การจัดการนวัตกรรมและสารสนเทศ : นวัตกรรมสื่อการเรียนรู้


การจัดการศึกษาด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม

การจัดการศึกษาด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม

1. ความเป็นมา 
          1.1 กรมสามัญศึกษาประสบปัญหาการขาดแคลนครูที่สอนระดับมัธยมศึกษาตลอดมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนที่อยู่บริเวณชายแดน มีนักเรียน 1,000 คน ต่อครู 20 คน ขณะที่ครูมัธยมในอำเภอต่างๆ มี 70-100 คน (วุฒิปริญญาตรีถึงปริญญาโท) ต่อนักเรียน 1,000 คน ในโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดมีครู 185-200 กว่าคน (วุฒิปริญญาตรีถึงปริญญาเอก) ต่อนักเรียน 3,800 คน ถึง 4,000 คน กรมสามัญศึกษาพยายามแก้ไขสถานการณ์ตลอดมา นายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ผู้จัดการโรงเรียนวังไกลกังวลตั้งแต่ปี 2522 และประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ซึ่งให้การสนับสนุนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์จำนวน 35 โรงเรียนทั่วประเทศ ได้หารือประสานงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและอธิบดีกรมสามัญศึกษา ในการถ่ายทอดการเรียนการสอนผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนวังไกลกังวล หัวหิน อันเป็นโรงเรียนราษฎร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้ช่วยพัฒนามาตามลำดับจนเป็นโรงเรียนตัวอย่าง เป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในพระราชพิธีกาญจนาภิเษกเมื่อปี 2539 และเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณแก่โรงเรียนวังไกลกังวลโดยทรงแนะนำให้สอนวิชาชีพ เป็นต้นกำเนิดของวิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล
        
1.2 เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2538 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ประกอบพิธีเปิดการเรียนการสอนการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ออกอากาศเป็นปฐมฤกษ์ มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมมีปลัดกระทรวงศึกษาธิการและหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ เป็นกรรมการบริหาร และมีการเลือกตั้งประธานกรรมการบริหารได้แก่นายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายกิจกรรมพิเศษ
        
1.3 เพื่อแก้ไขการขาดแคลนครูในชนบทข้างต้น มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมดำเนินงานมาแล้วเป็นปีที่ 6 สามารถถ่ายทอดสดหลักสูตรมัธยมศึกษา ขยายเครือข่ายไปยังโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดทั่วประเทศประมาณ 2,700 โรงเรียน โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนอื่นๆ ประมาณ 300 แห่ง รวม 3,000 โรงเรียน มีนักเรียนที่ได้รับพระราชทานการศึกษาจากโรงเรียนวังไกลกังวล ประมาณ 2 ล้านคน สมาชิก UBC อีก 350,000 คน และประเทศเพื่อนบ้าน 4 ประเทศ ได้แก่กัมพูชา ลาว พม่า และเวียตนาม นอกจากการถ่ายทอดสดหลักสูตรมัธยมศึกษาแล้ว สถานีวิทยุโทรทัศน์ฯ วังไกลกังวล ยังทำการถ่ายทอดรายการการศึกษาชุมชน หลักสูตรวิชาชีพของวิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล (ระยะสั้นและปกติ จนถึง ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส) ) สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตวังไกลกังวล และรายการของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในเรื่องเกี่ยวกับรายการต่างๆ และการดำเนินการของสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานคำแนะนำ และพระราชทานรายการชื่อ ศึกษาทัศน์ออกอากาศทุกวัน ยิ่งไปกว่านั้น สถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมวังไกลกังวล ยังเป็นที่ฝึกงานของนักศึกษาปีสุดท้าย และนักศึกษาฝึกหัดจากสถาบันต่างๆ เช่น มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สถาบันราชภัฏต่างๆ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาลัยนานาชาติ ชิลเลอร์ สแตมฟอร์ด หัวหิน

2. หลักการและเหตุผล 
       
 2.1 การสร้างคนหรือที่เรียกกันว่าการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development)โดยการลงทุนในด้านการศึกษาเป็นการพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างแท้จริงที่ยั่งยืน
       
2.2 ตามมติ ครม ที่ นร 0215/ว(ล) 14482 ลว. 1 ธ.ค. 38 เห็นชอบในหลักการโครงการการศึกษาสายสามัญด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม ซึ่งได้เริ่มดำเนินการโดยกรมสามัญศึกษาร่วมมือกับ นายขวัญแก้ว วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายกิจกรรมพิเศษ โดยมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ส่งสัญญาณดาวเทียมเป็นครั้งแรกในวันที่ 5 ธ.ค. 2538 เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ ในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ 50 ปี ได้พระราชทานทุนประเดิม 50 ล้านบาท ที่องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ทูลเกล้าถวายและบริษัท ชินวัตรฯ ทูลเกล้าถวายอีก 20 ล้านบาท เพื่อจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ณ โรงเรียนวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สำหรับงบประมาณดำเนินการในปีงบประมาณ 2539 ได้รับอนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นในวงเงิน 125 ล้านบาท สำหรับปีงบประมาณ 2540 ได้รับเงินอุดหนุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน รวมเป็นงบประมาณค่าใช้จ่ายที่ได้รับทั้งสิ้นตั้งแต่ปี 2539-2544 จำนวน 1,340,083,900 บาท เพื่อติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนในสังกัดกรมสามัญศึกษา 2,668 โรงเรียน เป็นการเฉลิมพระเกียรติในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ
        
 2.3 เพื่อดำเนินโครงการเฉลิมพระเกียรติต่อเนื่องในมหามงคลวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ และเพื่อแก้ไขสถานการณ์ที่มีเด็กอายุ 12 ปี จำนวน 3 ล้านคนที่จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนประถมศึกษาประมาณ 37,000 แห่งทั่วประเทศและไม่สามารถเรียนต่อระดับมัธยมศึกษาได้เพราะไม่มีโรงเรียนมัธยมศึกษาเพียงพอที่จะรองรับและเพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติปฏิรูปการศึกษา ที่ระบุนโยบายของรัฐในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานฟรี 12 ปี ในปีงบประมาณ 2545 สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ และมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม จะร่วมกันดำเนินโครงการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมชั้นมัธยมศึกษาสายสามัญให้แก่โรงเรียนประถมศึกษาในสังกัดคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ชั้น ม.1-3 จำนวน 3,000 โรงเรียนต่อปี เป็นระยะเวลา 10 ปี จนถึง พ.ศ. 2554 และจะได้ทะยอยขยายให้ถึงชั้น ม.4-6 ต่อไป โครงการโรงเรียนประถมศึกษาขยายโอกาสทั่วประเทศโดยใช้วิธีถ่ายทอดหลักสูตรมัธยมศึกษาสายสามัญผ่านดาวเทียม ในภาพรวมอาจแบ่งเป็น

            2.3.1 โครงการขยายโอกาสโรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 30,000 โรงเรียน ปีละ 3,000 โรงเรียน ภายใน 10 ปี ให้มี ม.1- ม.6 แบ่งเป็น 2 ระยะ กล่าวคือ ระยะที่ 1 ม.1-ม.3 และ ระยะที่ 2 ม.4-6 โดยติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมครั้งละ 3 ชั้นเรียน เพื่อประหยัดแรงงานและงบประมาณในการติดตั้ง

            2.3.2 โครงการขยายโอกาสโรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 6,900 โรง ที่สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ ได้ขยายถึง ม.3 แล้วให้ถึง ม.6 ด้วยการใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม

            2.3.3โรงเรียนประถมศึกษาเอกชนที่ขาดทุนทรัพย์และต้องการรับการถ่ายทอดสดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมหลักสูตรมัธยมศึกษา

          2.4 หากจะขยายการศึกษาระดับมัธยมศึกษาให้เพียงพอที่จะรองรับเด็กนักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 12 ปี จำนวน 3 ล้านคน(ข้อมูลจาก อดีต รมว.ศธ.สุขวิช รังสิตพล) ตามเกณฑ์ของกระทรวงศึกษาธิการ ก็คงขยายได้ปีละ 100 โรงเรียน และเพิ่มจำนวนนักเรียนได้เพียงปีละ 10,000 คน จะต้องใช้ระยะเวลาถึง 300 ปี ซึ่งอนาคตของชาติและอนาคตของเยาวชนอายุ 12 ปี ที่จบประถมศึกษาและไม่มีโรงเรียนระดับมัธยมเรียนต่อจะต้องเสี่ยงกับปัญหายาเสพติด และปัญหาสังคมอื่นๆรอบด้าน ทั้งจะเป็นประชาชนที่ด้อยคุณภาพอีกด้วย

          2.5 สำหรับการติดตั้งอุปกรณ์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมที่โรงเรียนประถมศึกษาทั้งหมดพร้อมจะรับการถ่ายทอดสดหลักสูตรมัธยมศึกษาสายสามัญผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนวังไกลกังวลนั้น กองทัพบกยินดีให้ความร่วมมือโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายอีกทั้งมูลนิธิฯสามารถจัดซื้ออุปกรณ์ในราคาที่บริษัทที่ผลิตลดให้ในราคาพิเศษเป็นการเฉลิมพระเกียรติต่อเนื่อง ซึ่งนับว่าเป็นการประหยัดงบประมาณและเวลาในการติดตั้งปีละ 3,000 โรงเรียน เป็นเวลา 10 ปี เพื่อสอดคล้องกับนโยบายการปฎิรูปการศึกษาให้สัมฤทธิ์ผลรวดเร็วยิ่งขึ้น

 3. วัตถุประสงค์

ระยะที่ 1 ปีงบประมาณ 2539-2545

          3.1.เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครู อุปกรณ์ คู่มือและตารางการเรียนการสอน รวมถึงการแก้ปัญหามาตรฐานของสถานศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน โดยเฉพาะเขตเมืองและชนบทห่างไกลจึงได้ติดตั้งอุปกรณ์สัญญาณดาวเทียมให้โรงเรียนมัธยมศึกษาในสังกัดกรมสามัญศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึง 6

ระยะที่ 2 ปีงบประมาณ 2545-2554

          3.2.ขยายการศึกษาระดับประถมศึกษาทั่วประเทศให้ได้รับการศึกษาต่อระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย (ม.1-ม.6)

4. เป้าหมาย

          4.1 ปรับปรุงเครื่องมือเครื่องใช้ของสถานีวิทยุโทรทัศน์ฯ ณ โรงเรียนวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งดำเนินการมาเป็นปีที่ 6แล้ว เครื่องมือเครื่องใช้ครบกำหนดอายุใช้งาน จำเป็นจะต้องรับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามข้อกำหนด

          4.2 ขยายการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมสำหรับชั้นมัธยมศึกษาตั้งแต่ ม.1 ถึง ม.6 ให้ครอบคลุมทุกโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ เป็นการเฉลิมพระเกียรติต่อเนื่อง

          4.3 กำลังดำเนินการขยายการออกอากาศภาคภาษาอังกฤษสำหรับประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับ พระราชทานอุปกรณ์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม เมื่อปี พ.ศ. 2543 และผู้ที่สนใจภาษาอังกฤษ

5. การดำเนินงาน

          5.1 หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการจัดการศึกษาด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียมที่เกี่ยวข้องร่วมกันรับผิดชอบในการดำเนินงาน ดังนี้

             5.1.1. กระทรวงศึกษาธิการ กรมสามัญศึกษาโดยมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมรับผิดชอบในระดับมัธยมศึกษา ถ่ายทอดสดหลักสูตรมัธยมศึกษาสายสามัญผ่านดาวเทียมซึ่งมีการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมให้ ครบทุกโรงเรียนจำนวน 2,668 โรงเรียน โดยติดตั้งชั้นละ 1 ห้องเรียน

             5.1.2. กระทรวงศึกษาธิการ โดยสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติขอความร่วมมือจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในการต่อยอดโรงเรียนประถมศึกษา ให้ขยายเป็น ม.1-ม.3 และม.4-ม.6 โดยใช้วิธีถ่ายทอดสดหลักสูตรมัธยมศึกษาสายสามัญผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน และมูลนิธิฯ จัดส่งคู่มือครูและตารางการเรียนการสอนไปให้โรงเรียนปลายทางล่วงหน้าก่อนเปิดเทอม

                5.1.2.1 โรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 30,000 โรงเรียน ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติยังไม่ได้ขยายโอกาส จะเริ่มใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมสำหรับชั้น ม.1- ม.6 แบ่งเป็น 2 ระยะ กล่าวคือ ระยะที่ 1 ม.1-ม.3 และ ระยะที่ 2 ม.4-ม.6 โดยติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมครั้งละ 3 ชั้นเรียน

                5.1.2.2 โรงเรียนประถมศึกษาขยายโอกาส จำนวน 6,900 โรงเรียน ที่สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติได้ขยายแล้วถึง ม.3 จะใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมขยายให้ถึง ม.6

             5.1.3. กระทรวงศึกษาธิการ โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท) รับผิดชอบในการผลิตหลักสูตรสื่อการเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี จะเริ่มดำเนินการวางแผนอบรมครูและจัดทำโปรแกรม วิธีการ ตลอดจนผลิตหลักสูตร สื่อการเรียนการสอนออกอากาศโดยผ่านระบบการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมให้ครอบคลุมทั่วประเทศ

             5.1.4. หน่วยงานอื่นๆ ที่พร้อมให้ความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนด้านการศึกษา ชุมชน อาทิ วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตวังไกลกังวล มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีในจังหวัดต่างๆ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ฯลฯ

             5.1.5 ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานคำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับการติดตั้งอุปกรณ์การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมที่โรงเรียนปลายทาง เช่น การจัดแสงสว่างภายในห้องเรียน การติดตั้งเครื่องรับโทรทัศน์ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับจำนวนนักเรียน และในตำแหน่งที่เหมาะสมซึ่งจะช่วยลดปัญหาแสงสะท้อนบนจอเครื่องรับโทรทัศน์ได้ รวมทั้งการจัดส่งตารางสอนและคู่มือครูการสอนทางไกลให้ถึงโรงเรียนปลายทางก่อนเปิดเทอมโดยไม่คิดมูลค่า นอกจากนี้ ได้พระราชทานรายการพิเศษชื่อ ศึกษาทัศน์

             5.1.6. หน่วยงานต่างๆ ที่ให้ความร่วมมือและการสนับสนุน

             - กองทัพบก ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการติดตั้งอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมให้กับโรงเรียนปลายทางทั่วประเทศ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ค่าติดตั้ง ค่าขนส่ง ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าพาหนะ

             - องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ให้ความช่วยเหลือไม่คิดค่าบริการโทรศัพท์และ โทรสาร จำนวน 4 เลขหมาย และค่าเช่าสายเคเบิ้ลใยแก้วจากสถานีส่งโรงเรียนวังไกลกังวลหัวหิน ถึงสถานีดาวเทียมภาคพื้นดินที่ลาดหลุมแก้ว 2 ชุด (ทางบก-ทางทะเล) เป็นการโดยเสด็จพระราชกุศล

             - การสื่อสารแห่งประเทศไทย ไม่คิดค่าบริการโทรศัพท์และโทรสารระหว่างประเทศในการติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน วันละ 1 ชั่วโมง สำหรับรายการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมภาคภาษาอังกฤษ

             - การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อำนวยความสะดวกในเรื่องไฟฟ้า

             - กระทรวงศึกษาธิการ จัดครู อาจารย์ ประจำวิชามาร่วมสอนออกอากาศ

             - บริษัทที่ผลิตเครื่องรับสัญญาณดาวเทียม IRD ลดราคาพิเศษเพื่อเฉลิมพระเกียรติต่อเนื่อง

             5.1.7 ในด้านความร่วมมือกับต่างประเทศ มูลนิธิฯ ได้ร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศ องค์การสหประชาชาติ อาทิ UNESCO , FAO , SEAMEO และมหาวิทยาลัยต่างๆ อาทิ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ซึ่งอธิการบดีเป็นประธานโครงการมหาวิทยาลัยเสมือนจริงแห่งลุ่มแม่น้ำโขง ในกรอบของ SEAMEO ซึ่งครอบคลุม 6 ประเทศ ได้แก่ จีน(คุนหมิง) กัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียตนาม เนื่องจากกิจกรรมการดำเนินงานของมูลนิธิฯเป็นที่รู้จักและยอมรับในต่างประเทศ จึงมีผู้แทนจากหน่วยราชการต่างประเทศ เอกอัครราชทูต ผู้แทนสถานทูต ตลอดจนผู้บริหารระดับสูงของเอกชนต่างประเทศมาขอศึกษาดูงานที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ฯ วังไกลกังวล อาทิ ผู้แทน JICA ญี่ปุ่นที่ประจำลาวและกัมพูชา ประธาน Nippon Foundation ประธานบริษัท อาซาฮีกลาส Executive Director ของ Sasakawa Peace Foundation ประเทศญี่ปุ่น และผู้บริหารจากบริษัทมิตซุย บริษัทโซนี่ เอกอัครราชทูตเยอรมนี เอกอัครราชทูตพม่า เอกอัครราชทูตจีน ที่ปรึกษาสถานทูตลาว ผู้แทนสถานทูตญี่ปุ่น และเวียตนาม และสื่อมวลชนต่างประเทศ อาทิ NHK ของญี่ปุ่น และCNN จากสหรัฐอเมริกา ฯลฯ ในส่วนของฝ่ายไทย คณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร และกรรมาธิการการศึกษาและ วัฒนธรรม วุฒิสภา ตลอดจนอดีตนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการและ ผู้บัญชาการทหารบก ได้มาเยี่ยมชมการเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียม ณ โรงเรียนวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน

             5.1.8 มูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมได้รับคำขอและการสนับสนุนจากมูลนิธิ ซาซากาวา (The Sasakawa Peace Foundation) ประเทศญี่ปุ่น ให้จัดการฝึกอบรมด้านทรัพยากรมนุษย์เรื่องการจัดการและเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมให้แก่สี่ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียตนาม ถึง 2 ครั้ง ทั้งระดับผู้บริหารและระดับปฏิบัติการ ในเดือนมกราคมและพฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2543 ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ฯ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

             5.1.9 สถานีวิทยุโทรทัศน์การศึกษาทางไกลของมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม มีรายการทางการศึกษาจำนวน 6 ช่อง คือ ช่อง11 , 12 , 13 , 14 , 15 ,16 ออกอากาศตลอด 24 ชั่วโมง และกำลังดำเนินการจัดช่องออกอากาศอีก 1 ช่อง เป็นรายการภาคภาษาอังกฤษ ในปี พ.ศ. 2545 ให้แก่ประเทศเพื่อนบ้านทั้ง 4 ประเทศ กล่าวคือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียตนาม ที่ได้รับพระราชทานอุปกรณ์การศึกษาทางไกลจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประเทศละ 6 ชุด เมื่อครั้งมาฝึกอบรมที่สถานีวิทยุโทรทัศน์ฯ วังไกลกังวลฯ หัวหิน ในกรณีของเวียตนามนั้นได้รับพระราชทานไปก่อนหน้านี้ ในปี พ.ศ. 2541 6 ชุด ได้นำไปติดตั้งที่ Industrial Technical and Economic Junior College No.1 ณ กรุงฮานอย ส่วนที่ได้รับพระราชทานในปี พ.ศ. 2543 อีก 6 ชุด ได้นำไปติดตั้งที่ Hanoi Open University รวมเป็น 12 ชุด ปรากฎผลว่า ได้นำไปใช้เป็นประโยชน์โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาชุมชน ภาษาต่างประเทศ และศิลปวัฒนธรรม ส่วนลาวได้นำไปติดตั้ง 5 จุด ณ กรมการศึกษานอกโรงเรียน ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน กม.8 โรงเรียนบำรุงวัฒนธรรมกระทรวงภายในหลัก 67 โรงเรียนเด็กกำพร้ากระทรวงภายในหลัก 62 และแผนกศึกษาแขวงบ่อแก้ว ส่วนกัมพูชาและพม่ากำลังดำเนินการ

             5.1.10 ในเดือนมิถุนายน 2544 ศ.ดร.บุญเตียม พิดสะไหม รัฐมนตรีประจำสำนักนายก รัฐมนตรี ประธานสภามหาวิทยาลัยแห่งประเทศลาวและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ

เจ้าหน้าที่กรมสามัญศึกษาลาว ได้มาเยี่ยมชมกิจการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 27 จังหวัดหนองคาย และโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษาซึ่งใช้การเรียนการสอนทางไกลผ่านดาวเทียมหลายโรงเรียน ศ.ดร.บุญเตียม ได้ทดลองติดต่อทางโทรศัพท์กับสถานีวิทยุโทรทัศน์ฯ วังไกลกังวล และร่วมในการประชุมทางโทรทัศน์ (TV Conference) กับโรงเรียนปลายทางที่จังหวัดปัตตานีและจังหวัดศรีสะเกษด้วย

          5.2 ระยะเวลาดำเนินงาน ปี 2545-2554

 6. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

          6.1 เป็นการสร้างอนาคตทางการศึกษาให้แก่เยาวชนของชาติให้มีโอกาสเรียนการศึกษาภาคบังคับขั้นพื้นฐานฟรี 12 ปี ตามพระราชบัญญัติปฏิรูปการศึกษา ในการแก้ไขภาวะการณ์ที่โรงเรียนมัธยมศึกษาไม่เพียงพอที่จะรองรับนักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ขาดแคลนภายใน 10 ปี การใช้การถ่ายทอดสดหลักสูตรมัธยมศึกษาสายสามัญผ่านดาวเทียมเป็นการประหยัดงบประมาณและมีกำหนดเวลาที่แน่ชัด

          6.2 เป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรครูมัธยมศึกษาที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็น สัดส่วนครูต่อนักเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโรงเรียนศึกษาสงเคราะห์ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และโรงเรียนที่อยู่บริเวณชายแดน มีนักเรียน 1,000 คน ต่อครู 20 คน ขณะที่ครูมัธยมในอำเภอต่างๆ มี 70-100 คน (วุฒิปริญญาตรีถึงปริญญาโท) ต่อนักเรียน 1,000 คน ในโรงเรียนมัธยมประจำจังหวัดมีครู 185-200 กว่าคน (วุฒิปริญญาตรีถึงปริญญาเอก) ต่อนักเรียน 3,800 คน ถึง 4,000 กว่าคน

          6.3 เป็นการแก้ปัญหาความขาดแคลนงบประมาณ ครูผู้สอน เครื่องมืออุปกรณ์การเรียนการสอนตลอดจนห้องเรียนให้เพียงพอกับความต้องการ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2544 มีครูลาออกก่อนเกษียณอายุจำนวนประมาณ 40,000 คน งบประมาณก่อสร้างอาคารเรียนถูกตัดมากมาย ถ้าสร้างให้ครบตามเกณฑ์กระทรวงศึกษาธิการ ก็คงต้องใช้ระยะเวลาไม่รู้กี่ปี จากการจัดการเรียนรวม ก็สามารถใช้การเรียนการสอนตามคู่มือและตารางการเรียนการสอนของโรงเรียนวังไกลกังวล ซึ่งมูลนิธิฯ จัดพิมพ์และส่งไปยังโรงเรียนปลายทางโดยไม่คิดมูลค่า

          6.4 การถ่ายทอดสดหลักสูตรมัธยมศึกษาสายสามัญผ่านดาวเทียมจากโรงเรียนวังไกลกังวล ซึ่งเป็นโรงเรียนราษฎร์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นการขยายโอกาสทางการศึกษาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ โดยมีการจัดการเรียนการสอนเนื้อหาวิชาเดียวกัน เวลาเดียวกัน มาตรฐานและคุณภาพเดียวกันระหว่างโรงเรียนในเมืองและโรงเรียนในชนบท

          6.5 การถ่ายทอดรายการการศึกษาชุมชนผ่านดาวเทียมไปถึงระดับตำบล อำเภอ และจังหวัดต่างๆไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรวิชาชีพ (ระยะสั้น ปกติ และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง(ปวส)) ที่วิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวลรับผิดชอบ หรือ หลักสูตรอุดมศึกษาที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตวังไกลกังวล และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชรับผิดชอบสอนออกอากาศ

http://www.prdnorth.in.th/The_King/livestudy.php

หมายเลขบันทึก: 240387เขียนเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2009 22:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 มิถุนายน 2012 09:05 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณที่นำบทความดีๆ มาให้อ่านนะคะ ^_^

https://picasaweb.google.com/trainingcenterthai/IpCamera?authkey=Gv1sRgCKW4lujbl5uUQA#5627135894043967314

เมื่อกล่าวถึง การเรียน การสอนทางไกล ทุกๆท่านนึกถึง การเรียนผ่านระบบดาวเทียม แต่ปัจจุบันเทคโนโลยี การพัฒนาในด้านกล้อง ip camera พัฒนาไปถึงความละเอียดที่สูงสุด เสียงที่ชัดเจน จนสามารถนำมาใช้ในการเรียน การสอน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ถึงระดับสื่อสารแทนระบบวีดีโอคอนฟอเร้นท์ได้อย่างดี แต่ราคาที่ทำระบบไม่ใช้หลักแสน หรือหลักล้าน แค่หลักพัน หลักหมื่นก็สามารถจัดระบบการศึกษาในระบบนี้ได้ และที่สำคัญผู้เรียนสื่อสารได้ทั้งภาพ และเสียง ไม่ต่างกับการเรียนในห้องเรียน

 ผม อ.ประวิทย์ อยากให้ทุกๆท่าน ที่สนใจการเรียนทางไกลได้ดูบทความนี้ เพื่อที่จะได้ทราบว่าปัจจุบัน เทคโนโลยีการเรียน การสอนทางไกล ไม่ใช่เรื่องไกลตัว ทุกๆท่านสามารถทำได้ภายใน 1-2 ชั่วโมงก็สามารถที่จะเผยแพร่ความรู้ตนเองออกไปได้ และเป็นระบบ two way ได้ทั้งภาพและเสียง ด้วยกล้อง ip camera ซึ่งในปัจจุบัน ระบบสื่อสารเป็น 3 G ยิ่งทำให้ระบบนี้เสถียร และมีประสิทธิภาพมากขึ้น(มากกว่าช่วงที่ทำการทดลองในขณะที่วิจัย) ซึ่งบทความนี้ได้ให้ความรู้ ทุกๆท่าน และในช่วงท้าย มีเวป และเบอร์โทรที่ติดต่อได้ เพื่อนำความรู้มาแชร์แบ่งปันกัน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาของประเทศ โดยผู้วิจัยยินดีให้คำปรึกษาในตัวเทคโนโลยีของระบบ และปัจจุบันได้ทำการติดตั้งระบบนี้ให้กับหน่วยงานการศึกษาภาคเอกชน ทำการสอนไปทั่วประเทศโดยไม่มีขีดจำกัด เช่นนำไปสอนกวดวิชาทางไกล นำไปสอนอาชีพทางไกล นำไปสอนวิชาอื่นๆอีกมากมาย(ท่านต้องการ file ฉบับเต็ม ทั้ง word และ powerpoint ติดต่อมาได้นะครับ อีกทั้งมีตำราที่ทำไว้เป็นหนังสือ พร้อม vcd 5 แผ่น ที่ท่านสามารถนำไปปฎิบัติตามได้ทันที ต้องการรายละเอียดสอบถามการทำงานระบบ ติดต่อที่ 081-8241332 หรือ อีเมล์มาถามที่ [email protected] นะครับ ) ดูภาพการเรียน การสอน ทางไกลที่ https://picasaweb.google.com/trainingcenterthai/IpCamera?authkey=Gv1sRgCKW4lujbl5uUQA# ซึ่งปัจจุบันผู้วิจัย ทำการศึกษาในระดับ ปริญญาเอก ในสาขาการจัดการเทคโนโลยี

****************************

 งานวิจัย ประสิทธิภาพ ระบบการเรียน การสอน วิชาชีพระยะสั้น ตามอัธยาศัย ผ่านอินเทอร์เน็ต ด้วยกล้องไอพี คาเมร่า โรงเรียนศูนย์ฝึกวิชาชีพระยะสั้น เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร

******************

ประวิทย์ สุดประเสริฐ บทคัดย่อ การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) มีวัตถุประสงค์เพื่อหาประสิทธิภาพ และผลสัมฤทธิ์ ระบบการเรียนการสอน วิชาชีพระยะสั้นตามอัธยาศัย ผ่านอินเทอร์เน็ต ด้วยกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) โรงเรียนศูนย์ฝึกวิชาชีพระยะสั้น เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่าง ที่ใช้ในงานวิจัยเป็นนักศึกษาที่สมัคร เข้ามาเรียนวิชาชีพระยะสั้น หลักสูตร 3 ชั่วโมง จำนวน 4 วิชา มี 1.วิชาชีพการทำตรายาง 2.การเข้าสันกาวหนังสือ 3.การทำกรอบรูปวิทยาศาสตร์ 4.ช่างทำตัวเงิน ตัวทอง บัตรเชิญงานพิธี ซึ่งกลุ่มตัวอย่างได้มาจากการเลือกแบบ ชั้นภูมิ จำนวน 48 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วยอุปกรณ์ที่ใช้ในการเรียนการสอน ทางไกลด้วย กล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) และแบบทดสอบก่อนเรียน แบบทดสอบระหว่างเรียน และแบบทดสอบหลังเรียน ผลการวิจัย พบว่าว่าประสิทธิภาพ ระบบการเรียน การสอน ผ่านอินเทอร์เน็ตด้วยกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) มีประสิทธิภาพ 83.22/88.75 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ ที่กำหนดคือ 80/80 และมี ผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียน การสอนหลังเรียน ระหว่างกลุ่มควบคุม และกลุ่มทดลอง ผ่านกล้องไอพี คาเมร่า แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ Abstract The aim of this experimental research was to study the effectiveness and achievement of internet-based informal short professional course instruction through IP camera Bangbon Training Center School Bangkok Metropolitan Administration. The sample group included 48 students, who were obtained through stratified random sampling, to attend 3-hour-short training of 4 courses: 1) rubber stamp production 2) adhesive binding 3) science picture frame and 4) invitations printing. The instrument were IP camera devices and pre-test, quiz, and post-test. The findings revealed that the effectiveness of internet-based informal short professional course instruction through IP camera Bangbon Training Center School Bangkok Metropolitan Administration measured 83.22/88.75 higher than the criteria at 80/80. The learning achievement after the experiment between control and experiment group was not different significantly. ความเป็นมา และความสำคัญของปัญหา ในการเรียน การสอน ของโรงเรียนศูนย์ฝึกวิชาชีพระยะสั้น จะมีวิชาชีพ ตามอัธยาศัย ให้ประชาชนที่สนใจ เข้ามาเลือกเรียนได้ 18 วิชาชีพ โดยการเรียนแต่ละวิชาชีพ มีการกำหนดอายุนักเรียน 15 ปีขึ้นไป ไม่จำกัดเพศ และวุฒิการศึกษา โดยแต่ละวิชาที่เรียน จะใช้เวลาเรียน 3 ชั่วโมง ก็สามารถทำงาน หรือนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ ดังนั้นการเดินทางมาเรียน สำหรับผู้ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ในจังหวัดต่างๆ จึงไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย และเวลาที่ต้องเสียไปกับการเดินทาง โดยเฉพาะ ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย เช่นใน 3 จังหวัดภาคใต้ ไม่มีโอกาสเข้ามาห้องเรียนที่โรงเรียนได้ จากข้อมูลของโรงเรียน กลุ่มนักเรียนที่ต้องการความรู้ จะเป็นนักเรียนที่มาจากต่างจังหวัดร้อยละ 60 ทำให้เกิดปัญหากับนักเรียน ที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด ในเรื่องที่พัก โดยนักเรียนบางท่าน ต้องการเรียน 6-7 วิชา ซึ่งต้องใช้เวลาเรียน 2 ถึง 3 วัน (วันละ 2 วิชา) ผู้ที่ถือศาสนา อิสลาม จะมีปัญหาเรื่อง อาหารและการทำพิธีทางศาสนา ทำให้เสียเวลา เสียเงินไปกับการเดินทางจำนวนมาก ถ้ามีการสอน แบบที่ โต้ตอบกันได้ เหมือนในห้องเรียน และเรียนที่บ้านได้ โดยที่ไม่ต้องเดินทางมาเรียน โดยให้ผลการเรียนที่ไม่แตกต่างกัน เสมือนมาเรียนที่โรงเรียนในส่วนกลาง เช่นในกรุงเทพมหานคร (Virtual Classroom) บุญเรือน เนียมหอม(2540) ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ก็จะเป็นประโยชน์มาก กับประชาชนที่ต้องการความรู้ ไปประกอบอาชีพ จึงเป็นสาเหตุ ให้ผู้วิจัยคิดรูปแบบการเรียนรู้แบบทางไกล ที่ไม่ต้องลงทุนจำนวนมาก แต่ต้องสื่อสารกันได้ทั้งภาพ และเสียง และให้ผลการเรียน การสอนไม่แตกต่างกัน จึงเป็นที่มาของระบบการเรียน การสอน โดยใช้กล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) ซึ่งเทคโนโลยีในปัจจุบัน กล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) สามารถสื่อสารผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ในรูปแบบสื่อสารสองทาง (Two Way) คือ เห็นทั้งภาพ และเสียง โต้ตอบกันไปมาได้ (Asynchronous Learning) ทำให้การเรียนการสอน ทางระบบอินเทอร์เน็ต มีความสมบูรณ์แบบ เสมือนนั่งเรียนในห้องเรียนปกติ การเรียน ทางไกลด้วยกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) นักเรียนจะมีการปฎิสัมพันธ์ กับผู้สอนถึงขั้นที่ สามารถสอนปฎิบัติไปได้พร้อมกัน เช่น วิชาอาชีพชุบทอง นักเรียนที่ห่างไกล เช่นจังหวัดเชียงราย นักเรียนสามารถทำตามครูผู้สอนได้ทันที และหากนักเรียนสงสัยในข้อปัญหาใด ขณะที่ทำการเรียน ก็สามารถ สอบถามปัญหานั้นๆ ผ่านไมโครโฟน ของเครื่อง คอมพิวเตอร์ ได้ทันที เหตุผลที่ผู้วิจัย ต้องการทำงานวิจัย ในเชิงทดลองเรื่องนี้ คือต้องการทำให้เห็นว่า เทคโนโลยีในปัจจุบัน สามารถดำเนิน การเรียนการสอนทางไกลในรูปแบบสองทาง ได้ในราคาถูก และมีคุณสมบัติเหมือนระบบ กล้องวีดีโอคอนเฟอเร้นท์ (Video Conference) การเรียน การสอน ในรูปแบบ ของ กล้อง วีดีโอคอนเฟอเร้นท์ (Video Conference) จะมีการลงทุนสูง ระดับหลักแสน ขึ้นไป จนถึง หลักหลายๆล้านบาท และต้องมีการเสียค่าใช้จ่ายต่อเดือนจำนวนมาก ในการเช่าใช้ช่องสัญญาณ เช่นเช่าใช้ช่องสัญญาณระบบไมโครเวฟ ระบบที่ใช้ การเรียน การสอน ด้วย กล้องวีดีโอคอนเฟอเร้นท์ (Video Conference) คือต้องมีนักเทคโนโลยีทางการศึกษา คอยเฝ้าดูแล เตรียมความพร้อมของระบบกล้อง วีดีโอคอนเฟอเร้นท์ (Video Conference) และระบบโปรแกรมในการใช้งาน ทั้งสองด้านคือ ทางด้านผู้สอน และทางด้านนักเรียน ทำให้ต้องสิ้นเปลือง ทรัพยากรบุคคล ที่สำคัญ ถือเป็นจุดด้อยในการศึกษา ที่ใช้ระบบ กล้องวีดีโอคอนเฟอเร้นท์ (Video Conference) คือ นักเรียนทุกคน ต้องมารวมกลุ่มกันที่ศูนย์การเรียนรู้ ที่แต่ละมหาวิทยาลัยจัดไว้ ในแต่ละภูมิภาค (สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(2544) ดังนั้น เมื่อหันมาพัฒนาเทคโนโลยี ที่เป็นนวัตกรรมรูปแบบใหม่ ของการเรียน การสอน ทางไกลด้วยระบบ กล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera)แล้ว ก็จะลดปัญหาทั้งหมดของนักเรียนออกไป โดยค่าใช้จ่าย การวางระบบการเรียน การสอนด้วยกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) อยู่ที่ระดับหลัก 30,000 - 45,000 บาท ก็สามารถ เผยแพร่ความรู้ออกไปได้ ทั้งภาพ และเสียง นักเรียนจะประหยัดค่าใช้จ่ายต่างๆ สามารถนั่งเรียนที่บ้านตนเอง ไม่ต้องเดินทางมาที่ศูนย์การเรียนรู้ นักเรียนสามารถทบทวนบทเรียนได้ตลอดเวลา เพราะข้อมูลที่เรียน สามารถทำสำเนาเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ ผลการวิจัยในครั้งนี้ จะสร้างประโยชน์ให้นักเทคโนโลยีทางการศึกษา ครู – อาจารย์ ที่มีความสนใจ การเรียน การสอนในระบบทางไกล สามารถนำนวัตกรรมรูปแบบการเรียน การสอน ด้วยกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) นี้ ไปใช้ได้ โดยพื้นที่ใดที่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าไปถึง ก็เปิดการเรียน การสอน รูปแบบนี้ได้ทันที การเรียน การสอน ในรูปแบบใหม่นี้ สร้างความรู้ และสร้างอาชีพ ให้กับประชาชน ตลอดจนนำไปใช้ในการเรียน การสอนในหลักสูตรต่างๆ ได้ทุกระดับชั้นเรียน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อระบบการศึกษาของชาติ ในอนาคต เพราะการเรียน การสอน ระบบทางไกล จะไม่มีอุปสรรค ในเรื่องของระยะทาง และเวลาของการเรียน การสอน ทุกคนสามารถเรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา ตามที่ตนเองต้องการ. วัตถุประสงค์ของการวิจัย 1. เพื่อหา ประสิทธิภาพ ระบบการเรียน การสอน ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ด้วยกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) ที่มีประสิทธิภาพ ตาม เกณฑ์ 80/80 2. เพื่อเปรียบเทียบ ผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียน ระหว่างกลุ่มทดลอง ที่เรียนผ่านระบบกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) และกลุ่มควบคุม ที่เรียนในชั้นเรียนปกติ ขอบเขตของการวิจัย 1. ประชากร ที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือนักเรียน ที่อยู่ต่างจังหวัด ได้ลงทะเบียน วิชาชีพ ตามอัธยาศัย จำนวน 240 คน ปีการศึกษา 2553 2. กลุ่มตัวอย่าง ที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้จากการเลือก แบบชั้นภูมิ ( Stratified Samping ) จากนักเรียนที่เข้ามาสมัครเรียนในวิชาชีพระยะสั้น จำนวน 48 คน 3. เนื้อหาที่ใช้สอน ในวิชาชีพตามอัธยาศัย จำนวน 4 วิชา มี 1.วิชาชีพการทำตรายาง 2. การเข้าสันกาวหนังสือ 3. การทำกรอบรูปวิทยาศาสตร์ 4. ช่างทำตัวเงิน ตัวทอง บัตรเชิญงานพิธี โดยวิชาเหล่านี้ เรียนทางไกล วิชาละ 3 ชั่วโมง ใช้เวลาในการเก็บรวบรวมข้อมูล 60 วัน 4. ตัวแปร ที่ศึกษาในการวิจัย ครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 2 ตัวแปรหลัก 4.1. ตัวแปรต้น คือ ระบบการเรียน การสอน แบ่งออกเป็น 4.1.1 ระบบ การเรียน การสอน ผ่านกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) 4.1.2 ระบบการเรียน การสอน ในชั้นเรียนปกติ 4.2. ตัวแปรตาม คือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน แบ่งออกเป็น 4.2.1 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน เมื่อเรียนผ่านระบบ กล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) 4.2.2 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน ในชั้นเรียนปกติ สมมติฐานในการวิจัย 1. ระบบการเรียน การสอน ที่เรียนผ่านกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) มีประสิทธิภาพมากกว่า หรือเท่ากับ เกณฑ์ กำหนด 80/80 2. ผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียน การสอน ระหว่างกลุ่มทดลอง และกลุ่มควบคุม ผ่านระบบกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญ ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย 1.ได้นวัตกรรมการเรียน การสอนระบบทางไกล ในเทคโนโลยีทางการศึกษารูปแบบใหม่ด้วยกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) มีประสิทธิภาพ ในการสอนได้ตามเกณฑ์ มาตราฐาน 2.ได้เผยแพร่ ความรู้ นวัตกรรมการเรียน การสอนระบบทางไกล ในเทคโนโลยี ทาง การศึกษา รูปแบบใหม่ ผ่านกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) ให้กับนักเทคโนโลยีทางการศึกษา และสนับสนุนให้สถาบันการศึกษาต่างๆ นำไปใช้งานสอนทางไกล 3.เป็นการเปิดโอกาส ให้ความรู้และให้ การเรียนตามอัธยาศัยใน วิชาชีพระยะสั้น ผ่าน กล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) ไปสู่นักเรียน ทั่วประเทศ 4.เพื่อสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีทางด้านการเรียน การสอน ทางไกล ในการนำไปสู่ พื้นที่ ซึ่งไม่มีสัญญาณ อินเทอร์เน็ต ด้วยเทคโนโลยี รับสัญญาณ อินเทอร์เน็ตจากดาวเทียม และ การสื่อสาร ระบบ 4.9 G ในอนาคต จะทำให้การเรียน การสอน สามารถรับนักเรียน ต่อกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) ได้มากขึ้น กรอบแนวคิดในการทำวิจัย ประสิทธิภาพ ระบบการเรียนการสอน วิชาชีพระยะสั้น ตามอัธยาศัย ผ่านอินเทอร์เน็ต ด้วยกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) ร.ร.ศูนย์ฝึกวิชาชีพระยะสั้น เขตบางบอนกรุงเทพมหานคร เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ในการวิจัย เป็นการวิจัย เชิงทดลอง เพื่อนำผลที่ได้จากการวิจัยมาใช้ประโยชน์ใน การศึกษา ดังนั้น เครื่องมือ ที่ใช้ในการวิจัย จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. เครื่องมือระบบการสอนทางไกล ประกอบด้วย เครื่องมือที่เป็นระบบ ฮาร์แวร์ (Hardware) ที่ใช้ในการส่งภาพ และเสียง ในการสอน ออกสู่ระบบอินเทอร์เน็ต ประกอบด้วย 1.1 กล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) 1.2 Router 1.3 Speaker 1.4 สายนำสัญญาณ ระบบ อินเทอร์เนต ADSL 1.5 หนังสือคู่มือการติดตั้ง ระบบกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) อุปกรณ์ทั้งหมดนำมาสร้างเป็นเครื่องมือ ในการนำภาพ และเสียง ที่สอนในห้องเรียน ออกสู่ระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ไปสู่กลุ่มทดลองที่อยู่ต่างจังหวัด เป็นการสร้าง เครื่องมือทางด้าน ฮาร์แวร์ (Hardware) ขึ้นมา เพื่อใช้ในการวิจัย เครื่องมือที่เป็นระบบ ซอฟท์แวร์ (Software) ที่ใช้ในการ จัดการกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) เพื่อให้นักเรียนได้เห็นภาพการสอน มีความสมบูรณ์ ทั้งภาพและเสียง ในระบบ สื่อสาร 2 ทาง (Two Way) และการสร้างฉากติดต่อ ส่งผลทดสอบกลับทางเวปบอร์ด (Web Board) 2. แผนการสอน วิชาชีพ ที่ใช้สอนในงานวิจัยนี้ มี 4 อาชีพ คือ ช่างทำตรายาง, อาชีพช่างเข้าสันกาวหนังสืออาชีพช่างทำกรอบรูปวิทยาศาสตร์,อาชีพช่าง ทำตัวเงิน ตัวทอง บัตรเชิญงานพิธี ในแต่ละอาชีพ ประกอบด้วย วัสดุที่ใช้ปฎิบัติจริง แบบแผนบทเรียนตามจุดประสงค์ (Script) และใบเนื้อหา ในวิชาชีพนั้นๆ 3. เครื่องมือที่เป็นแบบทดสอบ เป็นแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ จำนวน 100 ข้อ ในการวิจัยนี้ เป็นการวิจัยเชิงทดลอง เครื่องมือที่เป็นแบบทดสอบ ต้องทำการหาคุณภาพของเครื่องมือ ที่เป็นแบบทดสอบ ให้ตรงกับจุดประสงค์การเรียนรู้ ผู้วิจัยได้ทำการออก แบบทดสอบ ครั้งแรกจำนวน 130 ข้อ ใน 4 วิชา ซึ่งประกอบด้วยวิชา 1.วิชาชีพการทำตรายาง 2.การเข้าสันกาวหนังสือ 3.การทำกรอบรูปวิทยาศาสตร์ 4.ช่างทำตัวเงิน ตัวทอง บัตรเชิญงานพิธี ซึ่งแบบทดสอบ ถูกคัดออก ในขั้นตอนของการหา ดรรชนีความสอดคล้อง (IOC : Item Objective Conguence Index) การหาความยากง่าย อำนาจการจำแนก และความเชื่อมั่น เหลือแบบทดสอบ จำนวน 100 ข้อ การดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล ในการวิจัยครั้งนี้ ใช้แบบแผนการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) ที่มีกลุ่มตัว อย่าง คัดเลือกมาแบบชั้นภูมิ จำนวน 48 คน เป็นนักเรียนที่ ลงทะเบียนเรียนวิชาชีพระยะสั้นของ โรงเรียนศูนย์ฝึกวิชาชีพระยะสั้น ซึ่งเรียนระบบทางไกลผ่านกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัย ได้ดำเนินการทดลอง และเก็บรวบรวมข้อมูล ตามขั้นตอน ดังนี้ การหาประสิทธิภาพ ระบบการเรียนการสอน ผ่านกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) การหาประสิทธิภาพ ระบบการเรียน การสอน ผ่านกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) ผู้วิจัยทำการทดลอง และดำเนินการเก็บข้อมูลเอง โดยผู้เรียนทางบ้านทำแบบทดสอบ ผ่านเวปบอร์ดที่ออกแบบไว้ จากระบบอินเทอร์เน็ต โดยแบบทดสอบ (Pretest) ระหว่างเรียน และหลังเรียน (Posttest) เมื่อเรียนจบทั้ง 4 วิชาชีพ มาวิเคราะห์ หาประสิทธิภาพ การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียน การสอน ระหว่างกลุ่มควบคุม ที่เรียนในชั้นเรียน และกลุ่มทดลอง ที่เรียน ผ่านระบบกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) ผู้วิจัยทำการเก็บข้อมูล นักเรียน ทั้ง 2 กลุ่ม ด้วยตนเอง โดยกลุ่มทดลอง ที่ เรียนผ่านกล้อง ไอพี คาเมร่า (IP Camera) ในแต่ละจังหวัด ที่บ้านตนเอง ให้ทำการตอบแบบสอบถาม ที่มีอยู่ในหน้า Web Board ของโรงเรียน ซึ่งผู้วิจัยได้ออกแบบแบบสอบถามไว้เป็นลำดับขั้นตอน ส่วนผู้ที่เรียนในห้องเรียนปกติ เมื่อทำแบบทดสอบ ผู้วิจัยทำการเก็บข้อมูลที่ทำ และนำผลที่ได้มาทำการวิเคราะห์ หาผลสัมฤทธิ์ ทางการเรียน การสอน สรุปผลการวิจัย จากการวิจัยเรื่องประสิทธิภาพ ระบบการเรียน การสอน วิชาชีพระยะสั้น ตามอัธยาศัย ผ่านอินเทอร์เน็ต ด้วยกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) โรงเรียนศูนย์ฝึกวิชาชีพระยะสั้น เขตบางบอน กรุงเทพมหานคร สรุปผลการวิจัยได้ดังนี้ 1. ระบบการเรียน การสอนผ่านกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) มีประสิทธิภาพตามมาตรฐาน ได้ค่าประสิทธิภาพ เท่ากับ 83.22/88.75 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด คือ 80/80 2 ผลสัมฤทธิ์ การการเรียน การสอนผ่านระบบกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) กับการเรียนในชั้นเรียน แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ คือผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ระหว่างนักเรียนในห้อง และนักเรียนที่เรียนผ่านระบบกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) ไม่มีความแตกต่างกัน คือเรียนทางไกลผ่านระบบกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) ในแต่ละจังหวัด นักเรียนได้ผลสัมฤทธิ์ ในการเรียนรู้ เช่นเดียวกับนักเรียนในชั้นเรียนปกติ ข้อเสนอแนะการวิจัย 1.ข้อเสนอแนะ ในการนำผลการวิจัยไปใช้ จากการที่ได้ทดลองการสอนผ่านระบบกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) นักเรียนที่นั่งอยู่ทางบ้าน มีความพึงพอใจต่อการเรียนแบบนี้มากคือ ไม่ต้องเดินทางมาเรียน นักเรียนทำการต่ออินเทอร์เน็ต โดยใช้รหัสผ่านที่ให้ไว้ นักเรียนสามารถทำการเรียนผ่านอินเทอร์เน็ตได้ทันที ทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทำให้ลดเวลาที่ต้องสูญเสียไปในกรณีต่างๆ เช่น ต้องมาสมัครเรียน ต้องกรอกหลักฐาน ต้องเดินทางมาเรียนทุกวันตามรอบที่กำหนด 1.1 การเรียน ทางไกล ด้วยระบบกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) นักเรียนเสมือนมีห้องเรียนอยู่ที่บ้าน นักเรียนมีปัญหาในการเรียนจุดใด ก็สามารถพูดใส่ไมค์โคโฟนของคอมพิวเตอร์ส่งเสียงสอบถามมาได้ทันที และครูผู้สอนตอบคำถามนั้นๆ ได้ทันที เช่นกัน 1.2 นักเรียนสามารถทบทวนบทเรียน ได้ทันทีเมื่อต้องการดูซ้ำ โดยภาพที่เรียน นักเรียน สามารถทำการเก็บไว้ ตามระบบที่คอมพิวเตอร์มีให้ ทำให้สามารถ ดูการเรียน การสอนซ้ำได้ไม่จำกัดครั้ง 1.3 นักเรียนสะดวกในการค้นคว้าเพิ่มเติม เนื่องจากพอจบบทเรียน นักเรียนต้องการค้นคว้าข้อมูลที่เรียนเพิ่มเติม สามารถทำได้ทันที จากตำราในรูป ebook และ วีดีโอ ในรูปแบบของ e -learning ในเวปไซด์ ของ You Tube โดย Software จะมีคุณสมบัติในการค้นคว้าข้อมูลมาให้พร้อม ด้วยเหตุนี้ ขอเสนอแนะ ครู-อาจารย์ และนักเทคโนโลยีทางการศึกษา ซึ่งดูแลด้านการเรียนการสอน หรือดูแลด้านโสตทัศน์ ได้นำประโยชน์ จากการวิจัยครั้งนี้ ไปใช้ในการสอนทางไกล นำความรู้ออกสู่ภายนอกโรงเรียน วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย โดยใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต มาผสมผสานกับเทคโนโลยีระบบกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) ซึ่งสามารถทำการเรียน การสอน ทางไกล ในราคาถูก แต่มีคุณภาพสูง ผลจากการวิจัยครั้งนี้ ประสิทธิภาพระบบ การเรียน การสอน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้ตามสมมติฐานที่ต้องการคือ ให้ผลการเรียนการสอนที่ ไม่แตกต่าง กับการสอนในห้องปกติ ซึ่งนำไปใช้ในการเรียน การสอน จะมีประโยชน์อย่างมาก ประหยัดงบประมาณการศึกษาทางไกลได้อย่างมาก ผลจากการประหยัด ที่กล่าวมาข้างต้น จะช่วยให้ประชาชนได้ความรู้โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาส เช่นผู้พิการ ได้มีการเรียนรู้ที่บ้านตนเอง อย่างไม่มีขีดจำกัด นับเป็นการเปิดกว้าง ทางการเรียนการสอนทางไกล ในรูปแบบใหม่และเป็นตัวเลือกในการศึกษาทางไกลอีก ช่องทางหนึ่ง ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป ในการวิจัยเชิงทดลองครั้งนี้ แม้ว่าประสบผลทางการเรียน การสอน ได้ตามสมมติฐาน ของวัตถุประสงค์ของการวิจัย แต่มีข้อเสนอแนะ ในการทำวิจัยครั้งต่อไป ดังนี้ 1. ให้ผู้วิจัยท่านต่อไป ทำงานวิจัยในรูปแบบการเรียน การสอนทางไกล ด้วยระบบกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) ดังงานวิจัยฉบับนี้ โดยเน้นการนำไปสอนปฎิบัติ ในระยะเวลาที่มากขึ้น เช่นหลักสูตร 5 วัน 7 วัน หรือ 1 เดือน ขึ้นไป ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงทดลอง ที่แสดงให้เห็นว่า งานสอนปฎิบัติที่ระดับสูง และมีระยะเวลาที่ยาวนานสามารถใช้รูปแบบการสอน แบบงานวิจัยฉบับนี้ได้ 2. ให้ผู้วิจัยท่านต่อไป ทำงานวิจัยในรูปแบบการเรียน การสอนทางไกล ด้วยระบบกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) ดังงานวิจัยฉบับนี้ โดยเน้นการนำไปสอนในวิชาสามัญต่างๆในระดับมัธยม โดยทำการวิจัย เพื่อแก้ปัญหาการเรียนล่าช้า ของนักเรียนในพื้นที่เสี่ยง เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงทดลอง ทีแสดงให้เห็นว่า งานสอนภาควิชาสามัญต่าง ในระดับมัธยม 1-6 สามารถใช้รูปแบบการสอน แบบงานวิจัยฉบับนี้ได้ หากทำได้จะช่วยการเรียนที่ล่าหลังของนักเรียนในภาคใต้ ได้ทัดเทียมกับนักเรียนในภาคอื่นๆ หรือการสอนทางไกล ในคณะต่างๆของมหาวิทยาลัยราชภัฎ ที่นักศึกษาในพื้นที่ ไม่สะดวกในการเดินทางออกมาเรียน เป็นต้น 3. ทำงานวิจัยในรูปแบบการเรียน การสอนทางไกล ด้วยระบบกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) ดังงานวิจัยฉบับนี้ โดยเน้นการนำไปสอนในพื้นที่ ซึ่งไม่มีระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งพื้นที่ใน ภาคเหนือจำนวนมาก เป็นภูเขาสูงหรือพื้นที่เสี่ยงภัย ทำให้การวางสายสัญญาณอินเทอร์เน็ตไปไม่ได้ คือไม่สามารถใช้ช่องสัญญาณสายปกติได้ งานวิจัยครั้งต่อไป ควรนำผลงานวิจัยนี้ไปต่อยอด การสอนทางไกลโดยส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม สามารถนำสัญญาณอินเทอร์เน็ต ลงได้ทุกพื้นที่ในประเทศ แสดงงานวิจัยให้เห็นว่าสามารถใช้งานได้จริงเป็นการต่อยอดจากงานวิจัยฉบับนี้ 4. ทำงานวิจัยในรูปแบบการเรียน การสอนทางไกล ด้วยระบบกล้องไอพี คาเมร่า (IP Camera) ดังงานวิจัยฉบับนี้ โดยเน้นการนำไปสอนในพื้นที่ ซึ่งไม่มีระบบอินเทอร์เน็ต และไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยการนำไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์ ที่ได้จากพลังงานจากแสงอาทิตย์มาใช้ มีพื้นที่เป็นจำนวนมาก เช่นพื้นที่ภูเขาสูง ที่ไม่คุ้มต่อการวางระบบสายส่งไฟฟ้า ดังนั้นควรนำผลงานวิจัยนี้ไปต่อยอด การสอนทางไกลโดยส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม และใช้ไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์ แสดงงานวิจัยให้เห็นว่าสามารถ ทำการเรียนการสอน ทางไกลได้ทุกพื้นที่ โดยไม่มีขีดจำกัด จาก 4 ข้อ เสนอแนะข้างต้น เป็นช่องทางให้ผู้ที่ทำงานวิจัยต่อไป สามารถนำผลที่ได้จากงานวิจัยนี้ไปต่อยอดทำงานวิจัยฉบับอื่นๆได้อีก โดยใส่รายละเอียดในด้านเทคโนโลยีเพิ่มเติม ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพการเรียน การสอนทางไกล ไปได้ทุกๆที่ตามต้องการ และทุกคนมีสิทธิได้รับ การเรียนรู้อย่างทัดเทียมกัน ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ โดยไม่มีระยะทางมาเป็นขีดจำกัด ในการเรียน การสอน . ประวัติย่อผู้วิจัย ชื่อ-สกุล ว่าที่ร้อยตรีประวิทย์ สุดประเสริฐ วัน เดือน ปี เกิด วันที่ 18 พฤศจิกายน 2500 สถานที่เกิด จังหวัดกรุงเทพมหานคร สถานที่อยู่ปัจจุบัน 67/12 ม.6 ถนนเอกชัย แขวงบางบอน เขตบางบอน กทม 10150 โทร 02-8943133-35 081- 8241332 ประวัติการศึกษา พ.ศ. 2517 มัธยมศึกษาตอนต้น จาก โรงเรียนเซนต์ดอมินิก พ.ศ. 2520 ประกาศนียบัตรวิชาชีพ ช่างไฟฟ้า จาก โรงเรียน ช่างอุตสาหกรรมกรุงเทพ พ.ศ. 2522 ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ช่างไฟฟ้า จาก มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ พ.ศ. 2528 ครุศาสตร์อุตสากรรมบัณฑิต ไฟฟ้ากำลัง และ วิศวกรรมไฟฟ้า จาก มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้า พระนคร เหนือ พ.ศ. 2553 ครุศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและ สื่อสารการศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา กรุงเทพมหานคร ประวัติการทำงาน พ.ศ. 2523 โรงเรียนเทคโนโลยีละโว้ จ.ลพบุรี พ.ศ. 2524 โรงเรียยนเทคโนโลยีกรุงธน จ. กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2525 โรงเรียนเทคโนโลยีพระรามหก จ. กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 - 2531 รับราชการวิทยาลัยสารพัดช่างพระนคร พ.ศ. 2532 ห้างหุ้นส่วนจำกัด มิตรแอร์ พ.ศ. 2535 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ประเสริฐสุวรรณคอนโทรล พ.ศ. 2538 โรงเรียนศูนย์ฝึกวิชาชีพระยะสั้น จ.กรุงเทพ มหานคร ปัจจุบัน ผู้อำนวยการ โรงเรียนศูนย์ฝึกวิชาชีพระยะสั้น จ.กรุงเทพมหานคร โทร 02-8943135 08/1-8241332 อีเมล์ [email protected] เวปโรงเรียน www.thaitrainingsiam.com เวปที่เกี่ยวกับงานระบบการเรียนการสอนทางไกล http://www.thaitrainingsiam.com/distance/index.htm

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท