ภาระงาน...การประเมิน...แนวทางที่ลงตัวได้ยาก


ช่วงนี้เป็นช่วงแห่งการประเมินผลการปฏิบัติงาน เพื่อการพิจารณาเลื่อนขั้นเลื่อนเงินเดือน เราจะได้รับการบอกกล่าวให้กรอกแบบฟอร์มใบประเมินภาระงานของตัวเอง ที่บรรยายลักษณะงานที่ทำ ผลงานที่ทำได้ตามตัวชี้วัด ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ฯลฯ

คนที่วันๆงานที่ทำแทบจะไม่ต้องเกี่ยวข้องอะไรเลยกับเอกสาร สิ่งที่ต้องเขียนในแต่ละวันก็เพียงแค่การเซ็นชื่อตัวเองและลงเวลาทำงาน คนทำแล็บที่วันทั้งวันกว่า 80% ของงานคือการจับหลอดเลือด จับเครื่องมือ เขียนชื่อคนไข้ลงสมุด จดตัวเลข กดแป้นคอมพิวเตอร์ก็เพียงเพื่อการลงผล ลงรหัสตัวเองออกผล คนเดินส่งแล็บ ที่วันๆเดินหลายสิบกิโลไปกลับ หิ้วกล่องใส่หลอดเลือด หิ้วขวดใส่ฉี่ขนาด 2.5 ลิตรวันละหลายๆขวด และอีกหลากหลายงานที่รวมๆกันเป็นคนทำงานของห้องปฏิบัติการทั้งหมด ทุกตำแหน่งงานเหล่านี้จะต้องกรอกแบบฟอร์มเอกสารเพื่อบรรยายงานของตัวเอง ตัวชี้วัดที่บ่งบอกว่าตัวเองทำงานได้ตามเป้าหมาย รายละเอียดว่าทำงานพัฒนาทั้งตัวเองและการงานยังไงบ้าง รวมๆแล้วก็หลายแผ่นอยู่

ครั้งแรกๆที่ได้เห็นแบบฟอร์มแบบนี้ในแต่ละปี จะรู้สึกไม่ชอบใจรูปแบบเอาเสียเลยค่ะ ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องทำให้คนทำงานลำบากลำบนกรอกแบบฟอร์มพวกนี้ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าหลายๆคนทำไม่เป็นเลย คนที่มีคนให้ถาม ให้ช่วยทำก็รอดไป แต่ก็ได้เห็นความลำบากลำบนของอีกหลายๆคนทีเดียว เกิดความรู้สึกว่า ทำไมทุกคนจึงต้องเขียนต้องกรอกเอกสารเหล่านี้เพื่อที่จะให้ได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้นเลื่อนเงินเดือน ไม่มีวิธีการประเมินอื่นใดแล้วหรือที่เหมาะสมกับลักษณะการทำงานในแต่ละรูปแบบ แถมเวลาที่จะต้องใช้เพื่อการกรอกแบบฟอร์มเหล่านี้ให้ครบถ้วน ก็คือเวลาที่จะทำให้การทำงานประจำต้องบกพร่องไป (คิดไปถึงเหล่าบรรดาคุณครูที่เคยได้ยินว่า ถ้าจะให้ก้าวหน้าก็ต้องทำงานเอกสารส่ง ซึ่งแย่งเวลาในการดูแลนักเรียนไปเสียด้วยซ้ำ)

พยายามคิดอยู่เหมือนกันค่ะว่า รูปแบบควรจะเป็นอย่างไร แต่ก็ยังนึกไม่ออก บอกได้แต่ว่า แม้แต่คนเขียนเก่งๆอย่างเราก็ยังไม่รู้สึกอยากเขียนอยากเลื่อนขั้นด้วยวิธีนี้เอาเสียเลย ให้เวลากับแบบฟอร์มนี้น้อยมากๆ โชคดีที่หน่วยเรามีคุณศิริช่วยจัดการเรื่องนี้ ทำให้พวกเราไม่ต้องเสียเวลากับแบบฟอร์มนี้มากจนเกินไป สำหรับตัวเองแล้วคิดว่า เอาเวลาไปทำงานเอกสารอื่นๆอีกมากมายที่เป็นประโยชน์กับหน่วยงานยังจะรู้สึกดีเสียกว่า น่าเห็นใจคนอีกมากมายเป็นอย่างยิ่งที่จำเป็นต้องทำโดยไม่มีทางเลือกใดๆ

หมายเลขบันทึก: 240394เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2009 23:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 07:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีค่ะพี่โอ๋...

เห็นด้วยค่ะ เป็นวัฒนธรรมขององค์กรจนไม่มีผู้ใดหาญกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงแล้วค่ะ

สวัสดีครับ คุณโอ๋

นั่นเป็นเพราะว่าแบบฟอร์มออกแบบเป็น generic & universal แต่งานของเราไม่ใช่น่ะครับ

ผมไม่ทราบเหมือนกันว่าแบบฟอร์มที่ดีกว่านี้ควรจะเป็นเช่นไร แต่เอาเรื่องอื่นที่ใกล้ๆเคียงมาเล่าดีกว่า

เมื่อไม่นานมานี้ ผมกับเพื่อนเคยทำ workshop stake-holder dialogue interview ซึ่งดัดแปลงมาจาก workshop ในหนังสือ Theory U ของ Otto Scharmer เขาบอกว่า งานบางลักษณะเช่นงานบริการสุขภาพ (ในหนังสือเขายกตัวอย่างงานบริการสุขภาพเยอะจริงๆครับ เลยน่าสนใจในกลุ่มกระบวนกร) นั้น บางทีถ้าเราจะวางแผนพัฒนาให้สำเร็จ เราเองอาจจะไม่ qualified ที่จะทำ ชาร์มเมอร์บอกว่า ในขั้นตอนวางแผนนั้น จะต้องเชิญผู้เกี่ยวข้องกับความฝัน (vision) ของเรามาเข้าร่วมฟังกันให่้หมด หรือมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เพราะ "คน" นั่นเองที่จะทำให้งานสำเร็จ ไม่ใช่ระบบ เครื่องมือ สถานที่ หรืออะไร

หลังจากนั้น ให้ "ถาม" คนที่เราต้องทำไปทำงาน ไปเกี่ยวข้องด้่วยว่า "หน่วยงานของเราทำเรื่องอะไร อย่างไร คุณถึงคิดว่าเป็นการประสบความสำเร็จ?"

"ถ้าจะมีอะไรที่ต้องทำก่อน ในสองสามอาทิตย์ข้างหน้านี้ เพื่อเป็นการทำให้เราเข้าใกล้่ความสำเร็จที่ว่า สิ่งนั้นคืออะไร?"

"อะไรคือการที่คุณอยากมีส่วนร่วมในการทำงานของเรา หรือเป็นส่วนหนึ่งของงาน ที่ทำให้คุณภาคภูมิใจและมีความสุข?"

มีคำถามทำนองนี้อีกเป็นชุดๆ ซึ่ง เป็น "คำถามปลายเปิด" เพื่อเชื้อเชิญ ชักชวน ให้ perspective ของ stakeholder ของเราออกมาแลกเปลี่ยน และทราบว่า เขามองเราอย่างไร และเขามองเขาในบทบาทอะไรที่เกี่ยวข่้องกับงาน "ของเรา" โดยที่เราไม่ได้เป็นคนกำหนดให้ทั้งหมด แม้แต่ criteria ว่าหน่วยงานประสบความสำเร็จ เรายังถามเขาเลยว่าเป็นยังไง

ผมคิดว่าถ้าเปิดเวทีที่มีส่วนร่วมเช่นนี้ อาจจะได้แบบการประเมินอีกแบบหนึ่ง

คนเปลก็อาจจะคิดใคร่ครวญว่า จริงๆแล้วงานของเขานั้นที่ทำอยู่ เขาได้มีส่วนร่วมทำให้เกิด outcome อะไรออกมา และ outcome นั้น ก็จะถูกสะท้อนออกมาจากหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องว่ามีความสำคัญเพียงไรแค่ไหน

เจ้าหน้าที่ห้อง lab ที่ไม่ได้สัมผัสอะไรนอกเหนือไปจากหลอดแก้ว สารเคมี เครื่องคอมพิวเตอร์ ก็จะได้มีโอกาสรับฟังว่าจริงๆแล้ว ตนเองอยู่ใน loop ใดของงาน และคุณภาพของงานตัวเอง มีผลต่อภาพรวมอย่างไร ตนเองอยากจะให้งานที่ความหมาย ต้องทำเรื่องอะไร แค่ไหน และเริ่มต้นอย่างไร

จู่ๆจะคึิดเอง เออเอง เอาเองนั้น งานหรือแบบฟอร์มที่ได้ ก็จะไม่ holistic และมองไม่เห็นความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของตนเองกับคนรอบข้าง หรือแม้่แต่องค์กรเลย

ถ้าคนทำงาน connect to the source ตลอดเวลา ทำงานที่มีความหมายต่อตนเองตลอดเวลา เพราะทราบว่าสิ่งที่เราทำ ทำให้เรางดงามขึ้นเพราะเป็นการเสียสละให้เกิดประโยชน์ต่อผู้อื่น เมื่อนั้นงานคุณภาพ จะเป็นงานคุณภาพเพื่อส่วนรวม เพื่อชุมชน เพื่อประเทศไป กำลังใจในการถูกประเมิน จะเป็นแบบผสมผสานทั้งอัตตวิสัยและภาววิสัย

ครูแป๋ม คงจะต้องอยู่ในวังวนของการประเมินแบบเอกสารมาก่อนนี่แน่ๆเลยใช่ไหมคะ น่าเห็นใจจริงๆ จะหาครูที่ไหนที่ทำได้ทั้งสอนและดูแลนักเรียนได้ดี (เมืองไทยน่าจะยากจริงๆในอัตราเด็ก 50 คน/ครู 1 นี่) แล้วก็ต้องทำเรื่องเพิ่มวิทยฐานะให้ตัวเอง สาหัสจริงๆ

ชอบใจที่อ.Phoenix มาเพิ่มเติมจริงๆค่ะ เข้าใจว่าอาจารย์ยังเขียนไม่จบแน่เลย แต่อ่านแล้วเกิดความคิดขึ้นมาจริงๆว่า ถ้าเราสามารถทำให้เวลาประเมินการปฏิบัติงานเป็นเวลา reflect คุณค่าของสิ่งที่ทำได้แบบที่อาจารย์เหมือนจะพูดถึงนี้ได้จะดีมากเลยนะคะ

จำได้ว่าตอนที่ต้องเข้าไปนั่งฟังประกาศเกียรติคุณข้าราชการดีเด่นของมหาวิทยาลัยเรา (เพราะไปรับเข็มทำงานนานด้วย) แล้วเสียดายบรรยากาศที่มหาวิทยาลัยจะได้ทั้งทำให้คนภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองทำ และ inspire คนอื่นๆ แต่กลับทำแบบไม่มีชีวิตชีวา ให้เจ้าตัวยืนกลางเวที มีตัวแทนหน่วยงานมาอ่านความดีความชอบ (แบบเป็นทางการตามตัวหนังสือ) เหมือนประกาศอะไรสักอย่าง เราคนฟัง ฟังแล้วอยากให้เขาแปลงสิ่งที่ประกาศให้เป็นการสื่อสารแบบที่มีชีวิตชีวา เราจะได้ฟังแล้วเกิดพลังไปด้วยบ้าง เพราะหลายๆคนฟังผลงานแล้วน่าทึ่งมากๆ

ที่เล่านี้เพื่อจะบอกว่าระบบเรานี่ ไม่ยอมใส่ชีวิตจิตใจลงไปในการประเมิน การให้คุณค่าคนทำงานกันเลยนะคะ อยากให้มีการเปลี่ยนแปลงจังเลย เราชอบชื่นชมฉาบฉวยกับเรื่องผิวๆกันอยู่เรื่อยนะคะ 

คุณโอ๋ครับ

มิติที่เราขาดการหล่อเลี้ยงไปค่อนข้างเยอะคือมิติด้านอารมณ์นี่เองครับ

จะเป็นเพราะเรา (บอกตัวเอง) ว่าเราเป็นพุทธมามกะ เน้นด้านปัญญา หรืออย่างไรก็ไม่ทราบ แต่ emotional quotient ก็เป็นมิติที่สำคัญที่แยกแยะเราออกจากหุ่นยนต์ เพราะเราสามารถแปลง logic ให้เกิดบูรณาการกับคุณค่าทางนามธรรมต่างๆ (ความดี ความภาคภูมิใจ ความมีเกียรติ ความมีศักดิ์ศรี ความสุข ความหวัง) ได้

งานมอบรางวัลที่คุณโอ๋เล่ามา ถ้าให้คนรับรางวัลเป็นคนสะท้อนว่า เวลาที่ผ่านมาเขา/เธอ รู้สึกอย่างไร เกิดอะไรขึ้นกับตัวเขา และการที่องค์กรตระหนักและให้ความสำคัญกับเขา/เธอนั้น มัน "มีความหมายอย่างไร" บ้าง มันก็จะมีมธุรสารมณ์อีกแบบ

ผมคิดว่าความภาคภูมิใจ ความสุข ศักดิ์ศรีเป็นของปัจเจกบุคคล คนอื่นๆจะชื่นชม ก็ชื่มชมในแบบของตัวเอง ซึ่งอาจจะเหมือนหรือไม่เหมือนของคนที่เป็นเจ้าของก็ได้ การที่มี third party (หรือ forth) มาบอกว่าเราควรจะภาคภูมิใจเรื่องอะไรนั้น ค่อนข้างจะ long shot ไปพอสมควร โอกาสผิดจะสูง หรือออกมาแกนๆไป

ยอมรับว่าสร้างความลำบาก กับคนที่ไม่ชำนาญกับการพิมพ์ แต่สามารถเขียนด้วยลายมือได้

เดิมเคยเบื่อมากๆ กับการเขียนรายงานแบบนี้ แต่เมื่อ 2 ปีที่แล้วเขียนขอตำแหน่งทางวิชาการ ซึ่งต้องเขียนภาระงานย้อนหลัง 3 ปี ก็เลยได้ประจักษ์ว่ามีประโยชน์อย่างมาก เพราะ ไม่งั้นไม่สามารถระลึกอะไรได้เลย

เห็นด้วยเลยค่ะ

แต่ก็เข้าใจที่ต้องเขียนด้วยนะคะ

ก็แหมมม ถ้าไม่มีเอกสารให้ประเมิน คนที่ทำหน้าที่ประเมินก็ทำงานลำบากสินะ

แต่ว่านะ

งานบางงานมันเขียนเป็นตัวหนังสือแล้วมันดูภาระงานน้อยจนน่าใจหายเลยนะคะว่าไหม

แบบว่า อย่างผู้ช่วยที่แล็บนะคะ

รับสิ่งส่งตรวจ แบบว่าถ้าเราเขียนแค่นี้ดูแล้ว เป็นไงคะ งานสบายจังเลย

แต่คนที่ทำงานแล็บน่ะจะรุ้ดีเลย

การรับสิ่งส่งตรวจแล้วต้องโทรไปประสานงานตาม ward แล้ว พยาบาลงี่เง่าใส่น่ะ มันสุด ๆ ขนาดไหน

จริงไหมคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท