่าออกไปจากกะลาที่ครอบอยู่ได้

 

(มีต่อ ... ตอนหน้า)

 

.......................................................................................................................................

 

ผมขอตัดตอนตรงช่วงนี้นะครับ ... ขอให้ติดตามอ่านต่อไปในตอนหน้า

ถึงตรงนี้ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรบ้างครับ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่วงการศึกษา

ขอบคุณครับ :)

 

.......................................................................................................................................

แหล่งอ้างอิง

นิธิ เอียวศรีวงศ์.  "สังคมอุดมศึกษา", มติชนสุดสัปดาห์.  29, 1489 (27 ก.พ. - 5 มี.ค.52) : หน้า 33.

หมายเลขบันทึก: 247308เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2009 17:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

แอบมาอ่านก่อนนะครับ เดี๋ยวมาใหม่ อิอิๆๆ

สวัสดีคะ ตามท่านพี่มาคะ..มาเป็นกำลังใจคะ

ขอบคุณ ท่านอาจารย์ ขจิต ฝอยทอง ที่เข้ามาติดตามอ่าน :)

ขอบคุณ คุณ "เอื้อง...แสงเดือน" ที่แวะมาให้กำลังใจอาจารย์ ขจิต ฝอยทอง อิ อิ (....)

ทำำอย่างไรจึงจะเป็น"สังคมอุดมปัญญา" ครับ

"สังคมอุดมปัญญา" สร้างด้วยจิตสำนึกของคนทุกคนในประเทศนี้ ครับ ท่าน ผอ. บวร :)

เรียนเชิญท่านไปอ่านบันทึก มนุษย์ คือ ผู้ทำลายโลกด้วยน้ำมือของมนุษย์เอง (ด้วยความสะเทือนใจ)

ท่านคิดว่า อุดมปัญญาหรือไม่ครับ ?

และเมื่อไหร่กันครับ เมื่อไหร่ ...

สวัสดีค่ะ แวะมาอ่านค่ะ

ถ้าการหัดกินข้าวด้วยช้อนแทนการป้อนของเด็ก เริ่มต้นที่ อายุ ขวบ สองขวบ

การให้เด็กหัดกินความรู้ด้วยตนเอง ก้งต้องเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นๆ ละกระมังคะ

แต่จะว่าไป...

มองไปมองมาก็วนมาที่เดิม..ที่คำว่าระบบและสังคม โอ้วว ม่ายยน้าาาา

สบายดีนะคะ

อากาศร้อน อย่าร้อนตามอากาศนะคะ อิอิ

  • การเปลี่ยนแปลงการศึกษาของบ้านเราในความเห็นของผมเห็นว่าเส้นทางยังอยู่อีกยาวไกลนัก แม้ไม่ถึงกับสิ้นหวัง แต่ก็ยังไม่สามารถกำหนดหลักหมุดอะไรได้อย่างมั่นอกมั่นใจ
  • จากการสังเกตของผมเอง เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงการศึกษาของชาติต้องเริ่มที่บ้าน ไม่ใช่ที่โรงเรียน ต้องเริ่มที่คนเป็นพ่อ เป็นแม่ ไม่ใช่ที่ครู
  • ดังที่อาจารย์ นิธิว่า วิธีคิด น่ะสำคัญ ผมเห็นว่าคนจะเรียนรู้วิธีคิดได้ยากถ้าขาด 2 ประการสำคัญนี้
       -ไม่ได้ถูกปลูกฝังให้มีนิสัยชอบคิด และใฝ่รู้

       - สมองในส่วนของการคิดไม่ได้
     รับการพัฒนาเท่าที่ควร
         ทั้งสองประการนี้เด็กจะได้จาก
     บ้านมากกว่าโรงเรียน

  • ผมเองอยากจะคิด ๆๆๆๆๆๆๆ แต่มันคิดไม่ออกอ่ะ จะให้ทำไงล่ะ
  • ในบ้านเมืองเรา ก็มีคนแบบเรา ๆ  หรือบางทีแย่กว่าเราก็มี เป็นครูอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองไปหมด ไปนั่งอยู่ในกระทรวงก็เยอะ เปลี่ยนแปลงก็ยาก หลายคนไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงด้วยซ้ำ
  • ผมเชื่อว่าเริ่มที่บ้าน และที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ นะดีกว่า แต่จะเริ่มอย่างไรยังคิดไม่ออกเหมือนกัน

                                    paaoobtong
                                       9/3/52
                                        20:53

      

สวัสดีครับ น้องอาจารย์ หัวใจติดปีก :)

วันนี้เปิด SUMMER เป็นวันแรกครับ ... อากาศยังร้อนเหมือนเดิม + ควันพิษกล่อมให้เป็นโรคได้มากมาย

"ระบบและสังคม" ก็ต้องเริ่มจากตัวเราเอง วิธีคิดของเราเอง ก่อนครับ

สู้ สู้ พี่เป็นกำลังใจให้เสมอนะ :)

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์ paaoobtong :)

ตราบใดที่เรายังเหลือความหวัง การศึกษาบ้านเราคงมีโอกาสรอดครับ

แต่เจ็บปวดกับคนที่เรียกตัวเองว่า "นักการศึกษา" แต่ทำอะไรไร้เหตุผล คิดทำตามตัวอย่างประเทศโน้นที ประเทศนั้นที แต่หามีแววในตาไม่ น่าหนักใจครับ

"ครอบครัว" เป็นจุดเริ่มต้นของความรู้และการพัฒนาคน จริง ๆ ครับ

ขอบคุณอาจารย์ที่แวะมาแลกเปลี่ยนครับ ยังเหลือบันทึกนี้อีก 2 ตอน ครับ อาจารย์อย่าลืมติดตามต่อนะครับ :)

การฝ่านอกกรอบ ของมหาวิทยาลัยเก่าแก่ และมีมาเดิม ยากครับ ผมพยายามทำอยู่เรื่อยๆ ก็ต้องทำต่อไป ^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท