รู้จักตนเอง สร้างการมีส่วนร่วม สู่วิถีพอเพียง


พึ่งตนเองก่อน

                                               

                                             6

    หนังสือเศรษฐกิจพอเพียง ชุดถอดบทเรียนเล่มเล็ก เล่มที่ ๓ นี้ชื่อ รู้จักตนเอง สร้างการมีส่วนร่วม..สู่วิถีพอเพียงของโรงเรียนบ้านคูเมือง จ.อุบลราชธานี ซึ่งจัดทำโดย สรส.ด้วยความสนับสนุนของ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งดิฉันขอนำมาสรุป เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ที่น่าสนใจ...น่าเรียนรู้..ในอีกแง่มุมหนึ่งของการสร้างความเข้มแข็งแก่ตนเอง..และเจือจานสู่ผู้อื่นตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง...

    วิสัยทัศน์ ที่สะท้อนแนวปฎิบัติได้จริงๆของโรงเรียน คือ

 

        * จัดการศึกษาให้โรงเรียนน่าอยู่ ดูสวยงาม

 

        * คำนึงความแตกต่างของผู้เรียนเป็นสำคัญ

 

        * เน้นความดีงาม ความสุขที่ยั่งยืน และองค์กรแห่งการเรียนรู้

 

        * ส่งเสริมกิจกรรมวิถีชีวิตที่ดี มีจิตสาธารณะ

 

        * รู้จักแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง เพื่อส่งเสริมการคิดสังเคราะห์ คิดวิเคราะห์และสร้างสรรค์

 

        * นำสื่อเทคโนโลยี่ นวัตกรรม ภูมิปัญญา ศิลปะ วัฒนธรรมท้องถิ่น และทุนทางสังคมของชุมชุน มาหล่อหลอม ทำให้ผู้เรียนสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างภาคภูมิ

 

     ยุทธศาสตร์ การขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ข้างต้น คือ

 

        * ผสานพลังชุมชน

 

        * ขับเคลื่อนกลไกครู

 

        * พัฒนาการเรียนรู้

 

        * มุ่งสู่มาตรฐาน

 

     ภาพตัวอย่างชีวิตของนักเรียน ที่เคลื่อนไหวอยู่ตรงหน้าของคณะผู้ทอดบทเรียนของเราที่ได้เข้าไปสังเกตการณ์ที่โรงเรียนในเช้าวันหนึ่งเมื่อใกล้เวลา ๘.๐๐น. โดยมิได้นัดหมายล่วงหน้า คือ

 

      กลุ่มนักเรียนกำลังทำความสะอาดโรงเรียนคนละไม้คนละมือใกล้จะเสร็จเรียบร้อย แล้วจึงตั้งวงคุยกันอย่างสงบ ไม่ส่งเสียงเอะอะอึกทึก  หลังจากเคารพธงชาติ ก่อนเข้าชั้นเรียนตามปกติ นักเรียนทุกคนต่างถือวัสดุอุปกรณ์ สำหรับงานประดิษฐ์ เช่น การสานตะกร้า ถักหมวก ทำไม้กวาด การปักผ้าครอสติช งานวาดรูป การทำกระดาษทิซชู่จากลูกปัด เป็นต้น แยกย้ายกันเดินเข้ากลุ่มแต่ละงานประดิษฐ์ เพื่อทำงานต่อจากที่ค้างไว้อย่างตั้งอกตั้งใจไม่พูดคุยกันแต่อย่างใด...ชวนให้แปลกใจว่า ความเงียบที่ปกคลุมทั่วทั้งบริเวณโรงเรียนเช่นนี้ เกิดจากอะไร ??..ผิดวิสัยสังคมวัยรุ่น..วัยเรียน..คงต้องติดตามไปดู..ให้รู้แน่ชัด...

 

      คณะครูได้เข้ามาให้การต้อนรับ เมื่อทราบความประสงค์ในการเข้าเยี่ยม จึงพาไปพบ ผอ.โกวิทย์ บุญเฉลียว ซึ่งได้ชี้แจงแนวทางการบริหารโรงเรียนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างน่าสนใจ ว่า...

 

       จากเดิมที่ ปัญหาใหญ่ๆของโรงเรียน คือ โรงเรียนมีสภาพทรุดโทรม ไม่มีร่มไม้ใบบังที่ร่มรื่น พฤติกรรมของนักเรียนไม่มีความเป็นระเบียบวินัย นิยมสักลวดลายบนผิวหนัง ปล่อยผมยาว เจาะหู หนีเรียน เป็นต้น ซึ่งเป็นปัญหาร่วมของโรงเรียน "ขยายโอกาส" ทั่วๆไป

 

      ต่อมาโรงเรียน จึงวางแนวทางการแก้ปัญหาของโรงเรียนบนทรัพยากรที่มีอยู่ ด้วย การพึ่งตนเองก่อน ทำงานบนความขาดแคลน คิดหาวิธีแก้ปัญหาด้วยทุนที่โรงเรียนมีอยู่ เป็นสำคัญ ..

 

       สำหรับเครื่องมือหนึ่งที่นำมาแก้ไขปัญหาคือ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วม ดังนี้

 

            * ครูร่วมสรุปปัญหาที่มีอยู่ทั้งหมด

 

            * กำหนดคณะครูผู้รับผิดชอบเพื่อแก้ปัญหาแต่ละเรื่อง

 

            * จัดแกนนำนักเรียน เพื่อรับฟังปัญหาทั้งหมด

 

            * ประชุมผู้ปกครอง เพื่อรับฟังข้อคิดเห็นและความต้องการของผู้ปกครอง

 

            * สรุปข้อคิดเห็นต่างๆให้คณะครูร่วมกันดำเนินการแก้ไขปัญหาโดยยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางของในการแก้ไขปัญหา

 

       จากนัยข้างต้น ขอยกกรณีของการทำงานโดยยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลางของการแก้ไขปัญหา เช่น 

 

               - ปัญหาเรื่องนักเรียนมีอการเป็นลมเป็นจำนวนมาก และมักหนีการเข้าแถวเคารพธงชาติกลางแจ้งแดดร้อนจัด.. เมื่อคณะครูสำรวจปัญหาและประชุมกันตกลงตามที่ นักเรียนขอไปเข้าแถวหน้าชั้นเรียนที่มีร่มเงาของหลังคา โดยจัดแกนนำนักเรียนในการควบคุมความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ให้ครูต้องหนักใจดุว่ากล่าวแต่อย่างใด ทำให้นักเรียนมีความสุข และเข้าแถวเคารพธงชาติอย่างพร้อมเพรียง

 

               - ปัญหานักเรียนขาดสมาธิในการเรียนและการทำกิจกรรม  โรงเรียนได้เข้าร่วมเป็นเครือข่ายวิถีพุทธ ซึ่งมีกิจกรรมหลังเคารพธงชาติ คือ การเน้นให้นักเรียนมีสมาธิ จิตใจอ่อนโยน ปฏิบัติศีล ๕ โดยในเบื้องต้น ให้นักเรียนนั่งสมาธิก่อนเข้าชั้นเรียน ช่วงแรกๆ นักเรียนให้ความร่วมมือดี แต่ต่อมา เริ่มเล่นส่งเสียงดัง ไม่นั่งสมาธิ เพราะบรรยากาศสิ่งแวดล้อมไม่อำนวย  คณะครูที่จึงสำรวจความเห็นนักเรียนว่า หากไม่นั่งสมาธิ อยากจะทำอะไร ? ผลที่ออกมาคือ นักเรียนอยากทำงานประดิษฐ์ต่างๆ ซึ่งตามวิถีพุทธที่ได้รับทราบมาคือ สมาธิคือการมีจิตใจจดจ่อต่อเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การอ่านหนังสือ เป็นต้น ซึ่งเป็นอุบายหนึ่งในการทำให้เกิดสมาธิได้เป็นอย่างดี ดังนั้นกิจกรรมการทำงานประดิษฐ์ก่อนเข้าชั้นเรียนอย่างมุ่งมั่นตั้งใจจึงเกิดขึ้น เป็น การทำสมาธิโดยไม่ต้องหลับตา หลังจากงานประดิษฐ์เสร็จ นักเรียนจะจัดทำรายงาน เพื่อสังเคราะห์ผลงาน ทบทวนและสำรวจตนเอง ก่อนส่งครู เปิดโอกาสให้ครูให้ความสนใจต่อนักเรียนเป็นรายบุคคลมากขึ้น และปรับพฤติกรรมครูที่เคยแต่เป็นผู้สั่งนักเรียนให้ทำโน่นทำนี่ เป็นให้ความเป็นอิสระแก่นักเรียนในการคิด ทำ ด้วยตนเองเกิดเป็นความศรัทธา รักใคร่ เชื่อถือต่อกันมากยิ่งขึ้น ...

 

       โรงเรียนคูเมือง...สถานศึกษาพอเพียง

 

            หลังจากปี ๒๕๔๗ โรงเรียนได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่คณะครูได้เข้าไปอบรมหลายครั้งจนมีความเข้าใจชัดเจน ตามกระบวนการขับเคลื่อนของโครงการวิจัยเศรษฐกิจพอเพียง สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ธนาคารไทยพาณิชย์และเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งการบูรณาการเข้ากับการจัดการเรียนการสอนสู่สาระทุกหมวดวิชา และการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้สอดคล้องและเอื้อต่อวิถีชีวิตของนักเรียนอย่างกลมกลืน

 

           ตัวอย่างหนึ่งของ การใช้หลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการบริหารโรงเรียนที่ประสานกับชุมชน เช่น ในกรณีการขาดแคลนบุคลากรครู  โรงเรียนได้เชิญ ครูปราชญ์ท้องถิ่นในเขตบริการของโรงเรียน มาให้ความรู้แก่นักเรียนในด้านต่างๆ เพื่อสืบทอดภูมิปัญญาและวัฒนธรรมพื้นบ้าน และก่อให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียว มิตรไมตรีระหว่างคนต่างวัย และเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างโรงเรียนและชุมชนอย่างแน่นแฟ้นยั่งยืนอีกด้วย..

 

      เฮือน..พอเพียง

 

          โรงเรียนได้จำลองวิถีชีวิตแห่งความพอเพียง โดยตั้งชื่อว่า " เฮือนพอเพียง " ซึ่งเกิดจากการมีส่วนร่วมของคณะครูและนักเรียน เป็นการต่อยอดการเรียนการสอนในห้องเรียนที่ได้เรียนรู้ทางทฤษฏี ลงสู่การปฏิบัตินอกห้องเรียนอย่างเป็นรูปธรรม

 

           ภายในพื้นที่ "เฮือนพอเพียง" ประกอบด้วยบ้านที่ปลูกสร้างบนความพอเพียงด้วยวัสดุในท้องถิ่น มีแปลงผักสวนครัวรั้วกินได้ บ่อเลี้ยงปลาดุก โรงเลี้ยงไก่ และคอกหมูเป็นต้น ซึ่งเป็นการจำลองชีวิตที่เรียบง่าย พึ่งตนเอง เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ และสัมผัสกับรูปแบบการดำเนินชีวิตตามวิถีพอเพียง ช่วยให้นักเรียนได้คิดวิเคราะห์ในการนำไปประยุกต์ใช้ และขยายผลในครอบครัวตนเอง

 

      ถังรองน้ำ..สร้างนิสัยประหยัด

 

         โรงเรียนนี้ จะมี ถังสีดำรองน้ำ ที่นักเรียนล้างมือ หรือล้างสิ่งของแล้ว มิให้ไหลทิ้งสูญเปล่าลงท่อ หรือลงสู่พื้นดินเฉพาะบริเวณ ซึ่งน้ำเหลือใช้เหล่านี้ สามารถนำไปรดต้นไม้บริเวณอื่นๆได้อีก นับเป็นการใช้น้ำอย่างคุ้มค่าทุกหยดจริงๆ จึงเป็นการสร้างนิสัยประหยัด และช่วยลดค่าน้ำปะปาของโรงเรียนได้มากในแต่ละเดือน

 

      หนึ่งคน..หนึ่งอาชีพ 

 

           โรงเรียนได้สร้างวงจรการฝึกหัดอาชีพแก่นักเรียนตามความสมัครใจ โดยได้ตั้งกองทุนสร้างรายได้ระหว่าเรียนชื่อ " โครงการหนึ่งคน หนึ่งอาชีพ " เพื่อให้นักเรียนที่สนใจเป็นผู้ประกอบการ ได้มีโอกาสกู้เงินไปฝึกหัดเป็นผู้ประกอบการ เพื่อเรียนรู้การค้าขาย รู้จักคิดผลกำไร ขาดทุน โดยมีครูเป็นที่ปรึกษา ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนมาก นับเป็นการเพิ่มทักษะชีวิตอีกทางหนึ่ง...

 

      จัดระบบการเรียนรู้..บนความแตกต่างของผู้เรียน..วิถีพอเพียงของครูผู้สอน

 

          ด้วยความตระหนักของ ผอ.โกวิทย์ฯและคณะครูว่า นักเรียนมีความสามารถในการรับรู้ด้วยรูปแบบและวิธีการที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น การที่เด็กเรียนเก่งหรือไม่เก่งนั้น ไม่ใช่ความบกพร่องเรื่องการรับรู้ หรือเรียนรู้ของตัวเขาเอง แต่ขึ้นอยู่กับครูผู้จัดการเรียนการสอนที่ไม่เอื้ออำนวยต่อความต้องการรับรู้ หรือเรียนรู้ของนักเรียน

 

         ดังนั้น โรงเรียนจึงได้พิจารณาเปลี่ยนรูปแบบการจัดการเรียนการสอนใหม่ อีกทั้งครูต้องเปลี่ยนบทบาทของตนเอง โดยการเตรียมแผนการสอน กิจกรรม รูปแบบ และใบงานที่แตกต่างกัน เพื่อใช้กัยนักเรียนที่มีความต้องารที่แตกต่างกัน ซึ่งถือว่า เป็นความท้าทายในอาชีพครู

 

          กระบวนการเปลี่ยนแปลงตามนัยข้างต้น คณะครูได้คิดวิเคราะห์พฤติกรรมของนักเรียนที่มีความแตกต่างกัน  เช่น

 

                  - กลุ่มนักเรียนที่มีความตั้งใจเรียน ชอบการเรียนที่เป็นวิชาการ ทำการบ้านส่งครูอย่างสม่ำเสมอ พยายามเสาะแสวงหาความรู้ด้วยตนเองและหมั่นซักถามครู

 

                  - กลุ่มนักเรียนที่ไม่ตั้งใจเรียน แต่ชอบทำกิจกรรม ชอบอาสาทำงานให้แก่โรงเรียน

 

         ระบบการสอนแบบเดิมที่ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในกลุ่มนักเรียน เช่น

 

                  รูปแบบการแบ่งห้องเรียนที่ใช้ตัวเลข หรืออักษรเป็นสัญญลักษณ์บ่งบอกประเภทนักเรียน เช่น ห้องที่ ๑ เป็นกลุ่มเด็กเรียนเก่ง ห้องที่ ๒ เป็นกลุ่มเด็กเรียนปานกลาง ห้องที่ ๓ เป็นกลุ่มเด็กเรียนอ่อน เป็นต้น

 

         การเปลี่ยนแปลง..นำมาซึ่งกำลังใจในการเรียน

 

                  คณะครูได้ดำเนินการเปลี่ยนแปลงชื่อห้องเรียนใหม่ที่ก่อให้เกิดความรู้สึกด้านบวก เช่น ห้องจิตเอื้อเฟื้อ ห้องจิตอาสา ห้องจิตสาธารณะ เป็นต้น

 

         น้องปาริชาติ ให้ความเห็นว่า " การแบ่งห้องด้วยสัญญลักษณ์ใหม่ให้ความรู้สึกที่ดี ไม่เน้นความเด่นหรือด้อยทางการเรียน เป็นความเท่าเทียม และให้เกียรติกันมากขึ้น.."

 

           หลังจากจัดสัญญลักษณ์ของห้องเรียนแล้ว คณะครูจะปรับเปลี่ยนรูปแบบการสอนที่ไม่เสียสาระวิชาแต่ละหมวด โดยเน้นไปตามพฤติกรรมของนักเรียนแต่ละห้อง โดยเฉพาะกลุ่มห้องจิตสาธารณะที่ชอบช่วยกิจกรรมโรงเรียนมากกว่านักเรียนห้องอื่น การบันทึกใบงานจากผลความรู้ที่นักเรียนทำได้อย่างมีความสุข จะขยายไปสู่ทักษะการประกอบอาชีพในอนาคตของเด็กเหล่านี้เป็นอย่างมาก...

ปรดอ่านรายละเอียดได้ที่ :

http://www.scbfoundation.com/news_publish_detail.php?cat_id=6&nid=323

 

                                       ---------------------------------

 

                 

หมายเลขบันทึก: 244675เขียนเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2009 17:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีคะ มาขอเรียนรู้ด้วยคนนะคะ

ยินดีมากค่ะหากจะเป็นประโยชน์..

                    nongnarts

แวะมาอ่านด้วยค่ะ จะได้เรียนรู้ค่ะ

ติดตามอ่านเศรษฐกิจพอเพียงของท่านตลอด ดูว่าท่านเข้าใจระบบการศึกษาข้อนข้างมาก ผมเคยตั้งผ้าป่าซื้อคอมพิวเตอร์ให้โรงเรียนที่อยู่ชายแดน ไม่มีคอมพิวตอร์ ไม่มีโรงอาหาร ไม่มีส้วมที่ดีเห็นแล้วสงสาร แต่ด้วยอาชีพอยู่ได้ในสังคมคือพอเพียง

P  ขอบคุณน้อง Berger  และ.. 

 P คุณเหรียญชัย เหรียญชัย มาวงษ์..ที่เห็นประโยชน์ค่ะ

                       nongnarts

 

        
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท