หมู่บ้านเต่า


แมกาซีนแปลก ฉบับศุกร์ 23 มกราคม 2552

หมู่บ้านเต่า (Tortoise Village)

เต่าถือว่าเป็นสัตว์ที่มีอายุยืน คนไทยส่วนใหญ่จึงมีความเชื่อว่า หากได้ปล่อยเต่าจะเป็นการทำบุญสะเดาะเคราะห์จะทำให้อายุยืนยาว ดังนั้น เราจึงมักเห็นเต่าหรือตะพาบตามแหล่งน้ำในวัดบางแห่งเสมอ ๆ

ในประเทศจีน หลักฐานทางโบราณคดีพบว่า สมัยราชวงศ์เซี่ยและราชวงศ์ซาง กระดองเต่า ถูกใช้เป็นเครื่องทำนายทางโหราศาสตร์ ในทางไสยศาสตร์ของไทย มีการใช้เต่าเป็นสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น ยันต์เต่าเลือน เป็นต้น เต่าในทางภาษาศาสตร์ของไทย ยังใช้เป็นพยัญชนะลำดับที่ ๒๑ โดยมักใช้เป็นตัวสะกด คือ ต.เต่า โดยเป็นตัวอักษรเสียงกลาง นอกจากนี้แล้ว เต่า ยังเป็นตัวแทนของความเชื่องช้า โง่งม จึงมีสำนวนทางภาษาในนัยเช่นนี้ เช่น โง่เง่าเต่าตุ่น เป็นต้น

เต่ายังเป็นสัตว์ที่รู้กันว่ามีอายุยืนยาวพอๆกับคน ประมาณกันว่า 100 ปี และอาจมากถึง 152 ปี

วันนี้ จะพาคุณผู้อ่านไปพบกับเต่าจำนวนนับหมื่นตัวซึ่งอาศัยอยู่กับชาวบ้าน ที่บ้านกอก หมู่ 3 กับ หมู่ 14 ต.สวนหม่อน อ.มัญจาคีรี จ.ขอนแก่น มาตั้งแต่ก่อตั้งหมู่บ้านในปี พ.ศ. 2310 ชาวบ้านที่นี่เขาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับเต่านับหมื่นตัวแบบที่แทบจะเรียกได้ว่ากินนอนด้วยกันอยู่ในบ้าน แม้ว่าปัจจุบันจำนวนเต่าได้ลดลงเหลือประมาณ 5,000 ตัว เพราะเต่ากระจายตัวออกไปอยู่ตามธรรมชาติกันบ้าง แต่ก็เรียกว่าเยอะอยู่ดีเมื่อเทียบกับประชากรที่ตำบลสวนหม่อนที่ทั้งตำบลมีอยู่ 7,903 คน และมีบ้าน 1,798 หลัง ถ้าเทียบกับพื้นที่แล้วประชากรเต่ามีจำนวนมากกว่าจำนวนบ้านของชาวบ้านทั้งตำบลเสียอีก

เล่าสืบต่อกันว่า เต่าเพ็กที่บ้านกอกมีอายุยืนยาวสืบเชื้อสายกันมาพร้อมๆ กับการก่อตั้งบ้านกอก เมื่อประมาณพ.ศ.2310 เต่าเพ็กจะรวมกันอยู่มาก ในบริเวณที่เรียกว่าศาลเจ้าคุณปู่ (ดอนเต่า) ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 4 ไร่ ในบริเวณนี้เป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อมเหศักดิ์ 2 ศาล ชื่อเจ้าปู่ฟ้าระงึมและมีหอพระพุทธ 1 หลัง บริเวณดอนเต่านี้มีกอไผ่อยู่ทั่วไป ใบไผ่ ร่วงหล่นทับถมกันเป็นที่อยู่อาศัยของเต่าได้เป็นอย่างดี

ชาวบ้านเชื่อกันว่าเต่าในบริเวณดอนเต่านี้ เป็นสัตว์เลี้ยงของเจ้าปู่ฟ้าระงึม จึงเรียกเต่าพวกนี้ว่าเต่ามเหศักดิ์อีกชื่อหนึ่ง เมื่อชาวบ้านกอกเชื่อว่าเต่าเพ็กเป็นเต่าของเจ้าปู่ฟ้าระงึม จึงมีความยำเกรงไม่ทำอันตรายเต่าในเขตหมู่บ้าน แต่ถ้าเผลอทำร้ายโดยไม่ได้ตั้งใจก็จะไปขอขมาต่อเจ้าคุณปู่

ในหมู่บ้านจะไม่สร้างรั้วบ้านหรือกำแพงสูง ทั้งนี้เพื่อให้เต่าสามารถเข้ามาหาอาหารหรือหลบร้อน รวมทั้งออกไข่ในบริเวณที่ดินว่างของบ้านได้สะดวก นอกจากนั้นพวกสัตว์ต่างๆ เช่น วัว ควาย สุนัข เป็ด ไก่ ฯ ก็มีความคุ้นเคยกับเต่าเพ็กเป็นอย่างดี โดยไม่ทำร้ายซึ่งกันและกัน

ชาวบ้านเล่าว่าเต่าเพ็กมีสัญชาตญาณในการกินอาหารดีมาก เพราะเต่ามักไปจับกลุ่มออกันแน่นบ้านผู้ใหญ่บ้านหรือร้านขายของชำ ซึ่งมักจะมีการนำขนุนหรือเศษอาหารมารวมกันไว้ในช่วงเย็นของแต่ละวัน อาหารของเต่าเพ็กในหมู่บ้านได้แก่ ขนุน สับปะรด แตงไทย พืชผักพวกแตงกวา ผักบุ้ง ผักกาด กะหล่ำปลี หน่อไม้ และซากสัตว์ จากการสำรวจของชาวบ้านพบว่า เต่าในหมู่บ้านมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้อาหารในบริเวณดอนเต่ามีไม่เพียงพอ เต่าจึงออกหากินตามหมู่บ้านใกล้เคียง โดยไม่มีใครกล้าทำอันตรายเต่าเหล่านี้ เนื่องจากมีเรื่องเล่าว่าเคยมีคนจากที่อื่นมาจับเต่าไปต้มกิน ทำให้อาเจียนเป็นโลหิตและตายในทันที ชาวบ้านจึงยึดถือเป็นประเพณีไม่ทำร้ายเต่า

เต่าเพ็ก เป็นชื่อเรียกของคนภาคอีสานที่เรียกเต่าเหลือง เต่าเทียน หรือเต่าแขนง ซึ่งเป็นเต่าชนิดเดียวกัน ที่มาของชื่อเต่าเพ็กมาจากอาหารที่เต่าชอบกินตามธรรมชาติ คือหญ้าเพ็ก ซึ่งขึ้นอยู่ทั่วไปในแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ มีพบอยู่ทั่วทุกภาคในประเทศไทย และในแคว้นอัสสัม พม่า มาเลเซีย ตลอดทั่วอินโดจีน

เต่าเหลืองมักพบอยู่ในป่า เขตที่ราบสูงหรือภูเขา เป็นเต่าบทชนิดที่พบมากที่สุดของประเทศไทย แม้ว่าจะไม่สามารถอยู่ในน้ำได้ แต่เต่าเหลืองก็ชอบอาศัยอยู่ในที่ชื้นเย็น เต่าเหลืองที่อยู่ตามธรรมชาติในภาคเหนือ และภาคอีสานของประเทศไทย เราสามารถคำนวณอายุของเต่าได้ จากการนับวงปีที่แผ่นเกร็ดของกระดองเต่า แต่ทั้งนี้จะนับได้ต้องเป็นเต่าที่มีอายุไม่มากกว่า 20 ปี เพราะถ้ามากกว่า 20 ปี วงปีจะถี่มากจนไม่สามารถนับได้ ส่วนขนาดนั้นเมื่อโตเต็มที่กระดองจะมีความยาว 30 ซม. น้ำหนักตัว 7 กก.

เต่าชนิดนี้จะมีความพิเศษและผิดธรรมชาติมากที่สุดในช่วงฤดูผสมพันธุ์ โดยปกติแล้วส่วนหัวของเต่าจะมีสีเหลืองถึงสีน้ำตาล ยกเว้นในฤดูผสมพันธุ์ที่ทั้งสองเพศจะมีสีชมพูบริเวณรอบดวงตาและจมูก แต่พฤติกรรมของเต่าเพศผู้จะกลายเป็นพวกมีอารมณ์รุนแรงในเรื่องความรัก การเกี้ยวพาราสีของมันสามารถทำให้ตัวเมียเกิดแผล และบาดเจ็บได้ เพราะตัวผู้จะมีการกระแทกอย่างแรง มีการกัดอย่างบ้าคลั่งที่บริเวณหัว คอ และขาหน้าของตัวเมีย และตัวผู้จะส่งเสียงร้องอย่างดังในระหว่างการผสมพันธุ์
            ในทุกๆปี หมู่บ้านเต่าจะจัดงานประเพณีไหว้เจ้าคุณปู่และรดน้ำเต่าในวันที่ 14 เมษายน ร่วมกับเทศกาลวันสงกรานต์

การเดินทางไปหมู่บ้านเต่าโดยพาหนะส่วนตัว จากตัวเมืองขอนแก่นไปทางชุมแพ ผ่านทางแยกเข้าสนามบินและถนนเลี่ยงเมืองไปประมาณ 10 กม. ถึงบ้านทุ่มแล้วเลี้ยวซ้ายไปเส้นทางหมายเลข 2062 ไปทางอำเภอมัญจาคีรี ถึงกิโลเมตรที่ 40 ด้านซ้ายมือจะพบปั๊มเชลล์ และปากทางเข้าหมู่บ้านเต่าจะเห็นศาลที่มีรูปปั้นเต่าอยู่ เลยเข้าไปอีกประมาณ 50 เมตร ก็จะถึงสวนเต่าบ้านกอก

  การไปเยี่ยมชมหมู่บ้านเต่านักท่องเที่ยวที่ดีควรปฏิบัติดังนี้
>ไม่ควรเหยียบเต่าทุกกรณีเพื่อแค่ต้องการจะถ่ายรูป
>ไม่ควรใช้อะไรจี้เต่าให้เดิน
>ไม่จับเต่าโยนลงน้ำเพราะเต่าเพ็กเป็นเต่าบกว่ายน้ำไม่ได้
>ไม่ควรนำเต่าออกจากหมู่บ้าน
>อย่าจับเต่าหงายขึ้นเพราะเต่าจะตายเนื่องจากพลิกกลับเองไม่ได้
>ไม่ควรพลิกตัวเต่าไปมาเพราะอาจจะมีผลกระทบต่อไข่ในท้องของเต่า
>ระมัดระวังจะขับรถทับเต่าโดยเฉพาะเวลาพลบค่ำ
>ไม่ควรขุดคุ้ยไข่เต่ามาเล่น

สวนเต่าบ้านกอก มีที่พักโฮมสเตย์สำหรับนักท่องเที่ยวได้พักค้างคืนและสามารถเลือกซื้อหัตถกรรมแกะสลักรูปเต่า ที่ทำจากผลมะพร้าว ของชาวบ้านกอก หมู่ 3 กลับไปเป็นของที่ระลึกอีกด้วย

ขอขอบคุณ

-          ข้อมูลเกี่ยวกับเต่าบางส่วนจาก วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีไทย

-          เว็บไซต์สวนเต่าเพ็ก จัดทำโดยนายสุรินทร์ หว่างจิตร และ ทีม ไอซีที กศน.ขอนแก่น

****สนใจอยากชมภาพบางส่วนของหมู่บ้านเต่าเข้าไปชมได้ที่ http://gotoknow.org/blog/waterr/233202

ของคุณสายธารค่ะ

หมายเลขบันทึก: 239691เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2009 21:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 15:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะ

เคยไปแรลลี่กับ ททท.

ก้อเพิ่งได้ทราบแหล่ะว่า...เต่าเพ็กว่ายน้ำไม่เป็น

ใช่ค่ะ ขอบคุณสำหรับความเห็นน่ะค่ะ

ดีใจจัง เป็นคนแรกที่เข้ามาโพสต์

พอดีกะลังทำ thesis เกี่ยวกับหมู่บ้านเต่าอะคับ ถ้ามีข้อมูลเยอะ ก็ขอบ้างนะคับ

ขอบคุณมักมัก

ต้องรบกวนติดต่อทางหมู่บ้าน ผู้ใหญ่บ้านน่ะค่ะ จะได้ข้อมูลมากกว่า

ลงพื้นที่จะได้ข้อมูลเยอะ น่าจะสัมภาษณ์นักวิชาการที่เชี่ยวชาญทางด้านนี้ก็น่าจะดีค่ะ

อยากได้เบอร์ติดต่อทางนั้นหรือข้อมูลอะไรเมล์มาถามกันได้ที่ [email protected]

ขอบคุณค่ะ

ก้อเพิ่งได้ทราบแหล่ะว่า...เต่าเพ็กว่ายน้ำไม่เป็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท