เครือข่าย สพช. (4) กระบวนทัศน์ ทิศทางการพัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุไทย


ประเทศไทย เป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ตั้งแต่ปี 2549 ครับ

 

เป็นการบรรยายเกียรติยศ จาก นพ.บรรลุ ศิริพานิช ค่ะ ท่านบรรยายไว้ว่า

ท่าจะมี 6 หัวข้อที่จะได้พูดถึง ก็คือ

1. ข้อมูลพื้นฐาน หรือภาพรวมของผู้สูงอายุไทย

เดี๋ยวนี้เรามีผู้สูงอายุ 7 ล้านคน 10% ของประชากรทั้งหมด เราพูดกันว่า เดี๋ยวนี้ สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุแล้ว การที่จะเรียกว่า สังคมไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุ มีกติกาอยู่ 3 ข้อ 1) ถ้าสังคมใดมีผู้สูงอายุ คือ อายุ 60 ปีขึ้นไป ถึง 10% ของประชากรทั้งหมด เขาเรียกว่าสังคมนั้นเป็นสังคมผู้สูงอายุ หรือ 2) ถ้าสังคมใดมีผู้มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ถึง 7% ของประชากรทั้งหมด ก็เรียกว่า สังคมนั้นเป็นสังคมผู้สูงอายุ หรือ 3) สังคมใด หรือประเทศใด หรือชุมชนใด ถ้าเอาคนมายืนเขาแถวกัน ตั้งแต่เลขที่ 1 ถึง 100 ถ้าคนที่ 50 อายุ 30 ปี ก็ถือว่า สังคมนั้นเป็นสังคมผู้สูงอายุ

ประเทศไทย เป็นประเทศที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ตั้งแต่ปี 2549 ครับ

  • ผู้สูงอายุไทยส่วนใหญ่อยู่ในชนบท ประมาณ 71% เพราะฉะนั้นเวลาจะคิดอะไร ต้องคิดถึงผู้สูงอายุซึ่งเป็นส่วนใหญ่ที่อยู่ในชนบท
  • ผู้สูงอายุค่อนข้างจะมีการศึกษาค่อนข้างน้อย อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ 23% ผู้สูงอายุไทยที่จบปริญญาตรีมีประมาณ 2% จบประถมฯ ส่วนใหญ่ เพราะฉะนั้น ท่านจะทำอะไรเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ต้องเข้าใจ ว่า ผู้สูงอายุไทย จบ ป.4 ถึง 62% ... ที่ผมพูดเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่า คนที่ไม่ได้เรียนนี้โง่ ไม่ใช่นะครับ คนไม่ได้เรียนหนังสือนี่ เป็นปราชญ์เยอะ ... แต่เป็นข้อมูลให้ท่านได้ทราบว่า ผู้สูงอายุที่เข้าเรียนตามระบบ ที่จบปริญญา ที่มีอายุ 60 ปีขั้นไปนี้ 2% เท่านั้น เพราะฉะนั้น ถ้าจะทำอะไรเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ต้องดูสักนิดหนึ่ง
  • เรื่องสุขภาพ ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพไม่ดี ไม่ดีมากๆ และลำบากมาก เกือบ 30% ... นี้เป็นโจทย์ในการพัฒนาด้านสุขภาพ เป็นโจทย์ไว้ในใจว่า ผู้สูงอายุที่มีสุขภาพไม่ดีเกือบ 30% เพราะฉะนั้น มีงานที่จะทำเกี่ยวกับผู้สูงอายุที่สุขภาพไม่ดีเยอะ ไม่ใช่น้อยเลย
  • สุดท้าย ที่เป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ ก็คือ ผู้สูงอายุที่ยากจน ผมใช้ตัวเลขของสภาพัฒน์เมื่อปี 2549 ที่ว่า ถ้าใครก็ตามมีรายได้ 1,400 บาท ต่อเดือน ถือว่ายากจน ผู้สูงอายุมี 20% และปรากฎว่า แนวโน้มที่ผู้สูงอายุยากจนจะลดลง หมายความว่า ปี 2553 และต่อๆ เปอร์เซนต์ของผู้สูงอายุที่ยากจนจะลดลง เหตุที่ลดลง ก็เพราะว่า ผู้สูงอายุมีความฉลาดมากขึ้น เหตุที่มีความฉลาดมากขึ้น เพราะว่าผู้สูงอายุตอนนี้ที่แก่ก็จะตายไป และคนหนุ่มที่จะมาเป็นผู้สูงอายุ ก็จะเข้ามาแทนที่ คนที่มาแทนที่เขาฉลาดมากขึ้น เขาก็ไม่ค่อยยากจนเท่าไร

ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้ แต่ผมขอเรียนว่า ถ้าจะทำงานเกี่ยวกับผู้สูงอายุมีหนังสือดีเล่มหนึ่ง คือ รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ.2550 จะมีข้อมูลผู้สูงอายุทั้งหมด ติดต่อกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จะมี CD แจก

2. ความจริงเรื่องสุขภาพ ในเรื่องของการพัฒนาสุขภาพ

ข้อแรก คือ สุขภาพเป็นขบวนการที่ต่อเนื่อง ตั้งแต่ปฏิสนธิ จนถึงตาย และมีนัยยะต่อกัน หมายความว่า เรื่องสุขภาพ แก่แล้วมาพูดเรื่องสุขภาพไม่ได้ สุขภาพเป็นขบวนการที่ต่อเนื่อง ตั้งแต่ปฏิสนธิ ในมดลูกของแม่ ถ้าปฏิสนธิแข็งแรง เด็กคนนั้นก็แข็งแรง เป็นนักเรียนเข้าโรงเรียนก็แข็งแรง เป็นผู้ใหญ่ก็แข็งแรง เป็นผู้สูงอายุก็แข็งแรง จะมาแข็งแรงตอนเป็นผู้สูงอายุ มันเป็นไปไม่ได้ ทั้งหมดนี้ต้องต่อเนื่อง ถ้าเด็กไม่แข็งแรง เป็นผู้ใหญ่ก็ไม่แข็งแรง และผู้สูงอายุก็ไม่แข็งแรง มันต้องต่อเนื่องกัน

เพราะฉะนั้น ที่เราจะทำผู้สูงอายุในปัจจุบันนั้น มันต้องเริ่มตั้งแต่อยู่ในมดลูก ... ถ้าตัดบทมาทำผู้สูงอายุ เรื่องสุขภาพ มันลำบาก

การดำเนินงานเกี่ยวกับสุขภาพ ส่วนใหญ่ผู้สูงอายุดำเนินการเอง แต่ละคนดำเนินการเองได้ มีแต่ส่วนน้อยเท่านั้นที่ผู้อื่นดำเนินการให้ หมายความว่า ในเรื่องสุขภาพ ท่านทั้งหลายที่นี่ ถ้าอยากมีสุขภาพดี ท่านต้องดำเนินการเอง จะให้ผู้อื่นดำเนินการให้ไม่ได้ มีส่วนน้อยเท่านั้นที่ทำเองไม่ได้ ต้องให้คนอื่นทำให้

คิดง่ายๆ ว่า ถ้าท่านอยากแข็งแรง ท่านก็ต้องกินข้าว ถามว่าใครกิน ท่านก็ต้องกินเอง ใครกินแทนก็ไม่ได้ หรือว่า ท่านอยากจะแข็งแรง ท่านก็ต้องออกกำลังกายเอง ... ผมจึงบอกว่า เรื่องสุขภาพนั้น ส่วนใหญ่ดำเนินด้วยตนเอง เป็นของใครของมัน ถ้าท่านอยากแข็งแรง ท่านก็ต้องดำเนินการเอง ซื้อไม่ได้ ออมไม่ได้ อาราธนาพระคุณเจ้าก็ไม่ได้ นี่เป็นความจริงเกี่ยวกับสุขภาพ จะมีส่วนน้อยเท่านั้น ที่ผู้อื่นดำเนินการให้ได้

3. งานเกี่ยวกับผู้สูงอายุ

มีหลายอย่าง ไม่ใช่เรื่องของสุขภาพอย่างเดียว มันจะเกี่ยวเนื่องกัน มีนัยยะต่อกัน ถ้าสุขภาพดี สวัสดิการก็ดี ถ้าสุขภาพไม่ดี มันก็ยากจน ถ้ายากจนก็เจ็บป่วย มันเป็นนัยยะ ต่อเนื่องกัน ... งานที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ ถ้าเราจะดูโดยใหญ่ๆ มี 2 อย่างเท่านั้น คือ

  • ผู้สูงอายุที่ช่วยตนเองได้ จะต้องพัฒนาให้คงช่วยตัวเองได้ตลอดไป ถ้าจะดีก็ต้องให้ดีขึ้นไปอีก ขับรถเอง ทำอะไรเองได้ ก็ยิ่งดี
  • ผู้สูงอายุที่ช่วยตนเองไม่ได้ ต้องสงเคราะห์

ถ้าท่านทำงานเรื่องสุขภาพก็ต้องนึกว่า เขาช่วยตัวเองได้ไหม ถ้าไม่ได้จะทำยังไงในเรื่องสุขภาพ

ในทางการศึกษา ก็มองผู้สูงอายุอย่างนี้ การศึกษาจะเป็นอย่างไร ถ้าผู้สูงอายุที่ช่วยตนเองไม่ได้ ก็ต้องสงเคราะห์ ไม่สงเคราะห์ไม่ได้ เพราะกว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ได้ทำงานให้กับสังคมพอสมควรแล้ว ท่านที่ยังไม่สูงอายุ ท่านก็ทำงานทางการแพทย์ การศึกษา เรื่องสังคม หรือเรื่องอื่นๆ ในขณะที่ท่านทำงาน ท่านได้เสียภาษี ให้หลวงฯ เอามาสร้างถนน เอามาสร้างโรงเรียน ดังนั้น ท่านได้ทำให้กับสังคมพอสมควร เพราะฉะนั้น เมื่อท่านเป็นผู้สูงอายุ ท่านก็ต้องได้รับการตอบแทน ก็คือ การสงเคราะห์ ถ้าท่านทำอะไรไม่ได้ ก็เลยบอกว่า ไม่สงเคราะห์ไม่ได้

... นั่นคือ งานที่ผู้สูงอายุต้องการการสงเคราะห์

งานผู้สูงอายุไม่ใช่แต่สุขภาพเท่านั้น มีงานการศึกษา รายได้ สวัสดิการ และอีกเยอะ ... ผมขอเรียนเรื่องหนึ่งว่า เนื่องจาก ผู้สูงอายุ การศึกษาค่อนข้างต่ำ ถ้าท่านจะหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ท่านก็ต้องมี Questionnaire ถ้าท่านใช้ภาษายุ่งยากกับผู้สูงอายุ จะไม่เข้าใจครับ ตอบยาก ... ผมสัมผัสผู้สูงอายุมาเยอะ ตลอดเวลาเกือบ 30 ปี ผมเคยตั้งปัญหาถามผู้สูงอายุด้วยกัน ถามว่า ในชีวิตของท่านทั้งหลายที่เป็นผู้สูงอายุ ถ้าจะให้เลือกเอาอย่างหนึ่ง ท่านอยากได้อะไร ผู้สูงอายุตอบว่า ถ้าเลือกได้ ขอให้ฉันมีสุขภาพดี ผมถามต่อว่า ถ้าให้เลือกอีกข้อหนึ่งจะเอาอะไร เขาบอกว่า ข้อที่สอง ขอให้ฉันอยู่กับลูก กับหลานอย่างมีความสุข

ผมพูดเรื่องนี้ หมายความว่า นั่นละ คือเป้าหมายผู้สูงอายุ งานเกี่ยวกับผู้สูงอายุ ถ้าท่านไปสู่เป้าหมายนั้นได้ มันก็สำเร็จ

4. งานพัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุไทย ... งานสุขภาพหนีไม่พ้น การส่งเสริม ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู

งานพัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุ ผมคิดว่า งานส่งเสริม งานป้องกัน เป็นเรื่องสำคัญ จะต้องทำอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ไม่ให้ผู้สูงอายุป่วยได้เป็นดีที่สุด คือไม่ต้องรักษา เป็นดีที่สุด ทำไม

ผมขอยกตัวอย่าง ผมมีดอง บังเอิญเป็นเบาหวาน เมื่อเร็วๆ นี้ ลูกๆ เดินทางไปเมืองอินเดีย ไปสักการะสังเวชนียสถาน 4 แห่ง แม่เป็นเบาหวาน อยู่ที่บ้าน แม่เกิดน้ำตาลต่ำ unconscious ต้องรีบนำส่ง รพ.เอกชน ทันที 3 วัน ต้องจ่ายค่ารักษาแสนกว่าบาท ต้องย้ายมา รพ.ราชวิถี เพราะว่าค่าห้อง 50,000 บาท ตัวอย่างนี้ แสดงให้เห็นว่า ถ้าเป็นผู้สูงอายุ อย่าป่วย ป่วยแล้วมี 2 ประเด็น ประเด็นหนึ่งคือ ตาย อีกประเด็นหนึ่ง คือ จน คือไม่ตายก็จน จนเพราะค่าใช้จ่ายสูง

เพราะฉะนั้น งานพัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุนี้ การรักษาต้องคงไว้สุดท้าย ผมเองบอกตัวผมเองว่า ถ้าผมจะบริหารร่างกายของผม บริหารชีวิต ผมจะทำให้วันนี้ ไม่ป่วย ถ้าเมื่อไรผมป่วย เกิดมาเป็นคนก็ต้องป่วย ต้องตาย ผมจะบริหารชีวิตของผมให้ป่วยสั้นๆ และตายเสีย ถ้าวิธีนี้ทำได้ จะเกิดการได้ประโยชน์ทั้งตัวผมเอง ที่ไม่ต้องทุกข์ทรมาน และได้ประโยชน์กับญาติพี่น้องเพื่อนฝูง จะไม่ต้องทุกข์ทรมาน เป็นประโยชน์กับประเทศชาติ ไม่ต้องเสียเงิน

ดังนั้น งานพัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุ ต้องทำในเรื่อง ส่งเสริม ป้องกัน ฟื้นฟู นะครับ

ท่านผู้ใดที่ทำงานอยู่ สปสช. ผมมีความเห็นว่า ปัจจุบันนี้ คนอายุครบ 60 ปีขึ้นไป ที่เราเรียกว่าผู้สูงอายุควรจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกคนฟรี ปัจจุบันไม่ฟรีครับ ผมฉีดทุกปี และผมได้ประโยชน์ คุ้ม เพราะว่าผมไม่ป่วยเลย นี่เป็นการป้องกันที่คุ้มค่าที่สุด ถ้าไม่ป่วยก็ต้องป้องกัน

เรื่องการฟื้นฟู ผมไปที่ต่างๆ ได้สังสรรค์กับผู้สูงอายุเยอะ ผมสังเกตว่า เวลาที่เราฟื้นฟู เรามักซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศมา ให้ผู้สูงอายุใช้ เพราะว่าซื้อง่าย จ่ายเงินง่าย ผมมีความเห็นว่า งานฟื้นฟูมีความจำเป็นต้องใช้วัสดุในประเทศไทย และจัดการบริการให้ทำได้ในครอบครัว ซึ่งทำได้

ยกตัวอย่าง เรื่องจริงเรื่องหนึ่ง ผมมีคนไข้คนหนึ่ง โทรศัพท์มาหาบอกว่า ดิฉันตกบันได ผมก็บอกว่า ก็ต้องไปโรงพยาบาล รีบไปเสีย เรื่องก็จบลง ประมาณ 20 วันหลังจากนั้น เธอก็โทรศัพท์มาอีก บอกว่า คุณหมอฉันไปแล้ว เขาผ่าตัดกระดูกต้นขามันหัก ผมบอกก็ดีแล้ว ... ดิฉันก็กลับมาบ้านแล้ว ดีมาก แต่เขาบอกว่า ฉันต้องไปฟื้นฟูที่โรงพยาบาล ผมบอกก็ดี ให้รีบไป แต่เธอบอกว่า มันไปไม่ไหวนะหมอ ... ต้องนั่งแท๊กซี่ไป ไปก็ 200 ก็บอกว่านั่งรถเมล์ เธอก็บอกว่า รถเมล์ก็ต้องไปตอนสายๆ มันไม่สะดวก เพราะว่ารถเมล์จอดแล้วเราก็ต้องขึ้นทางยกระดับ ขึ้นบันไดไม่ไหว พูดง่ายๆ ก็คือ เข้าไม่ถึง
ผมมาคิดดู ผมก็ไปดูแผนกฟื้นฟู ก็ปรากฎว่า คนที่มาใช้บริการฟื้นฟูสุขภาพของที่โรงพยาบาลนี้ ส่วนใหญ่เป็นคนมีเงิน นั่งรถมาเอง ผมคิดว่า นี่ใช้ไม่ได้ ผมคิดว่า งานฟื้นฟูนี้สามารถทำได้ในชุมชน และในครอบครัว

งานพัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุนั้น ก็ต้องทำทั้งกาย ทั้งจิต ทั้งสังคม และทางปัญญา

สุขภาพทางกาย

  • ควรเน้นเรื่องอาหาร ถ้าท่านทั้งหลายจะทำเรื่องอาหารในผู้สูงอายุ ขอให้ทำอาหารในท้องถิ่นนั้นๆ อย่าเอาอาหารของเมืองหลวงไปบอกผู้สูงอายุในส่วนภูมิภาค ต้องเน้นอาหารของภาคของเขาให้ได้ และเวลาพูดเรื่องอาหาร ท่านต้องเข้าใจ ไปเน้นอาหารคนกรุงเทพฯ ให้กับต่างจังหวัดไม่ได้
  • เรื่องออกกำลังกาย ท่านจะต้องมีความรู้ว่า การออกกำลังกายในผู้สูงอายุควรจะทำอย่างไร จะทำอย่างไรก็ตามให้เหมาะสม ปัจจุบัน การออกกำลังกายในผู้สูงอายุมีหลากหลายเหลือเกิน ท่านอย่าถือตัวเองเป็นที่ตั้ง เอาเขาเป็นที่ตั้ง ถ้าภาคใต้ อาจมีรำรองเง็ง ภาคเหนือก็มีฟ้อน อย่าไปมุ่งแต่แอโรบิค คงเป็นไปไม่ได้

สุขภาพทางจิต

  • ผมขอเสนอแนะว่า การรวมกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบันมีชมรมผู้สูงอายุทั่วประเทศไทย ประมาณ 14,000 กว่าชมรมฯ ขอให้เน้นการรวมกลุ่มให้ได้ ถ้าผู้สูงอายุรวมกลุ่มกันได้ ท่านก็เอาสุขศึกษาไปขายที่นั่นได้ทันที ท่านจะสร้างอะไรก็ตาม ขอให้พยายามสร้างชมรมผู้สูงอายุให้ได้ ในนี้มีทั้งผู้ทำงานเกี่ยวกับ อบต. อปท. ถ้าท่านมีนโยบาย ขอให้เน้นการรวมกลุ่มผู้สูงอายุ จะได้ประโยชน์มาก ในเรื่องสุขภาพจิต และเรื่องต่างๆ
  • อีกอันหนึ่งคือ ครอบครัว ถ้าครอบครัว สุขภาพจะดี ถ้าครอบครัวไม่ดี ก็วุ่นวาย
  • เรื่องการศาสนา จะช่วยเรื่องสุขภาพจิต

ทางสังคม

  • ก็ต้องเน้นเรื่องการรวมกลุ่ม ยกย่องให้ผู้สูงอายุมีบทบาททางสังคมให้ได้ ยกย่องให้ผู้สูงอายุมีจิตอาสาให้ได้ ในปัจจุบันนี้ มีการรวมกลุ่มของผู้สูงอายุ และมีการทำงานเรื่องอาสาดูแลผู้สูงอายุด้วยกันเอง เช่น เพื่อนช่วยเพื่อน จะมีเกือบทุกจังหวัด ถ้าให้ผู้สูงอายุได้ทำงานตามสมัครใจ จะทำให้เขามีสุขภาพทางสังคมดี

สุขภาพทางปัญญา

  • ที่ผมสังเกตในเร็วนี้ สุขภาพทางปัญญาในผู้สูงอายุค่อนข้างไม่ได้ เพราะว่า การศึกษาของผู้สูงอายุไปไม่เร็ว ขอให้ท่านทั้งหลายไปคิดเอาเองว่า เราควรเน้นการศึกษาต่อเนื่อง การศึกษาตามอัธยาศัย บนพื้นฐานของเศรษฐกิจพอเพียง

5. ใครเป็นคนทำ ?

ผมมีความเห็นว่า คนทำ อันแรกคือ ตัวผู้สูงอายุเอง ... เราต้องบังคับให้ผู้สูงอายุทำเองให้ได้ ปัจจุบันนี้เราแก่ประชาธิปไตย ตามใจมาก แต่ผมว่า การตามใจมากไม่ดี ทำให้ไม่มีระเบียบวินัย ถ้าแต่ละคนมีระเบียบวินัย ตัวผู้สูงอายุก็ต้องทำเอง ออกกำลังกายออกเอง ทำอะไรทำเอง นี่คือ คำตอบว่า ใครเป็นคนทำ ถ้าเมื่อไรไม่รู้จักทำเอง ก็เสียนิสัย

ถ้าไม่งั้นก็คือ ครอบครัว ... ทำอย่างไรให้ครอบครัวมีส่วนในเรื่องของผู้สูงอายุ ผมเปรียบครอบครัวเหมือนวงดนตรี ออเคสตร้า หรือวงดนตรีไทย ผู้สูงอายุเขาเล่นดนตรีในครอบครัว ต้องเป็นคนให้จังหวะ

ในเรื่องชุมชน ก็สำคัญ ต่อไป อบต. อปท. น่าจะเป็นตัวหลัก มีความสำคัญในการทำงานเพื่อสุขภาพผู้สูงอายุ เดี๋ยวนี้เงินของหลวงไป อบต. อปท. เกือบ 25% ดังนั้น ขอให้ชุมชน อบค. อปท. สนใจในเรื่องนี้ ก็จะเป็นการดี

สุดท้ายจึงจะเป็นเรื่องรัฐ ที่จะออกกฎหมาย แต่ว่าช้า

นี่คือ ถ้าเราสามารถไปกระตุ้นผู้สูงอายุ ว่า เขาต้องทำของเขาเองได้ เมื่อไรแล้วละก็ งานนั้นสำเร็จ

เป้าหมายผู้สูงอายุที่บอกว่า "อยากอยู่กับลูกกับหลาน" ผมได้เห็นเป้าหมายที่สำคัญมาก ปี 2551 มีการคัดเลือกผู้สูงอายุแห่งชาติ เมื่อปี 2550 ได้แก่ ท่านปัญญา นันทภิกขุ ปี 2551 ได้แก่ นายแพทย์เสม พริ้มพวงแก้ว อายุ 95 ปี ได้เชิญ นพ.เสม ไปในงานวันผู้สูงอายุแห่งชาติ 13 เมษายน ท่านได้พูดสิ่งที่ผมจำไว้ในใจว่า "อุดมการณ์ของผู้สูงอายุ คือ ทำอย่างไรจะให้คน generation ใหม่ ดีกว่า generatio เก่า" นั่นคือ อุดมการณ์ของผู้สูงอายุแห่งชาติไทย ปี 2551

6. ข้อสุดท้าย คือ ทิศทางการพัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุ

ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่รัฐธรรมนูญ แต่ผมขอตัดตอนมาที่ ทิศทางของท่านทั้งหลายในการทำงานผู้สูงอายุ ที่ท่านต้องทำแน่ๆ ขอให้ดูแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ซึ่งมี 2 แผนแล้ว แต่ละแผนใช้เวลา 20 ปี แผนแรก พ.ศ.2525-2545 จบแผนที่ 1 แผนที่ 2 พ.ศ.2545-2565 ขอให้อ่านแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการให้กระทรวง ทบวง กรมฯ อนุมัติหลักการแล้ว ไม่ใช่แผนลอยๆ

ถ้าท่านจะทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาสุขภาพ ขอให้ดูธรรมนูญสุขภาพ แต่เสร็จไป 80% กำลังพิมพ์จัดส่งให้กรรมการสุขภาพแห่งชาติรับรอง และส่งให้รัฐบาลอีกทีหนึ่ง ขอให้ท่านศึกษาไว้ เพราะว่าหนีไม่พ้น

และสุดท้าย ขอให้ท่านดำเนินการตามแผน ของ อบต. อบจ. อปท. ซึ่งทั้งหมดจะต้องมีแผน โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขต้องเป็นแม่บทใหญ่ ต้องมีแผน

นี่ก็คือ ทิศทางการพัฒนาสุขภาพผู้สูงอายุไทย

รวมเรื่อง ภาคีร่วมพัฒนาระบบดูแลผู้สูงวัย

  

หมายเลขบันทึก: 237031เขียนเมื่อ 23 มกราคม 2009 21:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 20:11 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
  • จริงดัง อจ.หมอท่านว่า
  • ต้องเริ่มพัฒนาและวางแผนกันมาตั้งแต่ยังเป็นวุ้นเลย
  • ตั้งแต่สเปิร์มเจาะไข่แดงแม่ได้
  • ว่าจะให้เด็กที่จะออกมาแข็งแรงอย่างไร
  • โตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพเช่นไร
  • และแก่อย่างมีศักยภาพอย่างไร
  • เพราะทุกวันเรามาแก้ที่ปลายเหตุ
  • อีกสักกี่ปี
  • จะครบวงจรตามที่ อจ.ท่านว่า...
  • บ่นๆๆ   แลวจะไปนอนแล้ว  อิอิ

 

                            ง่วงอ่ะ

 

  • P
  • เหรอ ... บ่นแล้วไปนอน หยั่งงี้ก็มีด้วยหนอ
  • แล้วไม่เล่าเรื่อง กีฬา กรมอนามัย ที่เจียงใหม่ให้ฟัง บ้างหรือเจ้า
  • เจ๊ไปร่วมด้วยช่วยกิจกรรม เขาหรือเปล่า
  • เอา ไร้พุง ไปแจมด้วยไหม

สุขภาพเป็นขบวนการที่ต่อเนื่อง ตั้งแต่ปฏิสนธิ ในมดลูกของแม่ ถ้าปฏิสนธิแข็งแรง เด็กคนนั้นก็แข็งแรง เป็นนักเรียนเข้าโรงเรียนก็แข็งแรง เป็นผู้ใหญ่ก็แข็งแรง เป็นผู้สูงอายุก็แข็งแรง จะมาแข็งแรงตอนเป็นผู้สูงอายุ มันเป็นไปไม่ได้

อ้าว...ตอนเด็กน้องดาวสุขภาพอ่อนแอมากๆ ค่ะ แต่ตอนนี้สุขภาพดีมาก ยังไม่เคยได้ใช้บริการเบิกตรงเลยค่ะ

ภาพนี้ พี่เจ๊เหรอคะ น่ารักๆ  จิ๊กเลยนะคะ

ง่วงอ่ะ

  • ไปมาค่ะ
  • แต่กล้องเกเร
  • เลยถ่ายได้เล็กน้อย
  • งานสนุกมาก  พี่เจ๊แว๊ปไปตอนบ่ายแก่ๆ
  • มีกีฬามหาสนุกค่ะ
  • กลางคืนมีงานเลี้ยงโต๊ะจีน
  • สั่งตรงจากนครปฐมเชียวนะจ๊ะ
  • จุดโคมลอยให้ไปติดเครื่องบิน  อุ๊ย...
  • ให้เอาทุกข์โศกไปทิ้งด้วย  อิอิ 
  • งานนี้อธิบดีชมเยี่ยมมาก
  • ศูนย์ที่รับช่วงต่อไปชักหวั่นๆ
  • จะจัดได้เลิศกว่าไหม  อิอิ โม้เลย
  • แต่ที่แน่ๆ  มหกรรมตลาดนัดวิชาการ  ไม่ธรรมดาแน่ๆ
  • ขอโม้หน่อย
  • แต่อย่าลืมชวนลูกชายมาอีกนะ
  • เอามาขายไว้มาก  มีคนอยากเจอ
  • เผื่อขายออก  ฮ่าๆๆๆ

 

  • P
  • เริ่มส่งเสริมสุขภาพอย่างต่อเนื่อง และเตรียมเข้าสู่วัย สว. ได้แล้วจ้า น้อดาว
  • อาจารย์บอกว่า ต้องเตรียมตัวไว้แต่เนิ่นๆ เลย
  • P
  • โม้ไปเถอะ อนุญาติ
  • อีกหน่อยเราจะได้ไปขอให้ช่วยจัดให้นิ
  • อูย ย  โต๊ะจีนจากนครปฐมแน่ะ ทำไมไกลจัง ไม่เอาแบบขันโตกเน๊อะ
  • ลูกชายเรา อย่าไปขายเลยมะ เสียเวลา อิอิ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท