การสนทนาธรรมกับพระสุบิน ปณีโต : ประสบการณ์จากการเดินทางไปตราด


โดยพี่ส้ม อังคณา ใจเลี้ยง (สกว.)

  การเดินทางไปร่วมประชุมกับชุดโครงการการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชนในครั้งนี้ เป็นการเดินทางไปเพื่อติดตามโครงการเหมือนตามปกติที่เคยไป ทุกครั้งที่ไปเวทีของชุดโครงการนี้ สิ่งที่ได้คือ เพื่อน การได้รู้จักคนที่ทำงานเพื่อชุมชนของตนเอง การที่เราได้พบกลุ่มคนเหล่านี้ ถือว่าเป็นบุญของเราเลย เพราะการได้ฟัง ได้เห็น ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานกับเขา เป็นสิ่งที่มีค่า และเปิดโลกการเรียนรู้ได้อย่างดียิ่ง 

                จริงๆ การเขียนรายงานสรุปการเข้าร่วมประชุมของเราในแต่ละครั้ง ก็มักจะเป็นเชิงวิชาการ บอกประเด็นที่สำคัญ เสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ แต่ในครั้งนี้ ขอทำรายงานสรุปแบบเล่าเรื่องน่าจะดีกว่า เพราะอยากจะถ่ายทอดประสบการณ์และความประทับใจให้คนอื่นได้รู้ เผื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อคนอื่นๆ ได้บ้าง

  แนวคิดเรื่องสัจจะออมทรัพย์ เริ่มมาตั้งแต่ปี 2530 โดยใช้หลักฆราวาสธรรมเป็นการเริ่มต้น ต่อมาเริ่มมีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้ครบวงจร ตามหลักธรรมที่ว่าด้วยชีวิตมนุษย์อันเป็นวัฏฏะสงสาร  “….. เป็นเพื่อนทุกข์ เพื่อนเกิด เพื่อนแก่ เพื่อนเจ็บ เพื่อนตาย…” ชีวิตคนเรานั้นเวียนว่ายตายเกิด มีเกิด มีแก่ มีเจ็บ มีตาย เรามักจะนึกถึงกันตอนเกิดและเมื่อตายเท่านั้น แต่ระหว่างที่มีชีวิตอยู่ ไม่มีใครจะมาดูแลในระหว่างนั้น การทำบุญหรือการบริจาค จะเป็นการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ตั้งแต่เกิดจากว่าจะตายจากกันไป นั่นหมายถึงว่า หลักการตั้งกลุ่มสัจจะออมทรัพย์นั้น ตั้งต้นที่หลักการของ “การทำบุญ” หรือ การบริจาค” เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก 

                พระอาจารย์สุบิน ยังได้สอนอีกว่าการตั้งกลุ่มออมทรัพย์หรือการทำสวัสดิการวันละบาทต้องแยกให้ออกระหว่าง “การทำบุญกับการลงทุน” นั้นต่างกัน การทำบุญเป็นการตัดขาดการรับผลตอบแทน ในขณะที่การลงทุนนั้นหวังผลกำไร หวังผลตอบแทน นั่นก็ทำให้เราได้แนวคิดว่า การตั้งกลุ่มออมทรัพย์หรือการทำสวัสดิการวันละบาทเป็นเครื่องมือสำคัญในการเชื่อมคนกับธรรมะ ให้รู้จักการเสียสละ (จาคะ) และการทำบุญ

                พระอาจารย์ได้ตั้งคำถามถามพวกเราว่า “นาย ก ทำบุญ 10,000 บาท ส่วนนาย ข ทำบุญ 1 บาท ใครได้บุญมากกว่ากัน” บ้างก็ตอบว่าเท่ากัน แต่พระอาจารย์บอกว่า การทำบุญในหลักของพระพุทธศาสนา ไม่เน้นมากน้อย แต่เน้นที่การทำอย่าง “สม่ำเสมอ” นาย ก แม้จะทำบุญมากถึง 10,000 บาท แต่ทำเพียงครั้งเดียวในชีวิต ส่วนนาย ข นั้น ทำบุญเพียง 1 บาท แต่ทำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ เราได้ฟังดังนั้น ก็นึกได้ว่า เปรียบเหมือนกับการทำความดี หากชีวิตเราทำความดีเพียงครั้งเดียว ก็คงไม่เป็นคนดีเท่ากับคนที่คิดดี ทำแต่ความดี ตลอดเวลา 

                พระอาจารย์ยังได้เสริมว่า การทำบุญนั้น หรือการบริจาคเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์นั้น ต้อง “แปลงทุนมาเป็นบุญ” การมีจาคะ (การบริจาค การเสียสละ) จะทำให้เราระลึกถึงสิ่งที่ตนเองทำทุกวัน คนที่จะมีจาคะได้ ต้องมี เมตตา กรุณา มุทิตา (แต่ท่านไม่ได้พูดถึง อุเบกขา แต่เราเข้าใจว่า ท่านให้ใช้เมื่อเราเกิดอุปสรรคในการทำงานกลุ่ม เช่น มีคนไม่เห็นด้วย และใส่ร้ายการทำงานของกลุ่ม ก็ให้ปล่อยไป เพราะ เราไม่สามารถทำให้คนเข้าใจและเห็นดีในการทำบุญร่วมกันได้ทั้งหมด ก็เหมือนกับการเปรียบคนเหมือนบัวสี่เหล่านั้นเอง)

                แปลงทุนมาเป็นบุญ เป็นวลีที่ฟังแล้วเห็นภาพชัดเจนดีว่า การที่เรามาร่วมกันเป็นสมาชิกกลุ่ม “ทำบุญวันละบาท” ก็คือ กลุ่มคนที่ร่วมทำบุญและมีจาคะร่วมกัน เมื่อเราเจ็บป่วย ไม่มีใครนึกถึงเรา ก็ยังมีสมาชิกที่ร่วมทำบุญกันมา “ทำบุญวันละบาท” จึงหมายถึง การคิดถึงเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เมื่อเราเจ็บป่วย ตาย เราก็มีกัลยาณมิตรเหล่านี้ค่อยดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกัน 

                เมื่อเราได้ฟัง ทำให้เราได้คิดว่า การจะดำเนินงานกลุ่มสวัสดิการวันละบาทได้นั้น ต้องตั้งต้นให้ดี เริ่มต้นด้วยอะไร กรณีของเครือข่ายจังหวัดตราดนั้น เริ่มต้นด้วยหลักธรรม ใช้ธรรมะเป็นตัวเดินและเชื่อมคน โดยให้สมาชิกมองเห็น “บุญ” ไม่เน้น “ตัวเงิน” แม้การทำบุญจะเห็นผลช้ากว่าการใช้เงินล่อก็ตาม แต่ยั่งยืนกว่าและสุขสบายใจกว่า ซึ่งทำให้เราย้อนคิดไปว่า หลายๆ กลุ่มที่ไม่เข้มแข็ง หลายๆ กลุ่มที่ล้มเหลว หลายๆ กลุ่มที่ต้องเป็นหนี้มากมายนั้น เป็นเพราะเอา “เงิน” หรือ “ผลกำไร” หรือ “ผลตอบแทน” เป็นตัวตั้ง ทำให้ไปได้ไม่ไกล หรือไปไม่รอด และก็คงเหมือนกับการที่รัฐบาลนำเงินลงไปที่ชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็น กองทุนหมู่บ้าน SML ฯลฯ เป็นการใช้เงินเป็นตัวตั้ง ซึ่งเห็นผลเร็ว คือ มีเงินอยู่ในมือ แต่ผลที่ตามมาก็คือ ไม่สามารถทำให้ชาวบ้านระลึกได้ว่าควรต้องจัดการอย่างไร และสุดท้ายก็เกิดวงจรหนี้สินที่ไม่จบสิ้น

                อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเราจะเห็นด้วยว่า การทำบุญต้องไม่หวังผลตอบแทน แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า เวลาทำบุญเราก็มักจะคิดว่า “…ขอให้เรา….. ด้วยเถอะ…สาธุ” หรือไม่ก็ “ทำบุญด้วย… จะได้…” หรือ “ชาติหน้าจะได้รวยๆ” เป็นต้น แต่พระอาจารย์สุบินก็ให้แง่คิดในการปรับเปลี่ยนมุมมองและวิธีคิดการมองเห็นผลบุญ โดยใช้วลีว่า “บุญต่อบุญ” หมายถึงหากเราเป็นนักบุญเมื่อไรเราก็จะได้บุญ เป็นการเปลี่ยนวิธีคิดที่ดี และน่าจะทำให้เราสบายใจและปลงใจได้หากเมื่อทำบุญ (หรือทำดี) แล้วยังไม่ได้บุญ (ไม่ได้ดี) นั่นคงเพราะเรายังไม่เป็นนักบุญที่ดีพอนั่นเอง จำเป็นต้องฝึกฝนต่อไป “คน” ถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่สามารถเรียนรู้และฝึกธรรมะได้ หากเกิดมาแล้วไม่รู้จักเรียนรู้ฝึกฝน ก็เหมือนอย่างที่เขาว่า “เสียชาติเกิด”   

                มีประเด็นหนึ่งที่เราเห็นแตกต่างจากพระอาจารย์สุบิน

                พระอาจารย์บอกว่า “การออม” กับ “จาคะ” ต่างกัน จาคะ คือ การสละ แต่การออมนั้นยังหวังผล ซึ่งเราก็คิดว่าการออมกับจาคะนั้นต่างกัน แต่ที่เราเห็นแตกต่างจากพระอาจารย์ก็คือ การออม ไม่ได้หมายความว่าเป็นการหวังผลเสมอไป เพราะการออมยังสามารถใช้เป็นเครื่องมือใน “การระงับกิเลส” ได้ เราก็เลยขอนมัสการแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้กับท่าน โดยยกตัวอย่างโครงการ “บัญชีแก้มลิง”ซึ่งมาจากหลักการโครงการแก้มลิงในพระราชดำริฯ นั่นเอง โดยมีวิธีคิดว่า การที่คนเป็นหนี้สินนั้นเกิดจากการบริโภคในสิ่งอันไม่จำเป็นเป็นหรือเกินความจำเป็น การทำบัญชีแก้มลิงนี้จะเป็นการชะลอการจ่ายเงิน โดยการเก็บเงินที่จะใช้จ่ายสิ่งนั้นไว้ก่อน เพื่อให้มีสติในการไต่ตรองว่าสิ่งที่เราอยากได้นั้น จำเป็นหรือไม่ ซึ่งเป็นการใช้หลักธรรมในการออม โดยเชื่อว่ากิเลสของคนนั้น สามารถลดลงได้เมื่อเวลาผ่านไป หรือมีสติระลึกได้ สุดท้ายเราก็จะเห็นว่าของสิ่งนั้นไม่จำเป็น และเราก็ไม่ต้องเสียเงิน เงินก้อนนั้นก็จะกลายเป็นเงินออม 

                เมื่อพระอาจารย์สุบิน ได้ฟังข้อคิดเห็นแลกเปลี่ยนจากเราจบ พระอาจารย์ก็สอนหลักธรรม 4 ประการ คือ

 1.     ขยันหา

 2.     รู้จักรักษา

 3.     สร้างสรรค์มิตร (กัลยาณมิตร)

 4.     เลี้ยงชีวิตตามสมควร (สมถชีวิตา)

แล้วพระอาจารย์ก็สอนต่อไปว่า จะสอนคนให้เข้าใจได้นั้น ยาก ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจได้ทั้งหมด พระอาจารย์ได้สอนให้เข้าใจหลักธรรมที่เราฟังแล้วเข้าใจว่าเป็นธรรมที่สูงกว่าการออม หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นหลักธรรมที่นำไปสู่การออม ก็คือ “สมถชีวิตา” หรือการเลี้ยงชีวิตตามสมควร รู้จักตนเอง รู้จักพอเพียง รู้จักบริโภค เรื่องนี้จะให้ไปบอกกันไปสอนกันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ พระอาจารย์ก็เลยเล่าเรื่องที่พระอาจารย์สอนให้ชาวบ้านรู้จักทำบัญชีครัวเรือน ให้รู้ตัวเอง รู้จักการบริโภคของตัวเอง เมื่อเห็นข้อมูลตัวเองแล้ว จะรู้ว่าควรใช้จ่ายอย่างไร พระอาจารย์

                การจัดเวทีสัมมนา “การจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชน” จัดขึ้นเป็นระยะๆ โดยจัดตามพื้นที่ของโครงการ ซึ่งมี 5 พื้นที่ ได้แก่ นครศรีธรรมราช สงขลา ลำปาง ตราด และสมุทรปราการ เวทีนี้จัดเป็นครั้งที่ 4 โดยจัดที่จังหวัดตราด ระหว่างวันที่ 17-19 มีนาคม 2549 

                ทุกจังหวัดเดินทางไปรวมตัวกันตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2549 ที่วัดบ้านดงกลาง จ.ตราด แต่เราไม่ได้ไปด้วยเนื่องจากมีงานที่คั่งค้างอยู่และต้องการทำให้เสร็จ เลยขอตามไปเช้าวันที่ 18 มีนาคม 2549 ซึ่งตามกำหนดการเป็นเวทีการนำเสนอการทำงานที่ผ่านมาของแต่ละจังหวัด และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

                เช้าวันที่ 18 มีนาคม 2549 เราเดินทางไปตราด โดยเครื่องบิน (ก็เพิ่งทราบค่ะว่า ตราดทีเครื่องบินไปลงด้วย เป็นสายการบิน Bangkok Airway ผู้โดยสารที่ไปตราดเที่ยวนี้เกือบ 100% เป็นชาวต่างชาติค่ะ คงจะไปเที่ยวเกาะช้างกันค่ะ) ถึงตราดประมาณ 9.30 น. ไม่ delay อย่างที่คิดไว้ แต่รถที่มารับ delay ไปกว่าครึ่งชั่วโมง เพราะเขาเข้าใจว่าเครื่องบินที่เรามาคงจะ delay เราก็เลยนั่งรอที่สนามบินกว่าครึ่งชั่วโมง สนามบินตราดเป็นสนามบินที่เล็กมาก เป็นศาลาหลังคามุงจาก ดูน่ารักดีค่ะ ด้วยความที่เป็นสนามบินเล็ก และมีเรานั่งรออยู่คนเดียว คนอื่นเขาไปกันหมดแล้ว ทำให้เป็นจุดสนใจของเจ้าหน้าที่สนามบิน รวมไปถึง รปภ. เข้ามาสอบถามเรื่อยเลย ว่ารออะไร จะไปไหน มีอะไรให้ช่วยไหม (ดีจังไม่เหงา) เมื่อรถมารับแล้ว และไปถึงโรงแรมที่จัดงาน เวทีก็เริ่มไปแล้ว แต่ก็ไม่เป็นไร เพราะเราเป็นเพียงผู้สังเกตการณ์ 

                เวทีในครั้งนี้ก็ได้พบคนใหม่ๆ อีกเช่นเคย เหมือนทุกครั้ง โดยครั้งนี้ มีเครือข่ายจากลำปาง มาร่วมเวทีเยอะมาก เพราะโครงการในพื้นที่ลำปาง มีเป้าหมายว่าจะเคลื่อนงานและขยายเครือข่ายไปทั้งจังหวัด (จริงๆ แล้ว ลำปางตั้งเป้าหมายไว้สูงตั้งแต่ตอนที่เสนอโครงการแล้ว แม้จะปรับเป้าหมายลงมาบ้าง แต่ก็ยังไม่ละความพยายามที่จะไปให้ไกลขึ้น เพื่อให้ถึงความฝันที่ตั้งไว้) และยังมีนักศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์อีกหลายคน ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของ ดร.ทิพย์วัลย์ สีจันทร์ (หรืออาจารย์ตุ้มที่พวกเราเรียกกัน) มาร่วมสังเกตการณ์ในครั้งนี้ด้วย

                เวทีในวันที่ 18 มีนาคม 2549 ก็เป็นไปตามกระบวนการที่เคยเป็นเหมือนครั้งก่อนๆ คือ การเล่าประสบการณ์ การสรุปบทเรียนจากการทำงานที่ผ่านมา และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งเป็นกระบวนการจัดการความรู้ในรูปแบบของหัวหน้าชุดโครงการ (คุณภีม ภคเมธาวี) ที่แตกต่างไปจากครั้งก่อนๆ ก็คือ แต่ละพื้นที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งคุณกิจ คุณอำนวย และคุณวิจัย โดยเฉพาะนครศรีธรรมราชและสมุทรปราการ ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าจะตั้งกองทุนสวัสดิการ ทำให้ทั้ง 2 ทีมพยายามเรียนรู้การทำงานของจังหวัดอื่นๆ เพื่อมาปรับใช้ในพื้นที่ของตนเอง ซึ่งการจัดเวทีในครั้งนี้ น่าจะเป็นประโยชน์กับทั้ง 2 จังหวัด รวมถึงจังหวัดอื่นๆ ด้วย 

                ที่บอกว่าเป็นประโยชน์มาก ก็เพราะว่า รายการกิจกรรมหลังจากรับประทานอาหารเย็นเสร็จแล้ว เวลาประมาณ 18.30 น. เราต้องเดินทางไปนมัสการท่านพระอาจารย์สุบิน ปณีโต ที่วัดไผ่ล้อม เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กับท่านในเรื่องการจัดสวัสดิการชุมชน เมื่อเราไปถึงวัดไผ่ล้อม ทางทีมจังหวัดตราดได้เตรียมปลาไว้ให้พวกเราได้ปล่อยปลาลงสู่บ่อของวัด ปลาเหล่านี้เป็นปลาที่ทางทีมงานได้ซื้อมาจากตลาด เป็นปลาที่แม่ค้ากำลังจะนำไปขาย การปล่อยปลาร่วมกันในคราวนี้ เราก็ได้ขอให้ความทุกข์ได้ถูกปลดปล่อยไปพร้อมปลาด้วย เมื่อปล่อยปลาแล้ว เราก็ไปศาลาที่พระอาจารย์สุบินกำลังรอพวกเราอยู่ เมื่อไปถึงกราบนมัสการท่านแล้ว ท่านก็นำพวกเราสวดมนต์ทำวัตรเย็นและนั่งสมาธิ (เป็นการทำวัตรเย็นอย่างย่อ หากทำวัตรเย็นเต็มรูปแบบ คงจะขาชา ลุกกันไม่ขึ้นไปตามๆ กัน เพราะแต่ละคนอายุก็ไม่น้อยแล้วค่ะ)

                หลังจากที่พวกเราทำวัตรเย็นเสร็จเรียบร้อย ท่านก็เริ่มสนทนากับพวกเรา ท่านบอกพวกเราว่าไม่มีประเด็นจะเริ่ม ให้พวกเราเริ่มต้นก่อนโดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงาน หรือจะนมัสการถามท่านก็ได้ ท่านยินดีจะตอบคำถามต่างๆ หนึ่งในพวกเราก็เลยเริ่มต้นด้วยคำถามเกี่ยวกับหลักการของสวัสดิการวันละบาท 

ท่านพระอาจารย์สุบินก็เริ่มอธิบายหลักการเรื่องนี้ โดยการอธิบายธรรมะที่จะนำไปสู่สุขของฆราวาส หรือที่เรียกว่า ฆราวาสธรรม คุณธรรม 4 ประการ อันได้แก่

1. ธรรมะ                อธิบายง่ายๆ ก็หมายถึง การสำรวม อยู่ในร่องในรอย

2. ขันติ                     หมายถึง ความอดทน

3. จาคะ                    หมายถึง การบริจาคเพื่อให้คนอื่นเป็นสุข

4. สัจจะ                 หมายถึง ความจริง

แล้วพระอาจารย์ก็สอนต่อไปว่า จะสอนคนให้เข้าใจได้นั้น ยาก ไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจได้ทั้งหมด พระอาจารย์ได้สอนให้เข้าใจหลักธรรมที่เราฟังแล้วเข้าใจว่าเป็นธรรมที่สูงกว่าการออม หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็นหลักธรรมที่นำไปสู่การออม ก็คือ “สมถชีวิตา” หรือการเลี้ยงชีวิตตามสมควร รู้จักตนเอง รู้จักพอเพียง รู้จักบริโภค เรื่องนี้จะให้ไปบอกกันไปสอนกันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ พระอาจารย์ก็เลยเล่าเรื่องที่พระอาจารย์สอนให้ชาวบ้านรู้จักทำบัญชีครัวเรือน ให้รู้ตัวเอง รู้จักการบริโภคของตัวเอง เมื่อเห็นข้อมูลตัวเองแล้ว จะรู้ว่าควรใช้จ่ายอย่างไร พระอาจารย์ 
เชื่อมโยงเรื่องนี้กับการแก้ปัญหาความยากจน เราก็เลยได้โอกาสที่จะเล่าให้พระอาจารย์ฟังว่า สกว. ทำงานโครงการบูรณาการจังหวัดเพื่อแก้ปัญหาความยากจน ในพื้นที่ 12 จังหวัดนำร่อง และมีแนวคิดเช่นเดียวกับพระอาจารย์ และได้ทำให้ชาวบ้านเกิดการเรียนรู้จากข้อมูลของตนเอง

                คณะของพวกเราสนทนาแลกเปลี่ยนกับพระอาจารย์อยู่นานกว่า 2 ชั่วโมง (จน 3 ทุ่มกว่า) ก็กราบนมัสการลาพระอาจารย์สุบิน ก่อนกลับ พระอาจารย์สุบินได้บอกกับพวกเราว่า “การทำงานย่อมมีปัญหาเป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีการทำงานใดที่ไม่มีปัญหา” ท่านต้องการให้พวกเราไม่ท้อแท้กับปัญหา และมีสติในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น หากมีปัญหาที่ไม่สามารถแก้ได้ก็ให้รู้จักปล่อยวางนั่นเอง  

                เย็นวันนั้นของเรา ถือว่าเป็นวันที่ประทับใจที่ได้มีโอกาส “สนทนาธรรม” กับพระอาจารย์สุบิน ปณีโต ที่เราได้เคยแต่ได้ยินแนวคิดของท่านจากเล่าของคนอื่น ได้อ่านเรื่องของท่านผ่านการเขียนของคนอื่น วันนี้เป็นวันที่เราได้มีโอกาสได้แลกเปลี่ยนและเรียนรู้หลักธรรมจากท่าน ถือว่าเป็นบุญของเราจริงๆ เป็นสุขใจอย่างที่สุด รู้สึกจิตใจสงบขึ้นมาอย่างบอกไม่ถูก รู้สึกจิตนิ่ง ไม่วอกแวก และคืนนั้น เราก็หลับสนิท ทั้งที่เราเป็นโรคนอนไม่หลับมาเป็นเดือนแล้ว คงจะจริงที่โรคภัยนั้นเกิดจากจิต เมื่อจิตได้รับธรรม โรคภัยนั้นก็พลันหายไป

สงสัยตัวเองอยู่ว่า ถ้าเราได้สนทนากับพระอาจารย์นานกว่านี้ เราจะกลับมาบวชชีหรือเปล่าน้า…??? อย่างไรก็ตาม ถึงไม่บวชชี เราก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ 

การเดินทางในครั้งนี้ ได้ประสบการณ์ ได้เรียนรู้งานชุมชนจากกัลยาณมิตรได้เรียนรู้ธรรมะผ่านการทำงาน ถือว่าเป็นการเดินทางที่มีคุณค่าจริงๆ ต้องขอบคุณ สกว. และอาจารย์สีลาภรณ์ ที่อนุมัติให้เดินทางไปร่วมงานในครั้งนี้ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 23727เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2006 16:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 12:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท