อยู่ได้ไม่ใช้เงิน: จากบ้านไม้แดดเดียวถึงบ้านดิน


“ความเป็นเพื่อน” ยังรักษาไว้เต็มหัวใจ

2547

 

บ้านแดดเดียว   เราเรียนรู้คำนี้จากบ้านวังตอตั้ง ตำบลนางแดด อำเภอหนองบัวแดง  จังหวัดชัยภูมิ เมื่อ 5 ปีก่อน

 

หมู่บ้านแห่งนี้  เป็นหมู่บ้านไทยที่ยากจนมากที่สุดแห่งหนึ่งที่เราเคยพบเจอมา   ความยากจนเห็นได้ง่ายที่สุดด้วยสายตาจากพระอุโบสถของวัดที่มีเพียง เสาปูน เปิดโล่งทั้งสี่ด้าน  หลังคามุงกระเบื้อง  พื้นพระอุโบสถเป็นลานดิน  และพระประธานขนาดเพียงไม่ถึง 1 ฟุตที่วางอยู่บนโต๊ะไม้ หรือ เนินดินเตี้ยๆ เราจำไม่ถนัด   มีพระชรา 1 รูป   พระรูปอื่นไม่อยู่เพราะชาวบ้านยากจน แทบไม่มีใครใส่บาตร

 

บ้านวังตอตั้งเป็นหมู่บ้านค่อนข้างใหม่  แม้ใกล้ต้นน้ำชี แต่ก็แห้งแล้ง  ปลูกข้าวได้ไม่พอกิน  ไม่ต้องพูดถึงว่าจะเหลือขาย    ทรัพยากรที่มีค่ามากที่สุดคือไม้ ซึ่งชาวบ้านต้องเข้าป่าไปตัดมา    ชาวบ้านตัดไม้มาทำฝาบ้าน แล้วทยอยแกะไม้ฝาบ้านออกขาย (จึงเรียกบ้านแดดเดียว)  จนในที่สุดตำรวจต้องเข้ามาตรวจตราเข้มงวด และห้ามชาวบ้านตัดไม้โดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเอาไปทำบ้านหรือทำถ่านฟืน  บ้านชาวบ้านบางคนจึงมีแต่เสา อย่างดีก็มีสังกะสีเป็นฝาเรือน

 

ด้วยวิธีนี้  ชาวบ้านถูกผลักให้ออกไปทำมาหากินนอกพื้นที่  คือไปรับจ้างตัดอ้อยแถวลพบุรี  ผู้คนเป็นแรงงานอพยพ    เมื่อคนไม่อยู่เป็นที่ก็ยากที่กระบวนพัฒนาจะเกิด  ไม่มีการรวมกลุ่มใดๆในพื้นที่

 

2548

ครูตุ๊เข้าร่วมโครงการกับเรา  เธออยู่ในตัวอำเภอแต่มีปณิธานแรงกล้าที่จะช่วยเหลือหมู่บ้านนี้    เราเริ่มหาวิธีการรวมคน   ปลดหนี้ไร่อ้อยแล้วกลับมาอยู่บ้าน ให้ชาวบ้านอยู่ติดถิ่น

 

เราใช้การแลกเปลี่ยนสิ่งของ  ไม่มีอะไรดีขึ้น เพราะไม่มีอะไรให้แลก  ผักหญ้าเป็นอาหารก็พอแลกได้บ้าง แต่ก็ไม่จำเป็น เพราะทุกคนก็หาได้เหมือนๆกัน

 

เราใช้การออม  ไม่มีอะไรดีขึ้น  เพราะชาวบ้านไม่มีเงินติดตัวแม้วันละบาท   สมาชิกหาได้แค่สิบคนก็ใช่จะมีเงินทุกวัน   ครูตุ๊หาเด็กนักเรียนช่วยเดินรับเงินออมตามบ้าน  แต่ก็ไม่ดีขึ้น

 

ครูตุ๊กลับมาตั้งโจทย์ใหม่   ชาวบ้านไม่มีบ้านแล้ว มีเพียงเสาบ้านล้อมสังกะสีเก่าๆ  ทำอย่างไรได้มีบ้านคุ้มหัวนอนเสียก่อน  โชคดีที่เธอมีเพื่อนเป็นเครือข่ายบ้านดิน   มืดอยู่บ้านดินบนเนินเขาที่อำเภอเทพสถิต ที่นี่ก็หมู่บ้านใหม่เกิดขึ้นหลังชาวบ้านถูกอพยพจากกรณีเขื่อนปากมูล   ข้าวไม่พอกินเหมือนกัน   ครูตุ๊จะให้มืดมาช่วยสร้างบ้านดิน   เอาดินที่มีอยู่มาสร้างเป็นบ้านให้ได้อยู่คุ้มแดดคุ้มฝน

 

ครูตุ๊พาชาวบ้านวังตอตั้งไปดูบ้านดินของมืด  ชาวบ้านสนใจบ้านดินเหมือนที่ครูตุ๊คิดไว้   ชาวบ้านวังตอตั้งที่พาไปบ้านดินนั้น มีพ่อสนิทสานไม้กวาดเก่งมาก   เมื่อไปถึงบ้านดิน  พ่อสนิทก็สอนชาวบ้านบ้านดินทำไม้กวาด   มืดตกลงว่าจะลงมาสอนชาวบ้านวังตอตั้งทำบ้านดิน  แลกความรู้ กัน

ครูตุ๊กลับลงมา  พามืดมาสอนสร้างบ้านดิน   มีชาวบ้านสี่ครัวเรือนที่ยินดีใช้การลงแรง  หรือแลกเปลี่ยนแรงงาน  ช่วยกันสร้างบ้านดินหลังที่หนึ่ง  หลังที่สอง หลังที่สาม  และหลังที่สี่  กว่าจะได้บ้านครบสี่หลังก็ใช้เวลาเป็นปี     แต่เจ้าของบ้านและสมาชิกสี่ครัวเรือนนี้ ต่างภูมิอกภูมิใจ    และมีแรงที่จะ ทำงานร่วมกัน ต่อไป

 

ทรัพย์ที่จริงของหมู่บ้านนี้  แท้จริงคือ หงาดเหงื่อแรงงานของทุกคน   

 

2549

โครงการยังดำเนินต่อไป  ตอนพวกเราประชุมเครือข่ายเพื่อนเสี่ยวเกลอ   ครูตุ๊ได้สูตรการทำขนมดอกจอกจากกลุ่มที่โคราช   ได้สูตรการทำยาเหลืองจากกลุ่มที่สระแก้ว   ครูตุ๊จดทุกอย่าง  แล้วมาทดลองให้ชาวบ้านทำทุกอย่าง

 

ชาวบ้านเริ่มมีช่องทางหารายได้เสริม  ทำขนม ทำยา ไว้แลกเปลี่ยนบ้าง  เหลือจำหน่ายบ้าง  สมาชิกเพิ่มจากสี่ครัวเรือนแล้ว

 

แม่ค้าขายไอติมต่างถิ่นมาเห็นบ้านดิน  จะจ้างแรงงานชาวบ้านไปช่วยสร้างให้ตัวเองบ้าง     ครูตุ๊บอกว่า  ไม่เอาเงินแต่จะขอแลกด้วยสูตรทำไอติม     แม่ค้าไม่ตกลง

 

ครูตุ๊เริ่มคิดทำกองบุญข้าวสาร   คิดทำนารวม  คิดทำไร่มันสำปะหลังรวม  คือใช้พื้นที่หนึ่งที่สมาชิกมาทำงานร่วมกัน   ครูตุ๊คิดจะย้ายถาวร ขึ้นมาอยู่กับชาวบ้านวังตอตั้ง  เป็นครูของโรงเรียนในหมู่บ้านไม่ใช่โรงเรียนในอำเภอ    ชาวบ้านจึงช่วยครูตุ๊สร้างบ้านดินให้ครูตุ๊หนึ่งหลัง

 

2550

โครงการปิดแล้ว   ผลสำเร็จไม่มากนักในสายตาคนนอก   แต่เราเองรู้ดีว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญในบางพื้นที่   โดยเฉพาะที่ที่ยากจนที่สุดอย่างบ้านวังตอตั้ง  นั่นคือความสุขที่สุดของคนทำงาน   และการเปลี่ยนแปลงนั้นก็ยังดำเนินต่อไป  เพราะชาวบ้านหาเครื่องมือเจอและมีผู้นำหญิงแกร่งอย่างครูตุ๊

 

...  เครือข่ายเพื่อนเสี่ยวเกลอที่ถูกปรามาสว่า  เป็นเครือข่ายอ่อนแอเหมือนเล่นขายของ ยังขับเคลื่อนด้วยแรงศรัทธาของชาวบ้านเอง    ไม่มีโครงการแล้ว  เหลือเพียงแนวคิดการอยู่ให้ได้ด้วยการช่วยเหลือกัน  ไม่เอาเงินเป็นตัวตั้งต้น   การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของสมาชิกจากหลายจังหวัดยังเกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอทุกสามเดือน  การแก้ปัญหาให้กันและกันยังดำเนินไปได้ทีละเปลาะ ๆ

 

2551

ที่บ้านวังตอตั้ง    สมาชิกกลุ่มขยายเป็น  15  ครัวเรือน บางคนกลับมาอยู่บ้านไม่ไปทำไร่อ้อยแล้ว 

 

ชาวบ้านทำไร่มันรวม ที่ใช้กองทุนเพื่อนเสี่ยวเกลอ  พวกเรามีทุนก็ลงทุน(ไม่มากให้ยืมแบบไม่มีดอกเบี้ย..ตาม concept เรื่องการแลกเปลี่ยน) ชาวบ้านมีแรงก็ลงแรง   หมู่บ้านได้อาคารเอนกประสงค์ที่ชาวบ้านช่วยกันทำจากดินและน้ำพักน้ำแรง    เป็นศูนย์เรียนรู้ที่มีห้องนอนด้วย    ไม่มีหน่วยงานใดมาขึ้นป้าย     แต่นั่นไม่ใช่ปัญหา   ดีเสียด้วยซ้ำ   

 

ครูตุ๊ได้อาจารย์เฉลียวคนเก่งมาร่วมกระบวนการ

 

2552

มกราคม   พวกเราเครือข่ายเพื่อนเสี่ยวเกลอขึ้นมาประชุม ประจำไตรมาส ที่บ้านวังตอตั้ง พวกเราหาทุนค่าเดินทางกันมาเอง จากสงขลา นครศรีธรรมราช  กระบี่  กรุงเทพ  ราชบุรี   โคราช  ขอนแก่น สระแก้ว  ชัยภูมิ  มุกดาหาร   ความเป็นเพื่อน ยังรักษาไว้เต็มหัวใจ 

 

ถนนทางเข้าอาคารเอนกประสงค์มีกล้วยเป็นแถวเป็นแนวออกเครือดก   ข้างอาคารมีหนองน้ำเลี้ยงปลา   มีแปลงผักชีเขียวงาม  อาคารดินเอนกประสงค์นี้เป็นอาคารที่สวยที่สุดในหมู่บ้าน 

....เรานอนหลับบนเสื่อในอาคารบ้านดินอย่างมีความสุข  

 

ตอนเช้าพวกเราทานกล้วยเป็นอาหาร  แล้วไปดูไร่มันที่ใกล้จะเก็บเกี่ยว  แปลงนี้เพื่อนเสี่ยวเกลอช่วยกันลงทุนบวกการลงแรงของชาวบ้าน   

 

 ....ชาวบ้านกำลังจะเลี้ยงหมูหลุมด้วย  เช้าวันนั้นครูเฉลียวทำหน้าที่วิทยากรกระบวนการอย่างคล่องแคล่วเพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจแนวคิดและวางแผนการทำงาน ..... เสร็จแล้วชาวบ้านก็ไปดูการทำไข่เค็มที่สอนโดยครูเพื่อนเสี่ยวเกลอจากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา  และศึกษาเรื่องสมุนไพรจากครูเพื่อนเสี่ยวเกลอจากสระแก้ว

 

กองบุญข้าวสารที่ให้ชาวบ้านหยิบยืมข้าวไปทานร่อยหรอลงไป   ครูตุ๊คิดจะให้นักเรียนช่วยกันทำนาเพื่อเติมข้าวเข้ากองบุญ    แต่ผู้ปกครองไม่เห็นด้วย   ...ทำไมต้องให้นักเรียนมาทำนา....

 

เด็กธรรมศาสตร์ก็ทำนา...  เราบอกครูตุ๊   นักศึกษาสองคนที่เราพามาด้วยพยักหน้าหงึกหงัก  ... เพื่อนเสี่ยวเกลอสาขาธรรมศาสตร์มีสมาชิกเป็นสิบคนแล้ว  พวกเขาช่วยลงทุน  ลงแรง  แม้เรียนจบไปทำงาน ก็แวะเวียนมาร่วมกิจกรรม

 

ปลายพฤษภาคม 2552  เราจะมาบ้านวังตอตั้งอีกครั้ง  พานักศึกษาคนเมืองมาช่วยลงแรงปลูกข้าว   ให้ผู้ปกครองบ้านวังตอตั้งเห็นว่า  การทำนาคืองานสุจริตที่น่าภาคภูมิใจ

 

พวกเราได้ยอดสะเดากับผักชีเป็นเข่งเป็นของฝากกลับบ้าน  ผ่านหน้าวัดที่ไร้ชื่อ...  อุโบสถมีผนังส่วนล่างโบกปูน และลูกกรงล้อมรอบ... ยังไม่ดีอย่างที่จะทำให้ชาวพุทธสบายใจ  แต่ก็ดูดีขึ้นมาก ... บางทีงานต่อไป  เมื่อชาวบ้านพออยู่ดีกินดีขึ้น   เราอาจจะมาบำรุงวัดที่นี่..และใช้วัดเป็นศูนย์รวมของการออม...

 

บ้านวังตอตั้งไปได้ดี  แต่เพื่อนเสี่ยวเกลอยังมีโจทย์ของกลุ่มจะนะให้ต้องช่วยกันต่อ...

หมายเลขบันทึก: 242018เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2009 09:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 13:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

ดอกไม้ของน้ำใจ งดงามมากที่สุด

ขอบคุณมากค่ะ คุณสายธาร

เรื่องราวของบ้านวังตอน่าสนใจมาก รวมถึงวิถีของผู้คนที่ผกผันกับบริบทสังคมด้วย

ได้เรียนรู้ "บ้านแดดเดียว" จริงๆคือ บ้านดินใช่ไหมครับ.. 

สวัสดีครับ อาจารย์

ต้องยอมรับว่าเมนู "บ้านแดดเดียว"

นี่ไม่ธรรมดาจริงๆ ครับ

ปรุงไปปรุงมา ได้เป็น

"เครือข่ายเพื่อนเสี่ยวเกลอ"

ขอบคุณครับเยี่ยมมาก คุณครูตุ๊นักพัฒนาจริงๆ

  • คุณครูตุ๊ เครือข่ายเพื่อนเสี่ยวเกลอ บ้านวังตอตั้ง พิสูจน์แล้วว่า ไม่มีอะไรทำไม่ได้ เปลี่ยนความแห้งแล้งกันดาร อาหารขาดแคลน เป็นความอุดมสมบูรณ์ขึ้นตามลำดับ ใน 5 ปี (2547-2551)

เข้าใจแล้วครับ  มาอ่านอีกรอบ บ้านแดดเดียว คือ บ้านที่เป็นไม้ที่ถูกตัดมาจากป่า และสามารถแกะออกไปขายได้...

ข้อคิดเห็นแรก ใจร้อนไปหน่อยครับ เลยตั้งใจอ่านให้ละเอียด

ขอบคุณอาจารย์มากครับ อ่านบันทึกแล้วเห็นเรื่องราว เห็นวิถีของคนและเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งอดีต และปัจจุบัน ส่วนอนาคตก็ต้องรับมืออีกมาก..

 

ยายธีเคยเห็นบ้านแดดเดียวเหมือนกันแถบทองผาภูมิเมื่อสิบกว่าปีมานี่เขาขายบ้านแดดเดียวดูร่ำรวยกว่าที่ได้อยู่บ้านอิฐบล้อกแถมใช้ไม้แดงเป็นเชื้อเพลิง...ความจนคืออะไร

สวัสดีค่ะคุณจตุพร

ดิฉันเขียนยาวไปหน่อย ขอบคุณที่อดทนอ่านค่ะ :)

คุณณภัทร...เพิ่งเห็นว่ามีเลข ๙ ต่อท้ายค่ะ..

เครือข่ายเพื่อนเสี่ยวเกลอเกิดก่อนครูตุ๊จะเข้าไปทำงานที่บ้านวังตอตั้งค่ะ เป็นเครือข่ายของชาวบ้านที่ทำโครงการร่วมกันกับเราใน 13 จังหวัด..

แต่ความคิดเรื่องเพื่อนเสี่ยวเกลอนั้น ชาวบ้าน 3-4 กลุ่มในภาคใต้กับกรุงเทพฯ เขาคิดกันเองก่อน โครงการช่วยขยายความคิดแล้วเปิดรับสมาชิกเพิ่ม กลุ่มของครูตุ๊เป็นสมาชิกรุ่นสองและเป็นกลุ่มที่ขับเคลื่อนการพัฒนาในพื้นที่ของตัวเองได้เป็นรูปธรรมมากที่สุดค่ะ

ขอบคุณคุณพันคำค่ะ

ความสำเร็จของครูตุ๊คือความมุ่งมั่น เสียสละ และคิดการณ์ที่เป็นรูปธรรมอิงกับความเป็นจริงค่ะ

ตอบคุณพันคำต่อค่ะ

ความสำเร็จของครูตุ๊คือความมุ่งมั่น เสียสละ และคิดการณ์ที่เป็นรูปธรรมอิงกับความเป็นจริง

เครื่องมือสำคัญเมื่อไม่มีเงิน คือ การแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาและการร่วมแรง ใช้ "สมองกับสองมือและรวมใจ" ของหลายๆคนค่ะ

ตอบคุณยายธี

แถวบ้านวังตอตั้ง ต้นทางก็จะเห็นบางบ้านที่มาอยู่ก่อนและพอมีเงิน แต่ก็ไม่ถึงกับร่ำรวย อาจเป็นอย่างที่ยายธีว่า

บ้านที่เราทำงานด้วย อยู่ลึกเข้าไป เห็นความยากจนชัดเจนทั้งสภาพบ้าน อาหารการกิน ที่จริงมีปัญหาสังคมอีกที่ยังไม่ได้พูดถึงค่ะ

สวัสดีคะ อาจารย์ปัทมาวดี

อ่านเรื่องราวแล้วประทับใจ...

ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ตามศักยภาพของชุมชน บนพื้นฐานความพอเพียง...

เป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายร่วมกันพัฒนาหมู่บ้านตามเป้าหมาย เพื่อเป็นต้นแบบให้ "ความยากจน" อื่นได้เห็นและยึดเป็นแนวทางนะคะ

---^.^---

สวัสดีคะอาจารย์ ของคนชนบท

  • อ่านแล้วก็อดคิดไม่ได้
  • คนจนที่วังตอตั้งก็คนไทย คนรวยที่กรุงเทพหรือจังหวัดอื่นๆ ก็คนไทย
  • อดคิดไม่ได้ว่าทำไม การแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะการยืมเงิน(ซึ่งเป็นทุนที่ขาดแคลนมากในบ้านคนจน) ข้ามชุมชนถึงทำระหว่างจังหวัดอื่นๆ ที่มีเงินส่วนเกินในชุมชน ไปยังวังตอตั้ง ไม่ได้
  • อาจต้องใช้สายสัมพันธ์อะไรสักอย่าง ไม่อยากใช้ถึงคำว่า กลไกสังคม เพราะดูจะแข็งไปสำหรับ การยืม
  • หากใช้วิธีการอย่าง หนองสาหร่าย ใช้ความดีค้ำประกัน เงินกู้ และไม่ต้องคิดดอกเบี้ย หรือคิดแต่อัตราต่ำมาก เพราะเขาเป็นคนจน ชุมชนอย่าง หนองสาหร่าย จะทำกับคนนอกพื้นที่ด้วย จะได้มั้ย ทำไม
  • ทำไมสายสัมพันธ์ระหว่าง "เพื่อน" ถึงสามารถยืมกันได้ บางครั้งไม่ได้เงินคืนด้วยซ้ำแต่ยังคบกันอยู่ เพราะเห็นใจกัน แต่ทำไม ชุมชน ถึงทำแบบนี้ไม่ได้
  • ขาดอะไรอยู่สักอย่างรึเปล่า คิดไม่ออกแล้วคะ...

ขอบคุณที่นำมาแลกเปลี่ยน และขอบคุณที่อดทนอ่าน การคิดไปเรื่อยๆ คะ

รัช

กุลนันทน์ พิมพ์กลม

ชอบบ้านวังตอตั้งมาก ไปมาเมื่อเดือนพ.ค.ไปหาแฟนและไปทำบุญจังหัน ทุกเช้า สวยงามและเป็นธรรมชาติมาก ไปส่งแม่แฟนทำนาทุกวัน จึงรู้ว่าน่าอยู่และหายากในเมืองไทยที่จะมีที่สวยงามแบบนี้ ทุกคนในหมู่บ้านก็อัธยาสัยดีไม่รังเกียจว่าเป็นกะเทย ปลื้มมากค่ะ จะต้องไปบ่อยๆ ถึงจะลำบากในการเดินทางแต่ชอบที่ชาวบ้านยังเป็นชนบทและรักษาประเพณีไว้ตลอด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท