เครือข่ายความรู้เพื่อการฟื้นฟูชุมชน (ตอนที่ 1)


ตัวแบบพลวัตที่ใช้เป็นโมเดลในการทำงานฟื้นฟูชุมชนที่ระยอง ที่พยายามแสดงให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างศูนย์ข้อมูล (เวทีการจัดการความรู้ของชุมชน) มหาวิทยาลัยชีวิต และเครือข่ายองค์กรชุมชน ปฏิสัมพันธ์ดังกล่าวจะแสดงให้เห็นว่า พันธมิตรทั้งสามจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของชุมชนได้อย่างไร?

พลวัตเครือข่ายความรู้เพื่อการฟื้นฟูชุมชนของจังหวัดระยอง

“พลวัตเครือข่ายความรู้เพื่อการฟื้นฟูชุมชน” เป็นโมเดลที่ผมจำลองขึ้น  เพื่อเป็นพื้นฐานของระบบคิดในการทำงานครั้งนี้ครับ  โมเดลนี้ผมยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าถูกหรือผิด  แต่หลังจากผมได้ทดลองปฏิบัติแล้ว  ผมคงจะบอกได้ว่า  ผมต้องปรับปรุงอะไรบ้าง  เพื่อให้โมเดลสามารถ simulate real world ได้อย่างถูกต้องครับ  ผมจะยินดีมาก  หากท่านใดจะนำโมเดลไปทดลองใช้  เพื่อจะได้ร่วมกันพัฒนาโมเดลนี้ในโอกาสต่อไปครับ
ในเบื้องต้นผมขออนุญาตให้คำอธิบายโมเดลดังต่อไปนี้ครับ
            “พลวัตเครือข่ายความรู้เพื่อการฟื้นฟูชุมชนของจังหวัดระยอง  เป็นการแสดงให้เห็นพฤติกรรมของระบบ (Systems Behavior) การฟื้นฟูชุมชนของจังหวัดระยอง  โดยการแสดงให้เห็นปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน (Interconnected) ขององค์กรพันธมิตรที่อยู่ในระบบของการฟื้นฟูชุมชน  นอกจากจะแสดงให้เห็นว่าใครมีปฏิสัมพันธ์กับใครแล้ว  ยังจะแสดงให้เห็นว่ามีปฏิสัมพันธ์กันอย่างไร  แล้วเกิดผลย้อนกลับ (Feedback Loop) มาสู่ระบบอย่างไร  ผลย้อนกลับดังกล่าวก่อให้เกิดการเติบโตของระบบการฟื้นฟูชุมขนได้อย่างไร  ดังแสดงในแผนภูมิ “ยิ้ม”
smile model

            จุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูชุมชนนั้นต้องมาจากการย้อนกลับไปมองตัวเอง  เพื่อการรู้จักตัวเองของชุมชน  โดยการจัดทำข้อมูลชุมชนซึ่งอาจมีวิธีการที่แตกต่างกันไปตามความเหมาะสมของแต่ละชุมชน  การจัดทำข้อมูลดังกล่าวที่จะทำให้ศูนย์ข้อมูลมีข้อมูลในจำนวนที่เพียงพอจนเป็นพลังทางปัญญาที่ทำให้ชุมชนรู้จักตัวเอง  เป็นปัญหาของตัวเอง  และกำหนดยุทธศาสตร์การฟื้นฟูชุมชนด้วยตัวเองได้  ถึงขั้นนี้ความต้องการฟื้นฟูชุมชนโดยชุมชนเองจะเกิดขึ้น  แล้วนำไปสู่การรวมกลุ่มกันเพื่อเป็นเครือข่ายความรู้เพื่อการฟื้นฟูชุมชน  เมื่อเครือข่ายรวมตัวกันอย่างเข้มแข็งเพียงพอที่จะขับเคลื่อนกิจกรรมฟื้นฟูชุมชน  ก็จะนำไปสู่พลวัตการเรียนรู้ของชุมชน
            พลวัตการเรียนรู้ของชุมชนเกิดจากการทำกิจกรรมฟื้นฟูร่วมกันของชุมชน  ผลที่เกิดจากการทำกิจกรรม  หากบรรลุเป้าหมายก็จะนำไปสู่ชุมชนเข้มแข็งและพึ่งตนเองได้  แต่ถ้าไม่บรรลุเป้าหมายชุมชนจะเกิดการเรียนรู้ว่า  อะไรเป็นสาเหตุของความล้มเหลวดังกล่าว  ซึ่งจะทำให้เกิดความต้องการเรียนรู้เรื่องการฟื้นฟู  อาจสรุปบทเรียนไปทำกิจกรรมใหม่อีกรอบ  หรือเข้าไปรับการเรียนรู้ในระบบการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยชีวิต  ความรู้ที่เกิดจากการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยชีวิตนอกจากจะเป็นความรู้ที่กลับไปใช้ประโยชน์ในการทำกิจกรรมฟื้นฟูในชุมชนแล้ว  ยังเป็นทุนทางปัญญาของชุมชนที่จะนำไปสะสมไว้ในศูนย์ข้อมูลชุมชนท้องถิ่นเพื่อนำไปสู่ห่วงโซ่การฟื้นฟูชุมชนในรอบต่อไป  ทั้งในชุมชนเดิมและชุมชนอื่น ๆ ในจังหวัดระยองและจังหวัดอื่น ๆ ของไทย
            หัวใจสำคัญของการทำกิจกรรมการฟื้นฟู  มิใช่ขึ้นอยู่กับอยู่ผลที่ได้  หรือการสามารถบรรลุเป้าหมายของการทำกิจกรรม (ในวงวัฏฏะขวามือสุด) แต่อยู่ที่การได้ทำกิจกรรมมากกว่า  ผลที่เกิดจากการได้ทำกิจกรรมฟื้นฟูที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง  ไม่ว่ากิจกรรมจะบรรลุเป้าหมายหรือไม่คือ  “การเรียนรู้ของชุมชน” การเรียนรู้จากความสำเร็จหรือความล้มเหลว  ล้วนเป็นประโยชน์ต่อชุมชนทั้งสิ้นในการไปเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน  การเรียนรู้ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนเสมอไปตราบเท่าที่รัฐไม่เข้าไปแทรกแซงการเรียนรู้โดยการนำ “พันธนาการ” ของรัฐไปสวมให้แก่ชุมชน  เมื่อชุมชนเกิดการเรียนรู้อย่างอิสระ  ชุมชนจะต้องการความช่วยเหลือจากรัฐน้อยลง  ยิ่งรัฐ “อุ้ม” ชุมชนน้อยลงเพียงใด  ชุมชนจะ “แกร่ง” มากขึ้นเท่านั้น  ปัญหาจึงอยู่ที่รัฐเองว่า  ใจกว้างพอที่จะให้อิสรเสรีภาพแก่ชุมชนอย่างจริงใจแค่ไหน  เพราะสาเหตุที่ทำให้ชุมชนไม่เข้มแข็งที่แท้จริง  ไม่ใช่เพราะชุมชนไร้ความสามารถ  แต่เกิดจากการที่มีผู้เอาอำนาจของโครงสร้างทางสังคมไป “สร้างภาพลวงตา” แก่ชุมชน  จนทำให้ชุมชนเชื่อว่าตนเป็นชุมชนที่ไร้ความสามารถจริง ๆ ตะหากเล่า!”

ขอเชิญชมกิจกรรมของศูนย์เรียนรู้มหาวิทยาลัยชีวิตระยองครับ

คำสำคัญ (Tags): #คุณอำนวย
หมายเลขบันทึก: 24101เขียนเมื่อ 16 เมษายน 2006 18:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ขอขอบคุณ คุณสวัสดิ์  พุ้มพวง ที่ให้ความกรุณาเข้าร่วมกับ ชุมชน: ศูนย์รวมความรู้องค์กรพัฒนาเอกชน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท