เตรียมตัวไว้เผื่อแก่ บ้านเล็กพื้นเรียบ


"แทนที่ลูกหลานจะรอช่วยเหลือผู้สูงอายุอย่างเดียว ควรจะหาวิธีช่วยเหลือผู้สูงอายุให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง จนกว่าจะช่วยเหลือตัวเองไม่ได้” ศ.น.พ.สุทธิชัย จิตะพันธ์กุล คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานจัดงานสัปดาห์ผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย สภากาชาดไทย บอก … สิ่งสำคัญคือการปรับสภาพบ้าน ทำอย่างไรจะไม่ให้มีทางลาด ... สะดุด ทางเดินมีราวจับให้ผู้สูงอายุพยุงตัว ไปไหนมาไหนด้วยตัวเองได้

 

เรื่องนี้คัดมาจาก สกู๊ปหน้า 1 ไทยรัฐ (15 เมย.49) ค่ะ เป็นเรื่องที่ตรงกับที่กรมอนามัยจะทำเผยแพร่สำหรับผู้สูงอายุโดยตรง จึงขอคัดมาเล่าสู่กันฟัง ...

นิทรรศการ “สภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ” เรียบเรียงโดย ผศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ พ.ญ.วินัดดา รัตนพานิช โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา และ พ.ญ.จิตติมา ทมาภิรัต คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ระบุว่า ... ผู้สูงอายุมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายหลายด้าน ความสูง ... เฉลี่ยเตี้ยลง 2-5 เซนติเมตร น้ำหนักตัวลดลง กระดูกข้อเสื่อม เดินเหิน ลักษณะท่าทาง จะเปลี่ยนไป สายตาพร่ามัว หูตึง การใช้ชีวิตอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ผู้สูงอายุจึงมีทาง 2 แพร่งที่เลือกได้

  • ทางแรก...เกิดอุบัติเหตุ เข้าสู่ภาวะทุพพลภาพ
  • ทางสอง...ถ้าจัดสภาพแวดล้อม ที่พักอาศัยอย่างเหมาะสม จะลดอุบัติเหตุ ลดการพึ่งพา ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้

หัวใจสำคัญของบ้านผู้สูงอายุ

  • ควรเป็นบ้านชั้นเดียว หรือมีห้องนอนอยู่ชั้นล่าง ระบายอากาศได้ดี มีแสงสว่างเพียงพอ
  • ทางเข้าบ้าน ... ทางเข้าห้องมีระดับเดียวกับพื้นภายนอก ไม่ควรมีธรณีประตู พื้นปูด้วยวัสดุไม่ลื่น มีระบบตัดไฟอัตโนมัติ
  • ประตูใช้ลูกบิดมือจับแบบก้านโยกกว้าง 90-150 เซนติเมตร เพื่อให้รถเข็นผ่านเข้าออกได้สะดวก
  • ห้องนอน ... หน้าต่างควรเห็นวิวทิวทัศน์ เตียงไม่ควรอยู่ในมุมอับ แต่ อยู่ใกล้ห้องน้ำ ถ้าเป็นไปได้หัวเตียงควรมีโทรศัพท์และสัญญาณฉุกเฉิน
  • ห้องน้ำ ... มีราวจับทั่วห้อง เฉพาะตรงฝักบัว ที่อาบน้ำ ควรมีที่นั่ง มีที่ว่างเส้นผ่าศูนย์กลางไม่น้อยกว่า 1.5 เมตร ก๊อกน้ำ ... ลูกบิดประตู ควรเลือกชนิดก้านโยก
  • ห้องครัว...หิ้ง ตู้ต่างๆ อยู่ในระดับพอดี ไม่สูง ต่ำเกินไป อยู่ที่ 150-168 เซนติเมตร...เคาน์เตอร์ สูงจากพื้น 80 เซนติเมตร ด้านล่างอ่างล้างมือควรเปิดโล่งสำหรับรถเข็น...ปลั๊กไฟเคาน์เตอร์ ควรสูงจากพื้น 90 เซนติเมตร
  • ห้องรับแขก...ห้องพักผ่อน ต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง หรือมีเฟอร์นิเจอร์กีดขวาง ระบายอากาศดี พื้นห้องใช้สีสว่าง นุ่ม...บำรุงรักษาง่าย

ข้อแนะนำเฉพาะจุด

  • สีและพื้นผิว อุปกรณ์และส่วนของอาคารให้มีสีตัดกันเด่นชัด เช่น พื้นทางเดิน พื้นต่างระดับ พื้นห้องส้วม ประตู ธรณีประตู วงกบ ขอบประตู บันได ทางเลื่อน ทางลาด ส่วนที่ยื่นจากผนังทางเดิน สุขภัณฑ์ สิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ
  • ข้อต่อมา...เครื่องเรือน เก้าอี้ เตียง ควรสูงจากพื้น 40-45 เซนติเมตร แข็งแรง เป็นที่ยึดจับเวลาเสียหลักได้ ไม่มีขาโต๊ะ...เก้าอี้เกะกะ หากต้องใช้รถเข็น

ตัวอย่าง คุณยายส้มจีน อายุ 88 ปี สภาพร่างกายปกติดี อยู่กับลูกชาย...ลูกสะใภ้...หลาน ถึงลูกสะใภ้จะเป็นคนดูแล แต่ยายส้มจีนก็ทำกิจวัตรประจำวันเองได้ ประวัติ...ยายส้มจีนไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ปี 2530 เคยมีภาวะสมองขาดเลือด และอัมพฤกษ์ที่แขนซ้าย ปัจจุบันดีขึ้นแต่เวลาเดินต้องใช้ไม้เท้า โรคประจำตัว ... สมองเสื่อม เริ่มมีความจำแย่ลงตั้งแต่ปี 2541 (อายุ 80 ปี) แต่ไม่รบกวนชีวิตประจำวัน เนื่องจากมีผู้ดูแลตลอด

ปี 2545 เริ่มวินิจฉัยว่ามีความบกพร่องในการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆ แต่ความจำก็ยังไม่แย่ลง รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ กระทั่งปี 2546 ความจำแย่ลงเรื่อยๆ ไม่ค่อยคุยหรือสนใจสิ่งแวดล้อม แต่ดูทีวีตลอด ... ปี 2548 จึงเริ่มได้รับยารักษาความจำเสื่อม การวิเคราะห์และการรักษา การคงความสามารถทั้งทางร่างกายและความคิด ยังคงมีอยู่ให้มากที่สุด ประกอบด้วยรักษาโรคทางกายอื่นๆ ที่เป็นอยู่ หลีกเลี่ยงใช้ยาที่มีผลกระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง กระตุ้นให้กำลังใจ ดูแลให้ได้รับโภชนาการที่ครบหมวดหมู่

การดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมบ้านคุณยายส้มจีน มีการจัดวางของใช้เป็นหมวดหมู่ง่ายต่อการจดจำ ไม่ย้ายสิ่งต่างๆ โดยไม่จำเป็น เพราะอาจทำให้เกิดความสับสนมากขึ้น ความสามารถของสมองส่วนอื่นๆ ก็จะลดลงไปด้วย ป้องกันไฟไหม้ น้ำร้อนลวก จากอุปกรณ์ต่างๆ จัดเก็บยา ... สารเคมีอันตรายไว้ในที่มิดชิด เก็บของชิ้นเล็กๆ ที่อาจเอาเข้าปาก จมูก ... จนเกิดอันตรายได้

หมอสุทธิชัย บอกว่า แบบบ้านสำหรับผู้สูงอายุที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ในเมืองไทยยังไม่เป็นที่นิยมกว้างขวาง โดยเฉพาะช่วงที่มีกำลังเงินซื้อบ้าน คนส่วนใหญ่ก็มักจะเลือกบ้านใหญ่ๆ หรูๆ

ความจริง...เมื่อแก่ตัว เข้าสู่วัยสูงอายุกลับตรงกันข้าม บ้านใหญ่ อายุมากขึ้นก็ดูแลไม่ไหว บางคนชอบหรูหรา มีสเต็ป มีซอกมากๆ...อายุมากแล้วก็อยู่ลำบาก

อายุเท่าไหร่กันแน่...ถึงจะมีปัญหากับโครงสร้างบ้าน?

หมอสุทธิชัย บอกว่า ประกอบด้วย 2 ปัจจัย...ปัจจัยแรก มีโรคอะไรหรือเปล่า โรคบางอย่าง บางทีไม่สูงอายุก็เป็นแล้ว เช่น โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต อายุ 50 กว่าๆ ก็มีโอกาสเป็นได้ ... ถ้าอยู่ในบ้านที่มีสเต็ป ก็จะดำเนินชีวิตลำบาก

ผู้สูงอายุ มีอายุตั้งแต่ 75 ปีโดยประมาณ เริ่มมีปัญหาในการที่จะเดินปรับสายตา ถ้าอายุ 80 ปี...ก็ยิ่งไม่ดี สภาพบ้านต้องเปลี่ยนให้เอื้ออำนวยต่อการใช้ชีวิต

ผู้สูงอายุอยู่ในบ้านได้ด้วยตัวเองดีแล้ว ต้องมองไปถึงนอกบ้าน เป็นเรื่องที่ต้องรณรงค์ต่อไปว่า...ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุใช้การเดินทางสาธารณะได้ รถเมล์ไม่ต้องพูดถึง รถไฟฟ้าก็ลำบาก...รถแท็กซี่ต้องออกกฎหมาย ทุกๆ 1 ใน 20 คัน หรือ 50 คัน ต้องมีรถบริการให้คนสูงอายุหรือคนที่นั่งรถเข็นใช้บริการได้ รถเหล่านี้ที่นั่งด้านหลังต้องใหญ่ ประตูเปิดได้กว้างพอ และมีที่เก็บรถเข็น ถ้าถูกเรียก ต้องให้ลำดับความสำคัญกับผู้สูงอายุก่อน ลูกค้าทั่วไป
ทางเท้าทั่วไป ... ก็ต้องปรับปูด้วยตัวหนอน เอาทรายลง ฝนตกก็ยุบ เป็นเนินสะดุด...ใช้ไม่ได้ และไม่ใช่ว่ามีหาบเร่อยู่เยอะจนเดินไม่ได้

ต่างประเทศ สถานที่สาธารณะบางพื้นที่จะมีราวเป็นช่วงๆ บางคนสงสัยเอาไว้ทำอะไร ความจริงทำไว้ให้คนสูงอายุยืนเกาะ พิง พักเหนื่อย หากสังเกตให้ดีๆ จะมีเก้าอี้วางเป็นช่วงๆ ผู้สูงอายุเดินแล้วเหนื่อยก็เอาไว้นั่งพัก คนสัญจรผ่านไปมาเป็นเพียงผลพลอยได้ แต่หลักใหญ่เขาเอาไว้ให้ผู้สูงอายุกับเด็ก

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญ เชื่อมโยงถึงสถานที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้า หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาล ต้องเอื้อกับผู้สูงอายุ ... ผู้ทุพพลภาพ

“กฎหมายมีแล้วแต่บังคับกับตึกใหม่ บางอย่างก็ออกเป็นกฎให้ตึกเก่าต้องปรับปรุง ในทางปฏิบัติ ... ไม่ว่าห้องน้ำ ทางเดิน มีแล้วจะดีมากน้อยแค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง” สังคมเดียวกัน ... คนออกแบบต้องคิดเผื่อ ไม่ใช่ว่าเอาแค่มีอย่างเดียว คนบางกลุ่มมีความยากไร้ มีความจำกัด ... ไม่ใช่ยากไร้เงิน แต่ยากไร้โอกาส … ปัญหาความยากไร้เป็นเรื่องของโอกาส ... สังคมต้องให้โอกาส “เรื่องของโอกาสเป็นเรื่องใหญ่ ใครที่จะทำงานบริหาร ปกครอง ต้องมองเรื่องโอกาสให้มาก ... เพราะโอกาสนำมาซึ่งความเสมอภาค”

สังคมทั่วไปมองว่าผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ อยู่ในช่วงอายุ 60 ปี แต่ความจริง ... ไม่ใช่ ส่วนใหญ่คนสูงอายุยังช่วยตัวเองได้ บางคน ... ยังไม่เข้าขั้นหง่อม ชรา ... ทางการแพทย์มองว่าจะส่งเสริมอย่างไร ให้ปรับชีวิต ช่วยตัวเอง ในช่วงที่ยังมีสุขภาพที่พอไหว ผู้สูงอายุจะมีช่วงชีวิตที่ไม่นานนัก ราว 3 ปี ... ในบั้นปลายชีวิตของแต่ละคน หรือมีสัก 3-5 เปอร์เซ็นต์ของผู้สูงอายุที่ลำบาก

ตัวเลขนี้ ... ถึงจะดูไม่เยอะ แต่อย่าลืมว่าผู้สูงอายุเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ

ใครก็อยากจะอยู่กับลูกหลาน ห่างลูกหลานก็เป็นทุกข์ ขณะเดียวกันลูกหลานก็ไม่มีความสุข ไม่พอใจ อยากดูแลด้วยตัวเอง เพียงแต่สังคมจะส่งเสริมอย่างไร ทุกวันนี้ ... สังคมยังไม่มองถึงโอกาสที่จะทำให้ผู้สูงอายุอยู่ช่วยตัวเองได้นานที่สุด

“ลดข้อจำกัดผู้สูงอายุในปัจจัยต่างๆ” ตรงนี้ต่างหาก ... ที่สำคัญ

 

หมายเลขบันทึก: 23996เขียนเมื่อ 15 เมษายน 2006 09:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

    ถ้าอาจารย์อยากได้รายละเอียดความรู้จากงานวิจัยของอ.ไตรรัตน์  ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สกว.   อาจารย์ไตรรัตน์ได้ทำเป็น Fact  sheet  โดยความสนับสนุนของมสช. ไว้แจกประชาชนทั่วไป    ขอได้ที่มสช.ค่ะ     ส่วนรายงานวิจัยฉบับเต็มได้ส่งให้กรมอนามัยไปใข้ประโยชน์แล้วค่ะ

    ลัดดา

ขอบพระคุณค่ะ อาจารย์ ... คงประสานใช้งานร่วมกับ สำนักส่งเสริมสุขภาพได้ค่ะ แต่ถ้ามีโอกาสก็จะไปขอเพิ่มที่ มสช. ค่ะ
<<สมศักดิ์ ประภักดี >>

คิด ๆถึง เพือน ๆ จ่าง ถ้า จอน อย่าลืม ๆ! ทัก กาน ละ ฯ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท