เรื่องที่ต้องบันทึก...ปัญหาของคน


เสียดาย

     เรื่องที่จะบันทึกต่อไปนี้ ผู้เขียนได้ใช้เวลาทบทวนหลายรอบ แต่ที่สุดก็ตัดสินใจบันทึกไว้ในบล็อกนี้ แม้จะเป็นเรื่องที่สร้างความเจ็บปวดต่อกันหลายฝ่าย และกระทบกลุ่มคนร่วมอาชีพ กับผู้เขียนเองก็ตาม และเป็นการแสดงความเสียใจ ที่ระบบเครือข่ายในการดูแลผู้ป่วย ตามลำดับนั้น ล้มเหลว ที่จำเป็นที่สุดคือ ไม่อยากให้มีการส่งมอบบริการบาปทางใจ ต่อกันอีกต่อไปเลย

  เมื่อวันศุกร์ ผู้เขียนได้ส่งคนไข้ที่มีอาการทางจิต คือเริ่มมีอาการกร้าวร้าว มีอาวุธคือมีดสปาต้า และมีพฤติกรรมที่น่าจะเป็นอันตรายโดยเฉพาะผู้หญิงในหมู่บ้าน ทางด้านเพศ ผู้ป่วยคนนี้ ไม่เคยรับการรักษา เพิ่งจะมีอาการ หลังเกิดอุบัติเหตุรถชนกัน แรกๆยังทำงานได้ แต่มา สองสามเดือนนี้ เพี้ยนไปมาก เดินแต่งตัว ชุดทหาร และบอกว่าจะไปเป็นทหารรักษาพระองค์ เขาอยู่กับแม่แก่ๆตามลำพัง บางครั้งก็ข่มขู่แม่ ว่าจะเอาเงิน เอาที่ทางมรดก ให้ไปโอนให้ จนแม่กลัวมาก และบางครั้งต้องไปขอนอนบ้านเพื่อนบ้าน ที่อยู่ไกลเป็นกิโลเมตร

   ดังนี้ ผู้เขียน จึงขอความร่วมมือกับ อบต.และตำรวจ ให้ช่วยกันนำส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาลจังหวัด เพราะมีแผนกจิตเวช และรับผู้ป่วยไว้ได้ ผู้เขียนคิดถึงรายน้าติ๊ด ที่ช่วยกันนำส่ง จนได้รับการเยียวยา และปัจจุบัน ก็เรียบร้อยกินยาสม่ำเสมอไม่มีอาการต่อไป

  ปัญหาการนำส่ง เป็นไปด้วยดี แต่ทั้งวัน ก็ต้องช่วยกันค้นหาคนไข้ กว่าจะได้ตัวด้วยความยากลำบาก เพราะคนไข้ไม่ยอม แต่ก็สำเร็จในเวลาที่เย็นมากแล้ว จึงฝากโรงพักไว้หนึ่งคืน

  ในส่วนโรงพยาบาลนั้น ผู้เขียนได้ขอให้โรงพยาบาลชุมชน ช่วยประสานงานทางโรงพยาบาลจังหวัดให้ด้วย ซึ่งทุกฝ่ายก็รับทราบกันดี แล้วเช้าวันศุกร์ที่ผ่านมา ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ก็นำคนไข้มาโรงพยาบาลจนถึงห้องฉุกเฉินตามขั้นตอน

  ถึงตรงนี้ที่ผู้เขียนบอกไว้แล้วว่าต้องบันทึก เพราะเหตุการณ์ตลอด ๘ ชั่วโมงที่นี่ ช่างมีแต่ความอึดอัด และสะท้อนสภาพจิตใจของผู้มีหน้าที่ แค่ละคนให้ได้เห็นเนื้อแท้ของเขาทีเดียว ค่อยๆฟังเรื่องราวต่อไปนะคะ

  เมื่อคนไข้มาถึง ผู้เขียนในฐานะ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งวันนี้ ญาติๆและเพื่อนบ้านของผู้ป่วย ก็คือคนในหมู่บ้านที่ผู้เขียนดูแลทั้งสิ้น ต่างก็รู้สึกอุ่นใจ ที่มีหมออนามัยมาส่ง ดังนั้น ผู้เขียนจึงแนะนำตัวต่อแพทย์พยาบาลว่าเป็นใคร และขอให้ข้อมูลคนไข้ พร้อมทั้งเล่าว่าได้ประสานงานมาระดับหนึ่งแล้ว จากโรงพยาบาลชุมชนกับทางตึกผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งก็เห็นว่าควรนำผู้ป่วยเข้ารับการรักษา และให้นำตัวมา

 ไม่มีใครสนใจผู้เขียนนัก หมอเด็กๆคนหนึ่ง ก็เข้าไปซักอาการกับคนไข้ ซึ่งผู้เขียนสังเกตดู มักจะเป็นคำถามที่หมอก็คงคาดว่า คนไข้จิตเวช น่าจะมีทั้งสิ้น เช่น หูแว่วไหม พูดคนเดียวหรือเปล่า จำญาติได้ไหม ฯลฯ แล้วก็ให้ยกแขน ตรวจร่างกาย และสั่งเจาะเลือด คนไข้พูดจาพาทีด้วยดี และว่าคนในหมู่บ้านอิจฉาเขา จึงคิดใสร้ายเขา จากนั้นแพทย์ก็มีคำสั่งฉีดยาระงับประสาทให้ ๒ เข็ม คนไข้ก็หลับๆตื่นๆ ไม่แสดงอาการอาระวาดใดๆ

   ความกังวลของผู้มาส่ง จึงทั้งญาติและผู้เขียน ก็อยากจะให้ข้อมูลพฤติกรรม ที่เป็นอันตราย ที่พบเห็นให้แพทย์ได้ทราบบ้าง สักประเดี๋ยว ก็มีการเรียกกันว่า อาจารย์หมอมาแล้ว ผู้เขียนดีใจ พร้อมกับคุ้นๆหน้าอาจารย์หมอคนนี้เหมือนกัน คิดว่าระดับนี้แล้ว คงมีประสบการณ์ การเรียนรู้พอสมควร จึงเข้าไปขออนุญาตเล่าความเป็นมาให้ฟัง

  อาจารย์หมอที่ว่า ฟังไม่ทันจบ ก็พูดสวนมาว่า โรงพยาบาลชุมชนมีสิทธิ์อะไรที่จะมาสั่งให้ทางนี้ รับคนไข้ไว้ในตึก หมอมีวินิจฉัยของตัวเองว่าจะทำอย่างไร

 ผู้เขียนตกใจ คิดว่าพูดคำไหนผิด จึงขอโทษ และว่า ไม่ใช่อย่างนั้น เพียงแต่เราผ่านระบบเครือข่ายมาแล้ว และลงความเห็นว่าน่าจะส่งมาพบจิตแพทย์และคนไข้ก็อาจทำร้าย เป็นอันตรายต่คนในชุมชน จึงอยากเล่าเบื้องหลังให้ทราบ

 ผู้เขียนจำได้ว่าพูดตามนี้จนจบ ทั้งๆที่โดนสวนกลับออกมาก่อนจะจบ และบอกว่า จะซักคนไข้เอง ขอให้ผู้เขียนและญาติออกไปรอข้างนอก ต้องการข้อมูลเมื่อไหร่ จะเรียกเข้ามาเอง

 จากนั้นผู้เขียนก็ไม่เห็นมีเจ้าหน้าที่คนไหน ไม่ว่าพยาบาลหรือแพทย์จะมาซักเรื่องราวเพิ่มเติมจากญาติหรือผู้เขียนเลย รอๆๆๆๆๆๆ จนบ่าย คนไข้ก็ยังนอนในห้องฉุกเฉินอย่างนั้น

  ระหว่างรอ ทุกคนที่มาส่ง ต่างเป็นชาวบ้าน ก็พากันฉงนว่า หมอจะได้ข้อมูลที่แท้จริงจากคนไข้ได้อย่างไร เพราะเขาเป็นคนโรคจิต แต่สำหรับผู้เขียนเอง ได้มีเวลาทบทวนถึงหมอที่คุ้นๆคนนี้ จนถึงบางอ้อ จำได้แล้ว เมื่อสัก ๒-๓ ปีมาแล้ว หมอคนนี้ ได้เคยมาที่สถานีอนามัยของผู้เขียน และขอ ศึกษาครอบครัวในชุมชน เพราะเขากำลังศึกษาต่อ ด้านเวชปฏิบัติครอบครัว คราวนั้นผู้เขียนนึกนิยมหมอ ที่ช่างเข้าใจชาวบ้าน พูดจาก็ไพเราะ ฟังปัญหาจากชาวบ้าน ดูดีไปหมด เมื่อเรียนต่อจนจบหลักสูตร เขาก็ย้ายเข้าโรงพยาบาลจังหวัด ไม่ได้ทำงานชุมชนตามที่ได้ศึกษามา คราวนั้นยังรู้สึกเสียดาย เพราะนานๆ จะเห็นแพทย์ลงทำงานชุมชน

   แต่เวลาผ่านมาไม่นาน มาพบกันคราวนี้ อะไรทำให้หมอเปลี่ยนไปขนาดนี้ หมอไม่พร้อมที่จะฟังใครอีกต่อไป ทุกอย่างเหลือแต่วินิจฉัยตนเองเป็นหลัก ไม่ต้องการรับรู้ปัญหาอะไร ที่มากับคนไข้ หมอลืมปัญหาชุมชน หมอลืมหมออนามัยที่ต้องแก้ไขปัญหาหลังจากหมอวินิจฉัย ที่ให้คนไข้กลับบ้านไป

   บันทึกถึงตรงนี้ ยังไม่ใช่ว่าเรื่องราวจะจบตามที่คาดหมาย แต่ยังมีช่วงสำคัญ ที่น่าสนใจ และน่าจะเรียนรู้ร่วมกันได้อีก ขอบันทึกหน้าจะดีกว่า เพราะผู้เขียนต้องเขียนอย่างระมัดระวัง ไม่ให้เรื่องราวผิดเพี้ยนไป อันจะทำให้ข้อมูลนี้เป็นเท็จได้ สักครู่นะคะแล้วพบกัน

หมายเลขบันทึก: 238913เขียนเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2009 10:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 04:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)

คน แปลว่า กวน ดังนั้น จึงมีปัญหา ครับ

ด้วยความเข้าใจและเห็นใจไปด้วยครับ พี่บุญรุ่ง

เรื่องนี้ ไม่ใช่ประเด็นวิชาชีพ แต่น่าจะเป็น "คน"มากกว่าครับ คุณหมอ รพ.จังหวัด เองก็คงทุกข์มากกับวิธีคิดของคุณหมอเอง การระเบิดอารมณ์เกรี้ยวกราด และอัตตาสูงส่งขนาดนั้น มีที่ไปที่มา...

นอกจากคุณหมอ รพ.จังหวัด จะเยียวยาคนไข้โรคจิตแล้ว คุณหมอคงต้องเยียวยาตนเองด้วย ...เตี้ยอุ้มค่อมกันไป

สังคมเราก็แบบนี้เหมือนกันครับ เรายึดอัตตาเป็นใหญ่ เหนือความละเอียดอ่อนของจิตใจ ความถูกต้องของความเป็นคนที่ควรจะได้รับ (สิทธิ์)

เราคงไม่กล่าวหาใคร แต่เป็นที่ระบบทำให้ ทั้งคนทั้งหมดป่วยกันไปหมด

ก็น่าสงสารคุณหมอ รพ.จังหวัดนะครับ เขาคงเครียดกับชีวิตเขามากทีเดียวครับ

พี่บุญรุ่งครับ...ขอชื่นชมในการดูแลผู้ป่วยของพี่ครับ การดูแลผู้ป่วยด้วยจิตใจความเป็นมนุษย์ ที่ บุคลากรสาธารณสุข พึงมี

 

ขอให้กำลังใจพี่นะครับ

กราบอาจารย์คุณหมอJJ ค่ะ

ก่อนอื่นต้องกราบขอบพระคุณที่ส่งภาพอันเจริญตามาให้ค่ะ

ทั้งภาพวิวและดอกไม้

เพียงเห็นก็ชื่นใจ ทำให้จินตนาการไปแสนไกล

แต่ยิ่งได้สัมผัสเมื่อไหร่

นั่นแหละคือความจริงของสิ่งนั้น

แต่หนูเคยอยู่ในภาพที่พระอาทิตย์

ที่อยู่ริมขอบฟ้า

พาให้ใจสบาย ผ่อนคลายค่ะ

ส่วนดอกกล้วยไม้นี้ หนูเคยได้กลิ่นมาแล้วหอมมากค่ะ

แต่อาจารย์หมอคะ

เรื่องราวบนโลกนี้ มีให้เราศึกษามากเหลือเกิน

และการสร้างสรรค์สังคม

ให้น่าอยู่ ก็เป็นโจษที่ยากมาก

บางครั้งก็เกินกำลัง

หนูขอถ่ายทอดประสบการณ์นี้

ด้วยเห็นว่าน่าสนใจและมองเห็นทิศทางในอนาคตได้บ้าง

ไม่ได้มุ่งร้ายหรือทำลายสถาบันใดๆ

หรือบุคคลใดเฉพาะ

เพียงแต่อยากให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

และจะช่วยกันปรับปรุงเงื่อนไขต่างๆที่เกิดขึ้น

เพื่อสังคมที่เกื้อกูล ตามที่เราอยากเห็น

จะได้เกิดขึ้นในช่วงชีวิตเราค่ะ

กราบขอบพระคุณที่อาจารย์หมอให้ความเมตตาค่ะ

ด้วยความเคารพ

สวัสดีค่ะคุณ2. จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

สงสารบุคลากรทางสาธารณสุขทุกฝ่าย

แต่ก่อนนี้ เราจะมีการให้ความนับถือคุณวุฒิกันตามลำดับ

สรุปคือเราจะเรียกแพทย์ว่า อาจารย์ทุกคำ

และแพทย์ ก็จะให้ความเอ็นดูพวกเรา

เห็นมาจากบ้านนอก ก็ให้กำลังใจ

บางครั้งชอบที่ให้เราพูดถึงเรื่องบ้านนอกนั้นให้ฟังด้วย

คงอาจเป็นระบบ ภาระกิจที่รับมอบหมายหรือเปล่าไม่ทราบ

ทำให้โอกาสที่จะพบกัน ช่างห่างไกลเหลือเกิน

การอบรมบคคลากร ก็ไม่เคยทำให้เราพบกันเลย คนละระดับกัน

จากนั้นมา ก็ห่างเหินกันมากขึ้นๆๆ

แต่ลืมกันไปว่า ในวังวนของงานสาธารณสุขนี้

สักวันหนึ่งเราก็ต้องเจอกัน

ขอบคุณค่ะ ที่ให้กำลังใจ และช่วยให้มุมมองที่ทำให้เกิดการเห็นใจกันทุกฝ่าย

ก็ขอให้บันทึกของพี่ในเรื่องนี้

จะได้มีส่วนให้เกิดความสมานฉันท์

อันอบอุ่นของเราชาวสาธารณสุขต่อไป

โดยให้มีความเห็นใจ และโอภาปราศัยกันกัน

เหมือนที่เคยเป็นมา

แล้วการดูแลผู้ป่วยด้วยจิตใจความเป็นมนุษย์

ก็จะได้ชัดเจนขึ้น

และเป็นความภาคภูมิใจของชาวสาธารณสุขตลอดไป

สวัสดีค่ะคุณตันติราพันธ์

อาจเป็นเพราะสาเหตุนี้หรือเปล่าคะ

ที่ทำให้หลายๆ คน ไม่อยากไปโรงพยาบาล

เมื่อมีอาการเจ็บป่วย

หลายๆ ครั้ง หมอ หรือ พยาบาล

เหมือนจะกลายเป็นคนร้าย

ผู้คนส่วนใหญ่ก้อเลยไปซื้อยามาทานเอง

สะดวก ไม่ต้องรอ แล้วก้อหายเหมือนกัน(ในกรณีที่เจ็บป่วยเล็กน้อย)

ขอเป็นกำลังใจให้กับคนทำงานนะคะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีค่ะคุณ. ณัชชา Natcha เฉลิมกลาง Chalermklang

คงเป็นสาเหตุหนึ่งก็ได้ค่ะ

เพราะคนไข้มักจะกลัวหมอที่โรงพยาบาล

ความไม่คุ้นเคยด้วย

และบางครั้งอาจเคยเจอเหตการณ์ทำนองนี้

จึงอยากให้เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรับรู้ด้วยว่า

ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง

หมออนามัยคงไม่ส่งคนไข้มารบกวนค่ะ

เชื่อมั่นว่าน้องบุญรุ่งเป็นผู้มีสติปัญญา และความเมตตาในการช่วยคนไข้ และได้พยายามทำหน้าที่อย่างดีที่สุดแล้ว บางอย่างเหนือการควบคุมของเราจริงๆ เป็นกรรมของทุกคนที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์เช่นนี้นะคะ สงสารคนไข้ หวังว่าคุณหมอท่านนั้นคงจะได้ย้อนมองตนเอง และได้คิดเมื่อมีสติมากขึ้น และอัตตาลดลง

สวัสดีค่ะพี่นุช

น้องก็คิดว่าได้ทำหน้าที่ที่รับผิดชอบ หวังให้ปัญหาของคนไข้ ได้รับการรักษาแก้ไขที่ถูกต้อง ไม่ได้คิดจะนำภาระไปส่งต่อเลย บอกหมอไปแล้ว ว่า ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง คงไม่ส่งมา ถ้าเราคิดว่า คนไข้เป็นญาติ หรือคนที่รัก เมื่อนั้นแหละคะ ก็จะได้คำตอบว่า ทำไมต้องอยากให้นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล

เสียดาย น้องช่วยเขาไม่สำเร็จ ที่บาดเจ็บกลับมาไม่เท่าไหร่ แต่คนไข้หมดหนทางไปต่อ ยิ่งกว่าเจ็บหนักอีกค่ะ

จิตแพทย์ ที่ผ่านมา ทุกระดับ

เรียน เจ้าของ block ครับ

ผมไม่แน่ใจว่า เจ้าของ บลอก จะได้มาอ่านไหม ถ้าได้อ่านจะดีใจมากครับ

ขอออกตัวนิดนึงครับ ผมเป็นจิตแพทย์ และเคยผ่านเหตุกาณ์ร ดังเรื่องราวที่เล่ามา เป็นทั้ง คนนำส่ง ที่ถูกปฏิเสธ และเป็นทั้ง คนที่ปฏิเสธ การให้อยู่ รพ. เพราะเคยทำงานใน หลายๆระดับ ทั้ง ระดับเล็ก จนถึงใหญ่

ผมขอไม่กล่าวถึง เรื่องอารมณ์การทำงานของ จนท. ที่คุณไปเจอมานะครับ เพราะ ทุกคนที่ตอบก็บอกเหมือนกันว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคล ผมอยากตอบเรื่องของระบบมากกว่า

ปล.โดนตามละครับว่างๆมาตอบต่อ

สวัสดีค่ะคุณจิตแพทย์ ที่ผ่านมา ทุกระดับ

มาอ่านแล้วค่ะ

รอคุณหมอมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน

ดีค่ะจะได้เข้าใจกันมากกว่านี้

เพราะถึงอย่างไร ก็คงจะต้องพบเจอกันอีก

ถ้ายังอยู่ในแวดวงนี้ จังหวัดนี้ค่ะ

ขอบคุณคุณหมอมากค่ะ

จิตแพทย์ ที่ผ่านมา ทุกระดับ

ขอไล่เป็นประเด็นแล้วกันนะครับ

1.เรื่องการให้คนไข้จิตเวชอยู่ รพ. อันนี้ผมขอใช้คำว่าเป็นปัญหา ระดับชาติ มองจากมุมไหน ก็ขัดแย้งกันหมด

มองมุมญาติ ที่เคยเจอมาก็มักคิดว่า น่าจะให้อยู่ รพ.ไปเลย เพราะเสี่ยง

มองมุมหมออนามัย หรือ จนท.รพ.เล็ก รวมทั้งตอนผมอยู่ ที่ๆไม่มีเตียงให้ admit ตอนนั้นผมมองแบบเดียวกับญาติครับ ว่าเขาป่วยควบคุมไม่ได้ น่าจะเอาเขาอยู่ รพ.ให้สงบก่อน ค่อยให้ออกมาทำไม admit ยากจัง ตอนนั้น ผมก็ไม่พอใจครับ เข้าใจความรู้สึก เจ้าของ blog เป็นอย่างดี

แต่พอมาเป็น จิตแพทย์ที่ รพ.ตนเองมีเตียง admit ก้เริ่มเข้าใจว่าทำไม admit ยากมาก ทั้งที่เดิมเคยไม่พอใจที่ถูก ปฏิเสธ case หรือการ admit จนตอนนั้นที่ทำงาน รพ.ที่มีเตียง ผมนี่แหละเป็นคนปฏิเสธ case และการ admit เอง

รพ.ที่ผมเคยทำงาน มีคนไข้ 150-200 คนต่อวัน จิตเวชทั้งหมดนะครับ และทุก case

ที่เป็นโรคจิตที่ผมตรวจญาติต้องการให้อยู่ รพ.70-80% เพราะฉะนั้นคร่าวๆแต่ละวันมีคนอยากให้รับผู้ป่วยประมาณ 50 คนต่อวัน รพ. สามารถรับได้ แบบเต็มที่สุดๆเลยคือ 200 คน ถ้าผมไม่ปฏิเสธ case ล่ะก็ ตรวจได้ 4 วันครับหลังจากนั้นก็ไม่มีคนไข้คนไหนได้อยู่ รพ.อีก

ซึ่งถ้าเป็นงั้นจริงแย่ทีเดียวครับ ทำให้ต้องมีการประเมินว่าคนไหนสมควรอยู่ คนไหนไม่สมควรอยู่ ซึ่งตรงนี้ล่ะครับเป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้ง ประเทศไทยทั้งประเทศ มีเตียง ผู้ป่วยจิตเวช รวมทุกโรคของทางจิตเวชนะครับ ทั้งหมด น่าจะอยู่ประมาณ 2000-3000 เตียง แต่จำนวนผู้ป่วย เฉพาะ โรคจิต schizophrenia โรคเดียวคือ 1%ของประชากร คือถ้ามี 70ล้าน ก็จะมีคนป่วยโรคจิต 7แสนคนครับ ถ้าเราเอาเตียงทั้งหมดให้ผู้ป่วยโรคจิตเลย โดยที่โรคซึมเศร้าและโรคอื่นๆ ไม่มีสิทธินอน รพ.ก็จะมีคนผิดหวัง 697000 คน เพราะเรามีเตียงแค่ 0.05% เพราะฉะนั้น คนป่วย 2000 คน มีสิทธินอน รพ.1 คน เราจึงต้องเอาคนหนักจริงๆเท่านั้น

แต่คำว่าหนักจริงนี่แหละเป็นปัญหา ที่ทำให้ทุกฝ่ายไม่เข้าใจกัน เพราะญาติ และ จนท.ที่ไม่ได้เจอคนไข้จิตเวชประจำ แค่เจอก็หนักใจแล้วครับไม่ว่าเขาอาการมากน้อย ขอพูดเป็นกลางนะครับเพราะผมไม่ได้ทำงานรพ.จังหวัดนี้ และไม่มีส่วนได้เสีย(แค่ฟลุค link มาเจอกระทู้นี้ เพราะปัญหาที่กล่าวผมเคยคุยกับ จนท.ระดับต้นในพท.ที่ผมเคยดูแลอยู่ ซึ่งก็คล้ายๆกันนี่ล่ะครับ)เท่าที่ผมอ่านอาการ ที่ คุณ ตันติราพันธ์ เล่ามาถ้าผมเป็นแพทย์คนนั้นก็คงยังไม่ให้อยู่ รพ. เพราะอะไรหรือครับ เพราะ เขาได้ยาฉีดแล้วสงบลงได้ ทุกวันที่ตรวจถ้าหนักจริงจะไม่สามารถคุมได้ด้วยาครับ ปกติส่วนตัวจะฉีดก่อนถ้าไม่สงบอาจพิจารณา admit ต่อไปครับ ถ้าสงบมักจะให้กลับบ้านเพราะต้องเก็บเตียงไว้ให้คนที่หนักจริง แต่เมื่อกลับบ้านจะแนะนำการดูแลต่อเนื่องไปด้วยว่าถ้าผู้ป่วยตื่นมาจะต้องทำอะไรต่อ เพราะถ้าฉีดยาแล้วหลับได้ เมื่อตื่นมักจะสงบกว่าเดิมและมีแนวทางการดูแลอีกครับ(ซึ่งคงยังไม่กล่าวถึงณ.ที่นี้)

ส่วนประโยคที่ว่า "หมอจะได้ข้อมูลที่แท้จริงจากคนไข้ได้อย่างไร เพราะเขาเป็นคนโรคจิต" อันนี้คงต้องบอกว่า ยิ่งคนไข้มีอาการมากจะชัดมากครับข้อมูลที่ได้น่าเชื่อถือนะครับเพราะผู้ป่วยแสดงออกมาจริง แต่ที่พูดอย่างนี้ไม่ใช่ว่าข้อมูลจากญาติไม่สำคัญนะครับ เพราะปกติเราจะเอามาประกอบกัน แต่จากที่ตัวเองเคยเจอ ข้อมูลจากญาติ และ จนท.มักจะมีอารมณ์กลัว และวิตกกังวลปนมาด้วย ซึงส่วนมากจะมี bias อาการที่ผู้ป่วยแสดงและการตอบสนองต่อยา ก็จะช่วยยืนยันกันได้ ว่าหนักจริงไหม

ปล.ยาวละครับ ว่างๆมาต่อนะครับ

สวัสดีค่ะคุณหมอ

ขอบคุณที่ได้ร่วมชี้แจงแสดงความคิดเห็น

ในบางส่วนที่เราไม่เข้าใจกัน

จะรออ่านประสบการณ์

และแนวทางแก้ไขปัญหาตามที่คุณหมอเคยประสบมา

ซึ่งคงจะเป็นประโยชน์และช่วยกันเยียวยา

สภาพของคนไข้จิตเวชและผู้เกี่ยวข้องทุกคน

ไม่ให้ต้องเข้าสูภาวะตึงเครียดเกินไป

ดังที่ได้ประสบกันมาแล้ว

ขอเชิญคุณหมอแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันต่ออีกนะคะ

ยินดีรับฟังเสมอ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท