การเรียนรู้สู่วีถีชีวิตอย่างบูรณาการที่โรงเรียนบ้านห้วยฟอง


แม้เราจะมีเวลาได้สัมผัสการเรียนรู้สู่วีถีชีวิตอย่างบูรณาการที่โรงเรียนบ้านห้วยฟอง เพียงชั่ววันและคืนเดียวเท่านั้น แต่ช่างเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่ายิ่งของชีวิต และทำให้ผมเกิดความเข้าใจในคำกล่าวที่ว่า “จิตวิญญาณของความเป็นครู” ได้อย่างแจ่มชัดทีเดียว...

            
 
ท่าม
กลาง
อากาศที่หนาวเหน็บ และทิวทัศน์ที่งดงาม บนยอดดอยเทือกเขาหลวงพระบาง  ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำน่าน ที่มีขุนเขาสลับซับซ้อน มีพรมแดนติดกับประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว อันเป็นที่ตั้งของอำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดน่าน ซึ่งเคยเป็นฐานที่มั่นและเขตปลดปล่อยของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเมื่อครั้งอดีต
           คณะของเราลัดเลาะขึ้นมาตามเส้นทางที่คดเคี้ยวและสูงชัน ระยะทางประมาณ  60 กิโลเมตรจากอำเภอปัว จนมาถึงจุดหมายปลายทางคือโรงเรียนบ้านห้วยฟอง  ตำบลขุนน่าน  พอได้สัมผัสกับความงดงามของบรรยากาศบนยอดดอยที่โรงเรียนแห่งนี้ พวกเราต่างหายเหนื่อยเหมือนปลิดทิ้ง  พอเราไปถึงก็ได้รับการต้อนรับจากโรงเรียนด้วยวงโยธวาทิต ตามด้วยการแสดงดนตรีสากล ดนตรีพื้นบ้าน สะล้อ ซอ ปิน และการขับร้องประสานเสียงเของนักเรียนอีกหลายชุด ที่เล่นได้ดีไม่แพ้
วงดนตรีมืออาชีพในพื้นราบ
      โรงเรียนบ้านห้วยฟอง เป็นโรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษา มีนักเรียน 288 คน  เป็นชาวไทยภูเขาเผ่าลัวะทั้งหมด ผู้บริหารโรงเรียน คือผอ.วรวรรณ  แสงศิริโรจน์  ครูทั้งหมดมี 18 คน  ทุกคนพักที่โรงเรียนทั้งหมด เพราะไม่สามารถเดินทางไปกลับที่พื้นราบได้  รวมทั้งที่นี่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์  จึงเหมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก จะติดต่อทางราชการก็ต้องใช้ระบบโทรศัพท์พิเศษและอินเตอร์เน็ตแทน ทุกคนจึงมีสมาธิทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างเต็มที่  โรงเรียนจึงเป็นเสมือนบ้านของทุกคน  ทั้งผู้บริหาร  ครู นักเรียน ต่างเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน  ร่วมกันสร้างกติกาการอยู่ร่วมกัน การเรียนรู้ร่วมกัน จนกลายเป็นวิถีชีวิตตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง
        คณะเราพักค้างคืนที่นี่ จึงมีโอกาสได้สัมผัสกับวิถีชีวิตที่เกิดจากการเรียนรู้อย่างบูรณาการของชาวโรงเรียนบ้านห้วยฟองอย่างเต็มอิ่ม
         ครูสายสุนีย์  ยศอาลัย  ครูผู้ดูแลหอพักนักเรียน เล่าให้ฟังว่า  มีนักเรียนประจำชาย 19 คน  นักเรียนประจำหญิง 17 คนซึ่งเรียกว่าเด็กหอพัก  และนักเรียนไป-กลับ 252 คนซึ่งเรียกว่าเด็กบ้าน การอยู่ประจำหอพักไม่เคยมีปัญหาเรื่องชู้สาว  เพราะครูดูแลใกล้ชิด  สร้างความรู้ ความตระหนักเรื่องเพศศึกษาตลอดเวลา  เช้านักเรียนหอพักจะตื่นตีสี่ครึ่ง ครูกฤต ปัทถาพงษ์ ครูพลศึกษา จะนำนักเรียนออกกำลังกายครึ่งชั่วโมง แล้วแบ่งเวรนักเรียนเป็น 2 กลุ่ม  กลุ่มหนึ่งทำอาหารเลี้ยงเด็กหอพักและเลี้ยงเด็กบ้านมื้อกลางวันทั้งหมด อาหารส่วนใหญ่จะเป็นไข่พะโล้ และผัดผักต่างๆ ซึ่งมาจากผลผลิตการเกษตรของโรงเรียนทั้งหมด ข้าวที่หุง  โรงเรียนซื้อให้ส่วนหนึ่ง เด็กเอามาจากบ้านส่วนหนึ่ง  เด็กบ้านจะนำแต่ข้าวสวยมา ส่วนกับข้าวเด็กหอพักจะทำเผื่อ  อีกกลุ่มหนึ่งจะเป็นเวรรดน้ำต้นไม้ดูแลด้านการเกษตร  ครูทุกคนที่ไม่ได้ดูแลหอพักก็จะตื่นเวลาใกล้เคียงกับเด็กแล้วช่วยกันปรุงอาหารรับประทานกันเอง 
                ประมาณ 7.00 น.เด็กบ้านจะทยอยเดินทางเป็นกลุ่มมาจากหย่อมบ้านของตน ซึ่งมี 3 หย่อม โดยส่วนใหญ่จะตื่นกันตั้งแต่ตี 5 เพราะต้องเดินทางไกล แต่ละหย่อมบ้านจะนัดหมายเวลามารวมตัวกัน ณ จุดใดจุดหนึ่ง แล้วหัวขบวนจะถือธงนำ เดินกันเป็นแถวพอถึงโรงเรียนก็มาปักธงซึ่งทำที่ปักไว้ หน้าเสาธง 4 จุดตามหย่อมบ้าน คือ บ้านห้วยฟอง  บ้านสะจุก  บ้านสะเกี้ยง  และเด็กหอพัก  ถ้าธงหย่อมบ้านไหนยังไม่ได้ปักก็เป็นอันรู้กันว่ายังไม่มา  พอมาถึงโรงเรียนพวกเขาก็จะกุลีกุจอไปทำความสะอาดบริเวณโรงเรียนตามโซนหย่อมบ้านที่แบ่งกันไว้  โดยจะมีแผนกประเมินคอยประเมินผลการทำความสะอาด
         8.00 น.นักเรียนทุกคนเข้าแถวอย่างเป็นระเบียบพร้อมกันหน้าเสาธง  โดยไม่ต้องมีครูคอยบอกคอยเตือน ครูทุกคนก็เข้าร่วมพิธีหน้าเสาธงอย่างเป็นธรรมชาติ  กิจกรรมหน้าเสาธงจะมีนักเรียนเป็นผู้นำทั้งหมด  มีวงโยธวาทิตนำร้องเพลงชาติ  แล้วสวดมนต์  แผ่เมตตา  ร้องเพลงสดุดีมหาราชา  เพลงสหกรณ์ร่วมใจ  เพลงมาร์ชโรงเรียน  แล้วกล่าวคำปฏิญานตน  รายงานการประเมินความสะอาด  ตามด้วยรายการภาษาวันละคำ ซึ่งนักเรียนจะเตรียมแผ่นข้อความมานำเสนอทั้ง 3 ภาษา คือภาษาไทย  ภาษาอังกฤษ และภาษาลัวะ  ท้ายสุดครูจึงเข้ามามีบทบาทในการอบรมนักเรียน แล้วให้นักเรียนทุกคนดื่มนมถั่วเหลืองพระราชทาน   และแยกย้ายเข้าห้องเรียน
       กิจกรรมการเรียนการสอน ภาคเช้าเป็นการเรียนเจาะลึกใน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้  ส่วนภาคบ่ายจะเน้นบูรณาการด้วยการลงมือปฏิบัติจริง ตามฐานต่างๆในแต่ละเรื่อง คือ
      จันทร์             ไก่ไข่  ไก่พื้นเมือง   หมู  เลี้ยงปลาดุก  เกษตรอินทรีย์  ผักสวนครัว  เห็ด
      อังคาร            ดนตรี  กีฬา  พัฒนาสังคม  แนะแนว
      พุธ                  หลักสูตรพฤกษศาสตร์  เพศศึกษา  วิถีชีวิตชาวลัวะ  หลักสูตรภูฟ้า 
                              เศรษฐกิจพอเพียง     ลูกเสือสำรอง  ลูกเสือสามัญ  ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่
      พฤหัสบดี      ตัดผมชาย  ตัดผมหญิง  ทำไม้กวาด  จักสาน  ทำขนม  ทำอาหาร  ชุมนุมดนตรี
                             นาฏศิลป์  ชุมนุมแม่ไม้มวยไทย  แอโรบิก  นักประดิษฐ์น้อย
      ศุกร์               คุณธรรมจริยธรรม  ส่งเสริมประชาธิปไตย
           16.00 น. เลิกเรียน  เด็กบ้านจะต้องไปรดน้ำต้นไม้ ดูแลแปลงเกษตร  เด็กหอพักจะไปดูแลการเลี้ยงไก่  เลี้ยงหมู  และการเพาะเห็ด  เด็กบางคนที่ยังมีปัญหาด้านการเรียนก็ต้องไปซ่อมเสริม  หรือเรียนพิเศษ ตามความต้องการจำเป็น  แล้วจึงรอเดินถือธงกลับบ้านพร้อมกันตามหย่อมบ้าน
          17.00 น. เด็กหอพักจะประกอบอาหารเย็น และเตรียมอาหารสำหรับวันต่อไป  คนใดที่ไม่ได้เป็นเวรทำกับข้าวก็จะไปเล่นกีฬาตามความสนใจ ส่วนคณะครูก็ร่วมกันทำกับข้าวรับประทานกันเองในมื้อเย็น  เวลา 18.00 น.รับประทานอาหารเย็น
         18.00-21.00 น. เด็กหอพักจะมีกิจกรรมทำการบ้าน  ซ้อมดนตรี  ดูข่าวทีวี  ครูเวรอบรม  และเวลา 21.00 น.สวดมนต์เข้านอน
        นี่คือวิถีชีวิตของชาวโรงเรียนบ้านห้วยฟอง ที่ปฏิบัติเช่นนี้มาจนเป็นวัฒนธรรมที่ยั่งยืน  ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก  ความเมตตา  ความห่วงหาเอื้ออาทรต่อกัน  ต่างเคารพให้เกียรติซึ่งกันและกัน  ผูกพันกันดุจเป็นครอบครัวเดียวกัน ช่างเป็นบรรยากาศที่อบอุ่นและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งนัก
       จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่โรงเรียนบ้านห้วยฟอง  จะเป็นโรงเรียนที่ได้รับรางวัลสถานศึกษารางวัลพระราชทาน  ระดับมัธยมศึกษาขนาดเล็ก   ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนดีบนดอย  โรงเรียนต้นแบบการจัดการเรียนรู้วิชาสหกรณ์  โรงเรียนจัดภูมิทัศน์ดีเด่น  โรงเรียนจัดกิจกรรมปศุสัตว์ดีเด่น  โรงเรียนศูนย์ปฐมวัยต้นแบบเครือข่าย  โรงเรียนท้องถิ่นฐานวิทยาศาสตร์  และได้รับการรับรองคุณภาพจากการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา รอบที่ 2 จาก สมศ.ระดับคุณภาพดีและดีมาก
         ครูเจริญชัย  คีรีสัตยกุล  ครูสอนเกษตรและศิลปะฝีมือดี ซึ่งเป็นชาวม้งโดยกำเนิด  เป็นครูที่ผมชื่นชมในภูมิปัญญาด้านเกษตรและศิลปะของท่านเป็นพิเศษ  ท่านทำวิจัยเรื่องการเกษตรในชีวิตจริงมาทั้งชีวิต  มีองค์ความรู้ถ่ายทอดให้เด็กๆมากมาย   เช้าวันรุ่งขึ้นท่านพาผมเดินชมกิจกรรมและผลงานของนักเรียนโดยรอบโรงเรียน พร้อมทั้งแบ่งปันความรู้ทางเกษตรให้แก่ผมหลายเรื่อง   ระหว่างเดินไปตามทางที่ปูด้วยอิฐเป็นลายคล้ายลายจักสาน  ท่านบอกว่านักเรียนช่วยกันปูแล้วเขาพากันชื่นชมผลงานของตัวเองว่าสวยงามมาก
        ครูเจริญชัยเล่าให้ผมฟังตอนหนึ่งว่า 
       
โดยพื้นฐานของชนชาวลัวะจะมีชีวิตที่เรียบง่าย ชอบสบายๆ ไม่ค่อยขยันทำมาหากิน จนมีบางคนเล่าว่า  พอเริ่มอดอยากพวกเขาจะออกไปรับจ้างที่พื้นราบ  พอได้เงินมาก้อนหนึ่งก็หยุดทำงาน กลับมาใช้เงินให้หมดจึงไปทำงานใหม่  ดังนั้นโรงเรียนจึงพยายามปรับเปลี่ยนความเชื่อและการดำรงชีวิตให้ลูกหลานเขาใหม่  ให้ขยัน  อดทน  รักการทำงาน  ซึ่งได้ผลดีทีเดียว  เด็กๆที่นี่ก็น่ารัก  ว่านอนสอนง่าย  เดี๋ยวนี้เราจึงเห็นเด็กรุ่นใหม่ๆของหมู่บ้านมีคุณลักษณะที่ดีขึ้นเรื่อยๆ
         ขณะที่ผมกำลังยืนดูภาพวาดทิวทัศน์ที่ให้ความรู้สึกว่ามีชีวิตชีวาชื่อภาพว่า
สวนคุณภาพ ในผนังอาคารด้านหนึ่ง  ครูเจริญชัยเดินเข้ามาทางด้านหลังผม และอธิบายให้ฟังว่า
      
ผมเป็นคนริเริ่มขึ้นมาเอง โดยทำเค้าโครงภาพไว้  แล้วให้ครูทุกคนในโรงเรียนเข้ามามีส่วนในการวาด  ปล่อยให้เขาวาดกันอย่างอิสระ  พอเริ่มไม่เข้ารูปเข้ารอย  ผมก็จะไปช่วยแก้ไขเติมนิดเติมหน่อยจนภาพออกมาดูดี  ทำให้ครูทุกคนภาคภูมิใจว่าเป็นผลงานของตนเอง
        ครูสมเกียรติ  ดอกพิกุล  เป็นสุดยอดอัจฉริยะครูสอนดนตรีคนหนึ่ง  เรียนจบทางดนตรีศึกษา  แต่มีความสามารถสอนดนตรีได้ทุกประเภท  ทำให้เด็กที่นี่รักดนตรีและการขับร้องเป็นชีวิตจิตใจ   เราได้เห็นฝีมือการกำกับการขับร้องประสานเสียงของนักเรียนในเพลงพระราชนิพนธ์หลายๆเพลง ฟังแล้วไม่ธรรมดาเลย        
      
ครูรัชวุธ  โนเผื่อน  จบปริญญาตรีเกียรตินิยมทางวิทยาศาสตร์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในโครงการโรงเรียนท้องถิ่นฐาน
วิทยาศาสตร์
  พยายามคิดค้นพัฒนาเทคนิคการสอนวิทยาศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญอย่างบูรณาการ  เน้นการคิดวิเคราะห์ผ่านกิจกรรมต่างๆ  ท่านเล่าถึงเทคนิคการสอนเรื่องปริมาตรของพื้นที่  ให้ผมฟังว่า
     
ผมได้แบ่งนักเรียนเป็นกลุ่มๆ  แจกดินน้ำมันกลุ่มละ 1 ก้อน  และเหรียญบาทให้แต่ละกลุ่ม  แล้วให้หาวิธีใส่เหรียญบาทลงในดินน้ำมันให้ได้จำนวนมากที่สุด ที่สามารถนำไปลอยในน้ำได้ไม่จม  ปรากฏว่าแต่ละกลุ่มต่างพยายามใช้หลักวิชาต่างๆ  บ้างก็ลองผิดลองถูก  มีอยู่กลุ่มหนึ่งที่ชนะ สามารถใส่เหรียญบาทลงไปได้ถึง 50 เหรียญแล้วไม่จมน้ำ   จากนั้นผมก็ให้กลุ่มที่ชนะอธิบายวิธีการคิดและวิธีการทำ  แล้วให้นักเรียนคนอื่นๆช่วยกันคิดวิเคราะห์  ก็สรุปได้ถึงความรู้เรื่อง  การจมการลอย  และเรื่องปริมาตรของพื้นที่ในการรับน้ำหนักว่า  ถ้ามีความกว้างและความโค้ง จะรับน้ำหนักได้ 
        ...แม้เราจะมีเวลาได้สัมผัสการเรียนรู้สู่วีถีชีวิตอย่างบูรณาการที่โรงเรียนบ้านห้วยฟอง เพียงชั่ววันและคืนเดียวเท่านั้น  แต่ช่างเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่ายิ่งของชีวิต และทำให้ผมเกิดความเข้าใจในคำกล่าวที่ว่า จิตวิญญาณของความเป็นครู ได้อย่างแจ่มชัดทีเดียว...
                                 *************************************

หมายเลขบันทึก: 242010เขียนเมื่อ 14 กุมภาพันธ์ 2009 07:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ขอบคุณท่านอาจารย์ ที่เป็นครูของครู โดยนำสิ่งดีๆ มาเล่าให้ฟัง อยากเห็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาเพื่อชีวิตและชุมชน เช่นนี้มากๆ

เราคงต้องให้กำลังใจแก่ผู้บริหารและคุณครูที่มีจิตสำนึกความเป็นครูและทุ่มเทเพื่อพัฒนาผู้เรียน ชุมชน เยี่ยงนี้ให้มากๆครับ เพื่อให้คนดีได้มีกำลังใจในการทำงาน

คณะศิษย์ เก่าโรงเรียนห้วยฟอง ป.๖ รุ่นที่ ๓ / ๒๕๔๓

ภูมิใจครับ ที่มีคนชื่นชมโรงเรียนบนดอยของพวกเราชาวลัวะ ผมก็เป็นศิษย์โรงเรียนบ้านห้วยฟองครับ

และพวกเราภูมิใจในสิ่งที่พวกเรามีอยู่โดยไม่ต้องอิจฉา ริษยา อะไรกับคนอื่นที่มีโอกาสดีกว่าพวกเรา

เพราะอย่างน้อยพวกเราเกิดมา ณ ที่แห่งนี้ก็มีคุณธรรมพอที่จะเป็นคนดีของสังคม

ไม่ต้องแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกับใคร ชาวลัวะเป็นชนที่รักความสงบ รักสันติ ไม่ชอบทะเลาะใครก่อน

ทั้งนี้ชาวลัวะรู้ดีว่าควรใช้ชีวิตแบบพอเพียง ชีวิตถึงจะเพียงพอ

คณะศิษย์ เก่าโรงเรียนห้วยฟอง ป.๖ รุ่นที่ ๓ / ๒๕๔๓

ประทับใจกับศิษย์เก่าที่เป็นผู้แทนชาวลัวะ อยากให้คนไทยทั้งประเทศคิดเช่นนี้ รักและภูมิใจในบ้านเกิดเมืองนอนของเรา และช่วยกันพัฒนาถิ่นเกิดให้ก้าวหน้าตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ผมไม่มีวันลืมโรงเรียนแห่งนี้ที่สร้างความประทับใจให้ผมอย่างยิ่ง คงมีโอกาสได้ไปเยี่ยมอีกนะ

ส.สมหมาย รัตนวชิรตระกูล

สวัสดีคับอาจารย์ ผมคนหนึ่งที่เป้นศิษย์เก่าโรงเรียนบ้าน ห้วยฟอง คิดถึงบ้านมากคับอารจารย์กว่าจะได้กัลบบ้านเดือนตุลาคับและคิดถึงอาจารย์ ทีสอนผมประมาณ 15 ที่แล้ว ตอนนี้ก็มีครู มี ที่สอนพวกผมรุ่นแรกคับ ผมขอเป็นกำลังใจให้คูรทุกคน ด้วยรักและศรัทธาครู

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท